ThaiPublica > คอลัมน์ > สามก๊กแห่งศตวรรษที่ 21 ไทยและอาเซียนควรไปทางไหน

สามก๊กแห่งศตวรรษที่ 21 ไทยและอาเซียนควรไปทางไหน

20 สิงหาคม 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

โลกแห่งศตวรรษที่ 21 ได้เข้าสู่ยุคของสามก๊กอย่างแท้จริง อันประกอบด้วยก๊กแรกคือสหรัฐอเมริกาและพวก ก๊กที่สองคือสหภาพยุโรป และก๊กสุดท้ายคือจีนกับรัสเซีย ซึ่งแต่ละก๊กกำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงประชาชน ผลประโยชน์ และอิทธิพลของก๊กของตนเองและพวกพ้อง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะปะทุเป็นส่งครามใหญ่อย่างที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อนได้อย่างง่ายดาย

แม้ว่าประชากรโลกขณะนี้กำลังมีภัยคุกคามร่วมกัน อันได้แก่ภาวะโลกร้อน และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภัยพิบัติระดับโลกทั้งสองนี้น่าจะทำให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น แต่กลับกลายเป็นเหตุแห่งการแก่งแย่งแสวงหาชื่อเสียง และดิสเครดิตฝ่ายปรปักษ์ของตนอยู่ตลอดเวลา ทุกฝ่ายเร่งแสวงหาข่าวจากการจารกรรมทางไซเบอร์ โดยใช้สื่อมวลชนทุกค่ายในกำกับของตนเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจและชัยชนะของก๊กของตนเองเท่านั้น

เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางไปประชุมที่ประเทศอังกฤษ บรัสเซลส์ และสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อต้นปี 2564 นี้ โดยประกาศว่าตนเองประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ในการโดดเดี่ยวจีน ตั้งแต่การประชุม G7 และองค์การสนธิสัญญานาโต้ ซึ่งมีมติเห็นจีนเป็นภัยกับสันติภาพของโลก ไม่ว่ากรณีการคุกคามต่อไต้หวัน การขจัดขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง การครอบครองทิเบต และการปฏิบัติต่อชนเผ่ามุสลิมอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง การเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ทำให้จีนกับรัสเซียต้องหันหน้ามาพึ่งพากันมากยิ่งขึ้น สถานการณ์ความตึงเครียดทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน จีนถูกประเทศทางตะวันตกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการและมีความทะเยอทะยานที่จะขยายอิทธิพลของตนไปทั่วโลก

ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีทรัมป์ อเมริกาได้สร้างกลุ่ม QUAD อันประกอบด้วย อเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ขึ้นมาเป็นพันธมิตรต่อต้านจีน แต่ในทางปฏิบัติแล้วอเมริกายังมีประเทศมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่งคืออังกฤษ ซึ่งมีนโยบายมีความสัมพันธ์ “พิเศษ” กับสหรัฐอเมริกามาตลอด จนอังกฤษเองไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง แต่ประพฤติตนเองเหมือนกับว่าอังกฤษเป็นมลรัฐที่ 51 ของสหรัฐอเมริกาอย่างนั้น ตัวอย่างเช่นในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งที่สอง เมื่อประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช กล่าวหาอิรักว่าครอบครองอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง โดยไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าเป็นเช่นนั้น โทนี แบลร์ นายกฯ อังกฤษ กลับเห็นด้วยกับผู้นำอเมริกาอย่างเป็นตุเป็นตะ และส่งกำลังทหารของตนร่วมกับอเมริกาบุกโจมตีอิรัก ยุบรัฐบาลและกองทัพของอิรักทั้งหมด จับซัดดัม ฮุสเซน มาประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ทำให้เกิดปัญหาทางการเมืองและความมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าอเมริกาจะถูกหรือผิด อังกฤษย่อมเข้าข้างอเมริกาเสมอ ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองอยู่เลย

ส่วนประเทศต่างๆ ในยุโรปไม่ว่าเยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ ต่างมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง ไม่ได้คล้อยตามอเมริกาไปเสียทุกเรื่อง แม้จะเห็นว่าจีนกำลังแผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก และไม่เห็นด้วยกับรัสเซียที่เข้าไปครอบครองคาบสมุทรไครเมียร์ในปี ค.ศ. 2014 จนมีมติคว่ำบาตรรัสเซียมาแล้ว แต่ผู้นำของอียูย่อมตระหนักดีว่า การตั้งกำแพงภาษีทำสงครามการค้ากับจีนย่อมไม่เกิดผลดีอะไรกับประเทศของตนเลย การคว่ำบาตรจีนเท่ากับเป็นการนำหายนะมาสู่ประเทศของตนและอียูทั้งหมด เพราะจีนคือโรงงานผลิตสินค้าราคาถูกของโลก และเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย

แม้เมื่อประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางกลับไปแล้ว ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส กับนายกรัฐมนตรีของเยอรมัน ได้ต่อสายพูดคุยกับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซียเกือบจะทันที เท่ากับเป็นการตบหน้าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในทันที และเท่ากับเป็นการประกาศให้อเมริการู้ว่าอียูเป็นตัวของตัวเอง อาจจะร่วมมือกับอเมริกาได้เป็นครั้งคราวแต่ไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในกำกับของอเมริกา อียูยังมียังมีประวัติศาสตร์อันยาวนานจนทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นอู่ของวัฒนธรรมอันสำคัญของโลก เป็นจุดเริ่มต้นของจักรวรรดิและปรัชญาสาขาต่างๆ มากมายแม้อเมริกาเองก็ได้รับอิทธิพลจากยุโรป

ด้วยตรรกะแห่งความทระนงตัวนี้ชาวยุโรปจึงไม่ยอมก้มหัวให้ใครโดยเฉพาะอย่างยิ่งอเมริกา อียูจึงกลายเป็นอีกก๊กหนึ่งด้วยตัวของมันเองรอเวลาที่จะแสดงผลงานของตนเอง แม้จะไม่ต้องการที่จะเป็นเจ้าโลกแต่ก็ทระนงตนว่าเป็นก๊กที่ยิ่งใหญ่ก๊กหนึ่ง

สิ่งหนึ่งที่ผู้นำสหรัฐอเมริกาเห็นด้วยกับจีนคือ กรณีที่จีนมีท่าทีจะเข้าไปมีบทบาทในอัฟกานิสถาน เมื่อผู้นำสูงสุดของตอลิบานดอดเข้าไปพบกับรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน แม้สาระของการประชุมครั้งนั้นไม่ปรากฏเป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน แต่รัฐมนตรีต่างประเทศอเมริกัน นายแอนโทนี บลิงเคน ออกมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนจีนอย่างเปิดเผย เห็นดีเห็นชอบที่จีนจะเข้าไปมีอิทธิพลในอัฟกานิสถานหลังจากที่อเมริกาถอนทหารออกไปแล้ว ฝ่ายจีนเองก็เห็นประโยชน์ที่จะใช้งานพวกตอลิบานในการกำหราบกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของตน และอาจเป็นเครื่องต่อรองกับมุสลิมอุยกูได้อีกด้วย ฝ่ายตอลิบานเองก็ถือว่า “ศัตรูของศัตรูคือมิตร” จึงไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะให้ความร่วมมือกับจีนเป็นการต่างตอบแทน

หากจีนทำให้อัฟกานิสถานสงบสุขยุติสงครามกลางเมืองนี้ลงได้ ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง อาจจะได้รับการเสนอชื่อรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพได้อีกด้วย ในฐานะผู้มอบสันติภาพแก่ดินแดนที่สู้รบกันมากว่า 20 ปี เป็นการตบหน้าสหรัฐอเมริกาครั้งใหญ่

สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์นี้ทำให้ประชาคมอาเซียนแตกแยกกันอย่างมาก ในขณะที่เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา ถือเอาจีนเป็นที่พึ่งอย่างชนิดที่เรียกกว่าไม่เอาอเมริกาเอาเลย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ถือหางอเมริกาอย่างชัดแจ้ง ในขณะที่ไทยซึ่งยังไม่ประกาศจุดยืนที่ชัดเจนเป็นประเทศที่เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งประชาคมอาเซียน และพยายามที่จะรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับทั้งสองประเทศให้ได้มากที่สุด

ประชาคมอาเซียนจึงถือได้ว่าแตกแยกออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจน เมื่อขาดเอกภาพเช่นนี้พลังที่จะเข้าไปต่อกรกับอภิมหาอำนาจของโลกจึงไม่มี การส่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาเยือนเวียดนามและสิงคโปร์เป็นความสำเร็จอย่างมากทางการทูตของอเมริกา ด้วยนโยบาย “แย่งแยกแล้วปกครอง” ของอเมริกา

กรณีเวียดนามนั้นดูเผินๆ อาจคิดได้ว่าทั้งเวียดนามและจีนปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์เหมือนกัน มีพรรคการเมืองพรรคเดียวเหมือนกัน เป็นเผด็จการเหมือนกัน และมีพรมแดนติดกันอีกด้วย ทั้งสองประเทศนี้น่าจะมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ดีและเป็นกัลยาณมิตรให้กันและกัน เพราะเป็นสหายร่วมอุดมการณ์ด้วยกัน ส่วนอเมริกาเคยทำสงครามกับเวียดนามเหนือจนพ่ายแพ้ต้องถอนทหารออกมาจากเวียดนามใต้อย่างเร่งด่วน อเมริกาจึงไม่น่าจะเป็นที่รักของชาวเวียดนามเลย แต่ในความเป็นจริงคือตรงกันข้าม เวียดนามเคยทำสงครามกับจีนมานับครั้งไม่ถ้วน และไม่เคยไว้ใจรัฐบาลจีนเลย เมื่อสามสิบปีที่แล้วเคยเกิด “สงครามสั่งสอน” เมื่อกองทัพเวียดนามกำลังจะบุกเข้ามารุกรานไทยและประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนเวียดนามไม่เคยลืมประสบการณ์ที่เจ็บปวดครั้งนั้นเลย

ในสมัยที่ประธานาธิบดีโอบามาเดินทางมาเยี่ยมเวียดนามอย่างเป็นทางการ โอบามาทำตัวเป็นกันเองกับคนเวียดนาม เข้าไปกิน “เฝ๋อกับเบียร์” ในร้านอาหารเล็กๆ ในกรุงฮานอย เป็นข่าวเกรียวกราวไปทั่วโลก สร้างค่านิยม “คนอเมริกัน” ให้เกิดขึ้นในหมู่ชาวเวียดนามเป็นอย่างมาก แต่โอบามามาเสียคะแนนในวันสุดท้าย เมื่อเขากำลังจะเดินทางกลับ ท่านประธานาธิบดีอเมริกาเข้าไหว้พระในวัดจีนในกรุงฮานอย แทนที่จะเป็นวัดพุทธของเวียดนาม ทำให้คนเวียดนามไม่พอใจในระดับหนึ่งทีเดียว

กรณีประเทศฟิลิปปินส์ ในสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ ผู้นำฟิลิปปินส์ปฏิเสธเสียงแข็งที่จะให้สหรัฐกลับมาตั้งฐานทัพในประเทศของตน แต่เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม เมื่อสหรัฐฯ ส่งรัฐมนตรีกลาโหมมาพูดคุยกับประธานาธิบดีดูแตร์เต ก็กลับยอมรับของเสนอของอเมริกา และเปิดทางให้สหรัฐฯ กลับมายังฐานทัพของตนที่เคยสร้างไว้ได้ เหตุผลสำคัญคือ ความช่วยเหลือทางวัคซีน ซึ่งการแพร่ระบาดอย่างหนักของโควิด-19 ในฟิลิปปินส์นี้ทางการคุมไม่อยู่แล้ว หากอเมริกาไม่มาช่วยบริจาควัคซีนช่วยเหลือ ฟิลิปปินส์คงไม่รอดจากการแพร่ระบาดครั้งนี้แน่ ทั้งที่เมื่อปลายปี 2018 ประธานาธิบดีดูแตร์เตไปซื้ออาวุธจากรัสเซีย และได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมาศักดิ์จากมหาวิทยาลัยมอสโก

การกำเนิดของประชาคมอาเซียนเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2510 นั้น โดยสรุปมีหลักการอยู่เพียง 2 ข้อเท่านั้น คือ ความกลัว และความโลภ ความกลัวคือกลัวที่จะถูกลัทธิคอมมิวนิสต์รุกราน และความโลภคืออยากให้ประเทศของตนมีรายได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทั้งๆ ที่ในขณะนั้นประเทศที่ก่อตั้งมิได้เป็นประชาธิปไตยอะไรสักเท่าใด การตัดสินใจทำกิจกรรมใดๆ นั้นประชาคมอาเซียนต้องถือมติเอกฉันท์เท่านั้น หากมีประเทศใดประเทศหนึ่งไม่เห็นด้วย หรือคิดต่างกับมตินั้นๆ ผลคือมตินั้นถือว่าถูกตีตกไป ไม่อาจนำมาเข้าที่ประชุมได้อีกต่อไป

กฎบัตรนี้ใช้ไม่ได้กับการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาซึ่งกำลังอยู่ในภาวะรัฐล้มเหลวโดยที่รัฐบาลทหารไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้ ท่ามกลางความขัดแย้งที่รุนแรง เศรษฐกิจที่ล้มเหลว และการแพร่ระบาดของโควิด-19 จนไม่อาจควบคุมได้ เมียนมากำลังจะลื่นไถลลงสู่สงครามกลางเมือง ซึ่งดูจะไม่มีผู้ใดมีคำตอบสำหรับการแก้ไขวิกฤตการณ์นี้

เมียนมากำลังจะกลายเป็นซีเรีย และประเทศไทยก็จะกลายเป็นเลบานอน ต้องแบกรับภาระผู้ลี้ภัยนับล้านที่จะทยอยเข้ามาเป็นระลอกๆ คำถามคือ ไทยจะแบบรับภาระนี้ได้หรือไม่ หากแบกรับได้ จะนานเพียงใด ไม่มีผู้ใดสามารถให้คำตอบได้

เมื่อสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเช่นนี้ สหรัฐอเมริกามีศักยภาพและเหตุผลเต็มที่ในอันที่จะกรีฑาทัพขนาดใหญ่ เข้ามาตั้งฐานทัพในฟิลิปปินส์ และยังสามารถซ้อมรบกับมิตรประเทศต่างๆ เช่น อินเดีย ออสเตรเลีย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ได้อย่างเต็มที่ และกลับขึ้นมาผงาดในภูมิภาคนี้ได้อย่างเต็มที่

สิ่งที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านั้นคือ บทบาทของสหประชาชาติถูกด้อยค่าลงในการแก้ไขปัญหาของโลก

ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอัฟกานิสถาน วิกฤตการณ์ในเมียนมา ความรุนแรงในตะวันออกกลาง หรือแม้แต่ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา อาการเช่นนี้เหมือนสถานการณ์เดียวกับองค์กรสันนิบาตชาติ (League of Nations) ซึ่งก่อตั้งขึ้นที่กรุงปารีสเมื่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งยุติลง เมื่อกองทัพนาซีเริ่มบุกดินแดนต่างๆ ในยุโรป หรือกองทัพญี่ปุ่นบุกประเทศจีนและมองโกเลีย กองทัพของอิตาลีบุกตอนเหนือของแอฟริกา องค์กรสันนิบาตชาติอยู่ในสภาวะเป็นง่อยไม่อาจทำอะไรได้เลย จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้น โลกกำลังจะก้าวสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 กระนั้นหรือ

นโยบายที่สหรัฐฯ ใช้กับประเทศไทยคือให้ทั้งคุณและโทษ ซึ่งในนโยบายนี้สหรัฐฯ เปรียบได้กับคนขี่ลา และลาตัวนี้คือประเทศไทย ซึ่งคนขี่ลาถือแครอตไว้ข้างหน้าลา หลอกล่อให้มันวิ่งไปในทางที่ต้องการ หากไม่ไปก็ใช้ไม้เรียวตีก้น แท่งแครอตนี้ ได้แก่ วัคซีน 2.5 ล้านโดส ที่อุปทูตสหรัฐประกาศว่าให้เปล่าแก่มิตรประเทศ แต่อันที่จริงแล้วในโลกนี้ไม่มีอะไรที่อเมริกาให้เปล่าเลย

ส่วนไม้เรียวคือการประท้วงต่อต้านรัฐบาลลุงตู่และม็อบต่อต้านราชวงศ์ ซึ่งมีผู้นำเคยเข้าไปกินชีสเคกในสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเทพฯ มาแล้ว และการชุมนุมเพื่อปฏิรูปสถานบันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) นำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) โดยเชื่อว่าต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก ถ้าหากไม่มีเงินจำนวนนับล้านให้การสนับสนุนย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย มีการคาดกันว่าเพนกวินอาจจะได้รับเงินสนับสนุนจากองค์กรชื่อ NED (National Endowment for Democracy) ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าเป็นภาคประชาชนภาคใต้การกับกับดูแลของรัฐบาลอเมริกัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ CIA ภาคเอกชน

ทำให้ขณะนี้ประเทศไทยจึงอยู่ในฐานะยากลำบาก เหมือนนักไต่ลวดวิบาก ต้องเดินบนลวดในขณะที่ต้องรักษาสมดุลในการเดินมิให้ร่วงหล่นลงไปในเหวลึกข้างใดข้างหนึ่ง นี่คือโจทย์ที่อเมริกาตั้งไว้ให้รัฐบาลไทยแก้ ตามแบบจิตสำนึกของสงครามเย็น ที่ฝ่ายประชาธิปไตยกำลังต่อสู้กับเผด็จการลัทธิคอมมิวนิสต์ ผู้บริหารของอเมริกาเองยังก้าวไม่พ้นจุดนั้น ซึ่งตามความเป็นจริงคือ สงครามเย็นนั้นจบลงไปนานแล้ว โลกยุคใหม่นี้ไม่ได้มีสองค่ายเหมือนเมื่อสามสิบปีก่อน

แต่นี่คือยุคสามก๊กแห่งศตวรรษที่ 21 ไทยไม่จำเป็นต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง และทั้งจีนกับสหรัฐฯ

มีความเหมือนกันอยู่ประการหนึ่ง คือ การด้อยค่าขององค์การสหประชาชาติ ทางแก้ของไทยคือการดำเนินนโยบายการทูต “เชิงรุก” เพราะตลอดระยะเวลา 7 ปี ของรัฐบาลลุงตู่นั้น เป็นการทูต “เชิงตั้งรับ” ทั้งสิ้น

เมื่อไหร่รัฐบาลไทยจะเปลี่ยนนโยบายเป็นการทูต “เชิงรุก” เสียที โดยเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

ในศตวรรษที่ 21 นี้ นโยบายของประชาคมอาเซียนคือการให้ความสำคัญต่อสหประชาชาติมากยิ่งขึ้นและยกบทบาทของประชาคมยุโรปให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาให้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลไทยและประชาคมอาเซียนจำเป็นต้องดำเนินการพร้อมๆ กัน และลดความขัดแย้งในแถบทะเลจีนใต้และในภูมิภาคอาเซีนออกไปให้เร็วที่สุด

วิกฤตการณ์แรกที่รัฐบาลลุงตู่และประชาคมอาเซียนต้องเข้าไปแก้ไขอย่างรีบด่วนคือวิกฤตการณ์ในเมียนมา อาศัยข้อตกลงข้อที่ห้าที่กระทำไว้เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ให้สิทธิในการแต่งตั้งทูตพิเศษเพื่อเข้าสังเกตการณ์ในเมียนมา ทูตที่ฝ่ายไทยและอาเซียนตั้งขั้นมานั้นจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากรัฐบาลทหารของเมียนมาด้วย ทำให้ขั้นตอนในการแต่งตั้งนั้นล่าช้าอย่างมาก แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาให้ได้โดยเร็วก่อนฤดูฝนจะหมดไป

ก้าวต่อไปของทูตท่านนี้คือการสร้างกรีนโซนขึ้นในพื้นที่ๆ ปลอดภัยเป็นดินแดนที่เป็นเขตปลอดอาวุธ เป็นเขตที่ปิดต่อการบินด้วยยานพาหนะทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ หรือโดรน และไม่มีการประท้วงใดๆ ทั้งสิ้น แต่เป็นพื้นที่ๆ ให้การเยียวยากับประชาชนผู้บาดเจ็บ ยากไร้ หรือเจ็บป่วย มีโรงพยาบาล สถานพักฟื้นและระบบสังคมสงเคราะห์ ให้อยู่ในความดูแลขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกองกำลังรักษาสันติภาพ (UN Peace Keeping Force) เป็นผู้รับผิดชอบ

ความสำเร็จของการจัดตั้งกรีนโซนในเมียนมาจะเป็นการสกัดกั้นการอพยพของผู้ลี้ภัยไม่ให้ทะลักเข้าสู่ประเทศไทย

ก้าวต่อไปคือการเจรจาให้มีอนุญาโตตุลาการของอาเซียนขึ้นเพื่อพิจารณาคดีความต่างๆ ที่รัฐบาลทหารของเมียนมาได้กล่าวหานางอองซานซูจี และนักโทษการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหาร ด้วยเหตุผลที่ว่า หากให้ศาลของเมียนมาพิพากษาคดีก็จะเกิดความลำเอียง และจะไม่เป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก และประชาชนชาวเมียมา หากจัดตั้งได้สำเร็จก็จะเป็นการลดความตึงเครียดในเมียนมาได้อย่างมาก และเป็นการเปิดทางให้รัฐบาลทหารก้าวลงจากอำนาจได้ในภายหลัง โดยที่ตนเองไม่เสียหน้ามากนัก ลดความรุนแรงและนำทุกฝ่ายมาสู่โต๊ะเจรจาเพื่อสันติภาพ

หากทำสำเร็จไทยก็ไม่ต้องเหนื่อยแบกรับปัญหาผู้ลี้ภัยนับล้านที่จะทยอยหนีตายข้ามพรมแดนกันมากมาย และหากสถานการณ์ในเมียนมาสงบ อาเซียนก็ถือเวลาที่ต้องปฏิรูปตนเอง เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของการบริหารประชาคมนี้มากยิ่งขึ้น ให้มีศาลของอาเซียนเพื่อพิจารณาตัดสินคดีเมื่อวิกฤตการณ์ต่างๆ เกิดขึ้น เป้าหมายสูงสุดคือการนำความขัดแย้งระหว่างอภิมหาอำนาจจีนกับสหรัฐฯ ออกจากดินแดนนี้ให้ได้นั่นเอง