ThaiPublica > คอลัมน์ > Fujoshi, Ukkari Gei ni Kokuru สาววายเผลอใจรักเกย์

Fujoshi, Ukkari Gei ni Kokuru สาววายเผลอใจรักเกย์

25 ธันวาคม 2021


1721955

ซีรีส์ 8 ตอนจบ Fujoshi, Ukkari Gei ni Kokuru (2019, ชื่อญี่ปุ่นแปลว่า สาววายบังเอิญรักเกย์หนุ่ม-ขอเรียกย่อๆ ว่า Fujoshi) ที่ล่าสุดในปี 2021 นี้เพิ่งถูกดัดแปลงเป็นฉบับหนังลงจอใหญ่ โดยทั้งฉบับซีรีส์และหนังมีเนื้อหาเหมือนกัน และดัดแปลงจากนิยายไลต์โนเวล What She Likes Are Homos And Not Me (2018) โดย นาโอโตะ อะซาฮาระ ซึ่งเดิมทีถูกวาดเป็นเว็บตูนรายสัปดาห์มาก่อนในปี 2016 จนเป็นที่นิยมเลยถูกเขียนเป็นนิยายปี 2018 แล้วกลายเป็นมังงะ 3 เล่มจบในปี 2019 อันเป็นปีเดียวกับที่มีฉบับซีรีส์ทางช่อง NHK ที่เรากำลังจะพูดถึงคราวนี้

อันโดะ จุน (คาเนโกะ ไดจิ) บังเอิญเจอ มิอุระ ซาเอะ (ฟูจิโนะ เรียวโกะ) เพื่อนร่วมชั้นมัธยมปลายที่ทั้งปีทั้งขาติไม่เคยคุยกันในห้องเรียนเลย แต่วันนี้เธอต้องรวบรวมความกล้าดิ่งตรงไปขอร้องเขา เพราะไม่กี่นาทีก่อนนี้เขาเพิ่งเห็นเธอซื้อการ์ตูนวายในร้านหนังสือ ในอดีตเธอมีปมเรื่องถูกเพื่อนผู้หญิงด้วยกันล้อที่เธอวาดและอ่านการ์ตูนวาย ส่วนฝ่ายจุน หนุ่มเย็นชาที่ไม่ได้สนใจอะไรอยู่แล้ว เพราะตลอดเวลาใจเขาจดจ่อกับเพลงของวง Queen ในหูฟัง ขณะนั้นเขาก็แค่หันมาขอดูว่าในมังงะวายเขาวาดเกย์ออกมายังไงบ้าง “แฟนตาซีจังเลยนะ” เขารำพึงออกมาก่อนจะถามซาเอะว่า

“ทำไมเธอถึงชอบอ่านบอยเลิฟล่ะ”
“เพราะมันประหลาดดี แล้วคนรอบข้างฉันไม่มีใครเป็นแบบนี้เลย”

จุนสะดุดใจกับคำว่า “ประหลาด” ก่อนจะคืนหนังสือให้ซาเอะแล้วขอตัวเดินจากไป “เธออยู่ห้องเดียวกับผม วาดรูปเก่ง… เธอชอบอ่านบอยเลิฟ … แต่ว่า เธอกลับไม่เคยรู้เลยว่า… ผมที่เป็นเพื่อนร่วมห้องของเธอ… เป็นเกย์”

วายญี่ปุ่นแฟนตาซีจนไม่สนับสนุนLGBTQ

เพียง 5 นาทีแรกของซีรีส์ Fujoshi ได้อธิบายคร่าวๆ ถึงตัวละครซาเอะที่คลั่งบอยเลิฟเอามากๆ แต่กลับดูไม่ออกเลยว่า จุน เพื่อนร่วมห้องเป็นเกย์ ขณะที่จุนก็มีชีวิตส่วนตัวอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ปิดบังความเป็นเกย์ของตน และมองว่าสิ่งที่วาดในบอยเลิฟ “มันแฟนตาซีจังเลยนะ”

แม้ว่าบอยเลิฟ (BL) หรือนิยายวายที่กำลังฮิตไปทั่วเอเชียขณะนี้ ทุกคนจะรับรู้กันว่ามันมีต้นกำเนิดมาจาก Yaoi (ยาโอ้ย やおい อันเป็นคำย่อมาจาก Yamanashi Ochinashi Iminashi แปลว่า ไม่มีจุดไคลแม็กซ์ ไม่มีจุดจบ ไม่มีความหมาย) ซึ่งในปัจจุบันหมายถึงเรื่องรักระหว่างชายกับชายของญี่ปุ่น และมักจะมีฉากร่วมเพศ (บ้านเราเรียก NC = not for children) จนถูกมองว่าเป็นการ์ตูนโป๊ มีความแฟนตาซีเบาๆ เช่น ในชีวิตจริงพ่อแม่ที่มีลูกเกย์มักจะไม่ยอมรับลูกตัวเอง ขณะที่สังคมแฟนตาซีในนิยาย BL คนรอบข้างเพื่อนฝูงพ่อแม่จะเข้าอกเข้าใจรักแนวนี้ได้เป็นอย่างดี หรือการกอดจูบระหว่างชายกับชายในที่สาธารณะ ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งความฟินจิกหมอนสำหรับติ่ง BL รวมถึงตัวการ์ตูนทุกตัวจะถูกวาดออกมาหล่อหน้าตาดีหมดเลย

จากหัวข้อบรรยายประเด็น BL ที่จัดขึ้นทางออนไลน์โดยมูลนิธิญี่ปุ่น ศ. ดร. นากาอิเกะ คาซุมิ จากมหาวิทยาลัยโออิตะ ผู้เชี่ยวชาญบอยเลิฟ ได้ระบุว่า

“ปัจจุบันมีผลงานแนวนี้ไม่ต่ำกว่า 150 ชิ้นงานต่อเดือนที่ถูกตีพิมพ์เป็นมังงะไม่น้อยกว่า 30 ชิ้น มีมูลค่าการตลาดมากถึง 400 ล้านเยนต่อปี และมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากล่าสุดมันได้ระบาดไปฝั่งยุโรปและอเมริกาบ้างแล้ว… ซึ่งเกือบทั้งหมดเขียนโดยผู้หญิงเพื่อให้นักอ่านที่เป็นหญิงโดยส่วนใหญ่อ่าน”

ศ. ดร. นากาอิเกะ ตั้งข้อสังเกตว่า เพราะวายญี่ปุ่นถูกผลิตมาเพื่อผู้หญิงหรือเปล่า ทำให้แทบจะไม่สื่อปัญหา LGBTQ เลยไม่ว่าจะในซีรีส์ฮิตอย่าง Ossan’s Love (2018) และ Cherry Magic! (2020) อีกกรณีหนึ่งเธอได้ยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์ของยูคิซาดะ อิซาโอะ ผู้กำกับชายที่หันมากำกับแนวBL เรื่อง The Cornered Mouse Dreams of Cheese (2020) เมื่อถูกถามว่าหนังเรื่องนี้ต้องการจะให้ผู้ชมตระหนักถึงเพศวิถีหรือเปล่า ยูคิซาดะตอบว่า “ผมทำหนังรักมาหลายเรื่อง บอยเลิฟคือความรักอีกรูปแบบหนึ่ง” นั่นหมายความว่าเรื่องชายรักชายถูกนำเสนอบนฐานของการเป็นเพียงอรรถรสหนึ่งเท่านั้น หรือการที่ตัวผู้กำกับตอบแบบนี้เกรงจะถูกเหมารวมว่าเป็นเกย์ ขณะที่สังคมสมัยนี้เปิดกว้างแล้วทำไมผู้ชายยังเลิ่กลั่กไม่สามารถพูดเรื่องการสนับสนุน LGBTQ ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

มาถึงตรงนี้ กลายเป็นปัญหาของวายญี่ปุ่นไปโดยปริยาย ที่มุ่งเน้นแฟนตาซีจนมองไม่เห็นว่า LGBTQ มีตัวตนอยู่จริงๆ ขณะที่ซีรีส์ Fujoshi น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ซึ่งสะท้อนปัญหา LGBTQ ที่ถูกละเลยไปให้หันกลับมามองว่า สังคมเกย์ญี่ปุ่นมันอยู่ยาก มันไม่ใช่แค่ความรักจิ้นสุดฟินแสนสวยงามอย่างในนิยายวายเลย บางคนถูกเหยียด ถูกกลั่นแกล้ง ถูกกีดกัน บางคนฆ่าตัวตายก็มี บางคนต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ บางคนเลือกจะแต่งงานกับเพศตรงข้ามแล้วมีลูกเพื่อปิดบัง ซึ่งประเด็นทั้งหมดที่เอ่ยมานี้มีครบในซีรีส์ Fujoshi

เมื่อซีรีส์เริ่มอธิบายสังคมในห้องเรียนมัธยมปลายของจุนกับซาเอะ ให้เห็นว่าพวกเขาคุยกันเรื่องทั่วไป เช่น ผู้หญิงก็จะคุยเรื่องดารา ละคร ความงาม ผู้ชายก็จะอยากรู้อยากเห็นว่าเพื่อนที่มีแฟนแล้วมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งถึงขั้นได้เสียกันหรือยัง ก่อนจะตัดกลับมาเล่าสภาพครอบครัวของจุน ที่แม่ของเขาต้องทำงานหนัก กลับบ้านดึก และหย่าขาดจากพ่อตั้งแต่เขายังเด็ก คงเพราะแบบนี้ จุนเลยชอบผู้ชายที่แก่กว่า

แล้วซีรีส์ก็ตัดฉับไปที่โมเตลม่านรูด จุนในร่างเปลือยใต้ผ้าห่มคุยกับซาซากิ มาโกโตะ (ทานิฮาระ โชสุเกะ) คู่ขาที่แก่กว่าเขาเกินสองรอบ

“แฟนตาซีสุดๆ ไปเลย ทำครั้งแรกก็ใส่เข้าได้เลย แถมยังเสียวอีกด้วย”
“ตอนจุนคุงครั้งแรกก็ลำบากเหมือนกันนะ”

นี่คือบทสนทนาบนเตียงที่จุนเล่าให้คุณมาโกโตะฟังเกี่ยวกับนิยายวายที่ซาเอะอ่าน ก่อนที่โทรศัพท์ของมาโกโตะจะดังขึ้น
จุนถามเขาอย่างเกรงใจ “ภรรยาหรือ… ขอโทษนะที่ผมเรียกคุณออกมา”

“คุณมาโกโตะมีทั้งภรรยาและลูกแล้ว… ถ้ามิอุระรู้เข้าเธอคงดูถูกผมน่าดู… การหลอกผู้หญิงเพื่อรักษาภาพลักษณ์ทำให้เห็นว่าเกย์ในโลกจริง… มันสกปรก… อาจพาลเกลียดบอยเลิฟที่ชอบมากๆ ไปเลยก็ได้”

เกย์ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้สเตอริโอไทป์อย่างใน BL ที่จะมีแค่ Seme (เซเมะ = รุก) ที่มักจะถูกวาดเป็นหนุ่มกล้ามโต หรือตัวสูง สุดหล่อ เท่ห์ กับ Uke (อุเคะ = รับ) ที่จะมาในรูปลักษณ์เด็กผู้ชายตัวเล็กๆ หน้าสวย น่ารัก น่าทะนุถนอม ชีวิตจริงไม่ใช่เกย์ทุกคนจะหน้าตาดี และพวกเขาอาจมีครอบครัว มีเมีย มีลูก หรือต้องทำตามความปรารถนาของพ่อแม่

