ThaiPublica > คอลัมน์ > ความจริงเรื่องไฟฟ้าที่คนไทยน่าจะไม่เคยรู้!

ความจริงเรื่องไฟฟ้าที่คนไทยน่าจะไม่เคยรู้!

12 กรกฎาคม 2021


ประสาท มีแต้ม

พลังงานลม

แม้ผมได้ติดตามเรื่องพลังงานมานานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนโยบายและการจัดการในระบบไฟฟ้า แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผมไม่เคยทราบเรื่องที่จะนำมาเสนอต่อไปนี้มาก่อนเลย เรื่องที่ว่าก็คือ อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสหราชอาณาจักรหรือที่เราเรียกว่าประเทศอังกฤษนั้น ได้ลดลงอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลที่พอฟังแล้วก็สามารถเข้าใจได้ทันทีก็คือ ไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกกว่า

นอกจากนี้ ผู้ศึกษาวิจัยในเอกสารที่ผมได้อ้างถึงยังได้พยากรณ์อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าว่า อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินในสองประเทศดังกล่าวจะลดลงอีกเยอะ ด้วยเหตุผลที่ว่าเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่(เรียกว่า SWB Technology) มีราคาถูกกว่าที่ผลิตจากก๊าซธรรมชาติและจะถูกที่สุดด้วย

คำถามที่คนไทยเราซึ่งต้องบริโภคไฟฟ้าปีละ 6-7 แสนล้านบาทควรจะสงสัยก็คือ แล้วการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยเราเองเป็นอย่างเดียวกันกับสองประเทศนั้นหรือเปล่า และแนวโน้มเป็นอย่างไร พอจะมีอะไรดี ๆ บ้างไหม

ผมขอเริ่มต้นด้วยรายงานของกลุ่มนักวิชาการหัวก้าวหน้า โดยที่หนึ่งในนั้นคือ Tony Seba จากมหาวิทยาลัย Stanford และเคยได้รับเชิญจากสถาบันการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้มาบรรยายเมื่อ 4-5 ปีก่อน

รายงานฉบับนี้ชื่อ คิดใหม่เรื่องพลังงาน (Rethinking Energy) โดยได้ยกเอาปัญหาจริงที่เป็นข้อบกพร่องของวิธีการคิดของรัฐบาลในการตัดสินใจว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าชนิดใด ตัวชี้วัดหนึ่งที่ผู้ตัดสินใจทั่วโลกใช้ในการเปรียบเทียบก็คือ “ต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยไฟฟ้า (Levelized Cost of Energy, LCOE)” ซึ่งก็คือต้นทุนที่เกิดขึ้นตลอดอายุโครงการหารด้วยจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่ขายได้ทั้งหมดตลอดอายุโครงการ ทั้งนี้อยู่บนสมมุติฐานว่า อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้า (Capacity Factor หรือ Utilization Rate) มีค่าคงที่ตลอดอายุโครงการ เช่น กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะสมมุติว่ามีอัตราการใช้ประโยชน์ที่ระดับ 85% ของกำลังการผลิตติดตั้ง อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าใดในภาษาธรรมดาๆ ก็คือ จำนวนพลังงานไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้านั้นสามารถผลิตได้จริงในระยะเวลาหนึ่งปี (หรือ 8,760 ชั่วโมง) เมื่อเทียบกับศักยภาพที่ได้ประกาศไว้ ถ้ามีอัตราการใช้ประโยชน์ได้จริง 85% ก็แสดงโรงไฟฟ้านี้ได้เดินเครื่องอย่างเต็มที่เพียง 7,446 ชั่วโมง เป็นต้น

จากการศึกษาของนักวิชาการกลุ่ม “Rethink X”1 พบว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งในสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร อัตราการใช้ประโยชน์ไม่ได้มีค่าคงตัว แต่มีค่าน้อยกว่า 85% และได้ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คือช่วง 2010 ถึง 2019

รายงานนี้ระบุว่า ในสหรัฐอเมริกาอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ ได้ลดจาก 67% ในปี 2010 เหลือ 41% ในปี 2020 เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติสามารถผลิตได้ถูกกว่า ทั้งนี้เป็นเพราะว่าก๊าซธรรมชาติมีราคาถูกลงมากจากเทคโนโลยีการขุดเจาะก๊าซฯที่เรียกว่า fracking ผู้ศึกษาได้ระบุอย่างชัดเจนว่าเพราะโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติได้

นอกจากนี้ผู้ศึกษายังได้พยากรณ์ต่อไปอีกว่า อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะลดต่ำลงอีกจนเหลือเพียง 15% ในปี 2030 เพราะ SWB Technology จะเข้ามาแทนที่

ในสหราชอาณาจักรก็เป็นลักษณะเช่นเดียวกัน แต่สถานการณ์รุนแรงมากกว่า คืออัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ลดจาก 60% ในปี 2013 เหลือ 8% ในปี 2020 และจะเป็นศูนย์ ในประมาณปี 2025 เพื่อเป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ต่อการค้นคว้าเพิ่มเติม ผมได้นำภาพจากเอกสารดังกล่าวมาแสดงด้วย

อนึ่ง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2021 รัฐบาลสหราชอาณาจักรได้ออกประกาศว่า “นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2024 ในสหราชอาณาจักรจะไม่มีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินอีกต่อไป เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งเป็นการยกเลิกก่อนกำหนดการเดิม 1 ปีเต็ม เพื่อแสดงความเป็นผู้นำที่ตนจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมโลกร้อนหรือ COP26 ในปลายปีนี้ (หมายเหตุ ในปี 2020 UK มีการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าเพียง 1.8% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนแทนถ่านหินซึ่งถือเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียวและมีการเพิ่มการจ้างงานอีกด้วย)

คราวนี้ เรามาตรวจสอบการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยดูบ้าง โดยเทียบเคียงกับข้อมูลข้างต้น คือ (1) ราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และ (2) อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ
ประเด็นราคาก๊าซธรรมชาติ

จากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยพบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2564 ไฟฟ้าในประเทศไทยผลิตจากก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 61 รองลงมาผลิตจากห่านหินและลิกไนต์ร้อยละ 23 สถานการณ์เช่นนี้เป็นมานานหลายสิบปีมาแล้วคือก๊าซธรรมชาติเป็นใหญ่

เรื่องราคาก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยเรามีรายละเอียดเยอะมากและยากที่จะนำเสนออย่างสั้น ๆ ได้ แต่จากรายงานประจำปี 2563 ของ กฟผ. เราพบข้อมูลที่น่าตกใจมากคือ ก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้านี้ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) ขุดเจาะในประเทศไทย (ประมาณ 70%) (2) นำเข้าจากประเทศเมียนมา (ประมาณ 20%) และ (3) นำเข้าทางเรือในรูปก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แต่ในขณะที่ราคาในส่วนที่ (3) มีราคาเพียง 106 บาทต่อล้านบีทียูเท่านั้น ราคาเฉลี่ยของทั้งหมดเท่ากับ 238 บาทต่อล้านบีทียู

คิดอย่างคร่าวๆ ได้ว่า ราคาก๊าซที่ขุดเจาะในบ้านเราเองมีราคาสูงกว่า ก๊าซ LNG ซึ่งนำเข้าถึงกว่าสองเท่าตัว เท่าที่ผมตรวจสอบราคาก๊าซ LNG ซึ่งส่งถึงฝั่งทั่วโลกก็มีราคาอยู่ประมาณนี้แหละครับ เมื่อราคาก๊าซธรรมชาติในบ้านเราแพงแบบนี้ (และเป็นสัญญาซื้อขายแบบไม่ใช้ก็ต้องจ่าย) จึงไม่สามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าถ่านหินเหมือนในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษได้ อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าถ่านหินจึงลดลง ๆ

ประเด็นอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าไทย

ก่อนที่จะไปลงลึกในรายละเอียด ผมขอถามความคิดเห็นทั่วไปของท่านผู้อ่านก่อนว่า

“ระหว่างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ตั้งในประเทศไทยที่ต้องนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ กับโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งใช้ลิกไนต์ในประเทศของตน ท่านคิดว่าค่าไฟฟ้าจากโรงไหนมีราคาถูกกว่ากัน”

จากข้อมูลของ กฟผ. พบว่า ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน 2564 ค่าไฟฟ้าที่ กฟผ.รับซื้อจากโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทย(BLCP) เท่ากับ 1.32 บาทต่อหน่วย แต่จากโรงไฟฟ้าสงหาลิกไนต์ (HSL) เท่ากับ 2.17 บาทต่อหน่วย แพงกว่ากัน 0.85 บาทต่อหน่วย ทั้ง ๆ ที่จุดรับซื้อไฟฟ้าของไทยอยู่ห่างจาก HSL เพียงประมาณ 30 กิโลเมตรเท่านั้น ค่าใช้จ่ายจากสายส่งจึงไม่มาก

ใครทราบเหตุผลกรุณาช่วยอธิบายกันหน่อยครับ

ในเรื่องอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้า ผมได้สรุปออกมาเป็นกราฟข้างล่าง

นั่นคือ อัตราการใช้ประโยชน์ ในปี 2563 ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP และโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์เท่ากับ 94% และ 84% ตามลำดับ และไม่ได้ลดต่ำลงตามเวลาเหมือนกับใน US และ UK ที่เป็นเช่นนี้เพราะในประเทศไทยค่าไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมีราคาแพงกว่า

คราวนี้ เรามาดูอัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติที่เป็นโรงขนาดใหญ่ของเอกชน(ที่เรียกว่า IPP) ผมขอยกมานำเสนอในที่นี้เพียง 2 โรงจากทั้งหมดประมาณ 15 โรง (ดังภาพข้างล่าง)

เมื่อดูภาพรวมแล้ว เราจะเห็นว่า ในช่วงปี 2551-2558 ทั้งสองโรงมีอัตราการใช้ประโยชน์ค่อนข้างสูงใกล้เคียงกัน คือมีอัตราสูงสุดมากกว่า 84% (แต่ก็ยังน้อยกว่าของโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP) อัตราดังกล่าวควรจะเป็นค่าในระดับมาตรฐานสากลดังที่รายงานกล่าวถึง

แต่ที่เป็นปัญหาใหญ่ก็คือ อัตราการใช้ประโยชน์ของโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทั้งสองโรงได้ลดลงจนเป็นศูนย์ในช่วงปีหลัง ประมาณ 3-5 ปีมาแล้วและต่อเนื่องยาวมาจนถึง 4 เดือนแรกของปี 2564 ซึ่งไม่อยู่ในรูปด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความผิดพลาดเชิงนโยบายของรัฐบาลภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า(PDP) คือ เรามีกำลังการผลิตล้นมากเกินไป ภายใต้สัญญา “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย(take or pay)” ซึ่งเป็นเช่นนี้มานานหลายสิบปีแล้ว ลองดูภาระค่าใช้จ่าย (ในรูป) รวมกันกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ทั้ง ๆ ที่แทบจะไม่ได้ผลิตไฟฟ้าเลย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยที่ผู้บริโภคต้องจ่ายจึงสูงครับ

ผมขออนุญาตไม่สรุปบทความนี้นะครับ แต่จะบอกความจริงที่คนไทยไม่เคยรู้อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องเล่ห์กลในการคิดกำลังผลิตสำรอง เราได้รับรู้จากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมานานแล้วว่า กำลังสำรองไฟฟ้าตามมาตรฐานสากลเท่ากับ 15% ของกำลังผลิตติดตั้ง และในเวลาต่อมาแผนพีดีพี2018 ได้ยกให้สูงขึ้นเป็น 20% โดยไม่บอกเหตุผล

ล่าสุดจากรายงานเรื่อง Thailand Power System Flexibility Study (May 2021) ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมระหว่าง “องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency)” กับกระทรวงพลังงานของไทยเราเอง ระบุชัดเจนในหน้า 62 ว่ามาตรฐานสากล “ประมาณ 10-15%” (ไม่ใช่ 15%) นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังบอกอีกว่า ในปี 2563 เรามีกำลังผลิตสำรองถึง 33%

ใครก็ไม่ทราบเคยกล่าวไว้อย่างเป็นอมตะวาจาว่า “รัฐบาลอาจหลอกลวงประชาชนได้ในบางครั้งและบางเวลา แต่จะไม่สามารถหลอกลวงได้ตลอดไป” ประชาชนจึงต้องหมั่นตรวจสอบรัฐบาลครับ

หมายเหตุ : 1.A RethinkX Sector Disruption Report , February 2021, Adam Dorr & Tony Seba