ThaiPublica > ประเด็นร้อน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน > ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน: “ศรีกัญญา ยาทิพย์” ไม่มี One Size Fits All สำหรับนักลงทุนอย่างรับผิดชอบ ผลตอบแทนต้องสมดุลกับผลสังคม

ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน: “ศรีกัญญา ยาทิพย์” ไม่มี One Size Fits All สำหรับนักลงทุนอย่างรับผิดชอบ ผลตอบแทนต้องสมดุลกับผลสังคม

27 พฤศจิกายน 2020


งานสัมมนาขึ้นสู่ปีที่ 10 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า Facing the Future of ESG: Thailand’s Next Steps toward Sustainability:ESG อนาคตประเทศไทยสู่ความยั่งยืน วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2563 โดยมีวิทยากรดังนี้ 1.ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย 2.นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 3.ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 4.ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บมจ. พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด 5.นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน 6.นางสาวนุชรี อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจ TCP 7.ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ 8.นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ บรรยายในหัวข้อ Leadership in ESG Investing & Initiatives: บทบาทกบข.สู่การเป็นผู้นำด้านการลงทุน ESG

ไม่มี One Size Fits All สำหรับนักลงทุนอย่างรับผิดชอบ

ดร.ศรีกัญญากล่าวว่า กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ในฐานะนักลงทุน เรามีบทบาท มีเกณฑ์การลงทุนอย่างไร และเราในฐานะนักลงทุนสถาบันที่เรียกว่า Asset Owner เป็นเหมือนตัวขับเคลื่อน เป็นเหมือนตัวทวีคูณของการลงทุน โดยมีผู้กำหนดนโยบายทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต. อยู่รอบๆ นักลงทุนสถาบันจึงมีความสำคัญ เพราะถือเงินปริมาณมาก สามารถบอกทิศทาง ความสนใจลงทุนและไม่ลงทุน ที่ไหน เพราะอะไร

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ดร.ศรีกัญญากล่าวถึงวิธีคิดของ กบข. ว่าเป็นนักลงทุนอย่างรับผิดชอบ พูดเหมือนง่าย แต่จริงๆ ยาก เพราะการเป็นนักลงทุนรับผิดชอบนี้ ไม่มีมาตรฐานหนึ่งเดียวที่เรียกว่า one size fits all (ใช้มาตรฐานเดียวได้ในทุกเรื่อง) สิ่งที่นักลงทุนจะต้องคิดคือ นำสิ่งที่เป็นโลกาภิวัตน์ สิ่งที่คนไทยสนใจ มาปรับเป็นเกณฑ์ความรับผิดชอบ ต้องผสมกันให้ดี ต้องคิดให้เหมาะ

ยกตัวอย่าง สิ่งที่ประเทศไทยให้ความสนใจน้อย คือผลกระทบระดับโลก แม้รับทราบกัน แต่ไม่ได้สนใจมาก เช่นเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงานในหน่วยงานต่างๆ ขณะที่ในไทยสนใจเรื่องความสะอาดในที่ทำงาน ในเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เหมือนเมืองนอก ก็ต้องมาผสมกันให้ดี

เป้าหมายการเป็นนักลงทุนอย่างรับผิดชอบ มีความท้าทาย 2 ข้อ ข้อแรก ได้แก่ ผลกระทบกับแนวทาง ที่ต้องพิจารณาให้ดี และวางกรอบให้ชัดเจน ข้อสอง เมื่อจะลงทุนอย่างรับผิดชอบ ต้องพิจารณาว่า เกณฑ์หรือคะแนนด้านผลกระทบของกิจการที่จะลงทุนอยู่ตรงไหน รวมทั้งขนาดของกิจการที่มีความสำคัญ บางครั้งกิจการมีความสำคัญที่ขนาดในบางภาคธุรกิจ บางครั้งขนาดอาจจะไม่สำคัญสำหรับบางภาคธุรกิจ

การรายงานข่าวในสื่อ (media coverage) บางกิจการอาจทำไม่มาก แต่นำเสนอดี มีเรื่องเล่ามาก เว็บไซต์มีข้อมูลครบถ้วน บางกิจการทำได้มาก แต่ข้อมูลไม่มี จึงเป็นตัวอย่างว่า บริษท a, b, c มีการประเมินไม่เหมือนกัน แต่จะมีเรื่องอคติผสมอยู่ด้วย

