ThaiPublica > คนในข่าว > เปิดวาร์ปตัวแทนเยาวชน Youth In Charge…พื้นที่คนรุ่นใหม่ เสียงที่ผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจรับฟังอย่างจริงใจ (ตอนที่1)

เปิดวาร์ปตัวแทนเยาวชน Youth In Charge…พื้นที่คนรุ่นใหม่ เสียงที่ผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจรับฟังอย่างจริงใจ (ตอนที่1)

29 ตุลาคม 2022


“ประเทศไทยทุกวันนี้ “ผู้ใหญ่คิด ผู้ใหญ่ทำ ผู้ใหญ่นำ” เสียเยอะ ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และยังคงเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว เราจะตัดสินใจอะไรแทนเยาวชนไปหมด ตั้งแต่ในระดับโรงเรียน ไปจนถึงระดับสังคมและประเทศคงไม่ได้อีกต่อไป”… ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ในยุคที่โลกเปลี่ยนไป เยาวชนสามารถเป็นผู้นำหรือผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะปัจจุบันเยาวชนไม่ได้มีแค่โลกในโรงเรียน โลกข้างนอกกว้างกว่าและสนุกกว่าสำหรับเขาด้วย

ทำให้ “เยาวชนยังเป็นอนาคตของชาติ” เพราะเยาวชนวันนี้ รู้ว่าอนาคตเขาเริ่มตั้งแต่วันนี้ และตัวเขาเองเป็นคนกำหนดอนาคตที่เขาต้องการ

ด้วยความเชื่อที่ว่าเยาวชนสมัยนี้เก่ง เรียนรู้เร็ว และรู้อะไรเยอะแยะ แต่สิ่งที่เขาขาดคือเวทีของเขาเอง ที่ผ่านมามีเวทีเยาวชนมากมาย แต่เป็นเวทีที่เยาวชนพูดกันเอง ผู้ใหญ่ยังมองว่า เยาวชนยังขาดประสบการณ์ ยังไม่มีวุฒิภาวะ

นิยามของเด็กหนึ่งคน เมื่อก่อนเรามองเด็กคนนี้เป็นเด็กเก่ง เด็กวิทย์ เด็กศิลป์ นักกีฬา แต่เดี๋ยวนี้คำนิยามคำเดียว ไม่สามารถนิยามเด็กคนนั้นๆได้ เพราะเขามีความสนใจและมีมิติในชีวิตที่หลากหลาย เขามีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ มีไฟ มีพลัง

ด้วยความตระหนักว่าตัวเยาวชนอาจจะยังไม่พอ ต้องมีการสนับสนุนสนุนจากผู้ใหญ่ แต่เยาวชนยังเป็นคนกำหนดอนาคตโดยมีผู้ใหญ่มาช่วยสานฝันให้เป็นจริง

สิ่งเหล่านี้คือที่มาของการสร้างพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ในชื่อ “Youth in Charge” ที่มีผู้อยู่เบื้องหลังเวทีนี้คือ นางสาวเอริกา เมษินทรีย์ หรือ “บะหมี่” วัย 26 ปี ลูกสาวของ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งบะหมี่มองว่าเยาวชนต้องการพื้นที่ที่มีผู้ใหญ่-ผู้มีอำนาจรับฟังอย่างจริงใจ

  • Youth In Charge… ประเทศไทย จากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่
  • Youth In Charge… ประเทศไทย จากมุมมองของเยาวชนคนรุ่นใหม่
  • เปิดตัว Youth in Charge Leadership Academy สร้างทักษะ ‘คนรุ่นใหม่’ ในโลกที่ท้าทาย
  • “เอริกา เมษินทรีย์” ปลดปล่อยพลังเยาวชนในพื้นที่ “Youth in Charge” สะพานสานฝัน ‘เด็ก’ ถึง ‘ผู้ใหญ่’
  • บางจากฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพ Youth in Charge Symposium ครั้งที่ 1 หนุนเยาวชนออกแบบอนาคต พัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
  • จากจุดเริ่มต้นของ Youth in Charge Leadership Academy คือ การให้เยาวชนที่มีความสนใจหลากหลาย มีศักยภาพเกินวัย มีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์ให้กว้างขึ้น เรียนรู้ในสิ่งที่ไม่ถูกสอนในห้องเรียน ที่ระบบการศึกษาปัจจุบันไม่สามารถให้ได้ ผ่านมิตรภาพและเครือข่ายใหม่ๆ เพื่อปลดปล่อยพลังที่มีอยู่เพื่อสร้างอนาคตที่แตกต่างออกไป “ไทยพับลิก้า” ได้แลกเปลี่ยนกับตัวแทนของเยาวชน ที่ผ่านประสบการณ์ Youth in Charge (YIC) ประกอบด้วย ปรเมศวร์ นวลขาว, เหมือนวาด พจนานนท์, ทัศนารีย์ วิเศษโรจนา และ รุ่งฤทัย เพ็ญสว่าง โดยหวังที่จะสะท้อนเสียงของพวกเขาให้ดังไปถึงผู้ใหญ่ได้รับรู้ว่า โลกใบนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เยาวชนก็เปลี่ยนไปแล้ว และพวกเขาพร้อมที่จะสร้างอนาคตที่ดีให้กับประเทศไทยไปพร้อมกับผู้ใหญ่ทุกคน

