ThaiPublica > คอลัมน์ > ความใจกว้างทำให้พุทธศาสนาหมดไปจากอินเดียจริงหรือ?

ความใจกว้างทำให้พุทธศาสนาหมดไปจากอินเดียจริงหรือ?

21 ธันวาคม 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

ปัจจุบันในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก ได้มีการอ้างอิงคำสอนของพระมหาเถรรูปหนึ่งในประเทศไทยที่ว่า พระพุทธศาสนาสูญหายไปจากอินเดียเพราะ “ความใจกว้าง” กับศาสนาอื่น อันที่จริงแล้วความ “ใจแคบ” ต่อสหธรรมิกด้วยกันต่างหากที่ทำให้พระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใจแคบกดขี่สตรีเพศต่างหาก

จริงอยู่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญาและการแสวงหาความรู้ ที่เกิดขึ้นมาในชมพูทวีปเพราะการตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณของ “สมณะโคดม” จนทำให้เกิดคณะสงฆ์กลุ่มแรกขึ้น แต่ในระยะเวลาเดียวกันนั้นเอง ในชมพูทวีปได้มีศาสดาอื่นอีกอย่างน้อย 6 คน ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ “ครูทั้งหก” อันได้แก่ มักขลิโคสาละ ปูรณกัสสปะ อชิตเกสกัมพล สัญชัยเวลัฏฐบุตร ปกุธกัจจายนะ และนิครนถ์ นาฏบุตร (ซึ่งท่านท้ายสุดนี้เป็นที่รู้จักกันในนามของศาสดามหาวีระ ศาสดาแห่งศาสนาเชน) ในสายตาของชาวอินเดียในยุคพุทธกาล พระพุทธเจ้าจึงเป็นครูคนที่ 7 ด้วยเหตุนี้เองจึงมีเรื่องปาฏิหาริย์การประสูติของพระบรมโพธิสัตว์ว่า ประสูติแล้วเดินได้ 7 ก้าว แต่ละก้าวมีดอกบัวผุดขึ้นมาจากพื้นดินเพื่อรองรับพระบาทของพระกุมารน้อยท่านนี้ เป็นตำนานที่ปรากฏในพระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาทุกนิกาย

อันที่จริงแล้วปาฏิหาริย์นี้ เป็นเครื่องมือที่ชาวพุทธในยุคพุทธกาลใช้ในการสื่อสารเพื่อให้ชาวอินเดียด้วยกัน เพื่อให้ทราบว่าพระพุทธเจ้าเป็นใครและสัมพันธ์กับครูทั้ง 6 อย่างไร ไม่ใช่เรื่องจริง เพราะสมัยนั้นไม่มีสื่อมวลชน ไม่มีอินเทอร์เน็ตเหมือนในยุคปัจจุบัน หนึ่งดอกบัวคือหนึ่งศาสนา เป็นปาฏิหาริย์นี้เป็นเครื่องมือที่อธิบายว่าพระพุทธเจ้าทรงก้าวข้ามคำสอนของศาสดาร่วมสมัยทั้ง 6 คนไปแล้ว และทรงประกาศอภิสมวาจา “เราเป็นเอกบุรุษของโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา” ทรงยืนอยู่บนดอกบัวดอกที่ 7 ประกาศพระสัทธรรมของพระองค์นั่นเอง หลักฐานนั้นปรากฏในหลายแห่งในพระไตรปิฎก ดังเช่น ในทีฆนิกาย สามัญญผลสูตร ซึ่งเล่าถึงการเสด็จของพระเจ้าอชาติศัตรูเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าครั้งแรกในสวนมะม่วงของแพทย์หลวง ชีวะกะ โกมารภัจจ์ เป็นต้น ชื่อครูทั้ง 6 ปรากฏขึ้นก่อนพระพุทธเจ้า (ไม่เกี่ยวอะไรกับการเผยแพร่พุทธธรรมในเจ็ดแคว้นใหญ่ของอินเดียโบราณดังที่มีคนเชื่อตาม ๆ กันมา)

ในสายตาของพราหมณ์ ศาสนาทั้งเจ็ด นี้เป็นศาสนาใหม่ เป็นพวกที่ย้อนแย้งกับความเชื่อในการประกอบพิธีบวงสรวง ของศาสนาพระเวท (ซึ่งในยุคพุทธกาลนั้นมีเพียง 3 เวท เท่านั้น อันได้แก่ ฤคเวท ยชุรเวท และสามเวท ส่วนคัมภีร์อถรรพเวทนั้นกำลังเกิดขั้นในยุคนั้นนั่นเอง) ในยุคพุทธการศาสนาพระเวทนั้นยังไม่ได้พัฒนาเป็นศาสนาฮินดู ไม่ปรากฏความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีวัฏฏะสงสาร ตายแล้วเกิดกันชาติเดียว หากบุคคลทำตามหน้าที่ (ธรรมะ) ของวรรณะแห่งตน การทำพิธีบวงสรวง การบูชายัญ ให้ถูกต้องก็จะไปเกิดเป็น “เทพ” หรือ “อมร” คือ ผู้ที่ไม่รู้จักตายตลอดไป หากทำผิดจาก “ธรรมะ” ของวรรณะแห่งตนก็จะตกนรกหมกไหม้ตลอดไปเช่นกัน พราหมณ์จึงมองเห็นศาสนาเกิดใหม่เหล่านี้เป็นภัยต่อความเชื่อของตน

สมัยต่อมาในศตวรรษที่ 5 เป็นยุคทองของวรรณคดีสันสกฤตในราชวงศ์คุปตะ เมื่อศาสนาพระเวทได้พัฒนาเป็นศาสนาฮินดู ได้เกิดการปฏิรูปครั้งใหญ่ นำความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเข้ามาอยู่ในศาสนาด้วย นำโดย สังกราจารย์ สร้างลัทธิอัตวัยตะเวทานตะเกิดขึ้น ความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียว (เอกเทวนิยม) จึงเกิดขึ้นโดยพัฒนาจากคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาและคัมภีร์อุปนิษัท ต่อมากได้เกิดคัมภีร์ภควัตคีตา ขึ้น เป็นวรรณกรรมที่ใช้ภาษาสันสกฤตที่ง่ายและสละสลวยมากยิ่งขึ้น ลดความซับซ้อนทั้งหลายให้หมดไป เกิดการปฏิรูปศาสนาที่ทำให้ชาวอินเดียโดยทั่วไปเข้าใจศาสนาได้ง่ายขึ้นพระผู้เป็นเจ้าเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ความชัดเจนในการตอบคำถามที่พระพุทธเจ้า ศาสดามหาวีระ และศาสดาองค์อื่น ๆ ถามไว้ คัมภีร์รุ่นหลังนี้ตอบได้ทั้งหมด ทำให้ชาวอินเดียสมัยนั้นหันกลับมานับถือศาสนาฮินดูด้วยความศรัทธาอย่างมุ่งมั่น ศาสนาฮินดูจึงเกิดขึ้น เป็นศาสนาของครอบครัว คือ พระผู้เป็นเจ้าต้องมีชายา ซึ่งเป็นศักติ หรือ อำนาจของพระผู้เป็นเจ้าองค์นั้น ๆ เช่น พระวิษณุมีพระเทวีคือพระนางลักษมี เทวีของพระศิวะคือ ปราวตีหรืออุมา การบูชาพระผู้เป็นเจ้าจึงต้องมีการบูชาพระผู้เป็นเจ้าและพระเทวีด้วย คู่กันไปเป็น Mr. and Mrs. God ไม่ใช่ God แต่เพียงลำพังเหมือนในศาสนาพระเวท พราหมณ์นับถือพระเจ้าหลายองค์ (พหุเทวนิยม) ในขณะที่วรรณะอื่น ๆ เชื่อในพระเจ้าเพียงองค์เดียว (เอกเทวนิยม) และตีความว่าพระเจ้าองค์อื่น ๆ เป็นปางอื่น ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าที่ตนเองเคารพ

ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนาได้รับการพัฒนาอย่างมากมาย เกิดอภิปรัชญาที่ลึกซึ้งซึ่งแตกสาขากันไปมากมายมีการถกเถียงกันในเรื่องสภาวธรรมต่าง ๆ ซึ่งห่างไกลออกไปจากสังคมอินเดียในยุคนั้นอย่างมาก อาจารย์สำคัญของมหาวิทยาลัยนาลันทา เช่น ท่านนาคารชุน ทิงนาคะ ธรฺมกีรติ ได้เขียนคัมภีร์ที่มีความลึกซึ้งอย่างมาก เป็นปรัชญามัธยามิกะซึ่งมีผู้เข้าใจจริง ๆ ไม่กี่คน พระพุทธศาสนาจึงพัฒนาออกไปอีกทิศทางหนึ่ง นาลันทายังได้พัฒนาศาสตร์ในการโต้วาที และการพยายามเอาชนะคู่ต่อสู้ด้วยวาทะกรรมอย่างแยบยล สภาพความเป็นอยู่ของอาจารย์ในนาลันทาเต็มไปด้วยความหรูหรา เพราะได้รับการทนุบำรุงจากมหาราชาในอินเดียติดต่อกันหลายร้อยปี ในขณะที่ชาวบ้านผู้อาศัยไม่ไกลออกไปจากมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งนี้ มีความเป็นอยู่ที่ยากจนแร้นแค้น ผู้ที่เข้าใจพุทธรรม จึงลดน้อยลงเป็นลำดับ

ในยุคต่อมาเมื่อมุสลิมเข้าครอบครองชมพูทวีป กษัตริย์ราชวงศ์โมกุลได้พยายามเปลี่ยนให้ชาวฮินดูและทุกศาสนาเป็นมุสลิมให้หมด ได้พยายามทุกวิถีทางที่ทำให้สาวกในศาสนาอื่น ๆ ต้องมานับถือศาสนาอิสลาม แม้ในศตวรรษที่ 8 กองทัพชาวมุสลิมได้บุกทำลายมหาวิทยาลัย

นาลันทาลงอย่างราบคาบ ชาวมุสลิมได้เผาทำลายห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในโลกในยุคนั้นมอดไหม้ลงอย่างสิ้นเชิง โดยใช้เวลาเผาอยู่หลายเดือนกว่าจะหมดไป จากประวัติศาสตร์อินเดียหลายคนจึงตีความว่าพระพุทธศาสนาถูกมุสลิมทำให้สูญสลายไปจากชมพูทวีปโดยการประหัตประหารและความรุนแรง โดยปฏิเสธว่าเกิดจากเหตุอื่น ข้อสรุปนี้นำมาซึ่งความเกลียดชังระหว่างชาวพุทธกับมุสลิมอย่างเห็นได้ชัด

กระนั้นก็ตามข้อสรุปดังกล่าวนี้ ไม่อาจตอบคำถามได้ว่า “ทำไมเมื่อพระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดียแต่ศาสนาเชนไม่หมด และยังคงปักหลักมั่นคงในอินเดียมาถึงทุกวันนี้?”

จากพระไตรปิฎกเราทราบว่า พระพุทธเจ้าเคยเป็นนักบวชเชนมาก่อน ตัวอย่างเช่น การบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานพระองค์ในขณะที่เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ ทรงอดอาหารเกือบจะเสียชีวิต ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาเชนว่าการอดอาหารนั้นเป็นการบำเพ็ญตบะอย่างหนึ่ง เมื่อทรงปฏิเสธการอดอาหารกลับมาเสวยอาหารอีก ทำให้ปัญจวัคคีย์หลีกหนีไป ด้วยคิดว่า “สมณะโคดมได้เวียนมาสู่ความมักมากเสียแล้ว” ความผิดหวังในครั้งนี้ เพราะความรู้สึกที่ลูกศิษย์จับได้ว่า พระอาจารย์ที่เคารพของตน “ฉันอาหารมื้อเย็น” จึงหมดศรัทธา เพราะในศาสนาเชนนั้นไม่มีความเชื่อเรื่อง “ทางสายกลาง” แต่เชื่อในวิธีการประพฤติธรรมอย่างอุกฤษฏ์เท่านั้น

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ โครงสร้างทางสังคมของพระพุทธศาสนากับศาสนาเชนนั้นเหมือนกัน ในขณะที่ในศาสนาเชนมีบริษัทสี่อันประกอบด้วย สมณะ สมณี สาวกะ สาวิกา ส่วนในพระพุทธศาสนามี ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เมื่อเป็นเช่นนี้ศาสนาเชนก็น่าจะสูญหายไปจากอินเดียด้วย ทั้งสองศาสนานั้นอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน คำสอนคล้ายกัน ทั้งคู่เป็น อเทวนิยม คือ ปฏิเสธการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า เชื่อในเรื่อง วัฏฏะสงสาร กรรม และการหลุดพ้น (โมกษะ) ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งศาสนาฮินดูเห็นว่าทั้งสองเป็นศาสนานอกคอก เช่นเดียวกันกับศาสนาอิสลาม หากเป็นเช่นนี้ศาสนาเชนก็น่าจะถูกประหัตประหารไปจากอินเดียด้วยเช่นกัน แต่ทำไมจริงไม่เป็นเช่นนั้น? เป็นเพราะศาสนาเชนใจแคบกว่าพุทธกระนั้นหรือ? ทั้งที่คำสอนในพระพุทธศาสนานั้นปฏิบัติง่ายกว่า ไม่มีการทรมานตนเอง ไม่มีการอดอาหารแบบของเชน เมื่อพุทธหมดไปจากอินเดีย เชนก็น่าจะหมดไปด้วยกัน แต่ทำไมจึงไม่เป็นเช่นนั้น?

เป็นไปได้หรือไม่ว่าพระพุทธศาสนามีความอ่อนแอในเชิงคำสอน? จนความอ่อนแอนั้นทำให้ศาสนาไม่อาจทนทานต่อการถูกทดสอบของสังคมอินเดียในยุคโบราณได้…

ศาสนาเชนนั้นถูกจำกัดด้วยคำสอนและพรตต่าง ๆ ของตนเอง มีทั้งอนุพรตและมหาพรต ศาสนิกของเชนยังรับประทานเนื้อสัตว์ไม่ได้ ทุกคนต้องเป็นมังสวิรัติที่เคร่งครัด เว้นการบริโภคหอมและกระเทียมอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะนักบวชเชนนิกายทิคัมพร ที่นุ่งลมห่มฟ้า ไปไหนไกลไม่ได้เลย ไม่อาจเดินทางไปต่างประเทศได้ และไม่อนุญาตให้สตรีบวชด้วยเหตุผลเดียว คือ สตรีไม่อาจแก้ผ้าในที่สาธารณะได้ สาวกของศาสนาเชนส่วนใหญ่จึงเป็นของนิกายเศวตัมพร ที่นักบวชชายหญิงนุ่งห่มผ้าขาว ในขณะที่พระพุทธศาสนาเผยแผ่อย่างได้ผลนอกแผ่นดินอินเดีย

ประเด็นสำคัญที่เป็นจุดอ่อนของพระพุทธศาสนา คือ ความเท่าเทียมกันในสิทธิของชายและหญิง ในขณะที่ชาวพุทธเชื่อกันว่าพระธรรมนั้นเป็น “อกาลิโก” คือไม่ขึ้นกับกาลเวลา แต่ในพระพุทธศาสนา สิทธิของหญิงและชายนั้นไม่เท่ากัน พระบรมโพธิสัตว์ที่จะตรัสรู้เป็น ต้องเป็นชายเท่านั้น หญิงไม่มีสิทธิที่จะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เลย เพราะเพศชายเป็นเพศที่บริสุทธิ์ ส่วนในศาสนาเชนนั้นไม่มีความเชื่อเช่นนี้คือสตรีสามารถตรัสรู้ได้เท่าเทียมกับศาสดามหาวีระได้เลย !!

ในบริบทเช่นนี้ พระพุทธศาสนาจึงไม่ยอมรับ “สิทธิมนุษยชน” ในขณะที่บุรุษมีสิทธิ์ที่จะบวชได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องรอคอย ส่วนสตรีเพศจำเป็นต้องประพฤติพรหมจรรย์ อย่างน้อยสองปี จึงมีสิทธิได้บวช และในพระวินัยปิฎกยังกำหนดเป็นครุธรรม ๘

ครุธรรม ๘ นี้ปรากฏทั้งในภิกขุณีวิภังค์และในอังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก ยืนยันตรงกันว่าเป็นเงือนไขที่พระพุทธเจ้าประทานแก่พระนางปชาบดี โคตะมี เป็นเงื่อนไขว่าหากนางสามรถยอมรับ ครุธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ได้ก็จะมีพุทธานุญาตให้เกิดภิกษุณีสงฆ์ เป็นเงื่อนไขที่พระอานนท์ท่องจำแล้วนำไปถ่ายทอดให้พระนางฟัง ครุธรรม ๘ ประการมีข้อความดังต่อไปนี้