“กบข. จะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า ข้อมูลพวกนี้จะตัดไปอย่างไร และตัดให้มากที่สุด และตัดพร้อมเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น”

กลยุทธ์การลงทุนยึดสมดุล ผลตอบแทนกับผลสังคม

ดร.ศรีกัญญากล่าวถึงเกณฑ์กติกา แนวคิดการลงทุนของ กบข. ว่า กบข. มีการออกแบบการจัดสรรเงินไปลงทุน strategy asset allocation หรือ SAA วางเป็นกรอบใหญ่ของการลงทุนใน 10-20 ปีข้าวหน้า แต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้สถานการณ์การลงทุนเปลี่ยนแปลงไปมาก กบข. ก็เริ่มคิดว่าต้องออกแบบ SAA ใหม่

“เดิม กบข. ให้ความสำคัญกับความเสี่ยงและผลตอบแทน เมื่อออกแบบกรอบการลงทุนได้ดีและรักษาความสมดุลได้ดีแล้ว ก็ดำเนินการลงทุนไป แต่ขณะนี้การออกแบบ SAA ของ กบข. ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ความเสี่ยงกับผลตอบแทนจะเป็นแค่ตัวแปรตัวหนี่งเท่านั้น เราต้องเอา SDGs 17 ข้อ มาคิดอย่างจริงจัง และ SAA ของ กบข. จะต้องสมดุลสองอย่าง ไม่ใช่แค่ความเสี่ยงกับผลตอบแทนแล้ว แต่ดูที่ผลกระทบทางสังคมและผลตอบแทนด้านการเงินด้วย”

แต่ก็อาจจะมีคำถามว่า จะวัดผลความสำเร็จได้ที่ไหน และกำลังได้อย่าง เสียอย่างอยู่หรือไม่ นักลงทุนสถาบันอย่าง กบข. มีความรับผิดชอบสูงสุดอยู่ที่สมาชิก ต้องเอาเงินไปให้สมาชิก กบข. ไม่สามารถเสียสละ ไม่สามารถแลกผลตอบแทนด้านการลงทุนไปกับผลตอบแทนด้านสังคมได้ แต่ต้องสร้างสมดุลให้ได้ หมายความว่า ต่อให้ผลตอบแทนด้านสังคมดีเป็นเยี่ยมแต่ทำแล้วขาดทุน กองทุนขาดทุน สมาชิก กบข. ขาดทุน กบข. ทำไม่ได้ เพราะเป็นความรับผิดชอบหลักที่ กบข. ต้องทำ เรียกว่าความไว้วางใจต่อสังคม ขณะเดียวกันก็มีความผิดชอบต่อสมาชิก ความรับผิดชอบต่อสังคม จะต้องมาทั้งสองอย่าง

ดร.ศรีกัญญา ยาทิพย์ เลขาธิการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

ในปีที่แล้ว กบข. กำหนดวิสัยทัศน์ไว้ว่า จะเป็นนักลงทุนชั้นแนวหน้า ในการริเริ่มและลงทุนด้าน ESG มีการลงทุนในเรื่องใหม่ๆ มีการกำหนดนโยบายขึ้น เพราะเป็นความรับผิดชอบต่อสมาชิก โดยในส่วนของทุนทางสังคม (social capital) ได้สร้างเงื่อนไข ESG ไว้ในการลงทุน มีการวางเกณฑ์เบื้องต้น เป็นนโยบายการกีดกัน ตีกรอบธุรกิจที่ไม่ลงทุน ซึ่งจะเป็นกรอบ SAA ในปีหน้า

ภายใต้กรอบนี้มี 6 โมดูล ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ไม่ได้เน้นการมองจากด้านบนลงไปด้านล่าง แต่มีการมองจากข้างล่างขึ้นข้างบนด้วย การให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ ได้นำกรอบที่สำคัญจากหลายองค์กรมาปรับใช้ ทั้ง PRI (หลักปฏิบัติการด้านลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ: principles for responsible investment พัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานในสหประชาชาติ), OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ: Organization for Economic Co-operation and Development) ธนาคารโลก (World Bank)

