ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ สั่งเยียวยาน้ำท่วมสัปดาห์หน้า – มติ ครม. ไฟเขียวกองทุนน้ำมันฯ กู้ 1.5 แสนล้านใช้หนี้หมดปี ’72

นายกฯ สั่งเยียวยาน้ำท่วมสัปดาห์หน้า – มติ ครม. ไฟเขียวกองทุนน้ำมันฯ กู้ 1.5 แสนล้านใช้หนี้หมดปี ’72

25 ตุลาคม 2022


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นายกฯสั่งมหาดไทย ชง ครม. จ่ายเยียวยาน้ำท่วมสัปดาห์หน้า ปชช.ประสบอุทกภัย 5.3 แสนครัวเรือน สำนักงบฯตั้งงบกลางอีก 2,000 ล้านบาท – มติ ครม. ดึงต่างชาติลงทุนไทย 40 ล้าน 3 ปี แลกถือครองที่ดิน 1 ไร่ ไฟเขียวกองทุนน้ำมันฯกู้ 8 ครั้ง 1.5 แสนล้าน คาดใช้หนี้หมดปี’72 ไทยจับมือออสเตรเลียตั้ง “ศูนย์ต่อต้านค้ามนุษย์”

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม. เสร็จสิ้น พลเอก ประยุทธ์ได้มอบหมายให้นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการ และตอบคำถามสื่อมวลชนแทนนายกรัฐมนตรี

ยันไทยพร้อมเป็นเจ้าภาพเอเปค

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลมีความพร้อมกับการจัดประชุมเอเปคในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยประเทศไทยถือเป็นเจ้าบ้านที่ดี เพราะบ้านเมืองมีเสถียรภาพมั่นคง

ชี้ปริมาณน้ำปี’65 ไม่ต่างปี’54 เห็นใจชาวบ้านริมคลอง

พลเอก ประยุทธ์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า เมื่อเทียบปี 2565 กับ 2554 มีความแตกต่างกัน โดยปี 2565 มีน้ำท่วมในวงกว้างจากพายุโนรู และร่องความกดอากาศส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมากขึ้น ทำให้มาตรการระบายน้ำในช่องทางปกติมีปัญหา

พลเอก ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงแผนบริหารจัดการน้ำว่า “เราไม่เจอสถานการณ์พายุ ปริมาณน้ำฝนมาก ทำให้เราสามารถระบายน้ำได้ แต่ในวันนี้ น้ำที่มาทางตอนเหนือค่อยๆ ระบายมาเรื่อยๆ ทำให้น้ำปกติและน้ำจากข้างนอกมีปริมาณน้ำไม่ต่างจากปี 2554 เราก็บริหารอย่างเต็มที่ เห็นใจคนเดือดร้อน โดยเฉพาะคนอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ และคลอง ที่ได้รับผลกระทบ เราก็เตรียมการแผนระยะต่อไปว่าจะทำยังไง”

สั่งมหาดไทยชง ครม. จ่ายเยียวยาสัปดาห์หน้า

นายอนุชา รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเรื่องสถานการณ์น้ำท่วมว่า นายกฯ ขอให้เร่งดำเนินการระบายน้ำอย่างเร่งด่วน และดูแลให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน รวมถึงการเยียวยาประชาชน โดยพลเอก ประยุทธ์ มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ในที่ประชุม ครม. วันนี้ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทยให้ไปหาแนวคิดช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชนได้รับการเยียวยา โดยนำแนวทางช่วยเหลือในปี 2554 ที่ให้ครอบครัวละ 5,000 บาท และปี 2559 ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยครัวเรือนละ 3,000 บาท มาเป็นแนวทางในการพิจารณาเยียวยาประชาชน

“นายกฯ บอกว่าให้เร่งดำเนินการจัดทำ โดยอาจยังไม่ถึงขั้นให้น้ำลดแล้วพิจารณา แต่จะมีการพิจารณาอย่างเร็วภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ประชาชนสบายใจว่ารัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา” นายอนุชา กล่าว

นายอนุชา กล่าวต่อว่า “นายกฯ พูดถึงผู้ยังติดค้างอยู่ในบ้าน ถ้าหากยังมีความจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือเพื่อออกมาในพื้นที่อพยพ หรือผู้ป่วยติดเตียง ก็พร้อมให้อุปกรณ์เทคโนโลยีที่จำเป็น เพื่อจะได้ดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง ไม่ต้องรอให้น้ำลดแล้วประเมินความเสียหาย แต่ตอนนี้ให้เร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร็วที่สุด”

เผยปชช.ประสบอุทกภัย 5.3 แสนครัวเรือน

นายอนุชา กล่าวต่อว่า นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานในที่ประชุม ครม. ถึงภาพรวมการช่วยเหลือประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน – 24 ตุลาคม 2565 พบว่ามีทั้งหมด 528,000 ครัวเรือน ที่ได้รับผลกระทบจาก 59 จังหวัด และปัจจุบันมีจังหวัดที่ยังได้รับผลกระทบน้ำท่วม 26 จังหวัด มีครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 435,700 ครัวเรือน

เผย ปภ.จ่ายเงินช่วยน้ำท่วม 12 จังหวัด 79 ล้านบาท

ปลัดสำนักนายกฯ รายงานต่อว่า “หน่วยงานหลักๆ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยไปแล้ว อันได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้มีการช่วยเหลือไปแล้ว 79 ล้านบาท ประกอบด้วยวงเงินทดลองราชการในอำนาจของอธิบดีปภ. การสนับสนุนการดำเนินงานช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของศูนย์ ปพ.แต่ละเขตในพื้นที่อุทกภัย รวมถึงป้องกันยับยั้ง เป็นวงเงินใน 8 จังหวัด และวงเงินเชิงบรรเทาความเดือดร้อนอีก 12 จังหวัด”

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ช่วยเหลือผ่านกองทุนเงินช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย มีค่าจัดการศพ เงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต และมีบุตรอายุไม่เกิน 25 ปี มีการให้ค่าวัสดุก่อสร้างและซ่อมแซมครัวเรือน และค่าอุปโภค มีการจัดทำถุงยังชีพตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม – 21 ตุลาคม 2565 จำนวน 13 จังหวัด ทั้งหมดกว่า 92,300 ถุง จำนวนเงินประมาณ 65 ล้านบาท

ตั้งงบกลางอีก 2,000 ล้าน ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม

นอกจากนี้ นายอนุชา กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าในการช่วยเหลือของหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้ว 181 ล้านบาท เป็นการช่วยเหลือประชาชนเบื้องต้นได้ทันทีเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้ากรณีจำเป็นเร่งด่วน

นอกจากนี้ทางสำนักงบประมาณ ได้ตั้งงบประมาณสำหรับช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ส่วนงบกลางประมาณ 2,000 ล้านบาท กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้ความช่วยเหลือบางส่วน กระทรวงการคลังมีมาตรการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็น การลดหย่อนภาษี ช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องการขยายระยะเวลาการยื่นแบบภาษี และการยกเว้นค่าเช่าสำรวจผู้เช่าที่ราชพัสดุ ส่วนกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน มีหน้าที่เร่งผลักดันน้ำออกสู่แม่น้ำสายหลัก และมีการยางแห่งประเทศไทย ช่วยจ่ายเงินให้เกษตรกรชาวสวนยางเป็นรายหัว

มติ ครม. มีดังนี้

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ และนางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้ายไปขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ดึงต่างชาติเข้า ปท.-ลงทุน 40 ล้าน 3 ปี ถือครองที่ดิน 1 ไร่

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สำหรับสาระสำคัญของกฎกระทรวงเป็นการกำหนดกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูง 4 ประเภท ที่สามารถได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย ได้แก่

    (1) กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง

    (2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ

    (3) กลุ่มที่ต้องการทำงานในประเทศไทย

    (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ

ทั้งนี้ จำนวนเนื้อที่ที่ได้รับสิทธิ ไม่เกิน 1 ไร่ ตาม มาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับตนเอง ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

สำหรับเงื่อนไขของชาวต่างชาติที่ต้องการถือครองที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยไม่เกินน 1 ไร่ ต้องมีจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจ หรือกิจการประเภทหนึ่งประเภทใด ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท และต้องดำรงการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี เช่น การซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย การลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน (เพิ่มขึ้นใหม่จากกฎกระทรวงฯ พ.ศ. 2545) หากถอนการลงทุนในธุรกิจหรือกิจการก่อนครบกำหนดเวลาการดำรงทุน ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ถอนการลงทุน

ส่วนขั้นตอน เงื่อนไข และวิธีการขอ ให้ยื่นคำขอและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไปยังอธิบดีกรมที่ดินเพื่อพิจารณาเสนอรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. …. ได้เพิ่มเติมหลักการในส่วนประเภทการลงทุน และระยะเวลาการดำรงการลงทุนอันแตกต่างไปจากกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว พ.ศ. 2545 ที่มีผลใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน

โดย ร่างกฎกระทรวงฯ ยังคงเป็นไปตามกรอบของมาตรา 96 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งบัญญัติให้คนต่างด้าวจะได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ต้องนำเงินมาลงทุนไม่น้อยกว่า 40 ล้านบาท ในประเภทของธุรกิจที่คนต่างด้าวลงทุนซึ่งต้องเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ หรือเป็นกิจการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศให้เป็นกิจการที่สามารถขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนได้ โดยมีระยะเวลาการดำรงการลงทุนต้องไม่น้อยกว่า 3 ปี และบริเวณที่ดินที่ได้มาต้องอยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดเป็นเขตที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

“ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว มีเจตนารมณ์ เพื่อสนับสนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้มีการลงทุนที่หลากหลายขึ้น และมีมาตรการที่จะช่วยดึงดูดให้ชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนภายในประเทศมากขึ้น เพื่อกระตุ้นภาคเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และเป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 กันยายน 2564 และวันที่ 24 มกราคม 2565” นายอนุชา กล่าว

ที่ประชุม คณะรัฐมนตรีวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ ได้กล่าวว่า “ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าวนี้ สามารถทบทวนได้ทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมไทยในขณะนั้นๆ ด้วย โดยจากนี้ กระทรวงมหาดไทยจะส่งร่างฯ ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย”

