ThaiPublica > คอลัมน์ > เมื่อปลาใหญ่ตายน้ำตื้น—ทำไม “บอริส จอห์นสัน” นายกอังกฤษจึงต้องลาออก

เมื่อปลาใหญ่ตายน้ำตื้น—ทำไม “บอริส จอห์นสัน” นายกอังกฤษจึงต้องลาออก

22 มกราคม 2022


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

นายบอริส จอห์นสัน ที่มาภาพ : https://en.wikipedia.org/wiki/Boris_Johnson

การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 ส่งผลกระทบอย่างมากต่อวิถีชีวิตของประชาชนทั่วโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและเป็นเหตุที่ทำให้ผู้นำประเทศมหาอำนาจอย่างอังกฤษต้องเปลี่ยนตัวผู้นำ นายบอริส จอห์นสัน เป็นตัวอย่างที่ดีของเรื่องนี้

นายบอริส จอห์นสัน ได้รับฉายานามว่าเป็น “โดนัล ทรัมป์” ของสหราชอาณาจักร ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ สนับสนุนอย่างออกนอกหน้า และพยายามให้พรรคอนุรักษนิยมเลือกนายบอริส จอห์นสัน เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษแทนนางเทเรซา เมย์ หลังจากที่นางไม่อาจนำประเทศอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปได้ดังที่ได้เคยประกาศไว้ ในที่สุดนายบอริส จอห์นสัน ก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้จริง สิ่งที่เหมือนกับทรัมป์คือนายบอริส จอห์นสัน เป็นผู้นำอีกท่านหนึ่งที่ติดโรค COVID-19 และต้องเข้าพักรักษาตัวในห้องไอซียูถึงห้าวัน และสิ่งที่เหมือนกับทรัมป์อีกประการหนึ่งคือการพยายามที่จะไม่ใช้การแพทย์เชิงรุกในการต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโรค นายบอริส จอห์นสัน พยายามที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ในหมู่ของประชากร จนเป็นเหตุให้ชาวอังกฤษจำนวนมากต้องเสียชีวิต และในที่สุดต้องเปลี่ยนนโยบายให้มีการล็อกดาวน์ ห้ามออกจากบ้าน ห้ามรวมกลุ่มกันทำกิจกรรม และให้ทำงานที่บ้าน (work from home)

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ขณะที่ประเทศอังกฤษกำลังอยู่ระหว่างการไว้ทุกข์จากการจากไปของเจ้าชายฟิลิปส์ พระสวามีของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบท เจ้าหน้าที่ของทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้จัดงานเลี้ยงเล็กๆ ขึ้นในสนามหญ้าด้านหลังของทำเนียบ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ในขณะที่นายรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ล็อกดาวน์ ห้ามประชาชนรวมตัวกันในทุกกรณี ให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย เรื่องนี้ได้เป็นข่าวเกรียวกราวขึ้นปลายปี 2564 เมื่อคลิปสั้นๆ ของเจ้าหน้าที่สำนักนายกฯ หลุดเข้าสื่อโซเชียล เท่านั้นเองเหตุการณ์ที่นายกรัฐมนตรีไม่เคยคาดคิดก็เกิดขึ้น ผู้นำพรรคฝ่ายค้านนำเรื่องนี้เข้าในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน ได้ออกมาปฏิเสธว่างานปาร์ตี้นั้นไม่เคยเกิดขึ้นเลย จนกระทั่งเรื่องนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่โตในสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่านนายกรัฐมนตรีออกมายอมรับในรัฐสภาว่ามีการจัดงานปาร์ตี้นั้นจริง และตัวท่านเองคิดด้วยความบริสุทธิ์ใจว่าเป็นเรื่องการจัดงานเลี้ยงกึ่งทำงาน และตัวท่านเองได้เข้าไปร่วมงานอยู่ด้วยเป็นระยะเวลา 25 นาทีเท่านั้น พร้อมกันนั้นได้กล่าวขอโทษต่อรัฐสภาว่าเป็นสิ่งที่ท่านได้ทำผิดพลาดไปแล้ว

สื่อมวลชนได้ขุดคุ้ยลึกลงไปอีก พบว่างานเลี้ยงเล็กๆ ในสวนหลังทำเนียบนายกรัฐมนตรีนั้น อันที่จริงจัดกันเป็นประจำทุกวันศุกร์ เจ้าหน้าที่สำนักนายกฯ ลักลอบเอาทั้งอาหาร ไวน์ และเหล้าเข้ามากินเลี้ยงกันทั้งคืน ชนิดที่เรียกว่าเป็นงานเลี้ยงโต้รุ่งก็ว่าได้ ในขณะที่รัฐบาลออกกฎเหล็กห้ามประชาชนทั้งประเทศจัดงานสังสรรค์อย่างเด็ดขาด ยิ่งไปกว่านั้น สื่อยังได้ลงภาพภรรยาของนายกฯ กำลังนั่งดื่มกินกับเพื่อนสนิทโดยไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย

คำขอโทษของท่านนายกรัฐมนตรีมิได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ วิกฤติทางการเมืองได้เกิดขึ้นแล้ว หนังสือพิมพ์ในประเทศอังกฤษต่างพาดหัวตัวไม้ บอกว่าเป็นเรื่องที่น่าอายอย่างยิ่ง เรื่องที่เจ้าชายแอนดรูว์ต้องไปขึ้นศาลที่นครนิวยอร์กเนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวอายุเพียง 17 ปีที่เป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกนั้นเป็นข่าวรอง ผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคแรงงาน พรรคเสรีนิยม พรรคกรีน ของสกอตแลนด์ ต่างดาหน้าขึ้นมาวิจารณ์นายกรัฐมนตรีท่านนี้อย่างรุนแรง และทุกคนร้องเป็นเสียงเดียวกันว่า “ต้องลาออก”

ตลอดระยะเวลาที่ถูกอภิปรายนี้ นายบอริส จอห์นสัน นั่งก้มหน้านิ่ง ไม่กล้าที่จะสบตากับผู้ใดเลย เห็นได้ชัดเจนว่ามีความรู้สึกอับอายเป็นอย่างมาก และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอย่างเด็ดขาด

นายบอริส จอห์นสันและภรรยา ที่มาภาพ : https://www.euractiv.com/section/elections/news/boris-johnsons-staff-invited-to-bring-own-booze-during-covid-lockdown-party/

สิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้กระทำต่อไปคือการเข้าเฝ้าขอประทานอภัยโทษจากสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ เพราะประเทศอังกฤษกำลังอยู่ระหว่างการไว้ทุกข์ในงานพระศพของพระสวามีของพระราชินี แต่กิจกรรมนี้มิได้ทำให้สถานการณ์นี้ดีขึ้นแม้แต่น้อย

สิ่งที่นายบอริส จอห์นสัน เจ็บปวดมากที่สุดคือ ผู้แทนราษฎรพรรคอนุรักษนิยมจำนวนมากไม่พอใจที่เขาได้พูดเท็จต่อรัฐสภาและต่อประชาชน

แม้ว่าจะเป็นความผิดเพียงเล็กน้อยก็ตาม ส.ส. ของพรรคนี้หลายคนขับเคลื่อนให้นายกรัฐมนตรีลาออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลสำรวจประชามติครั้งล่าสุด ประชาชนชาวอังกฤษถึง 66% เห็นว่านายกรัฐมนตรีท่านนี้ควรลาออก

พรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษนั้นมองตนเองว่าเป็นพรรคแห่งคุณธรรม มีมาตรฐานทางจริยธรรมสูดสุดกว่าทุกพรรค ผู้นำนอกจากจะต้องฉลาดปราดเปรื่องแล้ว ยังต้องมีคุณธรรมสูงอีกด้วย “พูดอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น ทำอย่างไรก็ต้องพูดอย่างนั้น”

การที่ผู้นำประเทศออกกฎระเบียบให้ประชาชนปฏิบัติแต่กลับละเมิดกฎระเบียบที่ตนบัญญัติเองนั้นเป็นสิ่งที่พรรคการเมืองนี้รับไม่ได้เลย

รัฐสภาของอังกฤษมีจำนวนผู้แทนราษฎรอยู่ 650 คน พรรคอนุรักษนิยมของนายบอริส จอห์นสัน เป็นรัฐบาลเสียงข้างมากโดยมีจำนวน ส.ส. อยู่ 360 คน ตามกติกาของรัฐสภาอังกฤษ ต้องมี ส.ส. ของพรรคอนุรักษนิยมไม่น้อยกว่า 15% หรือเมื่อคำนวณออกมาได้ 54 คนเข้าชื่อกันให้มีการลงมติว่านายกรัฐมนตรีควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่ ถ้านายบอริส จอห์นสัน ชนะโหวตภายในพรรคของตน ก็สามารถครองตำแหน่งต่อไปได้ แต่ถ้าแพ้ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งในทันที่ และไม่มีสิทธิที่จะได้รับการสรรหาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเลย

กระนั้นก็ตาม ประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษนั้นชัดเจนว่าพรรคอนุรักษนิยมมีแนวโน้มที่จะถอดถอนนายกรัฐมนตรีในสังกัดพรรคของตนมามากต่อมาก ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ นางมากาเรต แทตเชอร์ ซึ่งต้องลาออกเพราะขัดแย้งกับคนในพรรค และรายล่าสุดคือนางเทเรซา เมย์ ซึ่งออกจากตำแหน่งในลักษณะเดียวกัน ซึ่งความขัดแย้งของอดีตนายกหญิงทั้งสองคนนี้เป็นเรื่องเล็กน้อยยิ่งกว่าของนายบอริส จอห์นสัน นัก สื่อมวลชนทุกสำนักในอังกฤษจึงมีความเห็นสอดคล้องกันหมดว่า นายบอริส จอห์นสัน หมดเวลาที่จะอยู่ในตำแหน่งนี้แล้ว

ผลโพลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าพรรคกรรมกรนำพรรคอนุรักษนิยมอยู่ 10% และประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าผู้ที่เหมาะที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายบอริส จอห์นสัน คือท่านเซอร์ เคียร์ รอดนีย์ สตาร์เมอร์ หัวหน้าพรรคแรงงาน และผู้นำฝ่ายค้านในรัฐสภา กระนั้น อีกกระแสหนึ่งคือ หากพรรคอนุรักษนิยมสามารถปลดนายบอริส จอห์นสัน ได้และยุติเรื่องฉาวนี้ สื่อในประเทศอังกฤษก็เชื่อกันว่า สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมที่น่าจะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือนายริชี สุนัก (Rishi Sunak) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย มีผลงานในการแก้ไขเศรษฐกิจ จัดงบประมาณให้ระบบการสาธารณสุขของอังกฤษเป็นอย่างดี ซึ่งจะครองตำแหน่งต่อไปอีกหนึ่งปี ก่อนที่จะหมดวาระและมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง

ที่มาภาพ : https://www.euractiv.com/section/coronavirus/news/under-fire-uk-pm-apologises-for-staff-joking-about-christmas-lockdown-party/

การที่นายบอริส จอห์นสัน จะประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้นไม่ใช่วิถีทางในระบอบประชาธิปไตยของอังกฤษ หากพรรคอนุรักษนิยมปล่อยให้วิกฤติการณ์ทางการเมืองทอดระยะเวลายาวนานออกไป พรรคคู่แข่งต่างๆ ย่อมได้โอกาส สร้างคะแนนโดยการออกมาบริภาสการทำงานของนายกรัฐมนตรี นำมาซึ่งการขุดคุ้ยเรื่องอื้อฉาวประเด็นอื่นๆ ออกมาแฉแก่สื่อมวลชนมากยิ่งขึ้นไปอีก การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจึงเป็นการบอบช้ำน้อยสุดสำหรับพรรคอนุรักษนิยมในครั้งนี้

ทุกวันนี้ ส.ส. ของพรรคอนุรักษนิยมแต่ละคนได้รับอีเมลนับร้อยฉบับซึ่งแสดงความผิดหวังและเกรี้ยวกราดต่อการกระทำของนายบอริส จอห์นสัน จนทำให้ ส.ส. กว่า 35 คนได้เข้าชื่อกันเพื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ข่าวล่าสุดเหลือเพียงไม่ถึงสิบคน การถอดถอนนั้นจะเป็นผลสำเร็จ แม้บริเวณด้านหน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่ามีชายชาวอังกฤษประมาณ 30 คน สวมสูตรอย่างดี ไว้ผมยุ่งๆ สีทอง สวมหน้ากากเป็นใบหน้านายบอริส จอห์นสัน มือข้างหนึ่งถือขวดเหล้าร้องรำทำเพลงการอย่างสนุกสนาน เป็นการล้อเลียนที่เจ็บปวด ทำให้นายกรัฐมนตรีกลายเป็นตัวตลกในสายตาประชาชน เป็นข่าวเกรียวกราวกันไปทั่วโลก

การต่อสู้ของนายบอริส จอห์นสัน เพื่อปกป้องตำแหน่งของตน คือ การออกนโยบาย “ประชานิยม” เช่น ใช้กำลังกองทัพเรือผลักดันผู้ลี้ภัยที่พยายามเดินทางข้ามช่องแคบอังกฤษออกไป ผ่อนปรนการกักตัวโดยการลดจำนวนวันที่กักตัวอยู่กับบ้านให้ลดลงให้เหลือเพียง 5 วัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาออกมาวิจารณ์ว่าเร็วเกินไป และยังให้ประชาชนสามารถรวมกลุ่มทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ส่งผู้ลี้ภัยที่หลบหนีเข้าเมืองไปประเทศที่สามในประเทศราวันดา หรือเข้าค่ายกักกันไม่ให้เข้ามาแย่งงานชาวอังกฤษเป็นต้น โดยเรียกปฏิบัติการครั้งนี้ว่า “Red Meat” หรือ “เนื้อแดง”