ธรรมเนียมญี่ปุ่นโบราณสนับสนุนชายร่วมเพศกับชาย

ในนิยายวายบางครั้งเรียกรักแนวนี้ว่า Pure love หรือรักบริสุทธิ์ สารคดีฮ่องกง Yang ± Yin: Gender in Chinese Cinema (1996) ของ สแตนลีย์ กวาน เคยให้ความเห็นว่า “หากย้อนไปในหนังจีนฟันดาบ หรือหนังจำพวกนักเลงกู๋หว่าไจ๋ ที่นำเสนอด้านแมนๆ ของเพศชาย ซึ่งมักจะมีตัวละครชายที่ยอมตายแทนพระเอกได้ ความรักแท้ที่สละได้แม้แต่ชีวิต สิ่งนี้มีนัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายด้วยหรือเปล่า”

จริงๆ แล้วในสังคมญี่ปุ่นการรักเพศเดียวกันไม่เคยถูกมองว่าเป็นความผิดบาปเลย ทั้งในทางสังคมและทางศาสนา (ในแวดวงโป๊เกย์ญี่ปุ่นปัจจุบัน มีหลายเรื่องด้วยซ้ำที่นักแสดงเป็นเณรหรือเด็กฝึกที่กำลังจะเป็นนักบวช รวมถึงพระเอกโป๊ชายหญิงบางทีก็หันมารับจ๊อบเล่นโป๊เกย์ก็มี) แต่การร่วมเพศทางทวารหนักระหว่างเพศเดียวกัน ครั้งหนึ่งเคยเป็นกฎหมายต้องห้ามในปี 1873 แต่บทบัญญัตินั้นก็มีอันยกเลิกไปในอีกเพียง 7 ปีต่อมา (กฎหมายสมัยเมจินี้ได้รับอิทธิพลจากราชวงศ์ฉิงของจีน ซึ่งจีนได้อิทธิพลต่อมาจากยุควิกตอเรีย อันเป็นช่วงปลายราชวงศ์ฉิงที่จีนพยายามปรับตัวให้ทันสมัยมีอารยะทัดเทียมโลกตะวันตก ซึ่งกฎหมายนี้พ่วงมาจากสมัยปฎิรูปเมจิที่พยายามจะยกเลิกชนชั้นซามูไร)

ในขณะที่ยุโรปมองเรื่องทางเพศในแง่ศีลธรรมหรือความผิดบาป ญี่ปุ่นกลับมองว่าเป็นความสุขสม (pleasure ความพึงพอใจ ความเพลิดเพลินใจ) เป็นสถานะทางสังคม และความรับผิดชอบต่อสังคม ครั้งหนึ่งพวกเขายึดถือวิถีชูโดะเป็นธรรมเนียมแพร่หลายในสังคมซามูไรตั้งแต่ยุคกลางจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ชูโดะย่อมาจากวะกะชูโดะ (Wakashudo) หรือ วิถีชายหนุ่ม ซึ่งหนึ่งในธรรมเนียมชูโดะนี้คือ นันโชกุ (Nanshoku) ที่เชื่อกันว่าต้นกำเนิดมาจากพระในวัดสมัยศตวรรษที่ 9 เมื่อคุไก ผู้ก่อตั้งลัทธิชินกอน กลับมาจากจีนสมัยราชวงศ์ถัง แม้ว่าคุไกจะเคร่งครัดในพระวินัยอย่างมาก และมิได้สอนนันโชกุอย่างเป็นทางการ แต่เป็นอันรู้กันว่าสามารถกระทำได้ในหมู่สงฆ์ และนันโชกุแพร่งพรายออกมานอกวัดเพราะเรื่องเล่าลือ ที่เรียกว่า ชิโกะ โมโนกาตาริ (ชิโกะ หมายถึงเด็กวัด หรือเณรน้อย ในที่นี้มีนัยถึงพระครูเสพกามกับเณร)

ในหนังสือ Male Colors: The Construction of Homosexuality in Tokugawa Japan ของ Gary P. Leupp ได้อธิบายว่า “คำว่า นันโชกุ มักถูกแปลความว่า Sodomy (เล่นสวาทกับเพศเดียวกัน) หรือ Pederasty(เปเดรัสติส หมายถึงผู้รักเด็กชาย เป็นจารีตยุคกรีกโบราณที่เชื่อกันว่าคนเราสามารถถ่ายทอดสอดใส่องค์ความรู้จากอาจารย์สู่ศิษย์ได้ผ่านทางน้ำกาม) ซึ่งค่อนข้างใกล้เคียง แต่นันโชกุคือการร่วมเพศระหว่างชายกับชายเท่านั้น (ไม่เกี่ยวกับหญิงกับหญิง ซึ่งญี่ปุ่นอันเป็นหนึ่งในพวกชายเป็นใหญ่มองว่า หญิงมีสถานะต่ำศักดิ์กว่าชาย ไม่สามารถร่วมจารีตศักดิ์สิทธิ์นี้ได้) และมีความหมายเฉพาะระหว่างชายแก่หรือชายหนุ่มที่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่ม หรือระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง นายกับบ่าวเท่านั้น โดยเฉพาะในหมู่ซามูไร หรือนักบวช นันโชกุคือการแสดงความรักความภักดีอย่างสูง เป็นความฮึกเหิม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และการเชื่อฟัง เป็นเหมือนระบบอาวุโสในแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง แล้วส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น”

อีกหนึ่งผลผลิตในยุคเอโดะ (1600-1868) คือ คาบูกิ หรือละครโบราณที่นักแสดงเป็นชายล้วน โดยผู้รับบทหญิง เรียกว่า อนนะงาตะ พวกเธอส่วนมากจะมีบทบาทนอกเวทีคือการไปเป็นคาเงะมะ หรือผู้ให้ความสำราญที่รู้กันว่าหลังฉากคือนางบำเรอกามในโรงน้ำชาที่เรียกว่า คาเงะมะฉะยะ

