ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน: “ชญาน์ จันทวสุ” Stakeholders เป็นศูนย์กลาง Action ฝังในธุรกิจ ขับเคลื่อนทั้ง Ecosystem

ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน: “ชญาน์ จันทวสุ” Stakeholders เป็นศูนย์กลาง Action ฝังในธุรกิจ ขับเคลื่อนทั้ง Ecosystem

23 พฤศจิกายน 2020


งานสัมมนาขึ้นสู่ปีที่ 10 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า Facing the Future of ESG: Thailand’s Next Steps toward Sustainability: ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยมีวิทยากรดังนี้ 1. ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 2. นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3. ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4. ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) 5. นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน 6. นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ TCP 7. ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 8. นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัทพีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “Leadership Lessons: Growing sustainable companiesถอดรหัสผู้นำ:บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน”

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล

ดร.ชญาน์กล่าวว่า เรื่อง ESG ทุกคนเห็นเหมือนกันว่า เป็นเรื่องระยะยาว เป็นการวางทิศทางในอนาคต ไม่ใช่ปีต่อปี จึงเป็นการเดินทางสำหรับ GC ที่ให้ความสำคัญเรื่อง ESG ความยั่งยืนที่ได้เริ่มมา 10 ปีแล้ว

ความยั่งยืนเป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ เป็นเรื่องระยะยาว ดังนั้นต้องมีการให้ความสำคัญ จากผู้บริหารระดับสูง GC ทำมา 10 ปี ซีอีโอทุกคนให้ความสำคัญและบรรจุไว้เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กร

“GC ทำเรื่อง sustainable มา 10 ปี ซีอีโอทุกคนให้ความสำคัญและบรรจุไว้เป็นกลยุทธ์หลักขององค์กร เรามี 3 กลยุทธ์หลัก ใน sustainability เราไม่ทำบนกระดาษ แต่เป็น Sustainability in Action และ embed เข้าไปในธุรกิจ”

GC ติดอันดับ 1 ของโลก 2 ปีติดต่อกัน ใน DJSI กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี และติดอันดับต้นใน benchmark อื่น เช่น MSCI ก็เป็นกระจกส่องว่า ทำตามกรอบได้ดีในระดับสากล แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเนื้อหาที่ปฎิบัติ

“การผสมผสานเข้าไปในแก่นของธุรกิจ ทุกหน้างาน ทุกฟังก์ชัน ไม่ว่าจะเป็น CSR การเงิน ทุกคนต้องทำเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเรื่องยาก ทุกคนต้องเรียนรู้ ทำให้เหมาะกับวัฒนธรรมขององค์กร และโครงสร้างที่มีอยู่ อันนี้เป็นบทเรียนที่ GC จะบอกว่า ยากที่สุด คือ ในแง่ที่การนำไปใช้เพื่อให้ผนวกในส่วนของธุรกิจจริงๆ”

“GC ได้จัดทำรายงาน เป็นแบบ integrated report มาตั้งแต่สมัยแรกๆ รวมทั้งมีการฝังเรื่องกลยุทธ์ upcycling ผสมผสานเข้าไปในธุรกิจหลัก หากใครต้องการให้เราไปแลกเปลี่ยนรายละเอียดการเรียนรู้ในสิ่งที่เราทำมา 10 ปีก็ยินดี”

การเรียนรู้เรื่องความยั่งยืนต่างกัน เพราะแต่ละอุตสาหกรรม แต่ละธุรกิจมีความแตกต่างกัน ในการปรับตัว ที่สำคัญต้องมองเห็นภาพรวมแล้วสามารถทำได้ในองค์รวม ผสมผสานในหลายๆ ส่วนของสังคมและต้องลงรายละเอียดให้มาก

ระดับโลก ESG เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ

โดยทั่วไป ESG มีการรับรู้กันมาระยะหนึ่ง มีหลายเรื่องที่สามารถเน้นและมุ่งเป็นเรื่องของแต่ละองค์กรได้ และปรับใช้ให้สอดคล้องกับเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่มี

