ThaiPublica > เกาะกระแส > อวสานของ “อเมริกาต้องมาก่อนชาติอื่น” สู่นโยบายต่างประเทศ “เพื่อชนชั้นกลาง”

อวสานของ “อเมริกาต้องมาก่อนชาติอื่น” สู่นโยบายต่างประเทศ “เพื่อชนชั้นกลาง”

16 พฤศจิกายน 2020


รายงานโดย ปรีดี บุญซื่อ

ที่มาภาพ : https://www.nytimes.com/2020/11/09/us/politics/biden-foreign-policy.html

บทรายงานของ The New York Time เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ชื่อ “The End of ‘America First’” กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่เป็นความลับแต่อย่างใดที่โจ ไบเดน ซึ่งได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ต้องการที่จะฝังนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อนชาติอื่น” (America First) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ให้เร็วที่สุด ท่าทีดังกล่าวจะเป็นแนวทางด้านนโยบายต่างประเทศ ในอนาคตต่อไปของสหรัฐฯ

โจ ไบเดนกล่าวกับ NY Times ว่า เขาต้องการทำให้คำขวัญนี้สิ้นสุดลง เพราะเป็นคำที่สื่อความหมายของสหรัฐฯ ในเรื่องการสร้างกำแพง

ส่วนเรื่องการสร้างความร่วมมือกับบรรดาประเทศพันธมิตร เป็นเรื่องค่อยมาพิจารณากันทีหลัง ทำให้โอกาสที่จะผลึกกำลังกับนานาชาติอ่อนแอลง ในการร่วมมือกันที่จะต่อสู้กับโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งคนทั่วโลกเสียชีวิตไปแล้วกว่า 1.2 ล้านคน

โจ ไบเดน กล่าวอีกว่า สิ่งหนึ่งที่ทรัมป์ทำให้เกิดขึ้นในเรื่อง “อเมริกาต้องมาก่อนชาติอื่น” คือ ความล้มเหลวในการรับมือกับโควิด-19 ประชากรสหรัฐฯ มีสัดส่วนแค่ 4% ของโลก แต่ยอดคนอเมริกันที่เสียชีวิตจากไวรัสนี้สูงถึง 20% ของจำนวนคนที่เสียชีวิตในโลกทั้งหมด

ส่วนนายแอนโทนี บลินเคน (Antony Blinken) ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของโจ ไบเดน กล่าวว่า “ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม โลกเราไม่ได้มีแผนงาน หรือกิจกรรมที่สร้างความเป็นระเบียบอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยตัวเอง ก่อนที่จะมาถึงสมัยของรัฐบาลทรัมป์ ทั้งรัฐบาลเดโมแครตและรีพับลิกัน สหรัฐฯ ได้ดำเนินการไปเป็นอย่างมากในเรื่องการจัดระเบียบดังกล่าว ในการดำเนินการดังกล่าว เราอาจทำความผิดพลาดบางอย่าง แต่สหรัฐฯ ค้นพบว่า เมื่อมีบางประเทศพยายามจะเข้ามามีบทบาทแทน หรือที่เลวร้ายกว่านี้คือไม่มีประเทศไหนแสดงบทบาทดังกล่าว โลกเราจะจบลงด้วยภาวะสุญญากาศที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์เลวร้ายต่างๆ ส่วนประเทศพันธมิตร การจะรีเซ็ตนาฬิกากลับไปก่อนวันที่ 20 มกราคม 2017 ก็จะไม่เกิดขึ้นเหมือนกัน

ฟื้นฟูฐานะการเป็นผู้นำโลก

เมื่อเดือนมีนาคม 2020 โจ ไบเดน เขียนบทความลงใน Foreign Affairs นิตยสารที่ทรงอิทธิพลอย่างมากในสหรัฐฯ ชื่อ Why America Must Lead Again โดยกล่าวว่า นับจากที่รัฐบาลบารัก โอบามา พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2017 ไม่ว่าจะวัดจากด้านไหนก็ตาม ความน่าเชื่อถือและอิทธิพลของสหรัฐฯ ในโลกก็ลดน้อยลงไป ส่วนท่าทีของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อประเทศพันธมิตร คือไม่เห็นความสำคัญ ทำให้พันธมิตรอ่อนแอลง และบางกรณีก็ละทิ้งประเทศพันธมิตร

นอกจากนี้ ทรัมป์ยังเปิดฉากทำสงครามการค้า ทั้งต่อประเทศที่เป็นมิตรและคู่แข่ง ที่สร้างความเสียหายแก่คนอเมริกันที่เป็นชนชั้นกลาง ทรัมป์ยังละทิ้งบทบาทความเป็นผู้นำของสหรัฐฯ ในอันที่จะระดมปฏิบัติการร่วมกับประเทศต่างๆ ที่จะรับมือกับภัยคุกคามใหม่ในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทรัมป์ได้หันหลังให้กับคุณค่าของหลักประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเข้มแข็งให้กับอเมริกา และเป็นสิ่งที่รวมคนอเมริกันเข้าด้วยกัน

