ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯย้ำเลือกตั้งซ่อมจบแล้ว วอนพรรคร่วมฯทำงานเพื่อชาติ-มติ ครม.ผ่านเกณฑ์คัดเลือก‘บัตรคนจน’ 20 ล้านคน

นายกฯย้ำเลือกตั้งซ่อมจบแล้ว วอนพรรคร่วมฯทำงานเพื่อชาติ-มติ ครม.ผ่านเกณฑ์คัดเลือก‘บัตรคนจน’ 20 ล้านคน

1 กุมภาพันธ์ 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯย้ำเลือกตั้งซ่อมจบแล้ว วอนพรรคร่วมฯทำงานเพื่อชาติต่อไป-มติ ครม.ผ่านเกณฑ์คัดเลือก‘บัตรคนจน’ 20 ล้านคน-จัดงบกลาง 251 ล้าน จ้างพนักงานป่าไม้ 3,999 อัตรา-ไฟเขียว งบฯ สปสช.ปี’66 วงเงิน 209,044 ล้าน-เพิ่มเงินลงทุน ‘รถไฟชานเมืองสายสีแดง’ เป็น 96,868 ล้าน-“อนุทิน” แจงใช้สิทธิบัตรทองฟอกไตฟรี เริ่ม 1 ก.พ.นี้

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านระบบ video conference ณ ห้อง PMOC ชั้น 2 ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุม ครม.วันนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้ตอบคำถามสื่อมวลชน แต่ได้มอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

ชื่นชมความสำเร็จเยือนซาอุฯ

โดย ดร.ธนกร กล่าวว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กล่าวถึงการประชุม ครม.ในรูปแบบ Video Conference วันนี้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการกักตัวตามมาตรการสาธารณสุข แต่ได้ติดตามการแก้ไขปัญหาทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีเผยถึงความสำเร็จของการเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์หลายด้าน อาทิ การยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มปฏิบัติหน้าที่ทันที ความร่วมมือและพัฒนาดิจิทัล แรงงาน พลังงาน การท่องเที่ยวและที่สำคัญมีการเจรจาเพิ่มการสั่งซื้อไก่ฮาลาลจากไทยไปซาอุฯ โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมเรื่องจำนวนไก่ และอื่นๆด้วย กำชับว่า ทุกอย่างต้องเห็นผลภายใน 2 เดือน

สั่ง จนท.ใช้กฎหมายเอาผิดผู้กักตุนสินค้า

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาสินค้าอุปโภค-บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งแม้ว่าขณะนี้ ราคาสินค้าเริ่มลดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม ให้เจ้าหน้าที่เดินหน้าติดตามเรื่องการกักตุนสินค้าและใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเคร่งครัด และสำหรับสถานการณ์ โควิด-19 นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันบริหารสถานการณ์โควิด-19 สามารถจัดการควบคุมการแพร่ระบาดสายพันธุ์ “โอมิครอน” ซึ่งทำให้ ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อภาพรวมที่มีทิศทางดีขึ้นในอนาคต ส่งผลให้การค้า ธุรกิจใหม่ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยยังได้ขอให้ทุกฝ่ายติดตามจับตาสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เพื่อเป็นแนวทางพิจารณาต่อไป

เร่งทุกหน่วยเตรียมพร้อมรับนักท่องเที่ยว

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี มีความยินดีที่ประเทศไทยติดอันดับ 5 ซึ่งนิตยสาร Capital ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนที่เน้นการนำเสนอข่าวสารด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการลงทุน ได้เผยแพร่บทความการจัดอันดับ 10 ประเทศ หรือ เมืองที่น่าใช้ชีวิตยามเกษียณมากที่สุด จัดทำโดยเว็บไซต์รีเทท ซอง ฟองเทีย (Retraite sans Frontieres) โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 5 ต่อจาก กรีซ โปรตุเกส มอรีเชียส และสเปน สะท้อนความโดดเด่นและภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยว และเป็นเมืองที่น่าอาศัยอยู่ นอกจากนี้ booking.com ยังจัดอันดับให้ จังหวัดกระบี่ เป็นเมืองที่การต้อนรับผู้เดินทางที่ดีที่สุด ถือเป็นสัญญาณที่ดี ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ซึ่งวันนี้เป็นวันแรกของการเปิดลงทะเบียน Thailand Pass ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม เน้นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การใช้ยานพาหนะ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการเห็นการพัฒนา ต้องทำให้ได้ในช่วงเวลาอันใกล้อีกด้วย

ย้ำเลือกตั้งซ่อมจบแล้ว วอนพรรคร่วมฯทำงานเพื่อชาติต่อไป

“นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงเรื่องการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาว่าจบไปแล้ว ถือเป็นการตัดสินใจของประชาชน อย่าใช้โอกาสนี้ สร้างความแตกแยก ขอให้พรรคร่วมรัฐบาล ตั้งใจและช่วยกันทำงานต่อไปเพื่อประชาชนและประเทศ อีกทั้ง รับทราบญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 ในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 โดยขอให้ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี เตรียมข้อมูลให้พร้อมเพื่อรับศึกอภิปรายที่กำลังจะเกิดขึ้น” ดร.ธนกร กล่าว

มติ ครม. มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

ผ่านเกณฑ์คัดเลือกผู้ถือ ‘บัตรคนจน’ รอบใหม่ 20 ล้านคน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 และเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการ ฯเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงาน และความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการ ฯ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มตกหล่นให้สามารถเข้าถึงโครงการ ฯ โดยมีกลุ่มเป้าหมายประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ฯ ประมาณ 20 ล้านคน (ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เดิมและผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่) คาดสามารถเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 โดยมีกรอบวงเงิน 564.455 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจ้างเหมาบริการระบบลงทะเบียน และการยืนยันตัวตน 164.274 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายสำหรับการรับลงทะเบียน ของหน่วยรับลงทะเบียน 400.181 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบฯ ของกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ที่ได้รับการจัดสรรไว้แล้ว

สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน มีดังนี้

  • ผู้ที่มีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องไม่เป็นภิกษุ ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐ
  • รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี และรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี และผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ เช่น วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท และวงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท เป็นต้น
  • ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ คกกฯกำหนด
  • นอกจากนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรสวัสดิการฯ และปัญหาผู้มีบัตรฯ ที่ไม่ควรได้รับสิทธิ ทั้งนี้จะมีการ เปิดรับลงทะเบียน ตามโครงการฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และ จะมีการดำเนินการตรวจสอบ คุณสมบัติและตรวจสอบข้อมูลของผู้ลงทะเบียน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อีกด้วย

    สำหรับผู้ได้รับสิทธิจากโครงการฯ ปี 2565 จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตร สวัสดิการฯ เนื่องจากบัตรสวัสดิการฯ ที่ได้เริ่มใช้งานตั้งแต่เดือน ต.ค. 2560 มีอายุการใช้งาน 5 ปี และจะหมดอายุในเดือน ก.ย. 2565 ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตบัตรสวัสดิการฯ ใหม่ ประมาณ 1,258 ล้านบาท อีกทั้งลดปัญหาเรื่องการสวมสิทธิบัตรประจำตัวประชาชนหรือการนำบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่นไปใช้ สิทธิแทน และช่วยลดการทุจริต เช่น กรณีร้านค้าเก็บบัตรสวัสดิการฯ ไว้เอง เป็นต้น

    “โครงการลงทะเบียนฯ ปี 65 มีหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการดำเนินการบางประการที่แตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มเติมเงื่อนไข เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน และการดำเนินการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการฯ ในปัจจุบันไม่สามารถสะท้อนข้อมูลของผู้มีรายได้น้อยได้อย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนรอบใหม่ เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการแห่งรัฐ อย่างครบวงจร เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มุ่งเน้นในการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุด” ดร.ธนกร กล่าว

    ตั้งศูนย์ปราบข่าวปลอมประจำทุกกระทรวง-จังหวัด

    ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. …. เป็นแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ร่วมกันของหน่วยงานของรัฐ เพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัย และได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ ทั้งนี้ จะให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ 1) ศูนย์ประสานงานกลาง 2) ศูนย์ประสานงานประจำกระทรวง และ 3) ศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานของรัฐในการแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์

    สาระสำคัญร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ อาทิ

    • กำหนดนิยามคำสำคัญ เช่น “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” และ “ข่าวปลอม”
    • จัดตั้งศูนย์ประสานงานกลาง ให้สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กลาง” เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการ ให้ทุกกระทรวงจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ประจำกระทรวง” และให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานการป้องกัน ปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ประจำจังหวัด” โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด
    • ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอม ดำเนินการแถลงข่าวทันทีที่พบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมและแจ้ง กรมประชาสัมพันธ์ภายใน 1 ชั่วโมงและให้บังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบและต้องจัดให้มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนโดยเร็ว
    • กรณีข่าวปลอมใดที่เข้าข่ายหรือสมควรดำเนินการระงับการทำ ให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบตามระเบียบนี้ แจ้งให้ ดศ. ดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ออกจากระบบคอมพิวเตอร์
    • กำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ ของงานเพื่อการประเมินผลการดำเนินงานตามระเบียบนี้

    “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหา การเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ นี้จะเป็นกรอบในการขจัดข่าวปลอม (Fake news) ที่มีผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชน และสังคมในวงกว้างโดยเฉพาะข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม การยั่วยุ ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เด็กและเยาวชน ตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรมอันดี และสถาบันหลักของชาติ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จ หรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างและเผยแพร่ ข่าวปลอม (Fake news) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีแนวโน้ม ที่จะขยายตัวมากขึ้น” ดร.ธนกร กล่าว

    ลดเงินสมทบผู้ประกันตน ม.40 เริ่ม 1 ก.พ.- 31 ก.ค.นี้

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ว่า ครม.เห็นชอบขยายระยะเวลาการลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่ต้องจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคม เป็นระยะเวลา 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 – 31 กรกฎาคม 2565 โดยมีอัตราส่งเงินสมทบภายหลังปรับลดทั้ง 3 ทางเลือก ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอดังนี้

      ทางเลือกที่ 1 ลดเงินสมทบเหลือ 42 บาท จากเดิม 70 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 3 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต

      ทางเลือกที่ 2 ลดเงินสมทบเหลือ 60 บาท จากเดิม 100 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 4 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และชราภาพ

      ทางเลือกที่ 3 ลดเงินสมทบเหลือ 180 บาท จากเดิม 300 บาท โดยได้ประโยชน์ทดแทนใน 5 กรณี คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ชราภาพ และสงเคราะห์บุตร

    ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า แม้การลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 40 เป็นเวลา 6 เดือน จะทำให้กองทุนประกันสังคมได้รับเงินสมทบลดลง แต่กองทุนประกันสังคมยังคงมีเงินสมทบเพียงพอ สำหรับรายจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 40 และไม่ส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนในระยะยาว อีกทั้งการปรับลดเงินสมทบดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกันตนมีกำลังซื้อมากขึ้น อันจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย

    ปรับสูตรบำเหน็จชราภาพ กรณีเสียชีวิตให้ทายาทรับเงินเพิ่ม

    ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลา และอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ พ.ศ.2550 โดยแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ผู้รับเงินบำเหน็จชราภาพในกรณีผู้รับเงินบำนาญชราภาพเสียชีวิตภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิรับบำนาญชราภาพ ให้ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

      1.ผู้รับบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายภายใน 60 เดือน นับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพ ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับครั้งสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย เป็น “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพถึงแก่ความตายจนครบ 60 เดือน”

      ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท โดยได้รับมาแล้ว 20 เดือน ก่อนถึงแก่ความตาย เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60 – 20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250 x 10 = 52,500 บาท

      2.บุคคลซึ่งถูกงดการจ่ายเงินบำนาญชราภาพ เนื่องจากกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนและความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงด้วยเหตุเสียชีวิต หากบุคคลนั้นได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้วไม่เกิน 60 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพ จากเดิม 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนครั้งสุดท้าย ก่อนกลับเขาเป็นผู้ประกันตน เป็น “จำนวนเท่ากับจำนวนเงินบำนาญชราภาพที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนกลับเข้าเป็นผู้ประกันตน x จำนวนเดือนที่เหลือหลังจากผู้รับเงินบำนาญชราภาพกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนจนครบ 60 เดือน”

      ตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ประกันตนได้รับบำนาญชราภาพเดือนละ 5,250 บาท และได้รับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว 20 เดือน ต่อมากลับเข้ามาทำงาน เงินบำนาญชราภาพดังกล่าวจะถูกงดจ่าย และเมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต ทายาทของผู้ประกันตนจะได้รับบำเหน็จชราภาพ ตามที่ร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนด คือ 5,250 x (60 – 20) = 210,000 บาท จากเดิมจะได้รับ 5,250 x 10 = 52,500 บาท

      3.กำหนดให้ผู้รับบำนาญชราภาพอยู่ก่อนกฎกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับและรับบำนาญชราภาพมาแล้วยังไม่ครบ 60 เดือน “ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพจนครบ 60 เดือน และในกรณีรับเงินบำนาญชราภาพมาแล้ว และจำนวนเดือนเหลือน้อยกว่า 10 เดือน ให้จ่ายเงินบำเหน็จชราภาพเป็นจำนวน 10 เท่าของเงินบำนาญชราภาพรายเดือนที่ได้รับเดือนสุดท้ายก่อนถึงแก่ความตาย”

    ทั้งนี้ ที่ประชุมให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงานงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการ และจะให้ส่งร่างกฎกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้

    ผ่านร่าง กม.ให้สถานประกอบการบางประเภท จ้าง ‘จป.’

    ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.)ในการทำงาน บุคลากร หน่วยงาน หรือคณะบุคคล เพื่อดำเนินการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเป็นกลไกในการกำกับดูแลและบริหารจัดการด้านความปลอดภัยในสถานประกอบกิจการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญ อาทิ

      1.กำหนดสถานประกอบการที่ต้องดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงนี้ในบัญชีท้าย โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ สถานประกอบการตามบัญชี 1 เช่น อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อุตสาหกรรมปิโตรเลียม อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น สถานประกอบการตามบัญชี 2 เช่น อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น และสถานประกอบการตามบัญชี 3 เช่น โรงรับจำนำ โรงถ่ายทำภาพยนตร์ สนามกีฬา เป็นต้น
      2.กำหนดประเภทและระดับของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้ (1) เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยตำแหน่ง มี 2 ระดับ ได้แก่ ระดับหัวหน้างาน และระดับบริหาร (2)เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานโดยหน้าที่เฉพาะ มี 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคชั้นสูง และระดับวิชาชีพ โดยเจ้าหน้าที่แต่ละประเภทและระดับต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง
      3.นายจ้างของสถานประกอบการ ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เช่น (1)สถานประกอบการตามบัญชี 1 ที่มีลูกจ้าง 2 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพอย่างน้อย 1 คน (2)สถานประกอบการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 100 คน ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคชั้นสูงอย่างน้อย 1 คน (3)สถานประกอบการตามบัญชี 3 ที่มีลูกจ้าง 20 คนขึ้นไป ต้องจัดให้ลูกจ้างระดับหัวหน้างานทุกคนได้รับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน
      4.นายจ้างของสถานประกอบการที่มีลูกจ้างจำนวน 50 คนขึ้นไปต้องจัดให้มี คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น จัดทำนโยบายด้านความปลอดภัย จัดทำแนวทางป้องกันและลดการเกิดอุบัติเหตุเนื่องจากการทำงาน เป็นต้น
      5.นายจ้างของสถานประกอบการตามบัญชี 1 และสถานประกอบการตามบัญชี 2 ที่มีลูกจ้างจานวน 200 คนขึ้นไป ต้องจัดให้มีหน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
      6.นายจ้างต้องนำรายชื่อเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน และผู้บริหารหน่วยงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไปขึ้นทะเบียนต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

    ดร.รัชดากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษาฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สภาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์แห่งประเทศไทย สภาสถาบันการศึกษาและเครือข่ายวิชาชีพอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ไปพิจารณาดำเนินการด้วย โดยในลำดับต่อไป จะส่งร่างกฎกระทรวงให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

    นายกฯพร้อมรับศึกอภิปราย-มั่นใจแจงได้ทุกประเด็น

    น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีความพร้อมในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นวันแถลง หรือ ชี้แจงญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามที่นายชลน่าน ศรีแก้ว สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทยกับคณะรวม 173 คน ซึ่งเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร ได้เข้าชื่อกัน เพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152 โดยจะแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

    นายกรัฐมนตรี มั่นใจคณะรัฐมนตรีมีความพร้อมที่จะชี้แจงในประเด็นต่างๆ ตามที่นายชลน่านระบุในหนังสือขอเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือ เสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี เช่น ประเด็นด้านเศรษฐกิจตกต่ำ ประเด็นเรื่องของแพง ประเด็นการก่อหนี้สาธารณะ ประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด -19 ประเด็นเรื่องโรคระบาดสัตว์ การแก้ปัญหาทุจริต ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปัญหายาเสพติด เป็นต้น

    จัดงบกลาง 251 ล้าน จ้างพนักงานป่าไม้ 3,999 อัตรา

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการจ้างเหมาพนักงานปฏิบัติงานของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชประจำปีงบประมาณ 2565 วงเงินงบประมาณ 251.94 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่าย เพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2565 สำหรับจ้างเหมาพนักงานจำนวน 3,999 อัตรา ในอัตราจ้าง 9,000 บาทต่อเดือน ระยะเวลาการจ้าง 7 เดือน ระหว่าง มี.ค.-ก.ย. 2565 เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจสำคัญของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นการจ้างงานราษฎรในพื้นที่มาช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานในพื้นที่ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า เช่น งานด้านป้องกันรักษาป่า การลาดตระเวนตรวจปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า งานควบคุมไฟป่าและหมอกควัน งานปราบปรามการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าระหว่างประเทศ งานอนุรักษ์ทรัพยากรป่าต้นน้ำ งานสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลป่าไม้ งานบริการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ รวมทั้งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างในส่วนที่ถูกปรับลดงบประมาณ เนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

    จ่ายค่าทดแทนให้ชาวบ้านโครงการฝายหัวนา 34 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ จำนวน 350 แปลง เนื้อที่ 770 ไร่ 1งาน 59 ตารางวา ในอัตราไร่ละ 45,000 บาท รวมเป็นเงิน 34.67 ล้านบาท ให้แก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ โดยได้ผ่านการตรวจสอบ และเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ และคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ เฉพาะกลุ่มโนนสัง กลุ่มราศีไศล และกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน ในส่วนของงบประมาณที่จะนำมาจ่ายทดแทนนั้น กรมชลประทานจะปรับแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 มาดำเนินการ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ครม.ยังได้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบและกำกับดูแลการจ่ายเงินค่าทดแทน จังหวัดศรีสะเกษ เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการจ่ายเงินและจำนวนเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายละเอียดผลการตรวจสอบร่องรอยการทำประโยชน์ที่ดินที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนา อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ และอำเภอราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธาน

    โดยคณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาตรวจสอบบุคคลผู้มีสิทธิ จำนวน 350 ราย และควบคุมการโอนจ่ายเงินค่าทดแทนให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ จำนวนเนื้อที่ และจำนวนเงินค่าทดแทนตามที่ครม.อนุมัติ โดยเห็นสมควรจ่ายด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร (จ่ายตรง) ตามบัญชีรายชื่อบุคคลที่ผ่านการตรวจสอบ หรือทายาท โดยให้ถือความเห็นของคณะกรรมการชุดนี้เป็นหลักฐานประกอบการจ่ายเงินค่าชดเชย

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า คณะกรรมการแก้ไขปัญหาโครงการฝายหัวนา ได้รายงานให้ ครม. ทราบว่าขณะนี้ยังมีที่ดินของราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฝายหัวนาที่ยังอยู่ระหว่างการรังวัดและการพิจารณาของอนุกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 983 แปลง ซึ่ง ครม. ก็ได้ให้เร่งรัดสำรวจพื้นที่และราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากโครงการฯ ทั้งหมด เพื่อให้สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนให้แก่ราษฎรได้ถูกต้องครบถ้วนโดยเร็วต่อไป และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งจัดทำเกณฑ์ในการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการชลประทานของรัฐในกรณีต่างๆ ให้เสร็จโดยเร็วต่อไป

