ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup อินโดนีเซียเตรียมให้สิทธิประโยชน์ภาษีแบบ Tailormade ดึง FDI ทุนหนา

ASEAN Roundup อินโดนีเซียเตรียมให้สิทธิประโยชน์ภาษีแบบ Tailormade ดึง FDI ทุนหนา

2 พฤษภาคม 2021


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 25 เมษายน-1 พฤษภาคม 2564

  • อินโดนีเซียเตรียมเสนอสิทธิประโยชน์ภาษีแบบ Tailormade ดึง FDI ทุนหนา
  • อินโดนีเซียจัดตั้งกระทรวงการลงทุนใหม่
  • ญี่ปุ่นให้สัตยาบัน RCEP ข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก
  • กัมพูชาได้ไฟเขียวส่งออกมะม่วงไปจีน
  • กัมพูชาส่งออกข้าวลดลงรอบ 4 เดือนแรก
  • สปป.ลาวเติบโต 4.0% ในปีนี้
  • สหรัฐฯ ขยายการคว่ำบาตรเมียนมา
  • อินโดนีเซียเตรียมให้สิทธิประโยชน์ภาษีแบบ Tailormade ดึงนักลงทุน

    ที่มาภาพ: https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-04-29/indonesia-offers-tailormade-tax-breaks-carbon-offset-to-win-fdi
    อินโดนีเซียเสนอสิทธิประโยชน์แบบเฉพาะราย หรือ made-to-measure รวมไปถึงระบบชดเชยคาร์บอนท่ามกลางการแข่งขันแย่งชิงเงินทุน

    การปฏิรูปอย่างเต็มรูปแบบหลังจากการผ่านกฎหมาย omnibus เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้รัฐบาลสามารถปรับสิทธิประโยชน์ให้เข้ากับบริษัทที่ต้องการตั้งโรงงานในอินโดนีเซียได้หากมีเงินทุนที่ “มหาศาลมาก” ซึ่งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมในท้องถิ่นได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการเปิดเผยของ นูรุล อิควาน ผู้ช่วยฝ่ายวางแผนการลงทุนของคณะกรรมการประสานงานการลงทุน

    “เวียดนามและสิงคโปร์มีสิทธิประโยชน์ในแบบเดียวกัน แต่เรากำลังจะทำแพ็กเกจของเราให้สมบูรณ์ ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ เศรษฐกิจขยายตัวและมีความเป็นผู้นำ” อิควานในการให้สัมภาษณ์

    การแข่งขันดึงการลงทุนจากต่างประเทศกำลังร้อนแรงขึ้นในภูมิภาค โดยเวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ ได้เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจหรือลดอัตราภาษีนิติบุคคล เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับการผลักดันการลงทุน เนื่องจากกลไกการเติบโตของการบริโภคแบบดั้งเดิมได้ชะลอตัวลงท่ามกลางการแพร่ระบาด

    ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผลักดันการยกเครื่องหลักเกณฑ์การจ้างงานและการลงทุนเมื่อปีที่แล้ว เพื่อดึงดูดเงินทุนให้กับประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวันที่ 28 เมษายนได้แต่งตั้งบาห์ลิล ลาฮาดาลีอะ ประธานคณะกรรมการการลงทุน ให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนที่ตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งมีอำนาจในการออกกฎเพื่อส่งเสริมการลงทุน กลยุทธ์ของกระทรวงจะยังคงสอดคล้องกับคณะกรรมการประสานงานการลงทุน

    การดำเนินการแสดงผลอย่างรวดเร็ว โดยการลงทุนทั้งหมดเพิ่มขึ้น 2% เป็น 826 ล้านล้านรูเปียห์ (57.2 พันล้านดอลลาร์) ในปี 2563 แม้เศรษฐกิจจะประสบกับภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบกว่าสองทศวรรษ และรัฐบาลตั้งเป้าที่จะดึงดูดการลงทุน 900 ล้านล้านรูเปียห์ในปีนี้

    นอกจากนี้ อินโดนีเซียกำลังพิจารณาที่จะเปิดตัวระบบการซื้อขายคาร์บอน ที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้ คณะกรรมการการลงทุนกำลังทำแผนที่พื้นที่พรุ ซึ่งสามารถกักเก็บคาร์บอนจำนวนมหาศาล และทะเลสาบเทียมในพื้นที่เหมืองแร่เดิมที่สามารถใช้เป็นที่ตั้งของแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำได้ อิควานกล่าว

    การดำเนินการครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ไฟฟ้า ที่ต้องการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานนิกเกิลของอินโดนีเซีย รัฐบาลมองไปที่ China’s Contemporary Amperex Technology Co. Ltd. , LG Chem Ltd. ของเกาหลีใต้และ Tesla Inc. ของสหรัฐฯ เพื่อจัดตั้งโรงงาน

    “ในอนาคตปริมาณนิกเกิลที่เรามี จะไม่เปิดโอกาสให้เราได้รับการลงทุนในอินโดนีเซีย หากเราไม่ออกแบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” อิควานกล่าว “เราต้องเดินตามเส้นทางนี้ เป็นสิ่งที่อินโดนีเซียหลีกเลี่ยงไม่ได้”

    ในขณะที่ความต้องการแบตเตอรี่และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ทั่วโลกเพิ่มขึ้น การลงทุนที่เพิ่มขึ้นควรไหลไปยังภูมิภาคตะวันออกของอินโดนีเซีย เพื่อช่วยให้ประเทศมีความมั่งคั่งมากขึ้น และพัฒนาไปทางตะวันตกมากขึ้น ขณะนี้ทางภาคตะวันออกของอินโดนีเซียเป็นที่ตั้งของโครงการหลอมนิกเกิล เหล็ก และบอกไซต์มากกว่า 30 โครงการ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของภูมิภาคเติบโต 4.2% -6.1% ในปีนี้ และอาจสูงกว่า 4.5-5.3% ที่ได้ประมาณการไว้ก่อนที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วถึง 7.9% ภายในปี 2567

    ในพื้นที่อย่างกาลิมันตัน, สุราเวสี, มาลุกู และปาปัว กำลังดึงดูดบริษัทต่างๆ ด้วยที่ดินราคาถูกและแหล่งแร่ธาตุที่เพียงพอ และรัฐบาลกำลังดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น และพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะมากขึ้น

    “เราค่อยๆ ลดช่องว่างระหว่างอินโดนีเซียตะวันตกและตะวันออกได้” เขากล่าว

    อินโดนีเซียจัดตั้งกระทรวงการลงทุนใหม่

    ที่มาภาพ: https://www.aseanbriefing.com/news/indonesia-establishes-new-investment-ministry/
    ในวันที่ 28 เมษายน รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดตั้ง กระทรวงการลงทุนใหม่เพื่อตอกย้ำความสะดวกในการทำธุรกิจ (ease of doing business)ในประเทศ นอกจากนี้ได้ยุบกระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมรวมกับกระทรวงการวิจัยและเทคโนโลยี ให้เป็นกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม การวิจัย และเทคโนโลยี

    การจัดตั้งและยุบรวมกระทรวงเป็นผลจากการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งที่สองในรอบ 4 เดือน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งมีรัฐมนตรี 6 คนเข้ามาแทนที่ ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายพลเกษียนเทราวัน อากุส ปุตราโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าอากุส ซูปาร์มานโต กระทรวงกิจการทางทะเลและประมงเอดี้ ปราโบโว และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการสังคมจูเลียรี บาตูบารา

    กระทรวงการลงทุนจัดตั้งขึ้นจากการยกระดับสถานะหน่วยงานราชการของคณะกรรมการประสานงานการลงทุน (Badan Koordinasi Penanaman Modal – BKPM) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงในประเทศและต่างประเทศ (FDI) ให้เป็นกระทรวงของรัฐบาลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน โดยบาห์ลิล ลาฮาดาลีอะ ประธาน BKPM รับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนคนใหม่

    นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธาน BKPM ลาฮาดาลีอะ สามารถเพิ่มการลงทุนจริงโดยรวม (FDI และการลงทุนข้ามพื้นที่ถิ่นในประเทศ หรือ DDI)ในปี 2563 แม้จะเกิดโรคระบาด เป็น 826 ล้านล้านรูเปียะห์ (57.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) จาก 817 ล้านล้านรูเปียะห์ (65.54 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2562 ส่วนในปี 2564 รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการลงทุนทั้งหมดไว้ที่ 900 ล้านล้านรูเปียะห์ (62.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

    การลงทุนที่เกิดขึ้นจริงโดยรวมไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมอินโดนีเซียมีการลงทุนทั้งหมด 219.7 ล้านล้านรูเปียะห์ (15.20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 4.3% หรือ 210.7 ล้านล้าน (14.58 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) คิดเป็น 25% ของเป้าหมายการลงทุนในปี 2564 ที่รัฐบาลวางไว้

    ข้อมูลจาก BKPM แสดงให้เห็นว่า การลงทุนจาก FDI และ DDI นอกเกาะชวาเพิ่มขึ้น 11.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีก่อน และการผลิตมีสัดส่วนใหญ่ในการลงทุนโดยรวมของอินโดนีเซีย ได้แก่ หมวดโลหะสินค้าที่ทำจากโลหะ หมวดที่ไม่ใช่เครื่องจักรและอุปกรณ์ การผลิตอาหาร การผลิตรถยนต์ นอกจากนี้มีการลงทุนในที่อยู่อาศัย นิคมอุตสาหกรรม และอาคารสำนักงานรวมมูลค่า 29.4 ล้านล้านรูเปียะห์ (2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)

    สิงคโปร์ยังคงเป็นแหล่ง FDI อันดับหนึ่งในช่วงนี้ด้วยเงินลงทุน 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย 3,634 โครงการ จีนมาเป็นอันดับสองด้วยเงินเพียง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ น่าแปลกที่สวิตเซอร์แลนด์ติดอันดับที่ห้าเป็นครั้งแรกมาเป็นด้วยเงินลงทุนเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐใน 118 โครงการ

    กระทรวงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปธุรกิจอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล เพื่อดึงดูดการลงทุนเข้ามาในประเทศและสร้างงาน กระทรวงจะกลายเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมต่อและประสานการลงทุนทั้งในและต่างประเทศผ่านจุดเดียว

    สิ่งที่สนับสนุนรัฐบาล คือ กฎหมาย Omnibus ที่ออกใหม่และบังคับใช้แล้ว กฎหมาย Omnibus ได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในสัญญาการจ้างงานระยะยาว การจ้างงาน ชั่วโมงการทำงาน และการยกเลิกขั้นตอนการจ้างงาน นอกเหนือจากการใช้ระบบการออกใบอนุญาตทางธุรกิจตามความเสี่ยง

    ประเด็นหลังนี้ การออกใบอนุญาตทางธุรกิจจะพิจารณาจากการประเมิน “ระดับความเสี่ยงทางธุรกิจ” ซึ่งพิจารณาจากระดับของอันตรายที่ธุรกิจอาจสร้างขึ้นได้ ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ 16 แห่งในประเทศ

    ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลได้เริ่มเปิดเสรีภาคธุรกิจให้กับการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ผ่านการบัญชีธุรกิจที่สามาารถลงทุนได้หรือ positive investment list ที่มีหลักการว่า ภาคธุรกิจเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ 100% เว้นแต่จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเฉพาะประเภท กฎระเบียบดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการเปิดเสรีที่กว้างมากสุดสำหรับการให้ต่างชาติเป็นเจ้าของ นับตั้งแต่บัญชีธุรกิจที่ห้ามต่างชาติลงทุนหรือ negative list จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษที่ 1980

    ญี่ปุ่นให้สัตยาบัน RCEP ข้อตกลงการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก

    ที่มาภาพ: https://www.japantimes.co.jp/news/2021/04/28/business/japan-approves-rcep/
    สภาสูงของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 28 เมษายน ได้ให้สัตยาบันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีภาค 15 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก

    RCEP ซึ่งลงนามในเดือนพฤศจิกายน 2563 คาดว่าจะสร้างเขตการค้าเสรีขนาดใหญ่ในหลากหลายสาขา ประเทศสมาชิกทั้ง 15 ประเทศมีประชากรรวมกัน 2.27 พันล้านคนและมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ 26 ล้านล้านดอลลาร์ โดยมีการส่งออกรวม 5.2 ล้านล้านดอลลาร์

