ThaiPublica > คอลัมน์ > ไฟฟ้าแพงเพราะความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาล

ไฟฟ้าแพงเพราะความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาล

22 มีนาคม 2022


ประสาท มีแต้ม

เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้วกระทรวงพลังงานโดยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกมาให้ข่าวว่าจะมีการขึ้นค่าไฟฟ้าในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือที่เราเรียกว่าค่าเอฟที อีกประมาณ 24 สตางค์ต่อหน่วยในเดือนพฤษภาคม หลังจากที่ได้ขึ้นมาแล้ว 16.71 สตางค์เมื่อเดือนมกราคมปีนี้เอง ไม่เพียงเท่านั้น ทางเลขาธิการ กกพ. ได้ตอบคำถามของผู้ดำเนินรายการทีวีช่องหนึ่งว่าในช่วงสุดท้ายของปีก็จะขึ้นอีก เรียกว่าขึ้นกันยาวเลย

เหตุผลสำคัญในการขึ้นราคาตั้งแต่เริ่มต้นปีที่ผ่านมา (ซึ่งยังไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน) ก็คือราคาก๊าซธรรมชาติขึ้นราคา แต่เมื่อสงครามเกิดแล้วราคาก๊าซธรรมชาติก็พุ่งกระฉูดขึ้นไปอีก ข่าวจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องถึงกับกล่าวว่า “ตั้งแต่ทำเรื่องค่าเอฟทีมา 30 ปี (90 ครั้ง) ครั้งนี้วิกฤติที่สุด” เพราะหากไม่มีการบริหารด้านการเงินค่าเอฟทีควรจะขึ้นถึง 129.9 สตางค์ต่อหน่วย คิดดูก็แล้วกันว่ามันจะวิกฤติขนาดไหนครับ

ทาง กกพ. อ้างว่าเป็นเพราะราคาก๊าซฯ สูงขึ้นมาก โดยที่ประเทศเราใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าประมาณ 55-65% ของไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 2 แสนล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่าไฟฟ้าทั้งหมด (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าบริการ) ประมาณ 7 แสนล้านบาทในปี 2564

นี่แหละครับคือเหตุผลที่ผมตั้งชื่อบทความนี้ว่า ไฟฟ้าแพงเพราะความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาล

ทำไมผมจึงได้สรุปอย่างนั้น

เราท่อง “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กันอย่างนกแก้วนกขุนทอง แต่หารู้ไหมว่าในห่วงที่ 3 มีคำว่า “ความมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” คำถามก็คือ เรามีภูมิคุ้มกันในเรื่องราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบมากน้อยแค่ไหน

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานเองพบว่า ในปี 2561 ประเทศเราสามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ 34% ของการใช้ทั้งหมด แต่ได้ลดลงมาเหลือเพียง 26% ในปี 2564

นี่มันสะท้อนว่าภูมิคุ้มกันของเราซึ่งน้อยอยู่แล้วได้ลดต่ำลงจาก 1 ใน 3 เหลือเพียง 1 ใน 4 ของระดับที่ควรจะเป็น แต่เมื่อทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบเป็นกิจการที่ผูกขาด พ่อค้าพลังงานซึ่งมักจะอยู่เบื้องหลังผู้นำประเทศจึงสามารถปั่นราคาได้อย่างง่ายดาย รวมถึงการก่อสงครามเพื่อหวังผลประโยชน์จากการค้าพลังงานฟอสซิล กรณีสงครามอ่าวเปอร์เซียเมื่อปี 2534 ระหว่างสหรัฐอเมริกา อิรัก และคูเวต คือตัวอย่างที่ชัดเจนมาก

ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ อดีต ส.ส. เยอรมนี ผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมของโลกได้เคยเปิดเผยว่า 1 ใน 3 ของงบประมาณทางการทหารของสหรัฐอเมริกาใช้ไปกับการปกป้องแหล่งปิโตรเลียมของบริษัทของตนเอง

สถานการณ์ด้านพลังงานของประเทศเราในปัจจุบันนี้ก็เหมือนคนที่มีโรคประจำตัวอยู่ก่อนแล้วติดโควิด-19 ซ้ำ คือจะวิกฤติ เสี่ยงตายมากกว่าคนปกติ เรื่องนี้รัฐบาลชุดนี้เองก็รู้ดีมาก แต่ทำไมจึงเชื่อมโยงไปไม่ถึงเรื่องพลังงานซึ่งมีมูลค่าเกือบ 2 ล้านล้านบาทต่อปี มันผิดปกติวิสัยเป็นอย่างมาก

