ThaiPublica > คอลัมน์ > ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตอบโจทย์ประเทศไทยในโลกศตวรรษที่ 21 หรือไม่ ? อย่างไร ?

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตอบโจทย์ประเทศไทยในโลกศตวรรษที่ 21 หรือไม่ ? อย่างไร ?

22 ธันวาคม 2020


ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์

ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา มีสัญญาณมากมายที่บ่งบอกว่า “ประเทศไทยกำลังอยู่ในภาวะเสี่ยง” (A Nation at Risk) โดยต้องเผชิญกับ

    1) ความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง
    2) วิกฤติที่ซ้ำซาก
    3) ขีดความสามารถที่เสื่อมถอย

โดยเป็น “ความเสี่ยงเชิงระบบ” ที่นำมาซึ่ง “ความไม่ปกติสุข” ในสังคมไทยอย่างที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

คำถามไม่ใช่ว่า “พวกเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ? ” แต่น่าจะเป็นว่า “พวกเราจะมาร่วมกันนำพาประเทศก้าวข้ามภาวะเสี่ยงนี้ได้อย่างไร?”

เมื่อเกิดความเสี่ยงเชิงระบบขึ้น พวกเราต้องกลับมาทบทวนดูว่าระบบใหญ่ของประเทศภายใต้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ยังสามารถทำงานได้ดีมากน้อยเพียงใด

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะก่อให้เกิดความเป็น “ปกติสุข” และ “ประโยชน์สุข” กับประชาชนคนไทยอย่างแท้จริงในศตวรรษที่ 21 ก็ต่อเมื่อเรามีความสมดุลใน 3 องค์ประกอบสำคัญ

1) มีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ
2) มีรัฐที่น่าเชื่อถือ
3) มีพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ

ทั้ง 3 องค์ประกอบนี้เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างสนิท ความสมบูรณ์ในแต่ละองค์ประกอบย่อมส่งผลในองค์รวม ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน

สัญญาประชาคมที่มีต่อกัน

การปกครองของไทยที่สืบเนื่องมาแต่โบราณมี “สัญญาประชาคม” ที่พระเจ้าแผ่นดินจะทรงยึดถือในการปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นประมุขของชาติอยู่ 3 ประการด้วยกัน คือ

1) ทรงไว้ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณที่ยิ่งใหญ่และไม่มีที่สิ้นสุดต่อพสกนิกร

2) ทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรม เป็นเครื่องกำกับพระราชจริยวัตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งความมั่นคงอยู่กับความถูกต้อง หรือ “อวิโรธนัง”

3) ทรงไว้ซึ่งการวางพระราชหฤทัยในสายกลางโดยไม่ทรงกระทำสิ่งใดตามอำเภอใจ

หลักการทั้งสามข้อนี้กำหนดขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าสังคมไทยจะมี “สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ” อย่างแท้จริง

ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น มี “โครงสร้างการปกครอง” ที่ออกแบบไว้ให้มีการแบ่งบทบาทภารกิจที่เติมเต็มซึ่งกันและกันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับฝ่ายบริหาร โดยสถาบันกษัตริย์มีบทบาทภารกิจที่สำคัญอย่างยิ่งยวดใน “กลไกกำกับความต่อเนื่อง” (Continuing Factor) ของชาติ ฝ่ายบริหารที่ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วก็ไปตามวาระ อย่างน้อยก็มีสถาบันกษัตริย์ที่คอยปกปักษ์รักษาความต่อเนื่องของความเป็นเอกราช เอกภาพ และเอกลักษณ์ของความเป็นชาติ ตลอดจนพันธกิจและวาระสำคัญๆของประเทศ

ในขณะที่ฝ่ายบริหารมีบทบาทภารกิจใน “กลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง” (Change Factor) ที่สอดรับกับพลวัตโลกภายนอก ควบคู่ไปกับการสนองตอบความอยู่ดีมีสุข และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในประเทศ

เมื่อ “กลไกกำกับความต่อเนื่อง” และ “กลไกขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง” ทำงานประสานสอดคล้องกัน ผ่านการมี “สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมใจของคนในชาติ” และ “รัฐที่น่าเชื่อถือ” ความเป็นปกติสุขและประโยชน์สุขของประชาชน จึงจะบังเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน

รัฐที่น่าเชื่อถือ

ในการบริหารราชการแผ่นดิน การมี “รัฐที่น่าเชื่อถือ” จะส่งผลให้

  • ทำลายวงจรอุบาทว์ทางการเมืองของการประท้วงต่อต้าน การปฎิวัติรัฐประหาร กับการได้มาซึ่งประชาธิปไตยเทียม ดังที่พวกเราเผชิญอยู่ในหลายทศวรรษที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน
  • เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนนโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว มิเพียงเท่านั้น โอกาสที่จะผลักดันการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในระดับฐานรากเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
  • เสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ระหว่างภาครัฐ ประชาสังคมและภาคเอกชน ดังนั้น ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ “โลกที่หนึ่ง”เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีความเป็นไปได้สูง

“รัฐที่น่าเชื่อถือ” จะเป็นรัฐที่มาด้วย “ความชอบธรรม” (Legitimacy) ใช้ “คุณธรรมจริยธรรม” (Integrity) เป็นเครื่องชี้นำ และมี “ความรู้ความสามารถ” (Capability) ที่เพียงพอในการบริหารประเทศ ภายใต้พลวัตโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ความสุดโต่งความซับซ้อน และความไม่แน่นอน

อาจเป็นโชคร้ายของประเทศไทย ที่ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา เรายังไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้ง 3 องค์ประกอบข้างต้นอย่างสมบูรณ์

อยากได้รัฐบาลที่น่าเชื่อถือ ต้องร่วมสร้างพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ

รัฐบาลที่น่าเชื่อถือจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามี “พลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ” มากเพียงพอ เพราะพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ ย่อมจะไม่ยอมปล่อยให้มีรัฐที่ไม่น่าเชื่อถือบริหารประเทศ

ภายใต้พลวัตโลกและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประชาชนไทยมีพัฒนาการอย่างมีนัย โดยปรับเปลี่ยนตัวเองจากพลเมืองที่เฉื่อยชา (Passive Citizen) เป็นพลเมืองที่ตื่นตัว (Active Citizen) มากขึ้น

อย่างไรดี พลเมืองที่ตื่นตัวเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นแต่ไม่เพียงพอ ที่จะตอบโจทย์ความเข้มแข็งและยั่งยืนของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เงื่อนไขที่เพียงพอ คือการปรับเปลี่ยนพลเมืองที่ตื่นตัว เป็น พลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ (Engaged Citizen)

แตกต่างกับพลเมืองที่ตื่นตัว “พลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ” จะเป็นคนที่

  • มีความ “รักชาติ รักสถาบันฯ” ไม่ใช่ “คลั่งชาติ คลั่งสถาบันฯ”
  • สนใจในเรื่องที่ “ถูกต้อง” มากกว่าเรื่องที่ “ถูกใจ”
  • เคารพความคิดเห็นที่ “แตกต่าง” ไปจากตน มากกว่ามองความแตกต่างเป็นเรื่องของความ “แตกแยก”
  • มองเรื่อง “ระยะยาว” มากกว่าเรื่อง “ระยะสั้น”
  • เน้นเรื่อง “ส่วนรวม” และอยากมี “ส่วนร่วม” มากกว่าเรื่อง “ส่วนตัว” และ “ธุระไม่ใช่”
  • เน้นเรื่องของ “สิทธิ์” ที่พึงมี พร้อมๆกับ”หน้าที่” ที่ต้องรับผิดชอบ

ถึงเวลาปฎิรูปเชิงระบบอย่างจริงจัง

เมื่อเกิด “ความเสี่ยงเชิงระบบ” ก็ต้องแก้ด้วย” การปฏิรูปเชิงระบบ”

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อมีการปฎิรูปเชิงระบบอย่างจริงจัง ที่ครอบคลุม

    1.การปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรมในระดับจุลภาค

    2.การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในระดับมหภาค

การปรับเปลี่ยนเชิงพฤติกรรมในระดับจุลภาค คือ การปรับเปลี่ยนพลเมืองที่ตื่นตัว ที่ส่วนใหญ่มี Fixed Mindset คือพลเมืองที่ขาดซึ่งความคิด อุดมการณ์และจิตสำนึกเพื่อ “ส่วนรวม” ให้เป็นพลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ ที่มี Growth Mindset ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิด อุดมการณ์ และจิตสำนึกเพื่อ “ส่วนรวม” เป็นสำคัญ

การปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้างในระดับมหภาคเป็นการปรับเปลี่ยนจาก “โครงสร้างอำนาจแนวตั้ง” ที่เป็นสังคมพึ่งพิงรัฐ ผ่านโครงสร้างการรวมศูนย์อำนาจ เป็นลำดับชั้น และนโยบายที่เน้น “ประชานิยม” ไปสู่ “โครงสร้างอำนาจแนวนอน” ที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งของประชาชนและชุมชน ผ่านโครงสร้างการกระจายอำนาจ และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในลักษณะเครือข่าย มุ่งนโยบาย “รัฐสวัสดิการ” ที่สร้างหลักประกันความมั่นคงขั้นพื้นฐาน (ครอบคลุมความมั่นคงด้านอาหาร สุขภาพ การมีรายได้ การมีงานทำ ฯลฯ) และหลักประกันความฉลาดรู้ขั้นพื้นฐาน (ที่ครอบคลุมความฉลาดรู้ทางด้านสุขภาพ ดิจิตัล การเงิน และสังคม ฯลฯ) เพื่อตอบโจทย์ความท้าทายในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกหลังการระบาดของโควิด-19

พลเมืองที่ร่วมรับผิดรับชอบ และชุมชนที่เข้มแข็ง จะปฏิเสธ “สังคมพึ่งพิงรัฐ” เพราะไม่ต้องการให้รัฐเข้ามายุ่งวุ่นวายกับชีวิตประจำวันของตนมากจนเกินควร และจะปฏิเสธนโยบาย “ประชานิยม” ไปด้วยโดยปริยาย เพราะไม่มีความจำเป็น และจะค่อยๆปรับเปลี่ยนจาก “รัฐที่กำกับควบคุมสังคม” (Government) สู่ “สังคมที่กำกับดูแลกันเอง” (Self Governance) มากขึ้น

ร่วมสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ทางสังคม

เพื่อตอบโจทย์การสร้าง “สังคมสมัยใหม่” ในโลกศตวรรษที่ 21 อาจถึงเวลาที่ผู้นำต้องใช้ความกล้าหาญทางการเมืองในการยกเครื่อง “ระบบนิเวศน์ทางสังคม” ผ่านการสร้าง

1) “สังคมที่เป็นธรรม”

ด้วยการยึดในนิติรัฐ ตั้งมั่นอยู่ในนิติธรรม ที่สมาชิกในสังคมทุกคนจะได้รับความคุ้มครองอย่างเท่าเทียมกันและในการบังคับใช้กฎหมายก็จะบังคับใช้ให้เสมอเหมือนกัน

ในสังคมที่ไม่เป็นธรรม ความสงบสุขในบ้านเมืองก็เกิดไม่ได้ เหมือนอย่างที่มีผู้กล่าวว่า “If you wish peace, care for justice”

2) “สังคมแห่งโอกาส”

ด้วยการเปิดกว้างการเข้าถึงทรัพยากร และสิทธิที่เท่าเทียมของประชาชนทุกคน ส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหลขยับชั้นของผู้คนในสังคมอย่างเป็นอิสระ ตลอดจนการเติมอำนาจและปลดปล่อยศักยภาพของประชาชนและชุมชนอย่างจริงจัง

3) “สังคมที่เกื้อกูลแบ่งปัน”

ด้วยการสร้างพื้นที่ร่วม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม ในการแสวงหาเจตจำนงร่วมทั้งในมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม

ทั้ง 3 สังคมนี้เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบสนิท เพราะหากมีสังคมที่ไม่เป็นธรรมตั้งแต่ต้น ก็จะไม่เกิดความเท่าเทียม แล้วจะไปเรียกหาสังคมแห่งโอกาสได้อย่างไร ? และเมื่อโอกาสตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่กลุ่มไม่กี่ราย ในขณะที่คนอีกหลายกลุ่มซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ยากจนของประเทศไม่ได้รับโอกาส จะไปเรียกหาสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปันได้อย่างไร ?

ระบบนิเวศน์ใหม่ทางสังคมจะเปลี่ยน “สังคมของพวกกู” ที่เป็นประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ ณ ขณะนี้ ไปเป็น “สังคมของพวกเรา” ซึ่งจะเป็นหลักประกันของการสร้างความเป็นปกติสุขและประโยชน์สุขของประชาชนอย่างยั่งยืน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง(อ่านเปลี่ยน “สังคมของพวกกู” เป็น “สังคมของพวกเรา” ก้าวข้ามกับดัก พ้นจากชาติที่ล้มเหลว)

เป็นสัจธรรมที่ว่า เมื่อ “โลก” เปลี่ยน “คน” ต้องปรับ มีผู้กล่าวว่า “No Pain, No Gain” ถึงเวลาที่ทุกคนต้องปรับ ระบบต้องเปลี่ยน เพื่อประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน