ThaiPublica > สู่อาเซียน > ASEAN Roundup ลาวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมี.ค.นี้

ASEAN Roundup ลาวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมี.ค.นี้

6 กุมภาพันธ์ 2022


ASEAN Roundup ประจำวันที่ 30 มกราคม-5 กุมภาพันธ์ 2565

  • ลาวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในมี.ค.นี้
  • ลาวปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารระดับผู้นำ
  • ลาววางแผนสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ 58 แห่ง
  • เวียดนามเร่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • สิงคโปร์ได้จัดแข่ง F1 อีก 7 ปี
  • Foxconn ลงทุน EV ครบวงจร ในอินโดนีเซีย
  • ลาวขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในมี.ค.นี้

    โรงงานสิ่งทอในสปป.ลาว ที่มาภาพ: https://laotiantimes.com/2022/01/28/laos-to-raise-minimum-wage-by-march-this-year/

    ฝ่ายนิติบัญญัติได้เริ่มหารือเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของประเทศ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและค่าครองชีพที่สูงขึ้น

    เจ้าหน้าที่ทางการลาวได้หารือเกี่ยวกับ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานในประเทศ โดยการปรับขึ้นค่าแรงจะมีผลในเดือนมีนาคมปีนี้ หลังได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล วิทยุแห่งชาติลาวรายงาน

    รองประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานลาวนายโพนแสน วิไลยเม็ง กล่าวว่า ค่าแรงขั้นต่ำปัจจุบันในลาวอยู่ที่ 1,100,000 กีบ (ประมาณ 95 เหรียญสหรัฐ) ต่อคนต่อเดือน หลังจากที่ได้อนุมัติการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดเมื่อกลางปี ​​2018

    นายโพนแสนกล่าวว่า ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเงินเฟ้อโดยส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานในประเทศที่ได้รับค่าแรงต่ำ

    “ค่าครองชีพที่สูงส่งผลกระทบกับคนงานหลายพันคนทั่วประเทศที่ทำงานในสี่ภาคส่วน ได้แก่ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการ และการก่อสร้าง”

    “เราได้เสนอแนะให้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 1,100,000 กีบต่อเดือนเป็น 1,500,000 กีบต่อเดือน ตอนนี้เรากำลังรอการยืนยันอย่างเป็นทางการ หลังรัฐบาลอนุมัติ

    สมาพันธ์สหภาพแรงงานลาว กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งสสป.ลาว จะหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และคาดว่าจะประกาศขึ้นค่าแรงในต้นปีนี้

    รัฐบาลลาวได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2018 จาก 900,000 กีบลาวเป็น 1,100,000 กีบ

    ลาวปรับเปลี่ยนตัวผู้นำ

    พิธีรับมอบหน้าที่คณะรัฐมนตรีลาว ที่มาภาพ: https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laos24.php

    ลาวได้ ปรับเปลี่ยนตัวผู้นำระดับสูงในหลายตำแหน่ง ในเวลาไม่ถึงหนึ่งปีนับตั้งแต่มีรัฐบาลชุดใหม่ในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว

    การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้มีผลให้ นายอรุณไซย สุนนาลาท ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการองค์การเยาวชนปฏิวัติลาว (Lao People’s Revolutionary Youth Union)จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี แทนนาย คำเจน วงโพสี ซึ่งจะไปรับหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการวางแผนและการลงทุน

    การปรับเปลี่ยนตัวผู้นำนี้นับเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัฐสภาอนุมัติคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อปีที่แล้ว และเกิดขึ้นหลังรัฐบาลประกาศการดำเนินการตามวาระแห่งชาติ 2 วาระเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงินและการค้ายาเสพติด

    การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับฝ่ายบริหารและหน่วยงานของรัฐ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศเพื่อก้ามข้ามความท้าทายที่เกิดจากโควิด-19

    ทั้งนี้มีการส่งมอบหน้าที่ในนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีดร.กิแก้ว ไขคำพิทูน และเจ้าหน้าที่อาวุโสเข้าร่วม