“SAA ที่ กบข. จะทำในอนาคต ไม่ว่าสินทรัพย์ที่เราจะลงทุนเป็นอะไร จะเป็นตราสารหนี้ หุ้น ทุกอย่างจะต้องมี 2 กรอบที่ไปด้วยกัน จะไม่มองที่ผลตอบแทนอย่างดียว จะมองที่การเป็นนักลงทุนที่รับผิดชอบ และนำกรอบที่เป็นมาตรฐานมาเป็นกรอบในการทำงานของเรา”

กบข. ให้ความสำคัญกับ ESG มาระยะหนึ่งแล้ว แต่แบ่งออกเป็น 2 ระดับ ระดับที่ กบข. ทำตอนนี้เป็นระดับพื้นฐานเบื้องต้น คือ ได้ใช้เกณฑ์ ESG มาตรฐานของ กบข. ที่พัฒนาขึ้น มาคัดกรองสินทรัพย์ที่สนใจจะลงทุน ถ้าสินทรัพย์ใดไม่ผ่านเกณฑ์ก็จะถูกตัดออก แต่หากผ่าน กบข. ก็จะจัดการลงทุน ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

แต่เกณฑ์ในอนาคตที่จะทำ SAA กันใหม่ จะเป็น SAA ที่มีตัวแปร ESG ร่วมอยู่ด้วยและจะนำมาผสมผสานกับตัวแปรด้านมหภาค (macro factor) ที่นักลงทุนทั่วไปสนใจ แล้วจะออกแบบ efficient frontier (เส้นของพอร์ตฟอลิโอที่มีประสิทธิภาพ ที่บอกว่า ณ ความเสี่ยงหนึ่งๆ ควรจะคาดหวังกำไรแค่ไหน)

ถ้าเป็นอดีต efficient frontier ให้ความสำคัญกับความเสี่ยง ผลตอบแทน ซึ่งความเสี่ยงจากการลงทุน เป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนรู้กันดี แต่ในอนาคตจะไม่ใช่ ในอนาคต จะมาดูที่ sharp ratio ซึ่งเป็นตัวบอกว่า 1 หน่วยความเสี่ยงของการลงทุน ผลตอบแทนเป็นแบบไหน สอดคล้องกับ ESG score อย่างไร

“efficient frontier กบข. ในอนาคต จะไม่ใช่ความเสี่ยง ผลตอบแทน เท่านั้น แต่มี ESG frontier เข้ามาผสมด้วย นี่คือเกณฑ์ที่ กบข. กำลังออกแบบ”

ESG ในกระบวนการลงทุนทั้งวงจร

ดร.ศรีกัญญากล่าวว่า การขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ต้องเริ่มจากการคิดใหม่ ทั้งการวางแนวทางการมอบหมายให้ผู้จัดการกองทุนจากภายนอก การจัดสรรการลงทุนใหม่ การสร้างแนวคิดการลงทุนที่ชัดเจนขึ้น โดยการกำหนด benchmark (เกณฑ์มาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบ) ซึ่งสำหรับนักลงทุน benchmark คือ สิ่งสำคัญในการลงทุน ถ้า benchmark ไม่มี ESG ไม่นำ ESG มารวมไว้ กบข. ก็ต้องเพิ่มเข้าไป พร้อมกับวาง benchmark ใหม่

“เราคุยกับผู้ให้บริการและที่ปรึกษาว่าจะเราจะไปทางนี้และเราจะจำกัดการใช้ tracking error (ค่าความเสี่ยงที่ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนจะเบี่ยงเบนไปจากเกณฑ์มาตรฐาน) เพราะการใช้ tracking error จะเป็นการวัดผลตอบแทนอย่างเดียว แต่เราโฟกัส ESG ด้วยก็ต้องทำ benchmark ผลิตภัณฑ์ตรงนี้ขึ้นมา”

การพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานใหม่ขึ้น เพื่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่การเป็นนักลงทุนที่มีความรับผิดชอบ ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่สิ่งที่คาดหวังในอนาคต คือ สามารถบอกได้ว่า ในพอร์ตมี ESG product และที่ไม่ใช่ ESG หรือ non-ESG มีเท่าไร ซึ่งในส่วนของ ESG ก็ลงทุนไปตามแนวทางที่วางไว้ แต่ non-ESG ต้องมีการจัดการ แต่จะจัดการอย่างไรต้องมีภาพ มีแนวทางที่ชัดเจน

“ปัจจุบันในพอร์ตของเรา มีสินทรัพย์ลงทุนที่มี ESG บ้าง อย่างอื่นก็จะไม่ชัดเจนนัก แต่ต่อไปจะเห็นภาพชัดยิ่งขึ้นว่าจะมี ESG เท่าไร”

และหลักการทำงานแบบนี้ ทำให้สามารถนำเงินมาลงทุนใหม่ได้ เพราะสุดท้ายสินทรัพย์ที่ลงทุนก็จะรีไซเคิลเข้าระบบ และจะทำให้ระบบทั้งหมดเป็นระบบนิเวศที่ยั่งยืนมากขึ้น นี่คือแนวทางการลงทุนที่ กบข. ลงทุนเอง

สำหรับการลงทุนผ่านผู้จัดการกองทุน ก็มีแนวทางที่ทำให้ผู้จัดการกองทุนเข้าใจว่า กบข. ให้ความสำคัญกับ ESG มากขึ้น

ดร.ศรีกัญญากล่าวถึงแนวทางการบริหารผู้จัดการกองทุนว่า เริ่มต้นต้องมีนโยบายที่แสดงถึงความต้องการที่ชัดเจน จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้จัดการกองทุน ซึ่งมี 2 ขั้นตอนสำคัญ

กระบวนการแรกการคัดเลือก ก่อนหน้านี้กระบวนการคัดเลือก กบข. ใช้ปัจจัย การดำเนินงานของบริษัท บุคคลากร กระบวนการทำงาน ผลงาน การบริการ และการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะ (due diligence) ESG ผู้จัดการกองทุน และกิจการที่จะไปลงทุนด้วย เป็นการตรวจเบื้องต้น และเมื่อผ่านการคัดกรองแล้ว สิ่งที่สำคัญรองลงมาคือการติดตามการทำงาน

การติดตามการทำงานของผู้จัดการกองทุนที่ผ่านการคัดกรอง เพื่อดูว่ากิจการที่ กบข. ลงทุนและผู้จัดการที่มอบหมายให้ไปลงทุนแทนมีการทำงานอย่างไร ต้องติดตามตลอดเพราะการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ และกิจการที่ไปลงทุนแทนอาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

กระบวนการติดตามมีความสำคัญมาก มีการวางแนวปฎิบัติตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งการรายงาน การจัดทำรูปแบบรายงาน ทุกอย่างจะต้องสอดคล้องกัน ในทุกผู้จัดการกองทุน และทุกอย่างต้องจัดทำข้อมูลให้เป็นระบบ

กระบวนการที่สอง คือ การตรวจสอบข้อมูลที่ผู้จัดการกองทุนส่งมา จะมีการยืนยันเข้ามาหรือมีการตรวจสอบจากบุคคลที่สามก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน รวมทั้งเอกสารที่ส่งเข้ามาต้องตรวจสอบย้อนหลังได้ ตลอดจนวิธีการจัดเก็บเอกสาร

ความถี่ในการรายงานซึ่งกันและกันก็ต้องมีกำหนดรายละเอียด ต้องกำหนดให้เป็นการดำเนินการปกติ ซึ่งมีการระบุลงไปอีกถึงวิธีการส่งตามปกติ เช่นเดียวกับการส่งแบบไม่ปกติหรือกรณีมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น ที่ต้องมีรายละเอียดในการปฎิบัติ

นอกจากนี้ยังกำหนดจุดที่จะต้องมีการหารือร่วมกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์ที่สำคัญที่มีผล มีนัยการลงทุน และผลกระทบ ESG

ส่วนการทบทวน มีทั้งการทบทวนตามขั้นตอนปกติและเป็นครั้งๆ ตามสถานการณ์ อีกทั้งต้องมีการเปรียบเทียบกับคู่เทียบระหว่างสถานการณ์ปกติและเมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มเทียบเคียงและ benchmark ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นวงจรการติดตามผู้จัดการกองทุน

