ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อโจ ไบเดนกลับลำ…ดีกับใคร?

เมื่อโจ ไบเดนกลับลำ…ดีกับใคร?

18 กรกฎาคม 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเยือนอิสราเอล ที่มาภาพ : https://apnews.com/article/russia-ukraine-biden-iran-donald-trump-israel-4a124efe6f0c80c1bdfd76b6552569e0/gallery/499b8486afd14fcba0b93b687d4829a6

เหตุการณ์ที่สำคัญของโลกที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง คือ การเดินทางไปเยือนตะวันออกกลางของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งนักข่าวทั่วโลกหันมาจับตา ไม่ว่าประธานาธิบดีคนนี้จะพูดอะไรกับใคร มีถ้อยคำอะไรบ้าง มีภาษาท่าทางอะไร สายตาของเขาจับจ้องไปมองใครเป็นพิเศษบ้าง ใครมาต้อนรับเขาบ้าง และแววตาของเขาแสดงความจริงใจมากน้อยเพียงใด นับตั้งแต่เข้าก้าวเท้าลงมาจากเครื่องบิน Airforce One ที่สนามบินนานาชาติเบนกูเรียน (Ben Gurion International Airport) ในกรุงเทลอาวีฟ ในช่วงแรกของการเยือนอิสราเอล จนกระทั่งเขาก้าวเท้าขึ้นเครื่องบิน Airforce One ที่สนามบินนานาชาติคิงคาลิด (King Khalid International Airport) เดินทางกลับสู่นครวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บินเข้าซาอุดีอาระเบีย โดยตั้งต้นการเดินทางจากกรุงเทลอาวีฟ

วัตถุประสงค์สำคัญของการเดินทางครั้งนี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงทางการทหาร การทูตระหว่างประเทศ สันติภาพในตะวันออกกลาง และเศรษฐกิจของอเมริกา นั่นคือ อนาคตทางการเมืองของนายโจ ไบเดน เอง

วัตถุประสงค์ของการเยือนอิสราเอลนั้น คือการสานต่อขอตกลงสันติภาพอับราฮัม (Abraham Accord Peace Agreement) เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประเทศบาห์เรน และสหรัฐอเมริกา ได้ลงนามไว้ในสมัยประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2563 มีสาระสำคัญคือการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตขั้นปกติระหว่างประเทศอาหรับกับอิสราเอล เป็นก้าวแรกของกระบวนการสันติภาพที่จะสร้างสันติภาพถาวรให้เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งเป้าหมายหลักของสนธิสัญญานี้มิใช่จะหยุดลงที่ประเทศอาหรับสองสามประเทศเพียงนี้ แต่โจ ไบเดน มีแผนการที่จะสร้างองค์กรนาโต้ของตะวันออกกลาง เพื่อโดดเดี่ยวอิหร่าน เหมือนที่อเมริกาใช้องค์กรนาโต้ในยุโรปโดดเดียวรัสเซียมาแล้วนั่นเอง

ในขณะเดียวกัน สถานการณ์ในอิสราเอลมีความละเอียดอ่อนทางการเมืองอยู่มาก เป็นต้นว่า พรรคการเมืองที่บริหารราชการแผ่นดินของอิสราเอลขณะนี้เป็นรัฐบาลผสมถึง 8 พรรคด้วยกัน แต่ละพรรคมีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างมาก และนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน คือ นายแยร์ ลาปิด (Yair Lapid) เพิ่งขึ้นมารับตำแหน่งนี้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมานี้เอง และขณะนี้รัฐบาลผสมเป็นพรรคเสียงข้างน้อย และมีแนวโน้มที่จะอยู่บริหารราชการแผ่นดินอีกไม่นาน ซึ่งพรรคลิคุดของนายเบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) เป็นพรรคฝ่ายค้านสายเหยี่ยวและมีแนวโน้มที่จะเข้ามาบริหารประเทศอีกครั้ง การต่อสู้กันทางการเมืองในอิสราเอลนั้นเป็นสงครามที่ดุเดือดอย่างมาก เพราะในระยะเวลาเพียง 2 ปี อิสราเอลได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน และเป็นที่เชื่อกันว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่อีกไม่นานหลังจากนี้

ในขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์และพรรครีพับลิกันสนับสนุนนายเบนจามิน เนทันยาฮู อย่างเปิดเผย ได้แก่ การย้ายสถานทูตสหรัฐให้เข้ามาอยู่ในกรุงเยรูซาเลม และการผนวกดินแดนของชาวอาหรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล นายโจ ไบเดน และพรรคเดโมแครตเห็นตรงกันข้าม และเสนอทางออกสำหรับความขัดแย้งระหว่างยิวกับปาเลสไตน์คือ ให้อิสราเอลคืนดินแดนที่ตนยึดมาได้ในสงครามหกวันเมื่อปี พ.ศ. 2510 กลับคืนสู่เจ้าของเดิม และให้ยึดเขตแดนตามที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้ให้ตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นข้อเสนอที่รัฐบาลอิสราเอล โดยเฉพาะพรรคขวาจัด ยอมรับไม่ได้

นอกเหนือจากความระหองระแหงระหว่างชาวยิวและปาเลสไตน์ซึ่งมีมากว่า 60 ปี ซึ่งปะทุออกมาเป็นเรื่องการใช้อาวุธประหัตประหารกันแล้ว เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้เอง นักข่าวชาวอเมริกัน-ปาเลสไตน์ชื่อ ชีรีน อะบู อักเลห์ (Shireen Abu Akleh) ของสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) อายุ 51 ปี เสียชีวิตในขณะที่กำลังรายงานข่าวการใช้ความรุนแรงของทหารอิสราเอลต่อผู้ชุมนุมชาวปาเลสไตน์ในเขตเวสต์แบงก์ ซึ่งภายหลังการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่องค์กรสหประชาชาติมีข้อสรุปว่าเกิดจากการยิงของทหารอิสราเอล ในขณะที่ทางการอิสราเอลยังไม่ออกมาแสดงความรับผิด ทำให้คดีนี้ยังคงเป็นประเด็นร้อนอยู่ในขณะนี้

นายโจ ไบเดน จึงอยู่ในฐานะที่ยากลำบาก ที่จะต้องเอาใจรัฐบาลอิสราเอล (ซึ่งมีความไม่มั่นคงสูง) พรรคฝ่ายค้าน ชาวปาเลสไตน์ ชาวอาหรับ และนักข่าวสำนักต่างๆ โดยเฉพาะอัลจาซีรา คอยจ้องจับผิดเขาอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เห็นว่าเขาหวังดีกับทุกฝ่าย และปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพที่มั่นคงในตะวันออกกลาง

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ทันทีที่เขาจับมือทักทายกับผู้ที่มาต้อนรับในสนามบินนั้น แทนที่จะเป็นการตรวจแถวทหารเกียรติยศตามประเพณี รัฐบาลอิสราเอลกลับนำอาวุธยิงแสงเลเซอร์พลังงานสูง ที่กองทัพบกอิสราเอลนำเข้าประจำการในการสร้างโดมเหล็ก (Iron Dome) เพื่อสกัดกั้นจรวดที่ชาวปาเลสไตน์หรือศัตรูต่างชาติยิงเข้ามาได้ทุกขณะ เครื่องยิงแสงเลเซอร์นี้ติดอยู่บนรถหุ้มเกราะซึ่งมีเรดาร์ติดตั้งคอมพิวเตอร์ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) อาวุธอันทันสมัยนี้แม้กองทัพของสหรัฐฯ เองยังไม่มีใช้เลย

นายแยร์ ลาปิด นั้นเป็นนักการเมืองสายกลางและสนับสนุนให้ปาเลสไตน์เป็นประเทศที่ปกครองตนเองอย่างอิสระ (2-country policy) ซึ่งแตกต่างจากนายเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้ไม่มีความไว้วางใจชาวปาเลสไตน์และอาหรับอย่างสิ้นเชิง การที่นายไบเดนจะแสดงความใกล้ชิดสนิทสนมเป็นพิเศษกับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ย่อมไม่เกิดผลดีกับเขาและนายลาปิดอย่างแน่นอน เพราะนายไบเดนเองมีการเลือกตั้งกลางเทอม ที่กำลังจะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ และนายแยร์ ลาปิด เองก็อาจจะไม่อยู่ในตำแหน่งนี้ยาวนานนัก สิ่งที่นายไบเดนสามารถกระทำได้คือการให้คำหวาน

“ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนอิสราเอลและประชาชนอเมริกันนั้นลึกซึ้งถึงกระดูก (bone deep) ความสัมพันธ์ที่ลึกถึงกระดูกนี้ยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น และกำลังเติบโตต่อไปอีกเรื่อยๆ ทั้งสองชาติลงทุนในกันและกัน มีความฝันร่วมกัน และเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุประสงค์ที่เราทั้งสองต่างมี ข้าพเจ้าเป็นส่วนหนึ่งในนั้น ตั้งแต่สมัยที่เป็นวุฒิสมาชิก สมัยที่เป็นรองประธานาธิบดี และหากพูดกันอย่างตรงไปตรงมาคือก่อนหน้านั้นอีก ในฐานะที่เติบโตขึ้นมาจากการเป็นชาวคริสต์ที่ดีคนหนึ่ง”

นอกจากการพูดคุยทักทายกับผู้นำฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านของอิสราเอลแล้ว นายโจ ไบเดน ได้เดินทางไปเยี่ยมนายมะห์มูด อับบาส (Mahmoud Abbas) ถึงที่ทำงาน และต่อจากนั้นนายไบเดนได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาลของปาเลสไตน์แห่งหนึ่ง ซึ่งเขาประกาศว่าสหรัฐฯ จะบริจาคเงินจำนวน 100 ล้านเหรียญ เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ชาวปาเลสไตน์อีกด้วย กิจกรรมที่เกิดขึ้นนี้ทำให้นายไบเดนได้ใจชาวปาเลสไตน์อย่างมาก

ก่อนเดินทางกลับสู่สนามบินในกรุงเทลอาวีฟ นายโจ ไบเดน ได้แถลงข่าวว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้อิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาอย่างเด็ดขาด” ซึ่งเป็นประโยคทองที่เขาตั้งใจเดินทางมาพูดเพื่อเอาใจประชาชนชาวอาหรับและอิสราเอล ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีความวิตกกังวลกับการเพิ่มสมรรถนะแร่ยูเรเนียมของอิหร่านที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในขณะนี้อิหร่านได้แร่ยูเรเนียมที่เข้มข้นสูงกว่า 60% แล้ว ซึ่งเมื่อเข้มข้นสูงถึง 90% ก็สามารถสร้างระเบิดปรมาณูได้ แม้ว่าทางรัฐบาลอิหร่านได้ยืนยันตลอดมากว่าโครงการปรมาณูของอิหร่านนั้นเป็นไปเพื่อสันติภาพแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นไปเพื่อการสร้างอาวุธนิวเคลียร์แต่ประการใดเลย กระนั้นเอง ประเทศทั้งหลายในตะวันออกกลางไม่เชื่อ โดยเฉพาะที่อิหร่านมีการพัฒนาโดรนอัจฉริยะซึ่งสามารถเดินทางได้ในระยะไกล และมีความสามารถในการโจมตีเป้าหมายต่างๆ อย่างแม่นยำ

ที่มาภาพ : https://www.kcrg.com/2022/07/15/biden-meet-saudi-king-prince-mbs-after-human-rights-rift/(Saudi Press Agency via AP)

เมื่อเสร็จจากภารกิจในอิสราเอล นายโจ ไบเดน เดินทางต่อไปราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อทำภารกิจที่ยากขึ้นไปกว่าเดิม นั่นคือการเผชิญหน้ากับมกุฎราชกุมารมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman — MBS) ผู้ที่ยังดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบนโยบายทางเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ผู้ซึ่งนายโจ ไบเดน ได้ประกาศว่าเป็น “ฆาตกร” ที่ออกคำสั่งให้สังหารนายจามาล คาชูจกิ (Jamal Khashoggi) นักข่าวหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ซึ่งหายตัวไปอย่างลึกลับในสถานกงสุลนครอิสตันบูล ตุรกี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 เป็นที่เชื่อกันว่าเขาถูกทรมานก่อนฆ่าตายอย่างทารุณในสถานกงสุลนั่นเอง ศพของเขาน่าจะถูกหั่นและทำลายจนสาบสูญหมดไปแล้ว

นักข่าวสำนักต่างๆ จับจ้องภารกิจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทุกอิริยาบถ ทุกย่างก้าว ตั้งแต่ที่ลงจาก Airforce One ไม่ว่าเขาจะเข้าไปทักทายกับใครบ้าง ด้วยภาษาท่าทางอะไร นักข่าวบางสำนักถึงกับที่นำภาพวิดีโอคลิปเมื่อทางการซาอุดีอาระเบียต้อนรับประธานาธิบดีคนต่างๆ ของสหรัฐฯ ที่เดินทางมาเยือนมาเทียบ เห็นได้ชัดเจนว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับการต้อนรับที่ได้รับเกียรติและความอบอุ่นมากที่สุด ส่วนที่แย่ที่สุดคือการต้อนรับที่ซาอุดีอาระเบียให้แก่ประธานาธิบดีโอบามา ซึ่งนอกจากจะไม่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วราชอาณาจักรแล้วผู้ที่ต้อนรับยังไม่ใช่คนสำคัญในราชวงศ์หรือรัฐมนตรีกระทรวงใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นนายกเทศมนตรีของเมืองรียาดเพียงคนเดียวเท่านั้น

สิ่งที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับจากการต้อนรับครั้งนี้ คือ การชนกำปั้นกับ MBS และคนสำคัญๆ ต่างๆ ของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย ไม่มีการเข้าไปกอด หอมแก้มซ้ายขวา เหมือนกับที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้รับ สิ่งที่นักข่าวทั้งหลายคาดการณ์ไว้คือการเดินทางมาซาอุดิอาระเบียครั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีวัตถุประสงค์เดียวเท่านั้นคือการขอร้องให้ MBS สั่งการผลิตน้ำมันให้มากขึ้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจของอเมริกา เพราะคนอเมริกันในขณะนี้เติมน้ำมันราคาแพงมาก หากปล่อยให้สถานการณ์น้ำมันยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะลำบากอย่างมากในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่จะไม่พอใจ และคะแนนนิยมในตัวของเขาเองในขณะนี้ลดต่ำกว่า 26% แย่ยิ่งกว่าผู้นำสหรัฐฯ คนก่อนๆ ในอดีต

ส่วนเรื่องอื่นๆ นั้นถือว่าเป็นวัตถุประสงค์รอง ไม่ว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพูดอะไรออกมาในการแถลงข่าวก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาค้างคาใจนักข่าวทั่วโลกคือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะพูดอะไรกับมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ คือ จะพูดเหมือนกับที่ตนเองเคยประกาศไว้หรือไม่ เพราะหากพูดอย่างที่ประกาศไว้ การเดินทางมากรุงรียาดของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ย่อมคว้าน้ำเหลวอย่างแน่นอน เพราะเท่ากับว่าผู้นำสหรัฐฯ ทำตัวเป็นอัยการเสียเอง เป็นการเสียมารยาททางการทูตและย่อมไม่ได้รับความร่วมมือจาก MBS เหมือนที่ตั้งใจไว้

นายโจ ไบเดน เคยประกาศขณะที่กำลังหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอยู่นั้นว่าจะเอาเรื่องมกุฎราชกุมารพระองค์นี้จนถึงที่สุด และจะทำให้ MBS ให้กลายเป็นคนนอกคอก (pariah) ให้จงได้ เพราะมีหลักฐานจาก CIA ระบุชัดเจนว่าเจ้าชายพระองค์นี้เป็นผู้สั่งการฆ่านายจามาล คาชูจกิ อย่างแน่นอน แต่เมื่อสถานการณ์พลิกผัน เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ถดถอย อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูง และราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นสูงมากเป็นประวัติการณ์หลังสงครามในยูเครนระเบิดขึ้น ทำให้นายโจ ไบเดน ต้องโทรศัพท์ไปของร้อง MBS ด้วยตนเอง แต่ปรากฏว่า MBS ไม่ยอมรับสาย ทำให้เขาต้องเดินทางไปเผชิญหน้ามกุฎราชกุมารพระองค์นี้ด้วยตนเอง

วัตถุประสงค์ที่นายโจ ไบเดน แถลงไว้คือการประชุมทางไกลกับผู้นำ 9 ประเทศ อันว่าด้วยเรื่องต่างๆ เช่น การเปิดน่านฟ้าของซาอุดีอาระเบียให้สายการบินพลเรือนของทุกประเทศ (โดยเฉพาะของอิสราเอล) การหยุดยิงในประเทศเยเมน ความมั่นคงทางการทหารแก่ซาอุดีอาระเบีย การพัฒนาพลังงานสะอาด (green energy) การผลิตน้ำมันจำนวนมาก และเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการเสียชีวิตของนายจามาล คาชูจกิ ซึ่งนายไบเดนไปแถลงข่าวว่าได้หยิบยกประเด็นหลังนี้ขึ้นมาพูดกับ MBS ก่อน ซึ่งมกุฎราชกุมารท่านนี้บอกว่า

“ข้าพเจ้าไม่มีส่วนรู้เห็นกับเหตุการณ์นี้ และเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของประเทศ และได้สั่งการให้ลงโทษผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว”

ขณะที่โจ ไบเดน กำลังพูดอยู่นั้นกล้องของนักข่าวสำนักต่างๆ ก็จับจ้องไปที่ใบหน้าของมกุฎราชกุมารพระองค์นี้ ซึ่งมีรอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปากแสดงถึงชัยชนะอย่างชัดเจน จนทำให้นักข่าวจากหลายสำนักแสดงความไม่พอใจต่อคำอธิบายของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ว่า “สิ่งที่ท่านกำลังพูดอยู่ขณะนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่ท่านเคยพูดไว้ตอนที่หาเสียง”

นักข่าวคนหนึ่งไม่พอใจมากถึงกับหยิบยกคำพูดของภรรยานายคาชูจกิ ที่กล่าวว่า “ตอนนี้เลือดไม่ได้เปื้อนมือของมกุฎราชกุมารท่านแล้ว แต่กำลังเปื้อนมือของท่านต่างหาก”

แต่คำตอบที่ประธานาธิบดีให้แก่นักข่าวไม่สามารถสยบความไม่พอใจของนักข่าวเหล่านี้ได้เลย จนทำให้นายโจ ไบเดน ต้องเดินออกไปดื้อๆ หลังจากที่ไม่อาจตอบคำถามให้นักข่าวทั้งหลายเป็นที่พอใจได้

ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับนักข่าวคือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ออกมาฟอกขาวให้ MBS ไปเสียแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น นักข่าวหลายสำนักได้วิจารณ์การเดินของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ว่า “มีอาการเดินเซซวน” เหมือนคนไม่มีสติ เดินเหม่อลอยหรือไปผิดทางอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเกิดจากอายุที่มากเกือบ 80 ปีของเขา หรือภาระกิจที่หนักหน่วงและเร่งรัดเกินไปสำหรับชายชราที่กำหนดไว้ให้กับตนเอง

สิ่งที่แตกต่างจากการเยือนอิสราเอลในทริปเดียวกันนี้คือ ทางการซาอุดีอาระเบียไม่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน เลย สิ่งที่ปรากฏคือ ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนแถลงข่าวตามลำพัง MBS ไม่เคยประกาศว่าจะผลิตน้ำมันป้อนตลาดโลกมากขึ้นเลย เพียงแต่ประกาศว่าอีกไม่นานตัวแทนซาอุดีอาระเบียจะเข้าร่วมประชุมกับองค์กรผู้ส่งออกน้ำมันของโลกหรือ OPEC และขณะนี้ราคาน้ำมันดิบทั่วโลกกำลังลดต่ำลงทุกวัน คำพูดเหล่านี้คือการปฏิเสธข้อร้องขอของประธานาธิบดีโจ ไบเดน อย่างสุภาพนั่นเอง

การเดินทางมากรุงรียาดครั้งนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง นอกจากที่เขาได้เสียรู้มกุฎราชกุมารพระองค์นี้โดยการเข้าไปฟอกขาวให้ MBS พ้นผิดไปแล้ว เขายังได้แสดงความอ่อนแอของตนเองให้ต่อสื่อมวลชนทั่วโลกอีกด้วย!!!