ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเทศไทยจะปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาอย่างไร?

ประเทศไทยจะปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาอย่างไร?

11 พฤษภาคม 2022


ดร.นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ขณะนี้ประเทศไทยเต็มไปด้วยข่าวร้ายเรื่อง “พระ” ไม่ว่ากรณีปฏิบัติการบนสันเขื่อนของ “กาโตะ” กับ “สีกาตอง” กรณี “เงินทอนวัด” ระลอกใหม่ กรณีพระโยนอาหารที่ทายกเพิ่งใส่บาตรทิ้งต่อหน้า และพระดื่มสุรา ด้วยเหตุผลว่า “ต้านโควิด” คณะสงฆ์ในประเทศไทยดูทีจะมีแต่ความเสื่อมทรามลงทุกวัน พระภิกษุเกิดความโลภ เห็นแก่เงินมากกว่า “ธรรม” วัดแต่ละแห่งแข่งกันหาเงิน เจ้าอาวาสองค์ไหนสร้างโบสถ์ใหญ่ก็ได้รับชื่อเสียง วัดไหนที่ได้รับเงินบริจาคมากก็เชื่อกันว่าประสบความสำเร็จมาก ชาวพุทธในประเทศไทยจึงเกิดอาการจิตตกกันอย่างมาก และหลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา เพื่อจัดระเบียบวงการสงฆ์เสียใหม่ ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยเสียที หลายฝ่ายเสนอให้มีการปลดผู้อำนวยการสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติออก หรือ แม้แต่ให้ปลดรองนายกที่รับผิดชอบเรื่องกิจการพระพุทธศาสนา จนกระทั่งนายกรัฐมนตรีต้องออกมาขอร้องให้เจ้าหน้าที่สำนักพุทธดูแลพระพุทธศาสนาให้พระคุณเจ้าทั้งหลายจะดูอยู่ในร่องในรอยเป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชน

ชาวพุทธในประเทศไทยมีความคุ้นชินกับพระพุทธศาสนาอย่างมาก ด้วยเหตุว่าชาวพุทธเป็นประชากรส่วนใหญ่กว่า 90% ของประชากรในประเทศ และชาวพุทธต่างมีความคาดหวังพฤติกรรมของพระคุณเจ้าทั้งหลายตั้งแต่อ้อนแต่ออก วัดยังเป็นศูนย์กลางของชุมชนในประเทศไทย ครบวงจรชีวิตของคนตั้งแต่เกิดจนตาย ยิ่งในสมัยโบราณพระทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือ เป็นแพทย์ผู้ให้การรักษาประชาชนอย่างไม่คิดค่ารักษา เป็นที่ปรึกษาในเรื่องครอบครัว แม้กระทั่งเมื่อตายก็นำศพไปเผาที่วัด โดยมีพระคุณเจ้าเป็นผู้ประกอบพิธีให้ตั้งแต่ต้นจนจบ ความผูกพันกับพระพุทธศาสนาจึงมีอยู่อย่างแน่นแฟ้น จนบางคนถึงขนาดเชื่อกันว่าพระพุทธเจ้าเป็นคนไทย ประสูติ ตรัสรู้ เผยแผ่พระศาสนาและปรินิพพานในแผ่นดินไทยเลยก็มี

ความจริงประการสำคัญคือพระพุทธศาสนานั้นเป็น “ศาสนาสากล” ซึ่งมีความทันสมัยอยู่เสมอ แม้ว่าจะมีต้นกำเนิดในประเทศอินเดียเมื่อ 2,600 ปีมาแล้วก็ตาม และยังเป็นศาสนาที่มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากศาสนาอื่น ๆ อย่างมากมาย อีกทั้งพระพุทธเจ้าทรงออกแบบคณะสงฆ์อันประกอบด้วยคณะของภิกษุและภิกษุณีซึ่งอยู่กันนับถือกันแบบพี่น้องที่เกิดในครอบครัวเดียวกันมี “พระธรรมวินัย” เป็นศาสดา ไม่ใช่ตัวบุคคลเหมือนศาสนาอื่น แม้ว่าพระตถาคตเจ้าจะทรงเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้วแต่ก่อนจะปรินิพพานทรงตรัสสั่งให้พุทธศาสนิกชนนับถือพระธรรมวินัยเป็นตัวแทนของพระองค์ เพราะเหตุนั้นตราบใดที่พระธรรมวินัยยังคงในโลก ตราบนั้นพระตถาคตเจ้าก็ยังทรงพระชนม์อยู่ในโลก

หากจะปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาย่อมมีปัญหาประการแรกคือ ผู้ที่จะมาทำการปฏิรูปนั้นมีความเจ้าใจพระธรรมวินัยเพียงพอหรือยัง? เพราะหากเข้าใจไม่ดีพอ ใช้อำนาจในการออกกฎหมายอย่างเดียว ไม่เข้าใจปรัชญาของพระธรรมและพระวินัย การปฏิรูปนั้นย่อมเป็นการสร้างปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหา ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง สิ่งที่ไม่สำคัญในพระธรรมวินัยกลับตีความว่าสำคัญ และสิ่งที่สำคัญกลายเป็นไม่สำคัญ จนส่งผลในพระศาสนายิ่งเสื่อมทรามลงไปมาก โดยเฉพาะในสังคมยุคใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย รวดเร็ว โดยที่มีสื่อทางสังคมอิเลกโทรนิค (Social Media) ที่เต็มไปด้วยข่าวมากมายทั้งจริงทั้งไม่จริง และรูปแบบการจัดการบริหารการปกครองแผ่นดิน ซึ่งแตกต่างจากสมัยพุทธกาลไปมาก

สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาคือ ความเชื่อของชาวพุทธในประเทศไทยว่า “เรารู้ดีแล้ว” ทั้งที่ไม่รู้จริง

เป็นต้นว่า พระวินัยนั้นเป็นศีลของพระภิกษุ ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่ พระวินัยเป็นกฎหมายของคณะสงฆ์ และไม่ได้เป็นศีล 227 ข้อแต่ประการใด เป็นพุทธบัญญัติอันเกิดจากการพิพากษาคดีหรือที่เรียกในภาษาบาลีว่า “อธิกรณ์” ซึ่งมีความหนักเบาแตกต่างกัน บางอย่างรุนแรงมากไม่อาจยอมความกันได้ ถือว่าหากภิกษุรูปใดต้องเข้าแล้วถือว่าขาดจากความเป็นพระไปเลยในทันที ไม่อาจเยียวยาได้ อันได้แก่ปาราชิกซึ่งมีอยู่ 4 ประการ ในการวินิจฉัยอธิกรณ์เหล่านี้ให้อภัยแก่ต้นบัญญัติ หรือ พระที่ทำให้เกิดคดีนั้น ๆ ขึ้นมา กฎหมายในลักษณะนี้เป็นกฎหมายแบบจารีต (Common Law) แบบเดียวกันกับระบบกฎหมายที่ประเทศอังกฤษใช้มาถึงปัจจุบันนี้

ในอีกลักษณะหนึ่งพระวินัยไม่ได้ให้อำนาจแก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งให้มีอำนาจเต็มในการบริหารการคณะสงฆ์ อำนาจการบริหารนั้นอยู่ที่คณะสงฆ์คือภิกษุทุกรูปร่วมในการตัดสินใจ ไม่ใช่องค์คณะใดคณะหนึ่งหรือรูปใดรูปหนึ่งโดยเฉพาะ คือ ต้องใช้ “ฉันทามติ” ของภิกษุทุกรูปโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านเลย นี่คือหลักการสำคัญประการหนึ่ง หลักการนี้เป็นหลักการเดียวกันกับระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถูกละเลยกันมานาน นักปฏิบัตินิยมอาจเห็นว่าการเกิด “ฉันทามติ” ในการตัดสินใจของคณะสงฆ์นั้นเกิดขึ้นได้ยาก เพราะจะไม่สะดวกในการปฏิบัติเท่าเอาเสียงข้างมากเป็นหลัก การที่บริหารโดยใช้ฉันทามติได้ก็เพราะว่าคุณภาพของพระภิกษุในหมู่คณะนั้นต้องสูงมาก การใช้เสียงข้างมากย่อมทำให้เกิดการแบ่งพวกได้ และทำให้แตกสามัคคีในที่สุด การนำหลักการบริหารโดยใช้การลงมตินี้ย่อมเกื้อกูลต่อการบริหารสังคมประชาธิปไตย โดยถือเอาการมีส่วนร่วมของสมาชิกในชุมชนนั้น ๆ เป็นหลัก

