1721955
ขณะที่บทความนี้ออนไลน์ น่าจะมาถึงตอนอวสานของละครเรื่องนี้พอดี คุณหมีปาฏิหาริย์ อันเป็นครั้งแรกที่ช่อง 3 กล้าเสี่ยงจะเอาเนื้อหาแนวชายรักชายมาฉายในช่วงไพรม์ไทม์ คืนวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ ที่มีจำนวนตอนมากถึง 16 ตอน ที่แม้จะเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของละครทั่วไป แต่ก็มากที่สุดในบรรดาซีรีส์วายที่ช่อง 3 เคยทำมา เช่น สูทรักนักออกแบบ, รักมันมหาศาล (8 ตอน), ผมกับผีในห้อง (10 ตอน), วัยรุ่นวุ่นวายรัก (12 ตอน) และแอบหลงรัก (14 ตอน) ฯลฯ แถมยังได้ผู้จัดและผู้กำกับเบอร์ใหญ่อย่าง ป้าแจ๋ว-ยุทธนา ลอพันธุ์ไพบูลย์
และแม้ในสัปดาห์แรกผลเรตติงจะออกมาเป็น 0 แต่ทุกตอนกลับติดเทรนด์ทวิตลำดับต้นๆ ซึ่งล้วนเต็มไปด้วยกระแสชื่นชม อาจเพราะละครเรื่องนี้นอกจากจะออนแอร์ทางทีวีแล้ว ยังฉายสตรีมมิงพร้อมกันทาง Netflix ด้วย เรตติงทางทีวีเลยไม่เป็นดังคาด อย่างไรก็ตาม ป้าแจ๋วได้โพสต์ไอจีว่า “บางทีความสำเร็จก็อาจไม่ได้มาจากตัวเลข สิ่งที่ผู้ชมได้แสดงความรู้สึกออกมา หลังจากได้ดู #คุณหมีปาฏิหาริย์ แล้วต่างหาก ที่ทำให้เราและทีมงาน รู้สึกว่าสิ่งที่ตั้งใจจะสื่อสารกับผู้ชม และการทำงานเพื่อให้ละครไทย ไปยืนใกล้ๆ เกาหลี ญี่ปุ่น จีน ได้อย่างแนบเนียนต่างหาก ที่นับได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างแท้จริง ถึงเรตติ้งจะได้แค่ เลข 0 เลข 1 ก็ไม่อาย ไม่เสียใจเท่าคนที่ยังไม่ได้ดู ละครเรื่องนี้ แต่กลับตัดสินละครเรื่องนี้แล้ว ว่าไม่ควรออกอากาศช่วงไพรม์ไทม์ #WhatIDidForLove #เหรียญมีสองด้านมองให้ครบ
#BothSidesNow”
ครู: “เรื่องเกี่ยวกับชีวิตในโรงเรียนมัธยม หึ เธอคงไม่เอาประสบการณ์จริงมาเขียนหรอกนะ”
ณัฐ: “ประสบการณ์จริงสิครับ…แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะตอนนั้นผมมีทั้งความทรงจำที่ดี…แล้วก็ไม่ดี ผมอยากถ่ายทอดผ่านมุมมองของผม แต่เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่ชีวิตประจำวันของเด็กนะครับ มันสะท้อนสังคมในรั้วโรงเรียน ระบบชนชั้น อำนาจ แล้วก็การกดขี่”
ครู: “น่าสนใจ แล้วมี…หึ…เรื่องรักของเธอด้วยหรือเปล่าล่ะ”
ณัฐ: “ต้องมีสิครับ เดี๋ยวนี้มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วนะครับ”
ครู: “แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องปกติ”
ณัฐ: “ถ้าความปกติของครู คือต้องคิดเหมือนครูเท่านั้น คงมีคนผิดปกติกันครึ่งโลก แต่สำหรับผม…ทุกคนคือคนปกติ แค่ผมมีรสนิยมไม่เหมือนครู หรือใครอีกหลายคน มันไม่ได้หมายความว่าผมผิดปกติ ครูรอติดตามผมด้วยนะครับ บางทีซีรีส์เรื่องนี้อาจจะทำให้ครูเข้าใจความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แล้วก็ให้เกียรติคนทุกคน ไม่ว่าเขาจะเด็กกว่า หรือว่าเป็นเพศไหน”
จากบทสนทนานี้ในละครก็บอกชัดเจนว่า คุณหมีปาฏิหาริย์ เป็นเรื่องรักชายชาย ที่แฝงไว้ด้วยอำนาจการกดขี่ทั้งในระดับครอบครัว โรงเรียน ไปจนถึงประเทศชาติ ละครเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนิยายที่ตีพิมพ์ในปี 2562 เขียนโดย ปราปต์ (ชัยรัตน์ พิพิธพัฒนาปราปต์ ผู้เขียน คาธ, ดวงอย่างนี้ไม่มีจู๋, กาหลมหรทึก)
ไอเดียที่มา
ปราปต์เคยเล่าถึงที่มาในการเขียนนิยายนี้เอาไว้ในบทสัมภาษณ์ว่า ในช่วงปี 2561 นิยายกาหลมหรทึก (ตีพิมพ์ปี 2557) ถูกสร้างเป็นละครทีวี ซึ่งในเรื่องนั้นมีตัวละครคู่จิ้นชายชาย แชน (แทค-ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม) กับ กบี่ (พ้อยท์-ชลวิทย์ มีทองคำ) จากเดิมที่มีเพียง 4 หน้าในนิยาย แต่กลับถูกขยายเรื่องในฉบับละคร ทำให้มีผู้ชื่นชอบและเรียกร้องให้ปราปต์เขียนแนววาย ซึ่งสุดท้ายเขานำแคแรกเตอร์ แชน-กบี่ มาเขียนในจักรวาลใหม่ในนิยาย ลิงพาดกลอน (2561) ขณะเดียวกัน สำนักพิมพ์ที่ปราปต์เขียนให้ในเวลานั้นกำลังจะแตกไลน์ใหม่ไปในทางวาย ปราปต์จึงไปรื้อพล็อตเก่าที่เคยจดบันทึกไว้ในไดอารีเมื่อช่วงปี 2553
ปราปต์เล่าไอเดียเริ่มต้นว่า “เรื่องก็ใสใส เป็นตุ๊กตาหมีกลายเป็นคน เป็นเรื่องผู้ชายผู้หญิง คือเจ้าของตุ๊กตาหมีเป็นผู้หญิงที่ต้องแบกรับภาระภายในบ้าน แม่ป่วย ตัวเองก็ดูแรงๆ ทุกคนจะเข้าใจว่าผู้หญิงคนนี้กร้านโลก แกร่ง แรง ดูแลครอบครัวได้ แต่ไม่มีใครเข้าใจเลยว่าภาวะข้างในเธอเศร้า ต้องแบกทุกอย่าง และทุกอย่างเธอก็จะเอามาคุยกับตุ๊กตาหมีที่เธอได้มาจากใครบางคน… ไปขุดเรื่องนี้มาก็ เออ! มันน่าจะเอามาทำเป็นวายได้เพราะว่าส่วนหนึ่งมันมาจากบริบทของสังคม เพราะตอนนั้นที่มีไอเดียนี้แต่ไปต่อไม่ได้เพราะเราไม่เชื่อว่าผู้หญิงจะเอาผู้ชายที่เป็นใครก็ไม่รู้เข้ามาอยู่ในบ้านได้อย่างไรในบริบทแบบคนไทยน่ะ แต่พอเจ้าของตุ๊กตาเป็นผู้ชายแล้วตุ๊กตาหมีกลายเป็นผู้ชาย มันยังพอดูจะเป็นไปได้หน่อย ที่เจ้าของบ้านเป็นผู้ชายจะเอาผู้ชายเข้ามาดูแล ก็เริ่มจากจุดนั้นแล้วพัฒนาพล็อตต่อไป”
ลำดับการเล่าเรื่องในละครค่อนข้างต่างจากในนิยาย คือแทนที่จะเริ่มเล่าตั้งแต่บทแรก ในละครกลับเริ่มเล่าจากเหตุการณ์หลักในช่วงบทต้นๆ คือจู่ๆ เต้าหู้ ตุ๊กตาหมีก็กลายเป็นคน (อิน-สาริณ รณเกียรติ) เขาเป็นตุ๊กตาที่ตั้งอยู่ในห้องนอนของ พีรณัฐ (จ๊อบ-ธัชพล กู้วงศ์บัณฑิต) ที่อาศัยอยู่กับแม่ มทนา (อุ๋ม-อาภาศิริ นิติพน) เพียงสองคน ขณะที่แม่มีอาการป่วยทางจิตเวช คือยังคงคิดถึงและมองเห็นพ่อ (ชาย-ชาตโยดม หิรัณยัษฐิติ) ที่เสียชีวิตไปแล้ว เธอจึงคิดไปเองว่าเต้าหู้คือเจ้าชายน้อยที่พ่อส่งมาให้อยู่เป็นเพื่อน ไม่เพียงเต้าหู้เท่านั้นที่มีชีวิต ในเรื่องนี้ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างสามารถพูดคุยสื่อสารกับเต้าหู้-ตุ๊กตาหมีตัวนี้ได้ด้วย