๑. ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรมสามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต (สำหรับภิกษุกราบไหว้กันตามอายุพรรษา)

๒. ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต (ภิกษุสามารถจำพรรษาได้ตามลำพัง)

๓. ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต (ไม่มีกำหนดให้ภิกษุเข้าฟังคำสั่งสอนจากผู้ใด)

๔. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย โดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น โดยได้ยิน หรือโดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะเคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต (ภิกษุปวารณาเฉพาะต่อภิกษุสงฆ์เท่านั้น)

๕. ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัต (๑๕ ราตรี) ในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต (สำหรับภิกษุที่ต้องกรรมหนักประพฤติเพียง ๕ ราตรี และในภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว)

๖. ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานาผู้มีสิกขา อันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต (ภิกษุสามารถบวชได้โดยไม่จำกัดเวลา)

๗. ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษภิกษุ โดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่ง ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต (ไม่มีข้อห้ามมิให้ภิกษุบริภาษภิกษุณี)

๘. ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุ เปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต (ไม่มีข้อห้ามนี้สำหรับภิกษุ) ทุกประโยคของครุธรรมนั้นลงท้ายได้ข้อความว่า “นี้เป็นธรรมที่ภิกษุณีต้องไม่ละเมิดตลอดชีวิต” ซึ่งเป็นสำนวนเดียวกันที่ใช้ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์เมื่อกำหนดหน้าที่ของสตรี

ผลลัพธ์คือพระนางปชาบดี รับด้วยเศียรเกล้าอย่างไม่มีเงื่อนไข เท่ากับเป็นการยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมแก่สตรีตั้งแต่ตน เท่ากับเป็นการที่ให้ภิกษุณีทุกรูปต้องปฏิบัติตามครุธรรมอย่างไม่มีทางเลือกแต่ประการใด

เมื่อพระอานนท์นำคำตอบของนางไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ๆ จึงตรัสว่า หากไม่มีภิกษุณีสงฆ์ พรหมจรรย์จะมีอายุได้ ๑๐๐๐ ปี แต่เมื่อมีภิกษุณีสงฆ์เกิดขึ้นพรหมจรรย์จะมีอายุได้เพียง ๕๐๐ ปีเท่านั้น และทรงอธิบายต่อไปว่า ครุธรรม ๘ นี้เหมือน “เขื่อนใหญ่” ที่สร้างขึ้นเมื่อชาวนาพบว่าต้นข้าวของตนมี “หนอดขยอก” เข้าลงกัดกินต้นข้าวในนาข้าว หรือ “เพลี้ย” ในไร่อ้อย (เป็นวิธีการกำจัดศัตรูพืชชนิดหนึ่งของชาวนาในอินเดียยุคโบราณ) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเห็นภิกษุณีเป็นศัตรูของพระพุทธศาสนา เป็นจุดเดียวในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้า “ด้อยค่า” ความเป็นคนของสตรีทุกคน (มนุษย์ถูกนำมาเปรียบเปรยเท่ากับหนอนและเพลี้ย–ศัตรูพืชชนิดหนึ่ง) คำถามที่น่าสนใจคือ “ครุธรรม ๘” นี้เป็นพุทธวจนะหรือไม่?

เป็นที่น่าสังเกตว่า ครุธรรม ๘ นี้ขัดแย้งกับพระไตรปิฎกหลายแห่ง แม้กับเงือนไขในตัวของมันเอง เช่น ครุธรรมข้อที่ ๘ ที่ระบุว่า “นับแต่วันนี้เป็นต้นไปห้ามมิให้ภิกษุณีสอนภิกษุ ให้ภิกษุสอนภิกษุณีได้อย่างเดียว” วลีที่ว่า “นับแต่วันนี้เป็นต้นไป” นี้หมายความว่า ก่อนหน้าการเอ่ยประโยคนี้มานั้น มีภิกษุณีสอนภิกษุมาก่อนหน้านั้นแล้ว และห้ามไม่ให้ภิกษุณีรูปใดสอนภิกษุต่อไปอีก” เมื่อตรวจสอบต่อไปอีกจึงพบว่าในเถรเถรีคาถา มีพระภิกษุณีสอนภิกษุจนทำให้ภิกษุรูปดังกล่าว ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์ และทำให้ท่านนับถือพระเถรีรูปนั้นเป็นแม่ของตนเอง
สำนวนต่าง ๆ ที่ปรากฏในครุธรรม ๘ นี้เข้ากันได้กับคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ของพราหมณ์ เช่น ประโยคที่ว่า “ต้องนำไปปฏิบัติตลอดชีวิต” และเข้ากับหลักคิดที่ว่า “สตรีไม่มีสิทธิที่จะกระทำกิจกรรมใด ๆ โดยลำพังด้วยตนเองเลย”

ในพระไตรปิฎกไม่ปรากฏหลักฐานใด ๆ ที่แสดงว่าภิกษุณีเป็นภัยกับพระพุทธศาสนา แต่ในทางตรงกันข้ามมีหลักฐานว่าภิกษุณีคือแนวหน้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยซ้ำ เป็นต้นว่า พระเจ้าปเสนทิ พระราชาของแคว้นโกศล ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าถึงความปราชเปรื่องของพระนางเขมาเถรี ว่าสามารถแสดงธรรมได้ลุ่มลึกไม่แพ้พุทธองค์เลย แม้พระเจ้าปเสนทิได้เคยเสด็จไปฟังธรรมจากนางถุลลนันทาเถรีถึงที่กุฏิ ถึงสองครั้ง และได้ประทานผ้าพันคอของพระองค์แก่นางถุลนันทาด้วย ขณะเดียวกันไม่ปรากฏว่ามีพระสูตรใด ๆ ที่อ้างอิงร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้าที่เล่าถึงการเสด็จไปฟังธรรมของพระราชาคนใดคนหนึ่งกับพระอรหันต์เถระ แม้แต่เพียงรูปเดียว ในคัมภีร์เถร-เถรีคาถา ปรากฎเรื่องที่ภิกษุหลายรูปตรัสรู้ธรรมเพราะฟังธรรมจากนางภิกษุณี แต่ไม่ปรากฏว่ามีภิกษุณีรูปได้ตรัสรู้เพราะฟังธรรมจากภิกษุเลย

ส่วนในทางชีววิทยา มนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เลี้ยงลูกนานที่สุด หากเปรียบเทียบกับช้างซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ใหญ่ที่สุดบนบกเลี้ยงลูกของมันเพียง 5 ปีเท่านั้น ส่วนมนุษย์อาจเลี้ยงลูกของตนไปนานจนตลอดชีวิต และแม่เป็นผู้ที่เลี้ยงดู อุ้มท้อง ให้น้ำนม ให้อาหาร ดูแลยามลูกน้อยเจ็บป่วย ตลอดจนเป็นผู้พร่ำสอนไปด้วยพร้อม ๆ กัน ธรรมชาติได้ให้ความสามารถในสอนแก่สตรี ทว่าเมื่อใดที่พรสวรรค์ในการสอนนั้นถูกห้าม ดังเช่น ครุธรรมข้อที่ ๘ ห้ามมิให้ภิกษุณีสอนภิกษุ แต่ให้ภิกษุสอนภิกษุณีได้ฝ่ายเดียว พระพุทธศาสนาจึงกลายเป็นศาสนาแห่งการเลือกปฏิบัติทางเพศ และเกิดความอ่อนแอลงไปอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ในศาสนาเชน สมณีสามารถสอนสมณะและทุกคนได้โดยไม่มีข้อห้ามใด ๆ ทั้งสิ้น ความสามารถในการสอนของสตรีจึงได้ถูกนำออกมาใช้อย่างเต็มที่ แม้ว่าถูกสังคมอินเดียท้าทายทั้งในสมัยที่ฮินดูและอิสลามเรืองอำนาจ ศาสนาเชนก็ยังสามารถดำรงอยู่ในอินเดียได้อย่างมั่นคง ในทางตรงกันข้าม นักบวชทั้งหญิงและชายของศาสนาเชนเป็นผู้นำในการดูแลมนุษย์และสัตว์ที่ป่วย ให้อาหารคนยากคนจนในอาศรมต่าง ๆ ของตน สมณีของเชนเป็นนักเทศน์อบรมประชาชนเรื่อยมาไม่ขาดสาย ทำให้ศาสนาเชนมั่นคงในอินเดียจนถึงทุกวันนี้ ส่วนพุทธศาสนาเองนั้นค่อย ๆ สูญสลายไปจากอินเดียในที่สุด การสูญสลายครั้งนี้หาได้เกิดจากความใจกว้างของชาวพุทธในอินเดียแต่อย่างใดไม่ แต่เกิดจากความใจแคบการกดขี่สตรีเพศอย่างรุนแรง ที่เกิดขึ้นหลังพุทธปรินิพพานนั่นเอง

จึงเป็นสิ่งที่เชื่อได้ว่าครุธรรม ๘ นั้นเกิดหลังพุทธปรินิพพาน แต่เนื่องจากเป็นธรรมะที่แปลว่า “หน้าที่” มิใช่คุณธรรมความดี ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้ทั่วไปในพระพุทธศาสนา ความหมายของ “ธรรม” ในครุธรรมนี้จึงไม่เข้ากับความหมายในพระพุทธศาสนา คำว่า “ครุธรรม” จึงแปลได้ว่า “หน้าที่อันหนัก” (Heavy Duty) สำหรับภิกษุณี เป็นความหมายที่ได้รับอิทธิพลจากคัมภีร์ธรรมศาสตร์ของพราหมณ์ ครุธรรม ๘ จึงเป็นอิทธิพลของพราหมณ์ที่เข้ามาในพระพุทธศาสนาไม่นานหลังจากพุทธปรินิพพาน ซึ่งน่าจะเป็นในปฐมสังคายนาในกรุงราชคฤห์ 3 เดือนหลังพุทธปรินิพพานแล้วนั่นเอง ในการสังคายนาครั้งนั้นพระมหากัสสปะเป็นประธาน และเป็นผู้คัดเลือกพระภิกษุอรหันต์ 500 รูปเข้าร่วมสังคายนา (เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีพระอรหันตเถรีเข้าร่วมสังคายนาแม้รูปเดียว) ส่วนพระอานนท์ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมสังฆกรรมด้วยในวันสุดท้าย

ในการทำสังคายนาครั้งนี้ พระอานนท์ได้กล่าวกับคณะสงฆ์ว่าเมื่อก่อนพุทธปรินิพพานนั้น ทรงมีพุทธานุญาตให้คณะสงฆ์แก้ไขพระวินัยเล็กน้อยได้ แต่เมื่อพระมหากัสสปะถามว่า พระอานนท์ได้ถามพระพุทธเจ้าไหมว่า “พระวินัยข้อเล็กน้อยนั้นคือข้อใด” พระอานนท์จึงตอบว่า “มิได้ถาม” เพราะเห็นว่าทรงประชวรหนักแล้วเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกาลเทศะ พระมหากัสสปะจึงมีมติไม่ให้มีการแก้ไขพระวินัยอีกตั้งแต่นี้เป็นต้นไป

พระมหากัสสปะจึงปรับอาบัติพระอานนท์อีก 4 ประการ ดังต่อไปนี้คือ

1) พระอานนท์ไม่ทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้ทรงพระชนม์ต่อไปตลอดกัลป์หรือกว่านั้น (พระศาสดาตายเพราะพระอานนท์)
2) พระอานนท์ขวนขวายให้สตรีบวช ทำให้ศาสนาเสื่อมเร็ว
3) พระอานนท์ใช้เท้าเหยียบผ้าอาบน้ำฝนของพระพุทธเจ้าในขณะที่ปะชุนผ้านั้น
4) พระอานนท์ให้สตรีกราบพระสรีระของพระพุทธเจ้าก่อนบุรุษ และน้ำตาสตรีร่วงหล่นลงบนพุทธสรีระนั้น

อาบัติเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย ในสายตาของชาวพุทธ แต่หากเปรียบเทียบในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ อาบัติเหล่านี้เป็นเรื่องที่ใหญ่โตมากสำหรับวรรณะพราหมณ์ เป็นต้นว่า ผ้าอาบน้ำฝนน้ำเป็นผ้าผืนที่สำคัญของพราหมณ์อย่างมาก ห้ามถูกต้องด้วยเท้าอย่างเด็ดขาด และ น้ำตาของสตรีนั้นเป็นสารคัดหลั่งที่เป็น “มลทิน” เท่ากับ “ประจำเดือน” ของสตรีซึ่งพราหมณ์ทั้งหลายไม่อาจรับได้

