ThaiPublica > เกาะกระแส > เอดีบีจัดสรรเงินกู้ 1.5 พันล้านดอลล์สนับสนุนรัฐบาลไทยสู้ COVID-19 คาดเซ็นสัญญาสิ้นก.ย.นี้

เอดีบีจัดสรรเงินกู้ 1.5 พันล้านดอลล์สนับสนุนรัฐบาลไทยสู้ COVID-19 คาดเซ็นสัญญาสิ้นก.ย.นี้

4 สิงหาคม 2020


นายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานเอดีบี ที่มาภาพ: https://www.adb.org/news/new-adb-president-masatsugu-asakawa-assumes-office

กรุงเทพฯ ประเทศไทย (4 สิงหาคม 2563) ธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ เอดีบี อยู่ในระหว่างการจัดสรรเงินกู้มูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสนับสนุนรัฐบาลไทยในการรับมือกับการการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไวรัส COVID-19

“เอดีบี มีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนประเทศไทยอย่างทันท่วงที เพื่อช่วยลดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และการคลังของประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดใหญ่” นายมาซาสึกุ อะซาคาวา ประธานเอดีบีกล่าว “การสนับสนุนของเราจะช่วยในการดำเนินมาตรการบรรเทาผลกระทบต่างๆ ของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นเพื่อเตรียมความพร้อมของระบบการดูแลสุขภาพของประเทศหากการมีระบาดระลอกใหม่เกิดขึ้นในอนาคต ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง สนับสนุนรัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการระบาดในครั้งนี้ เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการผลิต และกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม”

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการดูแลสุขภาพก้าวหน้าอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ยังคงมีความเสี่ยงสูงต่อการระบาดใหญ่เนื่องจากมีความเชื่อมโยงทางภูมิภาคและเศรษฐกิจโลกในเชิงลึก แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย COVID-19 หากมีการระบาดระลอกใหม่ในอนาคต อาจส่งผลกระทบต่อระบบการดูแลสุขภาพโดยรวม และทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือแพทย์ที่มีอย่างจำกัด

เอดีบีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวร้อยละ 6.5 ในปี 2563 ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ – 3.0 เมื่อเดือนธันวาคม 2562 เนื่องจากการค้า การลงทุน และการเชื่อมโยงของแรงงานในระดับภูมิภาคที่แข็งแกร่งของประเทศทำให้วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยอาจส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา ลาว พม่า และ เวียดนาม ได้

“เอดีบี เป็นพันธมิตรเพื่อการพัฒนาที่น่าเชื่อถือสำหรับประเทศมาอย่างยาวนาน” นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รักษาราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าว “ในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับเอดีบี เราเชื่อว่าการสนับสนุนของเอดีบีที่ให้กับประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทย ในการรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 จะช่วยบรรเทาผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและภูมิภาค”

การลงนามสัญญาเงินกู้ โดยผู้แทนจากเอดีบีและกระทรวงการคลัง คาดว่าจะมีขึ้นภายในสิ้นเดือนกันยายน ณ กรุงเทพมหานคร

แผนงาน COVID-19 Active Response and Expenditure Support (CARES) ของเอดีบี จะสามารถเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็วเพื่อสนับสนุนงบประมาณให้กับรัฐบาลเพื่อรับมือกับผลกระทบจาก COVID-19 รวมทั้งช่วยฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจ และยังเป็นรากฐานให้เอดีบีสามารถกำหนดเป้าหมายการดำเนินงานกับภาคเอกชนในสาขาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนผ่านแผนการฟื้นฟูต่างๆ ของรัฐบาลหลังการระบาดคลี่คลาย เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การค้า และการสนับสนุนทางการเงินแก่ห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น นอกจากนี้ เอดีบี จะสนับสนุนกรอบการพูดคุยแลกเปลี่ยนด้านนโยบายอย่างต่อเนื่องกับรัฐบาลเกี่ยวกับรับมือการระบาดใหญ่และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

แผนงาน CARES ได้รับการสนับสนุนทางการเงินผ่าน COVID-19 pandemic response option (CPRO) ภายใต้กองทุน Countercyclical Support Facility ของเอดีบี CPRO เป็นส่วนหนึ่งของความช่วยเหลือมูลค่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐของเอดีบี ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 13 เมษายน ที่ผ่านมา ให้กับประเทศสมาชิกในการับมือกับ COVID-19

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งมีมูลค่ารวม 2.25 ล้านล้านบาท (ประมาณ 72 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ในปีงบประมาณ 2563 และ 2564 ประกอบด้วย โครงการให้เงินช่วยเหลือแรงงานนอกระบบ 16 ล้านคน และเกษตรกร 10 ล้านครัวเรือน เป็นจำนวนเงินประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท การสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและสังคม และการเสริมสร้างระบบการดูแลสุขภาพให้แข็งแกร่ง นอกจากนั้น SMEs ในภาคการท่องเที่ยว และภาคอื่นๆ ยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงสินเชื่อและการพักชำระหนี้จากธนาคารกลาง ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้วางแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลัง COVID-19 อีกด้วย เอดีบีประมาณการว่าแผนฟื้นฟูด้านการคลังดังกล่าวจะสามารถเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจได้ 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิอเป็นร้อยละ 10.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

เอดีบีกำลังเตรียมแผนยุทธศาสตร์การเป็นหุ้นส่วนระดับประเทศกับประเทศไทยฉบับใหม่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วยโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวและโครงการที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเน้นการสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคผ่านคณะทำงานอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว การค้า การขนส่ง และสุขภาพ เป็นต้น

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค