ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัญญาประดิษฐ์: ภัยมืดทางการทหารของโลก

ปัญญาประดิษฐ์: ภัยมืดทางการทหารของโลก

8 กรกฎาคม 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

ปัจจุบันมนุษย์เราแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence: AI) ซึ่งดูเหมือนเป็นคุณและใช้งานกันในชีวิตประจำวันอยู่ประจำ เช่น การปลดล็อกการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ในอุตสาหกรรมการผลิตยาและเวชภัณฑ์ทำให้เกิดความรวดเร็วการทดลองและผลิตและเวชภัณฑ์ตัวใหม่ๆ การใช้ในการควบคุมโดรนขึ้นบินเป็นหมู่แปรอักษรบนท้องฟ้าในเทศกาลสำคัญๆ ต่างๆ ใช้ในรถยนต์ไร้คนขับให้ทำงานได้ด้วยตนเอง หรือที่ใช้งานมากกว่านั้นในการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ ทำให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จำนวนมากสามารถซื้อขายอัตโนมัติได้โดยแทบไม่ต้องใช้คนกำกับดูแลเลย แต่ทุกสิ่งที่มีคุณอนันต์ก็ย่อมมีโทษมหันต์เช่นกัน

เทคโนโลยีเหล่านี้ดูเหมือนทำให้มนุษย์มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่สิ่งที่ชาวโลกไม่ได้คำนึงมาก่อนคือมหันตภัยของ AI ที่กำลังคืบคลานเข้ามาเมื่อเทคโนโลยีนี้กำลังถูกพัฒนาเพื่อใช้ในการผลิตอาวุธสงครามยุคใหม่ ภัยนี้มีความน่ากลัวไม่น้อยไปกว่า “ภาวะโลกร้อน” เสียอีก

สิ่งที่เหมือนกับภาวะโลกร้อนคือ ไม่มีประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือรัฐบาลของชาติใดชาติหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ แต่ภัยจาก AI นี้แย่ยิ่งไปกว่าปัญหาภาวะโลกร้อน คือ มหันภัยนี้ยังไม่มีทางออกว่ารัฐบาลทั่วโลกจะหาทางแก้ไขร่วมกันได้อย่างไรเลย

ในขณะที่ชาวโลกยังติดอยู่กับอันตรายจากภัยสงครามนิวเคลียร์ เหมือนเมื่อ 40 ปีที่แล้วในยุคสงครามเย็น ซึ่งมีการแข่งขันการผลิตจรวดติดหัวรบนิวเคลียร์ ที่ฝ่ายโลกเสรีนำโดยสหรัฐอเมริกา ต่อสู้กับสหภาพโซเวียด ต่างฝ่ายต่างสร้างฐานทัพอากาศและสถานีเรดาร์จำนวนมากเพื่อติดตามและตรวจสอบการเคลื่อนไหวของอีกฝ่ายหนึ่ง

ปัจจุบันสถานีเรด้าเหล่านั้นถูกรื้อทิ้งไปแล้ว เป็นสถานีตรวจจับที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ขนาดเล็กกะทัดรัด ประสานงานกับดาวเทียมจารกรรม และติดตามทั้งการเคลื่อนไหวทางทหารทุกรูปแบบ ไม่เฉพาะแต่อาวุธนิวเคลียร์อย่างเดียว

ฐานที่ตั้งเหล่านี้มีชื่อเล่นว่า “พีระมิด” เพราะมีรูปทรงคล้ายพีระมิด และไม่มีโดมทรงกลมที่ใช้บรรจุจานเรดาร์ขนาดใหญ่อีกต่อไป สหรัฐอเมริกามีพีระมิดเหล่านี้อยู่ 5 แห่ง ซึ่งเป็นมันสมองของระบบป้องกันประเทศ และเพราะเหตุที่เป็นมันสมองของการป้องกัน พีระมิดเหล่านี้จึงเป็นเป้าของการถูกโจมตีอีกด้วย โดยเฉพาะจากการโจมตีทางไซเบอร์ ทุกครั้งที่เกิดความตึงเครียดทางการเมืองในประเทศที่แตกออกมาจากสหภาพโซเวียต และย้ายเข้าไปสังกัดองค์การนาโต้ การโจมตีพีระมิดเหล่านี้เกิดมากขึ้นเป็นร้อยเท่า รัฐบาลสหรัฐเชื่อว่าเป็นฝีมือของรัสเซีย ซึ่งต้องการให้ประเทศเหล่านี้ย้ายสังกัดเข้าไปอยู่กับตนเช่นเดิม

