ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯสั่งคลังสอบประมูลสัมปทานท่อส่งน้ำ EEC-มติ ครม.เว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 เดือน 6 แสนตัน

นายกฯสั่งคลังสอบประมูลสัมปทานท่อส่งน้ำ EEC-มติ ครม.เว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 เดือน 6 แสนตัน

3 พฤษภาคม 2022


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายกฯสั่งคลังตั้ง คกก.สอบประมูลสัมปทานท่อส่งน้ำ EEC-ตั้งเป้าช่วยชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจน 6 แสนครัวเรือน-เชื่อทุกพรรคการเมืองไม่รับเงิน-โหวตล้มรัฐบาล-มติ ครม.ยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 เดือน 6 แสนตัน-โยก “เอกนิติ” ไปสรรพสามิต “ลวรณ” คุมสรรพากร-“หมอทวีสิน”นั่งบอร์ดออมสิน

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ บริเวณโถงกลาง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังการประชุมนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานข้อสั่งการและตอบคำถามแทนนายกรัฐมนตรี

คาดการณ์ GDP ปี’65 โต 3.5%

พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2565 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อน ทั้งนี้ เป็นผลมาจากมูลค่าการส่งออกสินค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น และคาดว่าการบริโภคภายในประเทศจะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายทั้งภาคเอกชนและการลงทุนลดลง ประกอบกับเงินเฟ้อ ซึ่งเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่ควบคุมไม่ได้

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จากการรายงานของเจ้าหน้าที่คาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.5% ลดลงจากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัว 4.0% แต่ด้วยสงครามความขัดแย้ง ทำให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยชะลอตัว โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปและแอฟริกา

“ตอนนี้ทุกประเทศมีปัญหาเหมือนกันหมด เราเองก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ผมคิดว่าหลายประเทศยิ่งกว่าเรา” พลเอกประยุทธ์กล่าว

จับมือญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจ-การค้า-ลงทุน

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 ได้ให้การต้อนรับการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรี ประเทศญี่ปุ่น และคณะกว่า 100 คน จุดประสงค์เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ 135 ปี ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จับมือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์นำไปสู่การต่อยอดเศรษฐกิจ , การค้า , การลงทุน , การวิจัย , การท่องเที่ยวและสาธารณสุข

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซียก็มาเยือนประเทศไทย และมีข้อตกลงความร่วมมือทวิภาคีหลากหลายด้าน โดยเฉพาะการฟื้นฟูประเทศจากโควิด-19 เปิดพรมแดน รวมถึงมาตรการเข้า-ออกประเทศ การส่งเสริมการค้าระหว่างกัน และปราบปราบการค้ามนุษย์

ขณะเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ ยังกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างประเทศอีกว่า ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ได้มีการประชุมเวที IMT-GT Summit เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ร่วมกับผู้นำประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย และตั้งเป้าหมายร่วมพัฒนากันภายใต้ 3 ด้านหลัก คือ การเกษตร ท่องเที่ยวและผลิตภัณฑ์ฮาลาล และอีก 4 สาขาที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน ได้แก่ การค้า การลงทุน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ การพัฒนาศิลปะและวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

ชู “สมาร์ทซิตี้” ลดเหลื่อมล้ำ-กระจายความเจริญ

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมได้พูดถึงแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ หรือ “smart city” ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่พัฒนาเมืองอัจฉริยะแล้ว 15 เมือง แบ่งเป็น เมืองใหม่ทันสมัย เช่น เมืองอัจฉริยะ , วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง หรือ สามย่านสมาร์ทซิตี้ ภูเก็ต และเทศบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังมีเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะอีก 45 พื้นที่ ใน 31 จังหวัด เพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวก และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ช่วยกระจายความเจริญและลดความเหลื่อมล้ำ

ผ่านแพคเกจแก้ปัญหาประมงไทย

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า วันนี้ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบแผนบริหารจัดการประมงทะเลของไทย เพื่อส่งเสริม และแก้ปัญหาให้การทำประมง โดยวันนี้รัฐบาลได้แก้ปัญหาหลายเรื่องจนการประมงทะเลไทยมีการปรับตัวที่ดีขึ้น ตลอดจนต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน เช่น การควบคุมจำนวนเรือประมง การจัดสรรจำนวนวัน การสร้างแหล่งอาศัยของสัตว์ทะเล การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติแนวปะการัง ธนาคารสัตว์น้ำ การจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ และดำเนินการลดการใช้ถุงพลาสติก ขยะและของเสียต่างๆ และเพิ่มนวัตกรรมการประมงให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

“ถ้าเราพูดว่าจะทำอันนี้อย่างเดียวมันไม่ได้ มันเกี่ยวพันไปทั้งหมด สิ่งที่รัฐบาลทำมาคือ เอางานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาแก้ไปพร้อมกัน ถ้าแก้อันใดอันหนึ่งแล้วมีผลกระทบอันหนึ่งมันก็ลำบาก” พลเอกประยุทธ์กล่าว

