ThaiPublica > คนในข่าว > เปิดวาร์ปตัวแทนเยาวชน Youth In Charge…พื้นที่คนรุ่นใหม่ เสียงที่ผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจรับฟังอย่างจริงใจ (ตอนที่2)

เปิดวาร์ปตัวแทนเยาวชน Youth In Charge…พื้นที่คนรุ่นใหม่ เสียงที่ผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจรับฟังอย่างจริงใจ (ตอนที่2)

30 ตุลาคม 2022


“ประเทศไทยทุกวันนี้ “ผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่ทำ ผู้ใหญ่นำ” เสียเยอะ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และยังคงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว เราจะตัดสินใจอะไรแทนเยาวชนไปหมด ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน ไปจนถึงระดับสังคมและประเทศคงไม่ได้อีกต่อไป”… ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ในยุคที่โลกเปลี่ยนไป เยาวชนสามารถเป็นผู้นำหรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะปัจจุบันเยาวชนไม่ได้มีแค่โลกในโรงเรียน โลกข้างนอกกว้างกว่าและสนุกกว่าสำหรับเขาด้วย

ทำให้ “เยาวชนยังเป็นอนาคตของชาติ” เพราะเยาวชนวันนี้ รู้ว่าอนาคตเขาเริ่มตั้งแต่วันนี้ และตัวเขาเองเป็นคนกำหนดอนาคตที่เขาต้องการ

ด้วยความเชื่อที่ว่าเยาวชนสมัยนี้เก่ง เรียนรู้เร็ว และรู้อะไรเยอะแยะ แต่สิ่งที่เขาขาดคือเวทีของเขาเอง ที่ผ่านมามีเวทีเยาวชนมากมาย แต่เป็นเวทีที่เยาวชนพูดกันเอง ผู้ใหญ่ยังมองว่า เยาวชนยังขาดประสบการณ์ ยังไม่มีวุฒิภาวะ

นิยามของเด็กหนึ่งคน เมื่อก่อนเรามองเด็กคนนี้เป็นเด็กเก่ง เด็กวิทย์ เด็กศิลป์ นักกีฬา แต่เดี๋ยวนี้คำนิยามคำเดียว ไม่สามารถนิยามเด็กคนนั้นๆได้ เพราะเขามีความสนใจและมีมิติในชีวิตที่หลากหลาย เขามีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีไฟ มีพลัง

ด้วยความตระหนักว่าตัวเยาวชนอาจจะยังไม่พอ ต้องมีการสนับสนุนสนุนจากผู้ใหญ่ แต่เยาวชนยังเป็นคนกำหนดอนาคตโดยมีผู้ใหญ่มาช่วยสานฝันให้เป็นจริง

สิ่งเหล่านี้คือที่มาของการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ในชื่อ “Youth in Charge” ที่มีผู้อยู่เบื้องหลังเวทีนี้คือ นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ หรือ “บะหมี่” วัย 26 ปี ลูกสาวของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งบะหมี่มองว่าเยาวชนต้องการพื้นที่ที่มีผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจรับฟังอย่างจริงใจ

  • Youth In Charge… ประเทศไทย จากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่
  • Youth In Charge… ประเทศไทย จากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่
  • เปิดตัว Youth in Charge Leadership Academy สร้างทักษะ ‘คนรุ่นใหม่’ ในโลกที่ท้าทาย
  • “เอริกา เมษินทรีย์” ปลดปล่อยพลังเยาวชนในพื้นที่ “Youth in Charge” สะพานสานฝัน ‘เด็ก’ ถึง ‘ผู้ใหญ่’
  • บางจากฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพ Youth in Charge Symposium ครั้งที่ 1 หนุนเยาวชนออกแบบอนาคต พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
  • จากจุดเริ่มต้นของ Youth in Charge Leadership Academy คือ การให้เยาวชนที่มีความสนใจหลากหลาย มีศักยภาพเกินวัย มีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ถูกสอนในห้องเรียน ที่ระบบการศึกษาปัจจุบันไม่สามารถให้ได้ ผ่านมิตรภาพและเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อปลดปล่อยพลังที่มีอยู่เพื่อสร้างอนาคตที่แตกต่างออกไป “ไทยพับลิก้า” ได้แลกเปลี่ยนกับตัวแทนของเยาวชน ที่ผ่านประสบการณ์ Youth in Charge (YIC) ประกอบด้วย ปรเมศวร์ นวลขาว, เหมือนวาด พจนานนท์, ทัศนารีย์ วิเศษโรจนา และ รุ่งฤทัย เพ็ญสว่าง โดยหวังที่จะสะท้อนเสียงของพวกเขาให้ดังไปถึงผู้ใหญ่ได้รับรู้ว่า โลกใบนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เยาวชนก็เปลี่ยนไปแล้ว และพวกเขาพร้อมที่จะสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศไทยไปพร้อมกับผู้ใหญ่ทุกคน

    เหมือนวาด : อย่าหยุดที่จะทำเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

    เหมือนวาด พจนานนท์ หรือข้าวหอม เป็นเยาวชนอีกคนใน Youth in Charge Leadership Academy (YIC) ที่เมื่อได้คุยแล้ว รู้สึกได้เลยว่า “เด็กๆ เขาโตแล้วนะ” ปัจจุบันเหมือนเหมือนวาดกำลังศึกษาในคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เธอบอกว่าตัวเองเป็นคนที่สนใจและอยากมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเห็นว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมมีหลายปัญหามาก และการแก้ไขก็มีความชัดเจนอยู่ แต่ไม่มีการกระทำ ไม่มีการนำวิธีแก้ไขมาปฏิบัติหรือใช้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ ปัญหาจึงยังคงอยู่ เมื่อได้ลิงก์โครงการ YIC แล้วพบว่าโครงการเน้นเรื่องการลงมือทำอย่างจริงจัง คนที่เข้าร่วมโครงการจะได้ปฏิบัติจริง ได้ลงมือทำจริง เพื่อเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่อยากจะเปลี่ยนแปลง จึงดึงดูดเหมือนวาดให้สมัคร เธอบอกว่านี่คือสิ่งที่ตามหามาเนิ่นนาน เพราะคิดเสมอว่า ปัญหาที่อยากจะแก้ไข ต้องอาศัยการลงมือทำเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ระดับเรื่องนโยบายไปจนถึงชีวิตประจำวัน เธอจึงสมัครเข้าร่วมโครงการทันที

    เหมือนวาดบอกว่า การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมค่อนข้างยากมากๆ ยกตัวอย่าง ที่นักวิทยาศาสตร์ของนาซาออกมาเตือนเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมที่จะแก้ไขไม่ทันแล้ว เพราะเหลือเวลาอีก 3 ปีเท่านั้น ทำให้คิดว่า ที่ผ่านมามีการประท้วงมานับสิบปี แต่ปัญหายังคงอยู่ ยังไม่มีการแก้ไข สาเหตุเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมเชื่อมโยงกับหลายปัญหามาก เชื่อมโยงกับระบบสังคม เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจ ระบบการใช้ทรัพยากรต่างๆ ซึ่งก็ตรงกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง เลยคิดว่า วิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการแก้ระบบการจัดการ ระบบที่ว่าโยงถึงรัฐบาล โยงถึงนโยบาย และระบบของทั้งโลกที่เชื่อมต่อกันหมด เพราะการใช้ทรัพยากรนั้นเชื่อมต่อกันทั้งโลก

    “หนูเลยคิดว่า สิ่งที่น่ากังวลใจที่สุดไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเอง แต่เป็นปัญหาของระบบ การประท้วงที่มีมานับสิบปีไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หรือหวังให้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้เลย เนื่องจากพอมันเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจปุ๊บ ก็จะเชื่อมโยงกับระบบความต้องการของมนุษย์โดยตรง มันมีอุปสรรคมากมายรวมถึงระบบการจัดการต่างๆ ระบบที่จะสร้างวิธีแก้ไขปัญหา”

    เหมือนวาด พจนานนท์ หรือข้าวหอม

    แต่พอได้เข้าโครงการ YIC เหมือนวาดบอกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้ วิธีคิด วิธีการมองปัญหา ก็เปลี่ยนไป ซึ่งได้จากการวิเคราะห์ปัญหาใน YIC เพราะในการทำกิจกรรมร่วมกันหลายครั้ง จะมีการบอกเสมอว่า “อย่าโทษมนุษย์” คำนี้เมื่อได้ยินใหม่ๆ เธอต่อต้านมาก เพราะที่ผ่านมาเธอโทษมนุษย์ตลอดว่า เป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ แต่กิจกรรมใน YIC ทำให้เธอได้ค่อยๆ เรียนรู้ว่าคำว่า “อย่าโทษมนุษย์” คืออะไร และหากจะแก้ไขควรลงมือ ณ จุดใด เมื่อวิธีคิดเปลี่ยน การมองปัญหา วิธีการแก้ปัญหาก็เปลี่ยนไปด้วย

    เหมือนวาดบอกว่า คำว่าอย่าโทษมนุษย์จะสื่อว่า วิธีการปัญหาต้องไม่ขึ้นกับนิสัยของมนุษย์ เพราะการกระทำต่างๆ ของมนุษย์เป็นเรื่องธรรมชาติ สิ่งที่ควรจะโทษ คือ ระบบการจัดการของมนุษย์เองที่ไม่สามารถควบคุมให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า แม้มนุษย์กับระบบจะเกี่ยวข้อง แต่วิธีแก้ปัญหาต้องไม่ขึ้นกับการกระทำ หรือนิสัยส่วนตัวของมนุษย์ และเราไม่ควรหยุดทำ ไม่ควรหยุดแก้ปัญหา ต้องทำ ต้องแก้ ไปเรื่อยๆ คนที่หนูเคยคุย หรือผู้ใหญ่ที่หนูเคยคุยและพยายามขับเคลื่อนด้านนี้ หรือปัญหาด้านอื่นมาก่อน สิ่งที่เขาไม่หยุด คือ ไม่หยุดทำ แม้ว่าสิ่งที่เขาทำและยังทำไม่หยุดจะยังไม่สำเร็จ แต่เขาหมดแรงแล้ว ต้องไปแล้ว หรือเขาไม่สามารถทำตรงนั้นต่อได้แล้ว แต่มันส่งแรงบันดาลใจ ส่งความรู้ของเขาต่อไปให้คนอื่นอีก