    เมื่อมีผลบังคับใช้ RECP จะมีผลให้ต้องยกเลิกภาษีให้กับสินค้าถึง 91% ของรายการสินค้าและบริการ และต้องใช้กฎเดียวเกี่ยวกับการลงทุนและทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อส่งเสริมการค้าเสรี

    สำหรับญี่ปุ่น RCEP จะเป็นข้อตกลงการค้าแรกที่เกี่ยวข้องกับทั้งจีน ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดและเกาหลีใต้ซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสาม

    สนธิสัญญาดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ใน 60 วันหลังจากที่สมาชิกอาเซียน 6 ประเทศและ 3 ประเทศที่ไม่ใช่อาเซียนให้สัตยาบัน

    สำหรับประเทศที่ได้ให้สัตยาบันแล้ว คือ จีน สิงคโปร์ และไทย

    จีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกได้เสร็จสิ้นขั้นตอนการให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 15 เมษายนปีนี้ หลังจากอนุมัติการให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP เมื่อวันที่ 22 มีนาคมตามข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ส่วนสิงคโปร์ให้สัตยาบันข้อตกลง RCEP เมื่อวันที่ 9 เมษายน

    รัฐสภาไทยให้สัตยาบัน RCEP เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ จากการเปิดเผยของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย

    กัมพูชาได้ไฟเขียวส่งออกมะม่วงไปจีน

    ที่มาภาพ: https://www.khmertimeskh.com/50846766/mangoes-receive-official-approval-for-export-to-china/

    มะม่วงของกัมพูชาจากโรงงานบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองกลุ่มเล็กๆ ได้รับอนุญาตให้ส่งออกไปยังประเทศจีน หลังจากมีการปรับปรุงของโรงงานจนผ่านข้อกำหนดสุขอนามัยพืชของจีน

    หน่วยงานบริหารทั่วไปของศุลกากรจีน (GACC) อนุมัติโรงงานแปรรูปมะม่วง 5 แห่งและสวนมะม่วง 37 แห่งอย่างเป็นทางการ

    GACC ได้ประกาศรายชื่อโรงงานที่ได้รับอนุมัติ คือ Hyundai Mao Legacy Co Ltd, Shangda Jian Hui International Agriculture Product and Logistics Co Ltd, Al Jazeelan Food PTE Ltd, Long Wo Agriculture (Cambodia) Co Ltd และ Boeung Ket Fresh Fruits Co Ltd.

    เมื่อเดือนที่แล้วเจ้าหน้าที่ของจีนและกัมพูชาได้ตรวจสอบสวนมะม่วงและโรงงานแปรรูปหลายแห่ง เพื่อประเมินว่าสามารถผลิตมะม่วงเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนได้หรือไม่

    ทั้งสองประเทศได้ลงนามข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว การส่งออกมะม่วงคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากภายใต้ข้อตกลงการค้าฉบับใหม่

    ก่อนที่จะมีการลงนาม FTA จีนได้กำหนดโควตาสำหรับการนำเข้ามะม่วง “คุณภาพ” มากถึง 500,000 ตันจากกัมพูชา

    เพ็ญ โสวิเชษ โฆษกกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า กระทรวงพอใจกับการประกาศล่าสุด “เราถือว่าการอนุญาตให้ส่งออกมะม่วงสดไปยังประเทศจีนเป็นโอกาสที่ดีสำหรับเกษตรกรกัมพูชา นอกจากนี้ยังแสดงถึงความพยายามที่ประสบความสำเร็จของกระทรวงของเรา ในการขยายพื้นที่การตลาดและกระจายการส่งออกของเรา โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม” เขากล่าว

    เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว กัมพูชาและจีนได้บรรลุข้อตกลงที่จะเริ่มดำเนินการตามมาตรการสุขอนามัยพืชที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเพื่อป้องกันโรคพืช