สั่ง รมต.แปลงแผนพัฒนาฯฉบับ 13 สู่ภาคปฏิบัติ

นอกจากนี้ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ.2566-2570 เพื่อทำให้ประเทศไทยมีความมั่นคง และยั่งยืนเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการออกแบบมาจากแนวคิด 4 ประการคือ เศรษฐกิจพอเพียง ความสามารถการล้มแล้วลุกให้ไว เดินไปข้างหน้า และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียว

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของแผนที่ 13 มีหลัก 5 ประการ คือ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจนวัตกรรม (2) การพัฒนาคนให้ทันกับโลกยุคใหม่ (3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม (4) การเปลี่ยนผ่านผลผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน (5) การเสริมสร้างความสามารถในการรับมือความเสี่ยงของไทยภายใต้บริบทไทย

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า “แนวทางการบริหารประเทศต้องเป็นแบบนี้ เพราะทุกคนมันเกี่ยวพันไปหมด เราต้องหาปัญหาให้เจอ หาวิธีการวางแผนงาน การใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ให้พอเพียงไปด้วย เราก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำอย่างไรกับแผนนี้ เพื่อทำให้รายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 300,000 บาท ก็ต้องพยายามอย่างยิ่งยวด ทั้งหมดมี 13 หมุดหมายในการพัฒนา 4 มิติ”

“ผมได้สั่งการให้รัฐมนตรี ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำหมุดหมายตัวชี้วัดของแผนที่ 13 ไปพิจารณาแปลงเป็นแผนปฏิบัติงานในระดับต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จะได้พลิกโฉมได้สักที เป็นประเทศที่มีการพัฒนาสูงขึ้น ยกระดับจากรายได้ปานกลาง ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราทำไม่ได้ ถ้าทุกคนร่วมมือกัน โดยลดความขัดแย้งระหว่างกันให้ได้มากที่สุด” พลเอกประยุทธ์กล่าว

พลเอกประยุทธ์กล่าว “วันนี้ทำยังไงให้ประเทศเราเข้มแข็งที่สุด มีความรักสามัคคี ทุกคนต้องทราบว่าวันนี้มีหลายปัญหาที่อยู่นอกการควบคุมของเราที่ทำไม่ได้มากนัก ในการแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เราก็ต้องพยายามหามาตรการที่เหมาะสมให้ทั่วถึง อาจจะไม่ได้อย่างที่ทุกคนต้องการ แต่เราก็ดูแลให้ได้มากที่สุดทุกกลุ่ม”

ตั้งเป้าช่วยชาวบ้านหลุดพ้นจากความยากจน 6 แสนครัวเรือน

พลเอกประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมครม.วันนี้มีการชี้แจงความก้าวหน้าของคณะกรรมการบริหารศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ในเรื่องการหาข้อมูลว่าจะพุ่งเป้าไปยังรายครัวเรือนได้อย่างไร โดยกระทรวงมหาดไทยรายงานแผนดำเนินงาน และตั้งเป้าว่าจะดูแลประชาชน 619,111 ครัวเรือนทั่วประเทศ ผ่านประเด็นความยากจน 5 มิติ ตั้งแต่รายได้ ที่อยู่อาศัย การศึกษา การเข้าถึงบริการของรัฐบาลและสุขภาพ และได้มอบหมายให้แต่ละกระทรวงปรับแก้แผนงานโครงการ

แจงกู้ญี่ปุ่น 5 หมื่นล้านเยน ไม่ใช่ของใหม่-อยู่ภายใต้ พรก. 5 แสนล้าน

พลเอกประยุทธ์ กล่าวถึงกระแสข่าวภายหลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มเติมว่า “การกู้เงินผมเคยบอกไว้แล้วว่า ไม่ว่าจะ 1 ล้านล้าน หรือ 5 แสนล้าน เราก็ค่อยทยอยกู้มาตามความจำเป็น เอาแหล่งการกู้ในประเทศเป็นหลัก ถ้าญี่ปุ่นเขามาช่วยตรงนี้ เขาจะให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ แต่เขามีข้อแม้ว่า ต้องดูแลเรื่องโควิด-19 และการพัฒนาเรื่องการตรวจคัดกรองตามจังหวัดชายแดนจากประเทศรอบบ้าน…อย่าบอกว่ารัฐบาลกู้เงินอีกแล้วเลย ทุกคนก็เข้าใจว่าเราบริหารด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุดแล้วในการบริหารการเงินการคลัง เราเข้มแข็งอยู่ ถ้าไม่เข้มแข็งพอ ขอใครเขาก็ไม่ให้กู้”

ขณะเดียวกัน ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงประเด็นการกู้เงินจากญี่ปุ่นว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เงินกู้รัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับช่วยเหลือวิกฤตโควิด-19 ไม่ใช่การกู้ใหม่ แต่เป็นกรอบเงินกู้ในพ.ร.ก.เงินกู้ฯ 500,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้กู้ 50,000 ล้านเยน เหตุผลที่ต้องกู้จากภายนอก เพราะสภาพคล่องภายในประเทศลดลง กรณีนี้ญี่ปุ่นเสนอเงื่อนไขที่ดีมาก นายกฯ ย้ำว่าการใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปตามการจัดสรรแล้ว”

ขอบคุณ จนท.หลังคลายมาตรการเปิดประเทศ

ดร.ธนกร กล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรี ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยดูแลนักท่องเที่ยวหลังมีการเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้ไทยยังได้รับการคัดเลือกให้เป็นอันดับ 8 ของโลกจากผลสำรวจ และรายงานสถานะการประกันภัยการเดินทางโดยนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันให้คะแนนความปลอดภัยการเดินทางมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียนและอันดับ 3 ของเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงท่องเที่ยวฯ พิจารณาการส่งเสริมการท่องเที่ยวหลายด้านนอกเหนือจากสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม

สั่งคลังตั้ง คกก.สอบประมูลสัมปทานท่อส่งน้ำ EEC

มีคำถามจากสื่อมวลชนว่า วันนี้กรมธนารักษ์เซ็นสัญญาสัมปทานโครงการท่อน้ำอีอีซีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาทเป็นเวลา 30 ปี กับบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ซึ่งมีการยื่นร้องเรียนว่าการประมูลโครงการนี้อาจไม่โปร่งใส ไม่ผ่าน e-bidding และอยู่ระหว่างรอคำพิพากษาของศาลปกครอง นายกรัฐมนตรีรับทราบเรื่องนี้หรือไม่ และตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไร

ดร.ธนกรตอบแทนนายกรัฐมนตรี ว่า “ทราบ ได้สั่งการให้กระทรวงการคลังตรวจสอบข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบโดยเร็วทุกขั้นตอน ซึ่งนายกฯ ทราบเรื่องดังกล่าวดี และอยู่ในขั้นตอนหาข้อเท็จจริงด้วยความเป็นธรรม”

ดร.ธนกร ยังตอบคำถามถึงการขอเลื่อนการลงนามในสัญญาโครงการดำเนินการกิจการระบบท่อน้ำสายหลักในภาคตะวันออกกับบริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จํากัด โดยยังไม่ได้กำหนดวันเวลา ว่า “นายกฯ ตอบว่า รอผลกาตรวจสอบข้อเท็จจริง”

เชื่อทุกพรรคการเมืองไม่รับเงิน-โหวตล้มรัฐบาล

ดร.ธนกร ตอบคำถามกรณี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ออกมาแฉว่ามีการจ่ายค่าหัวให้ ส.ส. 5 ถึง 30 ล้านบาท เพื่อโหวตล้มนายก ฯ มองว่าจะทำได้จริงหรือไม่ โดยนายกรัฐมนตรี มองว่าให้ช่วยกันติดตามว่าเป็นจริงหรือไม่ เป็นสิ่งที่ทุกพรรคการเมือง ต้องไม่ดำเนินการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

ยังไม่เก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท

คำถามสุดท้ายคือ นายกฯ พอใจภาพรวมการเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 หรือไม่ รวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดิน 300 บาท ดร.ธนกร ตอบว่า “พอใจในระดับหนึ่ง เนื่องจากได้รับรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเพิ่มขึ้นเที่ยวบินก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ…ส่วนกรณีค่าเหยียบแผ่นดิน ยังไม่ได้ดำเนินการและยังไม่ได้เก็บ”

มติ ครม.มีดังนี้

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี , ดร. ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกฯ และ ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

ยกเว้นภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 6 แสนตัน 3 เดือน

ดร.ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายอาหาร ผ่อนปรนมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้ WTO ในโควตา โดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) และผู้นำเข้าทั่วไปเป็นผู้นำเข้าได้ ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 2565 (3 เดือน) ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ปริมาณไม่เกิน 6 แสนตัน หรือร้อยละ 50 ของความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน จากเดิมที่ให้ อคส. เป็นผู้นำเข้าเพียงผู้เดียว ในอัตราภาษีร้อยละ 20 ปริมาณไม่เกิน 54,700 ตัน ภายหลังครม.เห็นชอบแล้วให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดออกประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้นโยบายและมาตรการตามข้อเสนอนี้ มีผลบังคับใช้โดยเร็วต่อไป

คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 ผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าข้าวสาลี โดยยกเว้นการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน เป็นการชั่วคราว ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ค. 2565 นี้ และ หากมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2565 รวมทุกช่องทางในปริมาณ 1.2 ล้านตันให้สิ้นสุดการผ่อนปรนแล้วกลับไปใช้มาตรการเดิม ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ ผู้รวบรวมและผู้ผลิตอาหารสัตว์ มีข้อยุติร่วมกันในการเพิ่มปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ยังไม่เพียงพอ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.2 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์และต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ จึงเห็นควรผ่อนปรนเงื่อนไขการนำเข้าเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผ่อนคลายสถานการณ์ต้นทุนในภาคปศุสัตว์และช่วยให้ประชาชนไม่รับภาระราคาสินค้าปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้นด้วย

นอกจานี้นายกรัฐมนตรียังกำชับให้ติดตามเฝ้าระวังการดำเนินการ ตามมาตรการภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ พร้อมให้กระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทำความตกลงขอความร่วมมือผู้ประกอบการที่ได้สิทธิประโยชน์จากมาตรการในครั้งนี้ ตรึงราคาสินค้าปศุสัตว์ที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนด้วย

เตรียม 13 มาตรการ บริหารจัดการน้ำในฤดูฝนปี’65

ดร.ธนกร กล่าวว่าที่ประชุมรับทราบมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2565 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2565 และการกักเก็บน้ำเพื่อฤดูแล้ง ปี 2565/2566 โดยมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการตามมาตรการต่อไป ประกอบด้วย 13 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (เดือนมีนาคม 2565 เป็นต้นไป) โดยประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในช่วงเดือนมีนาคม – ธันวาคม 2565 และ ประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำจากภาวะฝนน้อยกว่าค่าปกติ และฝนทิ้งช่วงในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2565 เพื่อให้หน่วยงานนำไปกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อดำเนินการในเชิงป้องกันล่วงหน้าในพื้นที่เสี่ยง

มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก (ภายในเดือนสิงหาคม 2565) โดยจัดทำแผนการใช้พื้นที่ลุ่มต่ำ/แก้มลิงเพื่อรองรับน้ำหลากและเป็นพื้นที่หน่วงน้ำ1ในช่วงฤดูน้ำหลาก บริหารจัดการเพื่อป้องกันและบรรเทาระดับความรุนแรงของน้ำท่วม รวมถึงจัดทำแผนเก็บกักน้ำไว้ใช้ก่อนสิ้นฤดูฝน เช่น พื้นที่ทุ่งบางระกำ และพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นพื้นที่รับน้ำนองและการจ่ายเงินค่าทดแทนหรือค่าชดเชยความเสียหาย

มาตรการที่ 3 ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง และเขื่อนระบายน้ำ (ภายในเดือนเมษายน 2565) ติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำหรือเกณฑ์ควบคุม จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำแหล่งน้ำขนาดใหญ่ – กลาง ในช่วงภาวะวิกฤติ

มาตรการที่ 4 ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำ สถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) ตรวจสอบสภาพความมั่นคงและซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำ

มาตรการที่ 5 ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) สำรวจและจัดทำแผนดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการพื้นที่น้ำท่วม/พื้นที่ชะลอน้ำ และการปรับปรุงคูคลองเพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำและระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

มาตรการที่ 6 ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) จัดทำแผนบูรณาการด้านเครื่องจักร เครื่องมือ/สารชีวภัณฑ์ ในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช และดำเนินการขุดลอกคูคลอง ประชาสัมพันธ์และเชิญชวนประชาชนในชุมชนช่วยกันจัดเก็บหรือกำจัดผักตบชวา

มาตรการที่ 7 เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ (ภายในเดือนกรกฎาคม 2565) เตรียมความพร้อมแผนป้องกัน แผนเผชิญเหตุ ความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักร พร้อมใช้งานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ฝนน้อยกว่าค่าปกติ ฝนทิ้งช่วง สำหรับให้ความช่วยเหลือได้ตลอด 24 ชั่วโมง ปฏิบัติการฝนหลวงในช่วงฝนทิ้งช่วง

มาตรการที่ 8 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ลดการสูญเสียน้ำโดยการปรับปรุงวิธีการส่งน้ำและซ่อมแซมระบบการส่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการใช้น้ำให้ได้ประโยชน์สูงสุด

มาตรการที่ 9 ตรวจความมั่นคงและปลอดภัยคัน/ทำนบ/พนังกั้นน้ำ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) ตรวจสอบความมั่นคง แข็งแรงของคันกั้นน้ำ ทำนบ และพนังกั้นน้ำ และซ่อมแซม/ปรับปรุงให้มีสภาพดี

มาตรการที่ 10 จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ (ภายในเดือนพฤษภาคม 2565) จัดเตรียมพื้นที่อพยพและซักซ้อมแผนเผชิญเหตุระดับต่าง ๆ อย่างน้อยภาคละ 1 พื้นที่

มาตรการที่ 11 ตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)

มาตรการที่ 12 การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ (ก่อนฤดูฝน-ตลอดช่วงฤดูฝน) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์เครือข่ายต่าง ๆ และประชาชน

มาตรการที่ 13 ติดตาม ประเมินผล และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย (ตลอดช่วงฤดูฝน)

ทั้งนี้ มาตรการที่ 9 – 11 เป็นมาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั้ง 13 มาตรการ เป็นการบูรณาการทำงานของทุกหน่วยงานเกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ครอบคลุมทั้งการวางแผน การซ่อมแซม/ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ เช่น อาคารบังคับน้ำ ประตูระบายน้ำ แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ และกำจัดผักตบชวา ขุดลอกคูคลอง เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมทั้งเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อเก็บกักไว้ใช้ช่วงฤดูแล้ง ซึ่งนายกรัฐมนตรียังกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากพื้นที่เสี่ยงการเกิดอุทกภัยด้วย

อนุมัติประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 224 ล้าน

ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 วงเงิน 224.44 ล้านบาท มีพื้นที่เป้าหมาย Tier 1 จำนวน 2.06 ล้านไร่ พื้นที่ Tier 2 จำนวน 6 หมื่นไร่ เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2565 มีรูปแบบเช่นเดียวกันกับปีการผลิต 2564 โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 ร้อยละ 60 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุนค่าเบี้ยประกัน Tier 1 ร้อยละ 40 ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

ค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ค่าเบี้ยประกันภัย 160 บาทต่อไร่ พื้นที่เป้าหมาย 2 ล้านไร่ โดยรัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 96 บาทต่อไร่ (ร้อยละ 60) และ ธ.ก.ส.จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้อีก 64 บาทต่อไร่ (ร้อยละ 40) และกลุ่มลูกค้าเกษตรกรทั่วไป ค่าเบี้ยประกันภัยแยกเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 150 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 350 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 550 บาทต่อไร่ รวมพื้นที่เป้าหมายไม่เกิน 6 หมื่นไร่ โดยรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 90 บาทต่อไร่เท่ากันทุกพื้นที่ความเสี่ยง

ค่าเบี้ยประกันภัยแบบสมัครใจ Tier 2 ซึ่งเกษตรกรซื้อเพิ่มเติมและจะต้องจ่ายค่าเบี้ยเองตามระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ คือ พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 90 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 100 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 110 บาทต่อไร่ โดยมีพื้นที่เป้าหมายไม่เกิน 6 หมื่นไร่

สำหรับวงเงินความคุ้มครอง ครอบคลุมภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดและภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ช้างป่า โดย Tier1 ให้วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติจำนวน 1,500 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด จำนวน 750 บาทต่อไร่ ส่วน Tier2 ให้วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติจำนวน 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด จำนวน 120 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถซื้อกรมธรรม์ได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา

“จากผลการดำเนินโครงการในปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา (ณ 15 มกราคม 2565 สิ้นสุดจำหน่ายกรมธรรม์) มีเกษตรกรผู้เอาประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 จำนวน 99,335 ราย มีพื้นที่เข้าร่วมประกันภัยจำนวน 1.60 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 55.78 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรร่วมทำประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นการลดความสูญเสียหากเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืชหรือโรคระบาด สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถซื้อกรมธรรม์ได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา” ดร.รัชดากล่าว

เห็นชอบประกันภัยข้าวนาปี 1.92 พันล้านบาท

ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2565 วงเงิน 1,925.07 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐ ในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวให้กับเกษตรกร เมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งรูปแบบโครงการส่วนในปีนี้จะมีลักษณะเช่นเดียวกันกับปี 2564 โดยรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 ร้อยละ 60 และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย Tier 1 ร้อยละ 40 ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

ค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ค่าเบี้ยประกันภัย 99 บาทต่อไร่ พื้นที่เป้าหมาย 28 ล้านไร่ โดยรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 59.40 บาทต่อไร่ (ร้อยละ 60) และ ธ.ก.ส.จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้อีก 39.60 บาทต่อไร่ (ร้อยละ 40) และกลุ่มลูกค้าเกษตรกรทั่วไป ค่าเบี้ยประกันภัยแยกเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 99 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 199 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 218 บาทต่อไร่ รวมพื้นที่เป้าหมายไม่เกิน 5 แสนไร่ โดยรัฐอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 59.40 บาทต่อไร่เท่ากันทุกพื้นที่ความเสี่ยง

ค่าเบี้ยประกันภัยแบบสมัครใจ Tier 2 พื้นที่เป้าหมาย 5 แสนไร่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องเป็นผู้ชำระเอง แบ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงต่ำ 27 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง 60 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงสูง 110 บาทต่อไร่

สำหรับวงเงินความคุ้มครอง ครอบคลุมภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาดและภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ช้างป่า โดย Tier1 ให้วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติจำนวน 1,190 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด จำนวน 595 บาทต่อไร่ ส่วน Tier2 ให้วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติจำนวน 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด จำนวน 120 บาทต่อไร่

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2564 ที่ผ่านมา (ณ 31 ธันวาคม 2564 สิ้นสุดจำหน่ายกรมธรรม์) มีเกษตรกรผู้เอาประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 จำนวน 3.66 ล้านราย มีพื้นที่เข้าร่วมประกันภัยจำนวน 43.39 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 96.41 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมาย ทั้งนี้ รัฐบาลขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรร่วมทำประกันภัยข้าวนาปี เพื่อเป็นการลดความสูญเสียหากเกิดความเสียหายจากภัยธรรมชาติและศัตรูพืชหรือโรคระบาด สำหรับเกษตรกรที่สนใจสามารถซื้อกรมธรรม์ได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา

ผ่านแผนบริหารจัดการประมงไทยครบวงจร 2,970 ล้าน

ดร.รัชดา กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของไทย พ.ศ.2563 – 2565 วงเงิน 2,970 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงานในการดำเนินการ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ซึ่งเป็นแผนการดำเนินงานต่อเนื่องจากแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของไทย พ.ศ. 2558 – 2562 โดยมีเป้าประสงค์ 5 ด้าน ดังนี้

1.ทรัพยากรประมงฟื้นคืนสู่ระดับที่เหมาะสมและขยายการทำประมงอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการ อาทิ 1)ควบคุมจำนวนเรือประมงและใบอนุญาตอย่างเข้มงวด และจัดสรรจำนวนวันทำการประมงของเรือให้เหมาะสม 2)กำหนดขนาดตาอวนที่เหมาะสมเพื่อลดการจับลูกสัตว์น้ำ 3)สร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลอย่างต่อเนื่อง 4)ดำเนินโครงการธนาคารสัตว์น้ำ

2.การประมงที่ปลอดจากการทำการประมง IUU (การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated (Fishing)) โดยมีมาตรการ อาทิ 1)ทบทวนความก้าวหน้าแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำการประมง IUU (Thailand NPOA-IUU) 2)เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการติดตาม/การตรวจสอบย้อนกลับ และ 3)ร่วมมือกับหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น ศูนย์พัฒนาการประมงแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การบริหารจัดการประมงระดับภูมิภาค เป็นต้น

3.แหล่งอาศัยของสัตว์น้ำและสิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์ โดยมีมาตรการ อาทิ 1)ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการังได้รับการฟื้นฟู 2)บริหารจัดการทรัพยากรประมงเชิงระบบนิเวศน์สำหรับชุมชนชายฝั่งและจัดตั้งพื้นที่อนุรักษ์ 3)นำขยะทะเลคืนฝั่งและจัดตั้งธนาคารขยะทะเล 4)ลดการใช้ถุงพลาสติกในเรือประมงพาณิชย์และประเมินปริมาณขยะที่พื้นท้องน้ำอ่าวไทย

4.การปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงชายฝั่ง โดยมีมาตรการ อาทิ 1)สร้างความเข้มแข็งให้กับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด 2)จัดทำระบบบันทึกจำนวนเรือประมงพื้นบ้าน 3)ให้สิทธิการทำประมงตามความเหมาะสมและเป็นธรรม 4)ปรับปรุงกระบวนการหลังการจับสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำ เพิ่มช่องทางการตลาด การลดการเกิดของเสีย เป็นต้น

5.ศักยภาพในการบริหารจัดการประมง อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีมาตรการ อาทิ 1)พัฒนาระบบการจัดการข้อมูลประมงที่เชื่อมโยงแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อใช้ในการประเมินกลุ่มประชากรสัตว์น้ำ 2)ฝึกอบรมและสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการการประมง

ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า จากผลการดำเนินงานตามแผนการบริหารจัดการประมงทะเลของไทย พ.ศ. 2558 – 2562 ที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ของการประมงทะเลของไทยมีการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลายประเด็น เช่น การบังคับใช้กฎหมายสำหรับการทำประมง IUU มีความเข้มแข็งขึ้น มาตรการในการควบคุมเรือประมงที่ผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ความหลากหลายทางชีวภาพถูกฟื้นฟูให้มีความสมบูรณ์ขึ้น เป็นต้น

มอบสภาพัฒน์ฯชงแผนพัฒนาฯฉบับ 13 เข้าที่ประชุมสภา

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะนำมาใช้ในปี 2566 – 2570 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เสนอ และมอบหมายให้ สศช.นำเสนอร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13นี้ต่อรัฐสภาเพื่อทราบ ก่อนกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

สำหรับร่างแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 เป็นแผนระดับที่ 2 ซึ่งเป็นกลไกที่สำคัญในการแปลงยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติและกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ประเทศควรมุ่งเน้นในระยะ 5 ปีถัดไปคือปี 2566 – 2570 เพื่อให้ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ตามเจตนารมณ์ของยุทธศาสตร์ชาติ มีสาระสำคัญ เช่น หลักการและแนวคิด 4 ประการคือ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง, การสร้างความสามารถในการ “ล้มแล้ว ลุกไว”, เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ และการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio – Circular – Green Economy : BCG) วัตถุประสงค์ คือ พลิกโฉมประเทศไทยสู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน”

ขณะที่เป้าหมายหลักของการพัฒนามี 5 ประการ ได้แก่ การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม, การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่, การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม,การเปลี่ยนผ่านการผลิตและบริโภคไปสู่ความยั่งยืน และการเสริมสร้างความสามารถของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงภายใต้บริบทโลกใหม่

โดยมีตัวชี้วัดที่สำคัญได้แก่ รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 9,300 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 300,000 บาท โดยปี 2564 รายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 7,097 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 227,000 บาท, ดัชนีความก้าวหน้าของคนอยู่ในระดับสูง เท่ากับ 0.7209 โดยปี 2563 อยู่ที่ 0.6501, ความแตกต่างของความเป็นอยู่หรือรายจ่าย ระหว่างกลุ่มประชากรที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงสุดร้อยละ 10 และต่ำสุดร้อยละ 40 มีค่าต่ำกว่า 5 เท่า โดยปี 2562 มีค่าเท่ากับ 5.66 เท่า, ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบเคียงกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกปกติที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยปี 2561การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานลดลงร้อยละ 16 และดัชนีรวมสะท้อนความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงมีค่าไม่ต่ำกว่า 100

