ThaiPublica > คอลัมน์ > ประชุมสุดยอดผู้นำไบเดน-ปูติน โลกได้อะไร?

ประชุมสุดยอดผู้นำไบเดน-ปูติน โลกได้อะไร?

19 มิถุนายน 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มาภาพ : https://www.voanews.com/usa/biden-geneva-ahead-talks-putin#&gid=1&pid=1

บ่ายวันอังคารที่ 15 มิถุนายน ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก้าวลงจากเครื่องบิน Airforce One เตรียมตัวเขาประชุมกับประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ในเช้าวันพุธที่ 16 ณ คฤหาสน์หรู ริมทะเลสาบเจนีวา การประชุมครั้งนี้จะยาวนานประมาณ 2-4 ชั่วโมงเท่านั้น โดยเป็นการประชุมลับ มีเฉพาะประธานาธิบดีทั้งสองคนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองชาติเท่านั้นที่เข้าร่วมประชุมด้วย ไม่เปิดโอกาสให้นักข่าวเข้าทำข่าว และเมื่อประชุมเสร็จแล้ว ผู้นำสูงสุดของทั้งสองประเทศไม่มีการออกมายืนแถลงข่าวร่วมกัน แต่ทั้งคู่ไปให้นักข่าวสัมภาษณ์กันเองตามลำพัง

สำหรับโจ ไบเดน ในการประชุมครั้งนี้ เขาได้มีการ “ตัดไม้ข่มนาม” ประธานาธิบดีปูตินไว้ตั้งแต่ก่อนออกเดินทางไปยุโรป โดยเขาได้ปราศรัยในค่ายทหารว่าเขาจะไปพูดกับปูตินว่า “เขาคิดอย่างไรกับปูติน” และเมื่อเข้าร่วมประชุมผู้นำ G7 ณ เมืองตากอากาศคอร์นวอลล์ (Cornwall) ในแคว้นเวลส์ เขานั่งหัวโต๊ะ ยืนยันว่าอเมริกากลับมาอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ครั้งหนึ่งรัสเซียเป็นส่วนหนึ่งของการประชุม G8 อันได้แก่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 8 ประเทศ แต่ต่อมาถูกขับออก ภายหลังจากที่รัสเซียผนวกดินแดนคาบสมุทรไครเมียร์มาเป็นส่วนหนึ่งของตน ทั้งสหรัฐอเมริกาและประเทศในอียู ร่วมกันคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียสะดุดลงตั้งแต่นั้นมา แต่คะแนนนิยมในตัวประธานาธิบดีปูตินในหมู่ชาวรัสเซียพุ่งขึ้นสูงกว่า 80%

หลังจากประชุมผู้นำ G7 เสร็จ บ่ายวันรุ่งขึ้นเขาได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบตที่สองของอังกฤษที่วังบักกิงแฮม ตรวจแถวทหารแล้วเป็นแขกพิเศษของพระราชินีในการพระราชทานเลี้ยงน้ำชาตอนบ่าย ก่อนที่จะบินตรงไปประชุมผู้นำองค์การสนธิสัญญานาโต้ หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ มีสมาชิก 30 ประเทศ

การประชุมครั้งนี้ไบเดน ประสบความสำเร็จอย่างมากในการ ชักนำให้สมาชิกนาโต้ที่เหลือเห็นภัยของจีนและรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีน ซึ่งนาโต้ถือได้ว่ากำลังเป็นภัยความมั่นคงของโลก

ทันทีที่นาโต้มีแถลงการณ์ออกมา รัฐบาลจีนก็ได้แถลงข่าวตอบโต้ในทันที่ว่า

“เป็นการแถลงการณ์ที่เกินจริง และยุโรปควรกำหนดนโยบายของตนเอง มิใช่ไปยอมรับเค้กชิ้นเล็กๆ ของอเมริกาแล้วยอมให้อเมริกาจูงจมูกได้”

เป็นเรื่องที่นาประหลาดใจที่นาโต้นั้นเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับการแผ่อำนาจการเมืองและการทหารของสหภาพโซเวียดในสมัยสงครามเย็น ห่างไกลจากจีนซึ่งอยู่ในเอเชียตะวันออกไปอีกหลายพันไมล์

ประชุมผู้นำ G7 ที่มาภาพ : https://www.voanews.com/europe/us-eu-reach-truce-major-trade-battle#&gid=1&pid=1

เช้าวันอังคารที่ 15 มิถุนายน ไบเดนยังได้ประชุมสุดยอดกับตัวแทนสหภาพยุโรป (EU-US Summit) ในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เพื่อหารือกันในหลายเรื่อง เป็นต้นว่า การแก้ไขวิกฤติโควิด-19 แพร่ระบาด การรื้อฟื้นเศรษฐกิจ อาชญากรรมทางไซเบอร์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจนปะทุเป็นคดีความกันระหว่างยุโรปกับอเมริกา ในเรื่องการที่รัฐบาลอเมริกาใช้เงินเข้าไปอุดหนุนการผลิตเครื่องบินของบริษัทโบอิง ในขณะที่อียูเข้าไปช่วยเหลือแอร์บัส คดีความนั้นยาวนานถึง 17 ปี ซึ่งมายุติลงได้ด้วยการประชุมกับประธานาธิบดีไบเดนในครั้งนี้

ประธานสภาสหภาพยุโรป นายชาลส์ มิเชล (Charles Michel) และแพทย์หญิงเออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน (Dr. Ursula von der Leyen) ได้มีการแถลงการณ์ร่วมว่า “จากคดีความได้พัฒนามาสู่ความร่วมมือ” (from litigation to cooperation) ซึ่งมองได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในการเยือนยุโรปในครั้งนี้

นอกจากที่เขาได้แก้ภาพลักษณ์ของอเมริกาที่ตกต่ำมาในช่วงสี่ปีในสมัยการบริหารงานของโดนัล ทรัมป์ ซึ่งภาพลักษณ์ที่ตกต่ำที่สุดของอเมริกาในสายตาของชาวโลกโดยเฉพาะชาวยุโรป เขาได้ผนึกกำลังเอาสหภาพยุโรปมาเป็นพวกในการต่อกรกับจีนและรัสเซีย ซึ่งทั้งสองประเทศนี้ถูกกล่าวหาว่าได้พยายามที่จะทำให้นาโต้แตกแยก และขาดเสถียรภาพ แต่อันที่จริงแล้วผู้ทำให้สมาธินาโต้ระส่ำมากที่สุดในประวัติศาสตร์นั้นไม่ใช่จีนหรือรัสเซีย แต่เป็นประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่ทำเอาผู้นำประเทศสนธิสัญญานาโต้ถึงขนาดตระหนกเลยทีเดียว เพราะสหรัฐเป็นประเทศที่จ่ายเงินรายปีให้แก่องค์การนาโต้มากที่สุด และมีทีท่าจะไม่ยอมจ่าย ผู้นำประเทศในยุโรปวิตกไปถึงกระทั่งปลายยุคของประธานาธิบดีไบเดน ว่าทรัมป์หรือสมาชิกพรรครีพับลิกันจะกลับมาอีก และความมั่นคงของนาโต้ก็อาจหมดไปอีกก็ได้

โดนัล ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี สหรัฐอเมริกา(ซ้าย)และประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย (ขวา)ที่มาภาพ : https://www.voanews.com/europe/us-eu-reach-truce-major-trade-battle

นาโต้นั้นก่อกำเนิดขึ้นในยุคเริ่มต้นของสงครามเย็น โดยมีวัตถุประสงค์เดียวคือต่อสู้กับภัยลัทธิคอมมิวนิสต์ มีองค์กรคู่ปรับคือวอร์ซอว์ แพก (Warsaw Pack) อันได้แก่ประเทศในเครือของสหภาพโซเวียด แต่เมื่อกำแพงเบอร์ลินพังทลาย และนำมาสู่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต นาโต้ได้รับสมาชิกใหม่สิบสี่ประเทศ สิบประเทศมาจากวอร์ซอ แพก และอีกสี่ประเทศมาจากยูโกสลาเวียเก่า

มาตราที่สำคัญของนาโต้คือมาตรา 5 (Article 5) ซึ่งระบุว่าเมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งในสนธิสัญญานี้ถูกโจมตี เป็นหน้าที่ของประเทศสมาชิกอื่นๆ ต้องเข้ามาช่วยเหลือ นาโต้ไม่มีนโยบายต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์ แต่ตรงกันข้ามไม่ยอมรับข้อเสนอของสหประชาชาติที่ให้มีการจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ แม้ว่าข้อเสนอนั้นได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกของสหประชาติถึง 122 ประเทศก็ตาม

ในการประชุมครั้งนี้ไบเดนได้ประกาศถึงการยึดมั่นต่อมาตรา 5 ของอเมริกา มาตรานี้เองที่ทำให้กองทัพนาโต้ต้องเข้าไปร่วมรบในอัฟกานิสถานในสมัยประธานาธิบดี จอร์จ บุช (คนลูก) อันเนื่องจากภัยก่อการร้ายอัลกออิดะห์ถล่มตึก World Trade Center เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 ภารกิจนั้นมิได้จบลงที่อัฟกานิสถาน แต่รวมไปถึงสงครามเพื่อล้มล่างรัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน ในอิรัก จนเป็นเรื่องวุ่นวายในอิรักเรื่อยมาถึงทุกวันนี้

เป้าหมายสูงสุดของการเดินทางมาเยือนยุโรปของไบเดนในครั้งนี้คือ “การส่งเสริมประชาธิปไตยของโลก” และจบลงด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำกับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย ซึ่งแม้ทั้งคู่ได้เคยพบปะพูดคุยกันมาหลายครั้งแล้วก็ตาม

การพบหน้ากันครั้งนี้เป็นการพบกันครั้งแรกในฐานะที่ไบเดนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และเขาได้สร้างพันธมิตรอันแข็งแกร่งที่จะต่อกรกับรัสเซียได้อย่างที่ไม่มีผู้นำสหรัฐฯ คนใดได้กระทำมาก่อน

ไม่ว่าเขาได้ชักจูงผู้นำ G7 นาโต้ และสหภาพยุโรป และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่ค้างคากันมานาน เป็นแต้มต่อครั้งสำคัญที่เหนือกว่าปูติน

สิ่งที่สื่อมวลชนสำนักต่างๆ คาดกันคือ โจ ไบเดน จะหยิบยกการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัสเซียขึ้นมาในวงประชุม โดยเฉพาะกรณีของนายอเล็กซี นิวัลนี ซึ่งถูกจับกุมและศาลอาญาตัดสินจำคุก 2 ปี การผนวกคาบสมุทรไครเมียร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย การโจมตีทางไซเบอร์ต่อหน่วยงานทางธุรกิจของอเมริกาโดยการปล่อยไวรัสเพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งโจ ไบเดน ต้องการให้รัสเซียจับกุมคนร้ายเหล่านี้และนำมาลงโทษ

อาจรวมถึงวิกฤติในซีเรีย อันเป็นผลสืบเนื่องจากปรากฏการณ์อาหรับสปริง เป็นสงครามกลางเมืองในขณะนี้ในขณะที่รัสเซียสนับสนุนประธานาธิบดีอัลอัสซาด แต่อเมริกาสนับสนุนฝ่ายกบฏ ประชาชนชาวซีเรียล้มตายกันไปนับแสน และที่อพยพไปประเทศอื่นอีกนับล้าน การสนทนาอาจยากขึ้นไปอีกในเรื่องการลดกำลังอาวุธ เพราะเหตุว่ารัสเซียได้พัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของตนอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งอเมริกาเห็นว่าเป็นภัยของความมั่นคงของตนอย่างมาก

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ปูติน รัสเซีย ที่มาภาพ : https://www.voanews.com/europe/putin-hopes-biden-less-impulsive-trump

อุปสรรคแรกของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่การทักทายกันครั้ง เพราะประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้เรียกปูตินว่า “นักฆ่าไร้วิญญาณ” คำถามคือ ผู้นำสองชาติมหาอำนาจจะมองหน้ากันอย่างไร?

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนปูตินเองได้เชิญนักข่าวอเมริกานายเคียร์ ซิมมอนส์ (Keir Simmons) จากสำนักข่าว NBC มาให้สัมภาษณ์พิเศษ และนักข่าวผู้นี้ได้ตั้งคำถามต่างๆ มากมายแบบชนิดฟันธงเกี่ยวกับปัญหาการบริหารของปูติน หยิบยกคำพูดของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาพูดว่า “ปูตินเป็นฆาตกรไร้วิญญาณ” ปูตินตอบด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า “วิญญาณนั้นหมายถึงอะไร?” และก็บอกว่ามันเป็นสำนวนแบบในหนังฮอลลีวูด ซึ่งเป็นแบบวัฒนธรรมทางการเมืองในอเมริกา แต่สำหรับการบริหารงานของเขา ปูตินมุ่งเอาผลประโยชน์ของชาติและชาวรัสเซียมาก่อนเสมอ

ต่อข้อซักถามที่ว่ารัสเซียเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางไซเบอร์ เพื่อเรียกค่าไถ่จากบริษัทในอเมริกา จนเป็นเหตุให้ท่อส่งน้ำมันที่ยาวและสำคัญที่สุดต้องหยุดทำงาน ปูตินได้บอกผู้สื่อข่าวว่า เขาได้เตือนประธานาธิบดีโอบามา ในระหว่างปีสุดท้ายในตำแหน่งว่า อเมริกากับรัสเซียควรร่วมมือกันปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งอเมริกาไม่เคยให้คำตอบมาจนบัดนี้ และรัสเซียถูกกล่าวหามาตลอดว่าอยู่เบื้องหลังอาชญากรรมไซเบอร์ แต่ไม่เคยมีหลักฐานใดๆ ที่นำออกมาพิสูจน์ได้เลย

ส่วนในรัสเซียนั้นมีนโยบายชัดเจนว่า อินเทอร์เน็ตและอวกาศต้องเป็นพื้นที่ปลอดสงคราม แต่ทำไมองค์การนาโต้จึงได้ประกาศว่าอินเทอร์เน็ตเป็นสมรภูมิ เรื่องนี้เป็นผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศที่ควรปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ให้หมดไป และรัสเซียไม่มีนโยบายใดๆ ที่จะเข้าไปก้าวก่ายการเมืองในประเทศใดทั้งสิ้น

เมื่อนายเคียร์ ซิมมอนส์ ถามปูตินว่า เขาเป็นคนสั่งฆ่านายอเล็กซี นิวัลนี ใช่หรือไม่? ปูตินตอบปฏิเสธทันที และอธิบายว่าสิ่งที่ศาลรัสเซียตัดสินจำคุกนั้นก็เพราะว่าเป็นกฎหมายความมั่นคงของรัสเซีย ซึ่งเมื่อพบว่ามีการรับผลประโยชน์จากต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวทางการเมืองก็ต้องติดคุก ทั้งนี้ ปูตินมิได้เอ่ยชื่อของนายอเล็กซี นิวัลนี หรือบุคลใดเลย แต่เขายกเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่รัฐสภาสหรัฐเมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่มีคนอเมริกันถูกจับไป 415 คน ซึ่งทุกคนไม่ได้บุกเข้าไปในรัฐสภาเพื่อกระทำโจรกรรมหรือประทุษร้ายใครเลย หญิงคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยิงตายทันทีที่บุกเข้าไป และผู้ต้องหาทั้งหมดติดคุกระหว่าง 14-25 ปี ซึ่งเป็นโทษที่รุนแรงกว่าในรัสเซียมาก

ต่อข้อซักถามที่ว่า ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวหาว่าปูตินเป็นผู้บ่อนทำลายเสถียรภาพการสามารถพยากรณ์ได้ในโลก ปูตินได้ตอบว่าใครกันแน่ที่ทำลายเสถียรภาพและการสามารถพยากรณ์ได้ของสถานการณ์โลก ใครกันที่อยู่ๆ ก็สั่งถอนทหารออกจากอัฟกานิสถานอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย (หมายถึงโจ ไบเดนซึ่งมีคำสั่งถอนทหารอเมริกันจากอัฟกานิสถานในเสร็จสิ้นในวันที่ 11 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงคำสั่งการถอนทหารของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ให้มีการถอนทหารอเมริกันในวันที่ 1 กรกฎาคม) และรัฐบาลอเมริกาพยายามโค่นล้มรัฐบาลของประธานาธิบดีอัลอัสซาดของซีเรีย ทั้งๆ ที่ตอบคำถามอะไรไม่ได้ว่าจะให้ใครมาแทน

ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โจ ไบเดน ที่มาภาพ : https://www.voanews.com/europe/us-eu-reach-truce-major-trade-battle#&gid=1&pid=2

ประเด็นสำคัญที่สื่อมวลชนสำนักต่างๆ คาดว่าผู้นำทั้งสองน่าจะตกลงกันได้คือเรื่องการให้นักการทูตซึ่งทั้งอเมริกาและรัสเซียต่างฝ่ายต่างขับไล่ออกจากประเทศของตนให้กลับเข้าทำงานในสถานทูตในเมืองหลวงได้ เพราะผลเสียที่เกิดจากการแลกหมัดทางการทูตในลักษณะเช่นนี้ ไม่มีประเทศใดได้ประโยชน์ ต่างฝ่ายต่างเสียหายด้วยกันทั้งคู่ รองจากนั้นคือประเด็นการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ซึ่งไม่มีชาติใดจะแก้ไขปัญหานี้ได้โดยลำพัง ฝ่ายสหรัฐฯ เองยังอยากที่จะให้รัสเซียปล่อยตัวนักโทษชาวอเมริกันสองคนที่ถูกจับติดคุกในรัสเซีย คนหนึ่งในข้อหาเป็นสายลับ และอีกคนหนึ่งในข้อหาทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนอเมริกาเองมีนักโทษสำคัญชาวรัสเซียสองคน คนหนึ่งเป็นพ่อค้าอาวุธรายใหญ่ซึ่งมาถูกจับในประเทศไทย และทางการไทยส่งตัวไปให้สหรัฐฯ เพราะมีหมายจับที่นั่น และอีกคนหนึ่งเป็นพ่อค้ายาเสพติด ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นปลีกย่อยที่อาจมีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยก็เป็นได้

สำหรับโจ ไบเดน การออกเดินทางไปยุโรปในครั้งนี้ คือ ความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของเขา นอกจากจะได้สร้างพันธมิตรในกลุ่ม G7 สหภาพยุโรปและองค์การนาโต้แล้ว เขายังได้ปิดล้อมจีนประเทศที่เขาเห็นว่าเป็นภัยทางความมั่นคงอย่างใหญ่หลวงในโลก ซึ่งเปิดแนวรุกทุกด้านและทุกมิติในทุกทวีป และเป็นการข่มขวัญผู้นำรัสเซีย เป็นภาพลักษณ์อันดียิ่งและเป็นการเพิ่มคะแนนนิยมของเขาในสหรัฐอเมริกาในฐานะวีรบุรุษผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของโลก

ส่วนปูตินคาดหวังอะไรจากการประชุมครั้งนี้? สิ่งที่ปูตินได้รับคือการประกาศให้โลกรู้ว่าเขาบริสุทธิ์ใจและได้โอกาสพูดกับชาวโลกผ่านสำนักข่าวนานาชาติ ซึ่งมีจำนวนมากที่เห็นว่าเขาและรัสเซียเป็นผู้ร้าย และอยู่เบื้องหลังวิกฤติการณ์หลายอย่างทั่วโลก และรัสเซียไม่ใช่ผู้ร้ายอย่างที่สื่อมวลชนตะวันตกประโคมข่าว

ส่วนโลกได้อะไร? คำตอบคือ ไม่ได้อะไรเลยจ้ะ!!