เรื่องสิ่งแวดล้อม (environment) แนวโน้มที่คนให้ความสำคัญมากคือ climate change (การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) เพราะจะมีผลกระทบ ไม่เฉพาะในธุรกิจของบริษัท แต่มีต่อภาพรวมประชาสังคมและของประเทศด้วย เรื่องสังคม (social) มีหลายเรื่องมาก เช่นเดียวกับเรื่องของธรรมาภิบาล ก็มีหลายเรื่องขึ้นอยู่กับว่า การบริหารจัดการที่ดีให้ธุรกิจมีความยั่งยืนจะมองในมิติไหน

เดิมคนมอง ESG ว่าเป็นเรื่องการปฏิบัติตาม ต่อมามีเรื่องความรับผิดชอบเพิ่มเข้ามา ให้อุตสาหกรรมทำด้วยความรับผิดชอบ ทำมากกว่าปฏิบัติตาม ถัดมามีเรื่องความยั่งยืน เริ่มเข้าไปลงทุนหรือทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องพวกนี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมแต่ละบริษัทที่จะนำแนวโน้มมาปรับพอร์ตโฟลิโอของบริษัท ส่วนที่ก้าวหน้ามาก คือ การลงทุนในสิ่งแวดล้อมทางสังคม บริษัทที่อยู่ในขั้นนี้ยังไม่เยอะมาก

ภาพรวมระดับโลก ESG เป็นเหมือนส่วนหนึ่งของธุรกิจไปแล้ว ก่อนโควิดได้เห็นกระแสเงินทุน นักลงทุนสถาบันเริ่มลงทุนในกองทุนที่ทำ ESG แต่หลังโควิดช่วงนี้จะเห็นว่าคนให้ความสำคัญมากขึ้นอีก กระแสเงินทุนของอเมริกาปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 45 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงมากในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา และกองทุนต่างๆ ก็ไปลงทุนในบริษัทที่ทำ ESG มากขึ้น ตอนนี้กองทุน ETF อย่างเดียวก็มีมูลค่า 80 ล้านล้านดอลลาร์แล้ว และเห็นแนวโน้มว่า ทุกคนเริ่มให้ความสำคัญ ภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่า นักลงทุน เอกชน หรือประชาสังคม

แนวโน้ม ESG แต่ละปีมีเรื่องที่ให้ความสำคัญและสนใจต่างกัน ปัจจุบันมีหลายเรื่อง ช่วงนี้มีประเด็นเรื่องขยะพลาสติก หลังจากโควิดยิ่งมีปัญหามากขึ้น เมื่อก่อนคนมีความตระหนักว่างดใช้ ลดการใช้พลาสติกให้น้อยลง หรือมีการนำมารีไซเคิล แต่เมื่อมีปัญหาด้านสุขอนามัยต้องใส่หน้ากาก ก็มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลายประเทศมีปัญหามาก

อีกประเด็นเป็นเรื่องการลงทุน ESG Investing ที่หน่วยงานกำกับดูแล นักลงทุนพยายามทำให้มีกรอบในการบริหารจัดการให้ชัดเจนมากขึ้น ให้ ESG นำไปสู่การปฎิบัติมากขึ้น

ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล

ประเด็นต่อมา climate change ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามในข้อตกลงปารีส Paris Agreement ลดการปล่อยก๊าซลง 20% แต่ในภาคอุตสาหกรรมยังไม่มีตัวเทียบฐานว่าจะลดลงอย่างไร ซึ่งต้องหารือร่วมกัน แต่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ในเชิงวิทยาศาสตร์เริ่มเห็นผลแล้ว เริ่มเห็นพายุมากขึ้นในปีนี้ ที่อเมริกาพายุมีมากขึ้น ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มีคนประเมินว่าถ้าไม่ทำอะไร ผลกระทบจาก climate change ในช่วง 30 ปีนี้ จะมากกว่าจีดีพีไทยถึง 200 เท่า

อีกประเด็นหนึ่งเป็น เรื่องความโปร่งใส การบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นแนวโน้มที่ทุกคนให้ความสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งที่ GC นำมาปรับใช้ในส่วนที่มีความเกี่ยวข้อง

ผู้มีส่วนได้เสียเป็นศูนย์กลาง-เลือกประเด็นสำคัญ

ดร.ชญาน์กล่าวว่า กรอบการดำเนินการ ESG มีหลายแนวคิด โดย FTSE ของอังกฤษมีคู่มือการบริหารเพื่อให้เกิดความสมดุลเรื่อง ESG ส่วนสหประชาชาติมี SDGs 17 ข้อ

