ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเมินผลงานด้านพลังงานไฟฟ้าของ “รัฐบาลประยุทธ์” ด้วย 2 ภาพ

ประเมินผลงานด้านพลังงานไฟฟ้าของ “รัฐบาลประยุทธ์” ด้วย 2 ภาพ

22 เมษายน 2022


ประสาท มีแต้ม

ก่อนที่จะเริ่มต้นประเมิน ผมนึกถึงคำสอนของอาจารย์ของผมเองท่านหนึ่งเมื่อปี 2512 ที่ว่า “แพทย์มักใช้ฟิล์มเอกซเรย์เพื่อวินิจโรคของผู้ป่วย นักวิทยาศาสตร์ก็มักใช้กราฟเพื่อวิเคราะห์ปัญหาที่สนใจ” อาจารย์ท่านนั้นคือ รศ. ดร.ชัยวิทย์ ศิลาวัชนาไนย ซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปเมื่อปี 2563 ขอคารวะและขอบคุณในคำสอนที่มีคุณค่ายิ่งของท่านในโอกาสนี้

แต่ก่อนที่จะดู 2 ภาพดังกล่าว ก็ต้องขอเท้าความกันก่อน เอาแบบสั้นๆ ดังนี้

ในปี 2564 คนไทยใช้พลังงานไฟฟ้า (อย่างเดียว) คิดเป็นมูลค่า 6.9 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.3% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) แต่อย่าลืมนะครับว่า เมื่อเริ่มต้นปี 2565 ค่าไฟฟ้าได้ขึ้นราคาในรูปเอฟทีไปแล้ว 16.71 สตางค์ต่อหน่วย และจะขึ้นอีกในงวดพฤษภาคม-สิงหาคมเป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วยและจะขึ้นอีกในงวดกันยายน-ธันวาคม เรียกว่าขึ้นราคากันทุกงวดจนจำไม่ได้

เหตุผลสำคัญในการขึ้นราคาก็คือก๊าซธรรมชาติขึ้นราคาจากความต้องการที่มากขึ้นจากสภาพอากาศหนาวจัดในทวีปยุโรป และตามด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนสำหรับงวดถัดไป ไฟฟ้าที่ประเทศไทยใช้ในปี 2564 นั้นมีจำนวนประมาณ 2.1 แสนล้านหน่วย ในจำนวนนี้ร้อยละ 54% (หรือ 1.13 แสนล้านหน่วย) ผลิตมาจากก๊าซธรรมชาติ

แม้ว่าร้อยละ 68 ของก๊าซธรรมชาติผลิตจากแหล่งในประเทศไทยเราเอง แต่การกำหนดราคาก็ผูกพันกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ที่เหลือร้อยละ 14 และ 18 เป็นการนำเข้าทางท่อจากประเทศพม่าและนำเข้าทางเรือในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ซี่งสถานการณ์สงครามได้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคาหลายเท่าตัว โดยสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการส่งออก LNG มากที่สุดในโลก

ความจริงทางประวัติศาสตร์ได้เป็นบทเรียนสอนชาวโลกมานานแล้วว่า ปิโตรเลียมทั้งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเป็นสินค้าผูกขาดที่สามารถปั่นราคาได้ง่าย นอกจากนี้ ยังเป็นเชื้อเพลิงที่เผาแล้วทำให้เกิดก๊าซที่ก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ประเทศที่มีระดับการพัฒนาสูงในทวีปยุโรปซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีแหล่งปิโตรเลียมเป็นของตนเองหรือมีไม่มากพอ จึงได้วางนโยบายพลังงานของประเทศให้ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลที่เป็นปัญหาให้มากที่สุด และได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนมานานกว่า 30 ปีมาแล้ว

พลังงานที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามกับพลังงานฟอสซิลก็คือพลังงานหมุนเวียน เพราะผูกขาดได้ยาก มักกระจายตัวอยู่ทั่วโลก และปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อย เช่น พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ นโยบายที่เพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนจึงเป็นเป็นนโยบายที่ประชาชนและธรรมชาติต้องการ

เรามาดูฟิล์มเอกซเรย์แรกกันเลยครับ

ผมคัดเลือกมา 7 ประเทศ คือ ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เวียดนาม และอีก 2 กลุ่ม คือ สหภาพยุโรปและค่าเฉลี่ยของโลก แต่ด้วยความตั้งใจจะประเมินผลงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมจึงนำเสนอเฉพาะปี 2014 (หรือ พ.ศ. 2557) และ 2021 แหล่งข้อมูลอยู่ในภาพแล้วครับ

จากภาพจะเห็นว่า แม้ว่าสัดส่วนการใช้พลังงานฟอสซิล (ซึ่งรวมถ่านหินด้วย) ของไทยได้ลดลงเล็กน้อย (จาก 92% เหลือ 84% ของการใช้ทั้งหมด ดังภาพ) แต่ยังคงสูงทิ้งห่างจากทุกประเทศและจากค่าเฉลี่ยของโลกด้วย ในขณะที่กลุ่มสหภาพยุโรป (European Union) การใช้พลังงานฟอสซิลได้ลดลง 42% ลงเหลือ 37% ซึ่งต่ำที่สุดในบรรดา 7 ประเทศและของค่าเฉลี่ยของโลก หากถอยหลังไปถึงปี 2533 สหภาพยุโรปใช้พลังงานฟอสซิลถึง 54% ในขณะที่เยอรมนี 69%

คราวนี้มาดูภาพที่สอง ซึ่งค่อนข้างจะมีความซับซ้อนและมีข้อมูลดีๆ ซ่อนอยู่ ทำให้เราต้องสืบค้นต่อเพื่อหาสาเหตุอีกหลายประเด็น มาดูกันซิว่ามันจะเป็นจริงอย่างที่อาจารย์ผู้ล่วงลับของผมเคยเปรียบเปรยไว้หรือไม่

ในภาพเป็นการเปรียบเทียบการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ต่อหัวประชากรของ 7 ประเทศและ 2 กลุ่มประเทศเหมือนกับในภาพแรก

อย่าลืมนะครับว่า แสงอาทิตย์เป็นพลังงานที่มีไม่จำกัด ไม่สามารถผูกขาดได้ ไม่ต้องซื้อ ไม่ต้องขนส่ง ไม่ต้องใช้น้ำมาหล่อเย็นเครื่องยนต์ ไม่ปล่อยน้ำเสีย และไม่ปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อน

เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผมขอวิเคราะห์เป็นข้อๆ ดังนี้

1. เมื่อครั้งที่ที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2557 (2014) ประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจากแสงแดดได้มากเป็นอันดับ 7 จาก 9 อันดับ มากกว่าจีนและเวียดนาม แต่ในปี 2564 กลับหล่นมาอยู่ที่อันดับสุดท้ายและด้วยจำนวนที่ถูกทิ้งห่างจากอันดับ 8 แบบไม่เห็นฝุ่นกว่าสองเท่าตัว

2. นับจากปี 2560 (2017) เป็นต้นมา จนถึงปี 2564 รวม 5 ปี ประเทศไทยไม่มีความก้าวหน้าในเรื่องสำคัญนี้เลย แต่กลับถอยหลังลงเล็กน้อย (เส้นกราฟโค้งลง) ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทุกประเทศและทุกกลุ่มกลับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่แสงแดดในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี และญี่ปุ่น มีศักยภาพต่ำกว่าของบ้านเราเยอะ

3. จากข้อ 2 ผมค้นหาสาเหตุพบว่า ในปี 2562 รัฐบาลไทยได้ออกโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” โดยรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านขนาดไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ รวม 100 เมกะวัตต์ ในราคา 1.68 บาทต่อหน่วย เป็นเวลา 10 ปี ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ถึง 7% ของเป้าหมาย เหตุผลง่ายๆ ก็คือ ราคาที่ขายได้ไม่คุ้มทุนและอายุการใช้งานของโซลาร์เซลล์นาน 25 ปี หลังจากนั้นจะให้เอาไฟฟ้าไปไหน แม้ต่อมาในปี 2564 กระทรวงพลังงานได้ขยับราคารับซื้อเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย และลดเป้าหมายลงมาเหลือ 50 เมกะวัตต์ก็ยังไม่มีคนสนใจ เพราะไม่คุ้มกับการลงทุน เรื่องนี้เด็กอมมือก็เข้าใจ แต่กระทรวงพลังงานเรากลับไม่ยอมเข้าใจ ประเทศไทยจึงเสียโอกาสไปนานถึง 4 ปี หรือ 8 ปีนับจากพลเอกประยุทธ์เข้ามาก็ว่าได้

4. หมอดูฟิล์มเอกซเรย์มักจะเน้นไปที่จุดที่มีความผิดปกติ กราฟดังกล่าวมีจุดที่ผิดปกติและน่าสนใจหลายจุด เช่น นับจากปี 2554 ซึ่งมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเกิดภัยพิบัติ ส่งผลให้การพึ่งตนเองด้านพลังงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แซงหน้าประเทศเยอรมนีซึ่งผมติดตามอย่างใกล้ชิดมานานเกือบ 20 ปี แต่ผมไม่เคยรู้มาก่อนว่าโดนญี่ปุ่นแซงไปแล้ว โดยในปี 2564 ไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพิ่มสูงเป็น 711 หน่วยต่อคน เมื่อคูณด้วยจำนวนประชากร 125.8 ล้านคน ก็เท่ากับ 89,444 ล้านหน่วย

5. กระทรวงพลังงานไทยอ้างว่า ราคาก๊าซเฉลี่ยในเดือนมกราคม-เมษายน 2565 เท่ากับ 376 บาทต่อล้านบีทียู (โดยที่ใช้ผลิตไฟฟ้าได้ 145 หน่วย) นั่นคือ เฉพาะต้นทุนค่าก๊าซที่ใช้ผลิตไฟฟ้า 1 หน่วยเท่ากับ 2.59 บาท ดังนั้น เราสามารถคำนวณได้ว่า การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าทำให้ญี่ปุ่นสามารถประหยัดเงินได้ 231,000 ล้านบาท แล้วประเทศไทยเราละ ทำไมจึงจมปลักอยู่กับก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

6. คงจำกันได้นะครับว่า ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร ได้มีกระแสสังคมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งรวมทั้งปฏิรูปพลังงานด้วย จนเกิด “สภาปฏิรูปแห่งชาติ” เป็น 1 ใน 5 ของแม่น้ำ 5 สาย สังคม (รวมทั้งตัวผมเองด้วย) ได้เรียกร้องให้ “โซลาร์รูฟเป็น Quick Win” แต่พลเอก ประยุทธ์ พูดเป็นนกแก้วนกขุนทองว่า “พลังงานแสงอาทิตย์มีน้อย ไม่มั่นคง กลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้” ประเด็นมีจำนวนน้อย โปรดกลับไปดูความจริงในข้อ 5 ส่วนประเด็นกลางคืนจะเอาไฟฟ้าที่ไหนใช้ ขอเรียนว่าเขามีแบตเตอรี่ แต่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้

7. ความผิดปกติของเส้นกราฟต่อมาคือประเทศเวียดนามครับ จากกราฟเราจะเห็นว่า นับถึงปีค.ศ. 2018 การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ยังต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แต่ได้เพิ่มพรวดจนแซงหน้าของประเทศไทยและค่าเฉลี่ยของโลก ไปใกล้เคียงกับประเทศจีนในปี 2021 เมื่อสืบค้นจาก The ASEAN Post (10 April 2021-Vietnam Smashes 2020 Solar Capacity Records) พอสรุปได้ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลเวียดนามได้สร้างแรงจูงใจด้วยการให้เงินกู้สำหรับการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาจำนวน 101,000 หลังคา โดยรับซื้อไฟฟ้าในราคาเดียวกับโซลาร์ฟาร์ม (ซึ่งผมเข้าใจว่าสูงกว่าราคาตลาดและสูงกว่าการรับซื้อแบบ “หลักลบกลบหน่วย หรือ Net Metering”) นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 8) เวียดนามจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์และพลังงานลมรวมกันให้ได้ 28% และ 41% ของระบบภายในปีค.ศ. 2030 และ 2045 ตามลำดับ

อนึ่ง มีผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (เรื่อง Vietnam’s solar and wind power success: Policy implications for the other ASEAN countries) ได้สอบถามถึงปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในเรื่องดังกล่าว ผู้ตอบแบบสอบถามสูงสุด 4 อันดับ คือ ร้อยละ 90 เห็นว่าเป็นสัญญาของรัฐบาลเพื่อให้มีพลังงานใช้ ร้อยละ 75 เห็นว่าเพราะความต้องการของสาธารณะที่จะได้อากาศสะอาด ร้อยละ 60 เห็นว่าเพราะการล็อบบี้ของภาคอุตสาหกรรม และ ร้อยละ 50 เพราะรัฐบาลต้องการลดปัญหาโลกร้อนตามสัญญาที่ได้ประกาศไว้ในเวทีนานาชาติ

ผมทราบจากข่าวว่า พรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในเดือนพฤษภาคมนี้ หากมี ส.ส. ท่านใดจะหยิบยกเรื่องนี้มาอภิปรายด้วยก็จะดีไม่น้อย เพราะประเด็นพลังงานเป็นเรื่องใหญ่ดังที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น แต่ในช่วง 8 ปีของรัฐบาลท่านได้ทำให้เส้นกราฟในรูปที่สองหัวทิ่มอยู่เพียงประเทศเดียว

ผู้นำประเทศอื่น แม้เขาไม่ได้อ้างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่เขาก็รู้ว่า การใช้พลังงานฟอสซิลซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นการทำให้ประเทศอ่อนแอ ทำให้ภูมิคุ้มกันในตัวตกต่ำ เมื่อถูกปั่นด้วยสถานการณ์สงครามหรืออื่นใดจึงยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ และการไม่เร่งนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ทั้ง ๆ ที่เทคโนโลยีและธรรมชาติเอื้อพร้อมแล้ว เป็นการกระทำ (หรือไม่กระทำ) ที่ขาดเหตุผล สติ และปัญญาอย่างยิ่ง

รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ที่ชอบอ้างปรัชญาดังกล่าว แต่กลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม ผมจึงไม่ไว้วางใจพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศอีกต่อไป