ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ลาวแก้กฎหมายอัตราแลกเปลี่ยน ลดใช้สกุลเงินต่างประเทศ

ASEAN Roundup ลาวแก้กฎหมายอัตราแลกเปลี่ยน ลดใช้สกุลเงินต่างประเทศ

10 กรกฎาคม 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 2-9 กรกฎาคม 2565

  • ลาวแก้กฎหมายอัตราแลกเปลี่ยน ลดใช้สกุลเงินต่างประเทศ
  • สภาแห่งชาติลาวถกร่างกฎหมายความปลอดภัยของเขื่อน
  • เวียดนามใช้กฎหมายประกันภัยใหม่ต้นปีหน้า
  • สิงคโปร์อนุมัติอินโดนีเซียเป็นแหล่งใหม่ผลิตไก่แช่แข็ง
  • อินโดนีเซียเล็งลดภาษีส่งออกน้ำมันปาล์ม
  • ฟิลิปปินส์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจแย่ลง
  • กูเกิลเตรียมผลิตสมาร์ทโฟน Pixel ในเวียดนาม
  • ลาวแก้กฎหมายอัตราแลกเปลี่ยน ลดใช้สกุลเงินต่างประเทศ

    นายบุญเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งสปป. ลาว ที่มาภาพ: http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=67520
    ในการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2565 ของสภาแห่งชาติได้มีการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศให้สภาพิจารณา โดยนายบุญเหลือ สินไซวอระวง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งสปป. ลาว

    ร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการบริหารอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศประกอบด้วย 9 ส่วน 8 หมวด 62 มาตรา รวมทั้งหมดมีการแก้ไขเพิ่มเติม 32 จุด

    นายบุญเหลือ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศใน สปป. ลาวได้รับการจัดการอย่างเป็นระบบมากขึ้นสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน

    กฎหมายฉบับนี้ร่างขึ้นโดยมีสมติฐานว่า สปป. ลาวมีความสัมพันธ์ทางการค้าที่หลากหลาย การลงทุนจากต่างประเทศที่มีนัยสำคัญ และสกุลเงินต่างประเทศจำนวนมากไหลเข้ามาในประเทศ นอกจากการตรากฎหมายนี้แล้ว ธนาคารแห่ง สปป. ลาวยังได้จัดทำร่างกฎหมายลูกอีก 10 ฉบับด้วย

    การทบทวนกฎหมายว่าด้วยการบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องซึ่งใช้มาเกือบ 7 ปี พบว่ามีการเปลี่ยน แปลงเชิงบวกมากมายในสังคมลาว โดยมีคนนิยมใช้สกุลเงินท้องถิ่นมากกว่าสกุลเงินต่างประเทศ โดยอัตราส่วนของเงินตราต่างประเทศในบัญชีธนาคาร ลดลงจาก 68.01% ในปี 2548 เป็น 59.17% ในปี 2564

    กฎหมายจะช่วยให้การบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและจัดธุรกรรมการแลกเปลี่ยนที่ธนาคารรวมศูนย์

    ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งสปป.ลาวกล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายมีเป้าหมายเพื่อประกันว่า ลาวมีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับการบริหารการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ทำให้การบริหารสกุลเงินต่างประเทศรวมศูนย์มากขึ้น สร้างผลประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศและประชาชน ลดการใช้สกุลเงินต่างประเทศในหมู่ประชาชนทั่วไป และมีส่วนในการเสริมสร้างระบบการเงินของประเทศ

    ขณะเดียวกันสมาชิกสภาแห่งชาติได้เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน โดยเสนอหลายแนวทางให้กับ รัฐบาลเร่งจัดการกับปัญหาการอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งเป็นประเด็นร้อนในหมู่ประชาชนในขณะนี้

    ในการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 3 ของสภาแห่งชาติทียังไม่หมดสมัยประชุม นายมานีโส สมุนทิด สมาชิกสภาจากแขวงอัตตะบือ เรียกร้องให้รัฐบาลส่งเสริมบทบาทธนาคารพาณิชย์และประสานความร่วมมือระหว่างธนาคารกลางและสมาคมธนาคาร และยังขอให้รัฐบาลอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราแลกเปลี่ยนที่กำหนดโดยธนาคารกลาง

    “หลายประเทศในโลกปฏิบัติเช่นนั้น โโยเฉพาะในเวียดนาม มีเพียงธนาคารพาณิชย์ที่สามาถให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราได้” นายมานีโส
    กล่าว

    นายลินคำ ดวงสะหวัน สมาชิกสภาจากแขวงเวียงจันทน์เร่งรัฐบาลให้อนุญาตธนาคารพาณิชย์ เปิดบูทรับแลกเงินตราได้ตามสาขาทั่วประเทศ

  • “ต้นตอ” วิกฤติการเงินในลาว คำถามตรงประเด็นจาก “วาลี เวดสะพง”
  • สภาแห่งชาติลาวถกร่างกฎหมายความปลอดภัยของเขื่อน

    ท่านนางจันสะหวัด บุปผา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและการเหมืองแร่ สปป.ลาว ที่มาภาพ: http://kpl.gov.la/En/Detail.aspx?id=67646

    เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมได้มีเสนอร่างกฎหมายใหม่ว่าด้วยความปลอดภัยของเขื่อน ซึ่งประกอบด้วย 10 ส่วน 9 หมวดและ 72 มาตราซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องมือทางกฎหมายที่ดีขึ้นสำหรับการควบคุมเขื่อนในลาว ต่อการประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 3 ของสภาแห่งชาติ

    สมาชิกของรัฐสภาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายอย่างแข็งขันเพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับข้อกำหนดในปัจจุบันของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

    ท่านนางจันสะหวัด บุปผา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและการเหมืองแร่ ชี้แจงถึงการร่างกฎหมาย โดยระบุว่าหลายปีที่ผ่านมา การจัดการความปลอดภัยของเขื่อนไม่ได้ยึดตามกฎเกณฑ์เฉพาะใดๆ

    “กฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า กฎหมายการก่อสร้าง และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ให้แนวทางโดยละเอียดและเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับความปลอดภัยของเขื่อน ด้วยเหตุนี้ นักลงทุนจึงฝ่าฝืนหรือเพิกเฉย ละเลย ไม่สนใจข้อกำหนดด้านความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติเขื่อนเช่นเดียวกับในเชียงขวางเมื่อหลายปีก่อน และสันเขื่อนของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยที่แตกในปี 2561 ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากต่อชีวิต สุขภาพ ทรัพย์สินของประชาชน และสิ่งแวดล้อม”

    เวียดนามลดภาษีสิ่งแวดล้อมดึงราคาน้ำมันลง

    ที่มาภาพ: https://en.vietnamplus.vn/na-standing-committee-agrees-to-reduce-environmental-protection-tax-for-fuel/232290.vnp

    เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมคณะกรรมการประจำรัฐสภาเวียดนามได้ลงมติเห็นชอบลดภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสำหรับน้ำมันเบนซิน ดีเซล และจาระบี ด้วยคะแนนเสียง 100% ส่งผลให้อัตราภาษีการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมปรับลดจาก 2,000 ด่อง(0.086 ดอลลาร์) เป็น 1,000 ด่อง ต่อลิตรสำหรับน้ำมันเบนซิน (ยกเว้นเอทานอล) ส่วนดีเซลลดลงจาก 1,000 ด่อง เป็น 500 ด่องต่อลิตร ลดภาษีน้ำมันเตาคุณภาพต่ำและน้ำมันหล่อลื่น จาก 1,000 ด่องเป็น 300 ด่องต่อลิตร และลดภาษีจาระบีลงมาที่ 300 ด่องต่อกิโลกรัม สำหรับน้ำมันก๊าดยังคงไม่เปลี่ยนแปลงที่ 300 ด่องต่อลิตร

    อัตราภาษีใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 11 กรกฎาคมจนถึงสิ้นปีนี้

    นายเวือง ดินห์ เว้ ประธานรัฐสภากล่าวในการประชุมคณะกรรมการประจำว่า ราคาน้ำมันส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การรักษาเสถียรภาพราคาจึงมีความสำคัญมากในบริบทในปัจจุบันที่ราคาน้ำมันสูง

    ดังนั้น การประชุมนี้จึงจัดขึ้นเพื่อใช้มาตรการในทางปฏิบัติในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล และจาระบีให้ทันการณ์ ซึ่งจะช่วยให้มีการดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นตัวและการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การควบคุมเงินเฟ้อ เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค และเพื่อลดค่าใช้จ่ายสำหรับธุรกิจและผู้คน

    เวียดนามใช้กฎหมายประกันภัยใหม่ต้นปีหน้า

    ที่มาภาพ:https://en.vietnamplus.vn/new-policy-boosts-insurance-markets-longterm-development/232154.vnp

    กฎหมายว่าด้วยธุรกิจประกันภัยฉบับใหม่คาดว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาตลาดประกันภัยในระยะยาว

    เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน สมัชชาแห่งชาติได้ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายว่าด้วยธุรกิจประกันภัย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 94.2% ลงคะแนนเห็นชอบ กฎหมายฉบับแก้ไขจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า

    กฎหมายกำหนดถึง องค์กรและการดำเนินงานของบริษัทประกันภัย สิทธิและหน้าที่ขององค์กรและบุคคลที่เข้าร่วมในการประกันภัย และการบริหารรัฐต่อกิจกรรมธุรกิจประกันภัย

    ข้อมูลจากกระทรวงการคลังระบุว่า ปัจจุบันเวียดนามมีบริษัทประกัน 77 แห่ง ได้แก่ บริษัทประกันวินาศภัย 31 แห่ง บริษัทประกันชีวิต 19 แห่ง บริษัทรับประกันภัยต่อ 2 แห่ง บริษัทนายหน้าประกันภัย 24 แห่ง และสาขาของบริษัทประกันวินาศภัยต่างประเทศ

    ข้อมูลจากสมาคมประกันภัยเวียดนามแสดงให้เห็นว่า ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 เบี้ยประกันภัยรับรวมของตลาดประกันภัยทั้งหมดแตะระดับเกือบ 94.28 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรายได้ของตลาดประกันวินาศภัยอยู่ที่ 27.56 ล้านล้าน
    ด่อง เพิ่มขึ้น 13.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และรายรับของตลาดประกันชีวิตอยู่ที่ 66.72 ล้านล้านด่อง เพิ่มขึ้น 17.2%

    นักวิเคราะห์กล่าวว่าตลาดประกันภัยของเวียดนามยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เพราะเศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพ

    SSI Research คาดการณ์ว่า เบี้ยประกันภัยรับอาจเพิ่มขึ้น 18% เป็น 256 ล้านล้านด่องในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์และการประกันภัยออนไลน์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีประกันภัย(insurtech)

    โง เวียต จุง ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการและกำกับดูแลการประกันภัยของกระทรวงการคลังกล่าวว่า ประชากรของเวียดนามอยู่ในยุคทอง ซึ่งสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตมากมาย เช่น ประกันแบบผสมและประกันบำนาญ

    นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัยมีโอกาสพัฒนามากมายจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุน การก่อสร้าง และการค้าที่เพิ่มขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นอกจากนโยบายใหม่แล้ว ตลาดประกันภัยต้องการความโปร่งใสเพื่อก้าวผ่านการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมและการฉ้อโกงเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

    จุงกล่าวว่า เวียดนามกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้านในการพัฒนาตลาดประกันภัย แม้จะมีแนวโน้มในเชิงบวกก็ตาม นอกจากช่องทางการจัดจำหน่ายที่ไม่เป็นมืออาชีพของตัวแทนประกันภัยแล้ว ตลาดประกันภัยยังประสบกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ขาดความร่วมมือ และการสนับสนุนกันในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้ประกันตนเพื่อต่อต้านการฉ้อโกง ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดประกันภัยทั้งหมดลดลง

    เหงียน ถั่นห์ งา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาประกันภัยเวียดนาม กล่าวถึงข้อบกพร่องที่เกิดจากการไม่มีฐานข้อมูลสำหรับตลาดประกันภัยทั้งหมด

    ปัจจุบัน สมาคมประกันภัยเวียดนามได้สร้างฐานข้อมูลสำหรับการประกันภัยรถยนต์ แต่บริษัทประกันภัยไม่ได้เปิดเผยข้อมูลโดยสมัครใจ ซึ่งทำให้สถิติไม่สมบูรณ์และไม่ถูกต้อง งากล่าว และเสริมว่า ระบบซอฟต์แวร์การจัดการตัวแทนประกันภัยก็มีเฉพาะข้อมูลตัวแทน ของบริษัทประกันชีวิต

    นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทประกันภัยกำลังใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่มีการเชื่อมต่อข้อมูลร่วมกัน ซึ่งทำให้เกิดการฉ้อโกงด้านการประกันภัยขึ้น อุตสาหกรรมจำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานฐานข้อมูลอย่างเร่งด่วน

    สิงคโปร์อนุมัติอินโดนีเซียเป็นแหล่งใหม่ผลิตไก่แช่แข็ง

    ที่มาภาพ: https://www.straitstimes.com/singapore/consumer/indonesia-approved-as-singapores-new-source-of-frozen-chilled-chicken

    ในโพสต์บนเฟซบุ๊คเมื่อวันพฤหัสบดี (30 มิถุนายน) สำนักงานอาหารสิงคโปร์ (SFA) เปิดเผยว่าอินโดนีเซียได้รับการอนุมัติให้เป็นแหล่งใหม่ของเนื้อไก่แช่แข็ง แช่เย็น และแปรรูปสำหรับสิงคโปร์

    SFA ระบุว่า ขณะนี้สามารถนำเข้าไก่จากสถานประกอบการที่ได้รับอนุมัติในชาวอินโดนีเซียได้แล้ว แหล่งผลิตไก่ที่มีอยู่เดิมของสิงคโปร์ ได้แก่ บราซิล ไทย และออสเตรเลีย

    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม นางสาวเกรซ ฟู ยังได้โพสต์เกี่ยวกับการประกาศบนเฟซบุ๊ค โดยกล่าวว่า การเพิ่มอินโดนีเซียเข้าไปในรายชื่อประเทศที่ได้รับการรับรองกว่า 20 ประเทศของสิงคโปร์ในการนำเข้าไก่ เป็นอีกก้าวหนึ่งในความพยายามของประเทศในการกระจายแหล่งอาหารและเพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดหาอาหาร

    “อุปทานทั่วโลกจะยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน และเราต้องเตรียมพร้อมทางด้านจิตใจสำหรับการหยุดชะงักและความผันผวนของราคาที่มากขึ้น”

    “ในขณะที่รัฐบาลดำเนินการวางแผนระยะยาวและดำเนินการเชิงรุกเพื่อปกป้องแหล่งอาหารของสิงคโปร์ ผู้บริโภคและอุตสาหกรรมอาหารก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน”

    นางฟูกล่าวว่า ความยืดหยุ่นในการเลือกรับประทานอาหารและความเต็มใจที่จะเปลี่ยนไปใช้ผลิตภัณฑ์ทางเลือกเมื่อจำเป็นยังช่วยเพิ่มความสามารถในการปรับตัวให้กับสิงคโปร์อีกด้วย

    การประกาศว่า สิงคโปร์จะเพิ่มแหล่งไก่อีกแหล่งหนึ่งมีขึ้นได้ทันการณ์ เนื่องจากมาตรการห้ามส่งออกไก่ของมาเลเซียซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ยังคงมีผลบังคับใช้ การส่งออกถูกระงับเพื่อให้ราคาและสินค้ามีเสถียรภาพ

    แม้ว่ามาเลเซียจะอนุญาตให้ส่งออกไก่พื้นบ้านและไก่ดำ แต่ไก่กระทงหรือไก่รุ่นที่มีราคาจับต้องได้ทั่วไป ซึ่งมีสัดส่วนในการนำเข้าไก่ส่วนใหญ่ของสิงคโปร์จากมาเลเซีย ยังอยู่ภายใต้คำสั่งห้าม

    จากข้อมูลของ SFA พบว่า 34% ของอุปทานไก่ของสิงคโปร์มาจากมาเลเซีย ส่วนใหญ่นำเข้าไก่เป็นและส่งโรงเชือดที่สิงคโปร์

    อินโดนีเซียเล็งลดภาษีส่งออกน้ำมันปาล์ม

    ที่มาภาพ: https://www.arabnews.com/node/2039176/business-economy
    อินโดนีเซียกำลังพิจารณาที่จะ ลดภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อส่งเสริมให้มีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการดำเนินการอีกครั้งเพื่อกระตุ้นการส่งออกหลังจากการสั่งห้ามเพื่อดูแลอุปทานน้ำมันสำหรับประกอบอาหารในประเทศ ที่ส่งผลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น