สำหรับ GC มีกรอบของปฏิบัติของตนเองเรียกว่า sustainable framework เป็นกรอบในการบริหารจัดการทั้ง 3 เรื่อง social, governance และ environment

GC เลือกทำประเด็นสำคัญ โดยการหาข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียของ GC ที่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ แล้วนำมาประมวลผล แล้วเลือกเรื่องที่ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ

“เราเอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราเป็นศูนย์กลาง ว่าคนที่เกี่ยวข้องกับเราทั้ง ผู้ถือหุ้น พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า ของเราทั้งหลาย เห็นว่าประเด็นไหนเป็นสำคัญ หรือ materiality แล้วเลือกมาใช้ในการบริหาร 3 เรื่องนี้ให้ไปด้วยกัน”

สำหรับประเด็นสำคัญที่ GC เลือกทำ มี 3 เรื่อง เรื่องแรก climate change เพราะสำคัญต่ออุตสาหกรรม เรื่องที่สอง circular economy เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นฐานทรัพยากร ใช้ทรัพยากรเยอะ ใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ และเรื่องที่สาม นวัตกรรม เป็นเรื่องที่จะเร่งการพัฒนามาให้ตอบโจทย์ และเห็นความชัดเจนมากขึ้นนช่วงโควิด

Sustainability in Action ฝังลงในธุรกิจ

ดร.ชญาน์กล่าวต่อว่าเมื่อเลือกประเด็นสำคัญได้แล้ว ก็วางแนวทางมาจัดการ 3 เรื่องนี้ โดยมีการดำเนินการ 3 ขั้นตอน ขั้นแรก เป็นด้าน governance ขั้นที่สอง บริหารความเสี่ยง enterprise risk management รวมถึงการติดตามความเสี่ยงที่มีกระบวนการที่ทำเป็นระบบ ซึ่ง GC มีการทำเป็นรายอาทิตย์ และขั้นสุดท้ายวางกลยุทธ์ strategy integration

จากนั้นนำมาปฎิบัติภายใต้กรอบที่เรียกว่า Sustainability in Action ที่ต้องถูกฝังเข้าไปในธุรกิจ วิธีปฎิบัติ ก็คือ

นำกลยุทธ์ที่วางไว้ให้ไปฝังในธุรกิจ หน่วยธุรกิจต่างๆ และต้องทำให้คนที่อยู่นอกบริษัท ทั้งลูกค้า คู่ค้า จะต้องเห็นภาพเดียวกัน จึงจะผลักดันให้ความยั่งยืนไปถึงระบบนิเวศที่ดำเนินธุรกิจอยู่ได้

Sustainability in Action ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์หลัก กลยุทธ์แรก Smart Operating เป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการกรผลิตที่ต้องใช้ทรัพยากรให้เหมาะสม ต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และปรับมาใช้พลังงานหมุนเวียน ตั้งเป้าการใช้ลดพลังงานแต่ละปี เพื่อลดการเกิดก๊าซเรือนกระจก หรือลดการใช้น้ำ ที่ต้องวางแผนระยะยาว รวมทั้งการรีไซเคิลน้ำกลับมาได้

Action ของ GC ในด้านนี้ ได้ตั้งเป้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยจากการผลิตให้น้อยที่สุด และจะลดลงให้ได้ 52% ภายในปี 2050

“เราจะเป็น industry best เท่าที่จะทำได้ และเป็นวิชั่นที่เรามองว่า ปี 2050 เราจะไปถึงจุดนั้น หมายความเราคงทำแบบเดิมไม่ได้ เราต้องปรับธุรกิจ ปรับผลิตภัณฑ์ หรือของที่นำเสนอให้ลูกค้า ต้องเป็นรูปแบบใหม่ๆ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายคาร์บอนต่ำ”

กลยุทธ์ที่สอง Responsible Caring เป็นเรื่องของโซลูชั่นการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนให้กับลูกค้า ผู้บริโภค โดยมีการพัฒนาจากการผลิตเม็ดพลาสติก มาเป็นไบโอพลาสติก เป็นวิสัยทัศน์ของบริษัทเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปัจจุบันบริษัทตอบโจทย์ผู้บริโภค ในเรื่องพลาสติกย่อยสลายได้ โดยมีถ้วย มีชาม มีหลอด ซึ่งหลอดกาแฟมีที่เป็แบบย่อยสลายได้ทางชีวภาพ

เพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผลิตภัณฑ์ของ GC ทุกตัวจะมีฉลากชัดเจนว่ามีคาร์บอนฟุตพรินต์เท่าไร และมีฉลากว่าจะลดคาร์บอนฟุตพรินต์ลงอย่างไร

สำหรับตัวอย่างผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอน ที่ปรับมาจากการผลิตพลาสติกแบบเดิม เป็นสินค้าคงทน เป็นพลาสติกที่ใช้ในรถยนต์ อุปกรณ์การแพทย์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง ลดการใช้แบบใช้ครั้งเดียวของท่อสำหรับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่รับประกันการใช้งาน 50 ปี วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้

กลยุทธ์ที่สาม Loop Connecting GC เป็นกลไกเล็กๆที่ทำบางเรื่อง จึงต้องการแนวร่วมมาช่วยกัน ต้องการคนเป็นพาร์ตเนอร์มาร่วมกันทระบบนิเวศน์ เพราะมองว่า GC ไม่สามารถทำด้วยตัวเองได้ แม้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ต้องมาร่วมกันทุกภาคส่วน โดยได้ริเริ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือ circular economy ขึ้น

ดร.ชญาน์กล่าวว่า GC มีแนวร่วม จากการสร้างความตระหนักในภาคส่วนต่างๆ โรงเรียนระดับเด็กเล็ก ไปจนถึงมหาวิทยาลัย และได้ร่วมกับวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ ให้เป็นศูนย์กลางการจัดการขยะชุมชนอย่างครบวงจร ในชุมชนบางกะเจ้า รับขยะขวดพลาสติกมาทำเป็นจีวร ได้ส่งจีวร ตาลปัตรให้กับวัด ได้รับผลตอบรับดีและคุณภาพดีกว่าจีวรที่ทำวัสดุอื่น ไม่มีกลิ่นอับเวลาสวมใส่

“สำหรับการทำจีวร ทาง GC ได้เข้าไปให้แนวคิด ไปสอน ไปช่วยบางเรื่อง ต่อยอดซัพพลายเชนให้ หาคนผลิตให้ แต่สุดท้ายคือทางวัดเป็นผู้ดำเนินการ ก็จะวนกลับมาว่าเราสร้างให้เกิด social enterprise ที่ยั่งยืนได้”

ส่วนความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลหรือภาครัฐ เมื่อเร็วๆ นี้ได้เซ็นเอ็มโอยูกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่จะเปลี่ยนการจัดส่งอาหารผ่าน delivery platform ทั้งหมดของประเทศมาให้ใช้ไบโอพลาสติก

ดร.ชญาน์กล่าวว่า GC จะตั้งโรงงานรีไซเคิลโรงแรกในประเทศไทยที่มีมาตรฐานสูง เป็นโรงแรกที่นำพลาสติกใช้แล้วไปรีไซเคิลเพื่อให้ได้พลาสติกที่เหมือนเดิม เช่น ขวด PET เมื่อก่อนการรีไซเคิลได้ขวดขุ่น แต่วันนี้สามารถรีไซเคิลเป็นพลาสติกระดับ food compact (ปลอดภัยสำหรับอาหาร) และสามารถทำกลับมาเป็นขวดน้ำได้เหมือนเดิม ซึ่งจะช่วยยกระดับให้คนเห็นว่าผลิตภัณฑ์ทำได้

“GC ไม่ได้ทำคนเดียว อยากให้คนมาทำกันหลายโรงรีไซเคิลที่มาตรฐานสูงแล้วจะช่วยให้ทั้งประเทศลดปริมาณขยะที่ทำได้ ที่สำคัญ รีไซเคิลทำให้คุณภาพของใช้แล้วกลับมามีคุณภาพสูงขึ้น ด้วยการใช้การออกแบบมาช่วย เราทำรีไซเคิลหลายประเภท เพื่อเป็นตัวอย่างให้อุตสาหกรรมรู้ว่า การเลือกผลิตภัณฑ์หรือวัสดุ การนำของรีไซเคิลมาใช้เพิ่มคุณค่าได้”

อ่านเพิ่มเติม