    จากรายงานของสื่อหลายแห่งระบุว่า ราคามะม่วงของกัมพูชาในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีผลผลิตล้นตลาดในประเทศ ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ราคามะม่วงที่เตรียมส่งออกอยู่ที่ประมาณ 0.17 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม ขณะที่มะม่วงที่ยังไม่บรรจุหีบห่อขายได้ในราคาต่ำ 0.4 ดอลลาร์ต่อกิโลกรัม

    ในเดือนมกราคมปีที่แล้วกัมพูชาเริ่มส่งออกมะม่วงไปยังเกาหลีใต้

    โดยรวมแล้วกัมพูชาส่งออกมะม่วงสดจำนวน 945,274 ตันในปีที่แล้ว ไปยังสหภาพยุโรป เกาหลีใต้ ไทยและเวียดนาม รวมมูลค่าการส่งออกประมาณ 473.2 ล้านดอลลาร์ รัฐบาลกำหนดสินค้า 340 รายการที่จะเป็นสินค้าส่งออกไปยังจีนภายใต้ FTA ได้แก่ พริก สับปะรด ผัก ผลไม้ ปลา เนื้อสัตว์ (รวมถึงเนื้อแปรรูป) ธัญพืช ปู อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องที่หลายชนิด

    ในบรรดาสินค้าเหล่านั้นซึ่งนอกเหนือจากสินค้าที่ส่งออกไปแล้วภายใต้ FTA อาเซียน–จีน 95% จะปลอดภาษี ในขณะที่ภาษีสำหรับอีก 5% จะลดลงในอนาคต

    กัมพูชาส่งออกข้าวลดลงรอบ 4 เดือนแรก

    ที่มาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/

    กัมพูชาส่งออกข้าวที่ผ่านการสีแล้ว 192,495 ตันในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลง 107,757 ตัน หรือ 35.89% จาก 300,252 ตันในรอบเดียวกันของปีก่อน ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และการประมง

    ข้าวหอมมีสัดส่วนการส่งออก 130,120 ตัน หรือ 67.60% ข้าวเมล็ดยาวขาว 59,026 ตันคิดเป็นสัดส่วน 30.66% และข้าวนึ่งเมล็ดยาวมีน้ำหนัก 3,349 ตัน คิดเป็น 1.74%

    กระทรวงฯ ประเมินมูลค่าการส่งออกไว้ที่ราว 161.7 ล้านดอลลาร์ จีนยังคงเป็นตลาดข้าวที่ใหญ่ที่สุดโดยมีการนำเข้า 104,756 ตัน คิดเป็น54.42% ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของกัมพูชา

    ประเทศในสหภาพยุโรปนำเข้า 42,850 ตัน คิดเป็น 22.26% ประเทศในอาเซียนซื้อ 17,483 ตัน (9.08%) และตลาดอื่นๆ 18 แห่งซื้อ 27,406 ตัน (14.24%)

    ในขณะที่การส่งออกข้าวเปลือกไปเวียดนามอยู่ที่ 1,529,280 ตันคาดว่าจะมีมูลค่า 221.29 ล้านดอลลาร์ในเดือนมกราคม–เมษายนเพิ่มขึ้น 73.15% ในแง่ปริมาณเมื่อเทียบกับที่จองไว้ 883,232 ตันในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว

    สมาพันธ์ข้าวกัมพูชาระบุว่า การส่งออกข้าวลดลงเนื่องจากการขาดแคลนคอนเทนเนอร์และอุปสรรคอื่นๆ ในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่เป็นตลาดเป้าหมาย

    ตามข้อมูลของสมาพันธ์ ค่าจัดเก็บและขนส่งข้าวเพิ่มขึ้น 5 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

    เมื่อปีที่แล้วกัมพูชาส่งออกข้าวสาร 690,829 ตันมูลค่าเกือบ 539 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นปริมาณที่เพิ่มขึ้น 11.40% จากปี 2019

    สปป.ลาวเติบโต 4.0% ในปีนี้

    ที่มาภาพ: http://en.freshnewsasia.com/index.php/en/internationalnews/18742-2020-07-08-03-07-20.html
    รายงานภาวะเศรษฐกิจฉบับใหม่ (Asian Development Outlook: ADO) 2021 ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) คาดว่า เศรษฐกิจ สปป.ลาว จะเติบโต 4.0% ในปีนี้และ 4.5% ในปี 2565 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการผลิตทางการเกษตรที่ดีขึ้นและการผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยชดเชยภาคบริการที่ฟื้นตัวช้าท่ามกลางโควิด-19