ปราปต์อธิบายเพิ่มเติมว่า “ตอนเขียนเรื่องนี้ก็นึกถึงอะไรที่ดูเด็กๆ ก็นึกถึงนิทาน ก็นึกถึงเรื่องเล่า เอาไปเชื่อมกับประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าของแต่ละคน แต่ละคนมีมุมมองไม่เหมือนกัน เหตุการณ์ในอดีตของคนนึง ความจริงของเขากับความจริงของอีกคนมันไม่เหมือนกัน เราก็ไปเชื่อมกับประวัติศาสตร์ที่มีทั้งกระแสหลักและทางเลือก พูดถึงการกดทับ ก็ได้ธีมบางอย่างเข้ามา” ตรงนี้ขออธิบายให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ในบ้านของพีรณัฐมีห้องหลักๆ 2 ห้อง คือ ห้องนอนของพีรณัฐเองที่อยู่ชั้นบน ก็จะมีข้าวของส่วนหนึ่งที่เป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์ต่างๆ เก็บกักความทรงจำส่วนตัวต่างๆ ของพีรณัฐไว้ เช่น สมุดบันทึก ผ้าห่ม หมอนข้าง ตุ๊กตาหมี ส่วนในห้องโถงชั้นล่างก็เป็นข้าวของในบ้านที่รับรู้เรื่องราวภาพรวมของบ้านนี้ รู้เห็นว่ามีใครเข้านอกออกในมาเกี่ยวข้องกับคนในบ้านหลังนี้บ้าง เช่น เก้าอี้โยก โซฟา รองเท้าแตะ ดังนั้น เท่ากับว่าข้าวของเหล่านี้คือตัวละคร และตัวละครเหล่านี้รับรู้ข้อมูลของบ้านหลังนี้คนละส่วนกัน หนำซ้ำพวกมันยังมีบุคลิกที่แตกต่างกันไปอีกด้วย
รองเท้าแตะข้างขวา: “สมแล้วที่เป็นมนุษย์ประเทศนี้ ดีแต่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม” (เขาสนใจการเมือง)
โซฟา: “ว้าว…ขนาดโกรธยังไม่ละทิ้งอุดมการณ์ ไอล่ะเรสเปกต์ยูจริงๆ” (เธอเป็นชนชั้นกลางพูดไทยคำอังกฤษคำ)
รองเท้าแตะข้างขวา: “สิ่งของที่แสดงฐานันดรของชนชั้นกลางอย่างเธอ (โซฟา) คงไม่รู้ว่าอุดมการณ์มันขับเคลื่อนด้วยความโกรธ”
โซฟา: “สตอปพลีส ไอเบื่อจะฟังยูพล่ามเรื่องชนชั้นความเหลื่อมล้ำอะไรนี่แล้ว”
รองเท้าแตะข้างขวา: “แทนที่จะมาประชดชั้น เอาเวลาไปเอดดูเคตตัวเองดีกว่านะ บ้านนี้ก็แค่กะลาใบนึง เธอคงชินกับการถูกกดทับ เลยไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เอาแต่ทำตัวเฟียซๆ พ่นไทยคำอังกฤษคำ หลบความกลัวไปวันๆ”
เต้าหู้: “…เป็นความผิดของผมเอง ผมขอสัญญานะฮะ ผมจะพาคุณรองเท้าแตะข้างซ้ายกลับมาให้ได้”
รองเท้าแตะข้างขวา: “สัญญาก็แค่ลมปาก สันดานพวกชนชั้นนำก็แค่หลอกใช้แล้วก็ทอดทิ้ง”
โซฟา: “…ทำมาว่าตัวเองเป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยอะไรวะไม่ฟังความเห็นต่าง”
มือถือ: “ปิตาธิปไตย” (เครื่องมือทางเทคโนโลยีที่มีข้อมูลมากแต่ไม่ค่อยได้เรื่อง)
เก้าอี้โยก: “สังคมชายเป็นใหญ่” (เหมือนป้าใจดีที่รอมชอมกับทุกเรื่อง)
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งถูกประกอบสร้าง
เรื่องราวต่างๆ ภายในบ้าน และตัวละครแม่ลูก พีรณัฐกับมทนา คือเนื้อหาหลักในนิยายที่เล่าไปกว่าครึ่งเล่มจากความหนา 579 หน้า แต่ในส่วนของละครหลังจากเล่าเหตุการณ์ตุ๊กตาหมีกลายเป็นคนแล้ว ก็กระโดดไปกลางเล่มเลย พร้อมๆ กับเอาส่วนของครึ่งเล่มแรกกระจายไปเล่าแซมในตอนต่างๆ เพราะครึ่งเล่มหลังของนิยายเรื่องนี้มีเนื้อหาเข้มข้นไปทางสืบสวนสอบสวน
ในละครคนดูจะรู้ทันทีว่า ในวันที่ตุ๊กตาหมีกลายเป็นคน ขณะเดียวกันนั้นที่เชียงใหม่มีชายอีกคนตกอยู่ในอาการโคม่า ซึ่งต่อมาเรื่องจะค่อยๆ เฉลยว่าเขาคือใคร ก่อนจะเล่าไปถึงตัวละครที่ทำงานในบริษัทผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ของพีรณัฐ อันประกอบไปด้วย เกณฑ์สิทธิ์ (เฟิร์สท-ภาราดา ชัชวาลโชติกุล) เกย์หนุ่มเพื่อนสนิทของพีรณัฐ, พริบพรี (พีพี-ปุญญ์ปรีดี คุ้มพร้อม รอดสวาสดิ์) กราฟิกมือใหม่ประจำออฟฟิศที่แอบรักพีรณัฐ, จุนเจือ (พุ-เหมันต์ เชตมี) ผู้กำกับเจ้าของบริษัท
เหตุการณ์ในส่วนของละครเริ่มเมื่อจุนเจืออยากกำกับซีรีส์วาย จึงมาขอให้พีรณัฐช่วยเขียนบทให้ ซึ่งเขาหยิบเอาเหตุการณ์ในอดีตของตัวเองเอามาเล่าเป็นซีรีส์เรื่องนี้ แต่มันไม่ค่อยจิ้นอย่างซีรีส์ทั่วไป เพราะอดีตของพีรณัฐไม่ได้สุขสมหวังอย่างซีรีส์ตลาดๆ ทั่วไป ทีนี้ก็จะกลายเป็นว่า ส่วนของพีรณัฐจะมีเรื่องในส่วนของซีรีส์ที่กำลังถ่ายท ำเข้ามาแทรกซ้อนทับกับเหตุการณ์จริงในอดีตของพีรณัฐที่เล่าคลอตามไปตลอดเวลา ไปสู่จุดของการสืบสวนว่าชายผู้ตกอยู่ในโคม่าที่เชียงใหม่คนนั้นเป็นใคร, ใครทำให้เขาบาดเจ็บสาหัส ไปจนถึงเขาเกี่ยวข้องกับเต้าหู้อย่างไร แล้วทำไมตุ๊กตาหมีถึงกลายมาเป็นคน
อันที่จริงสิ่งที่ปราปต์หยิบมาใช้กับนิยายเรื่องนี้เป็นสัญลักษณ์ง่ายๆ พื้นฐานมากๆ นับตั้งแต่ตุ๊กตาหมีที่ให้ความอบอุ่น เปลี่ยวเหงา การโหยการการสัมผัสหรือโอบกอด การให้ตัวละครแต่ละคนมีอาชีพอันเป็นพื้นฐานของบ้านนี้เมืองนี้มากๆ เช่น ครู ทหาร หมอ ตำรวจ นักเรียน วิศวกร นักลงทุนซื้อขายที่ดิน นักเขียนบทหนัง นักเคลื่อนไหวทางการเมือง
ขณะที่ในนิยาย เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนต้องสะดุดตากับชื่อตอน ที่คนอ่านอาจจะงงๆ อิหยังวะ ว่ามันเกี่ยวอย่างไรกับเนื้อหาในแต่ละตอน เช่น มาจากอัลไต, นางนพมาศ, บางระจัน, ไม่เคยเป็นเมืองขึ้น, เสียกรุงครั้งที่ 2 เพราะขาดสามัคคี, 16 มรณสักขีแห่งสองคอน, ไทยคือเชื้อสายบริสุทธิ์, ผู้สังหารนักศึกษา 6 ตุลา, รสไทยแท้ ฯลฯ
ตรงนี้จะขอหยิบยกจากที่ปราปต์เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “พล็อตเรื่องมันคล้ายๆ สื่อนัยบางอย่างของสิ่งที่เราจะพูด อย่างที่บอกว่ามันมีเรื่องของประวัติศาสตร์ เรื่องเล่า เรื่องนี้มันพูดถึงประวัติศาสตร์ความรุนแรง สิ่งที่ถูกกดทับ เรื่องปาฏิหาริย์คือสิ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น แต่กลับเกิดขึ้น ทำให้เรานึกถึงประวัติศาสตร์ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในประเทศของเรามันมีอะไรบ้างที่มันไม่ควรจะเกิดขึ้นแต่กลับเกิดขึ้น ก็จะพบความรุนแรงหลายๆ สิ่ง เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนสัญลักษณ์บางอย่างที่ซ่อน ซ่อนอยู่ลึกที่สุดเลย” สิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่ถูกถักทอประกอบสร้างในนิยายกลายเป็นลูกเล่นไม่ซ้ำใครของปราปต์ ที่สะท้อนความคมคาย แยบคาย ซับซ้อนกันหลายชั้น ล้วนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ความเป็นมา เรื่องเล่า อดีต ความเชื่อ ความจริงที่มีหลายด้าน ที่ล้วนผ่านประวัติศาสตร์ความรุนแรง การกดขี่ การกดทับ การเรียนรู้ ฯลฯ
ความหมายบนฉากหลัง
ดังที่เล่ามาจะพบว่าในนิยายมีรายละเอียดยุ่บยั่บนัยซับซ้อนให้ตีความขบคิดไขปริศนา แต่จะทำอย่างไรให้คลี่คลาย พอดิบพอดี เมื่อดัดแปลงเป็นฉบับละคร ซึ่งจุดนี้ก็ต้องนับว่าละครเรื่องนี้ฉลาดมากในการซ่อนนัยต่างๆ ไว้อย่างคมคายบนฉากหลัง ที่หากผู้ชมจะสังเกตก็อาจจะสนุกไปอีกแบบ ซึ่งก่อนอื่นต้องบอกว่าสิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนเท่านั้น ความจริงอาจมีหรือไม่มีความหมายใดๆ เลยก็เป็นได้
ละครเปิดเรื่องในวันที่คุณหมีเกิดปาฏิหาริย์กลายเป็นคน คือ ซึ่งปรากฏข่าวว่าวันนั้นเป็นวันที่เกิดดาวหางนีโอไวส์ ซึ่งในความเป็นจริงวันดังกล่าวคือวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ขณะที่ในอีกช่วงหนึ่งละครได้เล่าว่าครอบครัวของพีรณัฐและแม่ย้ายออกจากบ้านในวันที่ 23 กรกฎาคม 2560 อันนับเป็นเวลา 3 ปีพอดี ขณะที่จู่ๆ ก็เจาะจงระบุเวลาเกิดเหตุขึ้นมาตรงมุมขวา คือ 8:54 และ 8:55 ตัวเลขนี้อาจมีความหมาย หรืออาจไร้สาระใดใดก็ได้ เช่น เป็นไปได้หรือไม่ว่า
-
5+4 = 9
5+5 = 10
แล้วถ้าย้อนไปดังที่ปราปต์เคยระบุไว้ว่าต้นตอของเรื่องนี้เขาเขียนเก็บไว้ตั้งแต่ช่วงปี 2553 เหตุการณ์ย้ายบ้านของพีรณัฐคือ 10 ปีพอดีหลังเหตุการณ์ปี 2553 อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัชกาลที่ 9 สู่รัชกาลที่ 10 ว่าแต่ว่าในช่วงปี 2560 นั้น มีเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้างเกิดขึ้นในเมืองไทย
เหตุการณ์สำคัญในปี2560
12 กุมภาพันธ์ — สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
17 มีนาคม — ชัยภูมิ ป่าแส (อายุ 17 ปี) ถูกยิงเสียชีวิต
6 เมษายน — สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
14 เมษายน — มีการเปลี่ยนหมุดคณะราษฎร โดยข้อความใหม่มีว่า “ความนับถือรักใคร่ในพระรัตนตรัยก็ดี ในรัฐของตนก็ดี ในวงศ์ตระกูลของตนก็ดี มีจิตซื่อตรงในพระราชาของตนก็ดี ย่อมเป็นเครื่องทำให้รัฐของตนเจริญยิ่ง ขอประเทศสยามจงเจริญยั่งยืนตลอดไป ประชาชนสุขสันต์ หน้าใส เพื่อเป็นพลังของแผ่นดิน”
25-29 ตุลาคม — พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
หนังสือสำคัญอีกเล่มที่ไม่ถูกเอ่ยถึง
ทั้งในนิยายและละครมีหนังสือสำคัญ 2 เล่ม หนึ่งคือเจ้าชายน้อย ส่วนอีกเล่มจะขอยกไปไว้ในลำดับสุดท้าย แต่ในขณะเดียวกันมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ไม่เคยถูกเอ่ยถึงในเรื่องนี้เลย แต่กลับจงใจวางไว้อย่างโดดเด่นและปรากฏขึ้นหลายต่อหลายครั้ง มันตั้งอยู่ทั้งในห้องนอนและที่ทำงานของพีรณัฐ หนังสือเล่มนั้นคือ วิกฤต 19 = Crisis nineteen : ลำดับเหตุการณ์บ้านเมือง 19 กันยายน 2549-19 พฤษภาคม 2553 โดย วาด รวี อันมีเนื้อหาโดยย่อดังนี้
คำคมสำคัญ
ก่อนหน้านี้อาจนับเป็นความบังเอิญ(รึเปล่า)ไม่ทราบ แต่ ณ ตรงนี้ดูจงใจอย่างยิ่ง เมื่อในออฟฟิศของพีรณัฐมีคำคมสำคัญ อันเกี่ยวพันกับเนื้อหาของเรื่อง ดังนี้
ภาพบน จากซ้ายไปขวา
ประโยคแรก
“It is only with the heart that one can see rightly; what is essential is invisible to the eye.” สิ่งสำคัญมิอาจเห็นด้วยตา แต่ด้วยหัวใจต่างหาก
ประโยคนี้มาจากนิยายเจ้าชายน้อย The Little Prince วรรณกรรมเยาวชนคลาสสิคของฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงที่สุดของ อองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี นักเขียนอดีตนักบิน ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2486
ประโยคสอง
“Hope is like peace. It is not a gift from God. It is a gift only we can give one another.” ความหวังเปรียบเสมือนสันติสุข มันไม่ใช่ของขวัญจากพระเจ้า มันคือของขวัญที่เราสามารถมอบให้กับผู้อื่นได้ต่างหาก
เป็นคำกล่าวของ เอลี วีเซล (Elie Wiesel) เหยื่อผู้รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์นาซีจากเอาช์วิทซ์ เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพ ผู้เสียชีวิตในวัย 87 เมื่อ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2559
ประโยคสาม
“The fault, dear Brutus, is not in our stars, / But in ourselves, that we are underlings.” ข้อความส่วนนี้ได้รับการถอดเป็นภาษาไทยโดยศิลปินแห่งชาติ ทวีปวร (ทวีป วรดิลก) ว่า “อันความผิดมิตรเอยเฉลยเอา ใช่ดวงดาวพราวเพราเจ้าบันดาล”
มาจากบทละครของเชกสเปียร์ เรื่องจูเลียส ซีซาร์ (องก์ 1, ฉาก 2) เมื่อคาซิอุสกล่าวกับบรูตัส ซึ่งประโยคนี้เป็นแรงบันดาลใจต่อมาสำหรับนิยาย The Fault in Our Stars ของ จอห์น กรีน ที่พูดถึงชะตากรรมที่คนสองคนมาพบเจอแล้วรักกันในขณะที่หนึ่งในนั้นกำลังป่วยหนักและใกล้ตาย
ประโยคสี่
ในช่วงที่ปรากฏคำคมนี้ มีบทสนทนาระหว่างพีรณัฐกับเพื่อนว่า “ไม่รู้ไอ้เต้าหู้มันวางแผนอะไรอีกหรือเปล่า” ก่อนจะตัดไปที่บ้าน แม่พูดกับเต้าหูว่า “มันเป็นแผนของป้าเองจ้ะ” เต้าหู้ตอบกลับว่า “หมายความว่าป้าแกล้งเล่นละครหมดเลยหรือฮะ”
ฉากหลังในออฟฟิศพีรณัฐปรากฎคำคมนี้ “All the world’s a stage, And all the men and women merely players; They have their exits and their entrances; And one man in his time plays many parts, His acts being seven ages. มาจากบทประพันธ์เชกสเปียร์เรื่อง As You Like It หรือตามใจท่าน
รัชกาลที่ 6 เคยแปลเป็นไทยว่า “ทั้งโลกเปรียบเหมือนโรงละครใหญ่, ชายหญิงไซร้เปรียบตัวลครนั่น ต่างมียามเข้าออกอยู่เหมือนกัน คนหนึ่งนั้นย่อมเล่นตัวนานา คือแบ่งเป็นเจ็ดปางอย่างนี้ไซร้” (หนึ่งลูกอ่อนนอนไห้อยู่จ้าๆ ในวงแขนพี่เลี้ยงกล่อมเกลี้ยงมา จนกว่าจะสามารถอาจเลี้ยงตน / สองคือเด็กนักเรียนแรกเขียนอ่าน ถือย่ามผ่านไปพลางทางพร่ำบ่น หน้าแฉล่มแจ่มปานพระสุริยน ไปโรงเรียนชอบกลราวหอยคลาน / สามคือหนุ่มรักสมรเฝ้าถอนใจ ราวเตาไฟที่เพลิงเร้าเริงผลาญ แต่งเพลงยาวชมขนงเจ้านงคราญ / สี่ทหาร เสียงดังตึงตึงไป และหนวดเคราคล้ายเสือเหลือจะรัก เกียรติศักดิ์มักวิวาทปราดเข้าใส่ ถลันหาเกียรติยศแม้ที่ใน ปากปืนใหญ่ไม่พรั่นหวั่นวิญญา / ห้าลูกขุนผู้ใหญ่ไก่เต็มพุง จนท้องตุงตัวอ้วนท้วนหนักหนา ตาขมึง หนวดเคราเข้าตำรา ชำนาญในกติกาประเพณี / ตกลงมาถึงปางคำรบหก เป็นตลกซูบแท้แก่เต็มที่ ใส่แว่นตาคาดกระเป๋าเทราฤดี ถุงตีนที่เคยใช้แต่เยาว์วัย ก็หย่อนย่นร่นหลวมสวมเขาเหี่ยว เสียงเคยห้าวกลับเรียวลงไปได้ ราวเสียงเด็กยามสนทนาไป เสียงนั้นไซร้แห้งแหบหอบหืดครัน / ปางสุดท้าย นี้หมายจบประวัติ อันเห็นชัดเป็นเด็กอีกแม่นมั่น มีแต่หลงลืมไป อีกไร้ฟัน ไร้ตา ไร้รสสรรพ์ ไร้ทั่วไป) อันบทบาท 7 ช่วงชีวิตที่เชกสเปียร์เอ่ยถึงมีอยู่ครบถ้วนในคุณหมีปาฏิหาริย์
หนังสือสำคัญอีกเล่มหนึ่ง
อย่างที่เกริ่นไปว่าในเรื่องมีหนังสือสองเล่มที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้ง นอกจากเจ้าชายน้อยแล้ว อีกเล่มคือ แล้วฉันจะกลับมา เขียนโดย อิชิคาวะ ทาคุจิ แปลโดย น้ำทิพย์ เมธเศรษฐ นิยายเรื่องนี้คือต้นฉบับของ Be with You อันลือลั่นที่เคยถูกทำเป็นหนังญี่ปุ่นในปี 2547, ก่อนจะกลายเป็นซีรีส์ญี่ปุ่น 10 ตอนจบในปี 2548, แล้วกลายมาเป็นหนังเกาหลีอีกทีหนึ่งในปี 2561 อันเป็นนิยายอีกเรื่องที่เกิดปาฏิหาริย์ เมื่อภรรยาผู้เสียชีวิตกลับมาหาสามีและลูกในวันฝนตก แต่เธอไร้ซึ่งความทรงจำ และไม่มีใครรู้ว่าเธอกลับมาได้อย่างไร จะอยู่อีกนานแค่ไหน และจะจากไปอีกเมื่อไร เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่ในโครงเรื่องของ คุณหมีปาฏิหาริย์ อีกเช่นกัน
จริงๆ แล้วในละครยังปรากฏรายละเอียดอีกมาก ไม่ว่าจะโปสเตอร์หนังหน้าห้องของพีรณัฐ เช่น คลื่นเหงาสาวข้างบ้าน หรือปอบ หวีด สยอง ล้วนเป็นผลงานของผู้กำกับการแสดงซีรีส์เรื่องนี้ คือ เหมันต์ เชตมี ผู้รับบทจุนเจือเจ้าของออฟฟิศด้วย หรือโปสเตอร์หนังต่างชาติในห้องพีรณัฐ เช่น The Fault in Our Stars หรือ The Ordinary People ก็ล้วนพูดถึงความป่วยไข้ทางจิตใจ การปรารถใครเข้ามาเติมเต็ม รวมไปถึงนิยายแฟนตาซีต่างๆ เช่น House of Secret, Harry Potter, ไวท์โรด และ The Lord of the Ring ที่เหมือนเด็กๆ หวังอยากให้เกิดปาฏิหาริย์ ผจญภัย มีความสุขสมหวัง แต่ชีวิตจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น
ซีรีส์กับละครแตกต่างกันอย่างไร