กระบวนการติดตามผู้จัดการกองทุนยังรวมถึงการประเมินด้วย โดยการให้คะแนน ESG score ผู้จัดการกองทุนทั้งหมดแต่ละราย รวมทั้งพิจารณาแนวโน้มในการลงทุน ผลการประเมินจากบุคคลที่สาม ซึ่งจะสะท้อนถึงระดับการให้ความสำคัญ ESG

ส่วนการตรวจสอบกิจการที่ กบข. ลงทุนหรือผู้จัดการกองทุนที่เรามอบหมายให้ลงทุน กบข. มีระบบภายใน ฝ่ายจัดการลงทุนเป็นคนดูแล รวมทั้งอาจจะมีภายนอกเข้ามาด้วย

“การจัดการดูแลผู้จัดการกองทุน เราไม่สามารถที่จะ “อะไรก็ได้” เราต้องมั่นใจในทุกอย่าง ทุกกิจการที่เราลงทุน และที่เขาได้รับมอบหมายจากเราไป”

ส่วนข้อมูลที่ผู้จัดการกองทุนจะต้องรายงานให้ กบข. เกี่ยวกับกิจการที่ไปลงทุน มีทั้งระดับเงินลงทุน การจัดการ ESG การจัดการความเสี่ยง ปัญหาทางการเงินที่เคยเกิดขึ้น ส่วนประกอบของพอร์ตโฟลิโอ การผสมผสาน ESG ในกระบวนการ และผลงาน

นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของกลยุทธ์การถอนการลงทุน ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ขึ้น รวมทั้งกระบวนการโหวต กระบวนการการเข้าไปมีส่วนร่วมในบางประเทศที่ทำเรื่อง Climate Change ก็มีเรื่อง Climate Change ตลอดจนจะการจัดการเป้าหมายของ SDG

“นี่คือสิ่งที่ กบข. กำลังจะทำและวางแผนอยู่ในอนาคต บางอย่างทำไปแล้ว บางอย่างกำลังเริ่มต้น บางอย่างกำลังศึกษาและวิเคราะห์งานวิจัยกัน”

Engagement ใช้สิทธิผู้ลงทุน เพื่อ Action ชัดเจน

ดร.ศรีกัญญากล่าวว่า ด้านหนึ่งที่ กบข. กำลังทำ คือ standard setters co-operation (การร่วมมือกันกำหนดมาตรฐาน) โดยมี PRI เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้ กบข. ทำงานกับ PRI มาตั้งแต่ปีที่แล้ว ซึ่ง PRI มีหลักเกณฑ์ของการผนวกการพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ (ESG fully integrated) 3 ระดับด้วยกัน คือ ชั้นใน ชั้นกลาง และชั้นนอก

Inner เป็นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ และการเป็น active ownership (การใช้สิทธิของผู้ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นในการออกเสียงในวาระต่างๆ ในการประชุมผู้ถือหุ้น หรือให้ข้อเสนอแนะต่อบริษัทที่เข้าไปลงทุน) ซึ่ง กบข. ทำทุกประเด็น รวมทั้งยังมีส่วนร่วมโดยการทำกิจกรรมกับกิจการ มีทั้งแบบปกติและกรณีที่เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้น แต่ต้องมีการวางกรอบให้ชัดเจน

ตัวอย่างที่ กบข. เข้าไปมีส่วนร่วมคือ บริษัทไทยยูเนี่ยนที่มีการลงทุนในต่างประเทศ มีการใช้แรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน การไปมีส่วนร่วมจะได้ความเข้าใจถึงการจัดการ รวมทั้งได้ภาพผลตอบแทนทางการเงินด้วย

“การไปมีส่วนร่วมดูเหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย สมมติว่า กบข. ลงทุนในไฟเซอร์ วันที่ไฟเซอร์ประกาศแจ้งผลการพัฒนาวัคซีน ซีอีโอขายหุ้นไปประมาณ 5 ล้านเหรียญ หุ้นไฟเซอร์ตก คำถามคือว่า เราจะไปมีส่วนร่วมอย่างไร การไปมีส่วนร่วมไม่ใช่กิจกรรมที่ทำได้ง่าย ต้องตั้งคำถามในการจะไปมีส่วนร่วมซึ่งต้องประเมินที่มาที่ไป และเมื่อถามแล้วได้คำตอบแล้ว เราจะดำเนินการอย่างไร”

