ThaiPublica > คอลัมน์ > อัฟกานิสถาน-มรดกบาปอเมริกา?

อัฟกานิสถาน-มรดกบาปอเมริกา?

19 กรกฎาคม 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

โจ ไบเดน ประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/POTUS/photos

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ประกาศชัยชนะในการรบในอัฟกานิสถานต่อหน้าสื่อมวลชน โดยที่ได้มีการกำหนดว่าจะถอนทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานให้เสร็จสิ้นในวันที่ 11 กันยายน ศกนี้ อัฟกานิสถานเป็นสมรภูมิที่อเมริกาเข้ารบอยู่ยาวนานถึง 20 ปีติดต่อกัน ยาวนานที่สุดในทุกสงครามที่อเมริกาเคยรบมา

ยิ่งไปกว่านั้น อเมริกายังใช้อำนาจมาตรา 5 (Article 5) ของสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือเรียกร้องให้สมาชิกองค์การนาโต้จากหลายประเทศในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี ส่งกำลังเข้าร่วมรบด้วย สหรัฐอเมริกาเองต้องใช้งบประมาณไปถึงสองล้านล้านเหรียญ ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงจากเหตุการณ์ที่กลุ่มอัลกออิดะฮ์นำโดย อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ถล่มตึก World Trade Center ทั้งสองหลัง เหตุการณ์สะเทือนขวัญ 911 ครั้งนั้นทำให้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (Gorge W. Bush) ร้องต่อนาโต้ให้ส่งกำลังเข้าร่วมรบ

อดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช (Gorge W. Bush) ที่มาภาพ : https://www.cfr.org/timeline/us-war-afghanistan

อัฟกานิสถานนั้นเป็นประเทศที่ล้าหลังและยากจนที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว สหภาพโซเวียตในสมัยของประธานาธิบดีกอร์บาชอฟได้ส่งกองกำลังเข้ายึดครอง และเกิดสงครามต่อสู้กับนักรบมุสลิมหัวรุนแรงคือกลุ่มตอลิบาน สหรัฐอเมริกาเองได้เข้าแทรกแซงโดยส่งหน่วยซีไอเอและผู้เชี่ยวชาญการรบแบบกองโจร เข้าไปสอนให้กลุ่มอัลกออิดะฮ์ ซึ่งในขณะนั้นมีนายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน อยู่ด้วย ยังไม่รวมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย ก่อนที่จะรัสเซียจะถอนทหารก็ได้เตือนอเมริกาว่า อัฟกานิสถานจะเป็นแหล่งเพาะกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่สุดและจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของโลก และเมื่อรัสเซียถอดทหารออกมา ก็ได้เกิดช่องว่างทางอำนาจ จนทำให้กลุ่มตอลิบานทำสงครามกลางเมือง ยึดอัฟกานิสถานได้เกือบทั้งประเทศ

เมื่อเข้ามามีอำนาจ ตอลิบานได้ควบคุมประเทศโดยใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด สตรีไม่อาจออกจากบ้านไปตามลำพังได้ต้องมีผู้ชายอย่างน้อยหนึ่งคนติดตามไปด้วย สตรีไม่มีสิทธิ์ในการขับรถหรือแม้แต่เรียนหนังสือ คำว่า “ตอลิบาน” นั้นแปลว่า “นักเรียน” โดยถือว่าพวกตนเป็นผู้กำลังศึกษาศาสนาอิสลาม เป็นเรื่องแปลกที่แม้กลุ่มตอลิบานจะเรียกตนเองว่า “นักเรียน” แต่ไม่มีการอ่านคำภีร์อัลกุรอาน ตอลิบานเชื่อคัมภีร์ยุคหลังแต่นึกกว่าตนเองนั้นเคร่งครัดในศาสนาอิสลามมากที่สุด คนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในอัฟกานิสถานจึงมีเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งของประเทศ การไม่รู้หนังสือและความยากจนเป็นปัจจัยในการทำให้เกิดลัทธิสุดโต่ง ซึ่งต่อมากลายเป็นผู้ก่อการร้ายได้

บริเวณที่ Osama bin Laden ผู้นำอัลกออิดะห์ถูกสังหารในเมือง Abbottabad ประเทศปากีสถาน Akhtar Soomro / Reuters/ ที่มาภาพ : https://www.cfr.org/timeline/us-war-afghanistan

มีประเทศไม่กี่ประเทศที่ยอมรับกลุ่มตอลิบาน ในจำนวนนั้นคือปากีสถานซึ่งที่พรหมแดนติดกัน และเป็นที่บ่มเพาะกลุ่มตอลิบานและอัลกออิดะฮ์ในยุคแรกๆ เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว และภายหลังที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้ามาปราบปรามอัลกออิดะฮ์ ทำให้อุซามะฮ์ บิน ลาดิน ต้องไปหลบภัยในปากีสถานที่เซฟเฮาส์ในเมืองอัพโพตตาบาท (Abbottabad) จนถูกหน่วยคอมมานโดของสหรัฐฯ บุกเข้าไปสังหารในกลางดึกของคืนวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา นับตั้งแต่ที่สหรัฐฯ ส่งกำลังเขาไปในอัฟกานิสถาน ความสัมพันธ์ระหว่างปากีสถานกับตอลิบานเริ่มเสื่อมโทรมลง จนในปัจจุบันปากีสถานมิได้มีอิทธิพลใดๆ กับตอลิบานหรือแม้แต่อัลกออิดะฮ์ก็เช่นเดียวกัน

ประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ (ขวา)และประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน นายอัชรัฟ ฆานี (ซ้าย) ซึ่งมาเยือนทำเนียบขาว ที่มาภาพ : https://www.bbc.com/news/world-asia-57619932

สำหรับทางการทูต ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจถูกต้อง และนายอัชรัฟ ฆานี (Ashraf Ghani) ประธานาธิบดีอัฟกานิสถาน เข้าไปเยี่ยมที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา และประกาศสนับสนุนการตัดสินใจของสหรัฐฯ ทุกประการ ในขณะที่วุฒิสมาชิกพรรครีพับริกันหลายคนได้ออกมาวิจารณ์และแสดงความเคลือบแคลงสงสัยในการตัดสินใจของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ส่วนอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเห็นด้วยกับการตัดสินใจของโจ ไบเดน เพราะก่อนหน้านี้นายทรัมป์เองได้เคยประกาศถอนทหารมาก่อนในวันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งต่อมาโจ ไบเดน ถือฤกษ์วันที่ 11 กันยายน อันเป็นวันที่ครบ 20 ปีของเหตุการณ์เศร้าสลดในนครนิวยอร์ก

แต่ในทางความมั่นคงและขวัญกำลังใจของประชาชนในอัฟกานิสถานแล้ว การถอนทหารครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมาก ประชาชนไม่ไว้วางใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับตนเมื่อกลุ่มตอลิบานเข้ามาปกครองประเทศอีกครั้ง สิทธิของประชาชนโดยเฉพาะของสตรีย่อมถูกจำกัด เพราะแนวคิดอย่างสุดโต่งของตอลิบาน ยังผลให้ชาวอัฟกันจำนวนนับพันเข้าไปยื่นขอทำเอกสารที่กระทรวงการต่างประเทศของตนในกรุงคาบูล อย่างไม่ขาดสาย ยิ่งไปกว่านั้น ชาวอัฟกันที่เคยทำงานใกล้ชิด และให้ความช่วยเหลือกองกำลังของสหรัฐฯ และนาโต้จำนวนถึง 14,000 คนรู้สึกว่าตนเองไม่มีความปลอดภัย ครั้นจะทำวีซ่าถาวรเข้าอเมริกาก็ไม่อาจกระทำได้ เนื่องจากขัดกับกฎหมายเข้าเมืองของสหรัฐฯ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 800 วันจึงจะมีสิทธิ์ยื่นของวีซ่าประเภทนี้ได้ คนเหล่านี้จึงอยู่ในสภาวะที่เคว้งคว้างอย่างยิ่ง

อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองของอังกฤษ (MI6) ได้วิจารณ์การตัดสินใจของโจ ไบเดน ว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดอย่างมาก การถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถานจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง

เพราะนอกจากที่ประเทศนี้จะกลับตกไปอยู่ในอำนาจของกลุ่มตอลิบานอย่างรวดเร็วแล้ว ยังทำให้อัฟกานิสถานกลายเป็นที่บ่มเพาะกระบวนการก่อการร้ายที่จะออกมาอาละวาดในเวทีสากลอีกในไม่ช้า

ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยืนยันว่าการถอนกำลังทหารออกทั้งหมดครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าอเมริกาจะไม่ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศนี้ แต่ที่ต้องถอนทหารออกนั้นก็เพราะว่าอเมริกาได้บรรลุวัตถุประสงค์ของการส่งทหารเข้าไปปราบปรามขบวนการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานเรียบร้อยแล้วนั่นเอง และ…

“สหรัฐฯ ไม่มีหน้าที่เข้าไปสร้างชาติแก่ประเทศใด ทั้งหมดเป็นสิทธิและหน้าที่ของชาวอัฟกันเอง”

ในประวัติศาสตร์ของอัฟกานิสถาน ประเทศนี้เคยถูกต่างชาติและประเทศมหาอำนาจเข้ารุกรานหลายครั้ง นับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 19 กองทัพของนโปเลียน โบนาปาด จากฝรั่งเศส ปลายศตวรรษที่ 19 กองทัพบกของเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งทั้งสองกองทัพบุกเข้าไปอยู่ได้ไม่นานนัก แม้อังกฤษจะสามารถเข้าไปเปลี่ยนกษัตริย์ผู้ปกครองประเทศนี้ได้ โดยนำคนของตนเข้ามาเป็นกษัตริย์แทน แต่อยู่ไม่ได้นานเท่าใดก็ต้องถอยกลับออกไป และกษัตริย์คนเดิมกลับมามีอำนาจอีก

แม้ในศตวรรษที่ 20 อัฟกานิสถานได้รับการพัฒนาไปมากแล้วก็ตาม เกิดพรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นมาปกครองได้อยู่พักหนึ่ง โดยมีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง จนในที่สุดก็ต้องถอนทหารออกไปอีกเช่นกัน ในชั้นแรกนั้นผู้นำสหภาพโซเวียตคิดแต่เพียงว่าจะส่งกำลังทหารเข้าไปไม่เกินหนึ่งปี แต่ภายหลังเมื่อถูกแรงต้านทานจากชาวอัฟกันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานของสหรัฐฯ เข้าแทรกแซง ให้จรวจยิงจากพื้นดินสู่อากาศ จนเครื่องบินของโซเวียตถูกยิงตก และทหารรัสเซียล้มตายกันไปเป็นจำนวนมาก โซเวียตก็ต้องถอนทหารออกทั้งหมดรวมเวลาอยู่ในอัฟกานิสถานถึง 9 ปี จนในที่สุดกลุ่มตอลิบานเข้ามาปกครองอัฟกานิสถานอย่างมั่นคง

ที่มาภาพ : https://www.cfr.org/timeline/us-war-afghanistan

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่สหรัฐอเมริกาและกองกำลังนาโต้อยู่ในอัฟกานิสถาน ชาวอัฟกันตายไปไม่น้อยกว่า 230,000 ราย ในขณะที่สหรัฐฯ สูญเสียทหารไปไม่ต่ำกว่า 23,000 นาย อังกฤษ 4,700 นาย และเยอรมนี 59 นาย

ข้อดีของการส่งกำลังทหารเข้าไปปราบปรามกลุ่มอัลกออิดะฮ์และตอลิบาน คือ ชาวอัฟกันในเมืองใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะเด็กหญิงและสตรี เป็นครั้งแรกที่อัฟกานิสถานมีสถาบันการศึกษาที่ให้การศึกษาที่ทันสมัย สตรีไม่จำเป็นต้องคลุมหน้ามิดชิดเหมือนก่อน ไม่จำเป็นต้องมีผู้ชายติดตามออกจากบ้านไปด้วย สตรีสามารถขับรถไปไหนมาไหนเองได้ตามลำพัง สามารถเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจของตนเอง มีสตรีเป็นแพทย์ วิศวกร ผู้พิพากษา แม้กระทั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สหรัฐฯ และกองกำลังนานาชาติใช้เวลาเพียงปีเดียวก็สามารถปลดอำนาจจากกลุ่มตอลิบานได้ และจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขึ้นมาได้จากการเลือกตั้ง ทำให้ตอลิบานหมดอำนาจไปจากการปกครองประเทศ กระนั้นเหตุสำคัญคือการมีกำลังทางอากาศที่เหนือกว่าปราบปรามตอลิบานอย่างเอาจริงเอาจัง ทำให้ตอลิบานต้องทิ้งเมืองคาบูล แล้วหลบหนีเข้าไปอยู่ในภูเขาในจังหวัดที่ห่างไกล สหรัฐฯ ได้จัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และจัดระเบียบสังคมชาวอัฟกันขึ้นมาใหม่ เศรษฐกิจเริ่มหมุนเวียน สตรีซึ่งไม่เคยลิ้มรสของเสรีภาพจึงมีความสุขขึ้นมาเหมือนตื่นขึ้นมาจากฝันร้าย ส่วนนักรบตอลิบานเมื่อหลบหนีไปในภูเขาในจังหวัดที่ห่างไกล ก็ยังอยู่ได้ด้วยการเก็บภาษี 10% จากกสิกรชาวอัฟกันเพื่อเป็นค่าคุ้มครอง

