ThaiPublica > คอลัมน์ > มองปัญหาน้ำมันแพงผ่าน “ประชาธิปไตยพลังงาน”

มองปัญหาน้ำมันแพงผ่าน “ประชาธิปไตยพลังงาน”

12 พฤศจิกายน 2021


ประสาท มีแต้ม

รถบรรทุกประท้วงรัฐบาลราคาน้ำมันแพง

ไทยเป็นประเทศที่ไม่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ ประมาณครึ่งหนึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยในปี 2563 มีการนำเข้าคิดเป็นมูลค่า 7.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 5% ของจีดีพี โดยทั้งหมดนี้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุหลักของปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังเป็นเชื้อเพลิงที่ถูกผูกขาดโดยบรรษัทระดับโลก เขาจะปั่นราคาอย่างไร เมื่อไหร่ก็ได้

ข้อเสียของพลังงานฟอสซิลยังมีมากกว่าที่ได้กล่าวมาแล้ว จากการเปิดเผยโดยผู้ที่ได้รับเกียรติให้เป็น “วีรบุรุษแห่งศตวรรษสีเขียว” คือ ดร.เฮอร์มานน์ เชียร์ เมื่อหลายปีก่อนว่า “1 ใน 3 ของงบประมาณกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาถูกใช้ไปกับการปกป้องแหล่งพลังงานของตน” เราจึงได้เห็นประเทศนี้ก่อสงครามในภูมิภาคที่มีบ่อน้ำมันเยอะ ๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า

ดังนั้น เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ การเพิ่มความสามารถในการพึ่งตนเองด้านพลังงานให้กับประเทศด้วยการลดการใช้พลังงานฟอสซิลลงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จึงเป็นสิ่งที่ควรได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและควรจะเป็นนโยบายของทุกรัฐบาล แต่นโยบายดังกล่าวควรตั้งอยู่บนหลักการและเงื่อนไขที่มีความเป็นธรรม มีประสิทธิภาพและอื่น ๆ ที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยพลังงาน”

ขอยกตัวอย่างประกอบ เมื่อปี 2533 รัฐบาลเยอรมนีได้ออกนโยบายเพื่อสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน(ซึ่งคนในประเทศผลิตเอง)ในภาคการผลิตไฟฟ้าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์และถ่านหินในราคาประมาณ 50 เซนต์ และ 8 เซนต์ ตามลำดับ แล้วขายให้กับประชาชนในราคา 17 เซนต์ โดยมีหลักการว่า “ใครก็ตามที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ สามารถส่งไฟฟ้าเข้าไปขายในระบบสายส่งได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน ถ้ามีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถือเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ” ผลปรากฏว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 3% ของการผลิตทั้งหมดในปี 2533 เป็น 46% ในปี 2563 มากกว่าที่ประเทศไทยใช้ทั้งประเทศ โดยค่อยๆลดราคาพลังงานหมุนเวียนลงทุกเดือนอย่างโปร่งใสตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ปัจจุบันไม่มีการชดเชยให้กับโซลาร์เซลล์อีกแล้ว

ประเทศไทยเราได้มีนโยบายเอาน้ำมันปาล์มมาผสมกับน้ำมันดีเซลในเชิงพาณิชย์ครั้งแรกในปี 2551 ในอัตราเฉลี่ย 2.5% (จำนวน 447 ล้านลิตร) ต่อมาในปี 2558 เป็น 5.7% จำนวน 1,200 ล้านลิตร โดยที่ในปี 2558 ราคาน้ำมันดิบ(ฟอสซิล)ในตลาดโลกเฉลี่ย 11 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยประมาณ 26 บาทต่อลิตร แต่ทำไมไม่มีเสียงโวยจากผู้บริโภค