  • ครม. ดึงต่างชาติลงทุนไทย 40 ล้าน 3 ปี แลกถือครองที่ดิน 1 ไร่
  • ไฟเขียวกองทุนน้ำมันฯกู้ 8 ครั้ง 1.5 แสนล้าน คาดใช้หนี้หมดปี’72

    นายอนุชา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในวงเงิน 150,000 ล้านบาท พร้อมมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถพิจารณาปรับแผนการกู้เงิน และแผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ตามความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ฐานะการเงินของกองทุน หรือสภาวะตลาดเงินในช่วงเวลานั้นๆ โดยจะต้องสอดคล้องกับแผนการบริหารจัดการหนี้สาธารณะด้วย

    สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงได้เสนอแผนการกู้เงิน แผนการใช้จ่ายเงินกู้ และแผนการชำระหนี้ของการกู้ยืมเงิน โดยตามหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงินของสำนักงานที่คณะรัฐมนตรีผ่านเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 โดยจะทยอยกู้เงินจำนวน 8 ครั้ง วงเงินทั้งสิ้น 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

      ส่วนที่ 1 (กู้ยืม ครั้งที่ 1-2) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2566 โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ จะทยอยใช้จ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 และจะทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568
      ส่วนที่ 2 (กู้ยืม ครั้งที่ 3-8) วงเงิน 120,000 ล้านบาท ทยอยดำเนินการทั้งหมด 6 ครั้ง (วงเงินที่ 3-8) โดยแผนการใช้จ่ายเงินกู้ ทยอยใช้เงินกู้ (เบิกเงินกู้) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – กรกฎาคม 2566 และทยอยชำระหนี้ได้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2568 และชำระหนี้ครบภายในเดือนตุลาคม 2572

    โดยการชำระหนี้การกู้ยืมเงิน 150,000 ล้านบาท จะมีแหล่งชำระคืนจากเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จากการประมาณการกระแสเงินสด ซึ่งจะสามารถชำระหนี้ได้ครบถ้วนภายใน 7 ปี โดยจะทยอยชำระหนี้คืนได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 และชำระหนี้ครบถ้วนภายในเดือนตุลาคม 2572

    ทั้งนี้ ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2565 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสถานะติดลบ 125,690 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม วิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังคงยึดเยื้ออันส่งผลกระทบให้ในช่วงพฤศจิกายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงและมีความผันผวน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบกับประชาชนยังได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และปัญหาอุทกภัย รัฐบาลจึงเห็นถึงความจำเป็นจะต้องดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ส่งผลให้กองทุนมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ โดย ณ วันที่ 20 ตุลาคม 2565 นี้มีรายจ่ายสุทธิประมาณ 222 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 6,882 ล้านบาทต่อเดือน

    ผ่านแผน 5 ปี พัฒนารัฐวิสาหกิจสู่ความยั่งยืน

    นายอนุชา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนารัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2566 – 2570 เพื่อยกระดับขีดความสามารถรัฐวิสาหกิจไทยมุ่งสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยเป็นกำหนดทิศทางหลักในการพัฒนารัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง (ปัจจุบันมีรัฐวิสาหกิจ จำนวน 52 แห่ง) ให้เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ทั้ง 13 หมุดหมาย ซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะมีส่วนในการดำเนินการตามหมุดหมายที่แตกต่างกันตามบทบาทและภารกิจขององค์กร ได้แก่ (1) โครงสร้างพื้นฐาน (2) บริการสาธารณะขั้นพื้นฐาน (3) กิจการที่ไม่มีเอกชนดำเนินการได้อย่างเพียงพอ (4) กิจการที่รัฐต้องควบคุม และ (5) ภารกิจเชิงส่งเสริม

    ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนารัฐวิสาหกิจ (รายสาขา) เป็นการพิจารณาจากบทบาทและกรอบภารกิจของรัฐวิสากิจ จำนวน 9 สาขา ประกอบด้วย (1) สาขาขนส่ง การบริหารจัดการโครงข่ายคมนาคมและโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นการขนส่งทางราง (2) สาขาพลังงาน สนับสนุนการจัดหาพลังงานแหล่งใหม่และการใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (3) สาขาสาธารณูปการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำและน้ำเสีย (4) สาขาสถาบันการเงิน สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนอย่างทั่วถึงควบคู่ไปกับความรู้ทางการเงิน (5) สาขาสื่อสาร สนับสนุนการพัฒนาและยกระดับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ (6) สาขาเกษตร เสริมสร้างศักยภาพทางด้านการผลิตและตลาดสินค้า (7) สาขาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่ชุมชนและประชาชน (8) สาขาอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม บริหารจัดการจัดการองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาลและเทคโนโลยีที่ทันสมัย (9) สาขาสังคมและเทคโนโลยีส่งเสริมการท่องเที่ยวและกีฬาสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม

    นายอนุชา กล่าวย้ำว่า ร่างแผนพัฒนาฯ จะเป็นประโยชน์ต่อรัฐวิสาหกิจทั้ง 52 แห่ง และประชาชน โดยวิสาหกิจจะมีการบูรณาการระหว่างกันมากขึ้น ทั้งในการวางแผนและการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ทำให้การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนและลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน โดยสามารถเห็นได้ถึงภาพรวมการลงทุน และช่วยให้การบริหารจัดการโครงการลงทุนต่างๆเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญประชาชนผู้ใช้บริการจะได้รับสินค้าบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

    ไทยจับมือออสเตรเลียตั้ง “ศูนย์ต่อต้านค้ามนุษย์”

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งเครือรัฐออสเตรเลียในการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยจะมีพิธีลงนามร่างบันทึกความเข้าใจในวันพุธที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ณ ทำเนียบรัฐบาล

    ร่างบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ 5 ปี จัดทำขึ้นเพื่อสร้างกรอบความร่วมมือระหว่างภาคีที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ร่วมกันในการต่อต้านกับการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องผ่านศูนย์ความเป็นเลิศเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ที่จัดตั้งขึ้นในไทย (คาดว่า จะจัดตั้ง ณ อาคารกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)สนับสนุนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนในการเสริมสร้างทักษะการป้องกัน การตรวจสอบ และการดำเนินคดีกับการค้ามนุษย์และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง 2)เสริมสร้างขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ความร่วมมือการสืบสวนข้ามชาติ และการแบ่งปันข่าวกรองเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้อง 3)ส่งเสริมการแบ่งปันความรู้และการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญทางวิชาชีพในการต่อต้านการค้ามนุษย์และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องระหว่างคู่ภาคีและภายในภูมิภาคอาเซียน

    ดร.รัชดา กล่าวด้วยว่า ทั้งสองประเทศจะขับเคลื่อนความร่วมมือผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศฯ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนระดับอาวุโสของภาคีแต่ละฝ่ายและผู้แทนอื่นๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยฝ่ายออสเตรเลีย จะให้การสนับสนุนด้านเลขานุการ พร้อมทั้งกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันอย่างน้อยปีละครั้ง เพื่อการตัดสินใจ กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ และการกำกับดูแลของศูนย์ความเป็นเลิศฯ ส่วนการสนับสนุนของคู่ภาคีนั้น ฝ่ายไทยจะสนับสนุนด้านการปฏิบัติงานและงบประมาณสำหรับที่ตั้งและสิ่งอำนวยความสะดวกทางกายภาพของศูนย์ความเป็นเลิศฯ พร้อมทั้งจัดหาทรัพยากรมนุษย์และงบประมาณในการจัดการ รวมถึงโครงการและค่าใช้จ่ายในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยมีกระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยประสานงาน ส่วนฝ่ายออสเตรเลีย จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคเพื่อกำหนดหลักสูตรและพัฒนานโยบายขั้นตอนการปฏิบัติงาน ของศูนย์ความเป็นเลิศฯ โดยมีกระทรวงการต่างประเทศและการค้า เป็นหน่วยประสานงาน

    ขยายเวลายกเว้นภาษี “วิสาหกิจชุมชน” ถึงสิ้นปี’68

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการคลัง ฉบับที่ .. พ.ศ. …. ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ มีสาระสำคัญเป็นการขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ซึ่งมีเงินได้ปีละไม่เกิน 1.8 ล้านบาท ออกไปอีก 3 ปี โดยเป็นเงินได้พึ่งประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 (จากเดิมที่สิ้นสุด 31 ธันวาคม 2565) เพื่อช่วยบรรเทาภาษีให้กับวิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการประกอบกิจการของวิสาหกิจชุมชนให้เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในอนาคต

    ดร.รัชดา กล่าวว่า มาตรการทางภาษีนี้ จะไม่ส่งผลให้ภาครัฐสูญเสียรายได้เพิ่มเติม เนื่องจากปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนดังกล่าวได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้อยู่แล้วตั้งแต่ปี 2551 แต่หากกำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะทำให้ภาครัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3 ล้านบาทต่อปี สำหรับในปี 2564 ที่ผ่านมา มีวิสาหกิจชุมชนใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการภาษีนี้ จำนวน 1,350 ราย ยกเว้นภาษี 3.1 ล้านบาท จากเงินได้พึงประเมินรวม 582.3 ล้านบาท

    เห็นชอบปฏิญญาอาเซียน รองรับระบบการศึกษายุคดิจิทัล

    นางสาวทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบรับรองปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของระบบการศึกษาในอาเซียน (Declaration on the Digital Transformation of Education Systems in ASEAN) พร้อมกับอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างปฏิญญาอาเซียนดังกล่าว

    หลังจากที่ ครม. ให้ความเห็นชอบในวันนี้แล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะได้มีหนังสือแจ้งการรับรองอย่างเป็นทางการถึงสำนักเลขาธิการอาเซียน และนำเข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 ในวันที่ 11 พ.ย. 65 เพื่อพิจารณาและร่วมรับรองต่อไป เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับการพัฒนาการเข้าถึงการเรียนรู้ดิจิทัลที่ปลอดภัย ส่งเสริมโอกาสและทักษะความสามารถทางดิจิทัลและพัฒนาทักษะที่สามารถถ่ายทอดและต่อยอดได้

    “ปฏิญญาอาเซียนฯ นี้ จะเป็นประโยชน์ต่อครู ผู้ฝึกอบรม นักการศึกษา (ผู้เชี่ยวชาญ ด้านการบริหารการศึกษา) นักเรียนและประชาชนไทยที่จะได้รับโอกาสในการพัฒนาด้านวิชาการ ทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การเข้าถึงการศึกษาอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี ตลอดจนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยให้มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21” นางสาว ทิพานัน กล่าว

    โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

    1. ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมทางการศึกษาในทุกระดับ โดยเฉพาะการเพิ่มโอกาสให้กับประชากรชายขอบ และเด็ก และเยาวชนตกหล่น ผ่านการเรียนทางไกลและการเรียนออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและทางไกล โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และมีผู้ดูแลที่ให้การสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

    2. ยอมรับความแตกต่างของการศึกษาที่เปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบดิจิทัลในประเทศสมาชิกอาเซียน และการจัดการกับความท้าทายในด้านความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

    3. พัฒนานโยบายและแผนยุทธศาสตร์ในโรงเรียนทุกระดับ รวมทั้ง เชื่อมโยงนโยบายระหว่างภาคการศึกษากับภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น วิสัยทัศน์ประเทศและวิสัยทัศน์อาเซียนเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลทางการศึกษาที่เชื่อมโยงการเรียนรู้และทักษะใหม่ที่จำเป็นสำหรับโรงเรียน การทำงาน และชีวิต

    4. พัฒนาและรับรองนโยบายให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่าง ระบบบริหารจัดการข้อมูลทั่วประเทศ (การศึกษา สาธารณสุข และสวัสดิการสังคม) และในระดับอาเซียน เพื่อใช้ประโยชน์จากดิจิทัลในการบริการทางสังคม

    5. ส่งเสริมกลไกและนวัตกรรมใหม่ เช่น การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการศึกษาระดับชาติ และจัดให้มีอุปกรณ์สำหรับการเรียน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือจ่ายในราคาประหยัด รวมทั้งขยายโครงสร้างพื้นฐานทางอิเล็กทรอนิกส์และอินเทอร์เน็ต ผ่านโครงการความร่วมมือกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และภาคส่วนอื่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนทุกคนได้รับการเรียนรู้ด้านดิจิทัล และเกิดโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการเรียนระบบอิเล็กทรอนิกส์

    6. จัดให้มีการเรียนรู้ดิจิทัลแบบออฟไลน์ (ออนไซต์) (เป็นการเรียนทฤษฎี โดยสอนเรื่องความรู้/การจำลอง/วิธีการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในห้องเรียน) ในโรงเรียนที่ยังไม่มีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต และใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ ทางออฟไลน์และออนไลน์เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน

    7. ลดการเกิดสภาพแวดล้อมเชิงลบที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงดิจิทัลด้านการศึกษา และค้นหาความเสี่ยงที่จะเกิดต่อเด็ก เช่น การสื่อสารเพื่อสร้างความเกลียดชังและความรุนแรงต่างๆ ในแพลตฟอร์มดิจิทัล และคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ในการเรียนที่โรงเรียนและที่บ้าน โดยการสนับสนุนให้ครูและผู้ดูแลคอยให้ความช่วยเหลือเด็ก รวมทั้งจัดให้มีการบริการคุ้มครองเด็กผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล

    8. พัฒนานโยบายที่คุ้มครองความเป็นส่วนตัวของข้อมูล วิธีการรวบรวมข้อมูล บันทึกและเข้ารหัสเพื่อคุ้มครองข้อมูล และส่งเสริมการใช้ข้อมูลการศึกษาที่โปร่งใสทั้งในระดับโรงเรียนและระดับบริหาร

    9. การตรวจสอบและประเมินผลตลอดทั้งกระบวนการ ทั้งในระดับโรงเรียน และระดับบริหารจัดการ เพื่อนำมาปรับปรุงการเรียนการสอน สนับสนุน การพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ตลอดชีวิตโดยไม่เพิ่มภาระให้กับครู และยังเห็นชอบให้ประเทศไทยโดยกระทรวงศึกษาธิการเป็นเจ้าภาพ และเป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่คาดว่าจะจัดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม 2567 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างปี 2567–2568

    ไฟเขียว MOU ด้านไปรษณีย์-โทรคมนาคม “ไทย-ลาว”

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่าที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยและกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารแห่ง สปป.ลาว ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอ เพื่อเดินหน้าพัฒนาความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีขอบเขตความร่วมมือ จำนวน 15 ด้าน ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาด้านไปรษณีย์โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัลบนพื้นฐานของความเท่าเทียม ต่างตอบแทนและผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในระยะยาวและยั่งยืน

    นางสาวทิพานัน กล่าวว่า ขอบเขตความร่วมมือทั้ง 15 ด้านประกอบด้วย 1.ด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล 2.รัฐบาลดิจิทัล 3.เศรษฐกิจดิจิทัล 4.เมืองอัจฉริยะ 5.ทักษะด้านดิจิทัล 6.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ 7.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 8.การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีที โทรคมนาคม และดิจิทัล ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนแทนต์ (Digital content) และการบริการที่เกี่ยวข้อง 9.โครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ และการพัฒนา การให้บริการ 10.นวัตกรรมด้านไอซีทีและเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) อินเทอร์เน็ตเพื่อสรรพสิ่ง [Internet of Things (IoT)] และคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud computing) 11.โอกาสด้านดิจิทัล เช่น การรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital literacy) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของประชาชน (Digital inclusion) และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์(e-Commerce) 12.การวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล 13.การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงความร่วมมือและความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 14.ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่วิสาหกิจเพื่อสร้างความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล และ 15.สาขาอื่นๆ

    “เพื่อให้บรรลุเป้าหมายพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือในระยะยาวและยั่งยืน รูปแบบการดำเนินความร่วมมือจะประกอบด้วย การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จ ความก้าวหน้าและแผนการพัฒนา การแลกเปลี่ยนการเยือน การประชุม และการหารือ รวมถึงการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญและผู้แทนที่เกี่ยวข้อง จะมีการดำเนินโครงการ ความร่วมมือ (Joint projects) ในด้านต่างๆ และมีการอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจ Start-ups ในด้านไอซีที และเทคโนโลยีดิจิทัล นอกจากนี้จะมีการจัดนิทรรศการ โครงการฝึกอบรม ประชุมเชิงปฏิบัติการ และสัมมนา และรูปแบบความร่วมมืออื่นๆ ตามที่ตกลงร่วมกัน” นางสาวทิพานัน กล่าว

    เห็นชอบแนวทางป้องกันติดเชื้อ HIV แรงงานอาเซียน

    นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบ ร่างแนวทางอาเซียนว่าด้วยการให้คำปรึกษาและการตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ และร่างแผนงานคณะกรรมการตรวจแรงงานอาเซียน พ.ศ. 2565 – 2573 (ร่างแผนงานฯ) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนการดำเนินงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ

    นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า ในร่างแนวทางฯ เป็นเอกสารแนวทางสำหรับการป้องกันและบริหารจัดการการติดเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการในภูมิภาคอาเซียนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันมากยิ่งขึ้น โดยให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนำไปปรับใช้ร่วมกับนโยบายและกฎหมายของแต่ละประเทศ

    ทั้งนี้การตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ โดยมีหลักการสำคัญตามหลักสิทธิมนุษยชน เช่น

    1. คุ้มครองสิทธิแรงงาน ไม่เลือกปฏิบัติ เป็นการกระทำโดยสมัครใจ โดยก่อนการตรวจหาเชื้อเอชไอวี แรงงานจะต้องได้รับข้อมูลที่เพียงพอและให้ความยินยอม

    2. ข้อมูลการปรึกษาและการตรวจหาเชื้อเอชไอวีจะต้องถูกเก็บรักษาเป็นความลับ

    3. มีการให้คำปรึกษาหลังการตรวจหาเชื้อเอชไอวีเพื่อช่วยให้แรงงานหรือครอบครัวที่กำลังมีความเสี่ยงเข้าใจและปรับตัวได้

    สาระสำคัญจำแนกเป็น 4 ประเด็น คือ

    1.การพัฒนาสมรรถนะหลักของพนักงานตรวจแรงงาน

    2.การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการตรวจแรงงานในภาคส่วนที่เข้าถึงยาก (เช่น การเกษตร ประมง เหมืองแร่ งานบ้าน) และระบบแบบส่งต่อเพื่อป้องกันการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก รวมถึงการตรวจแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับและการค้ามนุษย์

    3.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งการตรวจแรงงานนอกระบบและ SMEs และ

    4.การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการตรวจแรงงานของการทำงานในอนาคต รวมถึงการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล

    “ทั้งนี้ยังมี กลไกการดำเนินงานในการให้คำปรึกษาและตรวจหาเชื้อเอชไอวีในสถานประกอบการ สร้างการรับรู้ ให้คำปรึกษาและตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีโดยสมัครใจของแรงงาน ประเมินความเสี่ยงทางพฤติกรรมและอาชีพ ซึ่งหากพบว่าผลตรวจเป็นผู้ติดเชื้อก็จะมีการให้คำปรึกษาหลังการตรวจ ไม่ให้เกิดการต่อต้านและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และเพื่อให้แรงงานได้รับการรักษา เช่น การใช้ยาต้านไวรัส นอกจากนี้ยังมีการตรวจซ้ำอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มเสี่ยงด้วย” นางสาว ทิพานัน กล่าว

    นางสาว ทิพานัน กล่าวว่า ทั้งนี้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามในหนังสือถึงสำนักเลขาธิการอาเซียนเพื่อรับรองร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยุติปัญหาโรคเอดส์ได้ภายในค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและแผนการดำเนินงานของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (Joint United Nations Programme on HIV/AIDS: UNAIDS)

    Q3/65 ปปช.ร้องทุกข์ผ่าน 1111 กว่า 1.6 หมื่นเรื่อง เผย สตช.ถูกร้องมากสุด

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชนในไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2565 โดยได้รับแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนผ่านช่องทางร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 16,742 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 13,891 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 82.97 และรอผลการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,851 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 17.03

    ทั้งนี้ หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ของส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,255 เรื่อง กระทรวงการคลัง 538 เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข 484 เรื่อง กระทรวงมหาดไทย 443 เรื่อง และกระทรวงแรงงาน 391 เรื่อง ส่วนรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 156 เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 137 เรื่อง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 115 เรื่อง การประปาส่วนภูมิภาค 103 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 101 เรื่อง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 888 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 234 เรื่อง สมุทรปราการ 232 เรื่อง ปทุมธานี 207 เรื่อง และชลบุรี 172 เรื่อง

    สำหรับประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ เรื่องเสียงรบกวน และสั่นสะเทือน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามลภาวะทางเสียงจากสถานบันเทิง สถานประกอบการ ร้านอาหาร บ้านเรือน และวัยรุ่นมั่วสุมรวมกลุ่มแข่งขันรถจักรยานยนต์ส่งเสียงดังรบกวน เรื่องไฟฟ้า เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง และซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า และเสาไฟฟ้า รวมทั้งขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้า เรื่องโทรศัพท์ เช่น ขอให้ปรับปรุงระบบการให้บริการทางโทรศัพท์ หมายเลขสายด่วน 1422 ของกรมควบคุมโรค หมายเลขสายด่วน 1506 ของสำนักงานประกันสังคม และหมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานของหน่วยงานในส่วนภูมิภาค

    เรื่องการรักษาพยาบาล เช่น ขอให้มีความเข้มงวดในการปฏิบัติตามมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) โดยเฉพาะระลอกของสายพันธุ์โอไมครอน BA. 4 และ BA. 5 และขอให้จัดสรรวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม รวมทั้งขอให้พิจารณาการอนุญาตให้ถอดหน้ากากอนามัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้วยความปลอดภัยและไม่กระทบต่อการใช้ชีวิตขงอประชาชน ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากลุ่มมิจฉาชีพโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) และขอให้แก้ไขปัญหากลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ เรื่องถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซม ก่อสร้างถนน พื้นผิวถนน สะพานกลับรถ บาทวิถี ตีเส้นแบ่งช่องการจราจร ขยายช่องจราจร ไฟฟ้าส่องสว่างริมทางและติดตั้งป้ายสัญลักษณ์จราจร และขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีต

    เรื่องน้ำประปา เช่น ขอให้แก้ไขปัญหาน้ำประปาไม่ไหล ไหลอ่อนและไม่มีคุณภาพ และขอให้ขยายเขตการให้บริการน้ำประปา เรื่องการเมือง เช่น ขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และการชุมนุมทางการเมือง และการบริหารงานของรัฐบาล เรื่องหนี้สินในระบบ เช่น ขอให้ช่วยเหลือเจรจาไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินกับสถาบันการเงิน และขอเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกมาตรการปรับลดหนี้และหักชำระหนี้ และประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการถูกข่มขู่คุกคามและทำร้ายร่างกาย และขอให้เร่งรัดการดำเนินคดีเกี่ยวกับการทำร้ายร่างกาย

    กำหนดพื้นที่ 4 ตำบล จ. ชุมพรเป็นเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในบริเวณพื้นที่ตำบลปากคลอง ตำบลชุมโค ตำบลบางสน และตำบลสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เพื่อรักษาคุณภาพของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่มีเอกลักษณ์ด้านกายภาพเป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหารของสัตว์หายาก รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยในปัจจุบันมีแนวโน้มเสื่อมโทรมเพิ่มมากขึ้น จำเป็นต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองเพื่อป้องกันการเสื่อมโทรมในพื้นที่ดังกล่าว

    สำหรับมาตรการคุ้มครองที่สำคัญ เช่น บริเวณที่ 1 พื้นที่ชายหาดที่อยู่ในท้องที่ดังกล่าวและทะเลที่อยู่ถัดออกไปจากชายหาด ซึ่งวัดจากแนวชายฝั่งออกไปในทะเลจนสุดเขตระยะ 5,400 เมตร จะห้ามทำการประมงโดยใช้เครื่องมือต่างๆ รวมทั้งห้ามก่อสร้างอาคารทุกชนิด บริเวณที่ 2 พื้นที่แนวสันทราย จะห้ามขุด ถม หรือเปลี่ยนแปลงสภาพธรรมชาติของพื้นที่บริเวณแนวสันทราย บริเวณที่ 3 พื้นที่ภายในเขตท้องที่ดังกล่าว รวมทั้งพื้นที่เกาะต่างๆ ที่อยู่แนวเขตพื้นที่ควบคุมการใช้เครื่องมือทำการประมง จะห้ามก่อสร้างอาคารทุกชนิดในพื้นที่ที่วัดจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินเป็นระยะ 20 เมตร เป็นต้น

    นอกจากนี้ ครม. ยังเห็นควรให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมดำเนินการปรับปรุงมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามร่างประกาศในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้มีความทับซ้อนหรือขัดแย้งกับร่างประกาศกำหนดเขตพื้นที่ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. …. ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะ และอยู่ระหว่างเสนอ ครม. ก่อนที่ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับต่อไป

    รับทราบการประเมินตามกฎอนามัยโลก รองรับภาวะฉุกเฉินด้าน สธ.

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบการประเมินการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศโดยผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกของประเทศไทย ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 4 พฤศจิกายน 2565 โดยการประเมินดังกล่าวสืบเนื่องจากกฎอนามัยระหว่างประเทศมีสถานะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งผูกพันประเทศไทยในฐานะรัฐภาคีการปฏิบัติตามข้อกำหนด โดยการประเมินจะมีขึ้นทุก 5 ปี

    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการประเมินตามตามคู่มือของกฎอนามัยระหว่างประเทศ ครอบคลุมงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของกรมต่างๆ ในหลายกระทรวงรวมถึงภาคเอกชน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการเข้ารับการตรวจประเมิน จึงต้องเสนอให้ ครม. รับทราบเพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้ประสานงานกฎอนามัยระหว่างประเทศ สามารถประสานผู้แทนของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ และร่วมกันเตรียมความพร้อมในการเสนอผลการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ ต่อผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้กำหนดกรอบการติดตามและประเมินการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ โดยรัฐภาคีจะต้องจัดทำรายงานการประเมินสมรรถนะประจำปี ส่งให้องค์การอนามัยโลกเพื่อรวบรวมและวิเคราะห์เสนอในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลกในปีนั้นๆ โดยผลประเมินจะถูกใช้เป็นตัวชี้วัดตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่สะท้อนมีศักยภาพการดำเนินการตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ และการเตรียมความพร้อมสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของรัฐภาคี

    สำหรับการประเมินตามข้อกำหนดของกฎอนามัยระหว่างประเทศในครั้งนี้ จะดำเนินการประเมินใน 4 กลุ่ม รวม 19 ด้าน ประกอบด้วย 1)กลุ่มการป้องกัน 8 ด้าน 2)กลุ่มการตรวจจับ 3 ด้าน 3)กลุ่มการตอบโต้ 5 ด้าน และ 4)กลุ่มเฉพาะภาวะอันตราย 3 ด้าน

    เห็นชอบ “อนุทิน” เซ็น MOU ด้านสาธารณสุขกับเกาหลีใต้

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงสาธารณสุขของไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการแห่งสาธารณรัฐเกาหลีว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุข และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามโดยผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย มีระยะเวลา 5 ปี และขยายเวลาต่อแบบอัตโนมัติเป็นเวลา 5 ปี โดยร่างบันทึกความเข้าใจฯดังกล่าว มีกำหนดจะลงนามในช่วงการเดินทางเยือนสาธารณรัฐเกาหลีของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในวันที่ 25 ตุลาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุขจึงขอให้นำเรื่องนี้เสนอ ครม. เพื่อพิจารณาภายในวันที่ 25 ตุลาคม 2565

    สำหรับร่างบันทึกความเข้าใจฯว่าด้วยความร่วมมือด้านสาธารณสุขฉบับนี้ มีสาระสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับเกาหลี ในประเด็นความมั่นคงทางสุขภาพ การเสริมสร้างระบบสุขภาพรวมถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การดูแลสุขภาพด้วยดิจิทัล การส่งเสริมสุขภาพ และสาขาความร่วมมืออื่นๆที่เห็นชอบร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษร ผ่านการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทน และข้อมูล การประชุม การประชุมทางวิทยาศาสตร์ และการประชุมเชิงปฏิบัติการ การสัมมนาและการสนับสนุนการวิจัยและโครงการ โดยจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อเป็นกลไกในการหารือและดำเนินกิจกรรมภายใต้ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

    ตั้ง พล.ต.อ.ชยพล ฉัตรชัยเดช กุนซือนายกฯ

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ/เห็นชอบในเรื่องแต่งตั้ง วันที่ 25 ตุลาคม 2565 ดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแห่งประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงสาธารณสุข)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้ง นายณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นตำแหน่งที่กำหนดขึ้นใหม่ ตามมติคณะรัฐมนตรี (วันที่ 18 ตุลาคม 2565) ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แทนกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งเพิ่มเติม

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอแต่งตั้งกรรมการในคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม แทนกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง และแต่งตั้งเพิ่มเติม ดังรายชื่อต่อไปนี้

      1. นายปิยกร อภิบาลศรี ผู้แทนกระทรวงการคลัง (เป็นบุคคลในบัญชีรายชื่อกรรมการรัฐวิสาหกิจ) เป็นกรรมการแทน นายบุญชัย จรัสแสงสมบูรณ์

      2. นายวินัย วนานุกูล เป็นกรรมการแทน นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์

      3. นางสาวจรสพร เฉลิมเตียรณ เป็นกรรมการแทน นางสาวไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล

      4. นางพรอนงค์ บุษราตระกูล เป็นกรรมการเพิ่มเติม

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับกรรมการเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง คือเท่ากับวาระของคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมชุดปัจจุบันที่คงเหลืออยู่

    3. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

    คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้ง พลตำรวจเอก ชยพล ฉัตรชัยเดช ให้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

    อ่าน มติ ครม. ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เพิ่มเติม