    แน่นอนว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มันเหลือเวลาอีกไม่มาก แต่หนูก็จะยังคงพยายามทำให้เต็มที่ที่สุด พอถึงเวลานั้น ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรก็จะประจักษ์ต่อตาของผู้คนว่า ที่เคยมีการเตือนไว้มันเป็นความจริงนะ เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาของคนทั้งโลก ไม่ใช่ปัญหาของเราคนเดียว แต่อย่างน้อยเราได้ในสิ่งที่เราต้องทำ

    เหมือนวาดบอกว่า นอกจากวิธีการมองปัญหาและแก้ปัญหาจะเปลี่ยนไป การได้เข้ามาเรียนรู้ความคิด ลักษณะนิสัยของแต่ละองค์กรที่สปอนเซอร์ ซึ่งล้วนเป็นองค์กรใหญ่ๆ เช่น ปตท. หรือเอสซีจี ได้เห็นทัศนคติของคนในองค์กร เห็นแนวคิดการแก้ไขปัญหาสังคม และด้วยความที่สังคมมีปัญหามากมาย แต่ละองค์กรจึงมี pain point หรือจับปัญหาที่ไม่เหมือนกัน และมีหลายองค์กรที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ปตท. หรือเอสซีจี แต่ด้วยโครงสร้างหรือกลไกของสังคม เศรษฐกิจ ผลประโยชน์ รายได้ต่างๆ ผลักดันให้หลายบริษัท ต้องผลิตหรือมีวิธีการทำงานแบบนั้น ใช้ทรัพยากรแบบนั้น เพื่อให้องค์กรอยู่รอด แต่ขณะเดียวกัน หลายองค์กรก็พยายามไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากเกินไป แต่ไม่ได้การันตีว่า การกระทำของเขาไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นทัศนคติขององค์กรนั้นที่แสดงออกมาให้เห็น

    “คือ พอได้เห็นต้นตอของปัญหา ได้รับรู้ทัศนคติของแต่ละองค์กร มันเปิดโลก ที่บอกว่าอย่าโทษคน คำนี้พอมานั่งคิดดูแล้ว คงไม่มีใครอยากเห็นโลกร้อน ไม่อยากเห็นโลกแตก ไม่อยากให้สิ่งแวดล้อมของเราถูกทำลาย และล้มลงอย่างเป็นลูกโซ่ เห็นว่าทุกคนตระหนักถึงปัญหา แต่ด้วยไลฟ์สไล์ของเราที่มีมาเป็นหลายสิบหลายร้อยปี วัฒนธรรมการใช้ทรัพยากรของเรา คือ มันเชื่อมโยงกันเยอะมาก เวลาพูดเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเหมือนเป็นปัญหาเดียว แต่จริงๆ แล้วมันเชื่อมโยงกับทุกปัญหา”

    YIC ยังทำให้เหมือนวาดได้รู้ว่า ทุกคนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เธอรู้สึกได้ว่า “คนมันสนใจนะเว้ย” ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน YIC ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มสิ่งแวดล้อม เพื่อนในโลกออนไลน์ ที่หลายคนไม่ได้เรียนด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้ทำงานด้านนี้ เวลาหยิบยกเรื่องสิ่งแวดล้อมมาถกเถียงกัน จะพบว่าทุกคนอยากแก้ไขหมด แต่ไม่รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร”

    กิจกรรมในโครงการ YIC

    แม้กระทั่งวันสุดท้ายของโครงการ YIC ก็ยังมีการหยิบยกปัญหาสิ่งแวดล้อมมาให้ขบคิด หรือ Circular Economy, BCG Model ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้เธอยิ่งตระหนักว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้อยู่ที่ “คนไม่อยากแก้ไข

    “ทุกคนอยากแก้ปัญหา แต่ด้วยความที่เคยทำอย่างนี้มาตลอด และคนอื่นก็ยังทำอย่างนี้อยู่ ระบบยังผลักดันให้เราทำแบบนี้อยู่ ทำให้เข้าใจ คำที่บอกว่า “อย่าไปโทษคน” และคนที่มี passion เรื่องนี้ เขาจะเต็มร้อย ฉะนั้น เป็นเรื่องของแต่ละคนแล้วว่า เห็นปัญหาอะไร ก็จะใช้สิ่งที่ตัวเองมีแก้ไขให้ดีที่สุด กลุ่มที่สนใจเรื่องเดียวกัน มุมมองจะคล้ายกัน ก็จะมีความคุ้นชินกับปัญหานั้นคล้ายๆ กัน แต่พอเพื่อนที่มาจากกลุ่มเอสเอ็มอี กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มเทคโนโลยี จะมีมุมมองที่แตกต่างกันไป ทำให้ได้เห็นมุมมองการแก้ปัญหาที่กว้างมากขึ้น รู้ว่าแต่ละภาคส่วนช่วยอะไรได้มากขึ้น”

    เหมือนวาดบอกว่า เมื่อลึกซึ้งกับปัญหาว่ามาจากระบบ ที่ดูเหมือนจะใหญ่โตมาก แต่เธอกลับไม่รู้สึกกดดันหรือรู้สึกว่าตายแล้ว เรื่องใหญ่มาก ไม่อยากทำแล้ว เธอบอกว่า เมื่อได้มองให้ตรงตามความเป็นจริงแล้ว ความรู้สึกกดดันจะไม่มี และยังกลายเป็น passion สำหรับเธอด้วย รวมทั้งกลุ่มคนที่ไม่หยุดทำ ไม่หยุดที่จะแก้ปัญหา ได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับเธอ แม้จะรู้ว่า ปลายทางไม่สดใสนัก แต่ก็ยังมีใจอยากทำ

    “ยืนยันว่า passion ของหนูคือเรื่องสิ่งแวดล้อม และจริงจังกับเรื่องนี้มาพักหนึ่งแล้วตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย มีการศึกษาเรื่องไฟป่าแอมะซอน ไฟป่าออสเตรเลีย เห็นมาตั้งแต่ต้นว่าปัญหาของสิ่งเหล่านี้คืออะไร และก็มีช่วงที่รู้สึกว่าทำไปเพื่ออะไรเนี่ย เป็นบ่อย ไม่เห็นจะมีหวัง จะเปลี่ยนอะไรได้ แต่หนูก็เห็นว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเราแค่คนเดียว เกี่ยวข้องกับคนเป็นล้าน ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ ปัญหาอื่นก็ยิ่งใหญ่ แก้ไขได้ยากพอๆ กับสิ่งที่เราคิด ที่เราทำอยู่ ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะเปลี่ยน passion ไปด้านไหน ปัญหามันยิ่งใหญ่หมดเลย และแก้ไขคนเดียวไม่สำเร็จ ต้องทำไปเรื่อยๆ ก็เลยคิดว่า คนเราต้องมี passion ก็แล้ว pic up มันไว้ และต้องอย่าลืมว่า เราเลือกมันเพราะอะไรก็จะไม่หมดกำลังใจที่จะแก้”

    สำหรับเพื่อนๆ ที่อาจจะมีอุดมการณ์ หรือ passion ที่แตกต่างกันไป เหมือนวาดบอกว่า อยากจะส่งกำลังใจไปถึงทุกคนที่กำลังอยากจะแก้ไขปัญหาสังคม หรืออยากจะแก้อะไรบางอย่าง อยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลง อยากสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา บางทีจะรู้สึกว่า สิ่งที่ทำไม่มีความหมายอะไรเลย ไม่น่าจะเปลี่ยนอะไรได้ แต่อย่างที่บอกว่า อย่าลืมว่า เราเลือกมันครั้งแรกเพราะอะไร ต่อให้เราอยากเปลี่ยนที่ เปลี่ยนจุดที่เราวาง passion ไว้ สุดท้ายมันก็โยงไปที่ปัญหาระบบที่ทำให้รู้สึกว่า ไม่น่าแก้ได้หรอก ทำคนเดียว ใช่ค่ะ คนเดียวแก้ไขไม่ได้ แต่ถ้าทำเรื่อยๆ ไป อยู่กับมันอย่างมีความสุข อยู่กับมันอย่างเห็นความเป็นจริง ว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ก็จะอยู่กับปัญหาได้นาน แก้ไขด้วย มีความสุขกับมันด้วย ต่อให้เห็นว่าสิ่งที่เราเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่ใหญ่โตมากก็ตาม และถ้าทำอะไรได้ก็จะทำอย่างเต็มที่ อย่ารอเวลามากเกินไป

    สำหรับผู้ใหญ่ เหมือนวาดอยากจะฝากบอกว่า เมื่อก่อน เธออยู่กับปัญหานี้ด้วยความโกรธ ด้วยแรงแค้น (หัวเราะ) เพราะเห็นปัญหามานับสิบปี แต่ไม่มีการแก้ไข ทุกอย่างเหมือนเดิม ผู้ใหญ่ทำอะไรกันอยู่ ความรู้สึกเหมือนตอนที่ เกรียตา ทุนแบร์ย (นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่) ที่ไปพูดบนเวทียูเอ็น หรือเวทีอื่นๆ ด้วยอินเนอร์ของความแค้น แต่พอโตขึ้นก็เห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวคนคนเดียว

    “ถ้าจะฝากถึงผู้ใหญ่ก็คือ ไม่ว่าคุณจะอยู่ในโพซิชันไหนก็ตาม ถ้าเห็นปัญหาที่ส่งผลต่อสังคม ก็คือคน คือตัวคุณนั่นแหละ พอเห็นปัญหาของสังคมให้รู้เลยว่า ต่อให้ปัญหาดูไกลตัวแค่ไหน ไม่ช้าก็เร็ว มันจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวคุณและคนใกล้ตัวแน่นอน ทำลายสิ่งแวดล้อม แน่นอนโดนทุกคน ปัญหาเศรษฐกิจ โดนทุกคน ปัญหาความไม่เท่าเทียม โดนทุกคน ไม่ว่าจะมากหรือจะน้อย ปัญาทุกปัญหาถ้าเป็นของสังคม มันจะต้องถึงตัวคุณแน่นอน เพราะฉะนั้น ถ้าเห็นว่าตัวเองสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้ได้ อย่ามองว่า ไม่ใช่องค์กรของเรา องค์กรเราไม่ได้ทำด้านนี้ไม่ต้องไปสนใจก็ได้ ขอให้ทำในสิ่งที่คุณทำได้จะดีกว่า แล้วอย่านิ่งนอนเฉย อย่ามัวแต่คิดว่าถ้าทำดีแล้วฉันจะได้อะไร ให้คิดว่าทำแล้ว จะทำให้ดีขึ้นได้อย่างไร จะดีกว่า ทุกคนมี passion ที่ต่างกัน แต่สำหรับหนูทุกครั้งที่เลือกทำงานหรือตั้งใจทำอะไรสักอย่าง หนูจะมองเสมอว่า ตัวเราสามารถทำงานนั้นแล้วทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร ไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง ศิลปะก็สัมพันธ์กับสังคม จะเป็นหมอ เป็นวิศวะ แต่มองว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ทำให้สังคมดีขึ้นได้อย่างไร ทำให้ปัญหาเหล่านั้นดีขึ้นได้อย่างไร จะดีที่สุด”

    ……..

