ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “บรรยง พงษ์พานิช” ชี้สังคมและสิ่งแวดล้อมเปราะบางมาก ใช้กลไกการแข่งขันให้ผู้บริโภคต้องการในสิ่งที่จะช่วยโลกยั่งยืน

ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน : “บรรยง พงษ์พานิช” ชี้สังคมและสิ่งแวดล้อมเปราะบางมาก ใช้กลไกการแข่งขันให้ผู้บริโภคต้องการในสิ่งที่จะช่วยโลกยั่งยืน

20 พฤศจิกายน 2020


งานสัมมนาขึ้นสู่ปีที่ 10 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า Facing the Future of ESG: Thailand’s Next Steps toward Sustainability:ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยมีวิทยากรดังนี้ 1.ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 2.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4.ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล จากัด 5.นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน 6.นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ TCP 7.ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 8.นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน” ว่า ควรกล่าวได้ว่ามาในเวลาที่เหมาะสมที่สุด เพราะ ณ ขณะที่เรากำลังมีงานปาฐกถาอยู่นี้ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงถึง 55 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิตไปแล้วกว่า 1 ล้านคน ระบบเศรษฐกิจประสบกับภาวะที่เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์แม้เมื่อเทียบกับ The Great Depression ในขณะที่สถานการณ์สิ่งแวดล้อมกำลังเข้าสู่จุดวิกฤติ ระดับคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 800,000 ปี ซึ่งแปลว่าสูงที่สุดตั้งแต่ก่อนมีสปีชีส์มนุษย์ และในไม่ช้าคงนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของระดับอุณหภูมิเกิน 1.5 หรือ 2 องศาสเซลเซียสที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าจะนำอารยธรรมมนุษย์ไปสู่สุดที่ไม่อาจหวนกลับ

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่มีเวลาไหนที่การพูดเรื่องความยั่งยืนจะมีผู้ฟังมากที่สุดเท่ากับเวลาที่คนรู้สึกว่าอนาคตกำลังจะไม่ยั่งยืนอย่างเช่นทุกวันนี้อีกแล้ว

เห็นได้ชัดว่านับตั้งแต่เกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เรื่องผลกำไรสูงสุดประจำไตรมาสไม่ใช่สิ่งเดียวที่บริษัทพูดถึงกันอีกต่อไป แต่พูดถึง “ความอยู่รอด” ไปในอนาคต บริษัทห้างร้านหลายแห่งรู้สึกได้โดยแทบไม่ต้องดูตัวเลขว่าก่อนผลประกอบการงวดถัดไปจะออก บริษัทก็อาจจะไม่มีอยู่แล้ว และแม้กระทั่งบริษัทที่ยังยืนอยู่ได้ในวันนี้ ก็ไม่แน่ใจนักว่าจะยืนอยู่ได้ในสถานการณ์ระลอกถัดไป

ในขณะที่สำหรับนักวิทยาศาสตร์หลายคน การพยายามมาพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในโมงยามนี้ เป็นเรื่องป่วยการแล้ว เพราะสิ่งใดที่จำเป็นต้องทำ จะไม่มีเวลาทำได้ทันแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ในทางชีววิทยามีทฤษฎีที่บอกว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตนั้นไม่ได้ดำเนินเป็นเส้นตรงแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่จะระเบิดเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะช่วงที่มีความกดดันสูงๆ หรือที่เราเรียกกันว่าวิกฤติ

ดังนั้น ในจังหวะที่สถานการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มนี้เอง จึงเป็นช่วงเวลาของการตกกระไดพลอยโจนที่ทางหนึ่งก็อาจเสี่ยงต่อการหกล้มกระดูกหัก แต่อีกทางหนึ่งก็คือจังหวะของการกำหนดท่าทีใหม่ เพื่อลงสู่พื้นได้อย่างมั่นคงและทันการณ์ได้เหมือนกัน

คำว่า “ความยั่งยืน” อาจดูเป็นนามธรรม แต่ถ้าให้เป็นรูปธรรมกว่านั้นก็คือเราต้องหาวิธีสำหรับเจอวิกฤติอย่างโควิด 19 นี้แล้วผ่านไปได้ หรือดียิ่งกว่านั้นก็คือวิธีที่จะทำให้เราไม่ต้องเจอวิกฤติอย่างนี้อีก เพราะอย่างที่หลายคนพูด โควิด-19 นี้เทียบแล้วยังเล็ก เมื่อเทียบกับวิกฤติที่จะตามมาพร้อมการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่ว่าวิกฤตินี้มีคนเสียชีวิตเยอะ ก็ยังอาจจะมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ ที่ว่าใช้เงินเยอะ อาจจะต้องใช้เยอะกว่านี้ และที่แน่ๆ ก็คือ วิกฤติทางสิ่งแวดล้อมจะเป็นอะไรที่เจอพร้อมกันหมดทั้งโลก แบบไร้พรมแดน ไร้ความเคารพสถานการณ์ทางการเมือง ในแบบที่โควิด-19 ได้ซ้อมใหญ่ให้เราเห็น