อย่างไรก็ตาม แกรี ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า “เป็นความจริงที่ว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันในยุคเอโดะ (ถึงต้นเมจิ) เป็นส่วนหนึ่งในการจัดระเบียบโครงสร้างทางสังคม แต่ไม่อาจเหมารวมว่าจารีตในยุคเอโดะที่ตายไปแล้วร้อยกว่าปีจะมีอิทธิพลต่อสังคมเกย์ญี่ปุ่นในปัจจุบัน เพราะวิถีชูโดะนี้ขัดแย้งต่อกระบวนการขับเคลื่อน LGBTQ ในปัจจุบัน ขณะที่นันโชกุส่งเสริมการกดขี่ การยึดมั่นในบทบาทของเพศอย่างเคร่งครัด ด้อยค่าผู้หญิงอย่างยิ่ง และมีสายสัมพันธ์โดยตรงต่อระบอบจักรพรรดิ์ขุนนางศักดินา เหล่านี้ล้วนตรงกันข้ามกับอุดมการณ์ของ LGBTQ โดยสิ้นเชิง”

FYI ทาคาระซึกะ

มันโบราณ มันไม่เป็นรุ่นใหม่ เมื่อวิถีชายเป็นใหญ่เป็นของเชย สิทธิ์และความเท่าเทียมกันของสตรีคือโมเดิร์น Takarazuka Revue จึงเกิดขึ้นในปี 1913 นี่คือละครแนวมิวสิเคิลในสไตล์บรอดเวย์ ส่วนใหญ่ดัดแปลงจากละครหรือหนังฮิตจากฝรั่ง และนักแสดงทุกคนเป็นหญิงล้วน ผู้ก่อตั้งคือ โคบายาชิ อิจิโซ นักการเมืองและเศรษฐีเจ้าของรถไฟฟ้าสายฮันกิวกับค่ายหนังโตโฮ เดิมทีมันเป็นแค่การแสดงชั่วคราวที่เอาพนักงานในห้างฮันกิว มาช่วยกันโปรโมตรถไฟฟ้าสายใหม่จากโอซากา ที่มาสู่ย่านทาคาระซึกะ โดยสายรถไฟนี้จะจอดเทียบท่าที่ห้างฮันกิวของโคบายาชิ แต่กลายเป็นว่ามันกลายเป็นของฮิต อีก 10 ปีต่อมาจึงมีโรงละครใหญ่เป็นของตัวเอง แม้ว่าเมืองนี้จะได้รับผลกระทบอย่างหนักในเหตุแผ่นดินไหวปี 1995 (ที่คร่าชีวิตชาวญี่ปุ่นไปกว่า 6,500 คน) แต่ทาคาระซึกะยังคงเติบโตจนปัจจุบันมีสาขาในโตเกียว และมีโรงเรียนฝึกนักแสดงที่ต้องหัดกันตั้งแต่เด็ก รวมถึงกลุ่มแฟนเหนียวแน่นกว่า 2.5 ล้านคนที่ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ปลื้มปริ่มกับนักแสดงหญิงสุดหล่อเฟี้ยวเหล่านี้ พวกเขามีคณะย่อย 5 คณะ คือ ดอกไม้, พระจันทร์, หิมะ, ดวงดาว และคอสมอส ที่มีแนวทางของตัวเองหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันแสดง อย่างไรก็ตามในปี 2020 ย่านทาคาระซึกะ ถูกบันทึกว่าได้รับผลกระทบจากโควิด-19 หนักที่สุดในญี่ปุ่น

สังคมเกย์ญี่ปุ่นปัจจุบัน

ในซีรีส์ Fujoshi ตัวละครคู่ขาหนุ่มใหญ่ของจุนอย่าง คุณมาโกโตะ เลือกจะมีลูกเมียและมีจุนไว้เพื่อระบายใคร่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ สิ่งนี้เองเมื่อถึงจุดหนึ่งที่จุนสนิทสนมกับซาเอะมากขึ้น และดูเธอก็มีใจให้เช่นกัน (เพราะไม่รู้มาก่อนว่าจุนเป็นเกย์) จุนจึงคิดว่ามันน่าจะเป็นไปได้อยู่เหมือนกันที่เขาจะเป็นแฟนกับซาเอะ “ผมอยากมีชีวิตธรรมดาแบบผู้ชายเขามีกัน” แต่มันใช่ความรักหรือไม่ แล้วมันมากพอที่จะทำให้เขาสามารถมีเพศสัมพันธ์กับเธอได้อย่างราบรื่นถึงฝั่งหรือเปล่า

ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมองปัญหา LGBTQ ว่าเป็นเรื่องของรสนิยม เป็นปัจเจกส่วนบุคคล (ซึ่งญี่ปุ่นยึดถือเรื่องความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่งจนถูกใช้เป็นข้ออ้างในการตีตกกฎหมายเกี่ยวกับ LGBTQ อยู่หลายหน) กระทั่งการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ปัญหา LGBTQ ถูกยกประเด็นว่าไม่ใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป พวกเขาไม่ได้ไร้ตัวตนในสังคม ไม่ได้อยู่แยกอย่างโดดเดี่ยว แต่พวกเขามีชุมชนและมีประชากรไม่น้อย อันหมายถึงมีกำลังซื้อที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจด้วย

ในปี 2019 Japan Times รายงานผลสำรวจออนไลน์โดยศูนย์วิจัย LGBTQ แห่งญี่ปุ่น พบว่า 1 ใน 10 ของชาวญี่ปุ่นระบุว่าเป็น LGBTQ หรือหน่วยย่อยทางเพศอื่นๆ จากการสำรวจ 428,000 คนที่มีอายุระหว่าง 20-69 ปี ได้รับคำตอบที่ถูกต้อง 348,000 รายการ ในจำนวนนี้มี 2.8% เป็นไบเซ็กช่วล, 1.4% ยังไม่แน่ใจในเพศของตน และมีอยู่ 0.9% เป็นคนไร้เพศกับชอบเพศเดียวกันอย่างละเท่ากันในทั้งสองกรณี ในด้านอัตลักษณ์ทางเพศมี 2.5% บอกว่าตัวเองเป็นนอน-ไบนารี (มีความลื่นไหลซับซ้อนทางเพศ และไม่สามารถจำกัดความได้ว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง) ตามด้วยบุคคลข้ามเพศอีก 1.8% ขณะที่อีก 1.2% ระบุว่ายังคงค้นหาอัตลักษณ์ทางเพศของตน

การสำรวจยังพบอีกว่าผู้คน 2,578 คนบ่งชี้ว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องถูกแบ่งแยกว่าเป็นเพศไหน และมีถึงร้อยละ 93.9 ตอบว่าพวกเขาไม่เคยตระหนักถึงกลุ่ม LGBTQ รอบๆ ตัวเขาเลย

การค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าประมาณ 78% ของชาว LGBTQ ไม่ได้บอกใครเกี่ยวกับรสนิยมหรืออัตลักษณ์ทางเพศ Think Tank ของญี่ปุ่นกล่าวว่ามีประมาณ 25% อยากเปิดเผยตัวถ้ามันไม่ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและหน้าที่การงาน ขณะที่อีก 40% ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวในเมื่อการปิดบังตัวตนจะทำให้พวกเขาไม่ถูกคุกคาม

ครึ่งหนึ่งของ LGBTQ และผู้ตอบแบบสอมถามทั้งหมดระบุว่ารัฐบาลกลางและเทศบาลท้องถิ่น รวมถึงหน่วยงานต่างๆ จำเป็นต้องพยายามมากขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีขึ้นสำหรับชุมชนชาวเกย์ และเมื่อถูกถามว่าบริษัทหรือโรงเรียนมีโครงการอบรมเพื่อทำความเข้าใจ LGBTQ หรือไม่ ร้อยละ 12 บอกว่ามี แม้ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่มีเพียงร้อยละ 4.4 แต่ก็ยังคงต่ำมากเมื่อเทียบกับโลกตะวันตกที่มีมากถึงร้อยละ 30

โพลออนไลน์นี้แสดงให้เห็นว่า 91.0 คุ้นเคยกับคำว่า LGBTQ ขณะที่มีเพียง 57.1 เท่านั้นที่เข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้อง

นิตยสารไทม์ฉบับมีนาคมปีนี้ระบุว่า “เมื่อกุมภาพันธ์ปี 2015 มีการจัดระบบใหม่ในเขตเทศบาลชิบุยะ ของโตเกียวให้สามารถยื่นขอเอกสารหลักฐานในการเป็นหุ้นส่วนชีวิตร่วมกันระหว่างคนเพศเดียวกันได้ โดยคนกลุ่มนี้จะเข้าถึงสิทธิ์และผลประโยชน์ต่างๆ ในการรักษาในโรงพยาบาล และอื่นๆ คล้ายคู่รักต่างเพศทั่วไป จากชิบูยะ ระบบนี้ลามต่อไปเรื่อยๆ ยังเมืองใหญ่ๆ เช่น ซัปโปโร, ฟุกุโอกะ และโอซากา”

เมื่อปลายปี 2016 จังหวัดโอซากาเป็นแห่งแรกที่ยอมรับให้คู่รักชายกับชายคู่หนึ่งสามารถรับดูแลเด็กในฐานะพ่อแม่ได้ เพราะเด็กถูกทอดทิ้งมีมากถึง 45,000 คน ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 17.5 เท่านั้นที่ได้รับการอุปการะ โดยพวกเขาหวังว่าในอนาคตจะมีคู่รักเพศเดียวกันมาขอรับรับเลี้ยงเด็กเพิ่มขึ้น

ในปี 2017 กระทรวงศึกษาธิการญี่ปุ่นได้แก้ไขนโยบายหลายด้าน เพื่อให้โรงเรียนสามารถขจัดการกลั่นแกล้งด้วยเหตุแห่งรสนิยมทางเพศและอัตลักษ์ทางเพศ แม้แต่พรรคอนุรักษ์นิยมก็เสนอร่าง พ.ร.บ.การทำความเข้าใจและส่งเสริม LGBTQ ในปี 2019 กระทั่งในเดือนมิถุนา 2020 หลายวัดในญี่ปุ่นยอมให้มีการจัดงานแต่งงานสำหรับคู่รักเพศเดียวกันภายในวัด หลังจากที่สำนักงานท้องถิ่นในหลายเทศบาลเมืองยอมรับสิทธิ์ LGBTQ

ขณะที่ The Economist ฉบับพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีคอลัมน์จั่วหัวว่า “สิทธิเกย์ในญี่ปุ่นกำลังได้รับแรงสนับสนุน แต่นักการเมืองหัวโบราณในพรรครัฐบาลกำลังถ่วงความเจริญ”

บทความเริ่มต้นด้วย ไอโกะ (นามสมมติ) เล่าชีวิตวัยเรียนของเธอเมื่อ 20 ปีก่อนที่พ่อแม่ของเธอร้องไห้หนักมากเมื่อพบจดหมายรักจากผู้หญิงคนหนึ่งเขียนถึงเธอ เธอถูกห้ามออกจากบ้านตอนกลางคืน แล้วพอย้ายเข้ามหาวิทยาลัย พวกพ่อแม่ก็บอกเธอว่าอย่ากลับบ้านอีกเลยถ้าเธอยังคงรักเพศเดียวกัน