    พิมพ์ : จุดไฟให้กัน สร้างสังคมที่ดีขึ้น

    รุ่งฤทัย เพ็ญสว่าง หรือ พิมพ์

    ความโดดเด่นประการหนึ่งของเยาวชนที่มาเข้าโครงการ YIC นอกจากจะกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังเป็นการพูดและแสดงความเห็นอย่างเป็นระบบ มีความละเอียดลึกซึ้งในสิ่งที่พวกเขาสนใจ และเมื่อได้ผ่านการขัดเกลาและบ่มเพาะด้วยมือผู้ใหญ่ที่ดีและเข้าใจ ก็สามารถดึงพลังอันเต็มเปี่ยมของพวกเขาออกมาขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทยได้

    รุ่งฤทัย เพ็ญสว่าง หรือ พิมพ์ เข้า YIC เมื่อใกล้เรียนจบแล้ว จากคณะเครื่องจักรกลและเมคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันจบการศึกษาแล้วเมื่อปี 2564 และทำงานเป็นโปรเจ็คระยะเวลา 6 เดือนกับบริษัทแห่งหนึ่งในภาคอีสาน และแม้จะจบวิศวะ แต่กลับวางแผนทำงานที่สามารถขับเคลื่อนสังคมได้ โดยสอบและรอผลเป็นครูสอนในโรงเรียนขยายโอกาส เธอตั้งใจจะสอนเด็ก 2 ปี เพื่อให้รู้ความต้องการของตัวเองว่า สนใจเรื่องการศึกษาจริงจังหรือไม่ จะขับเคลื่อนสังคมผ่านการสอนได้หรือไม่ ถ้า 2 ปีผ่านสามารถตอบตัวเองได้ว่า ชอบสอนเด็ก ชอบอยู่กับเด็ก ก็จะเลือกทำงานสายนี้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะดูว่าจะทำงานอะไรได้บ้างที่อยู่ในแวดวงขับเคลื่อนสังคม

    ความที่พิมพ์สนใจทำงานด้านการขับเคลื่อนสังคม และเป็นเด็กกิจกรรม จึงสมัครเข้าโครงการ YIC เพราะคิดว่าเป็นโครงการที่สามารถสร้างอิมแพคได้จริง เมื่อดูจากกลุ่มพันธมิตรที่เข้ามาร่วม และเครือข่ายเพื่อน พิมพ์บอกว่า เธอได้มากกว่าที่คิดไว้มาก ตั้งแต่การได้เพื่อนที่มี passion เหมือนกัน แม้จะเจอกันผ่านโลกออนไลน์เป็นหลัก เพราะปัญหาโรคโควิด แต่ความที่อายุไล่เลี่ยกัน เกิดในยุคสมัยใกล้กัน เจอปัญหาเหมือนกัน ทำให้สื่อสารกันได้ คุยกันรู้เรื่อง สนิทกันอย่างรวดเร็ว เธอเชื่อว่าต่อไป ไม่ว่าจะทำอะไรที่ไหนก็จะมีเพื่อนกลุ่มนี้คอยสนับสนุน ทำอะไรร่วมกันได้มากขึ้น แม้จะสนใจกันคนละด้านก็ตาม กลายเป็นเครือข่ายการทำงานที่มี passion เดียวกัน

    นอกจากเพื่อนแล้ว พิมพ์บอกว่า YIC ได้ทำให้เธอรู้จักตัวเองและการพัฒนาตัวเอง รวมทั้งพัฒนาทักษะการเป็นผู้นำ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่คนใดคนหนึ่ง แต่ทุกคนใน YIC มีโอกาสนี้เท่าเทียมกัน โดยผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น แบบทดสอบให้รู้ว่า เราเป็นคนอย่างไร จะทำงานร่วมกับเพื่อนที่เป็นคนอีกแบบได้อย่างไร

    แม้จะเป็นแบบทดสอบที่เคยเล่นตามเน็ตมาแล้ว แต่ไม่มีใครมาอธิบายให้ฟัง การได้รู้จักตัวเองมากขึ้น ทำให้รู้ที่มาที่ไปว่า ที่ผ่านมาทำไมทำแบบนี้ และควรจะจัดการตัวเองอย่างไร หรือสื่อสารให้คนในองค์กรอย่างไร ทำให้ทำงานให้เข้ากันได้มากขึ้น และก่อนประชุมจะมีการพูดคุยันในกลุ่มเป็นการเช็คอินกันก่อนว่า แต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง มีอะไรจะให้ซัพพอร์ตหรือไม่ ที่บ้านมีอะไรเครียดหรือเปล่า ใครไหวไม่ไหว รวมทั้งสามารถสร้างระเบียบวาระการประชุม (Agenda) ดูแลการประชุมให้อยู่ในระยะเวลาที่กำหนด มีการให้โอกาสทุกคนในทีมได้สลับกันทำหน้าที่ต่าง ๆ ในที่ประชุม ทั้งการจัดการประชุม จดรายงานการประชุม ทำให้แต่ละคนสามารถทำทุกอย่างในการประชุมได้ ทั้งหมดนี้เป็นตามที่ YIC ตั้งใจไว้ คือให้ได้ทดลอง ลงมือ พัฒนาทักษะความเป็นผู้นำของตนเอง

    “ที่สำคัญ คือความเป็นรูปธรรมของโครงการ เพราะตอนแรกคิดว่า โครงการนี้เหมือนเอาเยาวชนมาออกค่ายตามมหาวิทยาลัยที่พอเข้าร่วมเสร็จก็จบ งบที่ให้มาแค่ค่ากินอยู่ แค่ทำโครงการหรือเปล่า แต่ในYIC มันเห็นเป็นโครงการจริง ๆ ได้ไปทำงานกับน้องโรงเรียนมัธยมต้นจริง ๆ แล้วน้องมีฟีดแบคกลับมา ผู้ปกครองของน้องก็ได้มาดู มารับฟังความคิดเห็นของน้อง มันส่งผลไปถึงเด็กในโครงการที่เราไปทำงาน มันเห็นชัด และสามารถเอามาเขียนเป็นไกค์บุ๊คได้ คือ ไม่คิดว่า 3 เดือนหลังที่ปั้นโครงการขึ้นมาสามารถเป็นรูปธรรมและมีอิมแพคได้ขนาดนี้ มันเกินกว่าที่คิดเหมือนกัน”

    ด้วยความที่เป็นเยาวชนที่สนใจเรื่องการขับเคลื่อนสังคม ทำให้พิมพ์รู้สึกว่า ผู้ใหญ่ในสังคมไม่เปิดโอกาส ไม่เปิดพื้นที่ให้เยาวชน และยังตัดโอกาสอีกด้วย ตั้งแต่ผู้ใหญ่ระดับวางนโยบายที่ตัดโอกาสเยอะมาก ทั้งเรื่องงบ การเลือกใครก็ไม่รู้มาบริหารกระทรวงศึกษาธิการ พอเด็กแสดงความคิดเห็นก็ไม่ฟัง สุดท้ายผลมาตกที่เด็ก

    ในยุคสมัยนี้มีเรียนออนไลน์ จะใช้หนังสือแบบเก่าก็ไม่ได้ หลายอย่างไม่ฟังเสียงผู้ใช้ ถ้าเปรียบบริษัทเป็นซอฟท์แวร์ ก็คือไม่ฟังประสบการณ์ผู้ใช้ แล้วจะไปพัฒนาตัวซอฟท์แวร์หรือระบบให้เหมาะสมกับผู้ใช้ได้อย่างไร ที่เห็นได้ชัดคือประสิทธิภาพก็ไม่ได้ ไม่ฟังเสียงคนเรียน คนสอนก็กลับลดมาตรฐานอีก อย่างการสอบคัดเลือกครู ที่มีการบอกว่ายาก ให้ลดเกณฑ์ลงมาอีก ทั้งที่เด็กบางคนสามารถเปิดสอนเป็นติวเตอร์ได้ โดยไม่ต้องใช้ครูแล้ว ติวเตอร์พวกนี้เข้าเรียนเพียงแค่ต้องการไหลไปตามระบบเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้เท่านั้น ทำให้เห็นว่า เขาสร้างระบบมาเพื่ออะไร ถ้าครูจะลดเกณฑ์สอบลงมา เขาจะเข้ามาทำอะไร บางคนถึงไปสอบพาสชั้น บางคนเรียนเองด้วยทำงานไปด้วย

    พิมพ์ ตั้งคำถามว่า ทำไมถึงทำให้เด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาขนาดนั้น การศึกษาไม่ตอบโจทย์เยาวชนเลย ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองมีค่า หรือพัฒนาได้ต่อ คนที่เข้าไปเรียนยิ่งเครียด ทำไมเราไม่เก่ง ทำไมเราต้องเรียนวิทย์คณิต ทั้งที่วาดรูปได้ บางคนแปลหนังสือได้ อ่าน พูด เขียนภาษาที่สามได้ แต่ที่บ้านกลับบอกว่า ภาษาจะไปทำอะไรกินได้ สถาบันครอบครัวไม่เข้าใจแล้วหนึ่ง บีบให้เขาไปเรียนสิ่งที่ไม่ถนัด ทำให้เขารู้สึกด้อยค่า

    พิมพ์บอกต่อว่า”ครอบครัวก็ไม่รับผิดชอบ จะไปหาหมอ ภาครัฐค่ารักษาพยาบาล ค่ารักษาทางจิตใจ ก็ไม่ได้ให้มากเท่าที่ควร บางทีก็ให้ผู้ปกครองไปด้วย ทั้งที่เด็กไม่ได้ต้องการให้ผู้ปกครองไป เพราะกลัวผู้ปกครองว่า ทำให้เด็กยิ่งแย่เข้าไปใหญ่ ทั้งที่วัยที่ผู้ปกครองต้องไปด้วย คือ 14-15 ปีเป็นวัยที่อ่อนไหว บางบ้านไม่เข้าใจเขาก็ยิ่งแย่ กลายเป็นว่าสถาบันครอบครัวไม่เข้าใจ การแพทย์ปรึกษาไม่ได้ ครูก็ไม่เข้าใจบอกพ่อแม่อีก โรงเรียนมีเกณฑ์ให้แต่คนเก่งเรียน แล้วคนไม่เก่งแต่อยากเรียนกลับไม่ได้เรียน ระบบไม่ซัพพอร์ต มหาวิทยาลัยตัดโอกาสเด็ก ผู้ใหญ่ตัดโอกาสเด็ก มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาตั้งแต่ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย จำนวนมาก”

    กิจกรรมในโครงการ YIC

    “หนูเลยรู้สึกว่าระบบก็ไม่ซัพพอร์ต อะไรก็ไม่ซัพพอร์ต มีแต่เด็กที่ต้องดิ้นรนเอง ทำให้ดังในโซเชียลบ้าง แล้วเด็กต้องช่วยกันเอง ผลักดันกันเองหมดเลยหรือ แม้จะผู้ใหญ่ที่พร้อมจะช่วยผลักดันเด็กจำนวนมาก แต่อำนาจในการตัดสินใจไม่เยอะเท่าคนแค่ 1-2 คนที่มีอำนาจ อย่างมีครูนอกระบบที่เห็นด้วยกับนักเรียน เป็นครูน้ำดี หรือผู้ปกครองที่เข้าใจเด็ก แต่ว่าผู้ปกครองอาจส่งเสียได้ ครูอาจจะสอนได้ แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนรับนโยบายมาจากกระทรวง ไม่ทำตามนโยบายกระทรวงไม่ได้ มันก็วนอยู่อย่างนี้”

    พิมพ์ บอกว่า ก่อนหน้านี้เธอค่อนข้างหมดหวังกับสังคม ร้องโอ้โห ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะปีสองปีที่แล้วที่มีการประท้วงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง แต่ไม่สามารถไปสนับสนุนการประท้วงได้เพราะอยู่ต่างจังหวัดรู้สึกว่า ทำไมเราทำได้แค่นี้ เราน่าจะไปสนับสนุน ไปอยู่ตรงนั้นร่วมกับทุกคน หรือเราน่าจะมีเงินจะได้ซื้อของหรือระดมทุนไปสนับสนุน และเยาวชนแค่จะออกไปส่งเสียงให้ผู้ใหญ่รับรู้ แต่กลายเป็นว่าทุกคนมารุมตี รุมปิด เสียงเหมือนถูกปิดไว้ในกล่อง แต่เราไม่อยากให้เสียงอยู่ในกล่อง อยากให้เสียงออกไปข้างนอก แล้วให้เขาปรับ 1-2-3 มานั่งคุยกัน ช่วยกันแก้ แต่เขาไม่คุย ปัญหาไม่ถูกแก้ ทุกคนก็เริ่มเหนื่อย หลังจากสองปี มาปีนี้ ไม่มีโควิดทุกคนต้องทำมาหากิน เหมือนสองปีที่แล้วไม่เคยเกิดเหตุการณ์อะไร ทุกอย่างเงียบเหมือนเป็นศูนย์ ก็เลยสิ้นหวังเหมือนกัน

    “แต่การได้เข้า YIC ที่มีพันธมิตรจากหน่วยงานราชการระดับวางนโยบาย อยู่ในกลุ่มพัฒนาระบบราชการไทยได้มาฟังด้วย ทำให้เสียงสะท้อนของเธอและเพื่อนที่เป็นปัญหาจริง ๆ มีผู้ใหญ่มารับฟัง และแลกเปลี่ยนในพื้นฐานข้อเท็จจริง เป็นข้อมูลข้อเท็จจริง ที่ไม่ใช้อารมณ์ แต่เป็นประสบการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างประสบมา มาคุยกัน ไม่ใช่เป็นการแสดงความเห็นเพียงอย่างเดียว และไม่ใช่คุยกันผ่านหน้าจอ หรือคีย์บอร์ด ตอนอยู่ในเน็ตที่มีแต่การตัดพ้อ หรือโกรธ อย่างเดียว และก่อนเข้า YIC จะมองภาพรวม เห็นแต่ปัญหากอง ๆ อยู่”

    แต่พอเข้า YIC เราต้องจับปัญหาแล้ว เหมือนจับรูบิคขึ้นมาดู เห็นแล้วว่าสีมันเรียงกันอยู่นะ ต้องแก้ตรงนั้น ปรับตรงนี้ ต้องใจเย็นมากขึ้น ต้องทำความเข้าใจ ต้องช่วยกันคิด ช่วยกันแก้ ทำให้นอกจากจะบ่นอย่างเดียว ก็ต้องหาวิธีแก้ด้วย พอแก้แล้วก็ก้าวจาก 1 ไป 2 ได้ก็เหมือนได้รางวัล ได้กำลังใจ ทำให้โลภ อยากทำให้มันดีกว่านี้อีกในก้าวต่อ ๆ ไป เป็นกำลังใจที่ได้มา

    “คือ ไม่ได้ฟันธงว่า สิ่งที่ได้เป็นทางออก แต่มันเป็นความเป็นไปได้ จากตอนแรกที่ไม่เห็นเลย แต่ได้เห็นจากพี่ที่เป็นกรรมการหรือพี่ที่มาให้คำแนะนำ ทำให้เรารู้สึกว่า เรายังทำได้นี่ ยังทำได้อีกหลายอย่าง จะดับไฟตัวเองไปทำไม ในเมื่อมีองค์กรอีกมากมาย ไม่ใช่แค่ YIC ที่ต้องการขับเคลื่อนหรือลดความเหลื่อมล้ำในสังคม มีองค์กรอีกมากมายที่มีตัวตนอยู่ ได้เห็นว่าประเทศไทย มีคนอีกหลายกลุ่ม ไม่ใช่แค่เราที่ต้องการเห็น ต้องการลงมือทำไปในทางที่ดีขึ้น นี่คือทางออก ทุกคนในโครงการไม่ได้หยุดแค่นี้ แต่พยายามสร้างเครือข่ายเป็นสิบ ๆ ร้อย ๆ แล้วคิดว่าวันหนึ่งที่เครือข่ายเหล่านี้กว้างขึ้น ก็ต้องมีทางออกมากขึ้น เพียงแต่ทุกอย่างมีเวลาของมัน เวลาที่ดีต้องมาถึง”

    แม้จะเป็นแค่เยาวชน แต่ พิมพ์ ก็เชื่อในพลังเยาวชนว่าสามารถขับเคลื่อนทุกอย่างให้เป็นจริงได้ เพราะก่อนจะเป็นผู้ใหญ่ ทุกคนเคยเป็นเยาวชนมาก่อน ถึงช่วงนี้เยาวชนจะเกิดน้อย มีน้อยกว่าวัยผู้ใหญ่ก็ตาม แล้วแต่เดิมการรู้จักคน อาจะทำได้แค่คนในชุมชน ในจังหวัด แต่เดี๋ยวนี้สามารถทำความรู้จักได้กับคนทั้งโลก เยาวชนทั้งโลกเป็น Global Citizen ทุกคนเชื่อมถึงกัน ต้องมีเพาเวอร์แน่นอน อย่างเกรียตา ทุนแบร์ย ที่มารณรงค์เรื่องโลกร้อน ก็เป็นเยาวชนคนหนึ่ง แต่ส่งผลกระทบ อิมแพคไปทั่วทั้งโลก เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าเยาวชน หรือผู้ใหญ่ ถ้าพูดอะไรที่เป็นข้อเท็จจริง และมีอิมแพค ทุกคนก็พร้อมที่จะรับฟัง เลยคิดว่า เยาวชนสร้างอิมแพคได้อยู่แล้ว ตราบใดที่พูดข้อเท็จจริงที่เห็นกัน แล้วมาลงขันไอเดีย ลงขันแรงกายแรงใจ แล้วก็ขับเคลื่อนให้แก้ไขไปได้ ทำคนละนิดละหน่อย อาจจะไม่ได้ในทันที แต่อย่างน้อยก็ดีกว่าเมื่อวาน หรือถ้าดีกว่าเมื่อวานไม่ได้ ก็ช่วยกันดึงไม่ให้มันแย่กว่าเมื่อวาน อย่างน้อยก็ประคองให้เดินไปได้ ก็นับว่าเป็นอิมแพคแล้ว

    พิมพ์ บอกว่า ก่อนเข้า YIC เธอคิดว่าตัวเองมี passion มีไฟ มีพลังล้นเหลือ และเป็นคนไม่ชอบอยู่ว่าง ๆ ตอนเรียนมหาวิทยาลัยจะหากิจกรรมทำตลอด อยากเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ไม่อยากหยุด ไฟล้นเหลือตั้งแต่เข้าโครงการ แต่พอมาเข้าโครงการนี้กลายเป็นว่าเธอได้เปิดโลกอีกโลก ทำให้เธอได้เปิดประตูไปสู่ประตูบานต่อไปได้มากขึ้น

    “อยากให้น้อง ๆ รุ่นถัดไป อย่าเพิ่งรีบหมดไป อย่าเพิ่งปิดกั้นตัวเอง ยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ มีคนพร้อมจะขับเคลื่อนสังคม ไม่ได้มีแค่เรา ถ้าเราหมดไฟ ก็จะเป็นกองที่ไฟมอดแล้วอีกกองเต็มไปหมด และจะเห็นแต่คนที่ไฟมอดเหมือนกัน แต่ขอให้เชื่ออีกนิดหนึ่ง ลองฮึดอีกนิดหนึ่ง ก็จะเจอคนที่มีไฟเหลืออยู่เหมือนกัน เหมือนที่เขาบอกว่า คนประเภทเดียวกันจะดึงดูดเข้าหากัน ถ้าเราเชื่อว่ายังไปต่อได้ เชื่อว่ายังมีหวัง ก็จะดึงดูดไปหาคนที่คิดเหมือนเรา และจะยิ่งต่อไฟให้เรามากขึ้น เราส่งไฟให้เขา เขาก็ส่งไฟให้เรา ทำให้ไปต่อได้ อยากชวนให้น้อง ๆมาร่วมโครงการนี้เพื่อหาไฟมาต่อตัวเอง และส่งไฟให้คนอื่น จะได้จุดให้คนที่หมดไฟแล้ว และจุดไฟให้กันด้วย เพื่อให้สังคมดีขึ้น”