การบริหารโดยการใช้ฉันทามตินี้เห็นได้จากพิธีสงฆ์หรือสังฆกรรมต่าง ๆ เช่น การบวช การกรานกฐินซึ่งมีการยกประเด็นใด ประเด็นหนึ่งขึ้นในท่ามกลางคณะสงฆ์ โดยสมาชิกทุกคนในที่ประชุมมีสิทธิเท่าเทียมกันหมด ในพิธีบวชนั้นพระอุปัชฌาย์ทำหน้าที่เป็นเลขาธิการของที่ประชุม ส่วนพระทุกรูปที่เข้าร่วมพิธีมีสิทธิในการให้ความเห็นชอบหรือคัดค้านได้หากตนเองไม่เห็นชอบ “ฉันทามติ” นั้นแสดงออกจากการนิ่งเฉยซึ่งถือว่ายอมรับในมตินั้น ๆ น่าเสียดายที่ในปัจจุบันพิธีกรรมเหล่านี้เหลือเพียงเศษซากของการปกครองคณะสงฆ์ในยุคโบราณที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน

พระวินัยยังมีเอกลักษณ์ที่สำคัญมากอีกประการหนึ่งคือการให้ดุลภาพระหว่าง “สิทธิ” และ “หน้าที่” ของสมาชิกของคณะสงฆ์ อันได้แก่ภิกษุและภิกษุณีแต่ละบุคคล มิใช่กำหนดแต่ข้อบังคับคือ “หน้าที่” แต่เพียงอย่างเดียว เป็นต้นว่า หากภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดจำพรรษาได้ครบสามเดือนย่อมมีสิทธิพิเศษบางประการหรือได้ครับสิทธิในกฐินทานที่ทายกได้บริจาคให้แก่คณะสงฆ์เป็นต้น

หลักการสำคัญของพระวินัยคือเป็นระบบของนวัตกรรมสังคมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสถาปนาขึ้นไว้ด้วยพระองค์เอง มีทั้งหลักการและเหตุผลที่ชัดเจน และทรงออกแบบไว้ให้พุทธบริษัท ๔ ซึ่งมีการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน ละเลยบริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่ได้เลย

แต่ในปัจจุบันภิกษุณีบริษัทนั้นไม่ได้รับการรับรองทางกฎหมายจากรัฐ ทั้ง ๆ ที่ในประเทศไทยในขณะนี้มีภิกษุณีไม่ต่ำกว่า 100 รูปแล้ว ทุกรูปได้รับการบรรพชาและอุปสมบทอย่างถูกต้องตามพระวินัย แต่ต้องเดินทางไปบวชในต่างประเทศ บัตรประจำตัวประชาชนของพระคุณเจ้าทั้งหลายยังต้องใช้คำนำหน้าว่า “นาง” หรือ “นางสาว”

แทนที่จะได้รับเกียรติและความเคารพจากรัฐ และชาวพุทธในประเทศไทยถูกสอนว่า การเกิดขึ้นของภิกษุณีสงฆ์ทำให้ศาสนาเสื่อม และภิกษุณีสงฆ์หมดไปจากโลกนานแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่เล่ากันมาตามคัมภีร์ของวัดมหาวิหารวัดเดียวเท่านั้น หลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าภิกษุณีสงฆ์ไม่เคยหมดไปจากโลกนี้เลย!!

บุคลากรที่ทางสำนักพุทธน่าจะพัฒนาได้ทันทีและควรทำอย่างเร่งด่วน คือ ไวยาวัจกร ซึ่งตามกฎหมายการคณะสงฆ์แล้วเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารงานวัด แต่เจ้ากรรมที่กฎหมายฉบับนี้กำหนดให้เจ้าอาวาสเป็นผู้แต่งตั้งไวยาวัจกร ผลที่เกิดขึ้นคือการบริหารงานวัดไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล

เจ้าอาวาสจึงตั้งคนที่ตนเองสั่งได้ เช่น หลานชาย หรือญาติของตน ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ ยังผลให้การใช้งบประมาณของวัดไม่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ยาก ที่ควรจะเป็นคือ พัฒนาไวยาวัจกรให้เป็นสถาบันหนึ่งทางสังคม มีกฎหมายรับรองและระบุความรับผิดชอบต่าง ๆ ในหน้าที่ให้ชัดเจน โดยสำนักพุทธฯ ควรจัดหลักสูตรการอบรมไวยาวัจกรที่มีความรู้ทางพระธรรมวินัย กฎหมายการคณะสงฆ์ มีทักษะการทำบัญชี ความรู้ทางการพัฒนาชุมชนและที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือความรู้เรื่อง “ศาสนาเปรียบเทียบ” และอาจต้องรวมถึงภาษาต่างประเทศอีกอย่างน้อยหนึ่งภาษา การเป็นไวยาวัจกรได้ต้องสอบ มีใบอนุญาตหรือประกาศนียบัตรการเป็นไวยาวัจกร มีการกำหนดอายุการเป็นไวยาวัจกรว่า 5 ปี และต้องมีการสอบต่ออายุเหมือนวิชาชีพอื่นเช่นการแพทย์หรือการพยาบาล ทั้งนี้จะทำให้เกิดการปฏิรูปการบริหารงานพระศาสนาอย่างสำคัญ

ในเรื่องการปกครองปัญหาใหญ่คือระบบการบริหารตาม พ.ร.บ.สงฆ์ขณะนี้มิได้สอดคล้องกับพระวินัยเลย เจ้าอาวาสมีอำนาจเท่ากับพระราชาในอาณาจักรเล็ก ๆ ของตน คือมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการให้ใครที่อยู่อาศัยในวัดหรือไล่ให้ออกจากวัดเมื่อใดก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นภิกษุ สามเณร เด็กวัดหรือแม่ชี และยังมีอำนาจเต็มในการเบิกจ่ายเงินของวัดแต่เพียงผู้เดียว

และตามที่ปรากฏในประเทศไทยคือเงินของวัดกับเงินของเจ้าอาวาสนั้นปนเปกันไปจนหมด เจ้าอาวาสยังเท่ากับเป็นข้าราชการคนหนึ่งของรัฐมีเงินเดือน (นิตยภัตต์) ให้ทุกเดือน ซึ่งขัดกับหลักการของพระวินัยโดยตรง ภิกษุคือผู้ที่สละโลก เป็นข้าราชการไม่ได้

เช่นในการขานนาคในพิธีบวช กรรมวาจาจารย์จะถามนาคว่า “นะ สิ ราชปฏฺโฏ?” (เจ้าเป็นข้าราชการหรือไม่?) หากตอบว่า “อามะภันเตฯ” หรือ “ใช่ครับ” ก็ถือว่า บวชให้ไม่ได้ แต่ในประเทศไทย อุปัชฌาย์ เกือบทุกรูปรับเงินเดือนจากรัฐบาล!!!

ยิ่งไปกว่านั้นคือโครงสร้างศักดินาถูกนำมาครอบเหนือการบริหารการคณะสงฆ์โดยปริยาย โครงสร้างนี้ล้อมากับโครงสร้างของศักดินาในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีจากพระครูระดับต่าง ๆ (ต่ำสุดคือพระครูใบฎีกา) พระครูสัญบัตร เจ้าคุณชั้นสามัญ เจ้าคุณชั้นราช เจ้าคุณชั้นเทพ เจ้าคุณชั้นธรรม รองสมเด็จชั้นหิรัญบัฏ รองสมเด็จชั้นสุพรรณบัฏ สมเด็จพระราชาคณะ และสูงที่สุดคือสมเด็จพระสังฆราช เป็นโครงสร้างเหมือนเจดีย์ยอดแหลม ฐานกว้าง เป็นโครงสร้างที่นำมาจากระบอบปกครองแบบศักดินาสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งไม่มีอะไรที่ยึดโยงกับประชาชนเลย

โครงสร้างนี้หากใช้เฉพาะเป็นการให้เกียรติแก่พระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็จะเป็นการสงเคราะห์และการให้กำลังใจกับวงการสงฆ์ แต่ทว่าโครงสร้างนี้กลับผูกติดกับ “อำนาจ” ในการบริหาร มีสิทธิในการให้คุณให้โทษกับภิกษุซึ่งเป็นสมาชิกของคณะสงฆ์ ทำให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบและการฉ้อราษฎร์บังหลวงได้ เป็นต้นว่า ในการทำหนังสือเดินทางของพระภิกษุนั้น พระภิกษุรูปนั้นจำเป็นต้องได้รับอนุญาตเป็นรายลักษณ์อักษรจาก เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะจังหวัด และเจ้าคณะภาค ตามลำดับชั้นก่อนที่จะส่งเอกสารใบคำร้องนั้นไปยัง ศ.ต.ภ. (ศูนย์ตรวจสอบพระภิกษุ) เสียก่อน แล้วจึงนำไปยืนต่อกรมการกงสุลเพื่อขอทำหนังสือเดินทางได้ ทั้ง ๆ ที่ฆราวาสสามารถยืนเอกสารของทำหนังสือเดินทางได้โดยตรง เสียค่าธรรมเนียมและรออีกไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ก็จะได้หนังสือเดินทาง ส่วนของพระภิกษุนั้นใช้เวลาเป็นเดือนหรือหลายเดือน เพราะต้องผ่านขั้นตอนเพิ่มขึ้นอีกถึง 6 ขั้นตอนโดยที่ไม่อาจเว้นจากขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งได้เลย