    นอกจากนี้มีการแต่งตั้งหลายตำแหน่ง โดยนายมนไซ เลาเมืองซอง รองเจ้าแขวงหลวงพระบาง ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการคนใหม่ขององค์การเยาวชนปฏิวัติลาว และมีการส่งมอบหน้าที่ในนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดยมีสมาชิกถาวรสำนักเลขาธิการคณะกรรมการกลางพรรคและรองประธานประเทศ ดร.บุนทอง จิตมนี และเจ้าหน้าที่อาวุโสอื่นเข้าร่วม

    ดร.บุนทองกล่าวว่า การปรับเปลี่ยนผู้นำเป็นแนวปฏิบัติตามปกติของพรรคและรัฐเพื่อเป็นการสนองต่อความต้องการทางการเมืองของประเทศในยุคใหม่

    การปรับเปลี่ยนผู้นำของรัฐขึ้นอยู่กับหลักการ “มีขึ้นและมีลง” และ “มีเข้าและมีออก” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถและความรู้ของเจ้าหน้าที่ระดับผู้นำและส่งเสริมให้รับใช้ชาติ

    ในขณะเดียวกัน ที่จังหวัดไซสมบูน นายโพคำ เฮืองบุนยง จะมารับตำแหน่งเลขาธิการพรรคและเจ้าแขวงคนใหม่ แทน พล.ต.คำเลี่ยง อุทะไกสอนที่รับหน้าที่เจ้าแขวงมา 3 ปี ซึ่งจะไปรับตำแหน่งใหม่ที่กระทรวงกลาโหม

    ผลงานเด่นของการเป็นผู้นำของพล.ต.คำเลี่ยง คือ การรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและการลดความยากจนในไซสมบูน

    ผู้นำคนใหม่ของแขวงได้รับคำแนะนำให้เสริมสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในกลุ่มชาวลาวชาติพันธุ์ และเสริมสร้างการสร้างทางการเมืองในระดับรากหญ้า ร่วมกับการทำงานเพื่อรักษาความมั่นคง ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมและดำเนินการลดความยากจน

    ลาววางแผนสร้างโรงไฟฟ้าโซลาร์ 58 แห่ง

    การติดตั้งแผงโซลาร์ในสปป.ลาว ทีมาภาพ: https://www.phnompenhpost.com/business/laos-58-solar-power-plants-planned

    รัฐบาลลาวได้อนุมัติการศึกษาความเป็นไปได้และติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 58 แห่งทั่วประเทศ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 7,656 เมกะวัตต์

    ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้ว 8 แห่ง และอยู่ระหว่างการก่อสร้างอีก 50 แห่ง

    กระทรวงพลังงานและบ่อแร่รายงานความคืบหน้าของการพัฒนาด้านนี้ในการประชุมครั้งล่าสุดเพื่อหารือเกี่ยวกับทิศทางของการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับหน่วยงานส่วนกลางและระดับท้องถิ่น

    ที่ประชุมได้พิจารณานโยบายและมาตรการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อจากต่างประเทศ

    ดร.ดาววง โพนแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กล่าวในที่ประชุมว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน และสอดคล้องกับเป้าหมายในการใช้พลังงานสะอาด ตามข้อแนะนำจากการประชุมสมัยที่ 11ของพรรคปฏิวัติประชาชนลาว

    ความหลากหลายและการผลิตไฟฟ้าที่คุ้มค่า จะสร้างแหล่งพลังงานที่มั่นคงและแข็งแกร่งสำหรับทั้งการส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ ลาวกำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว และการจัดหาพลังงานที่เพียงพอเป็นปัจจัยสำคัญในการตอบสนองต่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

    “จากความก้าวหน้าด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในลาว เป็นที่ชัดเจนว่าธุรกิจในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจที่จะลงทุนในด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ” ดร.ดาววง กล่าว

    เจ้าหน้าที่จากสถาบันส่งเสริมพลังงานทดแทน กล่าวว่า รัฐบาลร่วมกับกระทรวงฯ ได้กำหนด 4 เป้าหมายหลัก ในการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์

