ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯวอน รมต.เข้าร่วมอภิปรายงบฯ ปี’66-มติ ครม.จัดงบฯชดเชยดอกเบี้ยช่วยชาวไร่อ้อย 789 ล้าน

นายกฯวอน รมต.เข้าร่วมอภิปรายงบฯ ปี’66-มติ ครม.จัดงบฯชดเชยดอกเบี้ยช่วยชาวไร่อ้อย 789 ล้าน

30 พฤษภาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯย้ำไม่มีนโยบายถอดหน้ากากอนามัย-วอน รมต.เข้าร่วมอภิปรายงบฯ ปี’66-มติ ครม.จัดงบฯ 789 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยชาวไร่อ้อย 2-3%-เลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 4 ลำปาง

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้แถลงข่าว แต่ได้มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการแทนนายกรัฐมนตรี

ชื่นชมผลประชุม ‘Nikkei Forum’ ดึงญี่ปุ่นลงทุน EEC

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ในการประชุม ‘Nikkei Forum’ ที่ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสหารือระดับทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น และประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ทำให้เกิดการต่อยอดความร่วมมือกันในหลากหลายมิติ โดยได้ยกระดับความสัมพันธ์ไทย – ญี่ปุ่น เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะความเจริญอย่างยั่งยืน และการใช้พลังงานสะอาด ตามแนวทาง BCG ทั้งรถยนต์ EV เคมีภัณฑ์ การแพทย์และการเกษตรอัจฉริยะ Smart Farmer และทุกมิติ

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือข้างต้นจะขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังในปีนี้ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค ซึ่งไทยจะเป็นศูนย์กลางที่เข้มแข็งของอาเซียน โดยมีพื้นที่ EEC เป็นฐานสำคัญในการลงทุนต่างๆ โดยผู้บริหารกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น จะได้มาเยือนไทยเพื่อเริ่มต้นกลไกการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรม

ฟื้นความสัมพันธ์ “ไทย-ซาอุ” ส่งออกไก่ได้ 500 ล้าน

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้เจรจาฟื้นฟูและกระชับความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เพื่อเปิดตลาดการส่งออก การลงทุน การท่องเที่ยว และความร่วมมือต่างๆ เช่น การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย โดยมีการเริ่มเปิดเส้นทางสายการบิน เกิดข้อตกลงเรื่องการส่งแรงงานไทยไปทำงาน และได้ส่งออกไก่แปรรูปไปซาอุดีอาระเบียได้เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี ซึ่งภายในปี 2565 จะส่งออกได้ 6 พันตัน เกิดมูลค่าการค้า 500 ล้านบาท

ส่วนความร่วมมือกับประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐบาลได้มีการเจรจาข้อตกลงต่างๆ เกิดความร่วมมือที่จะเปิดทางให้กับการค้าการลงทุนที่กลุ่มนักธุรกิจชั้นนำของสหรัฐมีกำหนดจะเข้ามาเยือนและเจรจาข้อตกลงการลงทุน

ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนกับ EU

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลยังได้รื้อฟื้นและยกระดับกรอบข้อตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน ระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิก กับประเทศไทย (PCA) เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นการค้า การลงทุน วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ความมั่นคงทางไซเบอร์ สาธารณสุข และการต่อสู้กับภาวะโลกร้อน โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการร่วม Joint Committee ระหว่างไทยกับ EU เพื่อติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือนี้

นายกฯสปป.ลาวเยือนไทยต้น มิ.ย.นี้

พลเอกประยุทธ์ รายงานว่า นายกรัฐมนตรีแห่งสปป.ลาว มีกำหนดการมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในสัปดาห์นี้ (ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565) เพื่อนำไปสู่การยกระดับความสัมพันธ์ ไทย – สปป.ลาว เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ในทุกมิติเช่นกัน โดยเฉพาะความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการคมนาคมแบบไร้รอยต่อ การร่วมพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดน ความร่วมมือด้านพลังงานและการจัดการสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมและวัฒนธรรมอีกด้วย

กำหนด‘วันผ้าไทยแห่งชาติ’

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “อย่างที่พวกเราทุกคนได้ทราบดี ว่าพระองค์ทรงมีพระวิริยอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ในการส่งเสริมเรื่อง ‘ผ้าไทย’ เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ได้ทรงส่งเสริมการทอผ้าพื้นถิ่นของไทย ทุกประเภทและในทุกจังหวัด ทรงแนะนำเพื่อพัฒนาคุณภาพและฝีมือของชาวบ้านเพื่อให้มีรายได้เสริม นอกจากนี้ยังทรงรับซื้อผ้าทอพื้นถิ่นเพื่อนำมาสนับสนุน ให้นักออกแบบเครื่องแต่งกายไทยออกแบบสร้างสรรค์ เป็นชุดแต่งกายไทย ทรงสนับสนุนให้เพิ่มเติมคุณค่าด้วยการปักด้วยเส้นไหมหรือวัสดุสวยงาม หรือให้ออกแบบ ผ้าทอพื้นถิ่นของไทยให้เป็นชุดแต่งกายตามสมัยนิยมสำหรับใช้ในโอกาสต่างๆ”

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้สนับสนุนเรื่องผ้าไทยและช่วยส่งเสริมศิลปะด้านการออกแบบเครื่องอาภรณ์ประดับควบคู่ไปกับ การส่งเสริมชุดแต่งกายไทย ทั้งในโอกาสประเพณีนิยม และตามแฟชั่นสมัยใหม่ด้วย จนสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ต่อไป

ดังนั้น ครม. จึงมีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเป็นสิ่งที่ปวงชนชาวไทยทุกคนภาคภูมิใจอย่างสูงสุดกับผ้าไทย ที่เป็นวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาติไทย

เชิญ ครม.-ส่วนราชการ ร่วมเฉลิมพระเกียรติ ‘พระบรมราชินี’

ด้านดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรี เชิญชวนครม.และส่วนราชการเข้าร่วมพิธีกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีในวันศุกร์ที่ 3 มิถุนายน 2565 โดยในช่วงเช้าเป็นพิธีทำบุญตักบาตรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในช่วงค่ำเป็นพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล ทั้งนี้ส่วนภูมิภาคจะมีพืธี ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม

กำชับทุกหน่วยเร่งออกกติกา ป้องกันความเสียหายทางดิจิทัล

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี รายงานในที่ประชุมถึงความสำเร็จจากการเข้าร่วมประชุมนิเคอิฟอรั่มของนายกรัฐมนตรีและคณะ ภายหลังจากการหารือกับนายกรัฐมนตรี ญี่ปุ่นและพบปะกับนักธุรกิจ-นักลงทุนญี่ปุ่นแล้ว ประเทศญี่ปุ่นยืนยันสนับสนุนการลงทุนเพิ่มและลงทุนใหม่ในประเทศไทย โดยมองว่าอาเซียนเป็นเป้าหมายการลงทุนที่สำคัญของเอเชีย ซึ่งรัฐบาลไทยได้วางแผนแนวทางกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เตรียมความพร้อมกำลังคน โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

“นายกรัฐมนตรี กำชับว่าไม่ใช่แค่กระทรวงดีอีเอส แต่รวมถึงทุกหน่วยงานต้องมีการกำหนดกติกาที่ครอบคลุม รัดกุมเพื่อป้องกันความเสียหายในอนาคต เพราะหากเกิดขึ้นจะเป็นความเสียหายมูลค่าสูง” ดร.ธนกร