ในลักษณะเช่นนี้ทำให้สิทธิมนุษยชนพื้นฐานของภิกษุในฐานะที่เป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่งถูกริดรอน พระรูปใดที่หัวแข็งไม่ยอมไปจิ้มก้องพระผู้ทรงสมณะศักดิ์ชั้นปกครองที่สูงกว่าตน ย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะทำหนังสือเดินทางได้เลย และหากเป็นภิกษุที่จำพรรษาในต่างประเทศ แต่หนังสือเดินทางหมดอายุก็ย่อมไม่อาจขอทำหนังสือเดินทางฉบับใหม่จากกงสุลไทยในประเทศที่ท่านจำพรรษาได้

หากต้องการต่ออายุหนังสือเดินทางก็จำเป็นต้องบินกลับมาประเทศไทย เริ่มกระบวนการวิ่งเต้นใหม่ซึ่งอาจใช้เวลาอีกหลายเดือนเสียค่าตั๋วเครื่องบิน เสียเงินและเสียเวลาอีกมาก ทั้ง ๆ ที่กฎระเบียบนี้เป็นสิ่งที่ขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนไม่มีพระภิกษุรูปใดที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมเลย

หากเปรียบเทียบการบริหารการคณะสงฆ์ไทยกับการบริหารองค์กรสมัยใหม่ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันมาก เพราะกรรมการแต่ละตำแหน่งไม่มีกำหนดเกษียณอายุ เจ้าอาวาสแต่ละรูปทำหน้าที่ของตนไปจนตาย ปกครองแบบวัดใครวัดมัน เจ้าคุณแต่ละรูปไม่สนใจต่อความสุขทุกข์ชาวพุทธในละแวกวัดของตน เพราะผู้ที่จะให้คุณให้โทษตนได้คือพระผู้ใหญ่ของตนเท่านั้น

ถ้าอยากได้เลื่อนชั้นบรรดาศักดิ์ก็ต้องพยายาม “จิ้มก้อง” เพื่อให้ได้รับ “ความเอ็นดู” จากผู้บังคับบัญชาผู้เดียวของตนเท่านั้น การบริหารงานในลักษณะนี้มีได้อยู่ในลักษณะเดียวคือ “สั่งการจากบนลงล่าง” (Top-down) การบริหารในลักษณะนี้นั้นถ้าได้ผู้บริหารในระดับสูงสุดดีมีวิสัยทัศน์ก็ย่อมจะพัฒนาหรือขับเคลื่อนองค์กรไปได้อย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นองค์กรที่ไร้ประสิทธิภาพเพราะมีสารสื่อสารทางเดียว และไม่นำพากับสารทุกข์สุกดิบของผู้ที่อยู่ด้านล่างเลย

ระบอบการบริหารการคณะสงฆ์ว่าเป็นปัญหาแล้ว หลักสูตรการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมของไทยนั้นเป็นปัญหามากยิ่งไปกว่า หลักสูตรปริยัติธรรมแบ่งออกเป็นสองสาย ได้แก่สายธรรมศึกษากับเปรียญธรรม ทั้งคู่ถูกร่างขึ้นมากว่า 150 ปีมากแล้ว สายธรรมศึกษานั้นแบ่งออกเป็นสามระดับคือระดับตรี โท และเอก เรียนระดับละหนึ่งปี ส่วนสายเปรียญธรรมนั้นคือการเรียนไวยากรณ์บาลีและคัมภีร์อรรถกถา ฎีกาและอนุฎีกา ทั้งหมดเป็นคัมภีร์ชั้นหลังพระไตรปิฎกทั้งสิ้น คัมภีร์ชั้นอรรถกถานั้นห่างจากพระไตรปิฎกถึง 1000 ปี และถูกประพันธ์ขึ้นที่วัดมหาวิหาร ประเทศศรีลังกา เสียส่วนใหญ่ ส่วนคัมภีร์ชั้นฎีกาและอนุฎีกานั้นเขียนห่างกันอีกประมาณ 500 ปี เป็นที่น่าสังเกตว่าการศึกษาบาลีตามหลักสูตรนี้ เปรียญ ๑-๙ นั้นไม่มีการศึกษาพระไตรปิฎกเลย และทั้ง ๆ ที่ภาษาบาลีเป็นภาษาตระกูลเดียว กับภาษาอังกฤษ (Indo-European) แต่การเรียนบาลีในหลักสูตรในประเทศไทยกลับไม่มีหลักสูตรเปรียบเทียบไวยากรณ์ ซึ่งจะทำให้ผู้ศึกษาแตกฉานในที่มาของรากศัพท์ของทั้งสองภาษามากยิ่งขึ้น

มหาเปรียญในประเทศไทยมักมีความรู้สึกว่าภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ยาก แทนที่จะใช้ตำราเรียนมีแบบฝึกหัดบาลีคู่กับอังกฤษตั้งแต่ต้น หลักสูตรนี้ไม่ได้รับการพัฒนามา หากเทียบกับหลักสูตรบาลีที่สอนกันในประเทศศรีลังกา ประสิทธิภาพของการเรียนการสอนบาลีของศรีลังกานั้นดีกว่าของไทยมาก เหตุที่หลักสูตรทั้งนักธรรมศึกษาและเปรียญธรรมบาลีในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไม่ได้นั้นก็เพราะว่าเป็นหลักสูตรที่สมเด็จพระมหาสมณะเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรโสได้ทรงกำหนดไว้ ด้วยเหตุนี้หลักสูตรเหล่านี้จึงได้กลายเป็นประกาศิตที่ไม่มีพระเถรรูปใดยุคหลังกล้าที่จะเข้ามาแก้ไข

มหาเปรียญของไทยจึงไม่มีทักษะในการใช้อักษรโรมันเขียนภาษาบาลี ซึ่งเป็นระบบที่ใช้กันทั่วโลก ทั้งนี้เพราะภาษาบาลีนั้นไม่มีอักขระเฉพาะของตนเอง พระในศรีลังกาเขียนประโยคบาลีด้วยอักษรสิงหล พระพม่าใช้อักษรพม่า เขมรใช้อักษรขอม ส่วนของไทยใช้อักษรไทย ส่วนการจัดระเบียบตัวอักษรนั้นใช้ระบบของสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่ซับซ้อนมากกว่าและยากกว่าบาลีประมาณ 5 เท่า ส่วนพระไทยที่เรียนภาษาสันสฤตนั้นมีจำนวนน้อยมาก แม้จะเป็นภาษาที่มีต้นกำเนิดใกล้ชิดกันมากก็ตาม

ด้วยมายาคติที่ว่าพระพุทธศาสนาเป็นของไทย เป็นมรดกตกทอดที่บรรพบุรุษชาวไทยได้อนุรักษ์ไว้นับพันปี มายาคตินี้ทำให้การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาไม่อาจทำได้เลย พระพุทธศาสนาจึงเหมือนกับวัตถุโบราณในพิพิธภัณฑ์มีไว้ให้ประชาชนดูเท่านั้น

ในอันที่จริงแล้วหากได้มีการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้องจะเท่ากับเป็นการพัฒนาประเทศไปอย่างรวดเร็ว เป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง มีทั้งสิทธิมนุษยชนและหน้าที่ของประชาชนแต่ละคนที่สมดุล ประเทศมีการบริหารที่มีการมีส่วนร่วมของประชาชน เกื้อกูลกับการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทุกสาขา สังคมศาสนาจะเจริญก้าวหน้าเคียงคู่ไปกับสังคมยุคใหม่ที่เทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนเนื่องด้วยคุณลักษณะพิเศษของพระธรรม ที่เป็น “อกาลิโก” ปฏิบัติได้และให้ผลได้อย่างไม่จำกัดกาล สมกับที่เป็นประเทศที่พุทธศาสนาเป็นสถาบันหลักของชาติอย่างแท้จริง