    ประกอบด้วย การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ การพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับ 22 กิโลวัตต์ และ 0.4 กิโลวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับการใช้เอง และการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการพัฒนาชนบทและการเกษตร

    ในปีที่แล้ว รัฐบาลให้คำมั่นว่าจะกระจายแหล่งพลังงาน โดยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และถ่านหิน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงและผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้น้อยลง

    การพัฒนาเหล่านี้จะสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาล ในการเพิ่มปริมาณการส่งออกพลังงาน และลดปริมาณการนำเข้าไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านในฤดูแล้ง

    ภายในปี 2573 ตามแผนลาวจะผลิตไฟฟ้าได้อีก 5.559 เมกะวัตต์ ซึ่ง 77.59% จะเป็นไฟฟ้าพลังน้ำ และส่วนที่เหลือจะมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และถ่านหิน

    กำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของลาวคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 10,000 -15,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ศักยภาพพลังงานลมอยู่ที่ประมาณ 100,000 เมกะวัตต์

    เวียดนามเร่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

    ที่มาภาพ: https://vietnamnet.vn/en/sci-tech-environment/10-outstanding-science-and-technology-events-in-vietnam-in-2021-805809.html
    เวียดนามตั้งเป้าเร่งพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในช่วงปี 2564-2573 ด้วยการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาที่ทันสมัยทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นเป้าหมายภารกิจหลัก

    นายเล ซวน ดิ่งห์ รองรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงผลิตภาพ คุณภาพผลิตภัณฑ์ และความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเวียดนาม ตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

    กรอบนโยบายในการกำกับและส่งเสริมการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อโลกเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

    นายดิ่งห์กล่าวว่า กระทรวงฯได้เริ่มโครงการบ้างแล้ว เพื่อช่วยบริษัทในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ และวางรากฐานสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของเวียดนาม ตลอดจนการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์(AI)

    การขับเคลื่อนเป้าหมายให้บรรลุผล กระทรวงมองว่า ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญทั้งในด้านการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ โดยเฉพาะในภาคส่วนสำคัญๆ เช่น เกษตรกรรม การดูแลสุขภาพ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และโทรคมนาคม

    การระบาดใหญ่ซึ่งส่งผลกระทบเวียดนามอย่างหนักในปี 2564 ได้กดดันให้บริษัทในประเทศต้องเร่งดำเนินการเพื่อปรับไปสู่ดิจิทัลมากขึ้นเป็น 2 เท่า และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคปกติใหม่

    ในปี 2564 โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและแอปพลิเคชันของประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เพื่อปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม และเพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันด้านธุรกิจสตาร์ตอัพ ของเวียดนามมีบริษัทใหม่หลายพันแห่งเข้าสู่สนาม ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองเพื่อแข่งขันในระดับโลก

    รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ใน 13 เมืองและจังหวัดเพื่อช่วยเหลือสตาร์ตอัพในเวียดนาม และได้จัดตั้งศูนย์สนับสนุนสตาร์ตอัพแห่งชาติ(National Start-up Support Center) ซึ่งได้รับมอบหมายให้สร้างเครือข่ายสนับสนุนสตาร์ตอัพทั่วประเทศ

    เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 44 จาก 132 ประเทศ ในดัชนีนวัตกรรมโลกในปี 2564 โดยมีผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 18,500 รายการ เพิ่มขึ้น 2.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

    นายฮวิ่ง ถั่น ดั๊ต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีของเวียดนามทำสถิติสูงสุดที่ 1.3 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เวียดนามจากทั่วทุกมุมโลกได้จัดตั้งเครือข่ายสนับสนุนเพื่อฟูมฟักระบบนิเวศสตาร์ตอัพของเวียดนาม และเชื่อมต่อกับแวดวงสตาร์ตอัพระดับโลก

    นายดั๊ตเรียกร้องให้หน่วยงานของรัฐมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันกับผู้ที่มีความรู้เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยังเรียกร้องให้สถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพในประเทศมากขึ้น
    กระทรวงฯได้เริ่มโครงการนำร่อง เพื่อให้สถาบันองค์กรมีการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในเวียดนาม โดยมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงภาคธุรกิจและวิทยาศาสตร์ให้ดีขึ้น

