ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ตรวจรายได้ 3 บิ๊กขายหวย “สลากมหาลาภ-หยาดน้ำเพ็ชร- ห้างหุ้นส่วนขวัญฤดี” ได้โควตา 1.6 ล้านฉบับ/งวด แต่บันทึกรายได้ต่างกันเป็นพันล้าน

ตรวจรายได้ 3 บิ๊กขายหวย “สลากมหาลาภ-หยาดน้ำเพ็ชร- ห้างหุ้นส่วนขวัญฤดี” ได้โควตา 1.6 ล้านฉบับ/งวด แต่บันทึกรายได้ต่างกันเป็นพันล้าน

19 ตุลาคม 2015


หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า เปิดรายชื่อโควตาผู้แทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกับการแต่งตั้งพล.ท. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็นประธานคณะกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาราคาหวยเกินราคา โดยใช้ระยะเวลาภายใน 6 เดือน สามารถปรับแก้นโยบายและออกมาตรการเพื่อนำไปสู่การเปิดเสรีการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ด้วยการปรับลดเงินนำส่งคลัง เพิ่มส่วนลดให้ผู้ค้าสลาก ประกาศตรึงราคาสลากคู่ละ 80 บาท ขณะที่ยี่ปั๊วตอบโต้ด้วยการปรับขึ้นราคาขายส่งสลาก จากคู่ละ 72 บาท เป็น 78 บาท เหลือกำไรให้คนขายหวยตัวจริง 2 บาท

จากนั้นพล.ท. อภิรัชต์ เปิดเกมรุกสั่งสำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากเพิ่ม 26 ล้านฉบับ ขายตรงผู้ค้าสลากรายย่อย สั่งซื้อ-จองล่วงหน้าผ่านธนาคารกรุงไทยและบริษัทไปรษณีย์ไทย เดินหน้าสลายระบบโควตาหวยที่ผูกขาดมานานกว่า 3 ทศวรรษ ที่จะหมดอายุลงในปลายปีนี้ โดยเปิดขายสลากลอตใหม่ ครั้งที่ 1 จำนวน 26 ล้านฉบับ ซึ่งขายหมดเกลี้ยงไม่ถึง 1 ชั่วโมง และ ครั้งที่ 2 เดินเกมคู่ขนานไปกับกรมสรรพากร ส่งจดหมายถึง 3 ตัวแทนจำหน่ายสลากรายใหญ่หรือที่เรียกว่า“กลุ่ม 5 เสือแห่งสี่แยกคอกวัว” ให้ส่งงบการเงินและหลักฐานการเสียภาษีให้กรมสรรพากรตรวจสอบภายใน 7 วัน นับจากที่ได้รับจดหมาย

น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ หรือ “เจ๊สะเรียง” เจ้าของบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด (ขวา)
น.ส.สะเรียง อัศววุฒิพงษ์ หรือ “เจ๊สะเรียง” เจ้าของบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด (ขวา)

ทั้งนี้จากการตรวจสอบฐานข้อมูลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2557 ไม่นับมูลนิธิ สมาคม องค์กรสาธารณกุศล พบว่ามีตัวแทนจำหน่ายสลากที่ได้รับการจัดสรรโควตาสลากมากที่สุด 3 ราย คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขวัญฤดี ของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า, บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร จำกัด ของนางปลื้มจิตต์ กนิษฐสุต และบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด ของนางสาวสะเรียง อัศววุฒิพงษ์ ได้รับการจัดสรรสลากบำรุงการกุศลรายละ 1,600,000 ฉบับ/งวด หรือ 8 แสนฉบับคู่ต่องวด

ประมาณรายได้จากการจำห

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้นำข้อมูลตามที่กล่าวข้างต้นมาจัดทำประมาณการรายได้ภายใต้สมมติฐาน ขายสลากการกุศล 8 แสนฉบับคู่ ตามราคาหน้าสลาก 80 บาท หากขายสลากหมด คาดว่ามีรายได้จากการจำหน่ายสลากประมาณ 64 ล้านบาทต่องวด และใน 1 ปี สำนักงานสลากฯ พิมพ์สลากออกขาย 24 งวด ตัวแทนจำหน่ายสลากแต่ละรายน่าจะมีรายได้จากการจำหน่ายสลากประมาณ 1,397.76 ล้านบาทต่อปี หากนำมาคำนวณกับส่วนลดที่ได้รับจากสำนักงานสลากฯ 9% ของราคาสลากคู่ละ 80 บาท กำไรเบื้องต้นก่อนหักค่าใช้จ่ายในการขายน่าจะอยู่ที่ 138.24 ล้านบาทต่อปี

หากนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับงบการเงินที่ตัวแทนจำหน่ายสลากทั้ง 3 ราย ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัท สลากมหาลาภ จำกัด ของเจ๊สะเรียง ลงบันทึกรายได้จากการขายสลากในบัญชีใกล้เคียงกับประมาณการรายได้มากที่สุด โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 บันทึกรายได้จากการขายและบริการ 1,750.8 ล้านบาท รายได้อื่นอีก 0.01 ล้านบาท รวมรายได้ 1,750.81 ล้านบาท หักต้นทุนการขายและบริการ 1,747.2 ล้านบาท มีกำไรเบื้องต้น 3.6 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีกำไรสุทธิ 1.18 ล้านบาท

ส่วนปี 2556 บันทึกรายได้จากการขายและบริการ 1,575.72 ล้านบาท รายได้อื่นอีก 0.13 ล้านบาท รายได้รวม 1,575.85 หักต้นทุนการขายและบริการ 1,572.48 ล้านบาท มีกำไรเบื้องต้น 3.24 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ เหลือกำไรสุทธิ 1.40 ล้านบาท(คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)

ขณะที่บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร ปี 2555 ลงบันทึกรายได้จากการขายและบริการ 9.6 ล้านบาท และรายได้อื่นอีก 12 ล้านบาท มีรายได้รวม 21.6 ล้านบาท ต้นทุนจากการขายและบริการไม่มี แต่มีค่าใช้จ่ายอื่น 18.09 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 13.69 ล้านบาท ปี 2556 มีรายได้จากการขายและบริการ 9.6 ล้านบาท และรายได้อื่นอีก 4.16 ล้านบาท มีรายได้รวม 13.76 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายอื่น 17.18 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4.37 ล้านบาท

ส่วนห้างหุ้นส่วนขวัญฤดี ปี 2555 บันทึกรายได้จากการขายและบริการ 9.5 ล้านบาท รายได้อื่น 0.15 ล้านบาท รวมรายได้ 9.65 ล้านบาท หักต้นทุนการขายและบริการ 6.1 ล้านบาท มีกำไรเบื้องต้น 3.4 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ มีกำไรสุทธิ 3.54 ล้านบาท ส่วนปี 2556 ไม่พบข้อมูล

งบการเงินของตัวแทนจำหน่ายสลาก

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลข้างต้น ตัวแทนจำหน่ายสลากทั้ง 3 ราย ได้รับการจัดสรรโควตาสลากบำรุงการกุศลเท่ากัน (1.6 ล้านฉบับ/งวด) แต่ละปีน่าจะมีรายได้ใกล้เคียงกัน แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในงบการเงินที่ยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ทั้ง 3 ราย บันทึกรายได้จากการขายและบริการ แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง ปี 2555 บริษัท สลากมหาลาภ จำกัด ลงบันทึกบัญชีรายได้จากการขายและบริการ 1,750.8 ล้านบาท ขณะที่บริษัท หยาดน้ำเพ็ชร ลงบันทึกรายได้จากการขายและบริการ 9.6 ล้านบาท และห้างหุ้นส่วนขวัญฤดี บันทึกรายได้จากการขายและบริการ 9.5 ล้านบาท เป็นต้น

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จึงนำข้อมูลทั้งหมดไปสอบถามผู้เชี่ยวชาญภาษี กรมสรรพากร ได้รับคำอธิบายว่า ตัวแทนจำหน่ายสลากบำรุงการกุศลได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดา จากการขายสลากบำรุงการกุศล รวมทั้งส่วนลดที่ได้รับจากสำนักงานสลากฯ ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 มาตรา 5 จตุทศ แต่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ของเงินปันผล นำส่งกรมสรรพากรทุกครั้ง เมื่อมีการจ่ายเงินปันผลหรือจ่ายเงินส่วนแบ่งกำไรให้ผู้ถือหุ้น ตามมาตรา 3 เตรสแห่งประมวลรัษฎากร (ข้อ 2)

ต่อกรณีที่พระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับที่ 10 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากบำรุงการกุศล ผู้สื่อข่าวนำประเด็นนี้ไปสอบถามนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร

นายประสงค์ตอบว่า “กรมสรรพากรออกจดหมายเชิญตัวแทนจำหน่ายสลากรายใหญ่ 3 ราย มาพบแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อได้ ถึงแม้พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 10 ยกเว้นภาษีเงินได้ให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากการกุศล แต่ก็มีกติกา หากตัวแทนจำหน่ายมีรายได้จากส่วนลดที่ได้รับจากสำนักงานสลากฯ กรณีนี้ได้รับยกเว้นภาษี แต่ถ้ามีรายได้จากขายสลากเกินราคา ก็ต้องเสียภาษี กฎหมายไม่ได้ยกเว้นภาษีในส่วนนี้ ส่วนรายละเอียดเป็นอย่างไร เจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบกันอยู่ ผมยังไม่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ ส่วนแนวทางในการตรวจสอบภาษี คงต้องดูการลงบันทึกบัญชีถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีหรือไม่ เพื่อดูที่มาของรายได้ และหลักฐานทางการเงินประกอบ