    ตัวแทนเยาวชน Youth In Charge ปรเมศวร์ นวลขาว และ ทัศนารีย์ วิเศษโรจนา

    ปรเมศวร์ : พลังแห่งการสื่อสาร ขับเคลื่อนอนาคต

    เริ่มจาก ปรเมศวร์ นวลขาว เขาเป็นเด็กจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี สนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมของบ้านเกิด ไม่ว่าจะเป็นหนังตะลุง หรือโนรา และมีโอกาสได้เป็นลูกศิษย์อาจารย์เทพศิลป์ ผ่องแก้ว เจ้าของฉายาหนังตะลุง 3 ภาษา คือภาษาใต้ ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน และยังทำงานประจำที่สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำให้ปรเมศวร์ได้เรียนรู้ จนได้เป็นนายหนังตะลุง และ
    ได้ทำงานที่เกี่ยวข้องในด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวอยู่หลายปี ทั้งร้องเพลง รำโนรา แสดงหนังตะลุง ที่ไหนมีงานก็จะติดตามอาจารย์ และพี่ ๆ นายหนังตะลุงไปด้วยตลอด เลิกงานก็ช่วยจัดเก็บข้าวของ เรียกว่าคลุกคลีวงการศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่มัธยมศึกษาปีที่ 4-6 รู้จักคนในวงการมากมาย ปัจจุบันปรเมศร์เรียนชั้นปีที่ 3 สาขาวิชานวัตกรรมการจัดการศิลปวัฒนธรรม คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มีความชอบและความถนัดด้านศิลปวัฒนธรรมหลายแขนง และความที่เป็นเด็กกิจกรรม อาจารย์ที่ มศว จึงแนะนำให้เข้าโครงการนี้

    ปรเมศวร์บอกว่า นอกจากเขาจะได้เพื่อนใหม่จาก Youth in Charge Leadership Academy (YIC) ที่มาจากทั่วประเทศแล้ว YIC ยังมีรูปแบบกิจกรรมที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวที่ได้รับการสนับสนุนจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ทำให้โดนใจมาก อยากเข้าโครงการเพื่อเพิ่มทักษะให้ตัวเองดีขึ้น จะได้มีแนวคิดใหม่ๆ เอาความรู้ที่ได้มาไปพัฒนางานต่อได้

    ปรเมศวร์บอกว่า พอได้เข้าโครงการ ได้ร่วมทำกิจกรรมทั้งกับเยาวชนคนรุ่นเดียวกัน และผู้ใหญ่จากองค์กรต่างๆ ทำให้เขาเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารอย่างมาก ในการทำงานอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะกับเพื่อน กับครูบาอาจารย์ หรือผู้ใหญ่ และโครงการนี้จะเน้นย้ำเรื่องนี้ตลอดเวลา ว่า ต้องรับฟัง ต้องเปิดใจ มีอะไรสงสัยต้องถาม การทำงานหลายครั้งที่คุยผ่านไลน์ กับเจอตัวจริงแล้วคุยกัน จะเป็นคนละเรื่องกันเลย การได้คุย ได้พบตัวจริงๆ จะดีกว่าเยอะมาก จะดึงศักยภาพตัวเราเอง ตัวเยาวชนออกมาได้เยอะ

    ปรเมศวร์ยกตัวอย่างการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนแห่งหนึ่งแถวมีนบุรี ที่ต้องเข้าไปประสานกับคนในชุมชน เขาพบว่า การคุยกับคนในชุมชนจะพูดเล่นเหมือนที่คุยกับเพื่อนไม่ได้ ต้องมีรูปแบบการพูดคุย มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ต้องเข้าหาผู้ใหญ่ ถ้าใช้ความแข็งกระด้าง ความเป็นเผด็จการ จะคุยกับผู้ใหญ่ไม่ได้ จะเกทับกัน ขัดแย้งกันในกลุ่ม แบบว่า ถ้าเก่งก็ทำไปสิ ทำให้เห็นว่ารูปแบบการประสานงาน การพูดคุย มีหลายแบบมาก กับเด็กจะคุยแบบหนึ่ง กับเพื่อนคุยอีกแบบหนึ่ง กับผู้ใหญ่ กับคนที่มีปัญหา คุยแบบนี้ ชุดคำพูดต่างๆ เหล่านี้ในโครงการจะมีการแนะนำ ทั้งการสื่อสาร การรับฟังปัญหาทั้งปัญหาของเขาและปัญหาของเรา หาจุดกึ่งกลางที่สามารถทำงานร่วมกันได้

    ประสบการณ์นี้ทำให้ปรเมศวร์อยากบอกเพื่อนว่า เวลาเจอปัญหาให้ฟังก่อน ดูลาดเลาก่อนว่าเป็นอย่างไร ดูว่าคนที่คุยด้วยมีทัศนคติอย่างไร

    “ผมเคยเจอปัญหาคนในชุมชน เขาจะโจมตีหน่วยงานของรัฐ ผมก็บอกเพื่อนว่า ฟังเขาก่อนมั้ย ว่ามีอะไรที่เราพอจะซัพพอร์ต หรือเคลียร์ประเด็น ผ่อนคลายอารมณ์เขาก่อนแล้วให้ความช่วยเหลือ จากนั้นท่าทีของคนในชุมชนก็เปลี่ยนไป พูดคุยกันด้วยอารมณ์ที่ดีขึ้น”

    ฉะนั้น การประสานงานนอกจากการพูดจะสำคัญแล้ว การฟังก็สำคัญ ถ้าเราไม่รับฟังก่อน จะพูดอย่างเดียว ก็ไม่เกิดประโยชน์กับงาน ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วย

    ปรเมศวร์ นวลขาว

    ““เยาวชนคนรุ่นผม เขาเป็นคนที่รับฟังนะครับ แต่ผู้ใหญ่มักจะคิดว่าไม่ฟัง เห็นได้จากพอเยาวชนพูดแล้วผู้ใหญ่จะบอกว่ามันไม่ใช่ ก็ดีนะ…แต่ว่า เคยผ่านมาแล้วทำมาแล้ว จะเห็นว่าผู้ใหญ่จะมีอะไรมาเบรกเราตลอด เด็กหลายคนเลยคิดว่าพูดแล้วไม่ได้อะไร ทำแล้วก็ยังเหมือนเดิม ผู้ใหญ่แค่มาทำเป็นรับฟังเฉยๆ เยาวชนก็เลยไม่ฟัง บางคนก็ต่อต้านไปเลย เขาคิดว่าอย่ารับฟังปลอมๆ ขอให้รับฟังให้จริง ไม่ใช่บอกว่าดีมากแล้วเรื่องเงียบหาย เยาวชนก็จะรู้สึกว่าที่ทำมามากมายไม่มีค่าอะไรเลยหรือ แต่ถ้าผู้ใหญ่รับฟังแล้วบอกว่าลุงอยากเสนอแบบนี้ พวกหนูคิดว่าอย่างไร มีอะไรที่ดีกว่า อย่าพูดแต่ไม่ดี ไม่เอา”

    นอกจากนี้ การที่ YIC เป็นพื้นที่ที่เปิดให้กับเยาวชนได้แสดงความคิดเห็น โดยมีหน่วยงานรัฐและเอกชนเข้ามารับฟังความเห็นเยาวชน จากเดิมที่เยาวชนไม่ได้มีพื้นที่แสดงความเห็นได้มากมาย อาจจะมีบ้างเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็พูดได้ แต่เวทีนี้จะมีคนรับฟังความเห็น ให้คำแนะนำ เอาแนวคิดของเราไปต่อยอดได้ ทำให้เป็นโครงการที่ดีมาก มีผู้ใหญ่ที่พร้อมรับฟัง เป็นผู้ใหญ่ที่มีเป้าหมายเดียวกับเรา ทำให้ทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น และพร้อมที่จะซัพพอร์ตเราหลังจากที่จบโครงการ เขาบอกเลยว่า มีอะไรให้บอกเลย ถ้าร่วมมือกันได้ สามารถช่วยเหลือสนับสนุนเรื่องต่างๆ กลายเป็นช่องทางติดต่อหลายลู่ทาง ดีกว่าแต่ก่อนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึง

    รวมทั้งอะไรที่ยังขาดไป คาดไม่ถึง ก็มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดกันระหว่างวัย

    “ผู้ใหญ่จะมีแนวคิด มีรูปแบบ กระบวนการจัดการ ส่วนเยาวชนมีแนวคิดสร้างสรรค์ การปรับตัว การอยู่ร่วมกัน ความทันสมัย ทันโลก แต่สามารถมาคุยกันได้ ปรับจูนกันได้ ถ้าเด็กทำฝ่ายเดียว ไม่มีใครสนับสนุนก็ไปไม่ถึง ถ้าผู้ใหญ่ทำกันเอง โดยไม่รับฟังความคิดของเยาวชน ก็จะไม่เข้าถึงกลุ่มเยาวชน ตัวอย่างง่ายๆ ตอนนี้คือเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ จากที่เคยทำงานคลุกคลีกันมาทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ผู้ใหญ่จะมีแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก อยากรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่แบบอันนี้แตะได้ อันนี้แตะไม่ได้ อันนี้ดีอยู่แล้ว แต่เยาวชนจะมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะเห็นว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว สามารถหยิบจับอะไรมาทำโดยที่ผู้ใหญ่ไม่คาดคิด เช่น ถ้าเราแตะตรงนี้อาจจะเพิ่มมูลค่า ส่งเสริมเศรษฐกิจ หรือคนรู้จักเพิ่มขึ้น”

    ตัวอย่างแนวคิดของผู้ใหญ่ที่ทำเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มานาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะติดแนวคิดดั้งเดิม คือกระแสข้าวเหนียวมะม่วงฟีเวอร์ ปรเมศวร์บอกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลและการท่องเที่ยวพยายามโปรโมทข้าวเหนียวมะม่วงให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรู้จักมาโดยตลอด ใช้งบจัดเลี้ยงไปมากมาย แต่กระแสไม่เกิด เทียบกับที่ มิลลิ แรปเปอร์สาววัย 19 ปี ศิลปินเดี่ยวจากไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีเทศกาลดนตรีระดับโลกที่ Coachella 2022 แล้วปิดท้ายการแสดงด้วยการโชว์กินข้าวเหนียวมะม่วงบนเวทีจนโด่งดังเป็นที่รู้จักทั่วโลก นักท่องเที่ยวเข้ามา

    นี่คือซอฟต์พาวเวอร์เล็กๆ ที่คนมองไม่เห็น ในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนยังเห็นว่า ไม่ดีนะ ร้องเพลงคือร้องเพลง ทำไมต้องเอาอะไรขึ้นไปกินบนเวที แต่เด็ก เยาวชนจะมองว่า เวทีมีหลายรูปแบบที่เปิดกว้างทางความคิด เปิดกว้างทางการแสดง

    ไม่เหมือนสมัยก่อนที่จะขึ้นไปร้องเพลงอย่างเดียว และเวทีนี้เป็นเวทีระดับโลกที่สามารถทำอะไรที่ส่งเสริมประเทศไทย ผ่านแนวคิดของเราที่เป็นรูปแบบใหม่ มีใครเคยเห็นบ้างที่เอาข้าวเหนียวมะม่วงขึ้นไปกินแล้ว ถามกันว่า มันคืออะไร ทำให้ข้าวเหนียวมะม่วงขายดิบขายดี คนให้ความสนใจ ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐส่งเสริมกันมาไม่รู้กี่ปีแล้วแต่ยังเงียบ

    อีกตัวอย่าง คือ ศิลปะโขน เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีการแต่งชุดทศกัณฑ์มาร้องเพลง แคะขนมครก ขี่รถมอเตอร์ไซค์ หรือเล่นน้ำทะเล ถ้าความคิดของผู้ใหญ่ในกระทรวง ทศกัณฑ์เป็นถึงกษัตริย์ เป็นตัวละครที่สูง เอามาทำอะไรแบบนี้ไม่ได้ ถ้าคิดแบบนี้ ทศกัณฑ์จะอยู่ตามโรงละคร ตามงานมหรสพที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านผู้หญิง ผู้หลักผู้ใหญ่นั่งดู แต่เยาวชนไม่รู้จัก แต่พอทำแบบนี้ เพลงดังเป็นกระแสขึ้นมา ถามว่าเสียหายหรือไม่ มีภาพอนาจารหรือไม่ มีคำหยาบหรือไม่ ไม่มีเลย มันเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยซ้ำ แต่ก็โดนแบน ไม่ออกมาสู่สายตาประชาชนมากพอควร

    “ผมว่า ศิลปวัฒนธรรมที่เรามีอยู่สามารถนำมาโปรโมทได้อีกเยอะมาก แต่ต้องมีความยืดหยุ่นทางวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมไม่มีขอบเขต เข้าถึงกันได้หมด ดนตรีของโนห์รา สามารถไปเข้ากับตอนยอน ในภาคเหนือได้ ซึ่งมีคนทำมาแล้วและเข้ากัน ดนตรีอีสานสนุกสนานก็มาอยู่กับภาคกลาง เป็นต้น”

    การเล่นหนังตะลุง

    สิ่งสำคัญที่ได้จาก YIC ของปรเมศวร์อีกเรื่อง คือ การลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะการลงพื้นที่ทำกิจกรรมที่ทำให้เห็นว่า ข้อมูลในโลกออนไลน์กับพื้นที่จริงนั้นแตกต่างกันมากมาย มีหลายอย่างที่ข้อมูลไม่ตรงกัน สิ่งที่เห็นในเว็บไซต์ กับเวลาลงพื้นที่ในชุมชนเป็นคนละเรื่องกัน เพราะเมื่อเข้าไปในเว็บไซต์จะพบข้อมูลภาพรวมของชุมชน ที่จัดข้อมูลร้อยเรียงมาให้ดูสวยหรู ให้ภาพลักษณ์ดูดี แต่พอไปถามคนในชุมชนถึงความต้องการ ถึงปัญหาต่างๆ ปรากฎว่าไม่ได้สวยหรูอย่างที่ได้อ่านในเว็บไซต์ หรือตามที่คอลัมน์หนึ่งเล่าว่า เป็นชุมชนท่องเที่ยว มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย แม้แต่ในช่วงโควิดก็มีการบริหารจัดการกันได้ แต่พอลงพื้นที่ไปดูแล้ว กลายเป็นเหมือนชุมชนร้าง โควิดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชุมชนเงียบ แต่หน่วยงานเองก็ไม่ได้มีการจัดการดูแลอย่างดีเหมือนที่ผ่าน ภูมิทัศน์ย่ำแย่ บ้านเรือนผุพังไม่มีการปรับปรุง เป็นคนละเรื่องกับที่ได้อ่าน

    “การลงพื้นที่ได้คุยกับคนในชุมชน ได้รับฟังปัญหาอย่างแท้จริง ถ้าแก้ได้ ก็แก้ แต่บางเรื่องที่เกินกำลัง ก็จะรับปัญหามาแล้วส่งต่อให้ผู้ใหญ่ที่มีกำลังมากกว่า เช่น เรื่องขยะ การบำบัดน้ำเสีย ปัญหาเหล่านี้บางทีผู้ใหญ่ไม่มีเวลาที่จะเข้าไปในชุมชน เยาวชนก็จะเป็นตัวเชื่อม เป็นเหมือนปาก เหมือนหู เหมือนตา ที่คอยรับฟังปัญหาในชุมชน แล้วส่งต่อให้ผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่รับฟัง ก็จะแก้ปัญหาได้ พอเห็นอย่างนี้ผมก็ฉุกคิดว่า ชุมชนมีของอยู่นะ แต่ขาดการส่งเสริม ขาดการทำงานอย่างต่อเนื่อง ที่จะพัฒนารูปแบบอื่นๆ ได้”

    ปรเมศวร์บอกว่า สำหรับตัวเขายังมีความหวังกับประเทศไทยอยู่ คำพูดที่ว่า เยาวชนคือกำลังของชาติยังใช้ได้ เพราะผู้ใหญ่ต่างแก่ตัวลง สูงอายุขึ้น สิ่งที่เยาวชนจะสามารถนำมาจากพวกผู้ใหญ่ได้ แต่เยาวชนยังมีไม่ถึง หรือยังไม่มี คือประสบการณ์ แม้จะเป็นประสบการณ์เก่า ไม่ทันยุคสมัย แต่ถ้าไม่เรียนรู้ก็จะไม่สามารถปรับให้เข้ากับปัจจุบันได้ เพราะถ้าเราไม่เรียนรู้เรื่องพัดที่มาจากอดีต ก็จะไม่มีพัดลมในปัจจุบัน ปัญหาในอดีตทำให้เราสามารถปรับหรือพัฒนาสิ่งที่แก้ไขปัญหาได้ในอนาคต อะไรที่ไม่ดีก็เอามาแก้ไขได้ แต่ถ้าเราไม่รับฟังสิ่งที่ไม่ดี หรือดีอยู่แล้ว ก็จะไม่สามารถต่อยอด หรือทำงานอะไรได้ เพราะคิดว่าสิ่งนี้มันดีอยู่แล้ว ทั้งที่อาจจะมีสิ่งที่ดีกว่าที่ผู้ใหญ่เคยทำมาแล้วก็ได้

    ขณะเดียวกัน คนรุ่นเก่าก็อย่าว่าเยาวชนว่าหัวแข็ง ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน คำนี้สามารถใช้ได้ในบางเรื่อง แต่บางเรื่องอย่างอาบน้ำร้อนมาก่อนในเรื่องการเดินทางว่าแบบนั้นแบบนี้ดีกว่า เดินทางโดยรถไฟปลอดภัยที่สุด แต่สมัยนี้ไม่ใช่แล้ว มันมีรถไฟฟ้า มีเครื่องบิน และการเดินทางทุกอย่างมีความเสี่ยงหมด ขึ้นกับว่าเราจะเสี่ยงแบบไหน เลือกความปลอดภัยสูงสุดให้ตัวเองแบบไหน ความสะดวกสบายต่างหากที่ตอบโจทย์

    “ผมคิดว่าโครงการนี้ดี มีประสิทธิภาพ การเฟ้นหาเยาวชนก็เข้มข้น แต่อยากฝากโครงการว่า สิ่งที่เยาวชนจะเข้าถึงได้ง่ายมากสุด คือการทำกิจกรรมมากกว่าการมานั่งฟังผู้ใหญ่เล่าเรื่องภาพรวม เล่าได้แต่อย่าเพียงบรรยาย อยากให้มีการแลกเปลี่ยน หรือรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่แค่นั่งฟัง”

    ……

    มิเกล : พื้นที่ปลอดภัย เปิดโลกสู่การเรียนรู้

    ทัศนารีย์ วิเศษโรจนา (มิเกล)

    ทัศนารีย์ วิเศษโรจนา (มิเกล)เล่าประสบการณ์การเข้าร่วม Youth in Charge Leadership Academy (YIC) ว่าเธอถูกใจกับประโยคหนึ่งในโปสเตอร์เชิญชวนของ YIC ที่ว่า…

    เป็นโครงการที่จะผ่านบททดสอบความเป็นผู้นำอย่างเข้มข้น โอกาสได้พบแลกเปลี่ยนความเห็นกับประธานกรรมการบริหาร หรือซีอีโอ และผู้นำจากแวดวงต่างๆ อย่างใกล้ชิด และผนึกกำลังเพื่อตอบโจทย์ประเด็นท้าทายต่างๆ ของประเทศให้เกิดผลอย่างแท้จริง

    “กดสมัครเลยค่ะกับประโยคนี้ เพราะเป็นคนชอบเรียนรู้ ที่ไม่ใช่เรียนรู้ภายในห้องเรียนอย่างเดียว ชอบเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย พอเห็นคำโปรยเหล่านี้ ที่มีทั้งเรื่องการทดสอบ การแลกเปลี่ยนความเห็นกับซีอีโอ ผู้นำจากแวดวงต่างๆ ทำให้สามารถเรียนรู้ได้จากผู้มีประสบการณ์และมีองค์ความรู้มากมาย ทำให้สนใจ คิดว่าน่าจะได้อะไรมาก และการได้เป็น 1 ใน 100 และมีการผนึกกำลัง ทำให้รู้สึกว่า ถ้าเราตัวคนเดียว อาจจะสร้างอิมแพกต์ได้เล็กๆ แต่ถ้าพลังทุกคนมารวมกันจะมีอิมแพกต์มากกว่า รวมทั้งผู้ที่เข้าร่วมเป็นเยาวชน ทำให้สนใจที่จะได้แลกเปลี่ยนกับคนที่มีความคิดแตกต่าง”

    ปัจจุบัน มิเกลอยู่ปี 2 สาขาวิจัยสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เคยร่วมทำกิจกรรมหลากหลาย เช่น สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพ ที่ร่วมงานกับหน่วยงานภาครัฐองค์การยูนิเซฟ ประสบการณ์เหล่านี้ทำให้มิเกลได้รับทักษะ ความรู้ด้านสังคม เข้าใจโครงสร้างระบบในสังคมระดับหนึ่ง และในฐานะที่อยู่ในกลุ่มเด็กมีปัญหา หรือกลุ่มเด็กที่ถูกผลักไปอยู่ชายขอบ ทำให้มี empathy และมีความเข้าใจต่อกลุ่มนี้มากกว่าคนอื่น จึงสนใจปัญหาเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษในโครงการ YIC

    “ตอนเรียนชั้นมัธยมต้นจะเป็นโรงเรียนขยายโอกาสในกรุงเทพ คนที่เข้าโรงเรียนเหล่านี้จะมีฐานะทางบ้านไม่ดีนัก ขาดการดูแล พอมาอยู่ร่วมกัน มีพื้นเพคล้ายๆ กัน ทำให้เกิดปัญหา ตัวเราเองก็มีปัญหาจากที่บ้านมาอยู่แล้ว สถาบันครอบครัวมีปัญหา อยู่ในโรงเรียนที่มีปัญหาอีก แม้จะเข้าใจว่าครูในโรงเรียนมีความพยายามที่จะทำความเข้าใจ พยายามแก้ปัญหา แต่นักเรียนมีจำนวนมากทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง สังคมในโรงเรียนเลยทำให้ตัวเองค่อนข้างแย่มาก และปัญหาที่พบคือ เพื่อนหลายคนหลุดจากระบบการศึกษา เพราะไม่มีเงินมาเรียน ต้องออกไปช่วยที่บ้านหารายได้ สอง ขาดความรู้ ทำให้ไม่มีความรู้เรื่องการตั้งครรภ์ และสาม คือปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาที่เห็นหลัก

    “ตอนนั้น ด้วยความเป็นเด็ก อายุ 13-14 ปีเอง เห็นสภาพเหล่านี้ โหย นรกสำหรับหนูมาก มีปัญหาการกลั่นแกล้งค่อนข้างรุนแรง หนักมาก ตอนจบดีใจมาก ได้ย้ายโรงเรียน ช่วงเรียนมัธยม 4-5 ก็มีรุ่นพี่ชวนไปทำกิจกรรมที่หอศิลป์เกี่ยวกับการขับเคลื่อนเรื่องเพศศึกษาให้เด็กและเยาวชน มีครูมาชวนเข้าร่วมกิจกรรม กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้ามาวงการพัฒนาสังคม โครงการเปลี่ยนแปลงเด็กและเยาวชน หนูเองก็เป็นเยาวชน ก็เข้าใจเพื่อน เพราะมีคนที่ถูกสังคมผลักไปอยู่ชายขอบ พวกนี้ถูกเรียกว่า เด็กแว้น เป็นเด็กมีปัญหาที่พูดมาข้างต้นหมด ตอนนั้นเป็นประธานชมรม บริหารจัดการกิจกรรมในโรงเรียนขยายโอกาสสังกัด กทม. ร่วมกับเพื่อน จุดเริ่มต้นมาจากสนใจเรื่องเพศศึกษา แต่ตอนนี้สนใจเรื่องเด็กและเยาวชนในมุมที่กว้างขึ้น”

    มิเกล กล่าวว่า ตอนเห็นโครงการ YIC เธอคาดหวังว่าจะได้สิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์และส่งต่อสิ่งเหล่านั้นคืนสังคม ทั้งการเรียนรู้ใกล้ชิดกับภาคส่วนต่างๆ ได้เรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์ ตัวจริง ในวงการนั้นจริงๆ และเมื่อเข้าไปในแพลตฟอร์มแล้ว ได้มีโอกาสได้ขับเคลื่อนร่วมกับเพื่อนๆ ในการสร้างอิมแพกต์สู่สังคมจริงๆ รวมทั้งมีประเด็นเรื่องพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนการทำงานร่วมกัน เป็นการเรียนรู้ที่สนุก เน้นการถกแถลง การฝึกความคิด ตั้งข้อสงสัย เป็นการเรียนรู้ที่ไม่ใช่มานั่งฟังตามบรรยาย แต่ผ่านการคิด ผ่านการได้ทำจริง

    “ที่ชอบที่สุดคือการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ตรงกับหนูมาก เพราะหนูอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำ เขาแยกย่อยออกมาเลย ตั้งแต่ความเหลื่อมล้ำที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความเหลื่อมล้ำของโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร อย่างที่บอก ตอนหนูอยู่มัธยมต้น ก็ขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างๆ พอเรามาร่วมวิเคราะห์กับเพื่อน มีอาจารย์จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำให้ได้เห็นความคิดในแง่มุมต่างๆ หลากหลายขึ้น

    มิเกล บอกว่า 6 เดือนที่อยู่ในโครงการ YIC เธอได้ทุกอย่างที่คิดไว้ และทำให้เห็นภาพของการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนขึ้น ผ่านการทำงานโครงการกลุ่มที่แต่ละคนสนใจ ทำให้ได้เครื่องมือที่เอาไปต่อยอดได้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความคิดที่เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะคำแนะนำของพี่ในกลุ่มที่ว่า ก่อนที่จะขับเคลื่อนในประเด็นใด ให้ลงไปทำความเข้าใจกับปัญหาก่อน จากนั้นโครงการจะมีโฟกัส เป้าหมาย แผนดำเนินงาน วิสัยทัศน์ (vision) การทำงานที่เป็นระบบ แต่มีความยืดหยุ่น และไม่ได้แค่แสดงความคิดเห็น แต่มีการค้นหาข้อมูล มารับฟีดแบคจากพี่ที่ให้คำแนะนำในกลุ่ม และเพื่อนกลุ่มอื่นมาร่วมกันพิจารณาปัจจัยต่างๆ ทำให้ได้มุมมองที่ไม่ได้มาจากกลุ่มเดียว ทำให้รู้จุดที่ต้องปรับปรุง เกิดการพัฒนมากยิ่งขึ้น

    “พวกเรามีโอกาสที่จะเรียนรู้ในพื้นที่ปลอดภัย การแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์ ได้เรียนรู้จากภาคีต่างๆ ที่เป็นองค์กรชั้นนำและหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ได้ความรู้จากคนที่ขับเคลื่อนในงานด้านนี้จริงๆ ในระดับที่สร้างอิมแพกต์ต่อสังคม และการร่วมทำงานกับเพื่อน การพัฒนาทักษะตัวเอง เรื่องการจัดการเวลา วิธีการคุยกับเพื่อน คุยกับคนอื่น หรือจะนำข้อเสนอมาทำอย่างไร”

    แต่สำคัญ คือ มิเกล รับรู้ได้ว่า โครงการนี้ทำให้เสียงสะท้อนจากเยาวชนมีผู้ใหญ่รับฟัง ไม่ได้ถูกมองข้ามเหมือนที่ผ่านมา

    รวมถึงการได้มาเล่าให้ ไทยพับลิกา ได้รับรู้ จนแอบคิดไม่ได้ว่า เยาวชนที่ไม่ได้เข้ามาอยู่ในโครงการ จะได้มีโอกาสแสดงความเห็น หรือให้ผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง มีโอกาสได้รับฟัง หรือส่งเสียงไปถึงพวกเขาได้อย่างไร และยังทำให้คิดได้ว่า ปัญหาต่างๆ มีหนทางในการแก้ไข และวิธีแก้ไม่ได้มีแค่ทางเดียว แต่มีหลายหนทาง และหลายเครื่องมือมากๆ ที่จะหยิบมาแก้ไขได้ รวมทั้ง การมองปัญหาไม่ควรมองในมิติเดียว ปัญหามันมีหลายมิติและมีความซับซ้อนในตัวของมัน ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ และยังมีเรื่องของความเข้าอกเข้าใจ ที่จะมีการเน้นย้ำมากในกระบวนการเรียนรู้แต่ละเซคชั่น ไม่ใช่ความเข้าอกเข้าใจต่อผู้อื่นอย่างเดียว แต่เข้าใจปัญหาด้วย ตั้งแต่ ทำไมมีปัญหานี้ จนถึงทำไมปัญหานี้เกิดขึ้น รวมทั้ง โครงการนี้ยังทำให้เธอรู้ว่า หลายอย่างสามารถเริ่มทำด้วยตัวเองได้ เช่น เรื่องรักโลก รักสิ่งแวดล้อม ที่เริ่มด้วยตัวเองได้

    “ใน YIC จะมีสโลแกนหนึ่ง ก้าวเล็กๆ คือ ก้าวที่ยิ่งใหญ่ คือ เราสามารถเริ่มต้นด้วยก้าวเล็กๆ ไปถึงก้าวที่ยิ่งใหญ่ได้ ในวันนี้เราอาจจะเริ่มต้นด้วยก้าวที่ยิ่งใหญ่ ควบคู่ไปกับก้าวเล็กๆ ได้ มันสอนให้หนูรู้ว่า ไม่จำเป็นต้องอะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างเดียว แต่สามารถทำควบคู่กับสิ่งเล็กๆ ได้ด้วย เพราะสิ่งเล็กๆ ก็มีอิมแพกต์และมีพลังเหมือนกัน”