ThaiPublica > คอลัมน์ > มนุษย์เป็ด

มนุษย์เป็ด

10 กุมภาพันธ์ 2021


แรมโบ้บ้านสวน

พอเสียงนกหวีดดังปี๊ดปี๊ด ฝูงเป็ดนับพันตัวก็ร้องก๊าบก๊าบเดินขึ้นรถบรรทุกมุ่งไปท้องนา ทุก ๆวันพวกมันเก็บกินวัชพืชและหอยทำลายต้นข้าวอย่างสนุกสนาน จนตกเย็นเสียงนกหวีดก็ดังขึ้นอีก เป็ดพากันเดินขึ้นรถกลับบ้าน

Duck Academy เป็นหนังสารคดีฝีมือคนไทยของบริษัทป่าใหญ่ ครีเอชั่น ที่ขายดีไปทั่วโลกเพราะเล่าเรื่องภูมิปัญญาของชาวนาไทย ที่น้อยคนจะเคยเห็นว่าเป็ดสามารถฝึกได้

ลุงสมนึก ชาวนาลพบุรี เข้าใจถึงอันตรายที่เกิดกับชาวนาจากสารเคมีที่ใช้นานเข้าก็ซึมเข้าไปในร่างกาย แกตั้งตัวเองเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเป็ด ฝึกฝนแล้วพาเป็ดไปในท้องนาที่ต่าง ๆเพื่อช่วยชาวนาคนอื่น ๆกำจัดวัชพืช แต่ไม่ใช่จะเอาเป็ดไปรับเคราะห์

ผืนนาที่จะให้เป็ดลงทำงานก็ต้องปลอดสารพิษ เพื่อป้องกันเป็ดและให้ได้ไข่เป็ดแบบอินทรีย์

เป็ดที่มีการศึกษานี้ ไม่เหมือนกับเป็ดไล่ทุ่งที่คนเลี้ยงจะพาตระเวณไปตามท้องนาหลังเก็บเกี่ยว เพื่อให้เป็ดกินเมล็ดข้าวที่ค้างอยู่ในท้องนา เพราะเป็ดของโรงเรียนถูกฝึกถึงระดับประกาศนียบัตร ให้ทำงานในนาข้าวระหว่างฤดูด้วย พวกมันเดินตามกันเป็นแถวตามร่องน้ำในนา โดยไม่ทำความเสียหายกับต้นข้าว

โรงเรียนเป็ดเป็นทางเดินแคบ ๆสายหนึ่งของชาวนาที่จะไปสู่ฝันของชีวิตที่ดีขึ้น เสียแต่ว่าถนนสายนี้ทอดยาวและต้องเดินไปเหมือนจะไม่สิ้นสุด

ในประเทศที่ “ใหญ่อุดม ดินดีสม เป็นนาสวน” นี้มีพื้นที่ทำการเกษตร 149.2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ชลประทาน 32.7 ล้านไร่ ก็พอจะนึกออกว่าเกษตรกรจำนวนหลายล้านคนต้องฝากชีวิตไว้กับน้ำฝน

บ่อน้ำ อ่างเก็บน้ำกว่าสี่พันแห่งถูกละเลย ทรุดพัง ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แล้วโครงการใหม่ก็เกิดขึ้นเพื่อจะขุดบ่อน้ำทั่วประเทศ ดังที่ทำกันมาหลายยุค หลายสมัย

มิหนำซ้ำใช้เงินไปแล้ว ได้แต่บ่อเปล่า ๆ ไม่มีน้ำเลยก็มี เพราะแนวคิดของการขุดบ่อน้ำ ไม่สัมพันธ์กับการพัฒนาชีวิตคน

เกษตรกรส่วนมากของไทยจึงฝากอนาคตไว้กับเทวดา ล้มคว่ำคะมำหงาย ลูกหลานหนีเข้าเมือง แล้วกลายเป็นโอกาสให้เกิดเทวดาพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า “รัฐบาล” เข้ามามีบทบาท

จากจำนำข้าว ประกันราคาข้าวจนมาถึงนวัตกรรมช่วยจ่ายค่ายา ค่าปุ๋ย ค่าเกี่ยวข้าวและค่าขนส่ง ในปีที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายข้าวก็ยังใช้งบประมาณ 21,000 ล้านบาทประกันรายได้ชาวนา แต่สุดท้ายเราก็เห็นได้เพียงว่าหนี้สินเกษตรกรมีแต่จะเพิ่มขึ้น

เป็นเวลานานมากแล้วที่ประเทศนี้ทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อจะแก้ไขปัญหาระยะสั้น แต่พอผ่านปัญหาไปไม่นานนักเรื่องเดิมก็หวนกลับมาให้สูญงบประมาณอีก ทุกวันนี้ถึงจะไม่ใช่เกษตรกร โควิดก็ทำให้หลายคนดีใจได้เงินเข้าบัญชี ค่าเครื่องบิน ค่าโรงแรม และลดค่าอาหารครึ่งหนึ่ง จนมีโพสต์ในเฟซบุ๊กของร้านอาหารแห่งหนึ่งแถวคลองเตยว่า “วันนี้กินหูฉลามอร่อย แถมได้ใช้คนละครึ่ง”

เป็นผลงานภาคภูมิใจถึงขนาดนายกฯทนไม่ไหว ต้องออกมาประกาศว่า อันนี้คิดเองเลยทีเดียว

ส่วนผู้ใช้แรงงานที่เดือดร้อนสาหัส จะได้รับเงินภาษีมาใช้บ้างก็ต้องขู่จะชุมนุม

นับวันการรอรับเงินจะกลายเป็นวิถีปกติในความคิดของคนไทย มีชีวิตที่ใกล้จะเป็ด ที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนด้วยซ้ำ

หรือว่าการแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จไม่ใช่เรื่องเหมาะสมสำหรับไทย เพราะถ้าไม่มีความเดือดร้อน ผู้บริหารคงจะดูด้อยลงไปมาก