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หมุดหมายการพัฒนาของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 มีทั้งหมด 13 หมุดหมาย จำแนกออกเป็น 4 มิติ ได้แก่ 1.มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย จำนวน 6 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง, ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน, ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก,ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง,ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค และไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยและอุตสาหกรรมดิจิทัลของอาเซียน

2.มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม มี 3 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูงและสามารถแข่งขันได้, ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน และไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม

3)มิติความยั่งยืน ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ และไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4)มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย ได้แก่ ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และไทยมีภาครัฐที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน

เว้นคืนที่ดิน “บางเขน-สายไหม” ขยายถนนเชื่อม “รามอินทรา-เทพารักษ์”

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงอนุสาวรีย์ แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน และแขวงคลองถนน เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว เพื่อสร้างและขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนรามอินทรากับถนนเทพรักษ์ มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณสามแยกลาดปลาเค้า ถนนรามอินทรา มุ่งหน้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือขนานระหว่างซอยรามอินทรา 17 และซอยรามอินทรา 19 ไปบรรจบถนนเทพรักษ์ ขนาดเขตทางกว้าง 30 เมตร ยาวประมาณ 2,200 เมตร โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 6 ช่องจราจร ไป –กลับ เพื่อบรรเทาความหนาแน่นของการจราจรในพื้นที่เขตบางเขนและเขตสายไหม

ทั้งนี้ กทม. จำเป็นต้องกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนท้องที่ดังกล่าว เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด โดยให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้กทม.ได้จัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินโครงการเรียบร้อยแล้ว โดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการ และทางสำนักงบประมาณได้แจ้งว่า กทม.มีแผนการจัดกรรมสิทธิ์และการเบิกจ่ายค่าทดแทน ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 – ธันวาคม 2567 ประมาณการค่าจัดกรรมสิทธิ์จำนวน 1,321 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณของกทม.

แก้ พ.ร.บ.เวนคืนที่ดิน ไม่ตัดสิทธิผู้รับเงินทดแทนเกินเวลาที่ กม.กำหนด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 3 พ.ค. 2565 ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ (ฉบับที่…) พ.ศ…. โดยมีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 เพื่อแก้ไขบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวข้องกับระยะเวลาการขอรับทรัพย์สินหรือเงินของเจ้าของ รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางส่วนเพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประชาชนได้รับความคุ้มครองในเรื่องสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลอย่างเป็นธรรม

สำหรับบทบัญญัติที่มีการแก้ไข ประกอบด้วย การกำหนดให้ในการรื้อถอนโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาฯ เจ้าหน้าที่มีหน้าที่แจ้งให้เจ้าของทรัพย์มารับทรัพย์สินที่เจ้าหน้าที่รื้อถอนคืนไปภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วเจ้าของไม่มารับทรัพย์สินคืนไป ให้เจ้าหน้าที่ขายทรัพย์สินนั้นโดยวิธีการขายทอดตลาดหรือวิธีอื่นตามที่เห็นสมควรแล้วนำเงินที่ได้จากการขายส่งคืนแก่เจ้าของทรัพย์สิน หากเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้ขยายทรัพย์สินนั้นและเจ้าของมารับคืน ให้เจ้าหน้าที่คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่เจ้าของไป ในส่วนนี้ได้แก้ไขจากเดิมที่กฎหมายได้กำหนดว่า กรณีที่เจ้าของไม่ได้เรียกเอาทรัพย์สินหรือเงินที่เจ้าหน้าที่เก็บรักษาไว้ ภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีการรื้อถอนหรือขนย้าย ให้ทรัพย์สินหรือเงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ประเด็นต่อมาที่มีการแก้ไข คือ ในกรณีผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนไม่มารับภายใน 5 ปี นับแต่วันที่มีสิทธิขอรับเงินค่าทดแทนหรือนับแต่วันที่คดีถึงที่สุดหรือนับแต่วันที่ได้ฝากเงินไว้ ให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ถอนเงินค่าทดแทนที่วางไว้ต่อศาล หรือสำนักงานวางทรัพย์ หรือฝากไว้ที่ธนาคารออมสิน เพื่อส่งคืนคลัง โดยไม่ตัดสิทธิของผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนที่จะยื่นคำร้องขอรับเงินค่าทดแทนคืนภายหลังจากพ้นระยะเวลาดังกล่าว ส่วนนี้แก้ไขจากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดว่า เงินค่าทดแทนที่วางไว้ถ้าผู้มีสิทธิไม่ไปขอรับเงินภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีหนังสือแจ้งหรือวันที่ปิดประกาศ ให้เงินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน

นอกจากนี้ มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้บุคคลผู้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลครอบคลุมถึงผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนในทุกกรณี โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน ซึ่งผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทน ได้แก่ เจ้าของที่ดินที่ต้องเวนคืน เจ้าของโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง หรืออสังหาริมทรัพย์อื่น เจ้าของต้นไม้ยืนต้นที่ขึ้นอยู่ในที่ดิน หรือผู้เช่าช่วงที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินที่ต้องเวนคืน บุคคลผู้เสียสิทธิในการใช้ทางวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้าผ่านที่ดินที่ต้องเวนคืนและผู้ที่ได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องออกจากอสังหาฯ ที่ต้องเวนคืน ในส่วนนี้ แก้ไขจากบทบัญญัติเดิมที่กำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองซึ่งอสังหาฯ โดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลและมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทน

เห็นชอบทำ MOU สร้างสวนรุกขชาติ ไทย-ลาว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่าที่ประชุม ครม.อนุมัติการจัดทำและเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลลาวว่าด้วยโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติ ไทย-ลาว พร้อมอนุมัติให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯดังกล่าว โดยหากจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงร่างบันทึกความเข้าใจฯในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอครม.อีกครั้ง และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็มให้แก่อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

สำหรับการจัดสร้างสวนรุกชาติไทย-ลาว เป็นโครงการสำคัญตามกรอบการดำเนินงานความร่วมมือไทย-ลาวปี 2561-2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงมิตรภาพและความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกัน เพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชที่มีค่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติแบบยั่งยืนของลาว และเพื่อสร้างความร่วมมือของนักพฤกษศาสตร์ในการศึกษาด้านพันธุ์ไม้ของสองประเทศ โดยสวนรุกขชาติไทย-ลาว ได้ดำเนินการจัดทำโครงการในเขตโรงเรียนมัธยมสมบูนนาซอน บ้านนาซอน เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 ไว้สำหรับดำเนินการในเรื่องนี้จำนวน 10.95 ล้านบาท แต่ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างและเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จได้ทันตามกำหนดเวลา เนื่องจากความล่าช้าในขั้นตอนการอนุญาตเข้าปฏิบัติงาน จึงทำให้งบประมาณสำหรับการก่อสร้างตกพับไป และบันทึกความเข้าใจฉบับเดิมได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2564

อย่างไรก็ตามทั้งสองฝ่ายยังมีความประสงค์จะดำเนินโครงการจัดสร้างสวนรุกขชาติไทย-ลาวต่อไป ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงได้เสนอให้ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจฯฉบับใหม่ในครั้งนี้ โดยยังคงมีเนื้อหาเหมือนฉบับเดิม แต่ได้ปรับขยายระยะเวลาดำเนินโครงการออกไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อดำเนินโครงการแล้วจำนวน 10.95 ล้านบาท จากงบประมาณโครงการรวม 15.24 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจำนวน 4.29 ล้านบาท เป็นงบประมาณในส่วนของการฝึกอบรมในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะตั้งของบประมาณเพิ่มเติมเมื่อจัดสร้างสวนรุกชาติไทย-ลาว เสร็จเรียบร้อยแล้วต่อไป

โยก “เอกนิติ” ไปสรรพสามิต “ลวรณ” คุมสรรพากร-“หมอทวีสิน” นั่งบอร์ดออมสิน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในเรื่องแต่งตั้ง วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ดังนี้

1. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง (สำนักนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอรับโอนข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง สังกัดสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 2 ราย เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามกรอบอัตรากำลังที่ว่าง ดังนี้

    1.นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

    2. นายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำรงตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นต้นไป โดยผู้มีอำนาจสั่งบรรจุทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว

2. การแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอ ให้คณะกรรมการธนาคารออมสินมีจำนวนเกินสิบเอ็ดคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน (นับรวมประธานกรรมการและกรรมการอื่นที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง และผู้อำนวยการธนาคารออมสินซึ่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง) ตามมาตรา 6 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และแต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการธนาคารออมสิน เพิ่มเติม จำนวน 4 คน ดังนี้

    1. ผู้ช่วยศาสตราจารย์อนามัย ดำเนตร
    2. นายวิษณุ ตัณฑวิรุฬห์
    3. นายรังสรรค์ ธรรมมณีวงศ์
    4. นายทวีศิลป์ วิษณุโยธิน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป โดยผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

3. การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ แทนตำแหน่งที่ว่า

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้งนายรุจิโรจน์ อนามบุตร เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการผังเมือง) ในคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองแห่งชาติ แทน นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเดิมที่ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป และผู้ได้รับแต่งตั้งแทนนี้อยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

4. การแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญประเภทบริหารระดับสูง (กระทรวงการคลัง)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอโอนข้าราชการพลเรือนสามัญในสังกัดไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในประเภทบริหารระดับสูง เพื่อการสับเปลี่ยนหมุนเวียน จำนวน 2 ราย ดังนี้

    1. โอน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพากร ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพสามิต
    2. โอน นายลวรณ แสงสนิท อธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพสามิต ไปดำรงตำแหน่งอธิบดี (นักบริหารสูง) กรมสรรพากร

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง

อ่าน มติ ครม.ประจำวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 เพิ่มเติม

ป้ายคำ :