ThaiPublica > เกาะกระแส > ADB ชี้เศรษฐกิจจีนชะลอถ่วง GDP ประเทศกำลังพัฒนาเอเชียแปซิฟิกเหลือ 4.6%

ADB ชี้เศรษฐกิจจีนชะลอถ่วง GDP ประเทศกำลังพัฒนาเอเชียแปซิฟิกเหลือ 4.6%

21 กรกฎาคม 2022


ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank:ADB) หรือเอดีบี ได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกอยู่ที่ 4.6% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ร้อยละ 5.2เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนชะลอลง การเงินตึงตัวในระบบเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว และภาวะเศรษฐกิจถดถอยอันเป็นผลจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียอย่างต่อเนื่อง

เอดีบียังได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในภูมิภาคนี้ ท่ามกลางราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นอีกด้วย

รายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียประจำปี 2565 ฉบับเพิ่มเติม Asian Development Outlook 2022 Supplement ของ ADBซึ่งเผยแพร่วันนี้ กล่าวว่า ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดยหลายประเทศกำลังผ่อนคลายข้อจำกัดการเดินทางต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคชะลอตัวลง เนื่องจากการหยุดชะงักของกิจกรรมต่างๆ จากการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมถึงอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแอลงด้วย

“ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ลดลงทั่วทั้งเอเชีย แต่เรายังห่างไกลจากการฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน” กล่าวโดยนาย อัลเบิร์ต พาร์ค หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำ ADB “นอกเหนือจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ผลกระทบจากสงครามในยูเครนยังได้เพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นตัวยับยั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจ สิ่งที่สำคัญ คือ เราต้องจัดการกับความไม่แน่นอนทั่วโลกเหล่านี้ที่ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของภูมิภาค”

  • รายงาน ADB ชี้ Green Recovery จากโควิด ช่วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างงานกว่า 30 ล้านตำแหน่ง

  • เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวอยู่ที่ 4.0% ในปีนี้ จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 5.0% และยังได้ปรับลดแนวโน้มการเติบโตของอินเดียลงมาอยู่ที่ 7.2% จาก 7.5% ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดและภาวะเงินตึงตัว

    อัตราเงินเฟ้อในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแปซิฟิกคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ 4.2% ในปีนี้ เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 3.7% อย่างไรก็ตาม แรงกดดันเงินเฟ้อในภูมิภาคโดยรวมยังคงต่ำกว่าที่อื่นในโลก

    สำหรับปี 2566 นั้นเอดีบีได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคลงอยู่ที่ร้อยละ 5.2 จากร้อยละ 5.3 ในขณะที่ได้ปรับเพิ่มการคาดการณ์เงินเฟ้อขึ้นเป็น 3.5% จาก 3.1% เอดีบีได้ปรับแนวโน้มการเติบโตของบางอนุภูมิภาคให้สูงขึ้น โดยปรับเพิ่มการเติบโตเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็น 5.0% จาก 4.9% ในปีนี้ ท่ามกลางอุปสงค์

    ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายข้อจำกัดจากการแพร่ระบาดโควิด-19 สำหรับคอเคซัสและเอเชียกลางนั้น เอดีบีได้ปรับเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นเป็น 3.8% จาก 3.6% เนื่องจากเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคบางส่วนสามารถต้านทานผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการรุกรานยูเครนโดยรัสเซียได้ดีกว่าที่คาดไว้ ในขณะที่ภูมิภาคแปซิฟิกนั้น การท่องเที่ยวได้กลับมาฟื้นตัวขึ้นในฟิจิ ซึ่งช่วยให้แนวโน้มการเติบโตของอนุภูมิภาคปรับตัวดีขึ้นจาก 3.9% เป็น 4.7%

    เอเชียตะวันออกเฉียงใต้โต 5%

    การบริโภคในประเทศอนุภูมิภาคทั้งหมดฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 จากการยกเลิกการจำกัดการสัญจรในช่วงโควิดระบาด และการเปิดดำเนินธุรกิจและเปิดประเทศอีกครั้ง การผลิตและการบริการเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ สร้างงานและเพิ่มรายได้ครัวเรือน

    อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องเผชิญกับความท้าทายจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การสิ้นสุดของอัตราดอกเบี้ยโลกที่ต่ำ และการหยุดชะงักของการค้าและอุปทานอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แนวโน้มไม่สดใสสำหรับบางประเทศในปี 2565 และ 2566 โดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดเล็กกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากอุปทาที่ชะงักและอัตราเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น นักท่องเที่ยวขาเข้ากำลังเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ เศรษฐกิจในอนุภูมิภาคที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงยังไม่เห็นการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวในระดับที่จะมีผล

    จากสถานการณ์ทั้งหมด การคาดการณ์การเติบโตของ GDP สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 5.0% ในปี 2565 จากประมาณการ 4.9% ในรายงาน ADO 2565 ส่วนการคาดการณ์สำหรับปี 2566 ยังคงอยู่ที่ 5.2%

  • อินโดนีเซีย
  • การคาดการณ์การเติบโตในปี 2565 สำหรับอินโดนีเซียปรับพิ่มขึ้นจาก 5.0% เป็น 5.2% สะท้อนถึงอุปสงค์และการส่งออกภายในประเทศที่แข็งแกร่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงเข้าสู่ภาวะปกติและการติดเชื้อโควิด-19 ยังคงอยู่ในระดับที่จัดการได้ การจ้างงาน รายได้ และความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น กระตุ้นการบริโภคของภาคเอกชน ความต้องการที่ยังแข็งแกร่งและสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นกำลังกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน แต่แรงสนับสนุนจากมาตรการการคลังน้อยลงเนื่องจากการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการระบาดใหญ่ลดลง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ส่งออกสำคัญที่สูงขึ้น เช่น ถ่านหิน น้ำมันปาล์ม และนิกเกิล เพิ่มรายได้จากการส่งออกและรายได้ทางการคลัง มากพอที่จะชดเชยเงินอุดหนุนเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และอาหาร

  • มาเลเซีย

  • ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นและการเติบโตทั่วโลกที่อ่อนแอลงทำให้โอกาสของมาเลเซียลดลง เศรษฐกิจที่เติบโต 5% ในไตรมาส 1 ปี 2565 มาจากการบริโภคของภาคเอกชนที่แข็งแกร่งและความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นผ่านโครงการความช่วยเหลือครอบครัว Bantuan Keluarga แต่ความเชื่อมั่นธุรกิจและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ(Purchasing Managers’ Index:PMI)ยังคงอ่อนตัวลงต่อเนื่องตามแนวโน้มทั่วโลกที่ลดลงและการหยุดชะงักของอุปทานจากเมืองต่างๆ ในจีนที่ต้องล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับการระบาดของ COVID-19 ด้านภาคการเกษตรเติบโตเล็กน้อยในไตรมาสที่ 1 เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยและต้นทุนวัตถุดิบที่ตกต่ำจากสงครามในยูเครน การท่องเที่ยวฟื้นตัวช้า จำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจะมีเพียงหนึ่งในสามของระดับก่อนเกิดโรคระบาด แม้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศอีกครั้งในเดือนเมษายน จึงปรับประมาณการการเติบโตลงเป็น 5.8% สำหรับ ปี 2565 และ 5.1% สำหรับปี 2566

  • ไทย
  • GDP ของประเทศไทยขยายตัว 2.2% ในไตรมาสที่ 1เมื่อเทียบเป็นรายปี อุปสงค์ทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้นสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นำโดยการส่งออกสินค้า การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวจากการเดินทางภายในประเทศที่ผ่อนคลายจากโควิด-19 และข้อจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ การเติบโตในไตรมาสนี้ได้รับแรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไตรมาสที่ 1 ทำให้การใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม แม้โดยทั่วไปสถานการณ์จะดีขึ้น แต่การคาดการณ์การเติบโตก็ปรับลดลงเล็กน้อยจาก 3.0% เป็น 2.9% ในปี 2565 และจาก 4.5% เป็น 4.2% ในปี 2566 เป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าจะกระทบต่อความต้องการส่งออก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และทำให้กำลังซื้อในครัวเรือนแย่ลง

  • ฟิลิปปินส์
  • การคาดการณ์การเติบโตของฟิลิปปินส์ปรับเพิ่มขึ้นจาก 6.0% เป็น 6.5% ในปี 2565 จากการเติบโตไตรมาส 1 ที่แข็งแกร่งเกินคาด โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนที่ฟื้นตัวและการบริโภคภาคครัวเรือน การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ครอบคลุมในวงกว้างขึ้นและผลกระทบด้านสุขภาพที่ค่อนข้างไม่รุนแรงจากสายพันธุ์โอไมครอน ทำให้เศรษฐกิจสามารถเปิดดำเนินการได้อีกครั้ง ข้อมูลการสัญจรในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งรวมถึงการทำงานและสันทนาการ ได้กลับสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด โครงการโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะขนาดใหญ่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ และตัวชี้วัดของภาคเอกชน เช่น PMI การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการนำเข้า ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง การคาดการณ์การเติบโตสำหรับปี 2566 ยังคงอยู่ที่ 6.3% เนื่องจากสภาวะการเงินตึงตัวและการส่งผ่านแรงกดดันด้านราคาในวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อความต้องการ มีความเสี่ยงด้านลบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเติบโตในช่วงครึ่งหลังจากการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่สำคัญและความเป็นไปได้ที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่องจากสงครามในยูเครน

