ThaiPublica > คอลัมน์ > เจ้าพ่อนางงามกับลุงพล

เจ้าพ่อนางงามกับลุงพล

30 มกราคม 2021


แรมโบ้บ้านสวน

ที่มาภาพ : facebook : @NawatTV และ FC ลุงพล ไชย์พล วิภา

มีข่าวเล็กๆ น่าคิดที่คุณณวัฒน์ อิสรไกรศีล เจ้าพ่อนางงาม ชวนชาวไทยดูเลิกดูข่าวลุงพล-ชมพู่ เพราะสถานีโทรทัศน์เล่นข่าวหวังแต่เรตติ้งโดยสังคมไม่ได้อะไร

จริงๆ ถ้าไม่ดูชมพู่-ลุงพล เราก็มีทางเลือกที่ดีกว่าอีกมากมายทั้ง ไม้ถูพื้น ราวตากผ้า หม้อหุงข้าว และถั่งเช่า

ย้อนไปเมื่อช่วงที่อินเทอร์เน็ตเริ่มมีบทบาทในโลก เคยมีงานวิจัยของสมาคมการประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (International Public Relations Association) ที่สรุปว่า “public is no longer” เป็นการเตือนว่าโลกออนไลน์ส่งผลกระทบให้ “สาธารณะ” แบบกว้างๆ แตกกระจายเป็นกลุ่มย่อยๆ ที่มีความสนใจแตกต่างกันไป

การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและผลของมันจึงเป็นกุญแจสำคัญ

ดังนั้น พออินเทอร์เน็ตพัฒนาต่อยอดมาสู่แพลตฟอร์มโซเชียลต่างๆ ผู้คนก็ยิ่งจะแตกกระจายไปตามความสนใจของตัวเอง จนครั้งหนึ่งเกิดคำเสียดสีว่า “สังคมก้มหน้า” แม้ทุกวันนี้คนยังก้มหน้ากันอยู่ แต่คำที่ว่านั่นก็ล่าถอยไปแล้ว

เรื่องของ ชมพู่-ลุงพล ก็เป็นอาการหนึ่งของสังคมที่แยกเป็นกลุ่มย่อย ยืนมั่นบนความชอบ ไม่ชอบ และเฉยๆ เป็นอาณาเขตที่บางครั้งไม่มีที่ว่างให้เหตุผลแทรกตัวเข้าไปได้

แม้จะมีนโยบายสร้างประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้มาช้านาน แต่เราก็ยังอยู่ในขั้นสังคมแห่งการสอดรู้ เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น พลเอก ประยุทธ์ กับดีเจมะตูม ประชาชนสนใจเรื่องของคนไหนมากกว่ากัน ลองค้นดูในกูเกิลเทรนด์

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งที่ลอยพ้นน้ำ ขณะสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น จมอยู่ใต้ผิวน้ำ นั่นคือเมื่อสังคมแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยๆ แล้ว จะเกิดเอกภาพและพลังได้อีกไหม

เมื่ออิทธิพลของโลกโซเชียลขยายตัวไม่หยุดยั้ง วงการโทรทัศน์จึงตกเป็นสื่อเก่า ที่ดิ้นรนปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นสองเส้นทางที่เดินขนาน สนับสนุนกัน แข่งขันกัน

พื้นฐานของสื่อเหล่านั้น คือการทำธุรกิจ และแข่งขันก็เพื่อธุรกิจ

ในด้านทีวีนั้นก็ แน่นอนว่าดิ้นรนกันอย่างหนักเพื่อให้รอดและไม่ต้องเลิกจ้าง (ยกเว้นช่องของรัฐอย่างไทยพีบีเอส ที่ไม่ต้องหาเงิน) ที่น่าสนใจคือผลของการแข่งขันทำให้อันดับที่ 1-10 มีสัดส่วนผู้ชมร้อยละ 92.19

เป็นการแข่งขันที่ให้เราดูละครที่ดาราชอบพูดอยู่กับตัวเอง ข่าวประเพณีรายปักษ์โรยแป้งใส่ต้นกล้วยและไม้ซุงที่มีแทบทุกช่อง

ส่วนอีกแปดช่องที่เหลือก็ไปเฉลี่ยผู้ชมส่วนที่เหลือร้อยละ 7.81 ในกลุ่มนี้เป็นที่อยู่ของทีวีของรัฐทั้งนั้น ยกเว้นแต่ช่อง 7 ที่เป็นแชมป์ตลอดกาล เป็นช่องของรัฐ แต่ให้สัมปทานเอกชนมาบริหาร

พฤติกรรมการค้นหาในกูเกิล
พฤติกรรมการค้นหาในยูทูป

ยิ่งเมื่อมาดูในโลกออนไลน์ด้วยแล้วก็จะเห็นว่าคนทั่วไปสนใจอะไรกัน

ในเวลานี้ที่ผู้หลักผู้ใหญ่พากันท่องคาถาซ้ำๆ กันว่า จะต้องเอาชนะใจคนรุ่นใหม่แล้วทุ่มเทงบประมาณมาทำสงครามข่าวสารนั้น คงต้องเลือกว่าจะเล่นบอล เล่นละคร ร้องเพลง หรือไปเป็นผี ก็อาจจะได้ผล

แต่ไม่ว่าสื่อจะครอบงำสังคมมากแค่ไหน คนธรรมดาๆ อย่างพวกเราก็น่าที่จะหาความรู้ให้เท่าทันสื่อและสังคม เพื่อเราจะได้เป็นคนตกปลา ไม่ใช่เป็นปลา หรือเป็นเหยื่อ

ช่วยกันดูรายการดีๆ ไม่ให้ต้องเลิกไป แล้วพอว่างบางครั้งก็อ่านไทยพับลิก้า