ThaiPublica > สู่อาเซียน > รายงาน ADB ชี้ Green Recovery จากโควิด ช่วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างงานกว่า 30 ล้านตำแหน่ง

รายงาน ADB ชี้ Green Recovery จากโควิด ช่วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างงานกว่า 30 ล้านตำแหน่ง

7 กรกฎาคม 2022


รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ฉบับใหม่ระบุว่า การฟื้นตัวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพในการสร้างโอกาสการลงทุนมูลค่า 172,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และสร้างงานมากกว่า 30 ล้านตำแหน่งภายในปี 2030

รายงาน Implementing a Green Recovery in Southeast Asia มองว่าการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถช่วยให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 ได้

การฟื้นตัวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นสิ่งสำคัญสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 5
ประเทศที่ทำการศึกษา ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และไทย

เนื่องจากการฟื้นฟูสีเขียว

(1) จะมีความสำคัญในการป้องกันโรคระบาดในอนาคต อันเนื่องมาจากความเชื่อมโยงที่เพิ่มขึ้นระหว่างสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ รูปแบบการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไปส่งผลให้มีการติดต่อระหว่างคนและสัตว์ป่า ทำให้เกิดโรคใหม่ขึ้นกว่า 30 โรคนับตั้งแต่ปี 1960

(2) จะมีความสำคัญในการจัดการกับผลกระทบที่รุนแรงและเลวร้ายลงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาค โดย 2 ใน 5 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่ในภูมิภาคนี้ วิกฤติสิ่งแวดล้อมนี้อาจทำให้เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สูญเสีย 11% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศโดยรวมในปี 2100

(3) มีศักยภาพที่แข็งแกร่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยทุก 1 ล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลใช้จ่ายไปในพลังงานหมุนเวียนจะสร้างงานได้มากกว่า 5 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับการลงทุนจำนวนที่เท่ากันในเชื้อเพลิงฟอสซิล

และ (4) มีความสำคัญในการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของภูมิภาค โดยการมุ่งเน้นไปที่การตัดสินใจลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในด้านสิ่งแวดล้อม การทุ่มงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจจากโควิดเพื่อยกระดับการแข่งขัน สามารถช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานระดับโลกได้มากขึ้น

เพื่อช่วยให้รัฐบาลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แสวงหาโอกาส เพื่อการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งตรงกับประเด็นของภูมิภาคนี้มากที่สุดสำหรับภูมิภาคนี้ รายงานได้ระบุโอกาสสำคัญ 5 ด้านบนพื้นฐานศักยภาพทางเศรษฐกิจและจำนวนงานที่สามารถสร้างได้ และขอบเขตของความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่สามารถแก้ไขฟื้นฟูได้

โดยการฟื้นตัวหลังโควิด-19 ผ่านการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีด้วยกัน 5 ด้าน ได้แก่ การเกษตรกรรมปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดินและมีผลิตภาพ การดำเนินการฟื้นฟูมหาสมุทรให้คงความอุดมสมบูรณ์และมีผลิตภาพ การวางแผนการพัฒนาเมืองและการขนส่งอย่างยั่งยืน โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน และพลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพ

(1) การเกษตรกรรมปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดินและมีผลิตภาพ เปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ทางการเกษตรและวิถีการทำฟาร์มเพื่อยกระดับผลผลิตในขณะที่เสริมสร้างสุขภาพของระบบนิเวศธรรมชาติโดยรอบ
(2) การวางแผนพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและรูปแบบการขนส่ง ส่งเสริมเมืองที่มีความหนาแน่นและมีการวางแผนพัฒนาที่ดีขึ้น และระบบขนส่งมวลชน
(3) การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด รวมถึงการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคส่วนต่างๆ
(4) โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (ปลงผลพลอยได้และของเสียจากภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่มีคุณค่า ในขณะที่ลดของเสีย
(5) การดำเนินการฟื้นฟูมหาสมุทรให้คงความอุดมสมบูรณ์และมีผลิตภาพ สนับสนุนการจัดการประมงธรรมชาติที่ยั่งยืน พร้อมกับการดูแลขอบเขตการทำประมงให้สอดคล้องกับระดับชีวภาพ

“หากจะใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โอกาสในการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 ด้านจะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 172,000 ล้านดอลลาร์และสามารถสร้างงานได้ 30 ล้านตำแหน่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี 2030 และโอกาสในการเติบโตเหล่านี้ยังสอดคล้องกับเกือบ 60% ของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ”

“รายงานนี้เน้นย้ำถึงความสำคัญในอันดับต้นๆของนโยบายที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่สามารถช่วยให้มั่นใจว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้มีการคำนึงถึงทั้งเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมและสิ่งแวดล้อม”ราเมช สุพรหมัณยัม ผู้อำนวยการ ADB ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวระหว่างการสัมมนาผ่านเว็บที่จัดขึ้นโดย ADB และ สถาบัน ISEAS–Yusof Ishak “ในขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคได้เริ่มสนับสนุนการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังจำเป็นต้องดำเนินการมากกว่านี้ เราต้องส่งเสริมมาตรการกระตุ้นสีเขียวเพิ่มเติม ออกแบบแผนราคาคาร์บอน ลดการพึ่งพาพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และดึงดูดนักลงทุนภาคเอกชนให้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ การขนส่งที่ยั่งยืน และโครงการเมืองที่สะอาด”