  • สิงคโปร์
  • ในไตรมาสที่ 1 GDP ของสิงคโปร์เติบโต 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากงการบริโภคภาคเอกชนที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและการลงทุนเพื่อชดเชยการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ลดลง การเติบโตจะยังคงมีเสถียรภาพในปี 2565 ด้วยแรงหนุนจากเทคโนโลยีสารสนเทศและบริการทางการเงินที่แข็งแกร่ง การเติบโตของการผลิตที่ยั่งยืน และภาคการท่องเที่ยวและบริการภายในประเทศที่ค่อยๆฟื้นตัว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มอุปสงค์จากภายนอกอ่อนตัวลง เนื่องจากในประเทศคู่ค้ารายใหญ่ส่วนใหญ่เติบโตที่ช้ากว่าที่คาด และแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่องที่เป็นผลจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และสงครามในยูเครน ต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางสภาวะทางการเงินที่ตึงตัวอาจกดดันการลงทุน คาดการณ์การเติบโตของ GDP สำหรับปี 2565 ถูกปรับลดลงเหลือ 3.9% ส่วนการคาดการณ์สำหรับปี 2566 ยังคงอยู่ที่ 3.2%

  • เวียดนาม

  • ในเวียดนาม การค้ายังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 และการสัญจรภายในประเทศ การผลิต และการบริโภคภายในประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายจากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจภายนอกที่เลวร้ายลง ซึ่งเกิดจากการดำเนินนโยบายการเงินที่แข้มงวดของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตามยังคงคาดการณ์การเติบโตไว้ที่ 6.5% สำหรับปีนี้และ 6.7% ในปีหน้า

  • ลาว-เมียนมา

  • โอกาสทางเศรษฐกิจของ สปป. ลาวในปี 2565 ดูมืดมนลงเนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและธุรกิจที่ลดลง อันเนื่องมาจากราคาที่สูงขึ้นและค่าเงินที่อ่อนค่าลง แต่แนวโน้มคาดว่าจะดีขึ้นในปี 2566 ในขณะที่การเติบโตของอุตสาหกรรมและบริการในเมียนมาดีขึ้นเล็กน้อย ความตึงเครียดทางการเมืองและสถานการณ์ความมั่นคงที่ผันผวนยังคงเป็นความเสี่ยงด้านลบที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

  • รายงาน ADB ชี้โควิดฉุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนลง 4.7 ล้านคน แต่ทั้งภูมิภาคแกร่งพร้อมฟื้นตัว
  • เงินเฟ้อสูงทั้งภูมิภาค

    การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สำหรับปี 2565 เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 3.7% เป็น 4.7% อัตราเงินเฟ้อปีหน้าจะปรับขึ้นจาก 3.1% เป็น 3.4% อัตราที่สูงขึ้นสำหรับทั้งสองปีเป็นผลมาจากพลังงานและราคาอาหาiที่เพิ่มขึ้น และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับอินโดนีเซียในปี 2565 เพิ่มขึ้นจาก 3.6% เป็น 4.0% อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 1.6% ในปี 2564 เป็นเฉลี่ย 3.0% ในช่วงเดือนมกราคม–มิถุนายน สะท้อนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้นและอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง มีการใช้มาตรการควบคุมราคาและเงินอุดหนุนเพื่อบรรเทาราคาน้ำมัน ไฟฟ้า และอาหาร แต่ธนาคารกลางอินโดนีเซียงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะแตะระดับ 4.5% ภายในเดือนธันวาคม ซึ่งสูงกว่า 2%–4% กรอบเป้าหมาย การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสำหรับประเทศไทยปรับขึ้นจาก 3.3% เป็น 6.3% ในปี 2565 และจาก 2.2% เป็น 2.7% ในปี 2566 สาเหตุหลักมาจากราคาพลังงานที่สูงขึ้นและการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อราคาผลิตภัณฑ์ในวงกว้างและหลากหลายมากขึ้น

    อัตราเงินเฟ้อในฟิลิปปินส์เร่งตัวขึ้นเป็น 6.1% ในเดือนมิถุนายน และเฉลี่ย 4.4% ในช่วงครึ่งปีแรกจากราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำและค่ารถจี๊ปนีย์สาธารณูปโภคเพิ่มขึ้นในมิถุนายน ธนาคารกลางขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1.25%s ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมปีนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นจาก 4.2% เป็น 4.9% ในปี 2565 และจาก 3.5% เป็น 4.3% สำหรับปี 2566 จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่สูงขึ้นและเงินเปโซที่อ่อนค่าลง การคาดการณ์เงินเฟ้อของสิงคโปร์ปีนี้เพิ่มขึ้นจาก 3.0% เป็น 4.7% จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น การคาดการณ์ปี 2566 ยังคงอยู่ที่ 2.3%

    ในมาเลเซีย อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงจากการควบคุมราคาและการอุดหนุนน้ำมันและผลิตภัณฑ์อาหารพื้นฐาน ส่งผลให้มีการปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในปี 2565 จาก 3.0% เป็น 2.7% ส่วนปี 2566 การคาดการณ์ยังคงอยู่ที่ 2.5% การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามจะอยู่ที่ 3.8% และ 4.0% เนื่องจากการผลิตอาหารหลังการส่งออกแล้วจะยังคงเพียงพอ ในประเทศที่มีขนาดเล็กลงมา ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและค่าเงินที่อ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ กำลังสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ โดยเฉพาะใน สปป. ลาวและเมียนมา

    เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค