ThaiPublica > คอลัมน์ > The New Rijksmuseum บูรณะโกลาหล

The New Rijksmuseum บูรณะโกลาหล

17 ตุลาคม 2015


1721955

1

เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเล็กกระจิ๊ดที่มีขนาดของทั้งประเทศรวมกันแล้วเล็กกว่าหนึ่งในสี่ของพื้นที่ภาคอีสานบ้านเราทั้งหมด ความโดดเด่นของประเทศนี้ไม่ใช่จะมีแค่กังหันลม, ทุ่งทิวลิป และรองเท้าไม้เท่านั้น แต่ยังรวมถึงศิลปินคนสำคัญๆ อีกมากมายด้วย อย่างน้อยๆ แม้แต่คนที่ไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับศิลปะเลย ย่อมต้องเคยได้ยินชื่อเสียงของศิลปินชาวดัตช์นามกระฉ่อน แรมบรันดต์ และหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ประเทศเล็กจ้อยแห่งนี้ แต่กลับมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อแวดวงศิลปะ นั่นก็คือ จิตรกรรมยุคทองของชาวดัตช์ (Dutch Golden Age painting) ในช่วงปี ค.ศ. 1584-1702 อาทิ

ภาพ The Night Watch ในปี 1642 ของ แรมบรันดต์ ฮาร์เมนซูน ฟาน แรยน์, Portrait of a Young Couple ในปี1622 ของ ฟรันส์ ฮาล และ The Milkmaid ในราวปี 1659 ของ โยฮันเนิส เฟอร์เมียร์ อันเป็นแบบฉบับของจิตรกรรมที่แผ่อิทธิพลต่อวงการศิลปะในยุโรป ซึ่งทั้งหมดถูกเก็บรักษาและจัดแสดงเอาไว้อย่างสง่างาม ณ พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ ที่ไม่ใช่จะมีเฉพาะแต่ของศิลปินชาวดัตช์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผลงานบางส่วนของศิลปินชื่อก้องผู้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ก่อให้เกิดจิตรกรรมยุคทอง อย่าง ศิลปินชาวเฟลมิช ปีเตอร์ พอล รูเบนส์ รวมไปถึงศิลปินผู้อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากศิลปะคลาสสิก และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมให้กำเนิดศิลปะยุโรปสมัยใหม่อย่าง ฟรานซิสโก โกยา ศิลปินชาวสเปนอีกด้วย

ทำให้ผลงานเหล่านี้นอกจากจะเป็นหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของชาติเนเธอร์แลนด์แล้ว มันยังรวบรวมหลักฐานชิ้นสำคัญในฐานะบันทึกทางประวัติศาสตร์ของโลกเอาไว้ด้วย ซึ่งค่อยๆ ถูกสะสมมาตั้งแต่ปี 1808 และจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ อัมสเตอร์ดัม ที่เปิดแสดงผลงานศิลปะ, หัตถกรรม และวัตถุทางประวัติศาสตร์ของตั้งแต่ปี ค.ศ. 1200-2000 เอาไว้มากถึงหนึ่งล้านชิ้น ซึ่งมีการคัดสรรขึ้นมาแสดงเฉพาะชิ้นสำคัญๆ ให้เห็นเพียง 8,000 ชิ้นเท่านั้น ความขลังอลังการของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถูกเล่าผ่านสารคดีสุดแสนจะโกลาหล The New Rijksmuseum ผลงานสารคดีโดยผู้กำกับหญิงชาวดัตช์ อูเคอ โฮเคินไดจค์

2

“สิบปีก่อนตอนเริ่มทำหนังเรื่องนี้ ฉันตั้งใจให้เป็นการบันทึกไว้ว่าพิพิธภัณฑ์ที่มีอายุกว่า 100 ปีแห่งนี้และเหล่าคนทำงานที่นี่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างในระหว่างการบูรณะครั้งสำคัญ” สิ่งที่โฮเคินไดจค์เล่ามานี้ คือเหตุการณ์ใหญ่ที่ทำให้เธอต้องลุกขึ้นมาทำสารคดีชิ้นนี้ ก็คือ เมื่ออาคารหลักของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ต้องทำการรื้อซ่อมบูรณะครั้งมโหฬาร จนต้องปิดตัวลงตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม ปี 2003 ก่อนจะฝ่าด่านความโกลาหลนานัปการ จนปาเข้าไปปี 2013 หรืออีกเกือบหนึ่งทศวรรษ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถึงเพิ่งจะได้เปิดให้คนทั้งโลกเข้าไปเยี่ยมเยือนอีกครั้ง

เธอเล่าต่อว่า “สิ่งที่ได้เจอกลับพลิกไปคนละทิศ เพราะเพียงไม่นาน สตาฟของพิพิธภัณฑ์ก็ต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคน่าหงุดหงิดเรื่องแล้วเรื่องเล่า ตั้งแต่ศึกภายนอกจนถึงศึกภายใน ถึงขั้นที่ผู้อำนวยการต้องลาออก และกำหนดการเปิดต้องเลื่อนจากปี 2008 ไปเป็นปี 2013 บทที่ฉันเขียนร่างไว้กลายเป็นไร้ประโยชน์ ต้องเปลี่ยนมาด้นสดไหลตามสถานการณ์แทน!”

อันที่จริงสารคดีเรื่องนี้ มีการตัดต่อออกมาฉายก่อนแล้วในเนเธอร์แลนด์สองฉบับ คือ Het Nieuwe Rijksmuseum, delen 1&2 (2008) ด้วยความยาว 120 นาที ซึ่งฉบับแรกนี้จะจบลงตรงฉากคอนเสิร์ตอำลาผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์คนเก่า กับ Het Nieuwe Rijksmuseum, delen 3&4 (2013) อีก 108 นาที อันเป็นส่วนที่ถ่ายทำแบบตามติดสถานการณ์คล้ายๆ เรียลิตี้ทีวี ซึ่งรวมความยาวทั้งสิ้นเกือบสี่ชั่วโมง ส่วนฉบับ The New Rijksmuseum (2014) ที่เข้าฉายตามโรงทั่วโลก และกำลังฉายในบ้านเราอยู่ในขณะนี้ด้วย (คลิกอ่านรายละเอียดได้ที่นี่) เป็นการตัดรวบทั้งสองเวอร์ชั่นให้เหลือเพียง 118 นาที

3

“ฉันทุ่มเวลาปีแล้วปีเล่าไปกับการพูดคุยผูกสัมพันธ์กับเหล่าพนักงาน, ภัณฑารักษ์ และสถาปนิก จนเป็นที่ไว้ใจและได้เข้าไปถ่ายทำทุกอย่าง…สุดท้ายเราจึงมีฟุตเตจถึง 275 ชั่วโมง และแม้จะไม่มีสตาฟพิพิธภัณฑ์คนใดอธิบายได้เลยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ แต่ตลอด 7 เดือน ฉันกับมือตัดต่อก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจเหตุการณ์เองทีละนิด แล้วเรียงร้อยจนได้เส้นเรื่องที่บอกให้เราได้รู้ว่า ไม่ใช่คนหรอกนะที่ ‘ควบคุม’ โครงการบูรณะ แต่ตัวโครงการต่างหากล่ะที่ควบคุมคน!”

“จากหนังที่ควรจะว่าด้วยความภาคภูมิใจของชาติฮอลแลนด์ กลับกลายมาเป็นเอพิกดราม่าเชคสเปียร์ไปเสียได้ โดยมีตัวละครอย่างผู้จัดการโครงการที่ล้มเหลว, เจ้าหน้าที่และผู้บริหารจนตรอก, ผู้รับเหมาและนักออกแบบชาวต่างชาติที่ได้แต่อึ้ง เมื่อได้เห็นว่ากระบวนการตัดสินใจอันแสนจะยืดยาด ส่งผลให้การบูรณะสับสนชะงักงันอย่างไร ในจุดหนึ่งเราถึงกับรู้สึกกันทีเดียวว่าการบูรณะนี้คงไม่มีวันสำเร็จแน่ๆ ”

4

นิพันธ์ โอฬารนิเวศน์ ศิลปินและอาจารย์ประจำภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้โพสต์เชิญชวนหลังจากได้ไปดูสารคดีเรื่องนี้มาแล้วว่า “ชื่อผลงานบอกห้วงเวลาแห่งความมืด ตัวชิ้นงานปรากฏตั้งแต่ซีนแรกๆ แต่ก็อนุญาตให้เราเห็นเพียงบางส่วน แถมยังถูกบังด้วยแผ่นพลาสติก

หนึ่งในตัวละครสำคัญนี้ กระจ่างบนผนังสีดำอมน้ำเงินแบบเต็มตาเราก็ในช่วงท้าย และจะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม … ‘Night Watch’ ดึงดูดหลายๆ คนที่นั่งจ้องมองอยู่ด้านหน้าจอเข้าไปที่ตัวมัน หรือกระทั่งเป็นตัวเร่งให้มีการเดินทางไปที่นั่น ไปดูให้เห็นกับตา”

Night Watch เป็นตัวเอกของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ และเป็นตัวชูโรงของหนังเรื่องนี้ด้วย ซึ่งเป็นตัวแทนความโกลาหลได้ไม่แพ้กัน มันไม่ได้เป็นเพียงจิตรกรรมชิ้นเอกของ แรมบรันดต์ เท่านั้น หากแต่ยังเป็นหนึ่งในจิตรกรรมที่มีชื่อเสียงที่สุดของประวัติศาสตร์ศิลปะยุโรปด้วย ในภาพคือร้อยเอก ฟรันส์ บันนิง โกก กำลังออกคำสั่งให้ร้อยโทของเขานำเหล่าทหารเสือมาอยู่ในตำแหน่งเพื่อจะวาดภาพนี้ โดยมีตัวเด่นอยู่ 16 คน ซึ่งแต่ละคนต้องลงขันเป็นค่าจ้างให้แรมบรันดต์คนละร้อยรวมเป็นพันหกร้อยกิลเดอร์ เพื่อให้อยู่ในจุดสนใจของภาพ ด้วยการใช้เทคนิค เคียรอสคูโร (Chiaroscuro) หรือการจัดแสงตัดกันชัดเจนระหว่างแสงกับเงา อันเป็นเทคนิคที่มีมาตั้งแต่สมัยเรอเนสซองส์ ซึ่งเป็นลายเซ็นสำคัญของแรมบรันดต์ อันส่งอิทธิพลต่อการจัดแสงในภาพถ่ายของยุคปัจจุบันด้วย ที่เรียกว่า “Rembrandt lighting”

 ภาพก็อปปี้ ที่แสดงให้เห็นขนาดภาพเดิม
ภาพก็อปปี้ ที่แสดงให้เห็นขนาดภาพเดิม

แต่เดิมภาพนี้ถูกแขวนไว้ในอาคารสโมสรทหารเสือในอัมสเตอร์ดัม ต่อมามันถูกย้ายไปแขวนไว้ที่เทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัม และเพื่อที่จะให้พอดีกับพื้นที่ใหม่ จึงต้องหั่นให้ขนาดเล็กลง ข้อมูลนี้ทราบได้จากภาพก็อปปี้อีกภาพหนึ่งฝีมือของ เจอร์ริต์ ลันเดนส์ ที่ลอกเอาไว้ตั้งแต่ภาพยังคงครบสมบูรณ์อยู่ ซึ่งจะพบว่ามีตัวประกอบสองคนถูกหั่นออกไปจากภาพเดิม (ภาพนี้มีตัวประกอบไม่เด่นอีก 18 คน อยู่ในเงามืด)

หนำซ้ำภาพนี้ยังเคยถูกทำลายมาแล้วถึงสามครั้ง คือ ในวันที่ 13 มกราคม ปี 1911 ถูกช่างทำรองเท้าใช้มีดสำหรับทำรองเท้าเชือดลงบนเฟรมผ้าใบ และอีกครั้งโดนมีดหั่นขนมปังเฉือน ในวันที่ 14 กันยายน ปี1975 ทำให้เกิดรอยซิกแซกขนาดใหญ่ และต้องใช้เวลาซ่อมแซมนานถึงสี่ปีกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ก็ยังหลงเหลือร่องรอยอยู่ โดยคนร้ายภายหลังฆ่าตัวในสถานบำบัดจิตในปี 1976 และครั้งหลังสุดคือ 6 เมษายน ปี 1990 เมื่อชายคนหนึ่งพยายามจะพ่นกรดใส่ลงบนภาพ แต่ รปภ. นายหนึ่งเข้ามาพรมน้ำชะออกไปอย่างรวดเร็ว แล้วอันที่จริงภาพนี้มีชื่อจริงๆ ว่า Militia Company of District II under the Command of Captain Frans Banninck Cocq แต่ถูกเปลี่ยนใหม่เพื่อให้จดจำได้ง่ายขึ้น ขณะที่นักประวัติศาสตร์ศิลป์ลงความเห็นว่า เวลาในภาพนี้ เป็นตอนกลางวัน ไม่ใช่กลางคืนอย่างที่เข้าใจผิดกัน เพราะน้ำมันชักเงาที่ใช้นั้น เป็นแบบที่ใช้สำหรับภาพที่บอกเวลากลางวัน และนี่อาจเป็นความหมายแฝงของภาพนี้ที่ถูกถ่ายทอดอย่างมีนัยยะสำคัญในหนังสารคดีเรื่องนี้

 วิม ไปจ์บิช ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ ในโอกาสต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบามา
วิม ไปจ์บิช ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ ในโอกาสต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัก โอบามา

The New Rijksmuseum เริ่มต้นจากความตั้งใจจะบันทึกการบูรณะพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ในฐานะ “ความภาคภูมิใจของชาติ” แต่กลับกลายเป็นสารพัดเรื่องวายป่วง ที่เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นความน่าอับอายของประเทศไปแทนด้วยซ้ำ ทว่าเมื่อหนังเสร็จออกมา ผู้บริหารไรจ์คส์ก็ยังปลาบปลื้ม เทศกาลหนังดัชต์นำไปฉาย ผู้ชมสนับสนุนเข้าชมในโรงกว่า 1 หมื่นคน แถมหนังยังคว้ารางวัลในประเทศจากอีกหลายเวที

ผู้กำกับ โฮเคินไดจค์ ทิ้งท้ายว่า “หนังเรื่องนี้เปิดเผยให้เห็นทั้งความทะเยอทะยาน ความกล้าหาญ และความเปราะบางอ่อนแอของผู้คนที่เกี่ยวข้อง…ซึ่งไม่ว่าจะขัดแย้งกันแค่ไหนก็อยู่บนเดิมพันและอุดมการณ์เดียวกัน นั่นคือความรักหลงใหลในศิลปะ”

ป้ายคำ :