อันที่จริงสัญญาณที่ไม่เป็น “มงคล” ที่เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีท่านนี้ได้ทยอยเกิดขึ้นมาเป็นระยะๆ นับตั้งแต่ที่เขาออกคำสั่งให้เคลื่อนย้าย “สัตว์เลี้ยง” ออกจากอัฟกานิสถาน ก่อนที่ทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลอังกฤษจะได้รับคำสั่งให้อพยพออกมาก จนรัฐสภาต้องตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้ และพบว่าเป็นคำสั่งของนายกรัฐมนตรีจริง นอกจากนั้นแล้วยังมีกรณีการติดวอลเปเปอร์เพื่อตกแต่งห้องทำงานของท่านนายกฯ โดยที่ไม่มีแหล่งที่มาว่าเงินนับหมื่นปอนด์ที่มาใช้ในการประดับทำเนียบของท่านนายกฯ นั้นได้มาจากไหน แต่ที่ชัดเจนคือไม่ใช่งบประมาณแผ่นดิน และมีหลักฐานที่ชัดเจนว่านายบอริส จอห์นสัน ได้ใช้อำนาจของตนเองช่วยเหลือให้สมาชิกสภาพรรคเดียวกันพ้นจากการถูกสอบสวนว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัทอีกแห่งหนึ่งของตน โดยได้นำข้อมูลของรัฐมาใช้ในการหาผลกำไรของบริษัทแห่งนั้น ยิ่งไปกว่านั้น ร่างพระราชบัญญัติสำคัญในการควบคุมโรคระบาด ถูก ส.ส. พรรคเดียวกันเองคว่ำกลางสภา เพราะไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นี่คือลางร้ายที่ปรากฏในสื่อมวลชน

ทุกวันนี้หน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีมีประชาชนออกมาเดินขบวนต่อต้านถึงขนาดให้ตำรวจจับกุมนายกฯ เพราะทำผิดกฎหมายอาญา

นายบอริส จอห์นสัน ได้เป็นนายกรัฐมนตรีของอังกฤษมารวมทั้งสิ้น 16 เดือน โดยที่ตัวนายกรัฐมนตรีบ่นอยู่เสมอว่า เงินเดือนที่เขาได้รับอยู่นั้นน้อยเกินไป เมื่อเทียบผู้นำประเทศมหาอำนาจประเทศอื่นๆ หากเขารับเป็นองค์ปาฐกไปพูดในสถานที่ต่างๆ หรือเป็นนักเขียนประจำหนังสือพิมพ์ฉบับใดฉบับหนึ่งย่อมได้รายได้มากกว่านี้หลายเท่า อันที่จริงแล้วรายได้ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษนี้อยู่อันดับต้นๆ ของผู้มีรายได้ของทั้งประเทศ โดยคิดเป็นจำนวน 217,000 USD ต่อปี ซึ่งถ้าเทียบกับนายกรัฐมนตรีของแคนาดาย่อมน้อยกว่า โดยอยู่ที่ 267,041 USD หรือนายกรัฐมนตรีของเยอรมนี ซึ่งอยู่ที่ 369,727 USD ต่อปี แต่ในฐานะที่เป็นผู้นำ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ เขามีสิทธิที่จะให้คฤหาสน์ตากอากาศหลังใหญ่ในชนบทฟรีอีกด้วย นอกจากนั้นท่านนายกฯ ยังมีบ้านให้เช่าซึ่งสร้างรายได้ให้ท่านไม่น้อยกว่าปีละ 10,000 ปอนด์ โดยรวมแล้วนายบอริส จอห์นสัน มีรายได้อยู่ชั้นแนวหน้าของคนอังกฤษก็ว่าได้

ที่มาภาพ : https://sparkchronicles.com/

อันที่จริงนายบอริส จอห์นสัน เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่เกิดในสหรัฐอเมริกา ณ นครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1964 ปัจจุบันอายุ 57 ปี เขาเกิดในครอบครัวที่มีอันจะกิน ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำชื่ออีตัน อันเป็นโรงเรียนที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศ และเข้าเรียนต่อที่ Baliol College มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ขณะที่เรียนอยู่นั้นได้รับเลือกเป็นประธานสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และเมื่อเรียนจบได้ประกอบอาชีพเป็นนักเขียนประจำให้หนังสือพิมพ์ The Daily Telegraph ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับที่ประเทศอังกฤษเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปมาตลอด และต่อมาเป็นบรรณาธิการของนิตยสารทางการเมืองชื่อ The Spectator และในที่สุดได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีนครลอนดอน และเมื่อทำหน้าที่ในตำแหน่งจนครบ ไม่ลงเลือกตั้งเพื่อชิงชัยตำแหน่งนี้อีก แต่เป็นตัวตั้งตัวตีให้ชาวอังกฤษลงประชามติให้อังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (BREXIT) และนางเทเรซา เมย์ ได้แต่งตั้งให้เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และเมื่อนางเทเรซา เมย์ ลาออก สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมได้เลือกให้เข้าเป็นหัวหน้าพรรค และเป็นนายกรัฐมนตรีแต่นั้นมา

คนที่ชื่นชมนายบอริส จอห์นสัน กล่าวว่า เขาเป็นคนมีอารมณ์ขันเป็นกันเอง แต่คนที่ไม่ชอบก็วิจารณ์ว่านโยบายที่เขานำมาใช้ในการรับมือกับการแพร่ระบาดใหญ่ของ COVID-19 “เชื่องช้า” จนเกินไป เขาเป็นนักการเมืองที่ชอบโกหกมดเท็จ เป็นนักฉวยโอกาสตัวยง ชอบเล่นเส้นเล่นสาย ช่วยเหลือเฉพาะพวกเดียวกันเองเท่านั้น และเป็นคนที่พูดอย่างทำอย่าง

นายบอริส จอห์สัน ต่อสู้โดยขอให้ทางรัฐสภาตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาความจริงกรณีการจัดเลี้ยงที่นายกรัฐมนตรีเข้าไปมีส่วนร่วมรู้เห็น ซึ่งนายบอริส จอห์นสัน บอกกับคนใกล้ชิดเองว่า หากย้อนเวลากลับไปได้เขาจะไม่ทำอย่างนั้นอีก แต่ความจริงก็คือว่าไม่มีใครย้อนเวลากลับไปได้อีก และวิกฤติทางการเมืองในครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นฉากสุดท้ายของอาชีพนักการเมืองคนที่ชื่อบอริส จอห์นสัน แล้ว เป็นการปิดฉากปลาใหญ่ที่ตายในน้ำตื้นอีกตัวหนึ่งที่ประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษจะบันทึกว่าเขาเป็นนักการเมืองที่ไม่ดี

อังกฤษนั้นปกครองระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่มี “รัฐธรรมนูญ” การบริหารการเมืองการปกครอง ใช้ระบบ “จารีตนิยม” และพัฒนาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาหลายร้อยปี การให้การศึกษาทางประวัติศาสตร์ของอังกฤษเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาประเทศ ทำให้ประชาชนมีสำนึกร่วมของความเป็นชาติ และตระหนักถึงความยากลำบากต่างๆ ที่บรรพบุรุษได้ต่อสู้มาจนเป็นชาติที่ยิ่งใหญ่ได้ในปัจจุบัน

บทเรียนสำคัญทางการเมืองของวิกฤติการณ์ทางการเมืองของนายบอริส จอห์สัน ในครั้งนี้คือ “จริยธรรม” เป็นพื้นฐานของการบริหารราชการแผ่นดิน ผู้นำจำเป็นต้องเป็นแบบอย่างของการดำเนินชีวิตของประชาชนด้วย มิใช่ออกกฎหมายเพื่อใช้กับผู้อื่นแต่ไม่ใช่กับตนเองและพวกพ้อง

“ศีล” ที่สำคัญที่สุดของนักการเมืองนั้นคือ “การเว้นขาดจากการพูดเท็จ” ผู้นำที่มี “ทศพิธราชธรรม” เป็นผู้ที่ “พูดอย่างไรทำอย่างนั้น ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น” (ยถาวาที ตถาการีฯ ยถาการี ตถาวาทีฯ) นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจไม่ว่าจะอยู่ในยุคใดสมัยใด เมื่อถูกจับได้ว่า “มุสา” ย่อมขาดความอาจหาญในตนเอง ถูกล้อเลียนจากประชาชน ฝ่ายตรงข้ามหรือแม้แต่สมัครพรรคพวกของตนเอง นี่คือสัจธรรมที่ใช้ได้กับทุกประเทศ ด้วยประการฉะนี้แล