ThaiPublica > เกาะกระแส > ThaiPublica Forum…Redesigning Work : “บรรยง พงษ์พานิช” ชี้แม้โลกเปลี่ยน ต้องเรียนรู้ที่จะมี Passion ในงานที่ทำ มากกว่าทำงานที่มี Passion

ThaiPublica Forum…Redesigning Work : “บรรยง พงษ์พานิช” ชี้แม้โลกเปลี่ยน ต้องเรียนรู้ที่จะมี Passion ในงานที่ทำ มากกว่าทำงานที่มี Passion

25 พฤศจิกายน 2022


สำนักข่าวไทยพับลิก้า ThaiPublica.org ครบรอบก้าวสู่ปีที่ 12 มุ่งเน้นการเป็นองค์กรสื่อเพื่อความโปร่งใสและความยั่งยืน ได้จัดงานเวทีปัญญาสาธารณะ ThaiPublica Forum 2022#3 ในหัวข้อ ‘Redesigning Work : โลกการทำงานในอนาคต’ เพื่อระดมความคิดเห็น ต่อยอดมุมมอง เสนอวิธีการแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสร้างโอกาสให้กับประเทศไทย ในวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ณ SAMYAN CO-OP ห้อง AMPHITHEATRE โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรชั้นนำของไทย นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล เครือเจริญโภคภัณฑ์ นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บูลบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และนางสาวกานต์ กิมสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล LINE ประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดแนวคิดการพัฒนา วางแผน ปรับตัว ให้สอดรับการทำงานในโลกอนาคต อย่างมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ ดำเนินการเสวนาโดย ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future)

เวทีปัญญาสาธารณะ ในช่วงแรกเป็นการบอกเล่าเรื่องราวแบบพิเศษสุด จากนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

นายบรรยงเริ่มด้วยการกล่าวว่า ถ้าเรามองในสังคมที่พัฒนา จุดสำคัญจุดหนึ่งคือภาคประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วยเอ็นจีโอ think tank และสื่อ ผมสังเกตในสิบปีที่ผ่านมา เรียนว่าภาคประชาสังคมที่พัฒนามากสุดในไทยคือ สื่อ ไม่ใช่เฉพาะไทยพับลิก้า เรามีสื่อใหม่ๆ มีคุณภาพเพิ่มขึ้นมากมาย สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สื่อไทยพัฒนามากคือ technology disruption ซึ่งกระทบทุกอาชีพ

ต้องขอพูดอย่างตรงไปตรงมา เดิมสื่อไทยจัดว่าเป็น oligopoly มีไม่กี่สำนักคุมทุกอย่าง ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และเทคโนโลยีโทรทัศน์ แต่เราได้เห็นว่าเทคโนโลยีทำให้สื่อมีความหลากหลาย ทำให้สังคมอย่างน้อยในภาคประชาสังคมมีพัฒนาการในด้านที่ดีขึ้น

“ที่พูดมานี้ไม่ได้เกี่ยวกับหัวข้อที่ได้รับมอบหมายให้มาพูด Redesigning Work การทำงานในโลกใหม่ โลกที่เปลี่ยนไป สำหรับคนอายุเท่านี้ คนที่เกษียณมาแล้ว 3 ครั้ง เรื่องนี้ผมมีความรู้ความถนัด ความเชี่ยวชาญไม่มากนัก ต้องออกตัวว่าตอนผมเรียนปริญญาโทที่ศศิน (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) มีสองวิชาไม่ได้ A คือวิชาบริหารทรัพยากรมนุษย์ เพราะฉะนั้นเวลาฟังผมก็อย่าเพิ่งเชื่อมาก” นายบรรยงกล่าว

แต่ที่อยากเล่าคือ

“เรื่องของโลกอดีต อย่างที่เขาบอกว่าคนยุคใหม่ต้อง think out of the box แต่ผมบอกเสมอว่าก่อนจะไปนอกกรอบ ต้องเข้าใจนอกกรอบเสียก่อน เข้าใจที่ไปที่มาของเรื่องราวต่างๆ เพราะถ้าเอะอะจะกระโดดนอกกรอบเลยก็จะไม่เชื่อมโยงอะไรเลย อดีตถึงแม้จะไม่ซ้ำรอย แต่มันมีความสำคัญเสมอ เป็นเหตุปัจจัยของสิ่งที่เราเป็นอยู่และสิ่งที่เราจะพัฒนาต่อไป”

“เรื่องการทำงาน ทุกคนจะเป็นเจ้าของกิจการ ลูกจ้าง ฟรีแลนซ์ ก็ต้องทำงาน ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ผมไม่เรียกว่าทำงาน ผมจะขอเรียกว่าการสร้างผลิตภาพ การทำให้เกิด productivity เพราะการทำงานไม่ว่าด้านไหนๆ ก็ตาม คือ การที่เราจะต้องสร้างผลิตภาพขึ้นมา และความเจริญของมนุษยชาติ คือความสามารถในการเพิ่มผลิตภาพความเจริญของโลก”

เมื่อสองร้อยปีที่แล้ว ตอนโลกมี 1,000 ล้านคน ตอนนี้มี 8,000 ล้านคน ผลิตภาพต่อคนโดยเฉลี่ยของมนุษย์เมื่อสองร้อยปีที่แล้วกับปัจจุบัน ห่างกัน 247 เท่า นั่นคือทำไมเรามีชีวิตที่ดีขึ้น มนุษยชาติเจริญขึ้น ถึงปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่างๆ มากมาย แต่การเพิ่มผลิตภาพก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา

“ที่มีใครบอกว่าเราเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย เราติดกับดัก ผมเรียนว่าปัญหาสำคัญคือ การไม่สามารถเพิ่มผลิตภาพในระบบของประเทศไทย ปัญหามีร้อยแปด แต่เราจะพูดถึงการทำงานที่ทุกคนต้องปรับตัวในโลกผันผวน ในโลก VUCA”

นายบรรยงกล่าวว่า ขอเล่าเรื่องตัวเองเล็กน้อย ในระดับองค์กร ตั้งเป้าหมายทางด้านผลิตภาพว่า องค์กรรวมต้องมีผลิตภาพยังไง เป้าหมายเป็นอย่างไร แต่ละคนแต่ละฝ่ายจะสร้างยังไง

ยกตัวอย่างธนาคารเล็กๆที่ผมทำงานอยู่ เป้าหมายเราชัดเจนมาก เราไม่ได้ต้องการเป็นธุรกิจการเงินที่ใหญ่สุด ไม่ต้องการมีทรัพย์สินใหญ่สุด ไม่ต้องการมีรายได้มากสุด ไม่ต้องการมีกำไรแง่รวมมากสุด แต่เป้าหมายเราชัดว่า เราต้องการเป็นองค์กรที่มี productivity สูง เราต้องวัดโดย profitability เราต้องการเป็น The Most profitable

องค์กรของผมวัดสามมิติ มิติหนึ่งคือ ผลต่อกำไรต่อส่วนผู้ถือหุ้น ROE (Return on Equity) เรื่องนี้สำคัญ เพราะเราใช้ทรัพยากร ขอย้อนไปที่ผลิตภาพ ผลิตภาพแปลว่าผลผลิตที่ได้จากใส่ input เข้าไป การเพิ่มผลิตภาพหมายถึงเราสามารถเพิ่มผลผลิตได้ในปริมาณ input ที่น้อยลงหรือเท่าเดิม

ในแง่สถาบันการเงิน ผมยกตัวอย่างการเพิ่มผลิตภาพที่สำคัญคือ ROE เป็นการรับผิดชอบต่อ stakeholder กลุ่มสำคัญกลุ่มหนึ่งคือเจ้าของทุน คนที่เราใช้ทุนเขา เขาจะได้รับผลตอบแทนที่ดีก็ต่อเมื่อเรามีผลผลิตจากทุนที่ได้มา และเพิ่มในอัตราที่ดี

สอง ROA return on asset ทรัพย์สิน คือ ทรัพยากรที่เราได้รับแบ่งปัน รับผิดชอบ เราก็ต้องทำผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน ถือเป็นการรับผิดชอบต่อระบบ ทำให้เกิดประโยชน์

สาม Productivity per gain คือผลผลิต และกำไรสุทธิต่อคน หนึ่งคนพนักงานที่เราใช้

นายบรรยงเล่าว่า เกียรตินาคินภัทร ตอนควบรวมเมื่อสิบปีที่แล้ว มีกำไรต่อคนต่อปี 400,000บาท วันนี้ ปีนี้ ถึงแม้เพิ่งโดนโกงไป 600-700 ล้านบาท ก็จะมีกำไรต่อคนต่อปีประมาณ 2 – 2.2 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากเราสามารถสร้างระบบและทำแบ่งปัน คัดเกรดจนคนสามารถเพิ่มผลิตภาพของเขาได้ เป็นการรับผิดชอบต่อพนักงานโดยตรง เพราะถ้าเขาเพิ่มผลิตภาพได้ บริษัทก็มีกำลังที่จะเพิ่มผลตอบแทน มีกำลังที่จะดึงดูดคน สร้างคนมีความสามารถทุ่มเท เป็นรางวัล และแรงจูงใจ โดยตรงให้กับเขา พอเพิ่มผลิตภาพได้สี่เท่า บริษัทก็เพิ่มเงินเดือนได้สองเท่า

ทำยังไงเราถึงจะเพิ่มผลิตภาพได้ คือการที่องค์กรสามารถวาง คนของเรา ผมพูดแบบธุรกิจตลาดทุน เราสามารถมีรายได้ต่อคนต่อปีประมาณ 7 ล้านกว่าบาท โดนโกงไปล้านบาท

เราต้องพยายามป้องกันตัวเราจากโจร ถ้าโจรได้ประโยชน์ง่ายๆ เป็นโจรดีกว่า เป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมและผู้เกี่ยวข้อง สำนักงานก.ล.ต ที่จะต้องช่วยกัน ไม่ใช่ปราบโจรเพื่อช่วยเรา แต่ปราบโจรเพื่อช่วยระบบ ให้ทุกคนกลับมาสร้างผลตอบแทนจากความทุ่มเทของผลิตภาพที่สร้าง ไม่ใช่จากกลโกงที่ได้

ในแง่บุคคล ในแง่องค์กร ผมตั้งเป้าชัด กฎข้อหนึ่งของ Jack Walsh สำคัญมากบอกว่า “if u don’t have competitiveness, never compete” โมเดลที่เราแข่งได้ หลายเรื่องผมไม่แข่ง แต่ผมจะแข่งในเรื่องที่มีข้อได้เปรียบ หรือสร้างข้อได้เปรียบได้ สร้างผลิตภาพได้ อย่างเช่น เราตั้งเป้าในธุรกิจเราว่าเราต้องการเก่งสุดในโลกในเรื่องที่เราทำ

ยกตัวอย่างตลาดทุน ผมทำธุรกิจเป็นโบรกเกอร์ให้นักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันไทย เป้าหมายเราคือเป็นโบรกเกอร์ที่ดีสุดในโลกให้กับสถาบันการลงทุนไหนก็ตามที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย เราต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดในโลก เราต้องการเป็น private wealth ที่ดีที่สุดในโลกสำหรับเศรษฐีไทยที่ลงทุนในไทย ตอนนี้เราเป็นสะพานเชื่อมให้ เป้าหมายที่ฟังเหมือนง่าย แต่มันมีกระบวนการวัดจริงและทำให้เราพัฒนาได้ แต่คำว่าดีที่สุดเป็นเป้าหมาย มันไปไม่ถึงหรอก วิ่งทั้งชาติจนผมเกษียณตายไปก็ยังไม่ดีที่สุด ใครก็ตามที่คิดว่าดีที่สุดแล้วหยุด จบ

ปัจเจกก็เหมือนกัน ตัวของคนแต่ละคน ก็เหมือนกัน การเพิ่มผลิตภาพของเรา เดี๋ยวนี้ไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต่อให้เป็นฟรีแลนซ์ก็ทำไม่ได้ ต้องไปสร้างทีม การเพิ่มผลิตภาพขึ้นกับว่า เราเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงธุรกิจที่เราทำอยู่หรือเปล่าว่ามันสร้างอะไรให้กับโลก