    ในปีที่แล้วในเศรษฐกิจของ สปป.ลาว หดตัว 0.5% จากที่เติบโต 4.7% ในปี 2562

    “การเติบโตกำลังเร่งตัวขึ้นใน สปป.ลาว แต่การระบาดของโควิด-19 ครั้งใหม่และความท้าทายด้านโครงสร้างเป็นภัยคุกคามต่อการฟื้นตัวของประเทศ” โซโนมิ ทานากะ ผู้อำนวยการ ADB ประจำ สปป.ลาวกล่าว “การฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็วพร้อมด้วยมาตรการเสริมสร้างการจัดการเศรษฐกิจมหภาคและความเชื่อมั่นของนักลงทุนเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปกป้องความเป็นอยู่ของครัวเรือน”

    มาตรการจำกัดนักท่องเที่ยวที่เข้มงวดในปี 2563 ช่วยป้องกันวิกฤติด้านสาธารณสุขขนาดใหญ่ใน สปป.ลาว แต่อุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศกลับหยุดชะงัก ส่งผลให้การว่างงานเพิ่มขึ้น การคลังสาธารณะได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยสถาบันจัดอันดับได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล สปป.ลาว เนื่องจากแรงกดดันด้านสภาพคล่องภายนอกที่เพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางทางเลือกการรีไฟแนนซ์ที่จำกัด

    ในปีนี้คาดว่าภาคการเกษตรจะฟื้นตัวในระดับปานกลาง ส่วนใหญ่มาจากการเติบโตของการค้าปศุสัตว์ แต่การเพาะปลูกพืชอาหารล่าช้า เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงและการขาดแคลนน้ำ การเติบโตของอุตสาหกรรมจะได้รับแรงหนุนจากการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น การลงทุนอย่างต่อเนื่องในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เหมืองแร่ และอสังหาริมทรัพย์ ในเมืองคาดว่าในปี 2564 และ 2565 จะสร้างงานและสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน

    การเติบโตของภาคบริการในปี 2564 จะได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ ที่ฟื้นตัวจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชิงกลยุทธ์ เช่น ทางด่วนเวียงจันทน์–วังเวียง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการบริการในประเทศ จากการที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพื่อธุรกิจและการพักผ่อนเข้าสู่ภาวะปกติในปี 2565 ปัจจัยขับเคลื่อนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะกลางคาดว่าจะเป็นการค้าส่งค้าปลีก การขนส่ง และการสื่อสาร

    ราคาอาหารที่สูงขึ้นเนื่องจากโรคและภัยธรรมชาติผลักดันให้อัตราเงินเฟ้อของ สปป.ลาวเพิ่มขึ้นเป็น 5.1% ในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อจะลดลงเหลือ 4.5% ในปี 2564 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็น 5.0% ในปี 2565 เพราะแรงกดดันสินค้านำเข้าจากค่าเงินกีบลาวที่อ่อนค่าลงส่วนหนึ่ง ถูกชดเชยด้วยการผลิตในประเทศที่ดีขึ้น

    ความยากลำบากอย่างต่อเนื่องในการระดมทรัพยากรภายในประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับความท้าทายเชิงโครงสร้างและการกำกับดูแลที่อ่อนแอกำลังทวีความรุนแรงขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 การขาดดุลการคลังของประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ กรอบเศรษฐกิจมหภาคของ สปป.ลาวยังคงเปราะบาง เนื่องจากประเทศมีความเสี่ยงสูงในการประสบปัญหาหนี้ ความกดดันในการชำระหนี้ที่เพิ่มขึ้น และต้นทุนการรีไฟแนนซ์อาจสูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการคลังที่จำเป็นสำหรับการเติบโตที่ยืดหยุ่นมากขึ้น การปฏิรูปเพื่อความโปร่งใสที่ดีขึ้นและการจัดการหนี้สาธารณะเป็นสิ่งสำคัญ

    สหรัฐฯ ขยายการคว่ำบาตรเมียนมา

    ที่มาภาพ: https://www.mmtimes.com/business/10007-timber-trade-reeks-of-corruption.html
    วันที่ 21 เมษายน 2564 สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (Office of Foreign Assets Control: OFAC) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ (OFAC) ได้ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรรัฐวิสาหกิจของเมียนมา 2 แห่ง คือ Myanma Timber Enterprise (MTE) และ Myanmar Pearl Enterprise (MPE) ซึ่งรับผิดชอบการส่งออกไม้และมุกจากเมียนมา อุตสาหกรรมไม้และไข่มุกเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สำคัญสำหรับระบอบทหารพม่า ที่กำลังปราบปรามการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในประเทศอย่างรุนแรง และมีส่วนรับผิดชอบต่อการโจมตีที่รุนแรงและร้ายแรงต่อประชาชนในเมียนมารวมถึงการสังหารเด็ก มาตรการคว่ำบาตรเหล่านี้ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ชาวพม่า

    “กองทัพเมียนมาได้รับเงินทุนจำนวนมากจากรัฐวิสาหกิจในตลาดทรัพยากรธรรมชาติ การดำเนินการในวันนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่มีเป้าหมายการคว่ำบาตรช่องทางการระดมทุนที่เฉพาะเจาะจงนี้ และส่งเสริมความรับผิดชอบต่อผู้ที่รับผิดชอบต่อการรัฐประหารและความรุนแรงที่กำลังดำเนินอยู่”

    MTE และ MPE แต่ละบริหารถูกคว่ำบาตรตามคำสั่งบริหาร (E.O.) 14014 เนื่องจากเป็นหน่วยงานทางการเมือง หน่วยงาน หรือเครื่องมือของรัฐบาลพม่า

    Myanma Timber Enterprise เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (MONREC) มีหน้าที่ผลิตและส่งออกไม้ในนามของระบอบทหารพม่า MTE เป็นตัวสร้างรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล

    Myanmar Pearl Enterprise เป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้ MONREC มีหน้าที่รับผิดชอบในการประมงหอยนางรม และการเก็บรวบรวม การเพาะพันธุ์หอยนางรมเทียม การเพาะเลี้ยง และการเก็บเกี่ยวไข่มุก และการขายมุกผ่านงานไข่มุกเมียนมา นอกจากนี้ MPE ยังอนุมัติใบอนุญาตสำหรับการประมงหอยนางรม การรวบรวมและการขายหอยนางรม และการขึ้นทะเบียนเรืองมหอยนางรม และช่างเทคนิคมุกและหอยนางรม MPE เป็นตัวสร้างรายได้ที่สำคัญของรัฐบาล

    ด้วยเหตุนี้ การดำเนินการในวันนี้ทรัพย์สินและผลประโยชน์ทั้งหมดในทรัพย์สินของหน่วยงานที่มีชื่อข้างต้น ซึ่งอยู่ในสหรัฐอเมริกาหรืออยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของบุคคลในสหรัฐอเมริกาจะถูกยึด และต้องรายงานไปยัง OFAC นอกจากนี้หน่วยงานใดๆ ที่เป็นเจ้าของไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 50% หรือมากกว่า โดยบุคคลที่ถูกคว่ำบาตรหนึ่งคนขึ้นไปจะถูกยึดทรัพย์ด้วย

    เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากใบอนุญาตทั่วไปหรือใบอนุญาตเฉพาะที่ออกโดย OFAC หรือได้รับการยกเว้นเป็นอย่างอื่น ห้ามการทำธุรกรรมทั้งหมดโดยบุคคลในสหรัฐอเมริกาหรือภายใน (หรือการเปลี่ยนมือ) สหรัฐอเมริกาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ใดๆ ในทรัพย์สินของบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชีหรือถูกยึด ข้อห้ามรวมถึงการบริจาคหรือจัดหาเงินทุนสินค้าหรือบริการ โดยเพื่อผลประโยชน์ของบุคคลที่ถูกขึ้นบัญชี หรือการได้รับการบริจาคหรือการจัดหาเงินสินค้าหรือบริการจากบุคคลดังกล่าว