ThaiPublica > คอลัมน์ > กฎแห่งกรรมคือปัญหาของสังคมไทย?

กฎแห่งกรรมคือปัญหาของสังคมไทย?

11 มีนาคม 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการ สถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

ชาวพุทธในประเทศไทย เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และศรีลังกา คุ้นชินกับการสอนเรื่อง “กฎแห่งกรรม” ตั้งแต่อ้อนแต่ออกและพระขึ้นเทศน์สอนคู่กับการสอนเรื่องพุทธประวัติ และให้ชาวพุทธมีความเชื่อว่าเจ้าชายสิทธัตถะ ตรัสรู้ออกบวชได้ก็เพราะทรงบำเพ็ญบารมีมามากในอดีต นับด้วยสี่อสงไขยแสนมหากัลป์ เป็นเรื่องที่ฟังแล้วสอดคล้องกับชาดกนับร้อยเรื่องที่ให้เชื่อในกฎแห่งกรรม

เหมือนกับว่า “กฎแห่งกรรม” นั้นเหมือนกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในวิชาวิทยาศาสตร์ เหมือนแรงดึงดูดของโลก ไม่ว่าใครทำอะไรไว้ ในที่สุดก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้นเสมอไป ไม่มีข้อยกเว้น แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าเอง ก็ต้องรับกรรม เช่น ถูกพระเทวทัตต์ปองร้ายกลิ้งหินลงมาเพื่อประทุษร้ายพระองค์จากภูเขาสูง จนหินก้อนใหญ่นั้นแตกออกเป็นเศษเล็ก ๆ ทำให้พระองค์บาดเจ็บห้อพระโลหิตที่ขาเป็นต้น เหตุการณ์ในพุทธประวัติและชาดกต่าง ๆ ล้วนสอดคล้องกันจนทำให้ชาวพุทธเชื่อกันว่า กฎแห่งกรรมนั้นมีจริง ศักดิ์สิทธิ์จริง และเป็นสัจธรรมที่ไม่มีผู้ใดบังอาจที่จะท้าทายได้ เป็นคำสอนหลักในพระพุทธศาสนา

แม้ในพระไตรปิฎกเองก็มีพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงแนะให้ชาวพุทธคำนึกอยู่บ่อย ๆ ว่า “ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติฯ” (ใครทำกรรมได้ไว้) “ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติฯ” (ย่อมเป็นทายาทแห่งกรรมนั้น) ซึ่งชาวพุทธทั้งภิกษุและฆราวาสท่องกันเป็นประจำ

แม้ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถาขยายความ “ธรรมบท” (ธมฺมปทฺถกถา) ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักที่พระเณรร่ำเรียนกันทั้งแผ่นดิน ตอกย้ำความเชื่อในกฎแห่งกรรม คัมภีร์นี้มีอยู่ด้วยกัน 8 เล่ม ทั้งหมดมีเรื่องราวที่ว่าด้วยการส่งผลแห่งกรรม ให้ชาวพุทธเชื่อว่า กรรมย่อมส่งผลแก่ผู้กระทำกรรมนั้นอย่างแน่นอน ไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า ขึ้นอยู่กับเจตนาในการทำกรรมนั้นว่า มีเจตนาแรงกล้าเพียงใด มีการตริตรองมาก่อนหรือไม่ หากมีเจตนาที่กล้าแข็งเตรียมการมาอย่างดี ย่อมส่งผลให้ชีวิตในวัยเด็กมีความสุข หากไม่ได้ตั้งใจกระทำชีวิตในวัยเด็กก็จะลุ่ม ๆ ดอน ๆ หากผู้ใดเกิดมาในครอบครัวที่ยากจนแต่ต่อมาร่ำรวยก็เพราะเหตุดังกล่าว แต่ถ้าบั้นปลายในชีวิตประสบความสำเร็จก็แสดงว่าเมื่อทำบุญเสร็จสิ้นไปแล้ว มีการนึกยินดีกับบุญที่ตนเองกระทำ ไม่เกิดความคิดเสียดาย หากทำบุญไปแล้วเกิดความเสียดายก็จะทำให้บุญนั้นไม่ส่งผลให้บั้นปลายในชีวิตมีความสุข ต้องลุ่ม ๆ ดอน ๆ ต่อไป

ในคัมภีร์ธมฺมปทฺถกถานี้เองมีเรื่องของนายทุคตะ ซึ่งยากจนข้นแค้น มีผ้านุ่งอยู่เพียงผืนเดียว คิดที่จะถวายเป็นทานแก่พระพุทธเจ้าตั้งแต่หัวค่ำก็เสียดายไม่ทำ ต่อมายามดึกก็ยังไม่ทำเพราะเสียดาย มาตัดสินใจเด็ดขาดยกผ้าผืนเดียวที่ตนสรวมใส่อยู่นั้นถวาย ปรากฏว่าได้บุญมาก ขุมทองปรากฏที่บ้านของตนในคืนนั้นเลย นายทุคตะกลายเป็นคนร่ำรวยขึ้นมาเพราะทำบุญกับพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐที่สุดในโลก เรื่องราวของนายทุคตะนี้กลายเป็นเรื่องที่พระนักเทศน์มักหยิบยกขึ้นมาเทศน์บอกบุญญาติโยม เป็นเครื่องมือใช้ในการบอกบุญได้อย่างดี พระนักเทศน์ก็ได้เงินทำบุญมาก ญาติโยมก็ดีใจเพราะเชื่อว่าตนเองได้บุญมากเช่นกัน

ปัญหาสำคัญของการเรียนการสอนเปรียญธรรมบาลีในประเทศไทย คือไม่มีการสอนพระไตรปิฎกกันเลย ตั้งแต่ประโยค ๑ ถึง ประโยค ๙ นักเรียนบาลี เล่าเรียนกันเฉพาะคัมภีร์ชั้นอรรถกถาเท่านั้น ไม่มีการแปลพระสูตรหรือพระวินัยเลย ซึ่งแตกต่างกับชาติอื่น ๆ หากมีการเรียนพระวินัย จะทราบว่าเรื่องการทำบุญของนายทุคตะนั้นย้อนแย้งกับพระวินัย ซึ่งมีเรื่องของหญิงหม้ายกับลูกสาวที่มีศรัทธาในพุทธศาสนามาก ใส่บาตรทุกวันแม้ว่าจะไม่มีข้าวกินก็ตาม พระพุทธองค์จึงมีบัญญัติให้เป็นครอบครัวที่คณะสงฆ์ยกไว้ ไม่ไปรับอาหารบิณฑบาต เพราะจะเป็นการซ้ำเติมให้ยากจนไปกว่านี้อีก คัมภีร์ชั้นอรรถกถานั้นไทยและพม่าต่างรับมาจากวัดมหาวิหารวัดเดียว ซึ่งในขณะนั้นกำลังระดมทุนเพื่อมาสร้างวัด จึงเต็มไปด้วยนิทานที่สอนอานิสงส์ของการทำบุญและตอกย้ำให้เชื่อในกฎแห่งกรรมเป็นหลัก เพื่อให้ญาติโยมทำบุญกันให้มากนั่นเอง

ในประเทศไทยคุณ ท.เลียงพิบูลย์ ได้จัดพิมพ์หนังสือชุด “กฎแห่งกรรม” โดยรวบรวมเรื่องราวที่ประชาชนส่งมาให้จากทั่วประเทศ พิมพ์ออกเป็นระยะ ๆ เป็นหนังสือขายดีที่ชาวพุทธไทยจำนวนมากอ่านด้วยความศรัทธา เพื่อให้ชาวพุทธไทยเกรงกลัวการกระทำความชั่ว และมุ่งที่จะทำแต่ความดี ต่อมาได้มีการนำเรื่องราวให้หนังสือกฎแห่งกรรมอ่านออกอากาศทางวิทยุ หรือแม้ทำเป็นภาพยนตร์ออกฉายทางโทรทัศน์ก็มีมาแล้ว วัดที่ร่ำรวยบางวัดสอนเป็นหลักสูตรประจำเช่นสถานีโทรทัศน์ DMC ในรายการ “อนุบาลฝันในฝันวิทยา” โดยมี พระเทพญาณมหามุนี (ครูไม่ใหญ่) เป็นพระอาจารย์สอนประจำ มีการสอนเรื่องกฎแห่งกรรม มีกรณีศึกษามากมาย จนแม้กระทั่งการพยากรณ์การไปเกิดมาเกิดของสัตว์ เช่น พยากรณ์ว่า “สตีฟ จอบส์ตายแล้วไปไหน?”

เป็นที่น่าสังเกตว่าวัดใดที่สอนเรื่องกฎแห่งกรรม วัดนั้นร่ำรวยเสมอ จนวัดบางแห่งมีความละโมบมากถึงกับประกาศ “ปิดบัญชีโลก เปิดบัญชีสวรรค์” ชักชวนให้สาวกที่งมงายทำบุญกันจนหมดตัว ฆ่าตัวตายกันมามากต่อมากแล้ว ด้วยความเชื่อว่า “สงฆ์คือบุญเขตอันเยี่ยม” พระภิกษุจึงกลายเป็นนักธุรกิจไปเสียเอง เกิดการสะสมเงินทองเป็นนักลงทุนกันเป็นจำนวนมาก

โดยเผิน ๆ ความเชื่อเรื่อง “กฎแห่งกรรม” นั้นตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” (กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี ปาปกํฯ) จนทำให้ชาวพุทธเถรวาทเชื่อกันว่ากฎแห่งกรรมคือคำสอนหลักในพระพุทธศาสนา และเชื่อในหลักไตรสิกขาที่ว่า “ทาน-ศีล-ภาวนา” โดยหลักการที่ว่า “ทาน” เป็นไปเพื่อการละความโลภ “ศีล” เป็นไปเพื่อการละความโกรธ และ “ภาวนา” เป็นไปเพื่อการละความหลง

อันที่จริงพุทธภาษิตที่ว่า กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี ปาปกํฯ ที่แปลกันต่อ ๆ มาในประเทศไทยว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น” ไม่ถูกต้อง “กลฺยาณ” แปลว่า “งาม” “กลฺยาณการี” แปลตรงตัวว่า “ผู้สร้างความงาม” หากแปลภาษิตนี้กันตรง ๆ จะได้ความว่า “ผู้ที่สร้างความงาม งาม ผู้ทำสร้างบาป บาป” ไม่เกี่ยวอะไรกับทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วเลย”

แม้นภาษิตที่ชาวพุทธท่องกันขึ้นใจว่า ““ยํ กมฺมํ กริสฺสนฺติฯ” (ใครทำกรรมได้ไว้) “ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติฯ” (ย่อมเป็นทายาทแห่งกรรมนั้น) การเป็น “ทายาท” ของ “กรรม” มิใช่หมายความว่าผู้ที่กระทำกรรมใด ๆ ไว้ จะต้องได้รับ ผลของกรรมนั้นเลย การที่บุคคลใดถูกระบุว่าเขาเป็น “ทายาท” ที่จะรับมรดก นั้นมิได้หมายความว่าเขาจะได้รับมรดกนั้น ๆ เสมอไป ทายาทจำนวนมากไม่ได้มรดกเลยก็เป็นได้ การถูกระบุไว้ว่าเป็น “ทายาท” นั้นเพิ่มโอกาสที่จะได้รับมรดกต่างหาก ทายาทจำนวนมากที่ไม่ได้รับผลหรือมรดกที่แม้มีพินัยกรรมเขียนไว้มีปรากฏอยู่ในทุกสังคม

การได้รับ “วิบาก” (ผลอันสุกงอมของกรรม) ย่อมขึ้นอยู่กับ “เหตุปัจจัย” ในการส่งผลของกรรมนั้น ๆ ซึ่งเป็นกลไกทางสังคมอีกส่วนหนึ่ง เช่น กฎหมาย สื่อมวลชน ประจักษ์พยาน และขั้วอำนาจในสังคม เป็นต้น

เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า ท่านพุทธทาส ภิกฺขุ นั้นไม่สอน “กฎแห่งกรรม” เลย เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังนั้นย่อมไม่ใช่เพราะท่านไม่รู้ แต่น่าจะมาจากที่ “ท่านไม่เห็นด้วย” กับคำสอนนี้ต่างหาก และเป็นความจริงที่ในประเทศไทย และประเทศที่เชื่อใน “กฎแห่งกรรม” นั้น กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ จนเป็นการพูดล้อเลียนกฎแห่งกรรมว่า “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”

ความเชื่อในกฎแห่งกรรมต่างหากที่ทำให้เกิดความงมงาย ทำให้ชาวพุทธเชื่อว่า “การทำบุญคือการลงทุนอย่างหนึ่ง” โดยนำตัวอย่างจากคัมภีร์อรรถกถาจารย์ขยายความ “ธรรมบท” (ธมฺมปทฺถกถา) ที่เขียนที่วัดมหาวิหาร ศรีลังกาเมื่อ พ.ศ. ๑๐๐๐ ว่าเป็นเรื่องจริงโดยที่ตนไม่นำมาเปรียบเทียบกับพระไตรปิฎกเสียก่อน จนทำให้ชาวพุทธรุ่นหลัง ๆ ทำบุญเพียงนิดเดียวก็จะได้ผลตอบแทนเป็นดอกผลมหาศาล ในชาตินี้หรือในชาติหน้าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งนั่นเอง เกิดเป็นลัทธิ “บ้าบุญ” ซึ่งได้รับการส่งเสริมด้วยพระภิกษุ เทศน์โปรดญาติโยมให้ทำบุญกันให้มาก ๆ เพื่อจะได้ร่ำรวยมากยิ่งขึ้นในชาติหน้า

บันทึกของชาวปอตุเกสเล่าถึงศรีลังกาเมืองศตวรรษที่ 15 ว่า ชาวศรีลังกาในยุคนั้นยากจนมาก เพราะกว่าครึ่งของพื้นที่ใช้เพราะปลูกได้เป็นของพระหรือของวัดไปหมด ราษฎรส่วนใหญ่ของประเทศจึงไม่มีที่ทำกิน เหตุเพราะชาวพุทธมีศรัทธายกที่ดินของตนทำบุญให้พระหรือให้วัดเกือบทั้งเกาะ

แม้ในพม่าก็เช่นเดียวกันในศตวรรษที่ 17 กษัตริย์พม่าต้องเวรคืนที่วัดมาให้ราษฎรทำนากันมาก เพราะชาวพุทธเชื่อในเรื่องการทำบุญ ยกที่นาถวายให้วัดหรือคณะสงฆ์กันมาก จนไม่มีที่ทำกินกันมากต่อมากแล้วเพราะอำนาจ “ลัทธิบ้าบุญ”

ความเชื่อในกฎแห่งกรรมนอกจากทำให้วัดรวยและพระรวยกันมากต่อมากแล้ว ยังทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย เพราะชาวพุทธที่เชื่อในกฎแห่งกรรม เชื่ออย่างบริสุทธ์ใจว่า “ตนเองไม่ต้องทำอะไร กรรมเก่าตามทันเอง” กฎแห่งกรรมจึงทำหน้าที่เหมือนหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้า ให้คุณให้โทษกับใครก็ได้ ด้วยความเชื่อว่า “โลกนั้นยุติธรรมเสมอ”

ชาวพุทธจึงมองไม่เห็นบทบาทของตนเองในการให้คุณให้โทษผู้อื่นในสังคมและเกิดลัทธิอนุรักษ์นิยมอย่างสุดโต่ง โดยเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า “กรรมเก่า” ย่อมเล่นงานคนที่กระทำความผิดเสมอโดยที่ตนเองไม่ต้องทำอะไร ความมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในกระบวนการยุติธรรมหรือระบบการบริหารบ้านเมืองจึงไม่มี

กฎแห่งกรรมตอกย้ำความเห็นที่ว่า “โลกนี้ยุติธรรมเสมอ” “ความสำเร็จมาจากบุญเก่า” “ความล้มเหลวมาจากกรรมเก่า” เมื่อเห็นคนร่ำรวยมีอำนาจวาสนา ผู้ที่เชื่อในกฎแห่งกรรม ย่อมตีความว่า คน ๆ นี้ทำบุญมาดีจากชาติปางก่อน หากพบคนยากจนก็นึกว่าคน ๆ นี้ทำบุญมาน้อย หากนักเลงใหญ่ลงเลือกตั้ง แม้จะเป็นใหญ่ด้วยการซื้อเสียงก็บอกว่าเป็นเพราะบุญเก่า หากคน ๆ นี้ใช้เงินซื้อตำแหน่งอีก ได้เป็นรัฐมนตรี ก็บอกอีกว่าเป็นบุญเก่า ทั้ง ๆ ที่สังคมทราบกันดีว่าคน ๆ นี้เป็นคนไม่ดีเป็นนักเลงหัวไม้

ในทางตรงข้ามหากพบคนที่ถูกรถชนขาหักก็บอกว่ากรรมเก่าตามมาทัน จึงต้องขาหัก โดยสรุปคือ ตรรกะของกฎแห่งกรรมคือเอาเหตุการณ์ในอดีตมาอธิบายเหตุการณ์ที่เห็นในปัจจุบันและทำให้เกิดการปล่อยวาง เห็นว่าเหตุการณ์เหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องอะไรกับตน ด้วยความเชื่อว่าทุกอย่างเกิดมาจากกรรมทั้งหมด มนุษย์แต่ละคนเกิดมาทำเพื่อตนเองเท่านั้น ใครอยากจะร่ำรวยประสบความสำเร็จก็ต้องเข้าวัดทำบุญให้มาก แล้วอธิษฐานให้มั่งมีศรีสุข หากต้องการแก้ทุกข์ก็ให้เข้าวัดทำบุญอธิษฐานให้ตนเองพ้นจากเคราะห์กรรม ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกอย่างมากจากกรรมเก่าทั้งสิ้น

ผลของลัทธิ “กรรมนิยม” นี้ทำให้ชาวพุทธในประเทศไทยและประเทศที่นับถือพุทธแบบเถรวาทเป็น “พุทธเฉย” เสียส่วนมาก ทั้ง ๆ ที่มีวินิจฉัยรู้ดีเรื่องผิดชอบชั่วดี แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสังคม ชาวพุทธเฉยเหล่านี้ย่อมไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว เพราะเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า ทุกอย่างมาจากกรรมเก่า ทั้งสิ้น การพัฒนาบ้านเมืองจึงทำได้ยาก เพราะชาวพุทธเหล่านี้มองไม่เห็นบทบาทของตนเอง

นักเลงอันธพาลทั้งหลายชอบ “พุทธเฉย” เหล่านี้ เพราะทำความชั่วไว้เพียงไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ก็เฉยไม่มีใครเอาเรื่องเอาราวกับตน ทำให้อาชญากรในประเทศได้ใจ คิดว่าตนเองเก่งไม่มีใครกล้ามายุ่งกับตนเอง หากเป็นนักการเมืองที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงด้วยแล้ว ยิ่งได้ใจมากยิ่งขึ้น

ในทางตรงกันข้ามผู้ที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม หรือ ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย คนเหล่านี้ต้องการการสนับสนุนจากสังคม เพื่อแก้ไขกฎหมาย เอาชนะผู้มีอิทธิพลในสังคม กลับไม่ได้กำลังใจอะไร หากต่อสู้ชนะก็ถูกมองว่าเป็นเรื่องของบุญเก่า ถ้าแพ้ก็ถือว่าเป็นกรรมเก่า

เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมไทยและประเทศที่นับถือพุทธเถรวาทย่อมเกิดปรากฏการณ์ที่กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง การฉ้อราษฎร์บังหลวงทั้งฝ่ายข้าราชการและนักการเมืองจึงกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้า คนที่ทำความดีกับสังคมกลับไม่ได้ผลดี คนที่ทำความชั่วกลับได้รับการยกย่องเชิดชู กฎแห่งกรรมจึงสร้างปัญหาแก่สังคมมากมาย ทำให้พระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม ไม่ใช่ทางออกของปัญหา

อันที่จริงแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการส่งผลของกรรม เป็นต้นว่า เราเห็นคนทำความดีในสังคม เราก็นำมาโพสต์ในเฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดีย กรรมดีของคน ๆ นั้นก็ถือว่าส่งผลแล้วไม่ต้องรอไปถึงชาติหน้า การส่งผลของกรรมจึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขทางสังคมและสำนึกทางสังคมนั่นเอง

การปฏิรูปการบริหารการปกครองจึงจำเป็นต้องปฏิรูปการตีความ “กฎแห่งกรรม” ให้ตรงกับคำสอนดั้งเดิมของพระพุทธเจ้าเสียก่อน ไม่ใช่ตีความตามอรรถกถา หรือ ตามที่พระเทศน์สอนกันในวัดแล้วแวะให้ทำบุญกันมาก ๆ จนพระคุณเจ้าร่ำรวยมีเงินเป็นเจ้าสัวกันมามากต่อมากแล้วครับ!!