ผมสารภาพว่าสิบปีแรกที่มาทำงานตลาดทุน ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตลาดทุนมีไว้ทำไม นึกว่ามีไว้ให้คนมาเล่นหุ้น ปั่นหุ้น ในที่สุดก็เข้าใจว่ามันคือกระบวนการรวบรวมจัดสรรทรัพยากร เมื่อเข้าใจอย่างนั้นแล้วทำให้เราเข้าใจว่าเราทำธุรกิจได้ดีก็ต่อเมื่อเราเป็นคนรวบรวมจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนต่อระบบเศรษฐกิจ พอเข้าใจแบบนี้ก็ออกแบบวิธีการ โมเดล

ที่สำคัญที่สุดเกิดสิ่งที่เรียกว่า ฉันทะ หรือแพชชั่น Passion คือ สิ่งที่เรารักใคร่ลุ่มหลงที่จะทำ เพราะเรามั่นใจว่านอกจากมันสร้างประโยชน์ให้เราแล้ว มันยังสร้างประโยชน์ให้สังคมและระบบด้วย แพชชั่นเป็นเรื่องสำคัญมาก สังเกตว่าทุกตำราเริ่มต้นด้วยแพชชั่น

แต่แพชชั่นเกิดยังไง…

“น้อยคนรู้ตัวแต่เด็กว่าแพชชั่นคืออะไร ก็มี ไม่ใช่ไม่มี แต่ผมเรียนว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าแพชชั่นคืออะไร เลยเกิดคำถามว่าจะเริ่มยังไง คนชอบบอกว่าต้องทำงานที่ตัวเองมีแพชชั่น ถ้าทำได้อย่างนั้นก็วิเศษ แต่สำหรับผมกลับกันคือผมเรียนรู้ที่จะมีแพชชั่นในงานที่ผมหาได้ และพยายามเข้าใจมันให้ลึกซึ้งว่ามีไว้ทำไม ตลาดทุนสร้างประโยชน์อะไรให้กับโลก”

“พอเข้าใจ สิ่งที่ตามมาคือพลัง energy คือความเพียร (perserverance) ถ้าคุณไม่มีแพชชั่น perserverance ตามมายาก เพราะไม่รู้ว่าจะขยันไปทำไม ถ้าหวังแต่เงินก็ไปโกง ถ้าอยากเติบโตได้ผลตอบแทนจากผลิตภาพก็ต้องสร้างแพชชัน”

ถึงแม้ในอนาคตจะเปลี่ยนไป เทคโนโลยี เงื่อนไขการทำงาน แต่ผมมั่นใจว่าขั้นตอนเป็นอย่างนี้

นายบรรยงกล่าวว่า มีคำอยู่ 4 คำ คือ 4Ps ได้แก่

    Perspective คือ การเข้าใจโลกในมุมกว้าง หรือถ้าเทียบกับทางพุทธคือ วิมังสา แต่วิมังสามักไปอยู่ท้ายสุด คือการถอยไปดูว่ามุมกว้างคืออะไร โลกมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง เราต้องปรับตัวยังไง
    Purpose คำว่า life purpose
    Passion
    perseverance

“เชื่อเถอะครับ passion แล้วนั่งเฉยๆ รอส้มหล่นไม่เกิด เราต้องทุ่มเทเข้าไป การทำงานในองค์กร”

มองกลับมาที่องค์กร องค์กรคือ การรวมเอาบุคคลต่างๆ มารวมกันให้เกิดผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นมากกว่า ต่างคนต่างทำ การที่องค์กรจะผลิตผลิตภาพได้สูง มันต้องมีเงื่อนไขที่ทำให้คนที่เหมาะสม ได้ เข้ามาอยู่ด้วยกันและสามารถรวมกันเพิ่มผลิตภาพรวมได้เต็มที่

ซึ่งเงื่อนไขต่างๆ ผมก็ถามว่ามันทำได้ยังไง ผมสอบตกวิชา HR ผมเลยใช้ตรรกะง่ายๆ ว่าคนเราจะอยู่ด้วยกันและทำงานอย่างมีผลิตภาพให้มองกลับว่าเขาอยากได้อะไร ผมสรุปง่ายๆ ว่าเขาอยากได้ 5 อย่าง

    หนึ่ง อยากได้เรียน มนุษย์เราโดยเฉพาะคนเก่งอยากเรียนรู้ตลอดเวลา ที่เรียกว่า life long learning คนอยากเรียนรู้มากขึ้น ทำยังไงให้องค์กรมีเงื่อนไขให้คนมีโอกาสเรียนรู้คลอดเวลา
    สอง ได้ทำ ทำให้เขาได้ put out productivity ให้มากที่สุดเต็มศักยภาพ
    สาม คือได้ตังค์ ทุกคนต้องสร้างเนื้อสร้างตัว ถึงแม้การออมเงินไม่ใช่เป้าหมายใหญ่ แต่เงินเป็น basic need ที่สนองความอยาก เงินคือเรื่องสำคัญ
    สี่ ได้มัน ได้มาอยู่ในบรรยากาศที่สนุกสนาน พอมนุษย์พอได้เงินถึงจุดหนึ่ง ความอยากก็เปลี่ยนแปลงไป ความได้สนุกสนาน ร่าเริง ได้ไปปาร์ตี้ ปาร์ตี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับองค์กร องค์กรไหนไร้ปาร์ตี้ ก็เหมือนไร้ดนตรีกาล มันต้องปาร์ตี้กระจาย play hard work hard party hard
    สุดท้าย ได้ภูมิใจ นอกจากสร้างประโยชน์ให้องค์กร ผู้ถือหุ้น stakeholder ลูกค้า เขาได้ทำอะไรให้โลกและมวลมนุษยชาติบ้าง

“5 เงื่อนไขง่ายๆ ได้เรียน ได้ทำ ได้ตัง ได้มัน ได้ภูมิใจ ถ้าเราสามารถสร้างองค์กรให้มีเงื่อนไขต่างๆ เหล่านี้ได้ ก็สามารถดึงคนเก่งคนดี ที่องค์กรผมไม่ใช่แค่คำขวัญ แต่เป็น promise และไม่ใช่ promise ของผู้บริหาร แต่เป็น promise ของทุกคนทั้งองค์กรร่วมกันว่าเราจะสร้างสิ่งนี้ให้เกิดกับองค์กรของเรา ตัวเราและสังคมของเรา”

ที่องค์กรผมเราจะทำสิ่งที่เรียกว่า principle center organisation คือ องค์กรที่มีหลักการเป็นแก่น คนเป็นผู้นำ exhibit หลักการและเป็นคน execute busines ก็จริง แต่ผู้นำที่เป็นคน บางวันก็ฉลาด บางวันก็โง่ บางวันก็โดนหลอก บางวันอารมณ์ดี อารมณ์เสีย แต่หลักการง่ายๆ ที่ทุกคนเชื่อถือได้ คือถึงคนจะเปลี่ยน แต่หลักการยังอยู่

ผมมีหลักการหลายข้อ ขอยกมาแค่สองข้อ ที่ขอน้อมนำพระพุทธองค์มาคือ อิทธิบาทต่องาน พรหมวิหารต่อกัน

อิทธิบาทต่องานคือ ธรรมะที่เป็นรากฐานของความสำเร็จ ฉันทะ passion วิริยะ (perseverance) จิตตะ ก็คือ การเอาใจใส่ ลงในรายละเอียดทุกๆขั้นตอน วิมังสาคือการรู้จักถอยมาดูภาพใหญ่ ไม่ว่าปัจเจกหรือองค์กร ถ้ามีพร้อมในคำว่า อิทธิบาท มันยากที่จะไม่สำเร็จ

สำหรับพรหมวิหาร เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ใช้กับการอยู่ร่วมกัน อิทธิบาทต่อกัน คือ เรื่องสำคัญ ไม่ใช่เฉพาะเรา เราต้องเผื่อแผ่ให้ stakeholder อื่นๆ และคนในสังคม เป็นหลักง่ายๆ ที่เราใช้

“ผมคิดว่าพอแค่นี้ ผมคนรุ่นเก่าได้มาเล่าประสบการณ์ที่ผมคิดว่า มันยังมีประโยชน์ ถึงแม้โลกจะเปลี่ยนไป และอย่าลืมคำว่า productivity เรามาสร้าง productivity กัน เราจะไม่พูดว่ามาทำงาน แต่จะพูดว่ามาสร้าง productivty และสำรวจว่าเราเพิ่มมันได้จริง”