มีข้อมูลน่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการแบ่งแยกเนื้อหาว่าเป็นซีรีส์หรือละครนั้น จริงๆ แล้วควรเป็นอย่างไรแน่ อย่างหากสังเกต ผู้เขียนจะใช้คำว่าละครสำหรับคุณหมีปาฏิหาริย์ ขณะเดียวกันเดี๋ยวนี้คำว่าซีรีส์ก็ถูกเรียกเป็นความหมายโดยรวมของละครทีวีไปหมดแล้ว ข้อสงสัยนี้ รศ. ดร.ธีรพงษ์ อินทโน อาจารย์ภาควิชาไทยศึกษา คณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกศึกษา แห่งสถาบันภาษาและวัฒนธรรมตะวันออกแห่งชาติ (INALCO) กรุงปารีส ฝรั่งเศส ได้อธิบายว่า “ถ้าตามทฤษฎีจริงๆ แล้วส่วนใหญ่ที่เราดูกันในเมืองไทยเป็นละคร ไม่ใช่ซีรีส์ เพราะลักษณะเฉพาะของซีรีส์คือ สามารถดูแยกตอนได้ ดูตอนใดตอนหนึ่งก็เข้าใจได้ ไม่จำเป็นต้องดูทั้งเรื่อง ถ้าต้องติดตามดูยาวทั้งเรื่องถือว่าเป็นละคร แม้กระทั่งเกาหลีเองเขาก็ไม่เคยเรียกตัวเองว่าซีรีส์ เขาเรียกตัวเองว่า Kdrama เคดราม่า เพียงแต่ว่าพอไปมีพาวเวอร์ในต่างประเทศ ก็มีการเรียกรวมๆ ให้เข้าใจง่ายขึ้นว่าเป็นซีรีส์ แต่ทางทฤษฎีแล้ว ซีรีส์ไม่ใช่แบบนี้ เพราะซีรีส์ต้องดูแยกแล้วรู้เรื่อง ในแต่ละอีพีจะมีต้น กลาง จบในตอน คือในแต่ละอีพีจะมีภารกิจที่ต้องแก้ไขให้จบภายในหนึ่งอีพี”
ส่วนตัวผู้เขียนต้องสารภาพว่าห่างหายจากการดูละครทีวีมานานมาก เพิ่งได้มีโอกาสกลับมาดูไลฟ์สดอย่างต่อเนื่องจริงจังก็จากเรื่องนี้ ด้วยเหตุความเบื่อหน่ายที่ละครไทยยังคงพูดถึงประเด็นซ้ำซากเดิมๆ หลายๆ เรื่องก็ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกมาตั้งแต่ 60 ปีก่อนยังมีเลย แม้จะบอกว่าปรับให้เข้ายุคเข้าสมัย แต่มันไม่เคยร่วมสมัยหรือมีประเด็นประเทืองปัญญาใดใด เมื่อเทียบกับคุณหมีปาฏิหาริย์ ที่เล่าเรื่องปมปัญหาในครอบครัวที่พบเห็นได้ในสังคมปัจจุบัน ก็ได้แต่หวังใจว่าช่องสามจะผลิตละครเนื้อหาดีดีเช่นนี้ออกมาอีก แล้วก็ต้องสารภาพอย่างไม่อายว่าเป็นละครที่สะเทือนใจเป็นอย่างมาก เหมือนสะท้อนรากปัญหาในสังคมไทยมาตีแผ่ ทำเอาผู้เขียนน้ำตาหล่นร้องไห้อย่างไม่เคยเกิดอาการแบบนี้มาช้านานแล้ว และหนึ่งในตัวละครที่แสดงได้สมบทบาทดีเยี่ยม คือบทแม่ มทนา ที่แสดงโดย อุ๋ม-อาภาศิริ ที่แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะไม่เหมือนอย่างที่นิยายบรรยายไว้ แต่การแสดงของเธอกุมหัวใจคนดูได้อย่างน่าทึ่ง พอดิบพอดี งดงาม และสะเทือนใจอย่างยิ่ง (ผู้เขียนประทับใจฉากที่เธอร้องเพลง เธอคือลมหายใจ ของ จั๊ก-ชวิน ในปาร์ตี้สุดท้าย ep14 ด้วยเสียงจริงอย่างที่ไม่เคยเห็นเธอในมุมนี้มาก่อนเลย คือน่ารักมาก)
สิ่งต่างๆ ที่ทีมงานเรื่องนี้กระทำสะท้อนก้องอยู่ในบทพูดมากมาย และที่ชัดเจนสุดคงเป็นประโยคที่พีรณัฐได้ประกาศกร้าวในตอนหนึ่งแล้วละครก็ทำได้ดังว่าจริงๆ ก็คือ
“ณัฐจะไม่เขียนเป็นซีรีส์เกย์ยูโทเปีย ทั้งโลกเป็นสีพาสเทล ครอบครัวเพื่อนพ้องรู้ว่าตัวเอกเป็นเกย์แล้วก็รับกันได้ง่ายๆ เพราะในความจริงมันไม่ใช่! ณัฐจะเขียนเป็นเรื่องแทรกการเมือง พูดถึงอำนาจและการกดทับที่บังคับให้คนแปลกแยกต้องทำลายตัวตนกับความทรงจำของตัวเองทิ้งไป เพื่อจะมีชีวิตอยู่ให้รอด อยู่โดยไม่ต้องมีจิตวิญญาณ”