ThaiPublica > คอลัมน์ > เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: เส้นทางสู่การฟื้นฟู

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้: เส้นทางสู่การฟื้นฟู

17 มีนาคม 2022


โดย ราเมช สุบรามาเนียม ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย

ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ชื่อว่าประสบความสำเร็จในการเติบโตและลดความยากจน แต่การระบาดใหญ่ได้เปลี่ยนความสำเร็จเหล่านั้นไปในทางตรงกันข้ามอย่างกะทันหัน ทำให้คนราว 4.7 ล้านคนประสบปัญหาความยากจนอย่างรุนแรงในปี 2564 และนำไปสู่การสร้างงานที่น้อยลงถึง 9.3 ล้านตำแหน่งในปีเดียวกัน เมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่ไม่มี COVID ในขณะที่การฟื้นตัวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเริ่มปรากฏขึ้น แต่ผลผลิตรวมของภูมิภาคในปีนี้คาดว่ายังคงต่ำกว่าร้อยละ 10 จากที่เคยคาดการณ์ไว้ในสถานการณ์ที่ไม่มี COVID-19

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องจัดการความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ที่เพิ่มขึ้น และต้องทำให้แน่ใจว่าแนวโน้มนี้จะไม่กลายเป็น “ความปกติแบบใหม่” ของภูมิภาค ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตและกัดกร่อนความเข้มแข็งของสังคม และยังทำให้ขาดแรงจูงใจสำหรับแรงงานที่มีทักษะน้อยและทำให้ผลิตภาพแรงงานลดลง นอกจากนั้น ความไม่เท่าเทียมกันยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาและทักษะสำหรับผู้ที่ขาดรายได้หรือสินเชื่อที่เพียงพอ และยังบ่อนทำลายความสามัคคีทางสังคมอีกด้วย

  • รายงาน ADB ชี้โควิดฉุดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จนลง 4.7 ล้านคน แต่ทั้งภูมิภาคแกร่งพร้อมฟื้นตัว
  • ในขณะที่ภูมิภาคยังคงวางรากฐานสำหรับการฟื้นฟูด้านต่างๆ การศึกษาใหม่ของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เรื่อง Southeast Asia: Rising from the Pandemic ได้แนะนำให้ผู้นำหลายประเทศปรับใช้มาตรการนโยบายที่สำคัญๆ หลากหลายที่จะสามารถช่วยกระตุ้นการฟื้นตัว และช่วยทำให้แน่ใจว่าการฟื้นฟูของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากสถานการณ์ COVID-19 นั้น จะส่งผลดีต่อทุกคน

    ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องสนับสนุนการลงทุนในระบบสุขภาพแห่งชาติอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถด้านการรักษาพยาบาลหลัก ปรับปรุงการเฝ้าระวัง จัดหาเวชภัณฑ์ให้เพียงพอ และเตรียมความพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ในอนาคต ซึ่งการศึกษาของเอดีบีได้แสดงให้เห็นว่า การลงทุนด้านสุขภาพของประเทศที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 ของจีดีพี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยร้อยละ 3 ของจีดีพีในปี 2564 นั้น จะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.5 อีกทั้งการลงทุนด้านการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยลดภาระในการรักษาโรค และนำไปสู่อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานที่สูงขึ้นและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นในที่ทำงาน ซึ่งประเทศต่างๆ ควรพิจารณาวางกรอบการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

    ในขณะเดียวกัน ประเทศต่างๆ ควรดำเนินการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง ซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงผลิตภาพและความสามารถในการแข่งขัน และควรเพิ่มการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ ภายหลังการระบาดใหญ่ ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็ว การจัดสรรงานใหม่จำนวนมากในภาคส่วนต่างๆ และจำนวนงานที่ต้องใช้พนักงานที่มีทักษะด้านเทคนิคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิดช่องว่างด้านทักษะขนาดใหญ่

    ผลการสำรวจล่าสุดของ APEC (Asia-Pacific Economic Cooperation) ในเรื่องช่องว่างด้านทักษะทางดิจิทัลได้เปิดเผยว่า ร้อยละ 75 ของนายจ้างเห็นว่าทักษะที่สำคัญไม่สอดคล้องกันทักษะของแรงงานที่เข้าสู่ระบบ ดังนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนมากขึ้นเพื่อสร้างแรงงานในอนาคตที่พร้อมจะสนับสนุนเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งสิ่งนี้จำเป็นต้องพัฒนาระบบการศึกษาอย่างจริงจัง มีโปรแกรมที่สนับสนุนการฝึกงานและการฝึกอบรมในสถานที่ทำงาน และสร้างสิ่งจูงใจสำหรับการพัฒนาทักษะและการเพิ่มทักษะ สำหรับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันนั้น ประเทศต่างๆ สามารถขจัดอุปสรรคทางการค้าเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและผลผลิต ลดระเบียบแบบแผนที่ยุ่งยาก ปรับปรุงด้านโลจิสติกส์ และสนับสนุนวิสาหกิจขนาดเล็กให้ทันสมัยผ่านการใช้เทคโนโลยีและการบ่มเพาะ

    ผู้กำหนดนโยบายในภูมิภาคยังต้องเสริมสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจมหภาค และรักษาความรอบคอบทางการคลังในการจัดการหนี้ที่นำมาใช้ในการฟื้นฟู โครงการเงินช่วยเหลือเพื่อรับมือโควิด-19 จำนวนมากได้ ทำให้การขาดดุลทางการคลังและระดับหนี้ในเอเชียเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2563 จำนวนเงินที่ใช้รับมือกับการระบาดใหญ่ของเอเชียที่กำลังพัฒนามีมูลค่าสูงถึง 3.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของการขาดดุลการคลังต่อจีดีพีในภูมิภาค โดยเพิ่มจากร้อยละ 5.0 ในปี 2562 เป็น ร้อยละ 9.8 ในปี 2563 เนื่องจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังฟื้นฟูจากการระบาดใหญ่ ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องแก้ไขความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจและการเงินที่มีอยู่ และช่วยรองรับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยการรักษาทุนสำรองระหว่างประเทศและช่องว่างทางนโยบายให้เพียงพอ

    สุดท้ายนี้ เนื่องจากประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ ประเทศเหล่านั้นจะไม่เพียงแค่กลับมาดำเนินธุรกิจเหมือนเช่นเคย แต่ต้องใช้โอกาสในการขยายการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและวางรากฐานสำหรับเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

    นโยบายต่าง ๆ นั้นควรได้รับการออกแบบใหม่เพื่อคุ้มครองแม่น้ำและมหาสมุทรและสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดกว่า โดยภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้นในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรม โดยใช้วัสดุจากการรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้มากขึ้น

    นอกจากนั้น นโยบายภาษีควรจูงใจการลดการปล่อยคาร์บอนด์ในขณะที่แผนฟื้นฟูควรส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม สร้างการเติบโต และเพิ่มการจ้างงานขนานใหญ่ ทั้งนี้ ในการสนับสนุนเป้าหมายด้านสภาพอากาศของภูมิภาคนั้น เอดีบีกำลังทำงานร่วมกับพันธมิตรระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติในการลดการใช้พลังงานถ่านหินผ่านกลไกการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition Mechanism) ที่เป็นนวัตกรรม และแพลตฟอร์มการฟื้นฟูที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Recovery Platform)

    แนวทางการฟื้นฟูที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง สามารถช่วยสร้างงานที่มีประสิทธิผลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่น ภาคการคมนาคมขนส่ง ภาคงานบริการ และภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูแนวโน้มการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งพลิกผันจากโควิด-19

    หลังจากสองปีของการระบาดใหญ่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มฟื้นตัวและเติบโตอย่างสดใสขึ้น โดยประเทศต่างๆ เร่งผลักดันให้ทุกอย่างกลับมาดีมากขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าลมปะทะที่รุนแรงยังคงมีอยู่ แต่ยังมีเหตุให้เกิดความหวังด้วยเช่นกัน หากประเทศต่าง ๆ เพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพ การปฏิรูปโครงสร้าง และเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยังคงระมัดระวังทางการคลังด้วยแล้ว ประเทศเหล่านั้นจะสามารถพลิกฟื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับสู่ความเจริญรุ่งเรือง และนำพาเข้าสู่ยุคใหม่แห่งการฟื้นฟูให้กับภูมิภาคได้อย่างแท้จริง