ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” เปิดแนวคิด “BCG in Action ” ต้องทำให้เป็น “People Power” ตอบโจทย์ความมั่งคั่ง-ยั่งยืน-เท่าเทียม

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” เปิดแนวคิด “BCG in Action ” ต้องทำให้เป็น “People Power” ตอบโจทย์ความมั่งคั่ง-ยั่งยืน-เท่าเทียม

26 พฤศจิกายน 2022


ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC Economic Leaders’Meeting : AELM) ปี 2022 ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้ร่วมกับสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ มีฉันทามติในการขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG Model หรือเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-circular-Green Economy : BCG) ประเทศไทยในฐานะผู้ผลักดันโมเดลเศรษฐกิจ BCG จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมียุทธศาสตร์เพื่อให้ปฏิญญากรุงเทพฯครั้งนี้ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมและสื่อสารทำความเข้าใจ เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของสัญญาณประชาคมโลกครั้งนี้อย่างที่แท้จริง

  • APEC 2022 ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปครับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจบีซีจี”
  • ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เล่าถึงที่มาที่ไปของแนวคิด BCG ว่า ประเทศไทยมีการพูดถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด และมีการชู 10 อุตสาหกรรมดาวเด่น หรือ 10 S-Curve แต่จริงๆ แล้วใน 10 S-Curve นั้น มี 5 S-Curve ที่เป็น BCG ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism), อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology), อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) , อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals) และ อุตสาหกรรมการแพยท์ครบวงจร (Medical Hub) ส่วน 5 S-Curve ที่เหลืออาจจะไกลตัวเรา แต่ก็ต้องตามไปดู เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (Robotics), อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics), อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive),อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics), อุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital) ที่ค่อนข้างก้าวไปข้างหน้า อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรรมดาวเด่นเหล่านี้ถึงจุดหนึ่ง ไทยต้องยืนบนขาตัวเองได้ โดยเฉพาะ 5 S-Curve แรกที่เกี่ยวกับ BCG และต้องมีเทคโนโลยีที่เป็นของไทยเองด้วย

    “ปัจจุบันโจทย์ของโลกเปลี่ยนมาสู่เรื่องของความยั่งยืน (sustainability) และความเท่าเทียม ถ้าไทยยังปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม มุ่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นศัพท์เก่าที่ไม่ใช้กันแล้ว คงไม่ใช่แน่ ถ้าจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ นอกจากจะยืนบนขาตัวเองแล้ว ก็ควรตอบโจทย์ของโลกด้วยในเวลาเดียวกัน สิ่งที่ไทยมีอยู่ จะมุ่งไปสู่อะไรได้บ้าง เรื่องแรก คือ Bio Economy เศรษฐกิจชีวภาพ เพราะไทยอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตร เป็นบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก”

    นอกจากนี้ ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่เป็นต้นน้ำของ soft power ของไทย เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นอะไรที่ตอบโจทย์ แต่ด้วยความที่เราทำ ตามมีตามเกิด เกษตรก็ทำเกษตรแบบเดิมๆ ท่องเที่ยวก็รอลุ้นทัวร์จากจีน พลังงานก็ยังเป็นพลังงานที่ไม่สะอาดและยังไม่กระจายสู่พลังงานชุมชน ในอนาคต พลังงานจะต้องกระจายไปทุกพื้นที่ สามารถมีแหล่งพลังงานที่อย่างน้อยป้อนตัวเองได้ หรือมีส่วนเกินที่จ่ายให้คนอื่นได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเพราะโลกเรากำลังเผชิญปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

    หรือแม้กระทั่งเรื่องสุขภาพ บริการทางการแพทย์ของไทย ได้รับการทดสอบแล้วจากกรณีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่าสาธารณสุขของไทยดีในระดับหนึ่ง แต่ประเด็นคือ ดีในแง่ของการบริการทางการแพทย์ แต่ที่ไม่ดีในแง่เทคโนโลยีทางการแพทย์ (medical technology) โดยเฉพาะเวลาเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นมาต้องซื้อ เสื้อ PPE หรือวัคซีนต่างๆ ที่ไทยผลิตไม่ได้เลย คือเราเข้าใจว่าเรามีจุดแข็ง แต่จริงๆ แล้วจุดอ่อนเต็มไปหมด

    BCG โมเดลเศรษฐกิจใหม่ ตอบโจทย์ความยั่งยืน-เท่าเทียม

    ดร.สุวิทย์ อธิบายต่อว่า เรื่อง BCG นั้น มิติแรก ต้องทำให้เป็นนโยบายที่มีการบริหารจัดการที่ดีและมีองค์ความรู้ ในเรื่องนโยบาย ณ ขณะนี้ยังไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนว่าจะทำในสิ่งที่ไทยมีอยู่ให้ดีขึ้น โดยเอาสิ่งที่มีอยู่ทำให้เป็นนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จากนั้นต้องมีการบริหารการจัดการที่ดี

    แต่ ณ วันนี้ หลังจากผู้นำเอเปค 2022 ได้ประกาศขับเคลื่อน Bangkok Goals on BCG Model ไปแล้ว แต่ไทยยังไม่มีอะไรที่เป็นรูปธรรมเลย และต้องเติมเต็มด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

    “ตอนที่ผลักดันเรื่อง BCG ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคาบเกี่ยวกับการไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงมองเรื่ององค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญ แต่การบริหารจัดการก็เป็นเรื่องสำคัญ นโยบายก็สำคัญ ฉะนั้น เรื่องนี้มี 3 องค์ประกอบ ไม่ใช่พูดไปเรื่อย จึงต้องดูว่า 1. นโยบายชัดเจนหรือไม่ 2. การบริหารจัดการทั้งภาครัฐและเอกชน ประชาชนในพื้นที่ โอเคไหม และ 3. คือการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม”

    สำหรับ Bio Economy เมื่อโลกจะต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอยู่แล้ว ต้องไปสู่ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนแน่ๆ คือเปลี่ยนจาก Linear Economy ไปสู่ Circular Economy ในระยะเวลาไม่เร็วก็ช้า ภาคธุรกิจที่เคยเป็น value chain ก็จะเปลี่ยนเป็น value circle มีการใช้ทรัพยากรให้น้อยลง และหมุนเวียนให้อยู่นานที่สุด จึงเป็นที่มา ของ dematerialization หรือการลดทอนการใช้ทรัพยากรลง แต่ circular นั้น ตอบโจทย์ทั้งเรื่องการใช้ทรัพยากร และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย เรื่อง circular จึงต้องไปคู่กับเรื่อง Bio ฉะนั้น COP26 (ข้อตกลงการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26) หรือ COP27 ล้วนเกี่ยวกับเรื่อง BCG อยู่แล้ว โดย BCG ไม่ได้มองแต่เรื่อง climate change อย่างเดียว แต่มองเรื่องการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย ส่วนเรื่อง Green Economy ทั้งเรื่องรักษ์ การใส่ใจในสิ่งแวดล้อม ก็มีหลายเรื่องต้องทำ

    “ตอนที่ไทยประกาศเรื่อง BCG ออกมา (ก่อนเวทีการประชุมเอเปค 2022) ได้มีทูตจากกลุ่มประเทศยุโรป 10 กว่าประเทศ จากอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส เชิญผมไปพูด พูดเสร็จ ทูตจากประเทศเหล่านี้มีคำกล่าวที่ดีมาก เขาบอกว่าไทยเป็นประเทศแรกที่เอา B-C-G มาอยู่รวมกันเป็นนโยบายเดียว เพราะตอนที่ผมพูด ผมบอกว่า BCG ไม่ใช่เรื่องใหม่ ในโลกนี้มีอยู่แล้ว แต่มันเป็นเรื่องค่อนข้างเทคนิค และแยกกันคนละเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่อง B หรือ C หรือ G แต่ไทยเป็นประเทศแรกที่มีความเชื่อว่าทั้ง 3 สิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน พูดง่ายๆ คือ มันต้องกินได้ สิ่งที่ประชาชนในประเทศนั้นกินได้ อาศัย Bio กับวัฒนธรรมของเขา ทำให้กลายเป็นอุตสาหกรรม กลายเป็นธุรกิจสร้างสรรค์ กลายเป็นการท่องเที่ยวได้หมด แต่ที่สำคัญต้องเปลี่ยนเป็น circular มากขึ้น ต้อง green มากขึ้น”

    ดร.สุวิทย์กล่าวย้ำว่า “นี่คือที่มาของ BCG หนึ่ง ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องเก่าที่ไม่เคยมีใครนำมาผสมผสานให้เป็นเรื่องจริงจัง และมองว่าเป็นเรื่องเดียวกัน สอง BCG ไม่ได้ตอบโจทย์ประเทศไทยเท่านั้น เราต้องการสร้าง economy model ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่ได้ตอบโจทย์ตัวเอง แต่ต้องการตอบโจทย์โลกในเวลาเดียวกันด้วย คือทำแล้วไม่มีข้อย้อนแย้ง ไม่ใช่เรื่องแพ้-ชนะ แต่ BCG เป็นโมเดลที่เราเชื่อว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย win-win ทุกประเทศทำได้ ถ้าต่างคนต่างทำ จากประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ก็ยิ่งเป็นสีสัน ไม่ได้แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เป็นแบบ คู่แข่งคู่ค้า มาเที่ยวเรา เราเที่ยวเขา มีซอฟต์พาวเวอร์มาแลกกัน”

    “สำหรับผมงานนี้เป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ ถ้าเราจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งทีอย่าเพื่อตัวเอง ต้องมองเผื่อแผ่โลกด้วย ผมจึงเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่า ถ้าจะทำเรื่องนี้ จะไม่ใช่วาระแห่งชาติ หรือ Nation Agenda แต่เป็น Global Agenda เพราะเราไม่ได้ทำแคบๆ เฉพาะของไทย สิ่งที่มีไทยไม่ได้มีคนเดียวในโลก ทุกคนมีหมดเพียงแต่แตกต่างกัน และ ถ้าเราทำเรื่องนี้ดี จะกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย เป็นจุดขายไม่กี่จุดที่ไทยเรามี จุดขายที่เคยมีอย่างการท่องเที่ยว มันอยู่ใน BCG อยู่แล้ว และจุดขายของประเทศไทยในเวทีโลก ไม่ควรเป็นจุดขายที่แค่ทำมาหากิน แต่ต้องเป็นจุดขาย sustainability”

    มิติที่สอง คือ area-based BCG หรือ BCG เชิงพื้นที่ ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า BCG ไม่ได้เป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเดิม แต่เป็นการเติบโตที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน และเป็น inclusive growth เพราะ BCG ไม่ได้เป็นความหลากหลายเฉพาะ ที่แต่ละประเทศมี อย่างประเทศไทยเองมี 5 ภาค อาทิ ภาคอีสาน ภาคเหนือ มีความแตกต่างหลากหลายมากทั้งด้านชีวภาพและวัฒนธรรมกันอยู่แล้ว มันจึงเป็น inclusive growth เป็นการเติบโตที่ทุกคนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม มาสร้างกันได้ ไม่เหมือนอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง หรือทุนจำนวนมาก ประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิทำ

    แต่รูปแบบนี้เป็น people power ไม่ใช่ market power คีย์เวิร์ดของจุดนี้ คือ people power เป็นพลังของภาคประชาชน โดยต้องทำให้ได้

    ดร.สุวิทย์ให้ความเห็นต่อว่า “แต่ไม่มีการพูดถึงในเอเปคเลย ขณะที่ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลก แต่โมเดล BCG คือ inclusive growth โดย 1.แต่ละพื้นที่ แต่ละภาคของไทยมี ชุดของโอกาสที่แตกต่างกันในเรื่องวัฒนธรรมและชีวภาพ 2.ยังมีกลุ่มจังหวัด 18-19 คลัสเตอร์ ที่ผ่านมาแต่ละคลัสเตอร์จังหวัดมาของบประมาณ ก็จะพูดแต่เรื่องท่องเที่ยว การเกษตร อยู่แล้ว ทำไมไม่ทำให้เป็น BCG ไปเลย แต่ละคลัสเตอร์จะชู BCG อะไร 19 กลุ่มจังหวัดจะได้บริหารกันได้ง่ายขึ้น แล้วมองมาระดับจังหวัด แต่ละจังหวัดก็มีชุดของ BCG ที่ต่างกันอีก และสุดท้าย หัวใจคือ ชุมชน เพราะ BCG ถ้าลงไปสู่ระดับชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็น น้ำชุมชน ป่าชุมชน กองทุน BCG ชุมชน และแต่ละชุมชนก็จะมีท่องเที่ยวชุมชน หรืออะไรที่เบ็ดเสร็จในชุมชน

    ฝายชะลอน้ำ โครงการปิดทองหลังพระ จ.เชียงใหม่

    ฉะนั้นต้องทำกองทุนหมู่บ้าน ให้เป็นกองทุน BCG เหมือน sustainable fund ชุมชนอยากทำเรื่องป่า เรื่องน้ำ หรือ OTOP ที่มีอยู่มากมาย ก็ทำให้เป็นเรื่องราวในกรอบ BCG แม้กระทั่งเรื่อง GI หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น ข้าวสังข์หยดของจังหวัดพัทลุง หรือหลายๆ เรื่องที่มีเอกลักษณ์มีเรื่องราวรายละเอียดอยู่ ต้องทำอย่างจริงจัง เพื่อให้ BCG เชิงพื้นที่มีพลัง เพราะพลังที่แท้จริงต้องมาจากชุมชน

    “เคยเรียนท่านนายกรัฐมนตรีว่าหลังเอเปค ต้องทำ BCG เชิงพื้นที่ เพราะจะได้มีการปฏิบัติจริง มีส่วนร่วมจริง ไม่อย่างนั้น เยาวชนไม่รู้เรื่อง”

    มิติที่สาม คือ career-based BCG คือ BCG เชิงอาชีพ ที่ผ่านมามีการพูดถึง smart farmer ทำไมไม่ทำให้เป็นจริง เป็น creative entrepreneur เป็นสตาร์ตอัพ ไทยต้องการยูนิคอร์น ต้องการสตาร์ตอัพท้องถิ่น ต้องการเด็กที่จบสถาบันราชภัฎ สถาบันราชมงคล สามารถก้าวมาเป็นนักอุตสาหกรรมได้ โดยไม่จำเป็นต้องจบมหาวิทยาลัยรัฐยอดนิยม แต่เป็น local start up ทำแหล่งน้ำชุมชน ทำฝายชุมชน เป็นต้น

    เราไม่เคยกระตุ้นให้เกิดความฮึกเหิม ว่า BCG เป็นเรื่องใกล้ตัว มหาวิทยาลัยทุกแห่งควรจะต้องปรับหลักสูตร เพราะถ้าเรียนจบแล้วตกงาน จะสอนไปทำไม จริงๆ แล้วหลายสาขาวิชาเป็น BCG ได้หมด แต่ต้องสอนให้จับต้องได้ มีการลงพื้นที่จริง ไม่ใช่เรียนแต่ทฤษฎี และถ้าจะให้ก้าวไปอีกขั้น ก็สอนเรื่อง Bio Engineering, Bio Processing หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ใน BCG มีอยู่เยอะ แต่ไม่มีใครมาชู

    “เพราะฉะนั้น สำหรับผม BCG อย่างน้อยมี 3 มิติ คือ 1. มิติทางด้าน sector 2. มิติทางด้านพื้นที่ และ 3. มิติทางด้านอาชีพ ถ้าผู้นำประเทศนำมาทำอย่างจริงจังจะเป็นพลังจะมหาศาล ได้ใจคนด้วย หาเสียงก็ได้ แต่เมื่อยังต่อจิ๊กซอว์ไม่ครบ ผมเคยนำเสนอเมื่อต้นปีที่แล้วก่อนจะลาออกว่า ต้องชูอะไรบางอย่างออกมาเพื่อให้ประชาชนมีความหวัง BCG น่าจะเป็นคำตอบ และการบริหารจัดการ BCG ต้องไม่แค่วาระแห่งชาติ ต้องกัดไม่ปล่อยนะ เหมือนสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ทำจนกระทั่งอีสเทิร์นซีบอร์ดเกิดขึ้น การเกิดมาบตาพุด การเกิดอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มาจากวิสัยทัศน์ของพล.อ.เปรม แล้วมอบหมายให้ดร.สาวิตต์ โพธิวิหค ขับเคลื่อน คือไม่ต้องใช้คนเยอะ แต่ให้อำนาจไปทำเลย”

    BCG เป็นตัวเชื่อมเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับ SDG ให้เป็นจริง

    ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า นอกจากนี้ BCG ยังมีมิติเกี่ยวเนื่องระหวาง Globalization กับ Localization โดย Globalization ปักหมุดแล้วที่เอเปค และต้องขับเคลื่อนใน 2 แกน แกนหนึ่ง คือ Localize คือในพื้นที่ อีกแกนคือ Globalize คือสร้างพรรคพวกกับโลกภายนอก เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย พร้อมย้ำว่า“ยุทธศาสตร์นี้กินไม่หมด”

    โดยอีกจิ๊กซอว์ที่สำคัญที่จะทำให้ไทยเชื่อมโลกได้ และโน้มน้าวได้ง่ายมาก คือใช้ BCG เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy: SEP) กับ SDG หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 ข้อของสหประชาชาติ

    “ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามผลักดัน SEP for SDG มานานแล้ว แต่สำหรับผม ทั้งคู่เป็นนามธรรม เพราะ SDG 17 ข้อ เป็นเป้าหมาย แต่ SEP เป็นปรัชญา ดีทั้งคู่ แต่นามธรรมมาเจอกับนามธรรม จิ๊กซอว์ตรงกลางที่จะเชื่อมให้ 2 เรื่องนี้บรรลุผลเป็นรูปธรรม คือ BCG เพราะ BCG เป็นแพลตฟอร์มที่จับต้องได้ เป็น operating platform ที่มีเป้าหมายคือ SDG โดยใช้หลักของความพอเพียง ความพอประมาณ เพราะว่า sustainable growth กับ inclusive growth ในที่สุดจะต้องเป็น balance growth นี่เป็นอีกหนึ่งคีย์เวิร์ด”

    ฉะนั้น balance growth ไม่ใช่ ไม่เอาของเก่าเลย แต่ต้องรู้จักความพอดี ความพอประมาณ ของเก่าที่ดีก็ใช้ แต่ต้องใช้อย่างระวัง มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ดี แต่ต้องใช้อย่างระวัง คือต้องใช้อย่าง balance ทั้งระหว่างเทคโนโลยีกับคน ระหว่างคนมีโอกาส กับคนด้อยโอกาส เป็นต้น

    ดังนั้นคำสามคำ(SEP-SDG-BCG)จึงต่อจิ๊กซอว์ด้วยคำว่า balance growth ฉะนั้น BCG จึงเป็นตัวเชื่อมจิตสำนึก หรือ mentality ว่า จากนี้ไปโลกจะอยู่ได้ ทุกคนต้องอยู่ด้วยความพอประมาณ ความลงตัว ความพอดี นี่คือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญานี้จึงเชื่อมต่อไปสู่ SDG ได้ด้วย BCG เพราะ BCG มีความเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะผ่าน sector ผ่าน area ผ่านอาชีพ และมีความเป็นสากล เป็น localize ก็ได้ globalize ก็ได้ ไม่ต้องแข่งขันอะไรกันมากมาย และสามารถผนึกกำลังกันทำ โดยมหาวิทยาลัยทุกระดับสามารถเล่นได้ รวมถึงสถาบันราชภัฎ สถาบันราชมงคล ร่วมได้ เพราะเป็น localize แล้วยังมีเรื่องการบริหารจัดการ digital basic ก็สามารถนำไปใช้ได้จริง ยังมีเรื่องการวิจัยที่ในประเทศไทยมีเชื้ออยู่แล้ว โดยยอมรับแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีกับต่างประเทศ เช่น เรื่องอาหาร ที่มีเครือข่ายหลายมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่เล่นเรื่องเกษตร เรื่องอาหาร เหมือนที่ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบดุษฎีบัณฑิต ให้มงกุฏราชกุมารของซาอุดิอาระเบีย หรือจะไปร่วมกับอเมริกา กับจีน ภูฏาน ก็ได้ แนวคิดเรื่อง BCG จึงควรกระจ่างกว่านี้ เพราะถ้าแนวคิดมีความชัดเจน การสื่อสารจะง่ายมาก โดยสื่อสารทั้งคนทั่วไป เอสเอ็มอี เยาวชนมากกว่านี้ ตอนนี้ถือว่ามีการสื่อสารน้อยมาก

    สรุปแล้ว BCG อาศัยความหลากหลายเชิงชีวภาพและวัฒนธรรมที่ทุกประเทศ ทุกพื้นที่ มีอยู่ สองเชื่อมโยงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสาม SDG ที่มีเป้าหมาย 17 ข้อนั้น ตรวจสอบได้เลยว่า มี 10 ข้อคือ BCG รวมทั้ง 5 ใน 10 S-Curve ก็คือ BCG และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญอันดับแรกๆ ที่ควรจะสร้าง

    BCG โมเดลสร้างการกระจายอำนาจ นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

    ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ” BCG ยังเป็นโมเดลทางเศรษฐกิจที่ distributive economic model คือมีความกระจายตัว มากกว่ากระจุกตัว เพราะรายใหญ่ก็เล่นได้ รายกลางก็เล่นได้ กลุ่มฐานราก ชุมชน ก็เล่นได้ รวมทั้งเอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ วิสาหกิจชุมชน ไม่ผูกขาด ถ้าทำดีๆ จะทำลายทุนผูกขาดในวงการเกษตร วงการพลังงาน เพียงแต่รัฐบาลต้องจริงใจที่จะเอื้อให้มีการกระจายออกไปจริงๆ และยังทำให้เกิดการ กระจายอำนาจ เพราะถ้าคนในชุมชนชนยืนได้ด้วยขาของตัวเอง มีความสมดุลของเขา สำหรับรัฐ BCG ถือเป็นการลงทุน ไม่ใช่ค่าใช้จ่าย เพราะแต่ละปีไม่ต้องมาคิดว่าจะใช้งบเท่าไหร่ในการอุดหนุนข้าว ยางพารา มันสัมปะหลัง ปาล์ม และถ้าเอางบ 1 แสนล้านบาทมาลงใน BCG ทำเรื่องสาธารณูปโภค ระบบน้ำ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ให้ดี ในที่สุด จะได้ผลตอบแทนกลับมาหมด

    เพราะจะเปลี่ยนเกษตรกรจาก suffer เป็น sustain แล้วเขาจะฉลาดพอที่จะจ่ายภาษีอย่างไรเพื่อให้เขาได้ผลประโยชน์มากกว่าการงอมืองอเท้ามาขอแบบนี้ทุกปี เท่ากับ BCG ได้ดัดนิสัยคน แต่รัฐบาลก็คิดแค่เอางบประมาณมา คิดแบบนี้ประเทศอยู่ไม่รอด การปฏิรูปจึงล้มเหลว ยุทธศาสตร์ชาติเขียนไปก็ไม่มีประโยชน์

    “โมเดล BCG จึงเป็น Multi-Stakeholder โดยตัวมันเอง เอกชนรายใหญ่ รายย่อย ก็ทำได้ วิสาหกิจชุมชนก็ได้ ทุกคนทำได้หมด แม้กระทั่งมหาวิทยาลัย เพียงแต่ว่า เราต้องการผู้นำ จริงๆ แล้ว คือ นายกรัฐมนตรี คือผู้นำเรื่อง BCG แต่ต้องกัดไม่ปล่อยแบบพล.อ.เปรม ที่ทำเรื่องอีสเทิร์นซีบอร์ด ไม่ใช่ว่าพูดแล้ว ที่เหลือพวกคุณไปทำ ยิ่งตอนนี้ผู้นำประเทศเอเปคเขาเชื่อแล้ว โลกให้การรับรองแล้ว ก็น่าเสียดายมาก เพราะนานๆ ไทยจะมีโมเดลด้านเศรษฐกิจที่เป็นของโลก แต่เราเล่นไม่เป็น ทำให้ต้องใช้พลัง non government มากขึ้นในการขับเคลื่อน และเป็น non government ที่คนทำได้ประโยชน์ด้วย หลายพื้นที่หลายแห่งสร้างเครือข่ายโดยไม่ผ่านรัฐ หรือต้องมีงบประมาณเท่านั้นถึงจะทำ ทั้งที่อาจจะไม่จำเป็น”

