ThaiPublica > คอลัมน์ > ไก่หงอยที่ลำปาง

ไก่หงอยที่ลำปาง

16 กรกฎาคม 2022


แรมโบ้บ้านสวน

ที่มาภาพ : https://www.facebook.com/lek.aree.31

เกือบ 70 ปีก่อน เริ่มมีการทำภาชนะดินเผาลายไก่แจ้ในลำปาง จน “ชามไก่” กลายเป็นหนึ่งใน “แบรนด์” ของลำปางควบคู่กับรถม้า จนถึงวันนี้ทั้งสองสัญลักษณ์กำลังถดถอยอย่างหนัก

การถดถอยของภูมิปัญญาเดี๋ยวนี้อาจจะไม่ใช่สิ่งแปลก เรามีให้เห็นกันทั่วไปเพราะสังคมและเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วจนบางครั้งตั้งตัวไม่ทัน

วันดีคืนดีน้ำแข็งไส เต้าทึง 20 บาทก็หากินยาก แล้วโดนทดแทนด้วยบิงซูราคาสองร้อยบาท หรือเสียงคนบ่นอื้ออึงว่าข้าวราดแกงขึ้นราคาจาก 40 เป็น 50 บาท แต่ขนมชื่อดังชิ้นเล็ก ๆ ราคากว่าร้อยบาทกลับมีคนยอมเข้าแถวนาน ๆ เพื่อให้ได้สักชิ้น

​อะไรที่ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมมีโอกาสที่จะจบสิ้นไป เช่นเดียวกับลำปางซึ่งเคยเป็นเมืองศูนย์กลางของภาคเหนือมาก่อน จนเมื่อเกิดถนนสายใหม่ตัดตรงเข้าสู่เชียงใหม่ นับจากนั้นมาลำปางก็เงียบเหงาลง กลายเป็นเมืองที่หลบอยู่ข้างทาง

ตามดัชนีความก้าวหน้าของมนุษย์ของประเทศไทย พบว่าลำปางมีอันดับสุขภาพดีที่ 65 รายได้ที่ 57 ชีวิตการงานที่ 54 จึงพอจะนับได้ว่าลำปางที่กว้างใหญ่ อุดมสมบูรณ์นั้นมีสอบตกซะหลายด้าน

​แต่น่าสนใจว่าด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้น ลำปางอยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศ กลายเป็นภาพที่ขัดแย้งกันระหว่างผลการบริหารงานของรัฐบาลต่าง ๆ ที่ส่งลำปางไปสอบตก แต่ชาวลำปางกลับมีความเข้มแข็ง สนใจเข้าร่วมสร้างอนาคตของตัวเอง

​ความมั่งคั่งในทรัพยากรดินทำให้ลำปางขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางเครื่องปั้นดินเผามาช้านาน เคยมีโรงงานเครื่องปั้นดินเผามากถึง 600 แห่ง จนไม่นานมานี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมรายงานว่าลำปางมีโรงงานปั้นดินเผา 190 โรงงาน สร้างยอดขายรวมกันถึง 2,300 ล้านบาท

​คือเหลือไม่ถึงหนึ่งในสามของช่วงความรุ่งเรือง มีแนวโน้มที่จะทรุดตัวต่อไปเพราะประทานบัตรเหมืองดินใหม่ออกยากขึ้น ในขณะที่ประทานบัตรที่มีอยู่ทะยอยหมดอายุไป

​การขาดแคลนวัตถุดิบ กับต้นทุนพลังงานแก๊สที่ใช้ในการเผารวมกันทับถมให้ช่างปั้นหายใจไม่ออก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ราคาต่ำยังมีการผลิตกันอย่างกว้างขวาง

ช่างปั้นปลาคาร์ฟ

​ภาพช่างปั้นนั่งหลังขดหลังแข็ง ขึ้นรูปปลาคาร์ฟ ลงสี เคลือบน้ำยาแล้วนำไปเผา ยังมีให้เห็น แต่เมื่อถามดูก็ได้ความว่างานหนักที่ทำนั้นจะขายได้แค่ตัวละ 7 บาท คือถูกกว่าค่ารถเมล์ร้อนที่เริ่มต้น 8 บาท

​ความเดือดร้อนของคนในชนบทมักจะแก้ไขได้ยาก เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งยึดครองอำนาจเข้มข้นขึ้นตามลำดับ

​แต่การมีส่วนร่วมของชาวลำปางในกรณีเครื่องปั้นดินเผาลำปางอาจจะทำให้เราเห็นบางอย่างชัดเจนขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางชักชวนโรงงานเครื่องปั้นดินเผา 12 แห่งมาทดลองทำงานด้วยกัน เพื่อทำอย่างไรให้ดินและฝีมือมีคุณค่ามากกว่าเดิม โดยนำเอาความรู้ทางวิชาการมาช่วยเสริมภูมิปัญญาแก่ชาวบ้าน

​รศ. ธมลวัฒน์ หิรัญชาติอนันต์ เป็นหนึ่งในคณะนักวิชาการเล่าว่า ลำปางกำลังเข้าโหมดของการเร่งขุดดินให้ได้มากที่สุดก่อนประทานบัตรต่าง ๆจะหมดอายุในเวลาอีกประมาณสามปี ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการหลายรายเลิกการล้างดินเพื่อลดต้นทุน ซึ่งคุณภาพสินค้าลดลงไปด้วย

​รศ. ธมลวัฒน์ หิรัญชาติอนันต์

“ดินขาวลำปางใช้เวลา 250 ล้านปีกว่าจะมาเหมาะกับการทำเครื่องปั้น และผมคิดว่ามันไม่ควรจะเป็นเหมือนไม้สักโบราณร้อยกว่าปี ถูกเอามาเหลาเป็นช้างขายตัวละ 80 บาท เราอยากให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากร โดยผลิตสินค้าใหม่ที่มีมูลค่า เป็นที่ต้องการของตลาด ถ้าไม่เร่งแก้ไข ในไม่ช้าโรงงานก็จะเริ่มลดการจ้างงาน”

คณะนักวิชาการร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชน ค้นคว้าหาโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตลาด มีมูลค่าและคุณค่ากว่าเดิม จนทำให้เกิดเป็นเครื่องประดับจากดินเผาเคลือบ เครื่องใช้ในบ้าน กระดิ่งบูชาแขวนในวัด กระถางปลูกพืชตระกูลแค็คตัส และเครื่องประดับศาสนสถาน ซึ่งล้วนได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี

การแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยความร่วมมือของคนในพื้นที่ ย่อมมีความเข้าใจปัญหาและสร้างทางออกให้แก่ตนเองได้อย่างเหมาะสมที่สุด

ปัจจุบันดินเผาลำปางเริ่มเห็นทางออกไปสู่คุณค่าใหม่ พร้อมกับแนวคิดร่วมกันที่จะทดลองสร้างชุมชนเครื่องปั้นดินเผาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยความหวังว่าจะช่วยต่ออายุภูมิปัญญาและการต่อสู้ของพวกเขาให้ขจรไกล

เผื่อว่าชุมชนอื่น ๆ ที่กำลังเดือดร้อนทั่วประเทศจะลุกขึ้นมาสู้เพื่อตนเอง และไม่หวังกับความช่วยเหลือ กับสัญญาลมลมแล้งแล้งอีกต่อไป