นวนิยายวิทยาศาสตร์และภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ จำนวนมากได้กล่าวถึงภัยมืด อีกด้านหนึ่งของ AI เช่นเรื่องคนเหล็ก (Terminator), The Matrix และ Eagle Eye ซึ่งเป็นเรื่องที่น้อยคนเห็นว่าเป็นไปได้จริง แต่มหันภัยของ AI นั้นได้เกิดขึ้นแล้วในขณะนี้ และได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศชั้นนำทางเทคโนโลยี AI อันได้แก่ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน อังกฤษ และอิสราเอล อาวุธสมัยใหม่ที่ใช้ AI เป็นตัวขับเคลื่อนมีชื่อเรียกว่า Autonomous Weapon ซึ่งอาจแปลเป็นไทยได้ว่า “อาวุธปฏิบัติการด้วยตนเอง”

ในปัจจุบัน “อาวุธปฏิบัติการด้วยตนเอง” มีหลายแบบด้วยกัน ตั้งแต่หุ่นยนต์สังหารที่มีอยู่หลายแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดรนสังหารซึ่งมีประสิทธิภาพการทำลายล้างสูงมาก แม้บริษัทผู้ผลิตแห่งเดียวในอิสราเอลมีไม่ต่ำกว่า 200 ชนิด โดรนเหล่านี้ถูกบรรจุในท่อสี่เหลี่ยม คล้ายกับจรวด แต่เมื่อถูกยิงออกมาจะกางปีก บินออกไปด้วยความเร็วสูง สามารถแสวงหาเป้าหมายในการทำลายด้วยตัวของมันเอง และสามารถบินอยู่ในอากาศอยู่ได้นาน และเมื่อถึงเวลาที่พอเหมาะก็จะพุ่งเข้าชนเป้าหมายของตนเหมือนนักบินกามิกาเซ่ของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อถูกปล่อยออกไปแล้วรับประกันได้ว่าจะมุ่งไปทำลายเป้าหมายอย่างแน่นอน แต่เส้นทางการบินนั้นอาจวกไปวนมาตามที่ AI กำหนด ไม่เหมือนจรวดนำวิถีหรือโดรนธรรมดา

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีโดรนขนาดเล็กมาก ที่เครื่องบินขับไล่ทิ้งออกมา แต่แทนที่จะเป็นระเบิดเพียงลูกเดียวแต่กลับเป็นโดรนขนาดเท่าฝ่ามือหลายร้อยลำเป็นฝูงใหญ่ เข้าบินวนเข้าสู่เป้าหมายเหมือนฝูงผึ้ง ซึ่งเป็นอาวุธที่ตรวจจับได้ยากมาก แม้แต่เรดาร์ก็ไม่สามารถตรวจจับได้ แต่มีอำนาจทำลายล้างสูงอย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน

AI มิได้สร้างขึ้นมาเพื่อการทำลายล้างทางวัตถุเท่านั้น แต่ยังพัฒนาขึ้นมาในลักษณะซอฟต์แวร์ ที่เข้าไปหาข่าวและทำจารกรรมทางอินเทอร์เน็ตอีกด้วย การเจาะล้วงข้อมูลทางการทหาร ความมั่นคง และปล่อยไวรัสพิเศษที่เรียกว่ามัลแวร์ให้ฝังตัวในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของศัตรูนั้นเป็นหัวใจของสงครามสมัยใหม่ และเป็นสงครามเย็นยุคใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

AI นั้นมีความสามารถทำงานได้ดียิ่งกว่าแฮกเกอร์ทั้งหลาย มีประสิทธิภาพสูงกว่า เรียนรู้งานอยู่ตลอดเวลา สามารถปรับเปลี่ยนตนเองไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าได้อย่างรวดเร็ว สามารถเขียนโปรแกรมของตัวเองขึ้นมาได้เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ถูกกำหนดมาแล้ว และที่สำคัญที่สุดคือทำงานได้ทั้งวันทั้งคืนไม่มีวันหยุด

