ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิด จม. “บิ๊กโจ๊ก” ถึงสรรพากร บี้ภาษีแพลตฟอร์มสลากออนไลน์

เปิด จม. “บิ๊กโจ๊ก” ถึงสรรพากร บี้ภาษีแพลตฟอร์มสลากออนไลน์

9 ตุลาคม 2022


“บิ๊กโจ๊ก” ทำหนังสือถึงอธิบดีสรรพากร ชงบี้ภาษีแพลตฟอร์มออนไลน์ขายสลากเกินราคา 17 แห่ง พบเว็บไซต์ขายลอตเตอรี่รายใหญ่ เก็บ “ค่าสนับสนุนเว็บไซต์” ใบละ 20 บาท โดยไม่ยื่น VAT – เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นเวลา 1 ปี ประเมินภาษีจากยอดขายงวดละ 7 ล้านใบ เบื้องต้นคาดว่าต้องเสียภาษีกว่า 300 ล้านบาท ยังไม่รวมเบี้ยปรับ 2 เท่า ดอกเบี้ยอีก 1.5% ต่อเดือน เตรียมส่งสรรพากรพื้นที่ ทยอยออกหมายเรียกผู้ประกอบการชี้แจง

ต่อจากตอนที่แล้ว กรมสรรพากรเตือนคนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ที่รับรางวัลเป็นเงินสดเต็มจำนวนจากแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ โดยไม่ถูกหักภาษีและค่าธรรมเนียมใดๆ ถือเป็นเงินได้ของคนถูกลอตเตอรี่ ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราก้าวหน้า 35% ของเงินได้หรือได้รับยกเว้นภาษี เป็นประเด็นที่กรมสรรพากรกำลังพิจารณา เนื่องจากในทางปฏิบัติที่ผ่านมาทั้งกรณีคนถูกลอตเตอรี่นำสลากมาขึ้นเงินด้วยตนเองที่สำนักงานสลากฯ สนามบินน้ำ หรือกรณีขึ้นเงินผ่านธนาคารของรัฐ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานสลากฯ ให้เป็นตัวแทนจ่ายเงินรางวัลอย่างเป็นทางการ หรือกรณีร้านรับซื้อรางวัล นำสลากที่ซื้อมาจากคนที่ถูกลอตเตอรี่ มาขึ้นเงินรางวัลในนามของตนเอง เสมือนเป็นผู้ถูกรางวัล ต้องนำบัตรประชาชน และสลากที่ถูกรางวัลโดยลงชื่อ นามสกุล และเบอร์โทรศัพท์ ที่ด้านหลังสลาก เพื่อให้สำนักงานสลากฯ บันทึกชื่อนามของผู้ที่ถูกรางวัลเข้าสู่ฐานข้อมูลฐานข้อมูล ถึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ แตกต่างจากกรณีแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์นำเงินสดมามอบให้ผู้ถูกรางวัล พร้อมประกาศรายชื่อผู้ถูกรางวัลบนเว็บไซต์ ตรงที่ผู้ถูกรางวัลตัวจริง ไม่มีชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของสำนักงานสลากฯ กรณีผู้ถูกรางวัลรับเงินสดเต็มจำนวนจากบริษัทแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ปลายปี หรือได้รับยกเว้น เป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันต่อไป

  • ถูกลอตเตอรี่ แบบไหน!! ไม่เสียภาษี
  • “บิ๊กโจ๊ก” เร่งรวบรวมหลักฐานใหม่ ส่งศาลอีกรอบ ปิดมังกรฟ้ากับ 16 เว็บไซต์
  • “บิ๊กรอย-บิ๊กโจ๊ก”ตรวจค้น 14 แพลตฟอร์มสลากออนไลน์
  • คราวนี้มาถึงคิวของบริษัทแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังเข้าตรวจค้นบริษัทหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ขายสลากเกินราคา ตามนโยบายของรัฐบาล จนนำไปสู่การดำเนินคดีกับเจ้าของบริษัท หรือเว็บไซต์ ประมาณ 17 แห่ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ขณะดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. และในฐานะหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ ได้ลงนามในหนังสือสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ ตช 0001 (สส 1) / 509 พร้อมสำเนาคำสั่งแต่งตั้งพนักงานสืบสวน 3 ฉบับ และข้อมูลการดำเนินคดีกับบริษัท หรือเว็บไซต์ ตามกฎหมายว่าด้วยสลากกินแบ่งรัฐบาล และกฎหมายที่เกี่ยวข้องรวม 3 แผ่น ส่งถึงนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร โดยขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย มีใจความว่า