หากไม่มีการดำเนินการร่วมกันเพื่อแก้ไขวิกฤติสิ่งแวดล้อมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ แนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของภูมิภาคอาจถูกจำกัด การฟื้นตัวอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากโควิด-19 มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างหลักประกันว่าอนาคตเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมจะมีความสามารถในการปรับตัว

รายงานมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่ การวิจัยที่ลงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียว การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสตรีมีส่วนร่วมในโอกาสทางธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพให้ดีขึ้นผ่านระบบข้อมูลแบบเปิดและบูรณาการ

การดำเนินการฟื้นฟูสีเขียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องมี 3 ขั้นตอนสำคัญ คือ

ขั้นตอนที่ 1: สร้างกลไกที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนไปสู่ความยืดหยุ่นของระบบนิเวศ ข้อนี้จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาแนวทางที่บูรณาการมากขึ้นสู่การเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การประสานงานหน่วยงานของรัฐเพื่อประเมินการแลกเปลี่ยนหรือผลประโยชน์ร่วมกันที่เป็นไปได้ของนโยบายสีเขียวที่ดำเนินการโดยหน่วยงานต่างๆ นอกจากนี้ยังต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมในการรวบรวมข้อมูลและการตั้งเป้าหมาย การมีฐานข้อมูลรวมเกี่ยวกับประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายประเมินนโยบายและแผนงานที่เฉพาะเจาะจงและกำหนดเป้าหมายได้ หน่วยงานของรัฐอาจต้องการการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อให้มีทักษะที่เหมาะสมในการดำเนินการวาระการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขั้นตอนที่ 2: ดำเนินการแทรกแซงเชิงนโยบายที่มีเป้าหมายเจาะจง โดยเน้นที่โอกาสการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 ด้าน มีการแทรกแซงเชิงนโยบายที่รัฐบาลสามารถทำได้ เพื่อให้ได้ประโยชน์จากโอกาสที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้าน

  • ภายใต้นโยบายการเกษตรกรรมปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดินและมีผลิตภาพ การแทรกแซงนโยบายรวมถึงการช่วยให้เกษตรกรประยุกต์ใช้ระบบการให้น้ำขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อประหยัดน้ำและปรับปรุงผลผลิต เช่น ระบบสปริงเกลอร์และระบบน้ำหยดแทนการให้น้ำแบบปล่อยท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพืชที่มีมูลค่าสูง
  • ภายใต้การพัฒนาเมืองและการขนส่อย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการวางแผนและการดำเนินการแนวคิด “car-lite”หรือลดการใช้รถยนต์ ในการวางผังเมืองและการพัฒนาเมือง เพื่อลดการพึ่งพารถยนต์ของคนเมือง และส่งเสริมการเดิน ปั่นจักรยาน หรือใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
  • ภายใต้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด มาตรการรวมถึงนโยบายเพื่อลดการพึ่งพาถ่านหินโดยการซื้อและเลิกใช้โรงไฟฟ้าถ่านหิน และการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเพิ่มพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็ว
  • ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน มาตรการรวมถึงการกำหนดความรับผิดชอบของผู้ผลิตเพิ่มขึ้น กรอบแนวคิดสำหรับขยะบรรจุภัณฑ์ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีความรับผิดชอบอย่างมากในการบำบัดหรือกำจัดผลิตภัณฑ์หลังการบริโภคอย่างเหมาะสม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการจัดการขยะ เพื่อปรับปรุงการเก็บรวบรวมขยะพลาสติกและป้องกันขยะพลาสติกไม่ให้รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม
  • ภายใต้การดำเนินการฟื้นฟูมหาสมุทรให้คงความอุดมสมบูรณ์และมีผลิตภาพ สามารถให้การสนับสนุนโครงการนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนทางการเงินสำหรับเทคโนโลยีใหม่ (เช่น ระบบที่ใช้เซ็นเซอร์สำหรับการให้อาหารกุ้ง) และการสนับสนุนด้านวิชาการ (เช่น การเลือกปลาและการใช้วัตถุดิบทางเลือก)
  • ขั้นตอนที่ 3: กำหนดแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนสำหรับโอกาสในการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลต้อง
    กำหนดตั้งแต่แรกว่า จะจัดหาเงินทุนให้กับโอกาสเหล่านี้อย่างไร โดยทางเลือกมีตั้งแต่การจัดเก็บรายได้จากภาษีสิ่งแวดล้อม (เช่น ภาษีคาร์บอน) ยกเลิกการอุดหนุน “สีน้ำตาล” (เช่น เงินอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล) การระดมเงินทุนของภาคเอกชน (เช่น การเงินสีเขียวและพันธบัตรยั่งยืน) และการใช้ประโยชน์จากแหล่งการเงินระหว่างประเทศ

    ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถใช้กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility) เพื่อรับเงินกู้และความช่วยเหลือด้านวิชาการ สำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวของประเทศด้านการขนส่งที่ยั่งยืน พลังงานสะอาด และระบบน้ำที่ยืดหยุ่นได้

    สุดท้าย ควรมีการสร้างความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างประเทศเพื่อนบ้านและพันธมิตรใหม่กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายกลุ่ม เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั่วทั้งภูมิภาค

    เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 มีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค