ThaiPublica > คอลัมน์ > สืบจากคำพิพากษาศาลปกครองกรณีการกัดเซาะชายฝั่งด้วย Google Earth

สืบจากคำพิพากษาศาลปกครองกรณีการกัดเซาะชายฝั่งด้วย Google Earth

11 กุมภาพันธ์ 2022


ประสาท มีแต้ม

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งชายฝั่งที่เป็นหาดทรายที่ติดต่อกับทะเลในประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในแต่ละพื้นที่เองและจำนวนจังหวัดที่เพิ่มมากขึ้นด้วย กรณีที่ผมจะนำเสนอในที่นี้เกิดขึ้นที่ปากบางสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่น้ำในคลองไหลมาบรรจบกับน้ำทะเลในอ่าวไทย ดังภาพประกอบ แต่อย่าเพิ่งสนใจข้อมูลเอาแค่ความเข้าใจในภาพรวมกว้าง ๆ ก่อนนะครับ

ความเป็นมาของปัญหานี้เกิดจากหน่วยงานของรัฐได้พยายามแก้ปัญหาตะกอนทรายไหลมาทับถมที่ “ปากบางสะกอม” จนปิดทางเดินเรือของชาวบ้าน หน่วยงานของรัฐจึงต้องใช้เรือขุดลอกทรายออกไป แต่แล้วทรายจำนวนมากก็ไหลมาปิดอีก ทั้งนี้เป็นไปตามฤดูกาล ไม่ใช่ปิดถาวรตลอดทั้งปี แต่ก็เกิดขึ้นทุกปี หน่วยงานของรัฐจึงได้แก้ปัญหาด้วยการก่อสร้าง “เขื่อนกันทรายและคลื่น” ที่เห็นในภาพ ความยาวของกำแพงทางซ้ายมือประมาณ 606 เมตร พร้อมๆกับการวาง “กองหินกันทราย” ทางซ้ายมือของกำแพง โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2539 และแล้วเสร็จในปี 2540

หลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จ มีผลทำให้กระแสน้ำในทะเลเปลี่ยนทั้งความเร็วและทิศทาง ส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นทราย ต่อมาในเดือนธันวาคม 2553 ชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 3 คนจึงได้ยื่นฟ้องหน่วยงานของรัฐต่อศาลปกครองจังหวัดสงขลา โดยอ้างว่าตนได้รับความเสียหายทั้งจากการจับสัตว์น้ำได้น้อยลง รวมทั้งสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของเขาเสียหายด้วย

ในที่นี้ผมจะไม่ขอกล่าวถึงเหตุผลทั้งหมดของแต่ละฝ่ายที่อยู่ในคำพิพากษา แต่จะขอหยิบเอาเฉพาะข้อมูลการกัดเซาะที่หน่วยงานของรัฐนำมาอ้าง พร้อมกับการตรวจสอบความเป็นจริงที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมที่ได้จาก Google Earth โดยศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาชั้นต้นเมื่อ กรกฎาคม 2554 นั่นคือ ศาลใช้เวลาประมาณ 7 เดือนเพื่อตัดสินข้อพิพาท ถือว่ารวดเร็วดีนะครับ

ผู้ฟ้องคดีได้เรียกร้อง 5 ข้อ โดยหนึ่งข้อที่ผมสนใจคือ “ให้ศาลวินิจฉัยว่าการกระทำของหน่วยงานของรัฐดังกล่าวเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมีคำสั่งมิให้หน่วยงานของรัฐกระทำการดังกล่าวทั้งหมด”

ศาลปกครองสงขลาได้วินิจฉัยยกฟ้องไป 4 ข้อหา สำหรับข้อที่ผมสนใจ ศาลวินิจฉัยว่า “ผู้ถูกฟ้องกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายในขั้นตอนละวิธีการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมาย การที่ศาลจะให้รื้อถอนในทันทีจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ จึงเห็นควรให้ผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เสียก่อน”

ต่อมาหน่วยงานของรัฐหรือผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์โดยให้เหตุผลพอสรุปได้ว่า (1) ในขณะที่หน่วยงานของรัฐอนุมัติให้ก่อสร้าง รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 (มาตรา 56 ซึ่งบัญญัติให้ทำ EIA ก่อน) ยังไม่ได้ประกาศใช้ และ (2) ต่อมาคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศให้โครงการการสร้างคันกันทรายและคลื่นไม่ต้องทำ EIA

ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาเมื่อ 26 มกราคม 2565 โดยวินิจฉัยยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา รวมเวลาที่คดีอยู่ในศาลนานเกือบ 13 ปี การพิพาทในคดีนี้จึงต้องยุติลง แต่การกัดเซาะชายหาดยังดำเนินต่อไปด้วยความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น

ขอกลับมาที่การกัดเซาะชายหาดตามภาพที่ผมได้นำเสนอข้างต้น คราวนี้จะขอลงรายละเอียดการกัดเซาะนะครับ

ในคำพิพากษาของศาลปกครองสงขลา (ฉบับ 29 ก.ค.2554) หน้าที่ 6 (จากทั้งหมด 25 หน้า) ผู้ถูกฟ้องคดี (คือกรมเจ้าท่า) ได้อ้างว่าตนได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนศึกษาการกัดเซาะด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์ GENESIS พบว่า “ในปี 2558 ชายหาดด้านเหนือเขื่อนจะมีการปรับตัวของชายหาดเข้าสู่สมดุลใหม่ (Dynamic Equilibrium) โดยจะมีการกัดเซาะชายฝั่งเพิ่มเติมไปจากที่ได้ออกแบบก่อสร้างเกาะป้องกันกัดเซาะไปทางด้านเหนือเป็นระยะทางประมาณ 600 เมตร และกัดเซาะลึกที่สุดประมาณ 49 เมตร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกระทบการกัดเซาะชายฝั่งอันเป็นผลจากการก่อสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นปากร่องน้ำสะกอมจะมีผลกระทบในระยะยาวจนชายหาดปรับตัวเข้าสู่สมดุลใหม่”

ผมขอหยุดพักคำพิพากษาไว้แค่นี้ก่อน แล้วมาตรวจสอบความเป็นจริงที่ได้จากภาพถ่ายดาวเทียมใน Google Earth เรามาดูกันซิว่าผลการศึกษาจากแบบจำลองดังกล่าว (น่าเสียดายที่ศาลไม่ได้อ้างอิงเอกสารให้เป็นมาตรฐานสากลเพื่อให้สามารถสืบค้นมาศึกษาเพิ่มเติมได้) ว่ามีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน

จากภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าว พบว่า จากเดือนธันวาคม 2539 จนถึงเดือนเมษายน 2558 ได้มีการกัดเซาะที่ตำแหน่งห่างจากมัสยิดบ้านโคกสักประมาณ 1 กิโลเมตรและห่างจากคันเขื่อนประมาณ 1.5 กิโลเมตร ไปแล้วเป็นความลึก 154 เมตร ไม่ใช่ 49 เมตร ตามที่บริษัทที่ปรึกษาได้พยากรณ์ไว้

นอกจากนี้ ผลการศึกษาระบุว่า เมื่อถูกกัดเซาะไปได้ประมาณ 49 เมตร ก็จะเกิดสภาพสมดุลใหม่ (คือไม่มีการกัดเซาะอีก) ก็ไม่เป็นความจริง เพราะนับจากเดือนเมษายนปี 2558 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ก็ได้มีการกัดเซาะเพิ่มเติมอีก 31 เมตร

รวมการกัดเซาะนับจากปี 2539 จนถึงต้นปี 2564 (เป็นเวลา 25 ปี) ได้มีการกัดเซาะที่บริเวณที่ห่างจากมัสยิดบ้านโคกสักประมาณ 1 กิโลเมตรแล้วรวม 185 เมตร(ไม่ใช่ 49 เมตรและยังไม่สมดุล) เฉลี่ยปีละ 7.4 เมตรต่อปี

ในคำพิพากษาดังกล่าวได้มีการให้ข้อมูลทั้งจากชาวบ้าน(ผู้ฟ้อง)และผู้ถูกฟ้อง(หน่วยงานของรัฐ) ว่า ก่อนการสร้างเขื่อนกันทรายและคลื่นก็มีการกัดเซาะชายฝั่งอยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นความจริงครับ จากภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวพบว่า นับจากปี 2528 จนถึงปี 2539 (ก่อนการก่อสร้าง) ที่ตำแหน่งมัสยิดบ้านโคกสัก ในเวลา 11 ปี มีการกัดเซาะ 7 เมตร (หมายเหตุ Google Earth ได้ระบุระยะทางเป็นเมตร แต่ผู้เขียนต้องประมาณการจากภาพด้วยสายตา จึงเกิดความคลาดเคลื่อนได้ อย่างไรก็ตามแนวโน้มการกัดเซาะมีความชัดเจนทั้งสถานที่และเวลา)

ผู้ถูกฟ้องอ้างว่าบริษัทที่ปรึกษาได้เสนอเพื่อแก้ปัญหาการกัดเซาะดังกล่าว ว่าควรให้มีการก่อสร้างเกาะหรือวางกองหินเป็นรูปตัวทีในอักษรภาษาอังกฤษอีก 12 ตัว ไปจนถึงใกล้ๆกับตำแหน่งที่ตั้งมัสยิดบ้านโคกสัก แต่ก็ถูกที่ประชุมชาวบ้านคัดค้าน (แต่ชาวบ้านอ้างว่าไม่เคยมีการประชุม)

เรื่องการกัดเซาะชายฝั่ง ตัวผมเองก็มีประสบการณ์ตรงครับ กล่าวคือบ้านหลังที่ผมเกิดเมื่อปี 2493 ซึ่งอยู่ชายฝั่งทะเลอำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช (ห่างจากปากบางสะกอมไปทางเหนือประมาณ 160 กิโลเมตร) ได้กลายเป็นอยู่ในทะเลตั้งแต่ผมพอจำความได้ (อายุประมาณ 10 ปี) ผมไม่ทราบว่าบริเวณนั้นถูกกัดเซาะไปกี่เมตร แต่ทราบว่าในเวลานั้นยังไม่มีปัญหาเรื่องโลกร้อนและ(เข้าใจว่า)ยังไม่มีการก่อสร้างอะไรที่เป็นโครงสร้างแข็งยื่นลงไปในทะเล แต่การกัดเซาะชายฝั่งก็ได้เกิดขึ้นแล้วอย่างช้า ๆ คล้ายกับที่บริเวณปากบางสะกอมในช่วงก่อนการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว

เรื่องการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ทั้งจาก (1) แรงของน้ำในคลอง (2) แรงจากน้ำขึ้น-น้ำลง (3) แรงลม (4) แรงจากความลาดชันตามชายหาด (5) แรงจากการหมุนของโลกที่มีความโน้มไปทางทิศเหนือเสมอ รวมทั้ง (6) แรงปะทะของคลื่นเมื่อมากระทบกับสิ่งก่อสร้างที่เป็นโครงสร้างแข็ง และอื่น ๆ

ผมเองคาดหวังว่า กระบวนการพิจารณาในศาลปกครองซึ่งใช้เวลานานมากถึง 13 ปีจะนำไปสู่องค์ความรู้และความเข้าใจใหม่ที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของหน่วยงานของรัฐและของสาธารณะ แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับผลการกระทำ ไม่มีคำสั่งใด ๆ ให้เยียวยาหรือเป็นบทเรียน ให้ค้นหาความเป็นจริง ฯลฯ มิหนำซ้ำหน่วยงานของรัฐถือโอกาสก่อสร้างสิ่งที่คล้ายกันนี้เต็มไปหมดตลอดแนวชาวฝั่งกว่า 3 พันกิโลเมตร

ผมเองแม้จะสนใจปัญหานี้เป็นพิเศษแต่ก็ถือว่ามีความรู้น้อยมาก อย่างไรก็ตาม ผมขอตั้งคำถามเพื่อชวนให้สังคมได้ช่วยคิดสัก 2 ข้อ คือ

หนึ่ง ทรายชายหาดที่เราเห็น ๆ กันอยู่นั้นมาจากไหน และ สอง ทำไมเมื่อเราชกกระสอบทราย เราจึงรู้สึกเจ็บน้อยกว่าชกกำแพง กฎเกณฑ์นี้เหมือนกับการถ่ายแรงของคลื่นบนชายหาดอย่างไร

ผมขอตอบคำถามแรกพร้อมกับภาพอธิบายประกอบ คือทรายมาจากภูเขา แต่ในช่วงหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการสร้างเขื่อนจำนวนมากรวมทั้งประเทศไทยเราด้วย เขื่อนเหล่านี้ได้เก็บกักทรายเอาไว้บนบก ไม่ให้มาเสริมสภาพคล่องของระบบทรายในทะเล จากผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Ain Shams Engineering Journal (Vol. 4, Issue 2, June 2013) พบว่า เฉพาะเขื่อน Aswan ในประเทศอียิปต์เพียงเขื่อนเดียว (สร้างเสร็จปี ค.ศ.1902) ได้กับเก็บตะกอนทรายไว้ถึงปีละ 124 ล้านตัน ลองจินตนาการดูซิครับว่า “ระบบการไหลของทราย” ทั่วทั้งโลกจะขาดสภาพคล่องไปมากแค่ไหน

สำหรับคำถามที่สอง คือ ทำไมเมื่อเราชกกระสอบทรายจึงรู้สึกเจ็บน้อยกว่าชกกำแพง เรื่องนี้เป็นตามกฎฟิสิกส์ของนิวตัน คือแรงต้านจะเท่ากับแรงกระทำ ค่อย ๆ คิดครับ กลับมาที่ปัญหาชายทะเล เมื่อแรงของน้ำที่มากับคลื่นชายฝั่ง แรงกระทำส่วนหนึ่งจะค่อยๆ ถูกดูดและแทรกลงไปในพื้นทราย (เพราะพื้นทรายมีโครงสร้างอ่อน) แรงส่วนที่เหลือจะค่อย ๆ ลากเอาเม็ดทรายลงตามทางลาดของชายหาดอย่างนุ่มนวลในฤดูร้อน

แต่หากแรงของน้ำที่มากับคลื่นเมื่อมาปะทะกับสิ่งก่อสร้างที่เป็นโครงสร้างแข็ง แรงดังกล่าวไม่อาจทำอะไรกับสิ่งก่อสร้างนั้นได้ก็จริง แต่แรงสะท้อนและแรงที่อยู่ตามขอบของสิ่งก่อสร้างนั้นจะกัดเซาะอย่างรุนแรงกับพื้นที่บริเวณนั้น ทั้งมีการเพิ่มความเร็วของน้ำ ทั้งเปลี่ยนทิศทางของกระแสน้ำและเกิดการกัดเซาะที่มากกว่าเดิม

ขอเรียนด้วยความเคารพว่า ผมคาดหวังว่าในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองจะเป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานของรัฐ ชาวบ้าน ประชาสังคมและสถาบันวิชาการ ได้ระดมความคิดเห็นและพัฒนาองค์ความรู้ มาแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการ นอกจากนี้ผมยังหวังว่าศาลจะใช้ภาพและเครื่องมือที่ทันสมัยจาก Google Earth ด้วยครับ