เคยมีคนเอาการ์ตูนให้ดู เขาเขียนเป็นรูปเมืองมนุษย์กลางทะเลที่กำลังจะถูกกลืนด้วยคลื่นซูนามิที่เขียนไว้ว่า “โควิด-19” แต่ปรากฏว่าด้านหลังคลื่นลูกนั้นมีคลื่นลูกใหญ่กว่าที่เรียกว่า “Recession” หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจติดตามมา แล้วหลังคลื่น Recession ก็ยังมีคลื่นลูกใหญ่ที่สุดที่เรียกว่าคลื่น Climate Change อีกต่างหาก

ดังนั้น ทางหนึ่งเราต้องเรียนที่จะแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 แน่ๆ แต่อีกทางหนึ่งเราก็ต้องมองให้เห็นภาพใหญ่กว่านั้นและระยะยาวกว่านั้นคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสังคม และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าเราจะบรรเทาคลื่นลูกใหญ่ที่จะตามมาได้อย่างไร หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเราต้องหาวิธีจัดสรรความสัมพันธ์ของเรากับตัว S Social กับตัว E Environement ใน ESG นั่นเอง

ในแง่ของบุคคลธรรมดาควรมีจิตสำนึกอย่างไรนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปโดยพื้นฐานอุปนิสัย ความรู้ กับสถานการณ์ที่เขาประสบอยู่ แต่ในแง่ของบริษัทห้างร้าน ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่ใหญ่ของสังคมรองจากรัฐ สิ่งที่จะทำให้บริษัทคำนึงถึง Social และ Environment ได้ ผมว่ารวมความอยู่ในตัวสุดท้ายของ ESG คือ Governance

คำว่า Governance หรือ Good Governance นี้ เป็นคำที่มีความเข้าใจผิดกันมาก เพราะคำแปลไทยอย่างหนึ่งแปลคำว่า Good Goverance ไว้ว่า ธรรมมาภิบาล ทำให้คนมีความรู้สึกว่าคำๆ นี้เป็นเรื่องของจริยธรรม คุณธรรม บริษัทที่มีธรรมาภิบาล ก็คือบริษัทที่ดี ซึ่งยากจะนิยามว่าแปลว่าอะไร

แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่า Good ใน Good Goverance ไม่ได้มุ่งถึงความดี แต่มุ่งถึงความมีประสิทธิภาพในการควบคุมดูแลบริษัทให้เป็นไปอย่างที่ต้องการ ดังจะเห็นได้ว่า การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทก็ดี กลไกการตรวจสอบ หรือถ่วงดุล Check and Balance ก็ดี หรือโครงการการกำกับดูแลเป็นชั้นๆ จากผู้บริหาร ไปยังกรรมการ ไปยังผู้ถือหุ้นเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้บริษัทถูกบังคับไปโดยปริยายว่าต้องดำเนินการในรูปแบบที่ทนต่อการตรวจสอบ และแน่นอนที่สุดก็คือดำเนินการไปในแบบที่เป็นไปได้และ “คุ้มค่า” ในทางธุรกิจ เพราะมิฉะนั้นแล้ว บริษัทนั้นจะไม่มีทางตั้งอยู่ให้ใครกำกับได้เลยในที่สุด

ความจริง แต่ไหนแต่ไร บริษัททั้งหลายที่ตั้งขึ้นมาก็ย่อมหวังจะทำกำไรต่อไปในระยะยาวหรือที่เรียกว่ายั่งยืนอยู่แล้ว แต่ในวันนี้ ด้วยความฉุกเฉินเร่งด่วนของสถานการณ์โควิด-19 หรือสิ่งแวดล้อม หากเรารู้สึกว่ากลไก Governance เท่าที่เป็นอยู่ยังไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความยั่งยืนนั้นได้อย่างเข้มข้นหรือรวดเร็วเพียงพอ สิ่งที่เราพึงต้องทำก็คือการ “อัพเดต” กลไกนี้

อย่างที่มีผู้นำเสนอว่าบริษัทต้องมีความเข้าใจว่าการจะตอบโจทย์ผู้ถือหุ้นได้ดีที่สุด ไม่อาจทำได้ด้วยการคำถึงถึง shareholder อย่างเดียว แต่ต้องคำถึงถึง stakeholder ทั้งหมด ซึ่งแปลว่าไม่ได้คิดถึงแต่เพียงผู้ถือหุ้น แต่คิดไปถึงลูกค้า คู่ค้า พนักงาน สังคม ไปจนกระทั่งสิ่งแวดล้อมให้ครบทุกมิติ เช่น ต้องผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าสมราคาให้ลูกค้า มีความโปร่งใสกับคู่ค้า ปฏิบัติอย่างเป็นธรรมกับพนักงาน และวางตัวในมิติต่างๆ อย่างรับผิดชอบต่อสังคม

สำหรับหลายคน การที่เอาประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสียหรือ stakeholder ตั้งหลายฝ่ายขึ้นเป็นหลักอย่างนี้อาจขัดกันกับประโยชน์ของ shareholder หรือผู้ถือหุ้น แต่ความเป็นจริงแล้ว อย่างที่ได้กล่าวตอนต้น ทุกธุรกิจย่อมตั้งใจจะทำกำไรเรื่อยไปไม่สิ้นสุด แต่สภาวะนั้นจะไม่อาจเกิดได้เลย หากเราละเลย stakeholder คนใดคนหนึ่งไป ไม่มีธุรกิจใดที่ดูแลแต่ผู้ถือหุ้นหรือลูกค้าแล้วอยู่ไปได้ตลอดรอดฝั่ง แน่นอน การตั้งใจดูแลลูกค้า พนักงาน หรือสังคม เช่น การลงทุนกับบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย การเปิดเผยข้อมูลกับลูกค้าอย่างทั่วถึงมากขึ้น หรือการพิจารณาคุณค่าของคู่ค้าในมิติอื่นนอกจากราคาถูก เช่น ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาจดูเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น

แต่อย่างที่วิกฤติโควิด-19 ที่หนังตัวอย่างของวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา ได้แสดงให้เห็น ต้นทุนที่สูงกว่าในที่นี้ เราไม่อาจคิดเปรียบเทียบ เสมือนว่าการเปลี่ยนแปลง การไม่ทำอะไรเพิ่มเติม ไม่มีต้นทุน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว การไม่ทำอะไรเลย ในที่สุดอาจนำมาซึ่งต้นทุนที่สูงเกินกว่าจะรับได้ของธุรกิจ กล่าวคือความอยู่ไม่รอด และจุดที่ผลลัพธ์ของการไม่ทำอะไรเลยสะท้อนกลับมานี้ อาจไม่ได้อยู่อีกยี่สิบ สามสิบปี ข้างหน้าอย่างที่เราคิด แต่อาจผุดขึ้นมาในไตรมาสหน้าก็ได้ เหมือนสถานการณ์โควิด-19 ที่เราเผชิญ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์โลกร้อนนี้มีความจำเป็นเร่งด่วน การหวังพึ่งอยู่แต่เพียงกรอบบรรษัทภิบาลของภาคธุรกิจอาจได้ผลไม่เพียงพอและไม่ทันการณ์ เพราะอย่างที่หลักเศรษฐศาสตร์ Tragedy of the Common ที่ทุกคนรู้จักกันดี เป็นการยากที่เอกชนที่ต่างคนต่างทำจะตัดสินใจในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่สังคมในระยะสั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมกำลังอยู่ในสถานะที่เปราะบางอย่างมากจนไม่อาจทนรอได้อีกนานนัก

ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องมีบทบาทสำคัญในการก้าวเข้ามาสร้างกรอบพฤติกรรมที่จะโอบล้อมและชักนำธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนที่สังคมต้องการได้อย่างทันท่วงที ผ่านการสร้างโครงสร้างที่จะ “อภิบาล” ให้ธุรกิจทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่สร้างความเสียหายมากเท่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ โครงสร้างเหล่านั้นจะต้องประกอบไปด้วยรายละเอียดและชิ้นส่วนใดบ้าง คงพ้นวิสัยที่ผมจะแสวงหาคำตอบได้ครบถ้วนในวันนี้ แต่ผมเชื่อว่ามีหลักการสำคัญ 2 ประการเป็นหัวใจของโครงสร้างดังกล่าว คือ