เผยกำหนดการนักธุรกิจสหรัฐ-ญี่ปุ่น-ซาอุฯ ดูลู่ทางลงทุนในไทย

นอกจากนี้ ดร.ธนกร รายงานว่า ในที่ประชุม ครม. นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงความสำเร็จของการเดินทางไปร่วมประชุมที่ 3 ประเทศล่าสุด ได้แก่ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ส่งผลให้คณะธุรกิจของทั้งสามประเทศจะเดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทย และภาคเอกชนของซาอุดีอาระเบียมีแผนเดินทางมาไทยในช่วงไตรมาส 3/2565 และคณะเอกชนญี่ปุ่นจะเดินทางมาในไตรมาส 4/2565 โดยภาคเอกชนฝากขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลภาคเอกชนที่สามารถประกอบธุรกิจในไทยได้อย่างต่อเนื่อง

ย้ำไม่มีนโยบายถอดหน้ากากอนามัย

ดร.ธนกร รายงานว่า นายกรัฐมนตรี ขอให้แจ้งเตือนไปยังประชาชนให้เห็นความสำคัญของการสวมหน้ากากให้เป็นพฤติกรรมด้านสาธารณสุขที่มีความสำคัญและจำเป็น ขณะนี้รัฐบาลไม่มีนโยบายถอดหน้ากากอนามัย

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้กระทรวงติดตามการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง พร้อมย้ำเตือนให้ประชาชนทราบถึงวิธีการป้องกัน แนวทางการรักษา แต่ล่าสุดยังไม่พบการแพร่ระบาดในไทย

วอน รมต.เข้าร่วมอภิปรายงบฯ ปี’66

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 นายกรัฐมนตรี ฝากถึง ครม.และรองนายกรัฐมนตรี ให้อยู่ร่วมรับฟังการอภิปรายการประชุมสภาฯที่จัด ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน 2565 ซึ่งมีความสำคัญต่อการใช้จ่ายภาครัฐ การส่งเสริมการลงทุน โดยขอให้ทุกคนช่วยชี้แจงข้อสงสัยต่างๆ ด้วยหลักการและข้อเท็จจริง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีการถกเถียงอย่างมีคุณภาพ

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณพรรคร่วมรัฐบาลที่ได้ทำงานเพื่อประเทศและประชาชนมาตลอด โดยขอยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทเต็มความสามารถในขณะที่ยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

“ในที่ประชุม ครม.วันนี้ รองนายกรัฐมนตรี ประวิตร ได้ให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลมีความมั่นคง และจะผ่านพ้นการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 2566 และการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลชุดนี้จะทำหน้าที่จนครบวาระอย่างแน่นอน”

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , ดร. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และน.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ แถลงผลการประชุม ครม. ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

รับทราบยอดหนี้สาธารณะยังอยู่ในกรอบวินัยการคลัง

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบรายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (GDP) อยู่ที่ 60.58 ซึ่งยังภายใต้กรอบที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 70
รายละเอียด กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามมารา 50 ดังนี้

    1. สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ร้อยละ 60.58 กรอบที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 70 หนี้สาธารณะ 9.9 ล้านล้านบาท GDP 16.4 ล้านล้านบาท

    2. สัดส่วนภาระหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณร้อยละ 26.77 กรอบที่กำหนด ไม่เกินร้อยละ 35

    3. สัดส่วนหนี้ฯ ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด ร้อยละ 1.79 กรอบที่กำหนด ไม่เกินร้อยละ 10

    4. สัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ร้อยละ 0.07 จากกรอบที่กำหนดไม่เกินร้อยละ 5 โดยที่ภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศ 6,795 ล้านบาท รายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการ 10,177,826 ล้านบาท

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 รัฐบาลจึงมีความจำเป็นในการดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกู้เงิน ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ทำให้ปริมาณหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว เป็นผลให้ช่วงเดือนมีนาคม นี้ มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศและทั่วโลก ที่มีแนวโน้มดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัว ทำให้ความสามารถในการจัดเก็บรายได้สูงขึ้นประกอบกับการบริหารความเสี่ยงหนี้ต่างประเทศที่มีต่อเนื่อง ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมด และสัดส่วนภาระหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้ของการส่งออกและสินค้าอยู่ในระดับต่ำ

จัดงบฯ 789 ล้านบาท ชดเชยดอกเบี้ยชาวไร่อ้อย 2-3%

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อใช้ในการบริหารจัดการแหล่งน้ำและซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ปี 2565 – 2567 โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้สนับสนุนสินเชื่อให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อย วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 6,000 ล้านบาท และรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 2 – 3% ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่ง ครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. เป็นเงิน 789.75 ล้านบาท ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ

โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยนี้ มีเป้าหมายเพื่อจัดหาแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย การปรับพื้นที่ปลูกอ้อยเป็นแปลงใหญ่ และการจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร ใช้ในการปลูกอ้อยและบริหารจัดการไร่อ้อยอย่างครบวงจร โดยวงเงินกู้แยกตามวัตถุประสงค์การกู้ ซึ่งวงเงินกู้แต่ละรายรวมทุกวัตถุประสงค์แล้วต้องไม่เกิน 38.05 ล้านบาท ดังนี้

    1)เพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย รายละไม่เกิน 500,000 บาท เช่น การขุดบ่อสระ กักเก็บน้ำ การเจาะบ่อบาดาล การจัดทำระบบน้ำ
    2)เพื่อปรับพื้นที่ปลูกอ้อย เป็นแปลงใหญ่ให้เหมาะสมกับเครื่องจักรกลการเกษตร รายละไม่เกิน 500,000 บาท ในอัตราไม่เกินไร่ละ 2,500 บาท
    3)เพื่อจัดซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถตัดอ้อย รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท รถคีบอ้อย รายละไม่เกิน 2 ล้านบาท รถแทรกเตอร์ รายละไม่เกิน 6 ล้านบาท มีระยะเวลาจ่ายเงินกู้ 3 ปี (1 ต.ค.2564 – 30 ก.ย.2567)

สำหรับระยะเวลาการชำคืน แบ่งเป็นเงินกู้การบริหารจัดการน้ำและปรับพื้นที่ปลูกอ้อย ไม่เกิน 6 ปี ส่วนการซื้อเครื่องจักรกลชำระคืนไม่เกิน 8 ปี โดยคิดอัตราดอกเบี้ยจากผู้กู้ร้อยละ 2 รัฐบาลจะชดเชยให้ ธ.ก.ส.ร้อยละ 2 – 3 ขึ้นอยู่กับประเภทผู้กู้ ยกเว้นการซื้อรถบรรทุก คิดจากผู้กู้ร้อยละ 4 และรัฐบาลจะไม่ชดเชยให้

ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า โครงการนี้จะมีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับประโยชน์ประมาณ 1.5 ล้านไร่ ซึ่งในปี 2562 – 2564 ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 4,579 ล้านบาท มีพื้นที่ปลูกอ้อยได้รับประโยชน์ 8.4 แสนไร่

เพิ่มด่านสะเดาขนน้ำมันปาล์มมาเลฯส่งขายลาว

ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ขอให้รัฐบาลไทยพิจารณาทบทวนการกำหนดด่านนำผ่านน้ำมันปาล์ม ซึ่งต้องนำผ่านด่านทางน้ำที่สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพเท่านั้น พร้อมทั้งขอให้ไทยออกหนังสือรับรองการนำผ่านน้ำมันปาล์ม เพื่อไปจำหน่ายภายใน สปป.ลาว

ดังนั้น เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับ สปป.ลาว ครม.จึงมีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้น้ำมันปาล์ม และแฟรกชันของน้ำมันปาล์มฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการเพิ่มด่านนำผ่าน (ทางบก) คือ ด่านศุลกากรสะเดา จังหวัดสงขลา เป็นจุดเริ่มต้นนำผ่านมาจากมาเลเซีย ไปยังจุดสิ้นสุดที่ด่านศุลกากรหนองคาย เพื่อนำผ่านน้ำมันปาล์มและแฟรกชันของน้ำมันปาล์ม (เพื่อการบริโภคอย่างเดียว) ไปยัง สปป.ลาว ปริมาณไม่เกิน 5,000 ตันต่อปี โดยต้องมีหนังสือรับรองที่กระทรวงพาณิชย์เป็นผู้ออกให้ และผู้นำผ่านน้ำมันปาล์มฯ ต้องแจ้งให้กระทรวงพาณิชย์ทราบก่อนอย่างน้อย 1 เดือน

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันการรั่วไหล หรือ ตกหล่นภายในประเทศ จะมีการติดตามการขนส่งจากจุดเริ่มต้นนำผ่านไปถึงจุดปลายทาง หากพบว่ามีการลักลอบนำไปขายระหว่างการนำผ่าน จะมีการทบทวนมาตรการนี้โดยเร็วต่อไป

เห็นชอบกรอบเจรจา “ความเป็นหุ้นส่วนรอบด้าน” ไทย-EU

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างกรอบการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกกับราชอาณาจักรไทย (Partnership and Cooperation Framework Agreement: PCA) ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ เพื่อให้คณะผู้แทนไทยใช้เป็นกรอบในการเจรจากับฝ่ายสหภาพยุโรป อันจะนำไปสู่การจัดทำกรอบความตกลงกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างกันในอนาคต

ร่างกรอบเจรจาฯฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ดังนี้

    1) กำหนดทิศทางความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปบนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน
    2) ยกระดับความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดและครอบคลุมในทุกมิติมากขึ้น
    3) ส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก
    4) แสดงเจตนารมณ์ของไทยในการเป็นหุ้นส่วนของสหภาพยุโรป โดยจะดำเนินการภายใต้ขอบเขตความร่วมมือ อาทิ 1)ความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน และนโยบายเศรษฐกิจการคลังอื่นๆ เช่น มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช ระบบอาหารที่ยั่งยืน 2)ความร่วมมือด้านเสรีภาพ ความมั่นคงและการยุติธรรม เช่น ความร่วมมือด้านนิติธรรม ความเท่าเทียมทางเพศ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว และ 3)ความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความมั่นคงทางไซเบอร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ดร.รัชดา กล่าวว่า กลไกในการติดตามภายใต้ร่างกรอบเจรจา จะขับเคลื่อนโดยการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ระหว่างฝ่ายไทยกับสหภาพยุโรป เพื่อทบทวนและพิจารณาการปฏิบัติตามการตีความ ตลอดจนกลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้ขอบเขตของกรอบความตกลงฯ ซึ่งการระงับข้อพิพาทนั้น จะกระทำตามหลักสากลตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อหาทางออกที่เห็นพ้องต้องกันภายใต้กลไกคณะกรรมการร่วม

“เมื่อกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วน และความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรป และรัฐสมาชิกกับไทยผลบังคับใช้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปอย่างมีแบบแผนในระยะยาว อันจะนำไปสู่การเจรจาความตกลงหรือพิธีสารทวิภาคีเฉพาะอื่น ๆ ระหว่างกัน เช่น ความตกลงการค้าเสรีความตกลงด้านการลงทุน และพิธีสารเกี่ยวกับความร่วมมือด้านศุลกากรด้วย แต่ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้น เมื่อถึงขั้นตอนลงนามข้อตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องผ่านกระบวนการของรัฐสภาก่อน” ดร.รัชดากล่าว

เยียวยาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน 4 โครงการ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการชลประทานรวม 4 โครงการ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติครม.เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2541 ที่วางหลักการไว้ว่า ไม่สามารถจ่ายค่าชดเชย หรือ ค่าทดแทนซ้ำซ้อน หรือ ย้อนหลังให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนได้ และอนุมัติให้กรมชลประทานจ่ายเงินค่าชดเชย หรือ ค่าขนย้าย สำหรับค่าที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการชลประทานเป็นกรณีพิเศษ

สำหรับทั้ง 4 โครงการนั้นประกอบด้วย โครงการแรก ได้แก่ โครงการเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร อนุมัติให้ช่วยเหลือราษฎรกลุ่มที่ตกค้างยังไม่ได้รับเงิน จำนวน 295 ราย โดยให้จ่ายในอัตราเดิม 10,000 บาทต่อไร่ รายละไม่เกิน 15 ไร่ ส่วนผู้ที่ขอเงินเพิ่มจำนวน 2,285 ราย ให้ช่วยเหลือเยียวยาตามระเบียบ ตามประเภทที่ดิน เพื่อมิให้มีการเรียกร้องให้มีการจ่ายเงินเพิ่มในลักษณะเดียวกันจากโครงการอื่นๆ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับโครงการที่ 2-3 ได้แก่ โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทำนบ และ โครงการอ่างเก็บน้ำห้วยเชิง จ.สุรินทร์ ให้กำหนดจำนวนเงินช่วยเหลือตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ. 2562 เพื่อมิให้ค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าที่รัฐเคยจ่ายสำหรับที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ

โครงการที่ 4 โครงการฝายกุมภวาปี จ.อุดรธานี ให้จ่ายเงินค่าขนย้ายราษฎรตามอัตราที่คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินเพื่อการชลประทานโครงการฝายกุมภวาปีเคยกำหนดไว้ สูงสุดไม่เกินไร่ละ 50,000 บาท และต่ำสุดไร่ละ 10,000 บาท สำหรับการชดเชยในส่วนเพิ่มเพื่อให้เหมาะสมตามสถานะและสภาพของที่ดินให้ใช้แนวทางการพิจารณากำหนดจำนวนเงินตามกฎกระทรวงที่ออกตามความใน พ.ร.บ.การประเมินราคาทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ พ.ศ.2562

ทั้งนี้ ให้กรมชลประทานเป็นผู้ตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินของทั้ง 4 โครงการต่อไป โดยดำเนินการให้ถูกต้อง โปร่งใส และป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากราษฎร

เลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 4 ลำปาง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่างลง พ.ศ… เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2565 ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่4 ใหม่แทนนายวัฒนา สิทธิวัง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 133

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 105 วรรคหนึ่ง ได้กำหนดว่า ในกรณีที่ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งว่างลงเพราะเหตุอื่นใด นอกจากถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือเมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้ดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นแทนตำแหน่งที่ว่าง ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ตำแหน่งนั้นว่างลง เว้นแต่อายุของสภสาผู้แทนราษฎร์จะเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จึงแจ้งว่า เพื่อให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 แทนตำแหน่งที่ว่าง เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด จึงได้ร่างพระราชกฤษฎีกาฯ พร้อมแผนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เขตเลือกตั้งที่4 เพื่อเสนอต่อ ครม. และดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ ตามร่างแผนการจัดการเลือกตั้งฯ คาดว่า กกต. จะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 มิ.ย. 2565 จากนั้นเปิดรับสมัครฯ ระหว่างวันที่ 16-20 มิ.ย. 2565 ประกาศรายชื่อผู้สมัครฯ ในวันที่ 27 มิ.ย. 2565 และคาดว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 10 ก.ค. 2565

กำหนด 12 ส.ค.ของทุกปี เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี เป็น “วันผ้าไทยแห่งชาติ” โดยกระทรวงวัฒนธรรมระบุว่า การประกาศให้มีวันผ้าไทยแห่งชาติ เป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อใช้ในการรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระวิริยอุตสาหะ ปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการส่งเสริมเรื่องผ้าไทย เป็นที่ประจักษ์มายาวนาน จากสิ่งทอท้องถิ่นที่สูญหายไปให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง สามารถสร้างอาชีพและรายได้นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนเป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ ซึ่งวันที่ 12 สิงหาคม เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงเป็นวันที่เหมาะสมที่จะประกาศให้เป็นวันผ้าไทยแห่งชาติ

ขณะเดียวกันในปี 2565 นี้รัฐบาลมีนโยบายจัดงานเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในวันที่ 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งจะมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโครงการและพระราชกรณียกิจด้านต่างๆ เพื่อให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา และประชาชน ได้ศึกษาหาความรู้จากโครงการต่างๆที่ก่อให้เกิดการพัฒนา สร้างความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกให้กับประชาชนชาวไทย เพื่อน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงออกถึงความจงรักภักดี รัฐบาลจึงกำหนดจัดกิจกรรมและโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งสอดคล้องกับโครงการต่างๆของพระองค์ เพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอดและขยายผลให้เป็นรูปธรรม โดยจะดำเนินการให้เป็นไปอย่างสมพระเกียรติทุกประการ

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า วันผ้าไทยแห่งชาติ จะใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า National Thai Textile Day โดยได้นิยาม “ผ้าไทย”ว่า ผ้าที่สร้างสรรค์ขึ้นจากมรดกภูมิปัญญาของไทยที่ได้รับการสืบทอดต่อยอดจากรุ่นสู่รุ่น บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ประจำถิ่นที่ผลิตขึ้นภายในประเทศโดยฝีมือคนไทย โดยใช้เทคนิค เช่น การทอ จก ยก ขิด ล้วง ปัก มัดหมี่ มัดย้อม บาติก พิมพ์ โดยใช้เส้นใยธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น ไหม ฝ้าย ใยกัญชง ใยสับปะรด ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นเป็นต้น และมีตัวอย่างของประเทศอื่นๆที่ได้กำหนดวันผ้าแห่งชาติขึ้น เช่น อินโดนีเซีย วันที่ 2 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันบาติกแห่งชาติ, ญี่ปุ่น วันที่ 14 กุมภาพันธ์ เป็นวันฟุนโดชิ หรือวันผ้าเตี่ยว, จอร์เจีย วันที่ 3 พฤษภาคม เป็นวันสิ่งทอแห่งชาติ, สโลวัก วันที่ 8 กันยายน เป็นวันเครื่องแต่งกายพื้นบ้าน,สโลวีเนีย เดือนกันยายน เป็นวันมรดกเครื่องแต่งกายและเครื่องแต่งกายประจำชาติ และบังกลาเทศ วันที่ 4 ธันวาคม เป็นวันสิ่งทอแห่งชาติ

ตั้งบอร์ด กนอ.แทนกรรมการที่ลาออก 2 ราย

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติ/เห็นชอบ ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐมีดังนี้

1. การแต่งตั้งกรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเสนอ แต่งตั้งกรรมการผู้แทนชุมชน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว จำนวน 2 คน แทนกรรมการผู้แทนชุดเดิมที่ขอลาออก และแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่มีอายุเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ตามลำดับ ดังนี้

    1. นายศักดา เนติพัฒน์ กรรมการผู้แทนชุมชนฯ
    2. นายจักร บุญ – หลง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

2. การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน 2 คน แทนกรรมการอื่นเดิมที่พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากขอลาออก ดังนี้

    1. รองศาสตราจารย์วรสัณฑ์ บูรณากาญจน์
    2. นางนันท์ฐิตา ศิริคุปต์ ผู้แทนกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการ ซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

3. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอการแต่งตั้งข้าราชการการเมือง ตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จำนวน 5 ราย ดังนี้

    1. จ่าเอก ยศสิงห์ เหลี่ยมเลิศ
    2. สิบเอก คิมหันต์ ตลับนาค
    3. นายพิศณุพงศ์ สิทธิโชคแก้วมูล
    4. นายอริย์ธัช ชาติอาริยะพงศ์
    5. นายอานนท์ แสนน่าน
    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เพิ่มเติม