ThaiPublica > คอลัมน์ > วิเคราะห์วิกฤติการเมืองในอเมริกาเพื่อการแก้ปัญหาการเมืองไทย

วิเคราะห์วิกฤติการเมืองในอเมริกาเพื่อการแก้ปัญหาการเมืองไทย

23 มกราคม 2021


ดร.นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

โจ ไบเดน ประธานธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://www.whitehouse.gov/administration/president-biden/

วันที่ 6 มกราคม 2564 ชาวโลกตกใจเมื่อเห็นข่าวจลาจลในอาคารรัฐสภาของสหรัฐอเมริกา กลางกรุงวอชิงตันดีซี ประชาชนนับพันบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภาด้วยความโมโหโกรธา เข้าไปยึดห้องประชุมในสภาคองเกรส และวุฒิสภาได้สำเร็จ ห้องทำงานของสมาชิกสภาถูกรื้อค้น เอกสารทางราชการจำนวนมากกระจุยกระจายเต็มพื้นไปหมด เจ้าหน้าที่ ตำรวจลับที่ทำหน้าที่อารักขาสมาชิกรัฐสภาและวุฒิสภา ต้องรีบพานักการเมืองหลบหนีออกไปทางอุโมงค์ ท่ามกลางความโกลาหล ผู้บุกรุกอีกหลายคนตะโกนให้ช่วยกันหารองประธานาธิบดีผู้ที่ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภาอยู่ในขณะที่กำลังประชุมรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของคณะเลือกตั้ง เพื่อนำตัวออกมาแขวนคอ ในฐานะผู้ที่ทรยศต่อผู้นำอันเป็นที่รักและบูชาของพวกเขา

ในขณะที่ผู้ชุมนุมจำนวนมากปิดล้อมอาคารรัฐสภา ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ได้ใช้แก๊สน้ำตา ประกาศให้ม็อบถอยออกไปจากอาคาร แต่ยังมีผู้ชุมนุมเข้ารุมทำร้ายโดยใช้เสาธงชาติตีเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเสียชีวิตด้วยความโกรธแค้น แม้เจ้าหน้าที่เองบางคนใช้ปืนยิงผู้บุกรุกและติดอาวุธเข้ามาในอาคารจนเสียชีวิตคาที่ จนมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้ 5 คน เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คน ข้าวของในอาคารรัฐสภาถูกทำลายจำนวนมาก ภาพถ่ายสำคัญที่ทำให้หลายคนสะเทือนใจ คือ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหลายคนเล็งปืนไปยังประตูทางเข้าอาคาร พร้อมยิงหากมีผู้ชุมนุมบุกรุกเข้ามาในอาคารนั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้นำตู้ไม้ขวางทางเข้าไว้ก่อนแล้ว และหากผู้บุกรุกผ่านเข้าประตูนั้นได้ คงมีผู้เสียชีวิตอีกหลายศพ นายกเทศมนตรีต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ขอกำลังทหารเข้ารักษาความสงบทันที

ข่าวจลาจลครั้งนี้ ช็อคคนทั้งโลกเพราะไม่มีใครคาดคิดได้ว่า อภิมหาอำนาจอันเป็นต้นแบบสังคมประชาธิปไตยจะเกิดความรุนแรงในรัฐสภาของตนเองถึงขนาดนี้ และเกิดเหตุที่อาคารรัฐสภา ในนครหลวงของสหรัฐอเมริกาเสียด้วย หลายคนตั้งคำถามว่าอะไรเกิดขึ้นกับอเมริกา ประชาธิปไตยของประเทศนี้หมดสิ้นไปเสียแล้วกระนั้นหรือ หรือที่ผ่านมาทั้งหมด ประชาธิปไตยนั้นเกิดจากการจัดฉากเล่นละครของนักการเมือง นายทุนของประเทศแห่งนี้แต่โดยเนื้อแท้แล้วคนอเมริกันเป็นคนก้าวร้าว รุนแรง ไม่ฟังเหตุผล และพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงเป็นส่วนของการแก้ปัญหา โดยที่รัฐบาลกลางของประเทศนี้ทำหน้าที่เป็นตำรวจโลก ประกาศให้ทุกชาติเคารพในสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต่อต้านเผด็จการในทุกรูปแบบ

แม้ว่าทางการจะได้ระดมกำลังทหารออกมารักษาความสงบในกรุงวอชิงตันได้สำเร็จ มีการดำเนินคดีกับผู้ก่อการหลายสิบ สิ่งที่น่ากลัวคือ การสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันแสดงว่า 34 % ของประชาชนเชื่อว่านายโดนัล ทรัมป์ถูกโกงการเลือกตั้ง (แม้ว่าไม่มีหลักฐานมาแสดงแก่ผู้พิพากษาได้เลยก็ตาม) และ 21% ของสมาชิกพรรครีพับลิกัน เห็นชอบกับการที่ม็อบบุกเข้าไปยึดอาคารรัฐสภาครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว แม้ทราบว่ามีการเสียชีวิตและบาดเจ็บมากมายก็ตาม อเมริกาจึงเป็นประเทศที่แตกแยกกันอย่างมาก ประชาชนสองฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน และทั้งสองฝ่ายมีความโกรธแค้นกับอีกฝ่ายหนึ่งอย่างมาก

ในขณะที่ผู้ที่ชื่นชอบในตัวอดีตประธานาธิบดีทรัมป์นั้นเป็นคนผิดขาว นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปเตสแตน เกลียดชังคนผิวสี โดยเฉพาะคนผิดดำ คนที่รักเพศเดียวกันกับตน และเห็นว่าผู้ที่อพยพเจ้าเมืองมานั้นเป็นผู้ที่เข้ามาหางานทำ เอารัดเอาเปรียบคนผิวขาวตลอดเวลา ไม่ชอบคนมุสลิมและศาสนาอิสลาม ต่อต้านกฎหมายทำแท้ง แต่สนับสนุนให้มีโทษประหาร และให้ประชาชนมีสิทธิพกพาอาวุธปืนได้โดยอิสระ คนเหล่านี้มักอยู่ในรัฐตอนกลางของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐฝ่ายใต้ และมีการสะสมอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนเอง มีกองกำลังของตนเอง

พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มาภาพ : https://www.democratandchronicle.com/story/news/2021/01/21/joe-biden-inauguration-suit-made-at-hickey-freeman-in-rochester-ny/4242765001/

ด้วยเหตุนี้หน่วยงานรักษาความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ เอฟบีไอ และกระทรวงกลาโหมจึงได้มีการตรึงกำลังในกรุงวอชิงตันดีซี เพื่อเตรียมงานสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีโจ ไบเดนและนางกมลา แฮริส ที่อาคารรัฐสภาในวันที่ 20 มกราคมอย่างเต็มที่ ทหารในเครื่องแบบกว่าสองหมื่นห้าพันนาย เข้าประจำการ บริเวณรองรัฐสภากลายเป็นป้อมค่าย มีรั้วเหล็กพร้อมขดลวดหนาม แท่งปูนซีเมนต์กระจายตัวทั่วไปเพื่อป้องกันภัยก่อการร้าย และด่านตรวจนับร้อยแห่งผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ด รถยนต์ผ่านเข้าถนนทุกสายรอบอาคารรัฐสภาไม่ได้ ผู้คนที่ผ่านเข้าออกต้องถูกตรวจโลหะ และห้ามการพกพาอาวุธทุกชนิด และยิ่งไปกว่านั้นอาคารรัฐสภาของทุกรัฐทั้ง 50 รัฐทั่วประเทศมีทหารรักษาความปลอดภัยอย่างสูงสุดทั่วประเทศ เพื่อป้องกันเหตุร้าย และนี่ไม่ใช่เพราะระวังตัวจนมากเกินไป แต่เพราะว่าหน่วยงานฝ่ายข่าวกรองและเอฟบีไอ ได้พบข้อความที่ส่งต่อกันในโซเชียลมีเดีย ถึงการประท้วงครั้งใหญ่ต่อรัฐสภาของแต่ละรัฐ คนเหล่านี้ถูกเรียกรวม ๆ ว่า “ผู้ก่อการร้ายภายในประเทศ” แม้แต่ทหารแต่ละนายที่ประจำการรักษาความปลอดภัยในกรุงวอชิงตันดีซีก็ตาม ทั้งสองหมื่นนายถูกตรวจสอบประวัติ และตรวจดูในโซเชียลมีเดียของแต่ละคนว่า เคยส่งข้อความใดๆ ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นพวกหัวรุนแรง ขวาจัดหรือไม่ และในที่สุดทหาร 12 นายถูกถอนไปจากงานนี้

แม้พิธีการสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีครั้งนี้จะดูเรียบร้อยทุกประการ ตั้งแต่เช้าจรดค่ำก็ตาม การประท้วงก็ยังมีอยู่ประปราย ในเมืองใหญ่ ๆ ของสหรัฐฯ เช่น ที่นครดัลลัสในรัฐเทกซัสมีม็อบออกมาประท้วงการแต่งตั้งโจ ไบเด่นเป็นประธานาธิบดี ไม่ยอมรับพรรคดีโมแครต ในสองเมืองใหญ่คือซีแอตเทิลและพอตแลนด์ในรัฐวอชิงตันได้กลายเป็นการจลาจลมีการเผาธงชาติ ม็อบที่โกรธแค้นพรรคเดโมแครต บุกเข้าไปขว้างปาทำลายกระจกหน้าต่างของพรรคเดโมแครตในเมือง จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกมาควบคุม ยิงแก๊สน้ำตา เกิดการปะทะกันเป็นข่าวไปทั่วโลก

พิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่นั้น เป็นจารีตประเพณีของสหรัฐอเมริกามาตลอด 234 ปี ไม่เคยว่างเว้นแม้แต่ครั้งเดียว แม้ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง หรือ สงครามโลก เป็นสิ่งที่ชาวอเมริกันถือว่าเป็นพิธีใหญ่ มีความสำคัญราวกับเป็นเสาหลักของประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกาก็ว่าได้ ในพิธีนี้อดีตประธานาธิบดีที่มีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะคนที่กำลังจะพ้นตำแหน่งย่อมเข้ามาร่วมงานนี้เสมอ เพราะการเลือกตั้งย่อมมีผลทำให้เกิดความแตกแยกเป็นคนสองกลุ่มที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกันเสมอ การเข้าร่วมพิธีนี้จึงเท่ากับเป็นการสมานฉันท์ สร้างความสามัคคีให้แก่คนในชาติอีกครั้ง เป็นการเยียวยาประเทศชาติก็ว่าได้ กระนั้นเองประธานาธิบดี โดแนล ทรัมป์ ไม่ยอมมาร่วมงานนี้ โดยประกาศเป็นทางการแล้วว่าจะไม่ไป และขอให้จัดเดินทางไปยังรีสอร์ทส่วนตัวของตนที่รัฐฟลอริดา แทนการเยียวยาประเทศชาติจึงไม่เกิดขึ้น! เป็นประธานาธิบดีคนแรกในรอบ 153 ปีที่ไม่ยอมเข้ารวมพิธีนี้

บรรยากาศของพิธีอันศักดิ์สิทธิ์นี้เงียบและกร่อยอย่างมากเมื่อเทียบกับพิธีการสาบานตัวในครั้งก่อน ๆ ที่มีประชาชนนับแสนเข้าร่วมพิธีด้วย เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประชาชนส่วนใหญ่จึงเฝ้าดูการถ่ายทอดทางบ้าน ผู้ที่จะมาร่วมงานผ่านด่านต่าง ๆ ได้ต้องมีบัตรเชิญพิเศษเท่านั้น บริเวณที่ ๆ เคยมีประชาชนยืนได้ลายเป็นที่ปักธงชาติอเมริกานับแสน แทนชาวอเมริกันผู้ที่เสียชีวิตเพราะโรคระบาดใหญ่ครั้งนี้

ไฮไลท์สำคัญของพิธีสาบานตนอันศักดิ์สิทธิ์นี้ คือ การกล่าวสุทรพจน์เข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ซึ่งสำนักข่าวทั้งหลายประชาสัมพันธ์ไว้ว่า จะเป็นสุนทรพจน์ประวัติศาสตร์ ซึ่งนายโจ ไบเดน เองตั้งใจเตรียมตัวมาตั้งแต่เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนแล้ว เป็นที่ทราบกันดีว่านายไบเดน เป็นคนที่พิถีพิถันกับการใช้คำพูดอย่างมาก อาจจะเป็นเพราะว่าตั้งแต่สมัยที่ตนเองเป็นเด็ก เป็นคนที่พูดติดอ่าง ต้องฝึกฝนตนเองอย่างมากจนสามารถเอาชนะโรคนี้ได้ แม้โฆษกของโดนัล ทรัมป์ ยังได้เคยเอาเรื่องนี้มาล้อเลียนมาแล้วในการแถลงข่าวที่ทำเนียบขาว

สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นั้นไม่ผิดความคาดหวังจริง ๆ สำหรับชาวอเมริกันและชาวโลกในทุกประเทศ ไม่ว่าปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาด การตกต่ำของเศรษฐกิจ การเยียวยา ปัญหาโลกร้อน เหตุการณ์จลาจล ณ อาคารรัฐสภาก่อนหน้านั้น และรวมไปถึงการสมานฉันท์ของคนในชาติ ซึ่งเป็นวาทะกรรมที่ท่านประธานาธิบดีคนใหม่พูดซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อให้เห็นว่าการสมานฉันท์นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศชาติในขณะนี้ ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคร้ายนี้ และการแก้ไขวิกฤติของชาติทางเศรษฐกิจ ปัญหาโลกร้อน ฯลฯ จะสำเร็จไม่ได้เลย หากคนในชาติไม่สามัคคีกัน สุนทรพจน์นี้จบลงด้วยเสียงปรบมือที่ดังกึกก้องของผู้มาร่วมงาน ในสุนทรพจน์นี้ไม่มีการเอ่ยชื่อนายโดนัล ทรัมป์ ไม่มีการประฌามผู้บุกรุกเข้ามาในอาคารรัฐสภาเมื่อสองสัปดาห์ก่อน ไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายคนอเมริกันใด ๆ ทั้งสิ้น และมีการย้ำว่าไบเดนเป็นประธานาธิบดีของคนอเมริกันทุกคน ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับเขาหรือไม่ก็ตาม และดูเหมือนว่าเป็นสุทรพจน์ที่ประทับใจชาวอเมริกันและชาวโลกที่เฝ้ามองอยู่ด้วยความตั้งใจ

พิธีการสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งครั้งนี้ดูสมถะสันโดษกว่าพิธีเดียวกันของผู้นำสหรัฐฯ คนอื่น ๆ ที่ผ่านมา แต่ถ้าเปรียบกับสาระของสุนทรพจน์แล้วไม่แพ้สุนทรพจน์ของประธานาธิบดีในอดีตเลย ใช้คำพูดง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ระบุวิกฤติของชาติที่กำลังท้าทายสหรัฐฯ อยู่ รวมไปถึงการยืนสงบนิ่งไว้อาลัยแก่ผู้เสียชีวิตจากเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่คร่าชีวิตคนอเมริกันไปกว่าสี่แสนคน มากกว่าจำนวนคนอเมริกันที่ตายไปในสงครามโลกครั้งที่สอง สงครามเกาหลี และสงครามเวียดนามรวมกันเสียอีก

ความอลังการของพิธีนี้อยู่ที่คอนเสิร์ตในย่ำค่ำของคืนวันนั้น ซึ่งเจ้าภาพคนสำคัญคือนายทอม แฮงส์ ดาราภาพยนตร์ฮอลิวูดที่โด่งดัง เขาได้เชิญนักร้องผู้มีชื่อเสียงร้องเพลง ให้กำลังใจและเยียวยาชาวอเมริกัน สลับกับการสัมภาษณ์ชาวอเมริกันในอาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่คนทำความสะอาด นักเรียน ครู เรื่อยไปจนถึงนักบินอวกาศในสถานอวกาศนานาชาติ อดีตประธานาธิบดี 3 คนของอเมริกา ซึ่งแม้จะมาจากพรรคที่ต่างกันก็ปฏิญาณว่ายินดีที่จะให้ความร่วมมือกับประธานาธิบดีคนใหม่ในการแก้ไขปัญหาของชาติ ฯลฯ จบลงด้วยการร้องเพลงของ Katy Perry นักร้องสาวที่เต็มไปด้วยพลังเสียง ท่ามกลางบรรยากาศของการยิงพลุนับหมื่นลูกด้วยแสงสีอันตระการตาเป็นฉากสุดท้ายของพิธีนี้ โดยมีภาพของประธานธิบดีและภริยาซึ่งกำลังชมอยู่จากระเบียงของทำเนียบขาว และรองประธานธิบดีพร้อมคู่ครองซึ่งเฝ้ามองดูอยู่ด้วยจากอนุสรณ์สถานอับบราฮัม ลินคอน

ขณะที่กรุงวอชิงตันดีซีกำลังเฉลิมฉลองด้วยพลุไฟนับหมื่นอันตระการตา เมืองใหญ่สองแห่งในรัฐวอชิงตัน กำลังเกิดจลาจลครั้งใหญ่ ม็อบที่โกรธแค้น เดินขบวนทำลายสิ่งของสาธารณะ เผาธงชาติ จนกระทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องออกมาควบคุม ใช้เวลาหลายชั่วโมง ที่ทำการของพรรคเดโมแครตโดนม็อบบุกเข้าไปทำลายทุบกระจกโดยรอบ อาคารของรัฐบาลกลางถูกผู้ประท้วงบุกรุกทำลายข้าวของ นี่คือลางบอกเหตุว่า อเมริกาได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ที่วิกฤตแห่งความแตกแยกและเกลียดชังกันอย่างมาก สำนักข่าวบีบีซี ได้สัมภาษณ์ผู้ที่ศรัทธาโดนัล ทรัมป์ ซึ่งประกาศว่าเขาเป็นคนอเมริกันที่แท้จริง และไม่ยอมรับว่าคนผิวดำและผู้อพยพเข้ามาอาศัยประเทศนี้เป็นชาวอเมริกันด้วย ในขณะเดียวกันคนผิวดำที่เกลียดชังคนผิวขาว ก็ให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่เชื่อว่านโยบายของประธานาธิบดีไบเด่นนั้นจะแก้ไขปัญหาสังคมอเมริกันได้ ทั้งสองฝ่ายมีกำลังติดอาวุธของตนเอง และพร้อมที่จะเข้าปะทะกับ “ศัตรู” ของตน

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งสองฝ่ายเรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่า “ศัตรู” แสดงถึงความขัดแย้งที่ลึกมากในสังคมอเมริกันขณะนี้ ซึ่งมีนักการเมืองเป็นส่วนของปัญหา ความขัดแย้งครั้งนี้รุนแรงอาจเรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นกับอเมริกาตั้งแต่จบสงครามกลางเมืองเมื่อร้อยกว่ามีมาแล้ว ความคุกรุ่นนี้สามารถจะปะทะขึ้นมาเป็นการนองเลือดครั้งใหม่ได้ง่าย ๆ

ครั้นมองดูประเทศไทย ปัญหาความแตกแยกทางการเมืองของคนไทยก็มีไม่น้อยเช่นกัน และสิ่งที่เหมือนกันกับอเมริกาคือ นักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

ในประเทศไทยนั้น การแตกแยกทางความคิดทางการเมืองเป็นมาอย่างรุนแรงกว่าสิบปีมาแล้ว การแบ่งแยกนี้มิได้เกิดจากการความแตกต่างของสีผิว ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่อในระบอบการปกครองที่แตกต่างกัน หรือชนชั้นทางสังคม แต่เป็นการแตกแยกจากการเชื่อผู้นำคนละคนกัน ฝ่ายหนึ่งสรวมเสื้อแดงเห็นว่าผู้นำที่ตนศรัทธานั้นถูกกลั่นแกล้งและเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเผด็จการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมาอย่างถูกต้อง ในขณะที่อีกฝ่ายนั้นเห็นว่าตนเป็นฝ่ายสุจริตสรวมเสื้อเหลือง เป็นฝ่ายที่ไม่โกงบ้านโกงเมืองเทริดทูนสถาบันกษัตริย์ แต่ฝ่ายตรงข้ามแม้ได้รับการเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาในรัฐสภาก็จริงแต่ใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ของผู้นำของตนและพวกพ้องเป็นเผด็จการรัฐสภา ทุจริตโกงบ้านโกงเมือง สิ่งที่เหมือนกันคือการเดินขบวนประท้วงทำทุกอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายนั้นพ้นจากอำนาจเพื่อฝ่ายของตนขึ้นมามีอำนาจบริหารประเทศนั่นเอง

แม้ว่าในปัจจุบันความขัดแย้งโดยมีสัญลักษณ์จากการแบ่งสีเสื้อนั้นได้แปรรูปออกไปมาก จนไม่มีใครใส่เสื้อเหลืองเสื้อแดงกันอีกต่อไป แต่วาทะกรรมที่กล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นเผด็จการยังคงมีอยู่ และแพร่หลายไปในคนไทยรุ่นใหม่ ในสถาบัญการศึกษาต่าง ๆ ตั้งแต่โรงเรียนเรื่อยไปถึงมหาวิทยาลัย

สิ่งที่ได้แปรรูปต่อไปอีกคือการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยมีการสอดประสานกับการเคลื่อนไหวของสถานทูตของชาติตะวันตกและหน่วยงานเอ็นจีโอหลายแห่ง ทุกครั้งที่มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับม็อบ การจับกุมผู้ต้องหาสร้างความวุ่นวาย องค์การเอ็นจีโอและสถานทูตเหล่านี้ออกโรงเรียกร้องความเป็นธรรม และเข้าข้างผู้ประท้วงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่เอ็นจีโอเหล่านี้ปิดปากเงียบเมื่อเกิดจลาจลในสหรัฐอเมริกา หรือ เมืองหลวงของประเทศทางตะวันตก

เป็นเรื่องที่น่าสังเกตุว่ารัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาความแตกแยกนี้อย่างไร เท่าที่ผ่านมามีลักษณะเหมือนกันหมด คือ “ตั้งกรรมการ” เพื่อทำหน้าที่ “สมานฉันท์” ซึ่งเกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 3 ชุดแล้ว โดยมีหลักคิดที่คล้ายคลึงกัน พยายามนำผู้แทนจากพรรคการเมืองและทุกฝ่ายที่มีความขัดแย้งให้เข้ามาเป็นกรรมการ จนในที่สุดถึงยุคของประธานรัฐสภา ท่านชวน หลีกภัย ท่านก็ได้ตั้งกรรมการจากตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ เช่นกัน โดยมีทั้งส.ส. และส.ว.เข้าเป็นกรรมการด้วย กระนั้นเองพรรคฝ่ายค้านและนักศึกษาผู้ประท้วงเป็นประจำไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการชุดนี้ด้วย เหตุผลของการปฏิเสธครั้งนี้มาจากที่ประธานกรรมการเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ใช่ฝ่ายค้าน และผู้ประท้วงทั้งหลายไม่เชื่อมั่นในกรรมการชุดนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้ มติใด ๆ ที่กรรมการชุดนี้ผ่านออกมาย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของนักการเมืองฝ่ายค้าน และผู้ประท้วง ประชุมไปก็ป่วยการเสียเวลาและทรัพยากรไปเปล่า ๆ !!

ถ้าเช่นนั้น รัฐบาลควรทำอย่างไร?……

ประเด็นแรกและเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ โจทย์นี้เป็นโจทย์ที่รัฐบาลลงมาแก้ไขปัญหาไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่สามัญที่สุดคือ เพราะรัฐบาลลุงตู่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และมีผลประโยชน์ทับซ้อนโดยตรง แม้ฝ่ายค้านเองก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ การสมานฉันท์ประเทศชาตินั้นทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อนด้วยกันทั้งคู่ นั่นรวมถึงประธานรัฐสภา ท่านชวน หลีกภัยด้วย เพราะท่านเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล

ประเด็นต่อมาคือ จำเป็นต้องมีกรรมการสมานฉันท์หรือไม่? คำตอบก็คือไม่จำเป็น นอกจากที่จะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ กับบ้านเมืองแล้วอาจเป็นเวทีการขัดแย้งระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านได้อีก ฝ่ายค้านนั้นก็พร้อมที่จะนำความขัดแย้งนั้นลงท้องถนน เป็นเหตุแห่งการปลุกม็อบขับไล่ลุงตู่ต่อไปอีก การเมืองไทยก็ไม่ต้องไปไหน กลับเข้ามาสู่กับดักเดิม เป็นวงจรอุบาทว์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

ประเด็นต่อมาคือการออกกฎหมายใหม่เป็นคำตอบในเรื่องนี้หรือไม่? คำตอบคือ กฎหมายเป็นสิ่งจำเป็นแต่ไม่ใช่ทั้งหมดในการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศชาติ การออกกฎหมายใหม่หรือแม้แต่เลิก มาตรา 112 ตามที่ผู้ประท้วงและฝ่ายค้านกำลังผลักดันนั้นมิใช่ทางออกของปัญหา แต่กลับจะเพิ่มความขัดแย้งให้แก่บ้านเมืองเสียด้วยซ้ำ การที่ม็อบสามนิ้วพยายามที่จะให้ยกเลิกกฎหมายมาตรานี้ เพราะว่าเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยตามเยี่ยงอย่างของประเทศประชาธิปไตยของประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายนั้น เป็นแต่เพียงข้ออ้างที่ทำให้ฟังดูดีเป็นเหตุเป็นผล ความเป็นจริงก็คือแกนนำม็อบนี้กำลังถูกดำเนินคดีอาญาตามมาตร 112 ต้องขึ้นลงโรงพักอยู่ประจำ ที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ก็ไปเรียนไม่ได้เสียแล้ว การประท้วงนี้จึงเท่ากับว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการต่อสู้คดีของตนเท่านั้น น้ำหนักในการเรียกร้องขอความเป็นธรรมจึงไม่มี แกนนำเหล่านี้ใช้ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด เพราะกระทำไปด้วยความเชื่อว่า สถาบันกษัตริย์ไทยนั้นอ่อนแอ หากมีปัญญาก็น่าจะรู้ตัวว่าผิดไปแล้ว ไม่น่ากระทำไปเช่นนั้นเลย การเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีว่า สถาบันกษัตริย์ยังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนส่วนใหญ่มากของชาติ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลลุงตู่ก็ยังเป็นต่อฝ่ายค้านและม็อบสามนิ้วอยู่หลายขุม นอกจากจะเป็นต่อในรัฐสภาและกฎหมายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียอีก การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มิใช่เรื่องง่าย แม้ฝ่ายค้านและม็อบพยายามเต็มที่เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนับปี เดินขบวนนับครั้งไม่ถ้วนก็ไม่อาจทำได้ แม้ว่าวิกฤติทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ยิ่งใหญ่ราวกับสึนามิที่โถมกระหน่ำประเทศไทยอย่างแสนสาหัสก็ตาม

วิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 นั้นทำให้รัฐบาลลุงตู่เป็นต่อฝ่ายค้านและม็อบเหล่านี้อย่างมาก ไม่ใช่เพราะที่รัฐได้ออกมาตรการควบคุมโรค จนทำให้การแพร่ระบาดของประเทศไทยประสบความสำเร็จจนองค์การอนามัยโลกถือว่าเป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการที่ดี และยังได้ออกมาตรการชดเชยผู้ประกอบการที่มีรายได้น้อยให้พอประทังตัวไปได้ แม้จะไม่สบายนักแต่ก็ไม่ถึงกับอดอยากต้องล้มตายกันเหมือนในหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลลุงตู่ยังอาจเปลี่ยนวิกฤตินี้ให้เป็นโอกาสยิ่งไปกว่านั้นได้อีก ด้วยเหตุผลสำคัญคือ COVID-19 นั้นสร้างสำนึกของความเป็นชาติไทยให้เกิดขึ้น ซึ่งสามารถหยั่งรากลึกลงในจิตใต้สำนึกของประชาชนทุกหมู่เหล่าในประเทศนี้เป็นอย่างดี ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าผลงานการควบคุมโรคระบาดครั้งนี้เป็นผลงานโดยรวมของไทยทั้งชาติซึ่งประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม นี่คือกลยุทธ์ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้นำมาใช้ เห็นได้ชัดในสุทรพจน์รับตำแหน่งของเขา และงานคอนเสริตของทอม แฮ้งส์นั้นชัดเจนมากว่าเป็นการยกย่อง ขอบคุณ และเชิดชูทุกคนในทุกหน้าที่ ในการทำให้อเมริกาต่อสู้การแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ (แม้ว่าผลสำเร็จนั้นยังไม่เป็นรูปธรรมเป็นที่ประจักษ์แต่ประการใดเลย แต่ประชาชนและสื่อมวลชนในอเมริกาเกิดความเชื่อมั่น) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังพูดประโยคทองไว้อีกประโยคหนึ่งว่า “เราจะนำโดยการทำตัวเป็นตัวอย่าง” ซึ่งเขาสัญญากับชาวอเมริกันว่าจะบริหารด้วย “ความจริงและความโปร่งใส” แม้ว่าคำพูดเหล่านั้นจะขัดหูและทำให้ประชาชนไม่สบายใจก็ตาม แต่เราจะฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันทุกคน

ในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร ลุงตู่เองก็ยังสามารถสร้างเวทีที่เป็นสื่อกลางในการสร้างสำนึกประชาชาติให้เกิดขึ้นได้อีกมากมาย เช่นการสร้างเวทีการทำกิจกรรมจิตอาสาทั่วประเทศ ในการทำกิจกรรมที่หลากหลาย ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน สถาบันการศึกษา ศาสนาสถาน มูลนิธิ บริษัทแม้กระทั่งหน่วยงานราชาการ มีการเก็บคะแนนความดี เพื่อนำมาสู่การยกย่องเชิดชู และสร้างกิจกรรมจิตอาสาซึ่งประเทศของเรายังต้องการอีกมาก น่าคือการสมานฉันท์โดยการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ ผู้นำซึ่งฟังมากกว่าพูด ชมมากกว่าติดเตียน ผู้นำซึ่งมีความซื่อตรง โปร่งใส และนำโดยการทำให้เป็นตัวอย่างแก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี จิตรกรรม ประติมากรรม ฯลฯ

ชีวิตของนายโจ ไบเดน เป็นชีวิตของการต่อสู้ เขาเคยสูญเสียทั้งภริยาและลูก จากอุบัติเหตุทางถนน และโรคมะเร็ง เขาเคยทำงานท่ามกลางความขัดแย้งในรัฐสภาสหรัฐฯ เคยร่วมตัดสินใจทางการเมืองนับครั้งไม่ถ้วน และใช้ชีวิตไม่ต่ำกว่า 47 ปีกับการเมืองในสหรัฐฯ และวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา เขาได้ถึงจุดสูงสุดในชีวิตของเขาแล้ว คือ การสาบานตัวเป็นประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐอเมริกา สาระของสุทรพจน์อันทรงพลังของเขานั้นจะเป็นที่จรดจำในประวัติศาสตร์บุคคลสำคัญไปอีกนานเท่านาน

สาระของสุทรพจน์นี้แสดงถึงความจริงใจ ความเสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเขาฝาวิกฤติไปได้ หากจะสรุปก็คือคุณธรรมของความเป็นผู้นำในอุดมคติในพระพุทธศาสนาที่เป็นรู้จักกันในนามของ “ทศพิธราชธรรม” นั่นเอง และนี่แหละคือคุณธรรมในการสมานฉันท์สังคมทั้งของไทยและสหรัฐอเมริกา