ในโลกนี้ ประเทศที่สร้างมัลแวร์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดคืออิสราเอล ซึ่งผลิตโปรแกรมชื่อเพกาซุส (Pegasus) สำหรับการล้วงความลับ ผลิตโดยหน่วยสืบราชการลับมอสสาด (Mossad) ซึ่งเป็นหน่วยงานฝ่ายข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของโลก โดยที่อดีตนายกรัฐมนตีเบญจามิน เนทันยาฮูเคยประกาศว่า หน่วยสืบราชการลับของผลิตสินค้าออกมาขายได้ และก็ได้ผลิตออกมาขายจริงๆ โดยมอสสาดตั้งบริษัทขายเครื่องมืออุปกรณ์และสปายแวร์เหล่านี้ออกจำหน่ายด้วยราคาแพง จนนักข่าวคนหนึ่งของสำนักข่าว Al Jazeera ถูกจารกรรมข้อมูลโดยเพกาซุสที่เข้ามาในโทรศัพท์มือถือของเขา กว่าจะรู้ตัวโปรแกรมนี้ก็แอบส่งข้อมูลจำนวนมากไปยังหน่วยสืบราชการลับของประเทศที่เขากำลังทำข่าวอยู่ไปมากแล้ว ทำให้เขาถูกขู่ปองร้ายนับครั้งไม่ถ้วน

แม้ทุกวันนี้รัฐบาลเยอรมนีประกาศว่านักการเมืองเยอรมันถูกโจมตีทางไซเบอร์วันละไม่ต่ำว่า 100 ครั้ง และถูกดักฟังโทรศัพท์ อีเมล และการใช้โซเชียลมีเดีย ทุกวันเป็นเวลาไม่ต่ำกว่าสิบปี สิ่งที่น่าแปลกคือจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกา ผ่านหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลเดนมาร์ก แม้เรื่องนี้จะแดงออกมาแล้ว รัฐบาลของเดนมาร์กและสหรัฐอเมริกายังมิได้ให้คำตอบแต่ประการใด

สิ่งที่ผู้เชียวชาญทั้งหลายในการใช้ AI ในการสงครามคือ ความไม่มี “สามัญสำนึก” ของเทคโนโลยีนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในโทรศัพท์มือถือ รถยนต์ หุ่นยนต์ โดรนหรือควบคุมอาวุธยุทโธปกรณ์ AI ไร้สามัญสำนึก ชนิดที่เรียกกันว่า “ไร้เดียงสา” เลยก็ว่าได้ และความไร้เดียงสาของ AI ได้เคยสร้างความหายนะให้ตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐอเมริกาสูญเงินไปหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในระยะเวลาไม่กี่วินาทีใน ค.ศ. 2010 เป็นหายนะครั้งใหญ่ซึ่งยังหาคำอธิบายใดๆ ให้ชัดเจนไม่ได้

และจะเกิดอะไรขึ้นหาเทคโนโลยีนี้เป็นผู้ตัดสินใจให้ประเทศมหาอำนาจยิ่งขีปนาวุธถล่มอีกชาติหนึ่ง? นั่นเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวอันจะยังให้เกิดการล่มสลายของอารยธรรมของมนุษย์ชาติทั้งหมดได้เลย

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางการทหารสมัยใหม่พยายามเรียกร้องให้มีการควบคุมการใช้ AI ทางการทหาร โดยที่สหประชาชาติจัดให้มีการประชุมเพื่อหารือกันในเรื่องนี้นับครั้งไม่ถ้วนที่อาคารสหประชาชาติกรุงเจนีวา โดยมีนักการทูตเยอรมนี องค์การเอ็นจีโอ และนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ เป็นผู้ผลักดัน แต่ผลลัพธ์คือความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นที่แน่ชัดว่า AI นั้นทำให้อาวุธสมัยใหม่นั้นมีประสิทธิภาพสูงขึ้น แม่นยำมากยิ่งขึ้น อำนาจการทำลายล้างสูงขึ้น และราคาที่ถูกกว่าเดิมอย่างมาก เป็นที่ต้องการของตลาดการค้าอาวุธทั่วโลก และทุกประเทศที่ค้าอาวุธต่างเห็นว่าเป็นผลประโยชน์ก้อนมหึมา ทำให้มีการผลิตอาวุธชนิดใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยี AI อย่างเป็นลำเป็นสัน

ในงานภารกิจเล็กๆ เช่น การปลอดล็อกโทรศัพท์มือถือ การควบคุมหุ่นยนต์ ยานพาหนะไร้คนขับ การแปรอักษรของโดรนจำนวนมากในท้องฟ้า และการดูแลระบบรักษาความปลอดภัย AI ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงแทบจะไม่มีข้อบกพร่องใดๆ เลย แต่ในภารกิจใหญ่กว่านั้น เป็นต้นว่า ระบบการรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ การสั่งงานการยิงขีปนาวุธ เป็นต้น ความผิดปกติของ AI อาจยังให้เกิดความหายนะครั้งใหญ่ ระดับเกิดสงครามโลกได้เลย และนั่นย่อมหมายถึงการสูญสิ้นของอารยธรรมของมนุษยชาติก็เป็นได้ กว่าจะรู้ว่าเกิดความผิดปกติขึ้นมา ก็มักจะสายเกินไปเสียแล้ว

หากเปรียบเทียบกับปัญหาโลกร้อนนั้น แม้ว่าเป็นสถานการณ์ที่กระทบกับคนทั้งโลก แต่สหประชาชาติต้องใช้เวลาถึง 20 ปี จากการประชุมที่รีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี พ.ศ. 2534 จนกระทั่งเกิดเป็นสนธิสัญญากรุงปารีสได้ ปัญหาเรื่องมหันตภัยของ AI ในการใช้ทางทหารนั้นมีความรุนแรงและสำคัญไม่น้อยไปกว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเลย แต่เป็นปัญหาที่ยากยิ่งกว่าเพราะไม่เป็นที่ประจักษ์ต่อคนทั้งโลก และไม่ใช่ปัญหาที่ประเทศใดประเทศหนึ่งจะผลักดันให้แก้ไขได้ แต่ต้องการความร่วมมือร่วมแรงกันไม่น้อยไปกว่าการแก้ไขปัญหาโลกร้อนเลย โดยเฉพาะเมื่อมีการแข่งขันการค้าอาวุธที่มีผลประโยชน์จำนวนมหาศาลเป็นเดิมพัน

กุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่นี้ คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นในหมู่มหาอำนาจทั้งหลาย ในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นี้เป็นยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย และจีนตกต่ำอย่างที่สุด รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาจีนว่า “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง การเจรจาระหว่างรัฐมนตรีสหรัฐฯ กับจีนที่รัฐอลาสกาล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เพราะในการประชุมทั้งสองวันต่างฝ่ายต่างกล่าวหาซึ่งกันและกันตลอดเวลา ในขณะที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังเรียกประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียว่าเป็น “ฆาตกรไร้วิญญาณ” ก็ยังเชิญให้มาประชุมสุดยอดผู้นำสองชาติที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปลายเดือนมิถุนายนนี้

หากเปรียบเทียบกับประธานาธิบดีเรแกนเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ก็ต้องยอมรับว่าเรแกนฝีมือเหนือชั้นกว่าโจ ไบเดน อยู่มาก เรแกนไม่เคยประณามผู้นำสหภาพโซเวียตเลย แถมยังต้อนรับประธานาธิบดีมีฮาอิล โกบาชอฟ อย่างดีที่ทำเนียบขาว แต่โจ ไบเดน ทำตรงข้าม ดำเนินนโยบายที่สร้างศัตรูอย่างที่ไม่จำเป็น ประณามผู้นำรัสเซียด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุด ในขณะที่กล่าวหาว่าจีนละเมิดสิทธิมนุษยชน รัฐบาลของโจ ไบเดน เองก็มีปัญหาในเรื่องการละเมิดสิทธิเยาวชนผู้อพยพเข้ามาทางพรมแดนทางตอนใต้ที่ติดกับประเทศแมกซิโกอย่างมาก และไม่ยินยอมให้ผู้สื่อข่าวใดๆ เข้าพบเยาวชนเหล่านี้เลย อเมริกายังมีปัญหาเรื่องการเหยียดผิว และความรุนแรงทางอาวุธทำให้ประชาชนเสียชีวิตแทบทุกสัปดาห์ก็ว่าได้

แทนที่ผู้นำสูงสุดของสหรัฐฯ จะเป็นผู้สร้างสรรค์ประโยชน์ต่อชาวโลกในการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ภัยจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 และมหันตภัยของ AI ในการพัฒนาเทคโนโลยีการสงคราม โดยการสร้างความไว้ว่างใจให้เกิดขึ้นก่อน ในเรื่องการสร้าง “ความไว้วางใจ” ให้เกิดขึ้นนั้น โจ ไบเดน สอบตกอย่างไม่เป็นท่า