ดร.ศรีกัญญากล่าวว่า เนื่องจาก กบข. ไม่ได้ลงทุนเฉพาะในประเทศ แต่ลงทุนในต่างประเทศด้วย จึงได้ลงนามเข้าไปอยู่ในวงการมีส่วนร่วมของ PRI ที่มีเครื่องมือด้านนี้ เพื่อเข้าไปรับรู้ ไปตกลงร่วมกันทำในบางประเด็น ตัวอย่าง คือ ไมโครไฟเบอร์ในเครื่องซักผ้า ที่ทำอันตรายสิ่งแวดล้อม กบข. ได้ไปลงนามและมีส่วนร่วมตรงนี้ เป็นการไปเรียนรู้ แนวปฎิบัติของต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับเป็นเกณฑ์ของ กบข. รองรับการลงทุนในกิจการที่ผลิตเครื่องซักผ้า

การมีส่วนร่วมไม่ใช่เรื่องง่ายว่า “คุยแล้วจบกัน” ต้องมีความชัดเจนในการจัดการ

ดร.ศรีกัญญากล่าวว่า กบข. ยังได้นำหลักการประเมินสินทรัพย์ของธนาคารโลกมาปรับใช้ เพราะประเมินสินทรัพย์ที่ไปลงทุนเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะปัจจัย ESG ต้องให้ความสำคัญ และยังนำกรอบการประเมินของ OECD มาปรับใช้ โดยเกณฑ์ข้อหนึ่งของ OECD ระบุว่าไว้ว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์ลักษณะไหนที่ต้องตัดสินใจแล้ว ไม่ว่าจะลงทุนต่อหรือจะเลิกลงทุน

แต่การบรรเทาผลกระทบไม่ใช่จะตอบได้ง่ายๆ เพราะการบรรเทาผลกระทบคือการที่ทิ้งไปเลย ดังนั้น กระบวนการบรรเทาผลกระทบต้องมาคุยกันว่าเรื่องนี้สุดท้ายในสาระบบเป็นอย่างไร

“เวลา กบข. จะบรรเทาผลกระทบจะถอนตัวจากการลงทุน เราไม่ได้ตัดสินใจกันง่ายๆ เลย เพราะเราต้องทำหลายอย่างมาก เราจะเน้นไปที่การคุยก่อน ซาวเสียงก่อน ต้องตอบคำถามสำคัญที่เราถามได้หมดคือว่า ถ้าเราจะถอนการลงทุนไปที่ใหม่ สมมติว่า เราจะไม่ลงทุนนิสสัน เราจะไม่ลงทุนที่ตรงไหนของนิสสัน โรงงานผลิต หรืออะไรของนิสสัน มีคำถามมากมาย เพราะเป็นห่วงโซ่มูลค่าของการลงทุน”

ดร.ศรีกัญญาได้ยกอีกตัวอย่างหนึ่งคือ แบงก์ออฟอเมริกา ที่ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงในสหรัฐฯ ได้ประกาศว่าจะลงทุนต่อในกิจการที่เกี่ยวข้องกับปืน ประเด็นคือ มองเป็นเรื่องนโยบายและทำเงินได้ ก็เป็นประเด็นที่ขัดแย้งบางครั้งตัดสินใจยาก ระหว่างผลตอบแทนทางการเงินกับผลตอบแทนทางสังคม การจัดการก็ไม่ง่าย มีเกณฑ์อยู่

กบข. ได้ร่วมกับธนาคารโลกจัดทำ ESG scoring หุ้นกู้ในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าเรื่องการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบไม่มีมาตรฐานเดียวที่ใช้ได้กับทุกอย่าง โดยใช้ข้อมูลจาก MSCI เป็นเกณฑ์ผสมกับสิ่งที่ กบข. คิดจากภายใน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ประเมินเพื่อจัดการการลงทุน

อ่านเพิ่มเติม