    รัฐบาลท้องถิ่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลของประเทศ ต้องใช้ความพยายามเป็น 2เท่าในการปรับใช้และนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากความได้เปรียบในการแข่งขันของท้องถิ่น

    กระทรวงจะยังคงสนับสนุนต่อเนื่องในการเชื่อมต่อกับพันธมิตรต่างประเทศที่มีศักยภาพ การปรับปรุงคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ และการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรของเวียดนาม กระทรวงจะสนับสนุนบริษัทเวียดนามให้จดทะเบียนและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาในตลาดต่างประเทศ

    ในปี 2564 เวียดนามประสบความสำเร็จในการจดทะเบียนหลายแบรนด์ ในตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งลิ้นจี่ Luc Ngan และแก้วมังกรจาก Binh Thuan

    นายดั๊ตแนะนำ ให้ท้องถิ่นคัดสรรและลงทุนในผลิตภัณฑ์เพียงไม่กี่อย่างที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันสูง จากนั้นหาพันธมิตรจากภาครัฐหรือเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและความสามารถ เพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม

    ด้านนาย วู ดั๊ก ดัม รองนายกรัฐมนตรีได้พูดในการเสวนาที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้เกี่ยวกับการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจว่า รัฐบาลจะรวมและออกแบบสถาบันและศูนย์วิทยาศาสตร์ของเวียดนามใหม่ในอีกไม่นานนี้ เพื่อสนับสนุนระบบที่คล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

    สิงคโปร์ได้จัดแข่ง F1 อีก 7 ปี

    การแข่ง F1 ที่สิงคโปร์ ปี 2019 ที่มาภาพ: https://www.formula1.com/en/latest/article.live-coverage-formula-1-2019-singapore-airlines-singapore-grand-prix.3MrWKy69ft6dNUZP2Qx4B2.html

    สิงคโปร์จะกลับมาเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Formula 1 Grand Prix ต่อไปอีก 7 ปีหลังจากมีการลงนามในสัญญา โดยกำหนดให้จัดบนถนนย่านมาริน่าเบย์ ตั้งแต่วันที่ 30 กันยายนถึง 2 ตุลาคม หลังจากที่ต้องหยุดจัดไป 2 ปีเพราะกการระบาดของไวรัส-19

    การต่อสัญญาครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 4 สำหรับสิงคโปร์ และการกำหนดอายุสัญญา 7 ปีเป็นระยะเวลาที่นานที่สุด จากการเปิดเผยของการท่องเที่ยวสิงคโปร์ หรือ Singapore Tourism Board (STB) และผู้จัด Singapore GP เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา

    “เราตัดสินใจที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน F1 ไปอีก 7 ปี หลังจากประเมินผลประโยชน์ระยะยาวและการขยายเวลาออกไปที่สิงคโปร์จะได้รับ”นายเอส อิสวารัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและรับผิดชอบด้านความสัมพันธ์ทางการค้า

    “การต่อสัญญาจะคงชื่อเสียงของสิงคโปร์ในระยะยาวในฐานะเมืองของโลกที่ไม่หยุดนิ่งทั้งไลฟ์สไตล์ การดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และยังสร้างรายได้สร้างงานให้กับประเทศ”

    “เราจะสร้างความเชื่อมั่นว่าการแข่งขันในปีนี้และในอนาคต ซึ่งเป็นการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติขนาดใหญ่ จะปลอดภัยจากโควิด และมีข้อมูลสถานการณ์การระบาดและการประเมินด้านสาธารณสุข”

    การจัดการแข่งขัน F1 ในสิงคโปร์ครั้งล่าสุดจัดขึ้นในเดือนกันยายนปี 2019

    นอกจากนี้การจัดการแข่งขันยังดำเนินการห้สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้ STB และ Singapore GP จะร่วมกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการแข่งขันและเปลี่ยนผ่านไปสู่รูปแบบธุรกิจที่ยั่งยืน

    “มาตรการต่างๆเช่น การหันไปใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มการรีไซเคิล และหันไปใช้วัสดุที่มีความยั่งยืน”

    “F1 ยังหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งและการเดินทาง ผ่านกระบวนการและการปรับปริมาณให้เหมาะสม และโดยการใช้การขนส่งที่ปล่อยคาร์บอนน้อยที่สุด รวมทั้งจะมีการตรวจสอบความยั่งยืนเต็มรูปแบบ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาความคิดริเริ่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ที่จะนำไปใช้ในช่วงเวลาที่เหลือของสัญญา”

    Formula 1 ตั้งเป้าที่จะเป็นการแข่งขันที่ปลอดคาร์บอนภายในปี 2030

    Foxconn ลงทุน EV ครบวงจร ในอินโดนีเซีย

    Hon Hai, Gogoro, IBC และ Indika ลงนามเพื่อร่วมพัฒนาโครงการระบบนิเวศพลังงานใหม่ที่ยั่งยืนในอินโดนีเซีย 21 มกราคม ที่มาภาพ: https://www.foxconn.com/en-us/press-center/press-releases/latest-news/734

    Foxconn Technology Group ของไต้หวัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก จะผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า มอเตอร์ไฟฟ้า และย้ายโรงงานผลิตชิ้นส่วนโทรคมนาคมจากจีนไปยังเขตอุตสาหกรรมครบวงจร บาตัง ในชวากลาง ของอินโดนีเซีย โดยคาดว่ามีมูลค่าลงทุนโดยตรง 8 พันล้านดอลลาร์ จากการเปิดเผยของนายบาห์ลิล ลาฮาดาเลีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนและประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(Investment Coordinating Board :BKPM)

    “เราได้ลงนามใน [บันทึกความเข้าใจ] เมื่อต้นเดือนนี้ บริษัทจะมาลงทุนที่บาตัง” นายบาห์ลิล รายงานต่อคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ 6 ว่าด้วยการค้าการลงทุน รัฐวิสาหกิจ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมาตรฐานแห่งชาติ

    เมื่อวันที่ 21 มกราคม บริษัท Hon Hai Precision Industry ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในเครือของ Foxconn, รัฐวิสาหกิจผลิตแบตเตอรี่ของอินโดนีเซีย Indonesia Battery Corporation (IBC), บริษัทขุดแร่ในอินโดนีเซีย Indika Energy ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนและผู้ผลิตจักรยานไฟฟ้าของไต้หวัน Gogoro Taiwan ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อพัฒนาระบบนิเวศของยานยนต์ไฟฟ้าที่มุ่งเน้น แบตเตอรี่ไฟฟ้า ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในอินโดนีเซีย Foxconn ระบุในแถลงการณ์

    บริษัทไม่ได้เปิดเผยมูลค่าการลงทุน แต่จากเอกสารที่นายบาห์ลิลนำเสนอต่อสภานั้น โครงการจะมีมูลค่าประมาณ 114 ล้านล้านรูเปียะห์ (8 พันล้านดอลลาร์) แต่ไม่ได้มีรายละเอียดสัดส่วนการลงทุนของFoxconn และพันธมิตร

    การลงทุนของ Foxconn ถือเป็นก้าวสำคัญของความมุ่งหวังของอินโดนีเซียในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในระดับโลกและดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศมากขึ้น BKPM ตั้งเป้าที่จะดึงดูดการลงทุนในประเทศและต่างประเทศรวม 1,200 ล้านล้านรูเปียะห์ในปีนี้ เพิ่มขึ้น 33% จาก 901 ล้านล้านรูเปียะห์ในปีที่แล้ว

    นายบาห์ลิลกล่าวว่า Foxconn จะย้ายโรงงานชิ้นส่วนโทรคมนาคมบางแห่งจากจีนมายังอินโดนีเซียด้วย

    Foxconn เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนหลักและผู้ประกอบสมาร์ทโฟนของ Apple ได้พิจารณาที่จะลงทุนในธุรกิจประกอบสมาร์ทโฟนในอินโดนีเซียมาเกือบทศวรรษก่อนหน้า แต่บรรลุเป้าหมายในครั้งนี้