ThaiPublica > คอลัมน์ > รัฐบาลลดภาษีน้ำมันดีเซล แต่โรงกลั่นฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่น!

รัฐบาลลดภาษีน้ำมันดีเซล แต่โรงกลั่นฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่น!

21 พฤษภาคม 2022


ประสาท มีแต้ม

ผมขอเริ่มต้นด้วยข่าวที่ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภคจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(17พ.ค.2565) ที่ว่า “ครม.ได้อนุมัติลดเก็บภาษีน้ำมันดีเซลทุกรายการลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยการลดภาษีดังกล่าว ทำให้กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้เดือนละ 5.7 พันล้านบาท รวม 3 เดือน สูญเสียรายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นต้องดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือพยุงราคาน้ำมันร่วมกับกระทรวงพลังงาน” (ไทยโพสต์ 17 พ.ค.2565)

ในขณะที่ข่าวไทยรัฐออนไลน์ได้นำเสนอว่า “ในรอบใหม่นี้จะลดลงประมาณ 5 บาทต่อลิตร เริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. – 20 ก.ค. 2565 เป็นเวลา 2 เดือน และจะพิจารณาทีละ 2 เดือน”

พิจารณาจาก 2 แหล่งนี้ก็พบว่ามีความสับสนกันอยู่นิดหน่อย คือจะลดจากกี่บาทลงมาเหลือกี่บาทและนานกี่เดือนกันแน่ แต่เมื่อผมได้ฟังการสัมภาษณ์ปลัดกระทรวงพลังงาน(คุณกุลิศ สมบัติศิริ) จากรายการเจาะลึกทั่วไปฯ (19 พ.ค.2565) พอสรุปได้ว่า จะลดภาษีสรรพสามิตเฉพาะกลุ่มดีเซลเท่านั้น โดยลดลง 5 บาทต่อลิตร พร้อมกับได้เท้าความว่า “คราวที่แล้วได้ลดภาษีลง 3 บาทต่อลิตร โดย 2 บาทเป็นการเอาไปช่วยเหลือกองทุนน้ำมันซึ่งขาดทุนอยู่หลายหมื่นล้านบาท และอีก 1 บาทเพื่อลดราคาหน้าปั๊มให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังบอกว่ากระทรวงพลังงานมีเป้าหมายว่าจะควบคุมไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลเกิน 35 บาทต่อลิตร”

เพื่อความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว ผมจึงได้สืบค้นข้อมูลโดยเริ่มต้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก(ดูไบ)และ อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับเงินดอลลาร์ (ดังรูปแรก) ทำให้เราทราบว่าราคาน้ำมันดิบในวันที่ 19 พ.ค.2565 เท่ากับ 22.98 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเท่ากับ 33.88 บาทต่อลิตร

ขอย้ำว่าเป็นราคาหน้าโรงกลั่นนะครับ ยังไม่รวมภาษีและค่าอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับมาตรการของรัฐ

สิ่งที่ผมได้นำเสนอไปแล้ว คือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก (22.98 บาทต่อลิตร) และราคาน้ำมันสำเร็จรูปดีเซลหน้าโรงกลั่น (33.88 บาทต่อลิตร) เราอาจจะสงสัยว่าผลต่างของราคาที่เพิ่มขึ้นประมาณ 10 บาทต่อลิตรนั้นเป็นราคาที่เป็นธรรมหรือไม่

ในวงการธุรกิจน้ำมัน เขามีศัพท์อยู่คำหนึ่งคือ “ค่าการกลั่นรวม (Gross Refinery Margin)” ซึ่งหมายถึงผลต่างระหว่างมูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่กลั่นได้ทุกชนิดรวมกัน(ที่หน้าโรงกลั่น) กับราคาน้ำมันดิบที่โรงกลั่นเช่นเดียวกัน นั่นคือ ยังไม่รวมค่าขนส่งน้ำมันดิบจากตลาดโลกมาถึงโรงกลั่น

คำถามก็คือ ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าไหร่จึงจะเป็นธรรมกับผู้บริโภคและเจ้าของโรงกลั่น

จากคำให้สัมภาษณ์ของปลัดกระทรวงพลังงาน (ในรายการเจาะลึกทั่วไทยฯ) ได้ความว่าทางกระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาค่าการกลั่นอยู่ พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ผมก็ไปเจรจาเปิดข้อมูลมาดู ค่าการกลั่นมีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย และเป็นตลาดเสรีด้วย”

เมื่อพิธีกรในรายการตั้งคำถามแบบชี้นำว่า “ตอนนี้ค่าการกลั่นประมาณ 12-13 ดอลลาร์ (หรือ 2.61-2.83 บาทต่อลิตร) ใช่ไหม” ปลัดกระทรวงพลังงานตอบว่า “ใช่ และกำลังเจรจาให้เขาลดลงมาอีก”

ผมรู้สึกแปลกๆกับคำตอบของปลัดกระทรวงพลังงานท่านนี้มาก โดยเฉพาะใน 2 ประเด็นคือ “เขามีต้นทุนอย่างอื่นอยู่ด้วย” และ “กิจการโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี”

ผมไม่ทราบว่าต้นทุนอย่างอื่นของโรงกลั่นคืออะไร แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองพบว่า นับตั้งแต่ปี 2559 จนถึงเดือนมกราคมปี 2565 ค่าการกลั่นรวมไม่ถึง 2 บาทต่อลิตร (ยกเว้นปี 2560 และ 2561 ที่เกินมาเล็กน้อย) ซึ่งในช่วงเวลา 6 ปีเศษ อัตราภาษีสรรพสามิตของน้ำมันดีเซลลิตรละ 5.99 บาทมาตลอด

แต่พอรัฐบาลลดภาษีลงมาเหลือ 3.20 บาท ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จาก 1.35 บาทต่อลิตรในเดือนมกราคม 2565 จนมาอยู่ที่ 5.15 และ 5.82 บาทต่อลิตรในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ดูภาพประกอบ

โปรดดูรูปประกอบอีกครั้งครับ พอรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตลงมาเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน แต่เจ้าของโรงกลั่นน้ำมันก็ฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นในเดือนเมษายนและพฤษภาคมเพื่อให้เห็นภาพของปัญหาได้ชัดเจนขึ้น ผมได้นำเสนอข้อมูลสำคัญใน 2 ช่วงเวลาคือ 27 กันยายน 2564 และ 19 พฤษภาคม 2565 (ดังภาพประกอบ)


จากภาพ ผมได้ใช้ปากกาวงไว้ 4 ก้อน เราจะเห็นว่า เมื่อภาษีสรรพสามิตลดลง ค่าการกลั่นรวมก็เพิ่มขึ้นจาก 1.15 บาทต่อลิตรเป็น 5.82 บาทต่อลิตร หรือเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว

ในปี 2564 คนไทยใช้น้ำมันสำเร็จรูปจำนวน 134 ล้านลิตรต่อวัน หากมีการคิดค่าการกลั่นรวมสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นสัก 3 บาทต่อลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าที่ถูกปล้นไปถึงวันละ 500 ล้านบาท

ที่น่าสังเกตก็คือ ในเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาทเพื่อเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยถึง 9.30 บาทต่อลิตร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่คือหนี้ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายคืนในภายหลัง เมื่อราคาน้ำมันลดลง

กลับมาที่ คำถามที่ผมได้ตั้งไว้ตั้งแต่ต้น คือเรื่องความเป็นธรรมในการกำหนดค่าการกลั่นรวม

เราในฐานะผู้บริโภคไม่มีทางทราบได้หรอกว่า ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าใดจึงจะเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าของโรงกลั่นกับผู้บริโภค แต่การที่โรงกลั่นคิดค่าการกลั่นไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรติดต่อกันมานานอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปีเต็ม ก็แสดงว่า ค่าการกลั่นที่ผ่านมาจึงเป็นที่พอใจของเจ้าของโรงกลั่นแล้ว มีกำไรแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับค่าการกลั่นในต่างประเทศ

ถ้ากิจการกลั่นน้ำมันมี “ต้นทุนอย่างอื่น” อยู่จริง แล้วทำไมในปีอื่นๆ จึงมีค่าต่ำกว่านี้มาตลอดอย่างน้อย 6 ปีเต็ม

ถ้าจะอ้างว่าเป็นสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนในการกลั่นน้ำมันสูงขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะต้นทุนในการกลั่น เช่น ค่าแรง ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าสึกหรอของเครื่องจักร ก็ยังคงเท่าเดิม

หากเรายึดเอาตามนิยามของ “ค่าการกลั่นรวม” คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป(ที่โรงกลั่น)แล้วลบด้วยราคาน้ำมันดิบ(ที่หน้าโรงกลั่น) ทั้งตัวตั้ง(คือมูลค่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป) และตัวลบ(คือราคาน้ำมันดิบ) ซึ่งทั้งสองตัวก็มีราคาสูงขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้(คือค่าการกลั่นรวม) จึงควรจะเท่าเดิม(หากค่าใช้จ่ายในการกลั่นเท่าเดิม)

จริงไหมครับ (หยุดคิดสักครู่)

ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่า การขึ้นค่าการกลั่นรวมจึงเป็นการฉวยโอกาสของเจ้าของโรงกลั่นนั่นเอง

อยากเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงพลังงานอธิบายว่า “ต้นทุนอื่นคืออะไร” นอกจากนี้การที่ปลัดกระทรวงพลังงานอ้างว่า ธุรกิจโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี มันเสรีจริงหรือ หรือเสรีที่จะกำหนดราคาเอาตามอำเภอใจกระนั้นหรือ

ตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผู้บริโภคได้เลือกรัฐบาลให้ไปเป็นผู้กำกับดูแลกติกาให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทั้งนี้ ต้องอย่างโปร่งไส และตรวจสอบได้

แต่รัฐบาลนี้กำลังทำอะไรอยู่จึงได้ปล่อยให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ และนับจากวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 อัตราภาษีสรรพสามิตจะลดลงอีก(คาดว่าจะเหลือประมาณ 1 บาทต่อลิตร) เจ้าของโรงกลั่นจะฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นรวมไปอีกเท่าใด

ผู้บริโภคต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบนะครับ มิเช่นนั้นเราจะถูกเขาเอาเปรียบตลอดไป