ประการแรก โครงสร้างนั้นต้องเป็นไปเพื่อลดการผูกขาดให้ได้มากที่สุด อย่างที่ทราบกันกำไรของธุรกิจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อธุรกิจสามารถสร้างประโยชน์ที่ตอบความต้องการของสังคมได้ อย่างไรก็ตาม ความข้อนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อ ธุรกิจนั้นดำเนินกิจการอยู่ในตลาดที่แข่งขันกันจริง เพราะหากไม่มีการแข่งขัน ธุรกิจย่อมอาจขูดรีดกำไรได้มหาศาล โดยไม่ต้องสร้างประโยชน์ใดๆ ที่มีมูลค่าใกล้เคียงกับราคานั้น จากเพียงข้อเท็จจริงว่าผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น

นายบรรยง พงษ์พานิช

ในทางตรงกันข้าม ยิ่งการแข่งขันเข้มข้นเท่าไหร่ ก็จะเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการแต่ละรายต้องหาทางสร้างประโยชน์ให้ได้มากกว่า เร็วกว่า และดีกว่าผู้ประกอบการอื่นมานำเสนอสังคม ซึ่งย่อมเปิดโอกาสให้โลกเราได้เจอทางออกจากปัญหาที่หลากหลายขึ้น คุ้มค่าขึ้น และเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน อาหาร คุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม หรือสิ่งใดๆก็ตามที่เป็นความต้องการของสังคม ณ ขณะนั้น รวมถึงความยั่งยืน

ประการที่สอง เนื่องตลาดที่แข่งขันสมบูรณ์ไม่อาจมีอยู่จริงในทุกสถานการณ์ และราคาสินค้าและบริการบางอย่างอาจไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของทั้งสังคม ดังนั้น ในภาวะที่พิสูจน์ชัดว่าตลาดล้มเหลว รัฐจึงต้องเข้ามาแทรกแซง ผ่านนโยบายเกี่ยวกับความโปร่งใสที่แสดงให้เห็นได้ว่า ความเสื่อมโทรมหรืออันตรายทางสิ่งแวดล้อม ก่อกำเนิดมาจากผู้เล่นคนใด และนโยบายทางด้านราคา ที่ช่วยให้ผู้ก่ออันตรายต้องจ่ายต้นทุนอันพอเพียงแก่อันตรายที่ตนได้ก่อนั้น

ถ้าผู้ก่อมลพิษ ต้องจ่ายเงินชดใช้ความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่ตนก่อ และทุกๆคนไล่ไปจนถึงระดับชาวบ้านร้านตลาด ต้องจ่ายราคาตามส่วนแห่งกรรมที่ตนได้ก่อในทางสิ่งแวดล้อม เชื่อแน่ว่าโครงสร้างนี้ จะสร้างแรงจูงใจอย่างสำคัญ ที่ทำให้ธุรกิจและประชาชนเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่จะถนอมโลกมากยิ่งขึ้น ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมไม่ควรถูกซ่อนเร้น และปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครจ่าย เพราะเวลาที่ไม่มีใครจ่าย ย่อมแปลว่าท้ายที่สุดแล้ว พวกเราทุกคนต้องจ่ายร่วมกัน

สุดท้ายนี้ นอกจากกรอบกฎหมายหรือนโยบายของรัฐ และกรอบบรรษัทภิบาล อีกหนึ่งกรอบที่ทรงพลังแน่แท้ต่อการกำหนดพฤติกรรมของธุรกิจก็คือตัวผู้บริโภคนั่นเอง เดิมทีผู้บริโภคอาจต้องการแค่ของถูก แต่นับวันยิ่งผู้บริโภคมีความเข้าใจยิ่งขึ้น มองในภาพใหญ่ขึ้น และระยะยาวขึ้น เขาอาจไม่ต้องการแค่ของถูกแต่ยังต้องเป็นของดี แล้วของดีในความหมายของเขาก็อาจไต่ระดับไปตั้งแต่ใช้การได้ดี ไปจนกระทั่งความเป็นธรรมต่อซัพพลายเออร์ หรือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ไม่ว่ารัฐหรือภาคธุรกิจจะขยับหรือไม่ สื่อและภาคประชาสังคมย่อมมีหน้าที่ในการรณรงค์และทำให้ผู้บริโภคเรียกร้องเอาของที่ไม่เพียงใช้ได้ดี แต่ยังผลิตมาโดยกระบวนการที่ดี และดีต่อโลกในระยะยาว เพราะสุดท้ายแล้ว แรงกดกันจากประชาชน ย่อมเป็นของที่ทรงพลังที่สุดไม่ว่าสำหรับภาคธุรกิจ หรือภาครัฐผู้กำหนดนโยบาย

โควิด-19 ได้แสดงให้เห็นอย่างดีว่า แม้วิกฤติจะเลวร้ายและมาถึงแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ธุรกิจและกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ภายใต้กลไกตลาดได้รองรับวิกฤติอย่างไม่เลวร้ายเกินไปนัก นักระบาดวิทยาใช้เทคโนโลยี Gene Sequencing ในการวิเคราะห์ไวรัส นักวิจัยใช้แมชชีนเลินนิ่งในการค้นและประมวลผลดาต้าเบสของงานวิจัยนับพันนับหมื่นของโลก วิศวกรและดีไซเนอร์ใช้เครื่องพรินต์สามมิติพรินต์หน้ากากสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ กระทั่งเรื่องที่ดูเหมือนจะเฉื่อยชาต่อเทคโนโลยีมาช้านานอย่างการประชุมหรือการเรียนออนไลน์ ก็กลับกลายเป็นของสามัญในระยะเวลาเพียงหลักเดือน

สิ่งเหล่านี้ยืนยันทฤษฎีว่ามนุษย์อาจดูเหมือนไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนได้ยาก แต่เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนก็ทำได้ไวแบบก้าวกระโดด

หน้าต่างแห่งโอกาสสำหรับวิวัฒนาการสังคมมนุษย์ได้ถูกเปิดขึ้นแล้ว เราจะหันหลังให้กับมันและรอถูกวิกฤติครั้งหน้าปิดประตูตีแมว หรือจะรวบรวมความกล้าเปลี่ยนแปลงและกระโดดออกไปสู่โลกใบใหม่ที่เปิดกว้างกว่าเดิม ย่อมขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราทุกคน

ก่อนจบในฐานะสาวกมิลตัน ฟรีดแมน ได้กล่าวต่อจากที่ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ได้กล่าวปาฐกถาเปิดงานตอนหนึ่งที่เอ่ยถึงฟรีดแมนที่ว่า “The social responsibility of business is to increase its profits” ทำให้ทุกคนยึดเป็นปรัชญา และมองเป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ คือ การคำนึงถึงคุณค่าของผู้ถือหุ้น และมีการสร้างภาพยนตร์ที่ให้ตัวเอกกล่าวว่า “greed is good” สะท้อนว่ามองเฉพาะผู้ถือหุ้นเป็นหลัก …จึงขอยกคำพูดของฟรีดแมนในประโยคเต็ม ที่ว่า…

คำกล่าวของฟรีดแมนตอบโจทย์สิ่งที่ผมพูดคือการใช้กลไกตลาด โดยเราต้องสร้างกลไกการแข่งขัน ทำอย่างไรที่จะให้ผู้บริโภคต้องการในสิ่งที่จะช่วยให้โลกยั่งยืน พูดถึงกฏระเบียบ ทำอย่างไร อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ market failure อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับ externality เช่น สิ่งแวดล้อม รัฐต้องวางกฏระเบียบ และตราบใดที่ธุรกิจสร้างกำไรภายใต้กรอบกติการแข่งขันที่สมบูรณ์ ไม่มีการผูกขาด ภายใต้กรอบ กฏ ที่สรางขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนแข่งขันกันโดย Eco footing เป็นการตอบโจทย์ความยั่งยืน

จริงๆผมคิดว่าหลักนี้ก็ยังใช้ได้อยู่คือหลักเสรีนิยมใหม่ที่ใช้กลไกตลาดมากกว่าจิตสำนึก ไม่ได้บอกว่า จิตสำนึกไม่ดี แต่จิตสำนึกที่ดี เราวางมาตรฐานมันยากมาก ยิ่งจิตสำนึกที่มีต้นทุน ยิ่งวางมาตรฐาน ยากใหญ่ สำหรับผม การตอบโจทย์ สิ่งแวดล้อม market failure เป็นหน้าที่ของรัฐ

แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมันยากกว่านั้น เพราะรัฐเดียวก็แก้ไม่ได้ มันต้องใช้รัฐทั้งโลก เพราะฉะนั้นมันถึงต้องมีปารีสโปโตคอล มันถึงจะต้องมีความร่วมมือ เพราะว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม เราไม่เจอประเทศเดียวหรอกครับ เราทำประเทศเดียวก็แก้ไม่ได้ ซึ่งก็มีมิติที่โลกได้มีสำนึกพวกนี้

อ่านเพิ่มเติม