ขณะเดียวกัน ปัญหาท้าทายของโลก ที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ มีความซับซ้อนและเร่งด่วน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ สภาพชะงักจากเทคโนโลยี และการแพร่ระบาดของโรค ส่วนการเติบโตของระบบอำนาจนิยม ชาตินิยม และระบบไม่เสรีนิยม ก็เป็นอุปสรรคขัดขวางความพยายามร่วมกันของนานาชาติ ที่จะรับมือกับปัญหาดังกล่าว ในด้านของระบอบประชาธิปไตยเอง ก็ประสบความยากลำบากที่จะตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ตามที่เคยสัญญาไว้ เนื่องจากปัญหาต่างๆ เช่น การเมืองในประเทศเกิดการแบ่งขั้ว ปัญหาคอร์รัปชัน และปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รุนแรง

โจ ไบเดน เขียนไว้ว่า ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐฯ สิ่งที่เขาจะทำทันทีคือการเริ่มต้นใหม่ในเรื่องการปกป้องประชาธิปไตย สร้างความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตร ปกป้องอนาคตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และนำอเมริกาให้กลับมาเป็นผู้นำโลกอีกครั้งหนึ่ง

โจ ไบเดน ที่มาภาพ : https://www.foreignaffairs.com/articles/united-states/2020-01-23/why-america-must-lead-again

ประชุมสุดยอดประชาธิปไตย

ในปีแรกของรัฐบาลโจ ไบเดน สหรัฐฯ จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดประชาธิปไตย (Global Summit for Democracy) โดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูจิตวิญญาณด้านประชาธิปไตย และสร้างเป้าหมายร่วมกันของประเทศในโลกเสรี

ในการประชุมสุดยอดดังกล่าว จะเป็นการระดมประเทศประชาธิปไตยในโลกเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันประชาธิปไตย เผชิญหน้ากับประเทศที่ถอยหลังทางประชาธิปไตย และสร้างวาระการทำงานร่วมกันขึ้นมา โดยจะมีพันธะกิจอยู่ 3 ด้าน คือ ต่อสู้กับคอร์รัปชัน ปกป้องตัวเองจากระบบอำนาจนิยม และส่งเสริมสิทธิมนุษยชน

การประชุมสุดยอดประชาธิปไตย จะขยายไปถึงองค์กรประชาสังคมจากทั่วโลก ที่เป็นกลุ่มคนทำงานระดับแนวหน้า ในการปกป้องประชาธิปไตย สมาชิกจากที่ประชุมสุดยอดจะออกแถลงการณ์ เรียกร้องต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน ที่รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย ที่จะต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการปกป้องสังคมประชาธิปไตย และปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก แต่เสรีภาพการแสดงออกไม่ได้หมายถึงสิทธิที่จะเผยแพร่ข่าวสารเท็จ

นโยบายต่างประเทศเพื่อชนชั้นกลาง

บทความของโจ ไบเดน กล่าวว่า ประการที่ 2 รัฐบาลของเขาจะสร้างทักษะให้แก่คนอเมริกัน เพื่อที่จะประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจโลก สิ่งนี้เรียกว่า “นโยบายต่างประเทศเพื่อชนชั้นกลาง” (Foreign Policy for the Middle Class)

การจะมีชัยชนะในการแข่งกันในอนาคตกับจีน หรือประเทศอื่น สหรัฐฯ จะต้องสร้างความเหนือกว่าจากนวัตกรรม และผนึกกำลังทางเศรษฐกิจกับประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เพื่อต่อต้านประเทศที่ใช้แนวทางดำเนินงานทางเศรษฐกิจ ที่เอาประโยชน์แบบผิดๆ

โจ ไบเดน กล่าวว่า นโยบายการค้าของเขา จะเริ่มจากภายในประเทศของสหรัฐฯ โดยการสร้างความเข้มแข็งให้กับชนชั้นกลาง ทำให้ทุกคนมีส่วนแบ่งในความสำเร็จของประเทศ สิ่งนี้จะต้องอาศัยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและด้านการศึกษา สหรัฐฯ จะต้องสร้างทักษะให้แก่นักศึกษาทุกคน

สำหรับงานในศตวรรษที่ 21 คนอเมริกันทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพด้วยค่าใช้จ่ายที่รับได้ เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง และเป็นผู้นำการปฏิวัติด้านเศรษฐกิจที่สะอาด ซึ่งจะสร้างงานใหม่หลายล้านงานในประเทศ

การวิจัยและพัฒนาจะเป็นหัวใจสำคัญของรัฐบาลโจ ไบเดน เพื่อให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านวัตกรรมเกี่ยวกับพลังงานสะอาด ปัญญาประดิษฐ์, quantum computing, 5G, รถไฟความเร็วสูง และการแข่งขันเพื่อเอาพิชิตโรคมะเร็ง

