ThaiPublica > ประเด็นร้อน > BCG in Action > “สุวิทย์ เมษินทรีย์” ปลุกพลัง 3 มหาวิทยาลัย สร้างคนใหม่ กำหนดอนาคตโลก

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ปลุกพลัง 3 มหาวิทยาลัย สร้างคนใหม่ กำหนดอนาคตโลก

27 ธันวาคม 2022


ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ด้วยความเชื่อที่ว่า ภารกิจที่แท้จริงของการศึกษา คือ การกำหนดอนาคตของมวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง When We Change, the World Will Change ปาฐกถาของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เรื่อง The Future of CMU|KKU|PSU : From Regional University to Global University ที่จัดร่วมกันระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.), มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ได้ชี้ให้เห็นว่า ทั้ง 3 มหาวิทยาลัยมีภารกิจในการสร้างคนในศตวรรษที่ 21 ที่ไม่ใช่เพื่อก้าวทันโลก แต่เพื่อกำหนดอนาคตของโลก โดยการปรับตัวจาก Regional University สู่ Global University เชื่อมเชื่อมโยงระหว่าง Local-Regional-National และ Global Landscape ผ่าน 3 บทบาทหลัก คือ การพัฒนามนุษย์ที่สมบูรณ์ในศตวรรษที่ 21 การขับเคลื่อน “BCG in Action” และการผลักดัน “Thailand’s Soft Power” อย่างเป็นรูปธรรม

บทบาทแรกคือการพัฒนา “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ในศตวรรษที่ 21 ที่สร้างความเป็นคนควบคู่กับความเป็นตน ที่มีความสมดุลระหว่างศรัทธา ปัญญามนุษย์ และปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยแต่ละมหาวิทยาลัยมีภารกิจในการเข้าใจโลก เข้าใจสังคม และเข้าใจตัวเอง ที่ไม่ได้มาจากเพียงองค์ความรู้ แต่เป็นเรื่อง wisdom เป็นเรื่องของปัญญา เป็นปัญญาที่เข้ากับบริบทโลก คือปัญญาในการเข้าสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมื่อเข้าใจแล้ว ภารกิจต่อไปคือ ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนโลก เปลี่ยนสังคม เปลี่ยนตัวเรา เปลี่ยนลูกศิษย์ จนนำไปสู่การมีภารกิจร่วมกันในการรังสรรค์โลกให้ดีขึ้น (Creating The Better Word) ที่ถือว่าเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยแห่งอนาคต

มหาวิทยาลัยต้องเชื่อว่า เมื่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยน โลกจะเปลี่ยน ไม่ใช่โลกเปลี่ยน มหาวิทยาลัยเปลี่ยน คือไม่ใช่ให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเข้ากับโลก แต่มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้กำหนดว่าโลกจะเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมา โลกได้มีการสะสมความรู้มากมาย ทั้งดีและไม่ดี หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้ก่อให้เกิดสิ่งต่างๆ มากมายให้กับมนุษยชาติ แต่พร้อมกันนั้น ก็เกิดผลพวงตามมามากมาย และเป็นที่มาของการพูดถึงเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฝุ่น PM2.5 และยังมีการปฏิวัติด้านเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิด disruption ในวงการต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ การทำธุรกิจ รวมถึงแนวทางการปกครอง ทำให้ ณ วันนี้ ระบบเกิดความไร้สมดุลมากมาย

“ฉะนั้น องค์ความรู้ของมหาวิทยาลัยจึงต้องตอบโจทย์โลก ตอบโจทย์สังคมให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเผชิญกับวิกฤติต่างๆ เช่น ที่เคยคิดว่าปัญหาโควิด-19 จบไปแล้ว ทุกอย่างน่าจะดีขึ้น แต่ไม่ใช่ เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีก ก่อให้เกิดวิกฤติไม่ว่าจะเรื่องอาหาร พลังงาน นำไปสู่เงินเฟ้อ ที่อาจจะทำให้เกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ในอนาคต หรือ climate change ที่คืบคลานมาและรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นต้น มหาวิทยาลัยจึงต้องเป็นตักศิลาที่ตอบโจทย์เหล่านี้ เพราะทุกวิกฤติล้วนมีโอกาส และที่ตั้งของแต่ละมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็น มอ. ที่อยู่ใกล้กับประเทศมุสลิมของอาเซียน มช. อยู่ใกล้เมียนมา ลาว จีนตอนใต้ มข. อยู่ใกล้กลุ่มประเทศ CLMV เป็นโลกที่กำลังก้าวไปสู่ระดับภูมิภาค (regionalize) ไม่ใช่ globalize อีกต่อไป อยู่ที่ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยจะมองเกมขาด ให้คำจำกัดความกับมหาวิทยาลัยของเราเป็นหรือไม่ อย่างไร”

ฉะนั้น โลกไม่ได้เป็น globalize ไม่ต้องก้าวให้เป็นสากลตามที่ถูกกำหนดโดยโลกต่างขั้วแล้ว แต่เป็นโลกที่มีความหลากหลายมากขึ้น อยู่ที่ว่าแต่ละมหาวิทยาลัยเล่นไพ่ใบนี้เป็นหรือไม่ และสิ่งสำคัญ คือ พลวัตไม่ได้เปลี่ยนแปลงเฉพาะมิติที่เห็นอยู่ แต่ที่น่ากลัวและเกี่ยวข้องกับเราโดยตรงคือการเปลี่ยนแปลงของการสร้างปัญญา ที่เรียกว่า Reimagineering Wisdom ต้องหาจินตภาพ จินตนาการใหม่ แล้ว engineer ออกมาตอบโจทย์ให้ได้

ในอดีตที่ผ่านมา ภูมิปัญญามนุษย์เริ่มต้นจากความเชื่อ ความศรัทธา สู่ความมีเหตุมีผลในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) หลังจากนั้น อารยธรรมของมนุษยชาติก็ดำรงอยู่ด้วยการผสมผสานความศรัทธาและความมีเหตุมีผลอย่างลงตัว แต่จากนี้ไป ภูมิปัญญามนุษย์จะเกิดขึ้น จากการผสมผสานความเชื่อ ความศรัทธา (faith) ความมีเหตุมีผล (reason) และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

ดังนั้น ในบริบทของการศึกษา การเตรียมพร้อมเด็กและเยาวชนไทยให้เป็น digital-native citizen คงจะไม่พอ เราจะสร้าง ai-native citizen ที่มีความสมดุลระหว่างความเชื่อ ความศรัทธา ความมีเหตุมีผล และปัญญาประดิษฐ์ เป็นประเด็นที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะทั้ง 3 องค์ประกอบที่จะก่อเกิดเป็นปัญญามีโอกาสที่จะ “เสริม” หรือ “ขัดแย้ง” กัน

แล้วอะไรคือความจริงแท้ที่ไม่แปรเปลี่ยน อะไรคือความจริงในเชิงสัมพัทธ์ ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์ที่รอคอยคำตอบ

อย่างที่ทราบกันดี มนุษยชาติมีความสงสัย กระหายใคร่รู้ พยายามก้าวข้ามปริมณฑลของ known-known ไปสู่ known-unknown และ unknown-known ปัญญาประดิษฐ์อาจเป็นเครื่องมือตัวสำคัญที่ช่วยมนุษย์ก้าวข้าวข้อจำกัดดังกล่าว พาพวกเราท่องไปในปริมณฑลที่เดิมเป็น unknown-unknown ก็เป็นไปได้ คำถามคือ การศึกษาไทยได้ตระเตรียมการเพื่อ reimagineering wisdom (reimagine + engineering) ให้กับเด็ก เยาวชน ตลอดจนคนไทย ของพวกเราแล้วหรือยัง ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ทำสิ่งเหล่านี้ จะอยู่แถวหน้าของการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

และการสร้างเยาวชนในอนาคต mind set สำคัญกว่า skill set เป็น mind set ที่มองทั้งตัวเองและคนอื่น

สำหรับบทบาทในการขับเคลื่อน “BCG in Action” ผ่าน sectoral-based BCG, area-based BCG, career-based BCG ผ่านการใช้พลังของอุทยานวิทยาศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ ทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนและชุมชน การทิ้งน้ำหนักการวิจัยระหว่าง basic research, translational research, grand challenges และ frontier research

บทบาทในการผลักดัน “Thailand’s Soft Power” อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาศัยความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ รังสรรค์ผ่าน people , place และ product ที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ตลอดจนการผลักดันนักศึกษาในมหาวิทยาลัยปลดปล่อยศักยภาพผ่านการขับเคลี่อน BCG และ soft power

ทั้ง 3 มหาวิทยาลัย มช., มอ. และ มข. จึงเป็นพลังสามประสาน ที่ต่างมี core competencies และผนึกกำลังร่วมสร้าง collaborative network บน common platform ของ “3 พลังเพื่อแผ่นดิน” และมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่า ทั้ง 3 มหาวิทยาลัย ไม่ใช่แค่ regional university แต่เป็น global university ที่เป็นแกนหลักขับเคลื่อน BCG in Action ทั้ง sectoral-based, area-based และ career-based BCG อย่างเป็นรูปธรรม หลัง “คำประกาศกรุงเทพฯ” APEC 2022

ซีรี่ย์ BCG in Action สนับสนุนโดย