    เห็นชอบไทยเป็นเจ้าภาพ จัดประกวดดนตรี-มาร์ชชิ่งอาร์ทฯ

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบในหลักการให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลก 2022 (WAMSB World Championship 2022) วงเงินค่าใช้จ่ายในการจัดประกวด 25 ล้านบาท โดยมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 11-16 กรกฎาคม 2565 ที่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจะประชาสัมพันธ์และจัดงานแถลงข่าวกิจกรรมการประกวดฯตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565

    ทั้งนี้คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนจากการเข้าร่วมการแข่งขันของวงโยธวาทิตจากประเทศสมาชิก ไม่น้อยกว่า 20 ประเทศ จะมีจำนวนนักเรียน นักศึกษาด้านดนตรีสากลประเภทดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ท วงโยธวาทิตทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวนไม่น้อยกว่า 3,000 คน นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน บุคลากรในสถาบันการดนตรีทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่น้อยกว่า 3,000 คน และเครือข่ายทางวัฒนธรรม นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน โดยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท

    นอกจากนี้การจัดประกวดฯครั้งนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของไทย และกิจกรรมนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทั่วโลกรู้ว่าประเทศไทยมีความปลอดภัย มีความพร้อมสามารถรองรับนักท่องเที่ยวต้อนรับชาวต่างชาติหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และจะเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทย ทั้งด้านการท่องเที่ยวและอาหาร

    น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยได้รับคัดเลือกจากสมาคมดนตรีและมาร์ทชิ่งอาร์ทสากล(WAMSB) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดดนตรีและมาร์ชชิ่งอาร์ทชิงแชมป์โลกปี 2020 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้WAMSB มีมติให้ยกเลิกการจัดประกวดในปีดังกล่าว อย่างไรก็ตาม WAMSB ได้เชิญกระทรวงวัฒนธรรม ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประกวดฯในปี 2022 โดยการประกวดจะแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบคัดเลือกระดับประเทศ ระหว่างวันที่ 24-29 พฤษภาคม 2565 และรอบชิงแชมป์โลกระหว่างวันที่ 11-16 กรกฎาคม 2565

    ไฟเขียว งบฯ สปสช.ปี’66 วงเงิน 209,044 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติกรอบงบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566 วงเงินรวม 209,044 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 จำนวน 10,152 ล้านบาท ประกอบด้วย งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 207,093 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากวงเงินที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 8,202 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 โดยเพิ่มขึ้นจากปัจจัยเงินเฟ้อด้านต้นทุนบริการ ปริมาณบริการที่เพิ่มขึ้นตามแนวโน้มปกติ การเพิ่มการเข้าถึงบริการรูปแบบใหม่ และเพื่อตอบสนองนโยบายยกระดับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และแนวทางปฏิรูปห้องฉุกเฉิน และงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 1,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 จำนวน 665 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.82

    สำหรับโครงสร้างงบประมาณของกองทุนฯในปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วยรายการบริการหลัก 10 รายการ โดยมีการปรับเปลี่ยนที่สำคัญ คือ การยุบรวมรายการค่าบริการสาธารณสุขสำหรับบริการกรณีโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นรายการที่เพิ่มขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ 2565 เข้ากับ 1.รายการค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 2.รายการค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้แก่ ค่าบริการตรวจคัดกรองการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และวิธี Antigen Test Kit (ATK) และค่าบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 และ 3.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ กรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับบริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 และกรณีผู้ให้บริการได้รับความเสียหายจากการให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 เนื่องจากคาดการณ์ว่าโรคโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

    ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงรายการย่อยที่ใช้คำนวณอัตราค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว โดยได้ย้ายรายการย่อยที่ 7บริการจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพผลงานบริการที่เพิ่มขึ้น ไปรวมในงบบริการควบคุม ป้องกัน และรักษาโรคเรื้อรัง(โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง) คงเหลือรายการย่อย 6 รายการ ได้แก่ บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป, บริการผู้ป่วยในทั่วไป, บริการกรณีเฉพาะ,บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์,บริการแพทย์แผนไทย และค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน

    นอกจากนี้ข้อเสนองบกองทุนฯที่ขอรับจัดสรรในปีงบประมาณ 2566 ยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ ปรับความชัดเจนของขอบเขตและการเข้าถึงบริการที่ยังเข้าถึงบริการได้น้อยรวม 26 รายการ รวมถึงขับเคลื่อนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกระดับหลักประกันสุขภาพและการดำเนินการตามแนวทางการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน เช่น การยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการขยายการให้บริการต่อเนื่องจากปี 2565 โดยให้ผู้มีสิทธิสามารถเข้ารับบริการกับแพทย์ประจำครอบครัวที่หน่วยบริการปฐมภูมิที่ไหนก็ได้ โดยในปี 2566 จะมีการขยายการดำเนินงานไปทั่วประเทศ โรคมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ที่พร้อม

    เพิ่มเงินลงทุน ‘รถไฟชานเมืองสายสีแดง’ เป็น 96,868 ล้าน

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ปรับกรอบวงเงินโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง)ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ที่เกิดจากภาระภาษีต่างๆ เช่น ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงแหล่งเงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(JICA) เป็นแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ ,ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรจากการนำเข้าของโครงการฯสายสีแดง และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นที่ต้องชำระให้ผู้รับจ้างในส่วนที่เป็นเงินเยนจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมจำนวน 2,917 ล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 2,011 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 906 ล้านบาท ทำให้กรอบวงเงินลงทุนโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงตามมติครม.เดิมที่อนุมัติไว้จำนวน 93,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 96,868 ล้านบาท

    ขณะเดียวกันครม.ได้อนุมัติให้รฟท.กู้เงินภายในประเทศมาจ่ายค่าอากรนำเข้า(Import Duty) ที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากครม.และมีมูลค่างานระบุไว้ในสัญญาแล้วเป็นจำนวนเงิน 660 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้ให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินจำนวน 7,985 ล้านบาท ประกอบด้วยช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 7,078 ล้านบาท และช่วงบางซื่อ –ตลิ่งชันจำนวน 906 ล้านบาท โดยให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินที่เหมาะสมพร้อมทั้งค้ำประกันเงินกู้ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติให้แก่รฟท. โดยรัฐบาลรับภาระค่างานโครงสร้างพื้นฐานงานโยธา และส่วนที่เกี่ยวข้องตามหลักการของมติครม.เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549

    โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระต้นเงิน ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายอื่นในการกู้เงินในส่วนที่รัฐบาลรับภาระต่อไป ส่วนค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาตู้รถไฟฟ้าให้รฟท.เป็นผู้รับภาระ โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆของการกู้เงินตามความเหมาะสมและจำเป็น

    เลื่อนจัดกีฬาเอเชียนอินดอร์-มาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ไปปี’66

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบการทบทวนมติครม.เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 เรื่อง การเลื่อนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาเอเชียนอินดอร์และมาเชี่ยลอาร์ทเกมส์ ครั้งที่ 6 ปี 2021 จากเดิม เห็นชอบการเลื่อนเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2564 เป็นปี2565 ให้เลื่อนไปเป็นปี 2566 ระหว่างวันที่ 17-26 พฤศจิกายน 2566 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่า การขอเลื่อนครั้งนี้มาจากการพิจารณาถึงความพร้อมของประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19) ซึ่งจะมีข้อจำกัดและเงื่อนไขตามมาตรการต่างๆภายใต้วิถีปกติใหม่(New Normal) ที่เป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19

    นอกจากนี้ในปี 2565 จะมีรายการแข่งขันเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว ครั้งที่ 28 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 4-20 กุมภาพันธ์ 2565 การแข่งขันเดอะเวิลด์เกมส์ 2020 ณ เมืองเบอร์มิงแฮม สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 7-17 กรกฎาคม 2565 ซึ่งอาจไม่เกิดประโยชน์สูงสุดในการพัฒนานักกีฬาไทย เนื่องจากนักกีฬาที่มีศักยภาพสูงจากชาติอื่นอาจเลือกเข้าร่วมแข่งขันในรายการที่มีความสำคัญมากกว่า

    “อนุทิน” แจงใช้สิทธิบัตรทองฟอกไตฟรี เริ่ม 1 ก.พ.นี้

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ทราบถึงความคืบหน้าการให้สิทธิผู้ป่วยโรคไตที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเลือกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมฟรีในทุกกรณี โดยจะเริ่มการให้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2565 นี้เป็นต้นไป

    ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการเพื่อลดภาระประชาชน เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยไตในระบบบัตรทองอยู่ 63,694 คน ทั่วประเทศไทย ซึ่งเดิมตามขั้นตอนการรักษาจะเริ่มการรักษาด้วยการล้างไตทางช่องท้อง และจะเข้ารับการฟอกเลือดผ่านเครื่องไตเทียม เมื่อผู้ป่วยมีสภาพร่างกายและมีเงื่อนไขเป็นไปตามที่กําหนด

    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาก็มีผู้ป่วยจํานวนกว่า 6,500 คน ที่ไม่เข้าเงื่อนไขแต่ต้องการใช้วิธีล้างไตด้วยการฟอกเลือด ต้องชําระค่าใช้จ่ายเองครั้งละ 1,500 บาท ซึ่งนับเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่ถึงขั้นสุ่มเสี่ยงต่อภาวะล้มละลายจากการรักษาพยาบาล ดังนั้น รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข จึงเข้ามาแก้ปัญหาด้วยนโยบายล้างไตรฟรีทุกกรณี ทั้งวิธีล้างไตทางช่องท้อง และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีได้รายงานต่อ ครม. ว่า การดำเนินการเลือกวิธีรักษาจะพิจารณาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาลเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข ที่มีความพร้อมจํานวนกว่า 663 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการเดินหน้านโยบายที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและตัดสินร่วมกับแพทย์ประเมินเลือกการรักษาที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดกับผู้ป่วยไตแต่ละราย ขยายทางเลือกด้านการบริการให้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากที่สุด

    นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผน สนับสนุน มาตรการป้องกันและชะลอความเสื่อมไตให้เข้าสู่โรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายให้น้อยที่สุด พร้อมกับบูรณาการทุกหน่วยงาน สนับสนุนนโยบาย ยกระดับงานดูแลประชาชน ทั้งได้เพิ่มจํานวนหน่วยบริการฟอกเลือดและการเพิ่มบุคลากรที่เกี่ยวข้องในระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับจํานวนผู้ป่วยในอนาคต คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยไต

    “การให้สิทธิผู้ป่วยโรคไตที่ใช้สิทธิบัตรทองสามารถเลือกฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมฟรีในทุกกรณีนี้ นับเป็นมิติใหม่การให้บริการแก่ประชาชนของรัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข ที่มุ่งมั่น ที่จะช่วยเหลือในการลดภาระค่าใช้จ่าย และยกระดับระบบสาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ยํ้าจุดเด่นของประเทศไทย ที่เป็นประเทศซึ่งมีระบบสาธารณสุขดีเยี่ยมเป็นที่ยอมรับในระดับโลก” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

    ตั้งรองอธิบดีธนารักษ์ขึ้นที่ปรึกษาฯ 10

    น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้งข้าราชการและผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานรัฐ มีรายละเอียดดังนี้

    1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงการคลัง)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงการคลัง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 ราย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนี้

      1. นางศุกร์ศิริ บุญญเศรษฐ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์
      2. นางบุษกร ปราบณศักดิ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาด้านพัฒนาการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ (นักวิเคราะห์นโยบายและแผนทรงคุณวุฒิ) กรมธนารักษ์

    ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    2. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (กระทรวงมหาดไทย)

    คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายพิศุทธิ์ สุขุม ผู้อำนวยการกอง [ผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (วิศวกรรมโยธา) ระดับสูง] กองควบคุมการก่อสร้าง กรมโยธาธิการและผังเมือง ให้ดำรงตำแหน่ง วิศวกรใหญ่ (วิศวกรโยธาทรงคุณวุฒิ) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป

    อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565เพิ่มเติม