นโยบายต่างประเทศเพื่อชนชั้นกลาง จะบังเกิดผล เมื่อกฎเกณฑ์เศรษฐกิจระหว่างประเทศไม่ทำให้สหรัฐฯ เป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างไม่ยุติธรรม สหรัฐฯ ต้องการระบบการค้าที่เที่ยงธรรม เพราะประชากรโลก 95% อาศัยอยู่นอกพรมแดนสหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงต้องการที่จะเข้าถึงตลาดนี้ สหรัฐฯ ต้องการความสามารถที่จะสร้างสิ่งที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ และสามารถขายสิ่งนี้ไปทั่วโลก

โจ ไบเดน กล่าวในบทความนี้ว่า หากได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะยังไม่เข้าร่วมข้อตกลงการค้าฉบับใหม่ใดๆ จนกว่าสหรัฐฯ จะได้ลงทุนในคนอเมริกัน และสร้างทักษะให้พวกเขา ที่จะประสบความสำเร็จในเศรษฐกิจโลก สหรัฐฯ จะไม่เจรจาทำข้อตกลงการค้าใหม่ที่ไม่มีมาตรการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งที่ไม่มีมาตรการบังคับใช้ข้อตกลงกับประเทศที่เป็นภาคี

การปกป้องและเพิ่มชนชั้นกลาง

เมื่อเดือนกันยายน 2020 ที่ผ่านมา สถาบัน Carnegie Endowment for International Peace ของสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงานชื่อ Making US Foreign Policy Work Better for the Middle Class โดยกล่าวว่า ในสหรัฐฯ ทุกพรรคการเมืองและทุกอุดมการณ์ทางการเมือง เห็นพ้องกันว่า สหรัฐฯ ต้องสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศ เพื่อที่จะเกิดเข้มแข็งในต่างประเทศ

ทุกกลุ่มการเมืองทุกฝ่ายในสหรัฐฯเห็นพ้องกันว่า เสาหลักของอำนาจสหรัฐฯ อยู่ที่ชนชั้นกลาง เพราะชนชั้นกลางคือ พลังพลวัตด้านความคิดใหม่ๆ (dynamism) ผลิตภาพการผลิต (productivity) การมีส่วนเข้าร่วมทางการเมืองและเศรษฐกิจ และที่สำคัญที่สุด ชนชั้นกลางมีความมุ่งมั่น ที่จะทำในสิ่งที่เป็นความก้าวหน้า สิ่งนี้คือแม่เหล็กที่ดึงดูด และเป็นแบบอย่างให้แก่คนทั่วโลก

แต่หลังจากระยะเวลาสามทศวรรษที่ผ่านมา ชนชั้นกลางของอเมริกาอยู่ในสภาพที่ยากลำบาก เพราะการท้าทายทางเศรษฐกิจที่มาจากโลกาภิวัตน์ และจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยิ่งเป็นตัวเร่งความเหลื่อมล้ำและความขัดแย้งทางสังคมมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การที่สหรัฐฯ จะมีโอกาสฟื้นตัวจากในประเทศขึ้นมาใหม่ ก็จะต้องมองบทบาทของสหรัฐฯ ในโลกที่แตกต่างไปจากเดิม

รายงานของ Carnegie Endowment กล่าวว่า มีหลายส่วนของนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนอเมริกัน ที่เป็นชนชั้นกลาง นโยบายต่างประเทศที่จะเป็นผลดีแก่ชนชั้นกลาง จะมีลักษณะการรักษาพลวัตทางธุรกิจ (business dynamism) และการค้าที่เปิดกว้าง (open trade) ในเชิงนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ คือการทำให้เศรษฐกิจโลกเติบโต ซึ่งจะมีผลทำให้เกิดการจ้างงานสำหรับชนชั้นกลางขึ้นมาใหม่ และยังจะมีส่วนทำให้ค่าแรงเพิ่มสูงขึ้น

นโยบายดังกล่าวรวมถึงการลงทุนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา เพื่อที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของแรงงานสหรัฐฯ และของธุรกิจ SME สหรัฐฯในตลาดโลก นโยบายการให้ความช่วยเหลือแก่อุตสาหกรรม SME ของสหรัฐฯ ที่จะเอาประโยชน์จากตลาดที่เปิดใหม่ จากการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้น และจากการจ้างงาน ที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังจะต้องมียุทธศาสตร์ด้านการทูตและข่าวกรอง ที่จะติดตามและป้องกันผลกระทบจากภาวะวิกฤติเศรษฐกิจโลก เช่น ปัญหาการผลิตสินค้าที่ล้นเกินในประเทศที่รัฐให้การอุดหนุนอุตสาหกรรม เพราะหากวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้น ก็จะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัวชนชั้นกลางในสหรัฐฯ

เอกสารประกอบ

The End of “America First”: How Biden Says He Will Re-engage With the World, Nov 9, 2020, nytimes.com
Why America Must Lead Again, Joe Biden, March/April 2020, foreignaffairs.com
Making U.S. Foreign Policy Work Better For the Middle Class, Carnegie Endowment for International Peace, 2020.