คำตอบส่วนหนึ่งก็เพราะว่า ในปี 2558 รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราต่ำกว่าปัจจุบันนี้ (ดูหลักฐานภาพประกอบ) ในปีนั้นรายได้ของรัฐจากภาษีสรรพสามิตพลังงานประมาณ 150,000 ล้านบาท แต่เพิ่มเป็นเกือบ 240,000 ล้านบาทในปี 2562 ทั้ง ๆ ที่ปริมาณการใช้น้ำมันสำเร็จรูปก็ใกล้เคียงกัน

โดยหลักการที่ผมเชื่อ ผมสนับสนุนนโยบายการพึ่งตนเองด้านพลังงานอย่างเต็มที่ครับ โครงการไบโอดีเซลก็เป็นหนึ่งในนโยบายดังกล่าว แต่ที่สงสัยก็คือมันมีความ “ไม่ชอบมาพากล” อยู่ในขั้นตอนของการปฏิบัติหรือไม่

แต่ก่อนที่จะกล่าวถึงความไม่ชอบมาพากล(ที่ผมสงสัย) ผมขอนำเสนอข้อมูลพื้นฐานสักเล็กน้อย

การปลูกปาล์มน้ำมันเชิงพาณิชย์ของโลกในปี 2504 (ปีที่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม) ได้ผลผลิตน้ำมันรวมกันไม่ถึง 3 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนภายหลังปี 2516 ซึ่งเป็นปีที่กลุ่มประเทศโอเปกได้ขึ้นราคาน้ำมันดิบ 4 เท่าตัวในปีเดียว ล่าสุดในปี 2561 ทั่วทั้งโลกผลิตน้ำมันปาล์มได้รวมกัน 71 ล้านตัน โดยที่ 3 ประเทศที่ผลิตได้สูงสุดคือ อินโดนีเซีย (57%) รองลงมาคือมาเลเซีย (27%) และไทย (4%, 2.78 ล้านตัน) แต่ในปี 2563 ไทยผลิตได้ 2.65 ล้านตัน ในจำนวนนี้เกินครึ่งใช้เป็นไบโอดีเซล 1.36 ล้านตัน

ความไม่ชอบมาพากลอยู่ตรงไหน

จากการศึกษาของ “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน” พบว่าในช่วงเดือนมกราคม 2557 ถึงกรกฎาคม 2559 ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยสูงกว่าของมาเลเซียมาตลอด โดยที่ในบางเดือนของไทยสูงกว่าถึงเกือบ 17 บาทต่อกิโลกรัม (ดูภาพประกอบ)

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลไทยจึงได้มีกฎหมายห้ามนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบ แต่ให้ส่งออกได้อย่างเสรี (แถมอุดหนุนให้ผู้ส่งออกอีกลิตรละ 2 บาท-ข้อมูลจากรายการเจาะลึกทั่วไทย ช่อง 9, 19 ตุลาคม 2564)

เรากำลังอยู่ในประเด็นราคาน้ำมันแพงนะครับ ผมขออนุญาตนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับราคาพลังงานในช่วงกลางเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งผมได้รวบรวมข้อมูลดิบจากหน่วยงานต่าง ๆของรัฐและเว็บไซต์ราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบ (ดังแสดงในรูปข้างล่าง)

ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกว่า ข้อมูลมันดูรกไป แถมอยู่ในรูปกราฟที่เข้าใจยากอีกด้วย

แต่เอาอย่างนี้ ผมขอเริ่มต้นด้วยสองคำถามใหญ่ที่หน่วยงานของรัฐยังไม่ได้อธิบายกับสาธารณะเลย สื่อมวลชนก็ไม่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมเชื่อว่า ถ้าคำอธิบายในสองคำถามนี้มีความตรงไปตรงมาจริงๆ และได้รับการแก้ไขแล้ว ราคาน้ำมันในกลุ่มไบโอดีเซลก็จะลดลงได้ถึง 2-4 บาทต่อลิตร โดยไม่แตะต้องมาตรการทางภาษีแต่อย่างใด