    ด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 147/2565 ลงวันที่ 5 เมษายน 2565, คำสั่งที่ 296/2565 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2565 และคำสั่งที่ 403/2565 ลงวันที่ 6 กันยายน 2565 แต่งตั้งให้ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าพนักงานสืบสวนสอบสวน ผู้รับผิดชอบคดีการเสนอขาย หรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาล และยังไม่ได้ออกรางวัลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล และความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังความในสำเนาคำสั่งที่ส่งมาพร้อมหนังสือนี้

    เนื่องจากในการสืบสวนสอบสวนพบว่า มีมูลกรณีความผิดที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร ในชั้นนี้คณะพนักงานสืบสวนจึงขอส่งข้อมูลบริษัท หรือเว็บไซต์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินคดีมาให้ท่าน เพื่อกระณาตรวจสอบ และดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ. ภาคภูมิ พิสมัย รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 4 เป็นผู้ประสานงานในรายละเอียด จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อ พล.ต.ท. สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

    หลังจากที่กรมสรรพากรได้รับหนังสือจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2565 นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ได้ส่งเรื่องต่อไปให้กองตรวจสอบภาษีกลาง ดำเนินการตรวจสอบภาษีบริษัท หรือเว็บไซต์ขายสลากออนไลน์ทั้ง 17 ราย ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติร้องขอ จากการตรวจสอบในเบื้องต้น พบว่ามีแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์รายใหญ่บางราย เปิดดำเนินกิจการประมาณ 1 ปี ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยมีรายได้จากการจำหน่ายสลากผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ฉบับละ 100 บาท เฉลี่ยงวดละ 7 ล้านฉบับ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้เฉพาะการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากการกุศล ในราคาที่ไม่เกินมูลค่าที่ตราไว้หน้าสลาก กล่าวคือ ฉบับละ 80 บาทเท่านั้น ส่วนราคาสลากที่ขายเกินจากนี้ประมาณฉบับละ 20 บาท ที่ผู้ประกอบการเรียกว่า “ค่าสนับสนุนเว็บไซต์” หรือเรียกว่าอะไรก็ตาม กรมสรรพากรถือเป็นการให้บริการ ตามนิยามที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 77/1 (10) , (10/2) ซึ่งรายได้ส่วนนี้ไม่ได้รับยกเว้นภาษี

    ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ จึงมีหน้าที่ต้องนำรายได้จากการให้บริการ “อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” มายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี รวมทั้งยื่นแบบเสียภาษีมูลค่าเพิ่มภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปด้วย

    จากการประเมินภาษีในเบื้องต้น (ยังไม่ได้เรียกผู้ประกอบการมาชี้แจง) พบว่าผู้ประกอบการรายดังกล่าวนี้ มีรายได้จากการเก็บค่าสนับสนุนเว็บไซต์ในอัตราฉบับละ 20 บาท (โดยประมาณ) จากยอดขายสลากออนไลน์เฉลี่ยงวดละ 7 ล้านฉบับ คิดเป็นเงินประมาณ 140 ล้านบาทต่องวด รวมรายได้ 24 งวด เป็นเงินประมาณ 3,360 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายสามารถนำต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ มาหักได้ตามที่เกิดขึ้นจริง ในเบื้องต้นจึงประมาณการรายจ่ายของบริษัทเอาไว้ที่ 90% ของรายได้ (ยังไม่ออกหมายเรียกผู้ประกอบการมาชี้แจ้ง) คิดเป็นวงเวินประมาณ 3,024 ล้านบาท เมื่อนำมาหักลบกับรายได้ คาดว่าจะมีกำไรสุทธิประมาณ 336 ล้านบาท ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคลในอัตรา 20% ของกำไรสุทธิ หรือประมาณ 67.20 ล้านบาท เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี

    นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรายดังกล่าวนี้ยังต้องนำรายได้จากการเรียกเก็บค่าสนับสนุนเว็บไซต์จากผู้ซื้อ มายื่นแบบ ภพ.30 เพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของมูลค่าสินค้าและค่าบริการ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งกรมสรรพากรถือเป็นค่าบริการตามที่กล่าวข้างต้น เบื้องต้นกรมสรรพากรประเมินว่าบริษัทแพลตฟอร์มสลากออนไลน์รายนี้มีรายได้จากการเรียกเก็บค่าสนับสนุนเว็บไซต์เดือนละ 280 ล้านบาท ต้องนำรายได้ส่วนนี้มายื่นแบบ ภพ.30 ชำระค่าภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน เดือนละ 19.6 ล้านบาทด้วย (ภาษีขาย-ภาษีซื้อ) ปรากฏว่าในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายดังกล่าวนี้ยังไม่เคยมายื่นแบบ ภพ.30 เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเลย รวม 12 เดือน ประเมินว่ามีภาษีที่ยังค้างชำระประมาณ 235.20 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายต้องถูกปรับ 2 เท่าของยอดภาษีที่ค้างชำระ คิดเป็นเงินประมาณ 470.40 ล้านบาท

    อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถมายื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีต่ออธิบดีกรมสรรพากรได้ ทั้งนี้ เพื่อของด หรือลดหย่อนค่าเบี้ยปรับ 2 เท่า ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่ต้องมีเหตุผลอันสมควร แต่ยังต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 67.20 ล้านบาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 235.20 ล้านบาท รวมเป็นเงินประมาณ 302.40 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมค่าเบี้ยที่ได้รับการลดหย่อนแล้ว และเงินเพิ่มรายเดือนอีก 1.5% ไปจนถึงวันที่ชำระค่าภาษีเสร็จสิ้น

    สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ไป กรมสรรพากรจะส่งข้อมูลไปให้สำนักงานสรรพากรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ทยอยออกหมายเชิญผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ 17 แห่ง เข้ามาชี้แจงข้อมูลการประกอบธุรกิจของแต่ละบริษัทกับเจ้าหน้าที่สรรพากร ตามความเป็นจริง

    กรมสรรพากรจะเก็บภาษีแพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ทั้ง 17 ราย ได้หรือไม่ คงต้องติดตามกันต่อไป…

  • ‘แรมโบ้-บิ๊กโจ๊ก’ บุกค้น “มังกรฟ้า” โพสต์ขายหวยเกินราคา 2 ล้านใบ-เงินสะพัดกว่าร้อยล้าน
  • “แรมโบ้” บุกค้น ‘กองสลากพลัส’ ขายลอตเตอรี่ออนไลน์เกินราคา
  • สลากกินแบ่งฯรื้อระบบ คัดคนขายตัวจริง 2 แสนราย 1 ม.ค. ปีหน้า
  • 7 ปี “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หวยเกินราคา ยังแก้ไม่ได้
  • นายกฯตั้ง “อนุชา นาคาศัย” แก้สลากฯเกินราคา
  • บอร์ดสลากฯไฟเขียวขาย ‘หวย’ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
  • 3 มาตรการ แก้หวยเกินราคา “ของจริง” หรือ“เฟค”?
  • ว่าด้วยทฤษฎีการพนัน (ตอนที่ 1):เข้าคาสิโน-เล่นม้า-แทงหวย-ซื้อลอตเตอรี่-ซื้อประกัน เล่นการพนันอย่างไหนโง่กว่ากัน
  • ว่าด้วยการพนัน…(ตอนที่ 2) เล่นหวย – ซื้อลอตเตอรี่ – ซื้อประกัน การพนันอย่างไหนผู้เล่นเสียเปรียบมากกว่ากัน