    ทั้งนี้ แม้ว่าทั่วโลกจะพูดเรื่องในอนาคต ว่าต้อง sustainable แต่ผมว่าไม่ใช่ เพราะโลกเราต้องการ 4 มิติพร้อมๆ กัน หนึ่งในนั้น คือความยั่งยืน แต่อีกมิติ คือ ความเท่าเทียม ถ้าไม่มีความเท่าเทียม ความยั่งยืนไม่เกิด มิติที่สาม คือความก้าวหน้า จะปฏิเสธเทคโนโลยีไม่ได้ และมิติที่สี่ คือความมั่นคง เพราะจากนี้ไปจะเป็นโลกหลายขั้ว ความมั่นคงจะเป็นเรื่องใหญ่ จากเดิม globalization เน้นเรื่องเศรษฐกิจ แต่ตอนนี้ deglobalization เน้นเรื่องความมั่นคง ซึ่ง BCG ตอบโจทย์ทั้ง 4 เรื่องในเวลาเดียวกัน ตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน เพราะอาศัยความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ซึ่งเป็นความยั่งยืนอยู่แล้ว แล้วยังตอบโจทย์เรื่องความเท่าเทียม คือ area-base

    “ถ้ามีหลักสูตร area-based BCG ให้เรียน อนาคตนักศึกษาก็รวยได้โดยไม่ต้องเป็นมนุษย์เงินเดือน ได้กลับบ้านเกิดโดยไม่ต้องมีโครงการคืนถิ่น เพราะทุกอย่างกลับถิ่นอยู่แล้วเพื่อให้เขาใช้พลังของเขาได้ ขณะที่เรื่องความมั่นคงตอบโจทย์แน่ๆ เพราะเป็นความมั่นคงเรื่องอาหาร เรื่องพลังงาน เรื่องน้ำ และการมีงานทำ BCG จึงตอบโจทย์โลกที่กำลังเจอวิกฤติในขณะนี้อย่างสบายๆ BCG ยังตอบโจทย์เรื่องความก้าวหน้า เพราะยังต้องการเทคโนโลยีที่เป็น green technology ยังต้องการเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และอีกเยอะแยะ โดย BCG ต้องการความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ แต่เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อความยั่งยืน ต้องการ inclusive innovation คือนวัตกรรมที่ทุกคนมีโอกาสแบ่งปัน มีโอกาสใช้”

    ฉะนั้น เมื่อเอเปคให้ความยอมรับ เรื่อง BCG ให้การรับรองแล้ว โจทย์จากนี้ไป คือ BCG in action คือถ้าไทยเชื่อใน BCG แล้ว ต้องทำให้มันเกิด

    ดร.สุวิทย์ย้ำว่าต้องขยายผลไปในกลุ่มประเทศอาเซียน เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านกัน ปัญหามลพิษ ปัญหาความขัดแย้งต่างๆ เหล่านี้ ต้องทำให้อาเซียน หรืออย่างน้อย CLMV ตอบโจทย์ 4 มิติข้างต้นให้ได้ ทั้งความก้าวหน้า ความมั่นคง ความเท่าเทียม และความยั่งยืน ทั้ง 4 มิตินี้ถ้าทำให้ประเทศไทยมีเพียงประเทศเดียว ก็อยู่ไม่ได้

    ดร.สุวิทย์ กล่าวต่อว่า เรื่อง BCG อยากฝากรัฐบาลไว้ใน 4-5 ประเด็น คือ ข้อแรก รัฐบาลต้องเล่นเรื่อง BCG ต่อ สอง ทำให้ทุกพรรคการเมืองมาพูดเรื่อง BCG เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ของไทยประเทศเดียวแล้ว แต่เป็นเรื่องระดับสากล แต่ละพรรคมีนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับเรื่อง BCG เพราะเป็นเรื่องปากท้องประชาชน สาม ควรจะมีกองทุน BCG โดยจะปรับจากกองทุนหมู่บ้าน ก็ได้ แต่ต้องทำให้เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ เป็น people-based investment ไม่ใช่พึ่งพิงการลงทุนจากต่างประเทศอย่างเดียว ใครมีอะไรดี ชุมชนไหนอยากจะทำ บอกมา มีกองทุน เช่น เติมงบในกองทุนหมู่บ้าน 1 แสนล้านบาทเพื่อใช้เป็นกองทุน BCG ดีกว่าใช้งบคนละครึ่งที่แค่ทำให้รอด แต่ไม่ยั่งยืน ขณะที่กองทุนนี้ทำให้คนลืมตาอ้าปาก แต่ต้องไม่ใช้จ่ายสะเปะสะปะ และสี่ เชื่อมกับเยาวชน ที่ Youth In Charge (YIC) นอกจาก Youth In Charge BCG in action แล้ว ยังจะขับเคลื่อนเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ โดยพยายามขยายผลไปอาเซียนอย่างเป็นมิตรอีกด้วย

    พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แถลงข่าวในฐานะประธานผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

    ผลักดันพรรคการเมืองชู BCG

    อย่างไรก็ตาม ดร.สุวิทย์ ยอมรับว่า การขับเคลื่อนเรื่อง BCG ในขณะนี้เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยาก เพราะใกล้จะมีการเลือกตั้งใหม่ และการนำ BCG เป็นนโยบายหาเสียงนั้น สำหรับประชาชนเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่ที่สุดแล้ว BCG ยังต้องใช้พลังของรัฐในการขับเคลื่อนอยู่ โดยเฉพาะที่ประชุมเอเปคได้ให้การรับรองเรื่อง BCG แล้วที่จะเป็นโมเดลในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ ประเทศไทยในฐานะผู้นำเสนอจะไม่ใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนให้เกิดการปฎิบัติจริง ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

    ฉะนั้น ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะถึงนี้ ควรให้แต่ละพรรคมี commitment ในเรื่อง BCG โดยชูเรื่องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โครงสร้างการบริหาร เพราะ BCG จะทำให้เกิดการกระจายตัว จนในที่สุดเกิดการกระจายอำนาจโดยตัวมันเอง เป็นโมเดลที่มีมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองซ่อนอยู่ ตอนนี้ impact สูงสุดน่าจะมาจาก political commit สัญญาจากฝ่ายการเมือง เพราะพูดไปแล้ว ไม่ทำไม่ได้ หรือเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอย่างไร หรือเป็นฝ่ายค้านแล้ว เมื่อรัฐบาลเห็นด้วยกับ BCG โลกรับรู้ ก็ต้องช่วยสนับสนุน เรื่อง BCG จึงต้องอาศัยการเมืองหลังการประชุมเอเปค ว่า เลือกตั้งครั้งนี้จะทำอย่างไร ถ้ามีความเชื่อว่า เรื่องนี้มีประโยชน์ ถัดจากรัฐบาล ก็ต้องมาดูว่าภาคส่วนไหนที่จะช่วยขยับ ซึ่งถ้าสองส่วนนี้เดินไปด้วยกันได้จะมีพลังมหาศาล

    ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า เรื่องใหญ่ของไทยในขณะนี้ คือการปรับโครงสร้าง ทั้งการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ปรับโครงสร้างการเมือง ปรับโครงสร้างทางสังคมซึ่งทั้งหมดแก้ได้ด้วย BCG โดยตัวมันเอง คือในที่สุด จะเห็นภาพที่ว่า ชุมชนของไทยจะเหมือนญี่ปุ่น เหมือนสวิตเซอร์แลนด์ คือแต่ละชุมชนมีเอกลักษณ์ของแต่ละแห่ง ไปกินกาแฟ ไม่ใช่ไปกินสตาร์บัคส์ แต่เป็นโอท็อปที่ยั่งยืน มีเรื่องราว มีรายละเอียดจริงๆ ไม่ใช่แต่งขึ้น หรือมีการดูแลปกครองกันเอง ไม่ใช่ดูแลโดยรัฐบาล ไม่อย่างนั้น ก็จะมายื้อแย่งกันระหว่างกระทรวงมหาดไทย กับการบริหารส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น เป็นการแย่งอำนาจ แต่ไม่ได้แย่งกันทำนโยบาย หรือยุทธศาสตร์ที่ตอบโจทย์ประเทศ แต่ BCG อย่างน้อยเป็น people power จริงๆ ไม่ได้เป็นอำนาจของธุรกิจรายใหญ่ที่เข้ามาครอบงำ หรือเป็นอำนาจรัฐที่ใช้การสั่งการให้ไปทำ แต่พูดอย่างนี้หาเสียงไม่ได้

    ที่สำคัญ BCG เป็นกระบวนการประชาธิปไตย เพราะมี distribute ที่ decentralize แล้วก็เป็น democratization โดยเริ่มจากกระบวนการประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เป็น economic democratization

    ตอนนี้รัฐบาลไม่ควรไปลงทุนสาธารณูปโภคขนาดใหญ่อย่างเดียวแล้ว แต่ควรลงทุนสาธารณูปโภคของชุมชน ที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รองรับโอกาสที่จะเกิดขึ้น เช่น เปลี่ยนจากการลงทุนสร้างทางด่วน เป็นยุ้งฉางชุมชน หรืออะไรที่รักษาอาหาร หรือกระจายให้ทุกชุมชนทำอาหารสัตว์ได้ แก้ปัญหาการผูกขาดด้วย เป็น zero waste เอาของเสียจากอาหารไปใช้ประโยชน์ แทนเอาไปให้รายใหญ่ทำ นี่เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า แต่ต้องรู้ก่อนว่า concept คืออะไร ถ้าเราพูดถึง BCG area base , entrepreneur จะจัดการเรื่องน้ำอย่างไร ลดขยะในชุมชนให้เป็นศูนย์ ฯลฯ ทุกอย่างทำในชุมชน ต่อไปการท่องเที่ยวจะได้กระจายตัวด้วย ไม่เช่นนั้น การท่องเที่ยวก็จะมีเมืองหลัก เมืองรอง แค่นั้น เมืองก็สามารถเติบโตได้

    เพราะ BCG ทำให้เกิดการสร้างเมืองใหม่ๆ คือมีอะไรที่ตามมาอีกมากมาย เทียบกับปัจจุบันที่เอาสิ่งที่เรามีอยู่มาขาย แต่ต่อไปจะเป็น creative economy ที่มีอะไรมากมาย หรือเล่นไปถึงจุดหนึ่ง เป็น creative city ก็ได้ creative community ก็ได้ หรือ innovative district ก็ได้

    พร้อมยกตัวอย่างว่า “ตอนอยู่กระทรวงวิทย์ฯ เคยผลักดัน innovation district เช่น มีทั้งโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลพระมงกุฎ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเด็ก สามารถทำเป็นคลัสเตอร์ได้แบบเดียวกับที่บอสตัน หรือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีคณะแพทย์ศาสตร์อยู่ ก็ทำเป็น medical district หรือ innovation district ถ้าทำ เวลาชาวต่างประเทศไปท่องเที่ยว หรือคนในประเทศใกล้เคียง CLMV ก็จะรู้ถึงบริการเหล่านี้ ทั้งหมดนี้อยู่ที่การวาง concept ฉะนั้น BCG ไม่ใช่แค่ local-local บางอย่างเป็นระดับภูมิภาคได้”

    เพราะฉะนั้น องค์ประกอบ BCG จึงมีเรื่อง นโยบาย การจัดการ และองค์ความรู้ เพราะเวลาจะทำก็ต้องใช้ 3 เรื่องนี้ แล้วให้แต่ชุมชนไปจัดการ ไม่ต้องพึ่งส่วนกลาง ถ้าเป็นรัฐบาลก็จัดการ 3 เรื่องนี้ให้ดีให้กับพื้นที่ เขาขาดเรื่องบริหารจัดการ รัฐบาลเข้าไปช่วย ขาดการเชื่อมโยงกับโลก ขาดอีคอมเมิร์ซ ก็เข้าไปช่วย แม้แต่เยาวชนในพื้นที่ก็ยังทำได้ BCG จึงเข้ามาปฏิรูประบบราชการ ให้อำนาจกับชุมชนหรือเอกชนไปทำอีกด้วย บางอย่างก็ผนึกกำลังกันทำ นี่เป็นเรื่องการจัดการ อีกส่วนก็เป็นเรื่องเทคโนโลยี การจัดหาพันธุ์พืชที่ดี หรือลดขยะเป็นศูนย์ ก็ต้องใช้เทคโนโลยีบางอย่าง แต่ไม่ใช่เทคโนโลยีที่ยากมาก เอื้อมไม่ถึง แต่คนทำต้องรู้ อยากปลูกสมุนไพร ต้องรู้วิธีคัดพันธ์ วิธีการสกัด หรือถ้าเป็นที่ญี่ปุ่น พันธุ์พืชที่มีค่าจริงๆ เขาจะปลูก 24 ชั่วโมงในโรงงานเลย บางเรื่องสหกรณ์ทำได้ ทำไมไม่ทำให้สหกรณ์มีความทันสมัย และมีพลัง ใช้เทคโนโลยี ใช้การจัดการที่ดี คือ สหกรณ์เป็นแนวคิดที่ดีมาก แต่ไม่เคยทำให้มีพลัง

    ดร.สุวิทย์ย้ำว่า”ถึงได้บอกว่า BCG ของไทยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะมีหลายอย่าง แค่ทำให้ทันสมัย ใช้งานมัน ถ้าจะทำ area base BCG ผมคิดถึงสหกรณ์ทันที แต่ต้องไม่ใช่สหกรณ์แบบวันนี้ ผมคิดถึงสตาร์ทอัพ แต่ไม่ใช่สตาร์ทอัพที่มีไม่กี่ราย แต่เป็นสตาร์ทอัพที่คนจบจากสถาบันราชภัฏ สถาบันราชมงคล ก็ทำได้ แล้วทำในพื้นที่ ถ้าดีจริงก็ทำทั่วประเทศ ผมคิดถึงเอสเอ็มอี ปัจจุบัน ถ้าเป็นเรื่องเกษตรต้องเป็นรายใหญ่ การแพทย์ก็ต้องเป็นรายใหญ่ ซึ่งไม่จำเป็น ทุกอย่างจึงเป็นเรื่องนโยบาย แล้วค่อยมาบอกว่าจะโปรโมทสตาร์ทอัพ โปรโมทเอสเอ็มอีอย่างไร ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มาพูดเรื่องสตาร์ทอัพ เรื่องเอสเอ็มอี หรือจะโปรโมทคลัสเตอร์จังหวัดอย่างไร แต่ต้องมีความชัดเจน เช่น มีคลัสเตอร์จังหวัดเท่าไหร่ที่จะสู้ระดับโลกได้ ซึ่งมี อันดามัน เชียงใหม่ ก็ไปจัดการ คลัสเตอร์ที่เหลือก็ยังเล่นได้อีกมาก”

    “ฉะนั้น กระทรวงมหาดไทยจึงไม่ใช่เรื่องการปกครอง แต่เป็นเรื่องการสร้างความมั่งคั่ง ถ้ามีความมั่งคั่ง ถึงจะสร้างความมั่นคง เป็นเรื่อง economic democratization ซึ่งจากนั้นก็จะเกิด political democratization ดีกว่าให้เด็กไปเรียกร้องประชาธิปไตยทางการเมือง เรียกร้องแล้วทำอะไรได้ ถ้าไม่ทำให้ปากท้องเขาดีก่อน ถ้าปากท้องไม่ดี ก็ต้องมานั่งประท้วง หรือภาคการเกษตรมาของบอุดหนุนกันทุกปี จะอยู่กันได้อย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นการถักทอ เป็นการทำให้มีพลัง”