ThaiPublica > เกาะกระแส > กองทุนน้ำมันฯแจงปี’65 ตรึงดีเซล- LPG ติดลบ 1.3 แสนล้าน ปี’66 เดินหน้ากู้ต่อ

กองทุนน้ำมันฯแจงปี’65 ตรึงดีเซล- LPG ติดลบ 1.3 แสนล้าน ปี’66 เดินหน้ากู้ต่อ

4 มกราคม 2023


นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)

กองทุนน้ำมันฯแจงผลงานปี’65 ตรึงดีเซล-แก๊สหุงต้ม ติดลบกว่า 1.3 แสนล้านบาท ล่าสุดได้รับเงินกู้จากธนาคารกรุงไทย-ออมสิน ลอตแรก 30,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้ฐานะกองทุนสุทธิติดลบ 1.2 แสนล้านบาท ส่วนปี’66 เดินหน้ากู้เสริมสภาพคล่องต่อจนครบ 1.5 แสนล้านบาท คาดเคลียร์หนี้หมดใน ต.ค.ปี’72

เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2566 นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปี 2565 และทิศทางในปี 2566 ว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเนื่องมาจากเหตุการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2565 จนกลายเป็นวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อภาวะการครองชีพของประชาชน รวมทั้งกระทบต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ซึ่งราคาน้ำมันดีเซล (Gas Oil) ในปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 135.54 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 74.26%

“ที่ผ่านมากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เข้ามาสนับสนุนการขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบการ อาทิ การทยอยปรับราคาแก๊สหุงต้ม (LPG) แบบขั้นบันได จากเดิมตรึงราคาไว้ที่ 318 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 408 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม รวมทั้ง การบริหารราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม จากเดิมตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร มาอยู่ที่ไม่เกิน 35 บาท/ลิตรในปัจจุบัน จากการดำเนินมาตรการดังกล่าว ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีสถานะติดลบมากกว่า 130,000 ล้านบาท ส่งผลทำให้กองทุนน้ำมันฯขาดสภาพคล่อง และมีหนี้เงินชดเชยที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงค้างชำระแก่ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเงินจำนวนมาก จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินและกรอบวงเงินกู้ตามวรรคสามในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562” นายวิศักดิ์ กล่าว

นายวิศักดิ์ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากที่ได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงการคลังผ่านกลไกอนุกรรมการฯ ภายใต้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อจัดหาแนวทางการกู้ยืมเงิน และคณะรัฐมนตรีได้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับแล้ว ทาง สกนช.ได้ดำเนินการกู้เงินรอบแรก 30,000 ล้านบาท และได้ลงนามในสัญญาเงินกู้กับธนาคารกรุงไทยและธนาคาออมสินเรียบร้อยแล้ว และส่งผลให้สภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบลดลง ปัจจุบันประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ ณ วันที่ 1 มกราคม 2566 ติดลบอยู่ที่ 121,491 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในช่วงปลายพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม 2565 ถึงแม้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มอ่อนตัวลง ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงทำให้มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์ในตลาดโลกยังคงผันผวนด้วยภาวะสงครามและการถดถอยของเศรษฐกิจ ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ต่อไป

นอกจากนี้ในปี 2565 ที่ผ่านมา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังได้ขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 เนื่องจากยังมีความจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวต่อไป เพื่อเป็นกลไกรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ อีกทั้งเป็นการช่วยเกษตรกรให้มีรายได้จากการขายพืชผลทางการเกษตร

สำหรับในปี 2566 สิ่งที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะต้องดำเนินการในประเด็นหลัก คือ การบริหารจัดการสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ให้สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์ในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันฯ คือ การรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ยังมีความผันผวนจากการสู้รบในยูเครน และด้านเศรษฐกิจ โดยแผนการกู้เงินต่อจากนี้ไปจะประสานกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะเพื่อบรรจุการกู้ยืมเงินต่อไป นอกจากนี้จะมีการทบทวนแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อให้สอดคล้องกับภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีในการดำเนินการเชื่อมโยงระบบ เพื่อพัฒนาในการรับจ่ายเงินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อนึ่ง สำหรับหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน และแผนการชำระหนี้เงินกู้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ให้ สกนช.ทยอยกู้เงินจำนวน 8 ครั้ง วงเงิน 150,000 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

    ส่วนที่ 1 (กู้ยืม ครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
    ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 120,000 ล้านบาท ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2566 และทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และชำระหนี้ครบภายในเดือนตุลาคม 2572

โดยการชำระหนี้การกู้ยืมเงิน 150,000 ล้านบาท จะมีแหล่งชำระคืนจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งจะสามารถชำระหนี้ได้ครบถ้วนภายใน 7 ปี โดยจะทยอยชำระหนี้คืนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบถ้วนภายในเดือนตุลาคม 2572

จากข้อมูลโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 4 มกราคม 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ดำนเนินการจัดเก็บเงินจากน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ นำส่งกองทุนน้ำมันฯ มีรายละเอียดดังนี้ น้ำมันเบนซิน (ULG) จัดเก็บเงินเข้าส่งกองทุนฯลิตรละ 8.28 บาท , น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ 91และ 95 เก็บเงินนำส่งกองทุนฯลิตรละ 1.7 บาท , น้ำมันเบนซินแก๊สโซฮอล์ E20 และ E85 เก็บเงินเข้ากองทุนฯลิตรละ 0.01 บาท , น้ำมันดีเซล B7 และ B20 เก็บเงินเข้ากองทุนฯ ลิตรละ 3.72 บาท ส่วนแก๊สหุงต้ม หรือ LPG กองทุนฯนำเงินไปชดเชยกิโลกรัมละ 6.13 บาท

  • นายกฯ สั่งเยียวยาน้ำท่วมสัปดาห์หน้า – มติ ครม. ไฟเขียวกองทุนน้ำมันฯ กู้ 1.5 แสนล้านใช้หนี้หมดปี ’72
  • บอร์ด ปตท. อนุมัติด่วน 3,000 ล้านเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเฉพาะกิจ ช่วยรัฐอุดหนุนแล้วกว่า 14,800 ล้าน
  • บทบาทกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีดีกว่าที่คิด
  • ปม พ.ร.ก.คลังค้ำหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาครัฐเอาอยู่ ไม่กระทบวินัยการคลัง
  • “กองทุนน้ำมันฯ” เงินหมด เร่งกู้ 2 หมื่นล้านบาท