แต่พอเจอวิกฤติพลังงาน รัฐมนตรีพลังงานก็แนะนำว่า “ให้รู้จักประหยัด ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” นายกรัฐมนตรีก็กรุณาแนะนำว่า “ให้เปิดแอร์ที่ 27 องศาพร้อมกับพัดลม” ซึ่งก็เป็นความจริง แต่ผมว่าน่าจะไม่ใช่คำแนะนำในฐานะผู้นำประเทศ

อ้อ อีกอย่างหนึ่งครับ

ด้วยความที่พลังงานฟอสซิลซึ่งได้แก่ ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบนั้น เป็นกิจการที่สามารถคอร์รัปชันได้ง่ายและเป็นกอบเป็นกำเสียด้วย รัฐบาลจึงชอบที่จะเดินตามเส้นทางนี้

บทความนี้ผมตั้งใจจะพูดเรื่องนโยบายเป็นหลักและพูดเรื่องเทคนิคให้น้อย จึงขอกลับมาที่ห่วงที่ 2 ของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ “ความมีเหตุผล”

เหตุผลหลักของมนุษย์ก็คือ การให้คุณค่าและการเคารพในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มนุษย์เราต่างจากสัตว์อื่นๆ ที่นอกเหนือจากสรีระของร่างกายแล้ว ก็คือการยึดถือหลักของคุณค่าของความเป็นมนุษย์นั่นเอง

คุณค่าหลัก 2 ประการของความเป็นมนุษย์ คือ (หนึ่ง) ความเป็นอิสระและ (สอง) ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนก็อบรมลูกของตนในลักษณะนี้ เช่น “อย่าตกเป็นทาสยาเสพติดและอย่าทำอะไรให้คนอื่นเดือดร้อน (นะลูก)”

ถ้าประเทศเราผูกติดกับการใช้พลังงานฟอสซิลจำนวนมากดังที่เป็นอยู่ ก็ต้องถือว่าเราได้ละเมิดคุณค่าหลักของความเป็นมนุษย์และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปด้วยแล้ว

เรือบรรทุกก๊าซ LNG

กลับมาที่การแถลงข่าวของเลขาธิการ กกพ. อีกครั้งครับ ในวันนั้นท่านบอกเหตุผลว่า ราคาก๊าซธรรมชาติจะขึ้นจาก 376 เป็น 422 บาทต่อล้านบีทียู จากสถิติที่ผมสืบค้นได้พบว่า ก๊าซฯ 1 ล้านบีทียูจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 150 หน่วย นั่นคือ ถ้าเราใช้ก๊าซอย่างเดียวผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 100% ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงอย่างเดียวจะเพิ่มจาก 2.51 เป็น 2.81 บาทต่อหน่วย (ค่าเอฟทีขึ้น 30 สตางค์ต่อหน่วย) นี่ยังไม่นับค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ค่าดอกเบี้ย ค่าตอบแทนผู้ถือหุ้น ค่าพนักงาน ค่าสายส่ง ค่าขายปลีก ค่าบริการ และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ราคาก๊าซฯ ไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ล่าสุดเดือนมกราคม 2565 ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซึ่งต้องนำเข้าทางเรือจากต่างประเทศ ราคา 710 บาทต่อล้านบีทียู (4.73 บาต่อหน่วยไฟฟ้า)

ในปี 2564 มูลค่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้สำหรับผลิตไฟฟ้ามีมูลค่ารวมกันไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาท แม้ว่าโดยปริมาณก๊าซฯ ประมาณ 60% เป็นก๊าซที่ผลิตจากแหล่งในประเทศไทย แต่ก็เป็นกิจการผูกขาดโดยบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ รัฐบาลไทยได้รับเฉพาะค่าภาคหลวงและภาษีรายได้ซึ่งเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

แล้วเราจะหลุดจากความเป็นทาสสู่ความเป็นไทได้อย่างไร

ตอบทันทีว่าเราต้องใช้ “ความมีเหตุผล” ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

เราคงจำกันได้เมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้วได้เกิดกระแส “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” โดยเฉพาะการปฏิรูปพลังงาน เมื่อ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ขึ้นมามีอำนาจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า “พลังงานแสงอาทิตย์มีน้อย ไม่มั่นคง กลางคืนจะใช้อะไร แผงหมดอายุแล้วจะเอาของเสียไปไว้ที่ไหน”

ผมขอตอบโดยเอาความจริงจากประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศที่มีแสงน้อยกว่าประเทศไทยอย่างชัดเจนมานำเสนอดังภาพ ซึ่งมีคำตอบทั้งจำนวนมาก/น้อย พร้อมมาตรการบังคับทางกฎหมายที่เป็นไปได้และเป็นไปแล้ว ไม่ใช่แค่การแนะนำอย่างลอยๆ เรื่องการเปิดแอร์พร้อมกับพัดลม

จากข้อมูลของประเทศเยอรมนี ถ้าประเทศไทยเราจะมีนโยบายให้ผลิตจากโซลาร์เซลล์และทำเช่นนั้นบ้างก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลย 5.1 หมื่นล้านหน่วย ถ้าค่าก๊าซสักหน่วยละ 3 บาท เราก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศได้ถึงกว่า 1.5 แสนล้านบาท สถานการณ์พลังงานจะไม่วิกฤติเท่านี้ เพราะแสงแดดไม่สามารถผูกขาดได้และไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อนด้วย

และเรายังสามารถทำให้ได้มากกว่านี้ได้อีกเยอะ

รัฐบาลอินเดียได้ออกระเบียบให้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาโดยรัฐบาลจะอุดหนุน 40% และ 20% สำหรับขนาด 3 กิโลวัตต์ และมากกว่า 3-10 กิโลวัตต์ ตามลำดับ พร้อมกับรับซื้อไฟฟ้าในระบบหักลบกลบหน่วย (net metering) คือรับซื้อในราคาที่เท่ากับราคาการไฟฟ้าขาย ในขณะที่ประเทศไทยรับซื้อเฉพาะส่วนที่เหลือในราคา 2.20 บาทเท่านั้นเป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งๆ ที่อายุการใช้งานนาน 30 ปี เขาคิดได้อย่างไร?

ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ผมตั้งใจจะพูดถึงเชิงนโยบายเป็นส่วนใหญ่ จึงขอพูดถึงนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการใช้ก๊าซฯ อีกสักเล็กน้อย

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่คนไทยใช้มาจาก 3 แหล่ง คือ (1) ผลิตจากในประเทศประมาณ 64% มีราคาต่ำกว่าอีกสองแหล่ง (2) นำเข้าจากประเทศเมียนมา 14% ผ่านท่อก๊าซเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าอย่างเดียว และ (3) นำเข้าทางเรือในรูปของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 22% ซึ่งปัจจุบันราคาสูงมาก โดยสัดส่วนการนำเข้า LNG มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่การผลิตในประเทศมีสัดส่วนลดลง

ผมทราบจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการชุดหนึ่งว่า รัฐบาลได้มีนโยบายให้ภาคอุตสาหกรรมใช้ก๊าซเป็นอันดับความสำคัญสูงก่อน การผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับความสำคัญต่ำ เป็นมติคณะรัฐมนตรี (หรือมติ กพช. ผมฟังไม่ถนัด) ในปี 2538 สมัยรัฐบาลบรรหาร ศิลปะอาชา ผมพยายามค้นหามติดังกล่าวแล้วแต่ไม่พบ

ผมไม่แน่ใจว่าเรื่องดังกล่าวเป็นความจริงหรือความเข้าใจผิดกันหรือไม่ ผมได้ร้องขอเอกสารไปทางฝ่ายเลขานุการแล้วแต่ยังไม่ได้คำตอบ แต่ถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาล

คราวนี้เรามาใช้เหตุผลพิจารณากันว่า จะดีไหมหากรัฐบาลจะกำหนดนโยบายว่า เมื่อมีปัญหาก๊าซฯ ไม่พอใช้ ให้ใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับแรก เพราะกิจการไฟฟ้าเป็นการตอบสนองความอยู่ดีกินดีของประชาชนทุกคน ประชาชนควรจะได้รับสิทธิในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศก่อนภาคส่วนอื่น ส่วนภาคอุตสาหกรรมหากไม่มีก๊าซเหลือก็ให้นำเข้า LNG มาใช้เอง