คำถามที่หนึ่ง เนื่องจากกระทรวงพลังงานได้ประกาศ “โครงสร้างราคาน้ำมัน” เกือบทุกวัน ซึ่งประกอบด้วยราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่น อัตราภาษี ฯลฯ รวมทั้งราคาเอทานอล ไบโอดีเซล (B100) และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่ไม่เคยให้ข้อมูลราคาน้ำมันดิบซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม จากโครงสร้างราคาดังกล่าว (ซึ่งมีราคาน้ำมันดีเซลผสมชนิดต่าง ๆ เช่น B6) ทำให้เราสามารถคำนวณได้ว่า ราคาน้ำมันดีเซลสำเร็จรูป 100% (หรือ B0) เฉลี่ย 7 วันเท่ากับ 20.39 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบในตลาดดูไบเฉลี่ย 17.18 บาทต่อลิตร ราคาต่างกัน 3.21 บาทต่อลิตร ทั้ง ๆที่ กระทรวงพลังงานประกาศว่า “ค่าการกลั่น” ในช่วงเวลาดังกล่าวเท่ากับ 1.42 บาทต่อลิตร
แต่บริษัทที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียงของโลกคือ Wood Mackenzie ได้คาดการณ์ว่าค่าการกลั่นในช่วงเดือนตุลาคมถึงธันวาคมปีนี้ไม่เกิน 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือ 0.42 บาทต่อลิตร และค่าการกลั่นในเดือนตุลาคมเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังก็ประมาณ 0.75 บาทต่อลิตรเท่านั้น นั่นคือ โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยคิดค่าการกลั่นสูงเกินระดับสากลเอามากๆ

อนึ่ง บางท่านอาจจะไม่เคยทราบว่า น้ำมันดิบ 1 บาร์เรล หรือ 159 ลิตร เมื่อกลั่นแล้วจะได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปรวมกันถึง 170 ลิตร โดยได้น้ำมันเบนซินมากที่สุด 43% และ น้ำมันดีเซลรองลงมา 23% แต่ประเทศไทยใช้น้ำมันดีเซลมากกว่าเบนซินเกือบสองเท่าตัว นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ปริมาณการใช้กับการผลิตไม่ได้สัดส่วนกัน น้ำมันเบนซินที่เหลือจึงถูกส่งออกในราคาที่ต่ำกว่าที่ขายให้คนไทย เช่น ราคาเบนซินหน้าโรงกลั่นเมื่อ 22 ต.ค.56 เท่ากับ 23.38 บาท แต่ราคาส่งออกเฉลี่ยทั้งปี 22.32 บาทต่อลิตร มูลค่าส่งออกรวม 2.65 แสนล้านบาท ข้อมูลกรมธุรกิจพลังงานและ สนพ.

คำถามที่สอง จากข้อมูลของกรมการค้าภายใน พบว่า ราคาน้ำมันปาล์มดิบในกรุงเทพมหานคร เฉลี่ยในช่วง 7 วัน (ดังรูป) เท่ากับ 38.56 บาท แต่ราคาน้ำมันไบโอดีเซล (B100 – ผลิตมาจากน้ำมันปาล์มดิบ โดยต้องใช้เมทานอล-แอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งในการผลิต) ที่กระทรวงพลังงานใช้อ้างอิงเฉลี่ยเท่ากับ 43.54 บาทต่อลิตร (สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบเกือบ 5 บาท) แม้ว่ากระทรวงพลังงานได้มีสูตรการคำนวณราคาน้ำมัน B100 แต่ก็ไม่ยอมประกาศราคาเมทานอลที่มีการซื้อขายกัน

ผมเองไม่ทราบว่าส่วนต่างของราคาที่เหมาะสมระหว่างราคา B100 กับราคา CPO ควรจะเป็นเท่าไหร่ แต่มีคนบอกผมว่า ราคาที่กระทรวงพลังงานกำหนดนั้นเป็นแค่ราคากลาง(ตามสูตร) แต่ที่ซื้อขายกันจริงๆ เป็นราคาประมูลซึ่งมักจะต่ำกว่าราคากลางประมาณ 2-3 บาทต่อลิตร

หลักการ “ประชาธิปไตยพลังงาน” คืออะไร

หลักการประชาธิปไตยพลังงานมีอยู่ 5 ข้อด้วยกัน แต่ที่เหมาะกับปัญหานี้มาก ๆ คือ ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

จากรายงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตอนหนึ่งว่า “ต้นทุนของไบโอดีเซล B100 มีสัดส่วนของวัตถุดิบสูงถึง 80% เป็นค่ากระบวนการผลิตและขนส่ง 9% และกำไร 9% ดังนั้น การลดต้นทุนไบโอดีเซล ต้องมุ่งไปที่การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตผลปาล์มสดและการผลิตน้ำมันปาล์มดิบซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการผลิตไบโอดีเซล”

นอกจากผลผลิตต่อไร่ของสวนปาล์มไทยจะต่ำกว่าในประเทศมาเลเซียแล้ว เปอร์เซ็นต์น้ำมันของไทยได้แค่ 17% ของน้ำหนักผลปาล์ม ในขณะที่ของมาเลเซียได้ถึง 22% โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มในประเทศไทยมีการผลิตจริงเพียง 40-50% ของกำลังการผลิตเท่านั้น ในขณะที่ของมาเลเซียได้ถึง 80% ทั้งนี้เพราะเรามีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมากเกินไป ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยของไทยจึงสูง

อ้อ ราคาปุ๋ย ราคาน้ำมันรถยนต์ในมาเลเซียก็ถูกกว่าในบ้านเราด้วย

ผมได้เห็นความอ่อนแอของรัฐบาลไทยในหลายด้าน เช่น (1) ปล่อยให้มีการทำสวนปาล์มในพื้นที่ที่ให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เพราะฝนน้อย และ (2) ปล่อยให้มีการใช้น้ำมันปาล์มดิบในการผลิตไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นจาก 44% เป็น 63% ของความต้องการใช้ภายในประเทศ เมื่อราคาอ้างอิง B100 เพิ่มขึ้น ทั้ง ๆ ที่ราคาน้ำมันดิบ(ฟอสซิล) แทบจะคงที่ (ดูรูป)

นี่เป็นการย้ายสินค้าที่ควรจะเป็นอาหารของคนมาเป็นอาหารของรถยนต์ได้อย่างเสรี แต่ห้ามการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศโดยเด็ดขาด ประเทศเรามี 2 ระบบในหนึ่งประเทศครับ!

สำหรับหลักการประชาธิปไตยพลังงานที่เหลืออีก 4 ข้อ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะใช้วิจารญาณเองได้ คือ (1) ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (Low Carbon) ลด PM2.5 , (2) ผลประโยชน์ได้กับคนในท้องถิ่น (Local) , (3) มีความเป็นธรรม (Equitable) และ (4) มีความยืดหยุ่น (Flexibility) คือปรับเปลี่ยนได้ง่ายตามเศรษฐกิจที่ผันแปรและเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ไม่ต้องเสียค่า “ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย (Take or Pay)” เหมือนก๊าซธรรมชาติและโรงไฟฟ้า

กล่าวเฉพาะการใช้น้ำมันไบโอดีเซลจำนวน 1.36 ล้านตันในปี 2563 สามารถแทนการนำเข้าน้ำมันฟอสซิล(ลิตรละ 20 บาท)ได้ถึงประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หากมีการจัดการอย่างเป็นธรรมด้วยราคาที่เหมาะสมก็จะมีผลดีอื่น ๆต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมดังที่กล่าวแล้ว

โปรดช่วยกันคิดและเสนอแนะ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ก็จากพลังของผู้บริโภคนี่แหละครับ