ThaiPublica > คนในข่าว > สุเมธ ตันติเวชกุล เปิดสถานีสาสบหก “แทงก์น้ำของชุมชน” ตัวอย่างการจัดการน้ำที่ยั่งยืน

สุเมธ ตันติเวชกุล เปิดสถานีสาสบหก “แทงก์น้ำของชุมชน” ตัวอย่างการจัดการน้ำที่ยั่งยืน

2 มกราคม 2015


ท่ามกลางปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นวัฏจักรซ้ำซากปรากฏอยู่ทุกปี และท่ามกลางความเห็นขัดแย้งเรื่องสร้างเขื่อน ไม่เอาเขื่อน แต่ที่ผ่านมามีผู้รู้ที่ทำทันทีโดยไม่รอให้ใครมาสั่งการ ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นบริหารจัดการน้ำกันเองในชุมชน เก็บน้ำทุกหยดไว้ให้มากที่สุด ให้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติ ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากมายในการบริหารจัดการ โดยมีตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการจัดการน้ำให้เห็นอย่างหลากหลาย แต่เรื่องการบริหารจัดการน้ำยังถกและเถียงกันไม่เลิก

เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2557 ได้มีโอกาสไปดูงานถอดบทเรียนโครงการ “SCG รักษ์น้ำ เพื่ออนาคต” และเปิดตัว “สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก” ที่ อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โดยชุมชนสาสบหกได้เข้าร่วมโครงการเอสซีจีฯ เพื่อสร้างฝายชะลอน้ำตั้งแต่ปี 2550 กว่า 7 ปี ที่ร่วมกันพลิกฟื้นผืนป่าด้วยวิถีธรรมชาติ ปลูกป่าแบบไม่ปลูก จากเดิมที่ทำป่าเลื่อนลอยโดยไม่ดูแลธรรมชาติ วันหนึ่งธรรมชาติก็ขาดสมดุล กระทบปากท้องของชุมชน วันนี้ของ “ชาวสาสบหก” จึงเป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่างของการบริหารจัดการน้ำ ที่ไม่เพียงการแก้ปัญหาน้ำและทำให้ธรรมชาติฟื้นคืนแล้ว แต่คือความเข้มแข็งของชุมชน ที่คิดเอง ทำได้ และสามารถพึ่งพิงตัวเองได้อย่างแท้จริง

ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ได้กล่าวปาถกฐาพิเศษในการเปิดตัว “สถานีปลูกคิดปันสุข ฮอมผะหญา สาสบหก” ในหัวข้อ “พอเพียงและแบ่งปัน..เส้นทางสู่ความสุขที่ยั่งยืน” ว่า

วันนี้คงเล่าสู่กันฟัง เนื่องจากตัวผมเองมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง (การจัดการน้ำ) เกือบจะพูดได้ว่าเป็นคนแรกที่ได้รับฟังคำว่าฝายแม้ว พระเจ้าอยู่หัวฯ ไม่ได้รับสั่งว่าเป็นฝายชะลอน้ำมาก่อน ชื่อแรกคือฝายแม้ว พระองค์ท่านเสด็จห้วยฮ่องไคร้ เป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งมาก มีต้นไม้ใหญ่ที่เกือบจะยืนตายแล้ว ดินต่างๆ เกือบจะเป็นก้อนหิน ไม่มีใครยอมไปทำ ส่งทีมเราเข้าไป ก็เอาดินที่เราคิดว่าเป็นหินใส่ถุงไปถวาย บอกว่าทำอะไรคงไม่ได้ พระองค์ท่านรับสั่ง ไม่ใช่หิน มันเป็นดิน ไม่เชื่อเอาไปใส่น้ำดู พรุ่งนี้เป็นอะไรมารายงานด้วย ตื่นเช้ามาดูมีแต่ดินอยู่เต็มถัง แม้ความแห้งแล้งมีจนกระทั่งดินกลายเป็นหิน

“พระองค์ท่านเสด็จไปเยี่ยมสถานที่นั้น ก็บอกว่า 7 ปี ฉันจะทำให้เขียว 7 ปี เรานึกว่าจะยาวนาน และ 7 ปีได้พิสูจน์ทราบหมดทุกแห่ง”

“ผมเองยังไม่เข้าใจฝายแม้ว พระองค์พระราชทานอธิบายต่อ เห็นพวกม้งในป่าเวลาที่เขาจะเก็บกักน้ำไว้ เขาเอาก้อนหินไปโยนๆ ขวางลำธารไว้ ก็ขังน้ำไว้ใช้ได้ พอใช้ได้ เขาไม่มีวิชาความรู้ในการสร้างฝายสร้างเขื่อน แต่เขาก็ช่วยตัวเอง นี่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่นที่เกิดขึ้น ผมได้สั่งการไปยังกรมชลประทานให้ดำเนินการสร้างฝายแม้ว ปรากฏว่ากรมชลฯ ก็ไปสร้าง สักพักก็เสร็จ และมารายงานพระเจ้าอยู่ว่า ทำไม่สำเร็จหรอก เพราะไม่มีฝายอันไหนที่กักเก็บน้ำสักอัน เพราะฝายที่เขาเรียนมานั้น สร้างเสร็จมันต้องเก็บน้ำได้ แต่ฝายแม้วไม่มีในตำรา พระเจ้าอยู่หัวสร้างตำราใหม่”

เขาก็ตกใจสุดขีดเมื่อพระเจ้าอยู่หัวบอกว่าอันไหนที่มันเก็บน้ำไม่ได้ ขอแสดงความยินดี งานสำเร็จแล้ว เพราะพระองค์ท่านไม่ต้องการให้เก็บน้ำ ต้องการให้มันชะลอน้ำ ให้ค่อยๆ ซึม แทนที่จะไหลพรวดพราดลงไปในหุบ เพราะต้นไม้ถูกตัด น้ำไม่มีอะไรเบรกเลย ไม่มีอะไรเก็บ ไม่มีอะไรซึมซับ ไหลอย่างเร็วลงไป ไม่มีใช้ให้เกิดประโยชน์ และรับสั่งว่าฝายไหนที่เก็บน้ำได้ ทะลวงให้มันทะลุด้วย งงเลย กรมชลประทานไม่เคยเรียนมาอย่างนี้

ที่แท้พระองค์ต้องการสร้างถุงน้ำเกลือ เวลาเราเจ็บป่วย เรามาให้น้ำเกลือ เพื่อมีพละกำลัง ฝายชะลอน้ำที่สร้างให้มันหลากหลายอยู่ในพื้นที่สูง ให้มันทะยอยหยดมา เหมือนร่างกายเราก็กะปรี้กะเปร่าขึ้นในทันที ธรรมชาติก็เหมือนกัน ถ้ามีน้ำเกลือให้เขา ไม่ปล่อยพรวดพราดมา มันก็จะเกิดขึ้น ปฏิกิริยาลักษณะนี้ ต้นไม้มีเวลา ได้รับความชุ่มชื้น และมันก็ขึ้นมาเอง ต้นไม้ในห้วยฮ่องไคร้เกือบไม่ได้ปลูกเลย กลับขึ้นมาเอง แบบธรรมชาติด้วย เป็นชั้นๆ ขึ้นเต็มไปหมด ไม่เหมือนป่าที่เราปลูกกัน พระองค์บอกว่าป่าแถวทหาร (ทหารปลูก) เลิกปลูกทีได้ไหม มันเป็นแถวๆ เรียงกันเป๊ะเลย ไม่ใช่ธรรมชาติ ธรรมชาติไม่เป็นแบบนั้น ต้องเป็นชั้นๆ

ทำไมต้องมีป่า

ปัญหาทั้งหลายทั้งปวง น้ำคือชีวิต ชีวิตต้องการอะไร ต้องการทุกอย่างแม้กระทั่งเงินทอง ฉะนั้น อย่างเดียวเท่านั้นที่จะบันดาลทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นกับเราได้ ถ้าไม่มีน้ำชีวิตจบ ต่อให้มีดินกี่แสนไร่ก็ไม่มีความหมายอะไร แต่น้ำเป็นพาหะสำคัญนำชีวิตเราไปประสบความสำเร็จ เป็นปัจจัยสี่ ที่พระพุทธเจ้าได้กล่าวมานั้น ต้นตอมาจากน้ำทั้งสิ้น จะเป็นอาหารการกิน พืชพันธุ์ต่างๆ ไม่มีน้ำอยู่ไม่ได้หรอก ตายหมด เสื้อผ้านุ่งห่มก็มาจากพืช พลังงานก็มาจากพืช มาจากดิน น้ำมันดินหมดสุดท้ายก็มาที่น้ำมันพืช ไบโอดีเซล บ้านเรือน ไม่ต้องพูด ปูนซีเมนต์ก็มาจากธรรมชาติ เพราะฉะนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากตรงนั้น (น้ำ)

เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องคิดบริหาร ไม่ว่าจะทำอะไร โดยเฉพาะชาวสาสบหก หรือบ้านสามขา หรือส่วนใหญ่ของประเทศทำเกษตร ยิ่งต้องขึ้นอยู่กับน้ำ

คำถามง่ายๆ ว่าน้ำบ้านเรามีไหม ผมขอเรียนว่าน้ำในเมืองไทยจะตกทิ้งช่วง ไม่ทิ้งช่วง น้ำตกบนแผ่นดินไทยนั้นมหาศาล แม้กระทั่งในภูมิภาคอีสานที่ว่าแห้งแล้งสุด เก็บน้ำไม่ได้ ปริมาณน้ำมากที่สุด มีพื้นที่รองรับ หลังคาใหญ่ที่สุด มีประมาณ 245,600 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร แต่เก็บไว้กี่หยดรู้ไหม ฝนตกมาร้อยหยด อีสานเก็บไว้ 3.2 หยด ไม่แล้งทนไหวหรือ ภาคเหนือเก็บได้ 11 หยด ภาคใต้ก็ 10 กว่าหยด นี่คือน้ำมี แต่ไม่เก็บ อันนี้เป็นข้อที่หนึ่ง

เมื่อน้ำไม่มี ชีวิตจะอยู่ได้อย่างไร ที่เก็บคือมนุษย์ทำ สร้างเขื่อนอะไรต่ออะไร แต่พระองค์บอกว่าธรรมชาติก็เก็บของเขา ตรงไหนเป็นที่ลุ่ม หนอง คลองบึง ใกล้บ้านเรา มีกว๊านพะเยา ที่ไหนก็แล้วแต่ มันเป็นบึงขนาดใหญ่ พอน้ำมันล้นก็ไหลเป็นคลองไป ธรรมชาติมีอยู่แล้ว แต่ถามจริงๆ เถอะ โครงสร้างที่เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เราดูแลรักษาไหม ปล่อยให้ตื้นเขิน ปล่อยให้สิ้นสภาพ ถนนทุกสายนั้นริมถนนต้องมีคลองเพื่อระบายน้ำเวลาฝนตก คลองอยู่ในสภาพอะไร ท่านตอบกันเองดีกว่า ไม่มีใครดูแล ไม่มีใครสนใจ เคยมีอยู่แล้วก็หายไป มันก็สิ้นสภาพเป็นแถวๆ เลย

mindmap

ลักษณะธรรมชาติอีกอันที่เก็บน้ำได้คือป่า นี่แหละครับ ป่านี่คือแทงก์น้ำโดยธรรมชาติ เป็นธรรมชาติ เก็บน้ำเสร็จแล้วเขาค่อยๆ ปล่อยที่เหลือมา อย่าลืมว่าน้ำนั้นเหมือนเงินเดือน เงินเดือนออกหนเดียวแต่ต้องใช้ 30 วัน จะเกลี่ยให้ใช้ได้ 30 วัน อย่างไร น้ำก็เหมือนกัน เขามา (ฝนตก) สามเดือน แต่ใช้เก้าเดือนที่เหลือให้ครบได้ไหม มันก็ต้องเก็บ เก็บในธรรมชาติในป่า และค่อยๆ ทยอยออกมา

อยากให้ไปดูที่บ้านห้วยปลาหลด หมู่บ้านเล็กๆ ของชาวมูเซอดำ อ.แม่สอด จ.ตาก ชีวิตเขาอยู่กับธรรมชาติ เขาเข้าใจธรรมชาติ เข้าถึงธรรมชาติ พระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปในปี 2521–2522 บอกให้เก็บน้ำไว้ จะสร้างเขื่อนยังไง ไม่มีงบประมาณ และสร้างเขื่อนแต่ละครั้งมีปัญหาเยอะแยะไปหมด

พระเจ้าอยู่หัวบอกว่าป่าเก็บน้ำได้ เชื่อไหมเขาถ่ายรูปก่อนและหลังไว้ จำไม่ได้เลย เหมือนห้วยฮ่องไคร้เลย ป่าเกลี้ยงหมดเลย ชาวเขาเขาปีนเขาเก่ง ไปปลูกๆๆ 6-7 ปี ต่อมาเป็นป่าสมบูรณ์เลย ที่ห้วยปลาหลด ในหมู่บ้านเองไม่มีอ่างเก็บน้ำ ไม่มีสระ มีลำธารเส้นเดียวที่ไหลผ่าน มีน้ำตลอดทั้งปี

“ไม่ใช่ป่าเหรอที่ทยอยส่งเงินมาให้ เงินในที่นี้คือน้ำ น้ำมันกลายเป็นเงินได้ ปลูกคิด ชาวมูเซอดำเขาเข้าใจธรรมชาติ น้ำฝนน้ำเต็มลำห้วยเลย เขาบอกผมว่า อาจารย์ ผมจะปลูกพืชโตเร็ว เพราะตอนนี้น้ำเยอะ เอาพืชขายยอดมาปลูก เขาวางแผนเลย ยอดฟักทอง ยอดฟักแม้ว อะไรต่ออะไร เก็บวันเว้นวัน มันแตกข้ามคืนเลย เขาก็บอกว่าอาจารย์ เดี๋ยวเดือนพฤศจิกายน เข้าหน้าหนาว น้ำไม่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมแล้ว ผมจะเปลี่ยนพืชผัก เขาวางแผนต่อเป็นพืชหน้าหนาวใช้น้ำน้อย แต่ยังให้รายได้อยู่ เขาทำอย่างนี้ไปจนเดือนกุมภาพันธ์ หน้าแล้ง น้ำในห้วยยังมีอยู่ แต่จะไปถลุงเหมือนตอนที่น้ำเยอะไม่ได้ ต้องคำนวณเลย น้ำแต่ละปีแต่ละถัง จะปลูกอะไรดี ต้องปลูกพืชฤดูแล้ง พอระดมความคิดอย่างนี้ ออกมาเป็นการปฏิบัติ เข้าถึง เข้าใจวิถีน้ำ เข้าใจระยะช่วงน้ำ เข้าใจปริมาณน้ำ เขาเข้าใจถึงวิถีการใช้น้ำ กิจกรรมน้ำมาก น้ำกลาง น้ำน้อย ว่าจะใช้พืชแบบไหน อยู่ได้ทั้งปี เขาหวงแหนป่าของเขาอย่างดี เขาจัดเวรยามในการดูแล เพราะชีวิตเขาอยู่ตรงนั้น น้ำคือชีวิต เป็นเรื่องจริง แต่ต้องบริหารจัดการให้ถูกต้องด้วย”

นี่คือตัวอย่างของห้วยปลาหลด หรือที่ไหน ก็ถ่ายทอดมาสู่ที่นี่ (สาสบหก) ด้วย ตอนแรกที่คุณพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา พาผมมาดูบ้านสามขา ก็มีอ่างเก็บน้ำที่หน่วยงานราชการมาสร้างไว้ แต่เป็นอ่างที่ไม่มีน้ำ เพราะข้างบนป่าซึ่งเป็นแทงก์แรกมันหายไป มันบางไป ไม่มีขีดความสามารถที่จะเก็บ ก็เริ่มไปทำฝายแม้ว ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก เอาความคิดของพระเจ้าอยู่หัวมาทำ พาไปดูที่ห้วยฮ่องไคร้ พอไปดูกลับมาก็เริ่มทำ ทำครั้งแรกก็ผิดๆ ถูกๆ ผมไปเห็นบางอันไม่ควรสร้าง ฝายชันดิก น้ำมาทลายไปทั้งฝายเลย แต่นั่นแหละ การเรียนรู้มีผิดมีถูก ก็เก็บไว้เรียนรู้ ปรากฏว่าป่าฟื้นฟูขึ้น น้ำที่ไม่เคยเต็มอ่าง น้ำก็เต็มตลอด จากที่น้ำไม่มีในอ่าง เพียงแต่ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไม่มีการวางแผนการใช้ ผลสุดท้ายน้ำเต็มอ่าง

ไปครั้งล่าสุด ตกใจสุดขีด น้ำที่มีใช้ทำเกษตร ก็เหลือน้ำเยอะแยะ ล้นอ่างมา คราวนี้ติดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากน้ำเลย ได้ไฟฟ้าใช้ด้วย ขายไฟฟ้าได้ด้วย

น้ำจึงเป็นทุกอย่าง ให้พลังงาน ให้อาหาร ให้ทุกอย่าง ถ้ามีความคิด

ดังนั้นสถานีนี้คิดมิชชั่นแรก กิจกรรมแรก ระดมความคิดกันก่อน ความคิดคือปัญญา และปัญญาต้องมาจากสติด้วย ถ้าขาดสติเห็นเงินตาโต หรือขี้เกียจ หรือมีความโลภ เสร็จครับ ดังนั้นต้องมีสติก่อน มันจึงเกิดปัญญา จากนั้นมาสู่กิจกรรมที่ปฏิบัติบนฐานของเหตุผล ทำโดยพอประมาณตน รู้จักตนไหม รู้จักตัวเราไหม ชุมชนเราที่เราอยู่ มีอะไร ไม่มีอะไร ตอบได้ไหม ต้องเริ่มอย่างนี้ก่อน ดูทุนของชุมชนก่อน สภาพแวดล้อม ที่พระเจ้าอยู่หัวใช้ภูมิสังคมนั่นเอง ต้องดูภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ด้วย คือทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม หรืออีกภาษาชาวบ้านคือดิน น้ำ ลมป่า ดูว่ามีทุนไหม ถ้าไม่มีทุนก็เติมทุนให้มัน ป่ามันมีอยู่ หากกะร่องกะแร่งก็ต้องเติมทุน อย่างทำฝายชะลอน้ำ มันฟื้นฟูกลับมา พอมีครบแล้ว คราวนี้เราก้าวไปอีกก้าวแล้ว

เมื่อมีการบริหาร รู้จักใช้น้ำ หากน้ำอันไหนเกินจะเอาไปไหน จะออกซ้าย ออกขวา ออกตรงๆ จะท่วมที่เขา อันนี้คือการกระจายน้ำ การบริหารน้ำไม่ต้องเรียนหรอก คือเก็บทุกหยด ไม่มีที่เก็บสร้างที่เก็บ ตั้งแต่ป่า บ่อ คลอง หนอง บึง สระ

นี่มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว การบริหารน้ำมีให้เห็นแล้ว เราเดินมาถูกทางแล้ว

อย่าง “น้ำสังข์” ที่นำรดน้ำแต่งงาน ไม่มีอะไรจะตัดน้ำให้ขาดได้ ต่อให้เอาอะไรขวางก็จะชอนไชมาเชื่อมกันอีก เหมือนให้พรความรัก ชีวิตนั้นจะเชื่อมโยงกันตลอดเวลาไม่มีอะไรมาตัดขาดได้ เอาน้ำเป็นตัวเชื่อม ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพราะชีวิตอยู่ตรงนั้น ประโยชน์สุขได้ เกลี่ยให้ทั่วถึงกัน

IMG_0896

สถานีปลูกคิดปันสุข ต้นแบบศูนย์การเรียนรู้เพื่อชุมชนยั่งยืน

“ผมได้มาในกิจการของเอสซีจี เป็นระยะๆ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย นับเนื่องจากที่วันแรกที่เอสซีจีมาปรึกษาหารือว่ากิจกรรมหลักเพื่อสังคมจะทำอะไรดีนั้น ได้แนะนำให้ไปทำฝาย ผมก็ไม่เชื่อว่าเอสซีจีจะทำจริงจังจนกระทั่งบัดนี้ อันนี้กล่าวด้วยความรู้สึกจริงๆ ว่าอีกสักพักคงจะเลิก เพราะไม่ใช่งานที่ง่ายเลย เพราะต้องทำต่อเนื่อง อดทน หยุดไม่ได้เลย แต่ผิดคาด ต้องขอแสดงความปลิ้มใจที่เอสซีจียึดมั่นในแนวทางนี้มาโดยตลอด”ดร.สุเมธกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ความพยายาม ความทุ่มเทของเอสซีจีจะทำให้เกิดได้ทุกวันนี้ ผลรายงานเรื่องฝาย กุญแจความสำคัญทั้งหลายมาจากชาวชุมชน เอสซีจี อาจจะมีงบบ้างเล็กน้อย เพราะเราถือว่าเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่ทำให้กิจกรรมเกิดขึ้นได้ เรามุ่งไปที่การสร้างความรู้ เราอยากจะเป็นพี่เลี้ยงอยู่ข้างๆ ชาวชุมชนมากกว่า ถ้าหากชาวชุมชนเองไม่เห็นความสำคัญ และไม่ลงมือทำด้วยตนเองนั้น ผมคิดว่าเรื่องราวต่างๆ นี้ไม่เกิดขึ้น

ผมมาในวันนี้ มานั่งเหมือนที่เคยมานั่งเมื่อสามปีที่แล้ว ทุกคนอยู่ครบถ้วนหน้า แสดงว่ายังทำอยู่ ยังต่อเนื่อง อันนี้จะนำไปสู่ความยั่งยืนด้วย

ชุมชนสาสบหก จุดเริ่มต้นที่ห้วยฮ่องไคร้ …หากความล่วงรู้ไปถึงพระองค์แล้ว ซึ่งผมคงจะถือโอกาสทุกปี เมื่อเอสซีจีส่งเอกสารผ่านผมนำถวายตั้งแต่พิกัดของฝายที่สร้างขึ้นมา ทุกครั้งที่ถวายขึ้นไปพระองค์ทรงปลื้มปิติ ยินดีเป็นอย่างมาก สิ่งที่พระองค์ท่านคิด ทำให้ดู ได้มีคนนำเอาไปใช้ และได้ผลประโยชน์ที่จับต้องได้ และผลสุดท้ายสิ่งที่เป็นประโยชน์คือแผ่นดินไทย ที่คนรู้สึกห่างเหิน หากคนเพ่งพิศพิจารณาอย่างแท้จริงแล้ว ชีวิตเราขึ้นอยู่กับแผ่นดินนี้ ไม่ว่าเรื่องกิน เรื่องอยู่ มาจากทรัพยากรในบ้านในเมือง เมื่อเป็นปัจจัยที่ยังชีวิตของเราแล้ว ทำไมเราไม่รักษา ทำไมเราจึงไม่พัฒนา ทำไมเราไม่ฟื้นฟูสิ่งที่เสียไปแล้วให้กลับคืนมา เพราะมันหมายถึงชีวิตของเรา

สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่จะอยู่ชั่วชีวิตเราเท่านั้น หากว่าเรามีส่วนหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มเปี่ยม คือลูกหลานเรา คนรุ่นหน้า หากเราใช้อย่างไม่ระมัดระวัง ใช้ด้วยความละโมบ ใช้ในเชิงทำลาย เพราะเห็นแก่เงินนั้น ผมคิดว่าผลสุดท้ายเราจะเอาแผ่นดินอะไรยกให้ลูกเรา

ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องคิดคำนึงเป็นอย่างมาก สัตว์ทุกชีวิตหวงแหนครอบครัว หวงแหนลูก มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ทำไมไม่หวงแหน เราจะยกแผ่นดินเน่าๆ ป่าที่เกลี้ยง น้ำไม่มีสักหยด แผ่นดินเต็มด้วยมลพิษให้ลูกหลานเหรอ ผมคิดว่าคงไม่ใช่มนุษย์แล้วล่ะ เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าสิ่งนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ทุกวันที่ท่านทำ ได้ผลในตัวของเราแล้ว อย่าลืมส่งต่อไปยังคนรุ่นหน้าด้วย

อนาคตของพวกเราคือลูกหลาน เขาจะอยู่ต่อ เขาจะคิดแบบเรา เขาจะสืบสานงานของเราต่อไปไหม หากไม่ทำ ก็จะสิ้นสุดในชั่วอายุคน ทุกอย่างจะแปรสภาพเป็นเงิน และเราจะไม่เรียกอะไรกลับคืนมาได้สักอย่างเดียว เป็นภารกิจใหญ่

สถานีแห่งนี้ตั้งขึ้นมา ทำไมตั้งเป็นสถานี ส่วนใหญ่ใช้กับรถไฟ รถไฟแล่นไป พอถึงสถานีคนจะลง คงเป็นจุดหมายปลายทางให้คนที่มาจากไหนก็แล้วแต่ได้ลงที่สถานีนี้และให้ตีตั๋วมาลงสถานีนี้ ลงมาเรียนรู้ว่าสาสบหกทำได้ ทำไมเราจะไม่ทำบ้าง ทำไมเราจะไม่สำเร็จเหมือนเขาบ้างล่ะ เมื่อเขาทำได้เราก็ทำได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่พระเจ้าอยู่หัวปรารถนา คือเรียนรู้ ถ่ายทอด สิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ สร้างเป็นเครือข่าย พลังจะเกิดขึ้น และแผ่นดินไทยจะยืนอยู่ได้ ด้วยความสงบ คนที่รักกัน หวงแหนสมบัติที่เรามีอยู่และเราไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ ต้องฟื้นฟู พัฒนาขึ้นมา คือต้องเข้าใจ ความคิดเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่มีก็จะหลงทาง เพราะฉะนั้น ก่อนที่จะปันสุขก็ต้องเริ่มแบ่งปันความคิดก่อน ความสุขจึงก็จะตามมา ตามที่เราเดินบนเส้นทางที่ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมแต่ละแห่งๆ

พระเจ้าอยู่หัวตั้งจุดหมายในการครองแผ่นดินว่าประโยชน์สุข จะร่ำรวยแค่ไหนไม่สำคัญ เงินทุกบาททุกสตางค์ที่เราได้มา หรือเรามีอยู่นั้น มันทำอะไรให้เกิดประโยชน์หรือเปล่า ความสุขจะติดตามมาอย่างแน่นอน

ตอนนี้ไม่ว่าบ้านสาสบหก บ้านสามขา จะมุ่งไปสู่คำว่าประโยชน์สุข นอกจากตัวเราได้ ครอบครัวเราได้ คนรุ่นหน้าก็ได้ และแผ่นดินจะได้ด้วยและจะยั่งยืนตลอดไป