ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup เวียดนามเปิดตัวสมาร์ทโฟนในรัสเซีย สิงคโปร์สมาร์ทซิตี้ที่หนึ่งของโลก

ASEAN Roundup เวียดนามเปิดตัวสมาร์ทโฟนในรัสเซีย สิงคโปร์สมาร์ทซิตี้ที่หนึ่งของโลก

6 ตุลาคม 2019


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 30 กันยายน-5 ตุลาคม 2562

  • เวียดนามเปิดตัวสมาร์ทโฟนในรัสเซีย
  • สิงคโปร์สมาร์ทซิตี้ที่หนึ่งของโลก
  • เมียนมาปรับปรุงหนักเพื่อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น
  • ฟิลิปปินส์เงินเฟ้อต่ำสุดรอบกว่า 3ปี
  • อาเซียนออกกรีนบอนด์ 2.6 พันล้านดอลล์ใน 2 ปี

เวียดนามเปิดตัวสมาร์ทโฟนในรัสเซีย

ที่มาภาพ: https://vsmart.net/vn-en
วินสมาร์ท (VinSmart) บริษัทในเครือ วินกรุ๊ป (Vingroup) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าปลีกข้ามโลกสัญชาติเวียดนาม เปิดตัวโทรศัพท์สมาร์ทโฟนที่ผลิตในเวียดนาม ในตลาดรัสเซีย เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมผ่านมา

วินสมาร์ทเปิดตัสสมาร์ทโฟนทั้งหมด 4 รุ่น คือ Vsmart Bee, Vsmart Star, Vsmart Joy2 และ Vsmart Live ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ โดยจำหน่ายในราคา 5,000-17,000 รูเบิล หรือราว 75-260 ดอลลาร์สหรัฐ

เซอร์เก ซาดคอฟ ผู้อำนวยการฝ่ายขายในรัสเซีย กล่าวว่า เชื่อว่าสมาร์ทโฟน Vsmart จะตีตลาดรัสเซียเพราะทั้งเวียดนามและรัสเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันมานาน และสินค้าของเวียดนามได้รับความนิยมจากชาวรัสเซีย

สมาร์ทโฟนของวินสมาร์ทแข่งขันในตลาดรัสเซียได้เพราะใช้ชิปจากบริษัทชิปชั้นนำอย่างควอลคอม และรับประกันนานถึง 18 เดือน ยาวกว่าปกติที่รับประกันกัน 12 เดือน

วินสมาร์ทยังมีแผนที่จะนำเสนออุปกรณ์ไฮเทคและเครื่องใช้ไฟฟ้าในตลาดรัสเซีย ทั้งนี้รัสเซียเป็นตลาดใหญ่ต่างประเทศใหญ่อันดับสามของวินสมาร์ท รองจากสเปนและเมียนมา

วินสมาร์ทก่อตั้งโดยวินกรุ๊ปในเดือนมิถุนายนปีที่แล้วมีทุนจดทะเบียน 3 ล้านล้านด่องหรือ 131 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับการก่อตั้งโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนที่ฮานอย และมุ่งเน้นการพัฒนาและวิจัยผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทันสมัย มีการใช้เทคโนโลยีเอไอและวัตถุดิบรุ่นใหม่ นอกจากนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิดกับบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ เช่น กูเกิล, อาร์ซอฟต์

สิงคโปร์สมาร์ทซิตี้ที่หนึ่งของโลก

สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับจาก IMD Smart City Index ให้เป็นเมืองสมาร์ทซิตี้ที่สุดของโลก ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นของพลเมืองจำนวน 120 คนในแต่ละเมืองใน 2 ด้านหลัก คือ โครงสร้าง ซึ่งหมายถึงโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และเทคโนโลยี หมายถึงการจัดให้มีเทคโนโลยีและบริการแก่ชาวเมือง

IMD Smart City Index จัดทำโดย IMD สถาบันการศึกษาด้านธุรกิจจากสวิตเซอร์แลนด์และ Singapore University of Technology and Design ด้วยการจัดอันดับแต่ละเมืองว่าเป็นสมาร์ทซิตี้แค่ไหน วัดจากโครงสร้างของแต่ละเมืองในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อประโยชน์และลดข้อจำกัดของความเป็นเมือง

การสำรวจแต่ละด้าน จะประเมินในด้านสุขอนามัยและความปลอดภัย การสะดวกในการเคลื่อนย้าย กิจกรรม โอกาส และธรรมาภิบาล ซึ่งแต่ละด้านจะมีตัวชี้วัดย่อยลงไป

ทั้งนี้สิงคโปร์ได้รับคะแนนดีโดยรวมในทุกด้าน รวมทั้งตัวชี้วัดด้านความปลอดภัยสาธารณะ โอกาสในเรียนรู้ตลอดชีวิตจากสถาบันในประเทศ มีพื้นที่สีเขียว และสามารถเข้าหางานบนระบบออนไลน์

คริสทอส คาบอลิส จาก IMD Business School’s Competitiveness Centre กล่าวว่า สิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับเป็นที่หนึ่ง เพราะจากการสำรวจพลเมืองสิงคโปร์ รัฐทำได้ดีในการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานชั้นเยี่ยมในด้านที่มีการศึกษา และยังนำเทคโนโลยยีมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้คุณภาพชีวิตชาวสิงคโปร์ดีขึ้น

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในสองเมืองของเอเชียที่ติด 10 อันดับแรกจาก 102 เมือง โดยไทเปติดอันดับที่ 7 ส่วนอีก 8 เมือง ได้แก่ ซูริคติดอันดับสอง ออสโลอันดับสาม เจนีวาอันดับสี่ โคเปนเฮเกนอันดับห้า โอคแลนด์อันดับหก เฮลซิงกิอันดับเจ็ด บิลเบาอันดับเก้า และดุสเซลดอร์ฟอันดับสิบ

ผลสำรวจสิงคโปร์เองประเด็นที่ได้รับความสำคัญจากชาวสิงคโปร์ ได้แก่ การมีบ้านในระดับราคาที่ซื้อได้ การสามารถหางานทำใหม่ การว่างงานและการขนส่งสาธารณะ

เมียนมาปรับปรุงหนักเพื่อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น

รายงาน Ease of Doing Business 2020 ของธนาคารโลกระบุว่า เมียนมาเป็นใน 1 ใน 20 ประเทศ ที่มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนอย่างมากเพื่อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น

ในรายงาน Doing Business 2020 ของธนาคารโลก เมียนมาเป็นหนึ่งใน 20 ประเทศร่วมกันจีน อินเดีย และบังกลาเทศ ที่ได้ปรับปรุงใน 3 ด้านขึ้นไปจากทั้งหมด 10 กว่าด้านเพื่อให้การทำธุรกิจง่ายขึ้น

เมียนมาได้ริเริ่มใน 5 ด้านด้วยกันเพื่อสร้างสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจ ซึ่งประกอบด้วย การพัฒนาแพลตฟอร์มการจดทะเบียนบริษัทบนระบบออนไลน์ เพื่อลดการต้องมาที่ทำการรัฐ และมีการจดทะเบียนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เร็วขึ้นด้วยการปรับปรุงการจดทะเบียนโฉนดและการประเมิน

นอกจากนี้กฎหมายบริษัทฉบับใหม่ให้ความคุ้มครองนักลงทุนมากขึ้น ด้วยการให้เปิดเผยธุรกรรมที่เกี่ยวกับผู้ที่มีผลประโยชน์ เพิ่มความรับผิดของคณะกรรมการและกำหนดให้บริษัทมีความโปร่งใสมากขึ้น และระบบศาลของเมียนมายังเริ่มเผยแพร่รายงานการวัดประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกระบุว่า 20 อันดับแรกไม่ได้สะท้อนความน่าสนใจทางเศรษฐกิจและเป็นการวัดจากการปรับเปลี่ยนในหลักเกณฑ์ 10 ด้านเท่านั้น

อ่อง เนียง อู ปลัดกระทรวงการลงทุนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (Ministry for Investment and Foreign Economic Relations – MIFER) เปิดเผยว่า เมียนมาได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อรับผิดชอบการปรับปรุงความยากง่ายในการทำธุรกิจโดยเฉพาะในปีก่อน และทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ

ในรายงาน Doing Business 2019 เมียนมาคงอันดับเดิมที่ 171 และยังเป็นประเทศสมาชิกที่สนใจลงทุนน้อยที่สุดในกลุ่มอาเซียน

นับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้ามาทำหน้าที่รัฐบาล ก็ได้ดำเนินการปฏิรูปเศรษฐกิจหลายด้าน มีการแก้ไขกฎหมายลงทุนและนำกฎหมายบริษัทมาใช้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ มีการจัดตั้งกระทรวงใหม่และทำแผนการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพัฒนาความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมในทุกภาคส่วน

รัฐบาลยังได้พัฒนาระบบจดทะเบียนออนไลน์สำหรับบริษัทในประเทศและต่างประเทศเพื่อลดการทุจริตคอร์รัปชัน และมีการทำแผนส่งเสริมการลงทุนโดยมีเป้าหมายที่จะดึงการเงินลงทุนราว 200 พันล้านดอลลาร์ในอีก 20 ปีข้างหน้า

ในปีงบประมาณนี้รัฐบาลได้อนุมัติการลงทุนจากต่างชาติไปแล้ว 4.1 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 70% จากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ต่ำกว่า 5.8 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นเป้าหมายที่วางไว้

ฟิลิปปินส์เงินเฟ้อต่ำสุดรอบกว่า 3 ปี

สำนักงานสถิติฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า เงินเฟ้อเดือนกันยายนชะลอตัวมากกว่าที่คาด โดยเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น 0.9% ต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี เป็นผลจากราคาอาหารและไฟฟ้าลดลง และต่ำกว่า 1.1% ที่นักวิเคราะห์คาด

เงินเฟ้อรอบ 9 เดือนเพิ่มขึ้น 2.8% อยู่ในเป้าหมาย 2-4% ในปีนี้ของธนาคารกลาง

ในเดือนกันยายนและตุลาคมปีก่อน เงินฟ้อฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 6.7% แต่หลังจากนั้นราคาสินค้าทั่วไปโดยรวมลดลง ซึ่งเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยได้อีก จากที่ปรับเพิ่ม 1.75% ในปีก่อน

ในสัปดาห์ที่แล้ว ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 3 ของปีเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และยังลดอัตราสำรองของธนาคารพาณิชย์ลดลง 1.0% เพื่อกระตุ้นการปล่อยสินเชื่อ

นายเบนจามิน ดิออกโน ผู้ว่าการธนาคารกลางของฟิลิปปินส์ (Bangko Sentral ng Pilipinas) กล่าวว่า ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 6% ซึ่งเป็นระดับล่างสุดของประมาณการณ์ 6-7% แต่ยอมรับว่าอาจจะพลาดเป้าได้ และไม่มีความเห็นว่าจะผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกหรือไม่

อาเซียนออกกรีนบอนด์ 2.6 พันล้านดอลล์ใน 2 ปี


เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2562 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum – ACMF) ระดับเลขาธิการ ครั้งที่ 31

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ประเทศสมาชิก ACMF ได้มีการติดตามความคืบหน้าของแผนงานต่างๆ ซึ่งในปีนี้แผนงานสำคัญของ ACMF สอดรับกับทิศทางในการยกระดับเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียน โดยแผนงานหลักจะเป็นการจัดทำ Roadmap for ASEAN Sustainable Capital Markets ที่เป็นหนึ่งในงานสำคัญด้านเศรษฐกิจภายใต้แถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนเมษายน 2562 ณ จังหวัดเชียงราย

การประชุมครั้งนี้ ซึ่งประกอบด้วย เลขาธิการหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุน พร้อมผู้บริหารและผู้แทนจากแต่ละหน่วยงาน รวมถึงผู้แทนจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และธนาคารพัฒนาเอเชีย ยังได้มีการจัด ACMF Industry Consultative Panel (AICP) ขึ้น เพื่อเปิดรับความเห็นและมุมมองที่เป็นประโยชน์จากผู้แทนของภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มนักลงทุนสถาบันเพื่อผลักดันด้านอุปสงค์ (demand side) และแรงขับเคลื่อนจากตลาด (market force) ในด้านการลงทุนเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน รวมทั้งมีผู้แทนจาก United Nations Development Programme (UNDP) เข้าร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (Business and Human Rights) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกด้านหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ACMF ยังได้หารือกันเกี่ยวกับการดำเนินงานและความคืบหน้าของแผนงานในปัจจุบันที่สำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 3 หัวข้อที่ ก.ล.ต.ไทยเป็นผู้นำเสนอในฐานะประธานคณะทำงาน ได้แก่ การได้ข้อสรุปเรื่องการรับฟิลิปปินส์เข้าเป็นภาคีในกรอบความร่วมมือเรื่องการยอมรับมาตรฐานกลางในการขายกองทุนรวมข้ามกัน (ASEAN Collective Investment Scheme Framework) เพิ่มเติมจากมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทยที่เป็นภาคีอยู่เดิม การติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานในด้านการเปิดทางให้มีการเคลื่อนย้ายบุคลากรที่ทำหน้าที่วิเคราะห์และแนะนำการลงทุน รวมทั้งการเผยแพร่บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ระหว่างกันได้ (Professional Mobility Framework) รวมถึงการทำงานร่วมกันของเครือข่ายในการติดตามแนวทางการกำกับดูแลและพัฒนาการของสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Oversight Networking) ร่วมกันของประเทศสมาชิก

ที่ประชุม ACMF ยังได้มีการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับการประเมิน ASEAN CG Scorecard ซึ่งตั้งเป้าจะประกาศผลในเดือนเมษายน 2563 รวมทั้งการพัฒนาให้ตลาดทุนเป็นกลไกที่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค โดยในครั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มีการส่งมอบการเป็นประธาน ACMF ให้กับ ก.ล.ต.เวียดนามต่อจาก ก.ล.ต.ไทย เพื่อร่วมกันผลักดันแผนงานสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนอาเซียนอย่างยั่งยืนต่อไป

นอกจากนี้ ACMF ยังได้รับทราบว่าในช่วง 2 ปีนับตั้งแต่การประกาศมาตรฐานกรีนบอนด์อาเซียนในเดือนพฤศจิกายน 2017 และ ASEAN Social Bond Standards กับ ASEAN Sustainable Bond Standards ในเดือนตุลาคม 2018 ได้มีการออกบอนด์ภายใต้หลักเกณฑ์ ASEAN Green or Sustainable Bond ไปแล้ว 2.6 พันล้านดอลลาร์ จากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย เพื่อสนับสนุนอาคารสีเขียว พลังงานหมุนเวียน และโครงการยั่งยืนอื่นๆ