นี่คือทางออกหนึ่งที่ผมคิดและเชื่อว่ามีความเป็นธรรม

จากเรื่องนโยบายด้านเชื้อเพลิง คราวนี้เรามาดูเรื่องเชิงเทคนิคกันบ้างซึ่งจะขอกล่าวเพียงสั้นๆ คือ

เรื่องการคิดค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติที่ส่งไปป้อนให้โรงไฟฟ้า พบว่ามีการคิดค่าผ่านท่อประมาณ 20% ของราคาเนื้อก๊าซ ซึ่งผมคิดว่าสูงเกินไป นอกจากนี้ค่าผ่านท่อนอกจากคิดตามค่าคงที่ซึ่งได้ลงทุนไปแล้วแล้ว ยังคิดแปรตามราคาก๊าซอีกด้วย ยิ่งราคาก๊าซแพง ค่าผ่านท่อก็แพงตาม

ที่แปลกกว่านั้น โรงไฟฟ้าที่ไม่ได้รับก๊าซฯ เลยเนื่องจากไม่ได้ผลิตไฟฟ้าก็ยังต้องเสียค่าผ่านท่อ

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565 มีค่าผ่านท่อในระบบโรงไฟฟ้าของทั้งประเทศประมาณ 6,700 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าผ่านท่อของโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) จำนวน 6 โรงที่ไม่ได้เดินเครื่องถึง 2,928 ล้านบาท นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 6 นี้ได้รับค่าความพร้อมจ่าย (AP) จำนวน 4,931 ล้านบาท

สุดท้ายขอกลับมาพูดเรื่องนโยบายพลังงานอีกครั้งครับ

นโยบายพลังงานที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการอยู่คือผูกติดกับพลังงานฟอสซิลเป็นระบบที่ถึงทางตันเพราะนอกจากจะก่อปัญหาโลกร้อนและมีปริมาณลดน้อยลงแล้ว ยังไม่มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์ของโลกที่ “มีความบอบบาง ไม่แน่อน ซับซ้อน และกำกวม (VUCA-World)” เช่น ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดโรคระบาด ไม่มีใครรู้ว่าเศรษฐกิจจะพลิกผันอย่างรวดเร็ว ฯลฯ

นักวิชาการจึงได้เสนอทางออกกว่าควรจะเป็น “ประชาธิปไตยพลังงาน” โดยมีหลักการ 5 ข้อ (เรียกโดยย่อว่า 1F2E2L) ที่สอดคล้องกับคุณค่าหลักของความเป็นมนุษย์ คือ

    หนึ่ง มีความยืดหยุ่น (flexibility) สามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ไม่ใช่ถูกบังคับให้ “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย” กระทรวงพลังงานเองก็เคยส่งคนไปร่วมวิจัยกับองค์กรพลังงานสากล (IEA) แต่ก็ไม่นำผลวิจัยมาปฏิบัติ รวมทั้งข้อเสนอขององค์ระดับโลก เช่น IRENA และอื่นๆ ตลอดจนการร่วมเป็นสมาชิกองค์กร International Solar Alliance (ก่อตั้งปี 2015 ซึ่งริเริ่มโดยประเทศอินเดีย)

    สอง ต้องมีประสิทธิภาพ (efficiency)

    สาม ต้องมีความเป็นธรรม ความเท่าเทียม (equitability)

    สี่ ต้องมีความเป็นท้องถิ่น (local) กำกับและรับผลประโยชน์โดยคนท้องถิ่น

    ห้า ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (low carbon)

นโยบาลของรัฐบาลไทยชุดนี้กำลังเดินห่างออกจากหลักคุณค่าของความเป็นมนุษย์และหลักประชาธิปไตยพลังงานมากขึ้นทุกที การจะกู่กลับมาได้ต้องอาศัยพลังของสังคมช่วยตรวจสอบอย่างเข็มแข็งให้เท่าๆ กับคดีน้องแตงโม สังคมไทยได้ปล่อยให้พ่อค้าบุหรี่เขียนแผนรณรงค์ไม่สูบบุหรี่มานานเกินไปแล้ว

นี่คือความผิดพลาดของภาคประชาชาสังคมไทยด้วย ขออนุญาตจบเท่านี้ก่อนนะครับ