ญี่ปุ่นเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 ที่ไม่อนุญาตให้สมรสเท่าเทียม ขณะที่ประเทศอดีตอาณานิคมอย่างไต้หวันยังให้ผ่านกฎหมายนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2019 ส่วนองค์กรเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD 38 ประเทศ จัดอันดับให้ญี่ปุ่นอยู่รองบ๊วยในผังกฎหมายปกป้องสิทธิ LGBTQ (อันดับบ๊วยคือ ตุรกี)

และล่าสุดหลังจากการเลือกตั้งที่ได้รัฐบาลพรรค LDP ของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ เขากลับยืนยันไม่ผ่านร่างกฎหมายเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ ทั้งที่พรรคนี้เคยให้คำมั่นในช่วงเลือกตั้งว่าจะส่งเสริมความเข้าใจของชาว LGBTQ ล่าสุดมีรายงานว่าหนึ่งในสภานิติบัญญัติของ LDP จวกว่าเกย์และคนข้ามเพศ “ต่อต้านการดำรงอยู่ของสายพันธุ์มนุษย์” และแม้ว่าในช่วงเลือกตั้งเมื่อปลายตุลาที่ผ่านมาจะมีผู้สมัครของพรรคนี้ 2 คนแสดงความเห็นเปิดกว้างต่อการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน แต่ทางพรรค LDP ผู้ถือเสียงข้างมากกลับเลือกสนับสนุนนายฟูมิโอะให้เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งที่นายฟูมิโอะคัดค้านประเด็นนี้

จริงๆ แล้วพรรค LDP อันล้าหลังได้เปลี่ยนทัศนคติไปอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับจำนวนชาวญี่ปุ่นที่สนับสนุนLGBTQ เพิ่มมากขึ้นถึง 65% ในการสำรวจล่าสุด จากที่เคยมีเพียง 40% ในปี 2015 และมีกว่า 130 เทศบาลเมือง (จาก 1,719) ซึ่งนับเป็นประชากรทั้งหมด 40% ของทั้งประเทศ (แต่ละเทศบาลมีประชากรไม่เท่ากัน) ที่สนับสนุน LGBTQ และแม้แต่คนในพรรค LDP ส่วนใหญ่ก็ยังเห็นชอบด้วย

คาวางูจิ คาซึยะ นักศึกษามหาวิทยาลัยฮิโรชิมา ชูโด กล่าวว่า เกย์ทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ในปัจจุบันถูกเปลี่ยนจากแค่เป็นตัวตลกหรือพวกหื่นกามในช่วงยุค 90 ให้กลายเป็นคนที่มีคุณค่ามากขึ้น สังเกตได้จากซีรีส์เรื่อง What Did You Eat Yesterday? (2019) ที่เผยให้เห็นสังคมชาวเกย์ ความหวั่นวิตกแบบเกย์ และการอยู่ร่วมในสังคม ส่วนยานางิซาวะ มาสะ จากกลุ่มทุนธนาคารยักษ์ใหญ่ Goldman Sachs ระบุว่า “หลายบริษัทในญี่ปุ่นมองว่าการปกป้องสิทธิ LGBTQ เป็นขั้นตอนสำคัญในการปรับปรุงองค์กร และเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจ อย่างน้อยก็สร้างภาพลักษณ์ที่ส่งผลต่อคนรุ่นใหม่ที่หันมาสนับสนุนLGBTQ”

ชาว LGBTQ ญี่ปุ่นหวังว่าความก้าวหน้าในประเทศอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไต้หวัน กำลังขยายขอบเขตความเป็นไปได้ นักเคลื่อนไหวชาวไต้หวันใช้ประโยชน์จากศาลในการกดดันสมาชิกสภานิติบัญญัติจนสามารถผ่านร่างกฎหมายออกมาได้ สิ่งนี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดขบวนการ “Marriage for All” ซึ่งล่าสุดในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลซัปโปโร จังหวัดฮอกไกโด ยังออกมาชี้ว่า

“การไม่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสได้นั้น ขัดต่อหลักสิทธิและความเท่าเทียมกันตามรัฐธรรมนูญ” ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญของชาว LGBTQ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเลยในญี่ปุ่น

คาโตะ ทาเกฮารุ หนึ่งในขบวนการขับเคลื่อนในซัปโปโรกล่าวว่า “แม้ว่าศาลท้องถิ่นจะไม่สามารถบังคับเปลี่ยนแปลงกฎหมายในประเทศได้ แต่เราหวังว่าคำตัดสินนี้จะผลักดันสภานิติบัญญัติ หรือหากสภาไม่ปฏิบัติตาม เรายังมีแผนที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ซึ่งอาจมีผลบังคับให้รัฐสภาออกกฎหมายได้ในที่สุด”

อย่างไรก็ตาม BBC รายงานว่า “รัฐธรรมนูญญี่ปุ่นที่ใช้มาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กำหนดให้การแต่งงานเป็นหนึ่งในความยินยอมร่วมกันระหว่างสองเพศ รัฐบาลอาจจะใช้จุดนี้ในการอ้างว่าการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกันไม่ได้ถูกคาดการณ์เอาไว้ในสมัยนั้น ขณะที่ทนายความกล่าวว่าถ้อยคำดังกล่าวมีขึ้นเพื่อป้องกันการถูกบังคับแต่งงาน และไม่มีอะไรในรัฐธรรมนูญเลยที่ห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันอย่างชัดเจน”

FYI คดีสำคัญเมื่อปี2015

จุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้ชาวเกย์ลุกฮือขึ้น และนักเคลื่อนไหวจุดประเด็นนี้ในการเรียกร้องสิทธิ์ LGBTQ คือเหตุการณ์เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2015 เมื่อนักศึกษามหาวิทยาลัยฮิโตสึบาชิ วัย 25 ปีได้เปิดเผยต่อเพื่อนสนิทว่าเขาเป็นเกย์ เพื่อนคนนั้นส่งข้อความต่อไปอีก 9 คนว่านายคนนี้เป็นเกย์ ส่งผลให้หนุ่ม 25 คนนี้ (ไม่สามารถเปิดเผยชื่อได้เนื่องจากญี่ปุ่นให้ความสำคัญต่อความเป็นส่วนตัว) ถูกเยาะเย้ยถากถางจนเขาคิดสั้นโดดตึกมหาวิทยาลัยลงมาตาย

ต่อมาในปี 2019 พ่อแม่ของเขาแพ้คดีความหลังจากยื่นฟ้องต่อศาลนานถึง 4 ปี กล่าวหาว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้สร้างสภาพแวดล้อมที่ป้องกันการคุกคาม ด้วยการไม่ให้ความรู้แก่นักศึกษา อันเป็นเหตุให้ลูกชายของเขาต้องประสบชะตากรรมเยี่ยงนี้ และถึงแม้จะแพ้คดีแต่พวกเขาจะยังคงฟ้องร้องต่อศาลที่สูงขึ้นไปอีก

เคน ซูซูกิ ศาสตราจารย์ผู้เป็นเกย์โดยเปิดเผย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมจิ กล่าวว่า “ผมไม่คิดว่า จำนวนคนที่เปิดเผยตัวจะมากขึ้น แม้ว่าเหตุการณ์ในปี 2015 นั้นจะทำให้ผู้คนเริ่มตระหนักว่านี่เป็นปัญหาร้ายแรง แต่หลายคนยังมองว่าปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนตัว ทั้งที่จริงๆ แล้วมันเป็นปัญหาสังคมและเป็นสาธารณะ ทัศนคติเหล่านี้จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เลย ตราบที่กฎหมายและระบบยังไม่เปลี่ยนไป แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงจะมาถึงเร็วๆ นี้”

ประเทศไทยกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม

เมื่อปีที่แล้วศาลเยาวชนและครอบครัวกลางส่งคำโต้แย้งของผู้ร้อง 2 คนคือ นางสาวพวงเพชร เหงคำ และนางเพิ่มศัพท์ แซ่อึ๊ง คู่รักหญิง-หญิงที่อยู่กินกันมานานกว่า 10 ปีแต่ไม่อาจแต่งงานกันตามกฎหมายได้ เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 212 ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 25 และมาตรา 27 หรือไม่ เช่น

รัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 4 ระบุว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง, มาตรา 27 บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทาเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้

ในเบื้องแรก 2 คนนี้ยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลไม่รับคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าไม่เข้าเงื่อนไขบางประการ ทั้งสองจึงยื่นเรื่องต่อศาลเยาวชนฯ ซึ่งท้ายที่สุดศาลรับคำร้องแล้วส่งกลับไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณว่าช่วยสรุปว่าประเด็นนี้ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วยเหตุใด

ล่าสุดในวันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดเผยคำวินิจฉัยฉบับเต็มออกมา โดยมีใจความสำคัญย่อๆ ดังนี้

    1. การสมรสต้องมีเป้าหมายเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ (LGBTQ ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้)
    2. กฎหมายสมรสชายหญิงมีที่มาจากจารีตประเพณี (การเป็น LGBTQ ผิดจารีต)
    3. มาตรา 1448 ไม่ได้ห้ามกลุ่มเพศหลากหลายอยู่กินกัน (เพราะกฎหมายไม่ได้บังคับว่าทุกคู่รักต้องสมรสกัน)
    4. การให้ความเสมอภาคระหว่างชายหญิงไม่ได้หมายความว่าต้องปฏิบัติต่อหญิงเช่นเดียวกับปฏิบัติต่อชาย (เสมอภาคไม่ได้แปลว่าต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน)
    5. เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระให้รัฐในการพิสูจน์เพศที่แท้จริงต่อการเบิกค่าใช้จ่าย (ในกรณีลาคลอด ลาบวช เบิกค่ารักษาหรือสวัสดิการอื่นใด)
    6. เสี่ยงว่าจะเปิดช่องให้มีคู่เพศเดียวกันสมรสเพื่อหวังสวัสดิการรัฐหรือลดหย่อนภาษี (รัฐกลัวเสียผลประโยชน์และเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ขณะที่เพศหลากหลายงงว่าจ่ายภาษีเหมือนกันแต่กลับได้สวัสดิการจากรัฐไม่เท่ากัน)
    7. กฎหมายปัจจุบันไม่ได้ห้ามคู่รักทำพินัยกรรม หรือมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันในทรัพย์สิน
    8. สิทธิ์เซ็นผ่าตัด-สวัสดิการ-เรียกร้องค่าเสียหายไปแก้ในกฎหมายอื่นได้
    9. ควรออกกฎหมายเฉพาะเพื่อรองรับสิทธิ LGBTQ (เปิดโอกาสให้ออกกฎหมายเฉพาะได้)

กรณีตัวอย่าง

นี่เป็นเพียงการวินิจฉัยตีความรัฐธรรมนูญเท่านั้น อันเป็นคนละประเด็นต่อการเรียกร้องสิทธิ์ในการสมรสเท่าเทียม ซึ่งมีแนวโน้มว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีตกอีกเช่นกัน อย่างไรก็ตามยังคงมีบางฝ่ายที่ไม่เห็นความจำเป็นต่อการสมรสเท่าเทียม ผู้เขียนจะขอยกกรณีตัวอย่างจาก รายการทีวี-คู่ไหนใช่เลย เรื่องของคุณมิกกี้ อายุ 29 เป็นครู กับคุณกร อายุ 38 เป็นพนักงานขับรถ ซึ่งคุณกรเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้าย และจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 6-8 เดือน คุณมิกกี้เล่าว่า “หมอไม่แนะนำให้ทำคีโม เพราะอยู่ในระดับแพร่กระจายแล้ว ต้องใช้ยามุ่งเป้า ซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดานอกเหนือจากสิทธิ์บัตรทอง ยานี้เม็ดละสองพันบาท ต้องใช้วันละ 2 ครั้ง รวมแล้วเดือนละหนึ่งแสนสองหมื่นบาท แต่คุณหมอแนะนำว่าเนื่องจากมิกกี้เป็นครู ถ้าใช้สิทธิ์เบิกตรงของข้าราชการสามารถเบิกได้เลยโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่เพราะเราเป็นเพศเดียวกัน กฎหมายยังไม่รองรับการสมรสเท่าเทียม เราจึงต้องเลือกรักษาแบบประคับประคอง (แทนการใช้ยาแบบมุ่งเป้าที่อาจช่วยให้คุณกรรอดได้)” เทปนี้ออกอากาศเมื่อ 27 ธันวาไม่กี่วันก่อนที่คุณกรจะเสียชีวิตลงในวันที่ 31 ธันวาเมื่อปีที่แล้ว

FYI BL ในวัด

วัดโคคุโจจิ ในเมืองซึบาเมะ จังหวัดนีงาตะ เมื่อสองปีก่อนเปิดให้คิมูระ เรียวโกะ ศิลปินอีโรติกแนว BL เข้ามาวาดรูปประดับอารามไม้เก่าแก่กว่า 700 ปี ขณะที่มีบางฝ่ายมองว่าไม่เหมาะสม สมควรลบออก รวมถึงสถานการณ์ยิ่งซับซ้อนขึ้นเมื่อวัดนี้ถูกกำหนดให้เป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรม จากคณะกรรมมาธิการการศึกษาเทศบาลเมืองสึบาเมะ อย่างไรก็ตามเจ้าอาวาสวัดกล่าวว่า

“วัดเราเป็นที่รู้จักในพิธีรำลึกสงครามเพลิง ซึ่งปีนี้จะจัดพิธีทางออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ข้อเท็จจริงที่เราต้องยอมรับคือมีจำนวนผู้มาเยี่ยมชมวัดลดลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าในอีก 25 ปีข้างหน้า จะมีประมาณ 40% ของวัดญี่ปุ่นกว่า 77,000 แห่งที่จะปิดตัวลง ด้วยอนาคตอันสั่นคลอนนี้ วัดจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะปรับตัวให้เข้ากับชุมชน และลองหนทางใหม่ๆ เพื่อความอยู่รอด ศิลปะนี้เป็นที่ดึงดูดความสนใจให้มีผู้มาเยี่ยมชมมากขึ้นด้วย”

อย่างไรก็ตาม มีคำสั่งออกมาแล้วว่าภาพเหล่านี้จะถูกลบออกไปหลังจากวันที่ 5 พฤษภาคมปีหน้า

FYI ฉบับภาพยนตร์ปีนี้

หนัง What She Likes (2021) อันมีชื่อเต็มที่มีความหมายว่า “สิ่งที่เธอชอบคือพวกโฮโม แต่ไม่ใช่ฉัน” เป็นฉบับภาพยนตร์ของซีรีส์ Fujoshi ซึ่งเปิดตัวในเทศกาลหนังเมืองบูซาน ในเกาหลีที่ผ่านมา ความฮอตของฉบับหนังนอกจากจะได้นางเอก ยามาดะ อันนะ ที่เพิ่งถูกจัดเป็นอันดับ 3 ของ 2021 Next Break Female Talent BEST 10 ไปหมาดๆ แล้ว บทจุนยังได้คามิโอะ ฟุจุ หนุ่มหน้าสวยผู้ถนัดบทรักอันตราย อย่างผลงานที่ผ่านมา เช่น ซีรีส์หนุ่มนักเรียนล่อสาวคราวน้าใน Love and Fortune (2018) หรือหนังเดตออนไลน์กับสาวใหญ่ ใน Intimate Strangers (2022) แถมปีหน้าเขายังจะมีเซ็กซ์ซีนกับสาวคราวป้าอีก ใน Ura Aka – L’Aventure (2021) รวมถึงการพลิกบทครั้งสำคัญในบทเกย์รุ่นใหญ่ของอิมาอิ สึบาสะ อดีตไอดอลหนุ่มคู่หูของทักกี้-ฮิเดอากิ ทะกิซาวะ แห่งค่ายจอห์นนี

ในบทสัมภาษณ์ ศ. ดร. ธงชัย วินิจจะกูล ของ BBC ได้อธิบายว่า “กรอบที่ครอบงำอุดมการณ์สังคมไทย หนึ่งในนั้นคือ ความสัมพันธ์ทางสังคม: กฎหมายเป็นกติกาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน และระหว่างประชาชนด้วยกัน, มีการกำหนด “หน้าที่พลเมือง” ซึ่งอิงกับสังคมชีวภาพแบบพุทธ โดยมีประชาชนเป็นมือ, เท้า, กล้ามเนื้อ, ร่างกาย แต่ไม่ใช่หัวใจและหัวสมอง เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของชนชั้นนำ”

นั่นหมายความว่า จริงๆ แล้วหลากหลายปัญหาเป็นไปตามนโยบายรัฐ ไม่ใช่ที่ตัวบุคคล “รัฐบาลเป็นเช่นไร สังคมย่อมเป็นเช่นนั้น” การจะแก้ปัญหาสังคมไม่ใช่โยนความผิดมาที่ประชาชน แต่ชนชั้นนำต่างหากที่ต้องปรับเปลี่ยนนโยบายจากหัวใจและสมอง

หมายเหตุ: หากสนใจประเด็น LGBTQ ในคอลัมน์นี้สามารถอ่านย้อนหลัง ดังนี้