    อินโดนเซียเป็นผู้ผลิตน้ำมันบริโภครายใหญ่ที่สุดของโลกได้เปิดเผยนโยบายหลายชุดที่มุ่งกระตุ้นการส่งออก หลังจากการสั่งห้ามการจัดส่งเป็นเวลา 3 สัปดาห์ไปจนถึงที่สิ้นเดือนพฤษภาคม ทำให้เกิดการหยุดชะงักทั้งในและต่างประเทศ

    เพื่อเริ่มการส่งออกอีกครั้ง รัฐบาลต้องดำเนินการมาเป็นพิเศษในการลดสต็อกสินค้าในประเทศอย่างรวดเร็วและหนุนราคาผลปาล์มที่ตกต่ำลงนับตั้งแต่การสั่งห้าม ซึ่งมีผลต่อเกษตรกร รัฐมนตรีอาวุโส นายลูฮุต ปันด์จาอิตัน กล่าว

    “เพื่อให้การส่งสินค้าไหลเวียน เราอาจต้องลดภาษีส่งออกเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับธุรกิจในการส่งออก” นายลูฮุตกล่าวแต่ไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติม

    อินโดนีเซียได้ปรับลดเพดานภาษีการส่งออกเป็น 200 ดอลลาร์ต่อตันในเดือนกรกฎาคมจากเดิม 375 ดอลลาร์ แต่มีกำหนดจะเพิ่มเป็น 240 ดอลลาร์ในเดือนสิงหาคม

    กระทรวงการค้าของอินโดนีเซียกำลังพิจารณาที่จะกำหนดราคาอ้างอิงการส่งออกทุกๆ 2 สัปดาห์แทนที่จะเป็นรายเดือน เพื่อให้สะท้อนถึงราคาระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

    รัฐบาลกำหนดราคาอ้างอิงตามราคาน้ำมันปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และยุโรป และใช้เพื่อกำหนดอัตราภาษีส่งออก

    ราคาอ้างอิงล่าสุดตั้งไว้เหนือ 1,500 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้ภาษีส่งออกอยู่ที่ระดับสูงสุด ภาษีส่งออกที่แยกต่างหากที่ 288 ดอลลาร์ต่อตันจะนำมาใช้เมื่อกำหนดราคาเหนือระดับนั้น

    ราคาน้ำมันปาล์มในเอเชียตกต่ำในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการกลับมาส่งออกของอินโดนีเซีย ผลผลิตที่สูงขึ้น และความวิตกต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันปาล์มมาตรฐานของมาเลเซียลดลง 18% ในเดือนนี้

    รัฐบาลต้องการระบายอุปทานน้ำมันปาล์ม เพื่อให้บริษัทต่างๆมีความสามารถ ในการซื้อผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรในช่วงที่เป็นฤดูเก็บเกี่ยวสูงสุดของอินโดนีเซีย

    “การระบายกำลังเกิดขึ้น แต่ผลลัพธ์ยังไม่เป็นอย่างที่เราคาดไว้” นายลูฮุตกล่าว

    นายซาฮัต ซินาก้า ประธานคณะกรรมการน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียกล่าวว่า สต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 6.2 ล้านตันหลังจากการสั่งห้ามส่งออก

    นโยบายการส่งออกของอินโดนีเซียที่กลับไปกลับมาทำให้ผู้ซื้อระมัดระวังและผู้ส่งออกประสบปัญหาในการจัดหาเรือ ราคาระหว่างประเทศที่ตกต่ำบวกกับภาษีส่งออกที่สูงทำให้บริษัทต่างๆ มีเหตุผลที่จะหยุดการส่งออก ซึ่งนายซินาก้าเรียกร้องให้มีการปรับลดลง

    “ผมขอเสนอให้ลดลง 25% สำหรับอัตราภาษีและจำนวนที่จัดเก็บภาษี” เขากล่าว พร้อมเสริมว่าด้วยโควตาการส่งออกในปัจจุบัน การส่งออกอาจไม่เป็นปกติจนถึงปลายเดือนสิงหาคม

    เกษตรกรกล่าวว่าโรงงานน้ำมันปาล์มบางแห่งหยุดซื้อผลปาล์มและบางแห่งก็ซื้อในราคาที่ต่ำ

    ในจังหวัดกาลิมันตันตะวันตก เกษตรกรต้องรอหลายวันเพื่อขายผลไม้ที่โรงหีบซึ่งกำหนดโควตาการซื้อรายวัน เกษตรกรรายหนึ่งนายอัลเบอร์ตุส วาวาน

    ฟิลิปปินส์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจแย่ลง

    สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในฟิลิปปินส์แย่ลง เมื่อไต่ขึ้น 7 อันดับเป็น 30 จาก 77 เขตอำนาจรัฐ ในดัชนีความซับซ้อนของธุรกิจทั่วโลกปี 2022 (Global Business Complexity Index 2022) ที่จัดทำโดยบริษัทบริการมืออาชีพข้ามชาติ TMF Group

    ที่มาภาพ: https://www.bworldonline.com/infographics/2022/07/07/459603/philippines-ranks-30th-in-global-business-complexity-index/

    ดัชนีจัดอันดับเขตอำนาจรัฐทั่วโลกตามความซับซ้อนของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ครอบคลุม 3 ด้าน คือ การบัญชีและภาษี( accounting and tax) การบริหารนิติบุคคลระดับโลก(global entity management) และเงินเดือนและทรัพยากรบุคคล(payroll and human resources) ยิ่งอันดับสูงขึ้นสภาพแวดล้อมทางธุรกิจก็ยิ่งซับซ้อน

    ในบรรดาเขตอำนาจรัฐทั้ง 14 แห่งในเอเชียแปซิฟิก ฟิลิปปินส์มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ซับซ้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 6 โดยมีระดับความซับซ้อน “ปานกลาง” แต่มีแนวโน้มที่จะน่าสนใจยิ่งขึ้นในการดำเนินการและมีความเป็นไปได้ที่จะใช้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับข้อกำหนดด้านเนื้อหาทางเศรษฐกิจมากขึ้น

    Global Business Complexity Index 2022 ของ TMF Group สำรวจ 292 ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับความซับซ้อนทางธุรกิจ เพื่อให้การวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับความท้าทายระดับโลกและระดับท้องถิ่นที่ส่งผลกระทบต่อความยากง่ายในการทำธุรกิจทั่วโลก

    กูเกิลเตรียมผลิตสมาร์ทโฟน Pixel ในเวียดนาม

    Google to produce smartphone in Vietnam: Taiwanese media

    ที่มาภาพ: https://e.vnexpress.net/news/companies/google-to-produce-smartphone-in-vietnam-taiwanese-media-4485147.html

    Google จะ ผลิตสมาร์ทโฟน Pixel ในเวียดนามเป็นครั้งแรกในปี 2566ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการลดความเสี่ยงและการพึ่งพาจีน สื่อสิ่งพิมพ์ของไต้หวันรายงาน

    Google ซึ่งผลิตสมาร์ทโฟน Pixel 6 ในประเทศจีนเป็นหลัก จะย้ายการผลิตส่วนหนึ่งแต่ไม่มากไปยังเวียดนามเพื่อวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม DigiTimes รายงาน

    การย้ายการผลิตก็เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการปิดเมืองจากโควิด-19 ของจีน

    FIH ในเครือ Foxconn และ Compal Electronics ซึ่งเป็นพันธมิตรด้านการผลิตของ Google มีโรงงานในเวียดนามและสามารถรับคำสั่งซื้อได้ตลอดเวลา

    Google ได้วางแผนที่จะขยายการผลิตไปยังเวียดนามมาหลายปีแล้ว

    ในปี 2019 สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า Google ได้เริ่มปรับโรงงานเก่าของ Nokia ในจังหวัดบั๊กนิญทางตอนเหนือของเวียดนามเพื่อรองรับการผลิตโทรศัพท์ Pixel

    หนึ่งปีต่อมา รูปภาพของ Google Pixel 4a ที่ผลิตในโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดหวิญฟุก ทางตอนเหนือ รั่วไหล สร้างความตกตะลึงให้โซเชียลมีเดียของเวียดนาม

    การล็อกดาวน์ของจีนยังผลักดันให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่นๆ ไปเวียดนามด้วย ในเดือนมิถุนายน BYD ซึ่งเป็นผู้ประกอบ iPad ชั้นนำได้ช่วย Apple สร้างสายการผลิตในเวียดนาม และสามารถเริ่มผลิตแท็บเล็ตจำนวนไม่มากที่เวียดนามได้ในเร็วๆ นี้ Nikkei Asia รายงาน

    ในปลายเดือนพฤษภาคม Xiaomi ของจีนได้ประกาศส่งมอบสมาร์ทโฟนที่ผลิตในเวียดนามชุดแรก