ทหารสหรัฐฯ ระหว่างการสู้รบใกล้กับเมือง Sirkankel ประเทศอัฟกานิสถาน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2545 Warren Zinn/Pool/AP Images ที่มาภาพ : https://www.cfr.org/timeline/us-war-afghanistan

การถอนทหารอเมริกันและนาโต้ออกจากอัฟกานิสถานในครั้งนี้ นำฝันร้ายมาสู่สตรีทั้งประเทศ เพราะเป็นที่เชื่อกันว่ากลุ่มตอลิบานจะกลับมาบังคับใช้กฎหมาย “ชารีอะฮ์” ที่เข้มงวดเหมือนเดิม

แม้โฆษกกลุ่มตอลิบานจะประกาศว่า กลุ่มตอลิบานได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างมากมาย และไม่มีอะไรที่นานาชาติและชาวอัฟกันต้องกังวลอีกต่อไป เพราะตอลิบานได้มีข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ไว้แล้วว่าจะให้การคุ้มครองสิทธิต่างๆ ของประชาชน ซึ่งสำนักข่าวต่างประเทศทั้งหลาย หรือกระทั่งผู้นำชุมชนชาวอัฟกันเอง ไม่เชื่อและเห็นว่าสิ่งที่กลุ่มตอลิบานประกาศออกมานั้นคือการโฆษณาชวนเชื่อดีๆ นี่เอง

หลักฐานสำคัญที่ทำให้คำพูดของตอลิบานไม่น่าเชื่อถือคือ ในสถานการณ์ปัจจุบัน กองกำลังติดอาวุธของตอลิบานได้รุกคืบเข้าไปในเมืองใหญ่น้อยของประเทศอย่างต่อเนื่อง และทุกแห่งที่ตอลิบานเข้าไปก็จะเข้าไปปิดโรงเรียน ยึดสถานที่ราชการทั้งหลาย หญิงอัฟกันทุกคนต้องคลุมศีรษะและใบหน้าอย่างมิดชิด ห้ามสตรีขับรถยนต์ ห้ามสตรีออกจากบ้านตามลำพัง และผู้ชายทุกคนต้องไว้หนวดเครา หน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่ตอลิบานบุกไปถึงจะได้รับเงื่อนไขว่าให้เลือกเอาระหว่างสองอย่างคือถูกฆ่าตายหรือเดินออกไปจากที่ทำงานนั้นอย่างสงบ

ทุกแห่งที่ตอลิบานเข้าไปยึด ก็จะปักธงของตอลิบานเป็นธงผ้าพื้นขาวมีตัวหนังสืออาหรับเขียนไว้ตลอดผืน โฆษกของกลุ่มตอลิบานได้ประกาศว่าได้เข้ายึดครองพื้นที่กว่า 85% ของประเทศแล้ว ข้อมูลนี้นักข่าวบางสำนักวิเคราะห์ว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ

แต่ที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันคือ กลุ่มตอลิบานกำลังรุกคืบและครอบครองพื้นที่ในประเทศนี้อย่างรวดเร็วผิดคาด ชาวอัฟกันที่มีฐานะดีสักหน่อยก็พยายามทุกอย่างที่จะอพยพไปอยู่ต่างประเทศ ที่ยากจนพากันอพยพเข้าไปสู่นครหลวง ด้วยความหวังว่าจะเป็นที่พึ่งพิงของพวกเขาได้ ประชากรส่วนใหญ่อยู่กันด้วยความหวาดกลัวว่า “ยุคมิคสัญญี” กำลังจะกลับมาเยือนประเทศนี้อีกครั้งหนึ่งแล้วในอนาคตอันใกล้นี้

กรุงคาบูลทุกวันนี้จึงมีสภาพไม่แตกต่างจากกรุงไซ่ง่อนของเวียดนามใต้เมื่อปี พ.ศ. 2518 ก่อนทหารเวียดกงจะเข้ามายึดครอง

ในสภาวะวิกฤติเช่นนี้ รัฐบาลหลายประเทศยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือโดยการจัดเวทีการประชุมเจรจาระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานกับผู้นำกลุ่มตอลิบาน ได้แก่ อิหร่านและกาตาร์ แต่กระนั้น การเจรจาที่ผ่านมาหลายครั้งหลายหนไม่มีอะไรคืบหน้าเลย เพราะกลุ่มตอลิบานนี้มีความฮึกเหิมมากยิ่งขึ้นทุกวันตั้งแต่ที่สหรัฐอเมริกาประกาศถอนทหาร

อดีตนักรบตาลีบันที่เรือนจำในเมือง Shebargan ประเทศอัฟกานิสถาน รูปภาพ Yuri Kozyrev / AP ที่มาภาพ : https://www.cfr.org/timeline/us-war-afghanistan

เป็นที่น่าแปลกใจที่กระบวนการถอนทหารนั้นเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินความคาดหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ อพยพออกจากฐานทัพอากาศพะกรัม (Bagram Airfield) ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยไม่มีการแพร่งพรายหรือแจ้งเตือนใดๆ แก่รัฐบาลอัฟกานิสถานเลยแม้แต่น้อย เช้าตรู่วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 รัฐบาลของอัฟกานิสถานจึงได้รับทราบด้วยความประหลาดใจว่ากองทัพสหรัฐฯ ได้ถอนตัวออกไปจากฐานทัพขนาดใหญ่นี้แล้ว อาวุธยุทโธปกรณ์ของสหรัฐฯ ที่ยังใหม่และใช้การได้ถูกบรรจุขึ้นเครื่องบินลำเลียงอย่างรวดเร็ว ส่วนที่ดูเก่าและไม่คุ้มกับการเคลื่อนย้ายก็ถูกทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก ในจำนวนนี้มีรถฮัมวี รถถัง และยานเกราะอีกหลายคัน รวมทั้งเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์อีกหลายลำด้วย

ที่น่าสนใจคือ ในค่ายที่ใหญ่โตนี้มีนักโทษตอลิบานที่สหรัฐฯ จับกุมตัวอยู่ถึง 5,000 คน ที่ถูกผละทิ้งไว้เฉยๆ ในเรือนจำอย่างไม่มีปีไม่มีขลุ่ย เหตุการณ์นี้เองจึงเป็นลางร้ายของสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศนี้

สิ่งที่หลายฝ่ายคาดการณ์คือ สงครามกลางเมืองกำลังจะปะทุขึ้นในอัฟกานิสถานอย่างที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ว่ากองทัพของอัฟกานิสถานจะไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยเท่าสหรัฐฯ แต่มีจำนวนมากที่ได้รับการฝึกฝนจากครูฝึกจากกองกำลังนานาชาติมาตลอด 20 ปี

และในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ อัฟกานิสถานได้เห็นการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีอันจะกิน คนเหล่านี้เป็นเจ้าของธุรกิจที่กำลังเจริญเติบโต จึงได้ลงขันกันจ้างทหารรับจ้างเป็นกองกำลังติดอาวุธพร้อมรบกับตอลิบานในขณะนี้ ความขัดแย้งทางความคิดจึงทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกที และพร้อมที่จะกลายเป็นสงครามกลางเมืองในไม่ช้า

เป็นที่น่าประหลาดประการหนึ่งที่ตั้งแต่ก่อนการบุกประเทศอัฟกานิสถานนี้ องค์กรนานาชาติที่สำคัญที่สุดของโลกคือองค์การสหประชาชาติมิได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยเลย นับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์ถล่มอาคาร World Trade Center ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างจากสำนักงานใหญ่สหประชาชาติในเกาะแมนฮัตตันเท่าใดนัก เรื่อยไปจนถึงการที่สหรัฐฯ ส่งกองกำลังเข้าไปในอัฟกานิสถานทิ้งระเบิดเพื่อปราบปรามกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ดูเหมือนว่าสหประชาชาติถูกกันออกจากวิกฤติการณ์ของโลกมาตลอด แม้ผู้คนชาวอัฟกานิสถานล้มตายกันไปเป็นจำนวนมาก ทุกอย่างปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์เหมือนกับการล้างแค้นของสหรัฐอเมริกาเท่านั้นเอง สังคมชาวโลกไม่เกี่ยวข้องใดๆ ในเรื่องนี้ทั้งสิ้น

ทั้งๆ ที่เป็นสิ่งที่ชัดเจนว่าอัฟกานิสถานนั้นเป็นประเทศที่ยากจนไม่มีทางออกทะเล ประชาชนขาดการศึกษาและมีชนเผาเร่ร่อนในพื้นที่ห่างไกลจำนวนมาก ประเทศนี้ถูกแวดล้อมด้วยเขาสูงมากมาย จึงเป็นแหล่งของการบ่มเพาะกระบวนการก่อการร้ายได้เป็นอย่างดี การกำจัดกระบวนการก่อการร้ายและพวกที่มีแนวคิดทางศาสนาที่สุดโต่งนี้ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในอัฟกานิสถาน ทำให้เขามีการศึกษาที่ดีขึ้น สามารถติดต่อกับชุมชนนานาชาติได้อย่างเสรี นั่นคือการพัฒนาประเทศอย่างองค์รวม และต้องการหน่วยงานในการพัฒนาในด้านต่างๆ ของสหประชาชาติ เช่น องค์การ UNCEF, UNESCO, WHO ฯลฯ หากหน่วยงานนานาชาติเหล่านี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ปัญหาเรื่องกระบวนการก่อการร้ายเหล่านี้ย่อมไม่เกิดขึ้นเลย

สหรัฐฯ ใช้งบประมาณไปถึงสองล้านล้านเหรียญ ในการใช้อาวุธเข้าประหัตประหารชาวอัฟกัน ด้วยความเชื่อว่าคนเหล่านั้นคือผู้ก่อการร้าย และเป็นคนที่เลวร้าย ไม่ควรมีชีวิตอยู่อีกต่อไป หากเงินเหล่านี้ถูกใช้ไปในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในบริเวณจังหวัดที่อยู่ห่างไกล ทำให้พวกเขาติดต่อกับชาวโลกได้ มีระบบการศึกษาที่ดี มีระบบสาธารณสุขที่ดี อัลกออิดะฮ์หรือตอลิบานย่อมไม่อาจอยู่ได้ในดินแดนเหล่านี้ และจะเป็นประเทศที่เจริญแล้วอีกประเทศหนึ่งในไม่ช้า

ในสายตาของตอลิบานแล้ว พวกเขาเอาชนะอภิมหาอำนาจของโลกได้อย่างถาวร เป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ และด้วยความเชื่อทางศาสนา การถอนทหารนานาชาติครั้งนี้ทำให้ความเชื่อมั่นในพระผู้เป็นเจ้าของมุสลิมหัวรุนแรงนี้ย่อมเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว

และนั่นเท่ากับทำให้ชาวมุสลิมอีกหลายล้านคนรู้สึกภูมิใจ นี่คือการปูพรมแดงให้อัลกออิดะฮ์กลับมามีอิทธิพลอีกครั้งหนึ่ง อันจะเป็นภัยก่อการร้ายที่น่ากลัวอย่างยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้

การตัดสินใจถอนทหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในครั้งนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ขาดการวางแผนที่ดี ใจเร็วด่วนได้ “คิดถึงแต่ตัวเองเป็นสำคัญ” โดยไม่มีสำนึกถึงสันติภาพของโลกเลย

อัฟกานิสถานนั้นเป็นประเทศที่ล้าหลังและยากจน สหรัฐอเมริกาไม่เคยให้ความสนใจมาก่อน จนเกิดเหตุการณ์ 911 ขึ้นเมื่อ 20 ปีที่แล้วจึงหันมาสนใจ ทว่าไม่ใช่เพื่อการแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่ยั่งยืน แต่กระทำไปเพื่อการล้างแค้นกลุ่มอัลกออิดะฮ์เท่านั้นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ อัฟกานิสถานจึงกลายเป็นมรดกบาปของอเมริกาที่หยิบยื่นให้แก่ชาวโลกอีกชิ้นหนึ่ง!!