พระอานนท์ได้อธิบายต่อที่ประชุมสงฆ์ว่า ที่ท่านใช้เท้าเหยียบผ้าอาบน้ำฝนของพระพุทธเจ้านั้นเพื่อทำการปะชุนนั้น เพราะท่านอยู่รูปเดียวไม่มีใครช่วย ส่วนการที่ให้สตรีเข้ากราบพุทธสรีระก่อนบุรุษนั้น ก็เพราะว่าขณะนั้นเป็นเวลาที่ดึกมากแล้ว และเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีเหล่านั้นจะหาที่พักค้างคืนในเมืองกุสินารา คำตอบทั้งสองประการนั้นเป็นเหตุเป็นผลโดยการใช้สามัญสำนึกของผู้ที่ไม่ยึดติดกับค่านิยมทางจารีตประเพณีแบบที่ระบุไว้ในกฎหมายพระธรรมศาสตร์ เป็นที่เชื่อมั่นได้ว่าภิกษุวรรณะพราหมณ์ทั้งหลายที่ติดตามเสด็จพระพุทธเจ้ามายังกุสินาราย่อมไม่พอใจ

จากข้อความในพระไตรปิฎกทำให้เราทราบว่าปฐมสังคายนานั้นมิได้เป็นสังฆกรรมที่ชอบธรรมแต่ประการใดไม่ แม้ว่าภิกษุที่ประชุมกันอยู่ในการสังคายนานั้นจะห่มจีวรเป็นภิกษุและถูกยกย่องว่าเป็นพระอรหันต์แต่แท้จริงแล้ว ภิกษุเหล่านี้มีสำนึกของวรรณะพราหมณ์อย่างเต็มที่ นี่เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างดีว่าเมื่อพุทธปรินิพพานผ่านไปเพียง 3 เดือน ค่านิยมของวรรณะพราหมณ์ได้เข้าครอบงำวงการสงฆ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจากที่ประชุมสงฆ์ครั้งนี้เอง ครุธรรม ๘ ได้กำเนิดขึ้น และเป็นที่เชื่อได้ว่า ครุธรรมข้อที่ ๘ นั้นเป็นคำพูดของพระมหากัสสปะเอง และคณะสงฆ์ได้ท่องจำกันมาตั้งแต่ปฐมสังคายนา ในฐานะที่เป็นพุทธวจนะ

ปฐมสังคายนานี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าเมื่อพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปได้ไม่นาน คณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งซึ่งมีพื้นเพมาจากวรรณะพราหมณ์ได้เข้ายึดอำนาจการปกครอง เป็นสังฆประหาร โดยที่สงฆ์กลุ่มนี้นั้นอาจศรัทธาในพระพุทธเจ้าส่วนหนึ่งแต่ยังคงยึดมั่นในค่านิยมของวรรณะพราหมณ์อยู่ และทนเห็นสตรีสอนบุรุษไม่ได้ จึงเข้าแก้ไขพระธรรมวินัยในปฐมสังคายนาอย่างแยบยล ตราครุธรรม ๘ ขึ้น โดยจัดทำขึ้นในฐานะที่เป็นเงื่อนไขที่พระพุทธเจ้าประทานให้พระนางปชาบดี ก่อนที่จะเกิดภิกษุณีสงฆ์ขึ้น อ้างเหตุที่ สุภัททะ ภิกษุผู้บวชเมื่อแก่ แสดงวาจาจาบจ้วงต่อการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าว่าเป็นสิ่งที่ดี จำเป็นที่คณะสงฆ์จะต้องทำสังคายนาเพื่อรักษาคำสอนที่แท้จริงของพระศาสดาไว้ แต่มีวัตถุประสงฆ์ที่แท้จริงคือเพื่อลดทอนอำนาจของภิกษุณี เห็นว่าสตรีเป็นภัยต่อพระศาสนา และได้ทำจนสำเร็จ และมีการสั่งห้ามมิให้คณะสงฆ์ตรากฎระเบียบหรือแก้ไขอะไรที่ตนได้บัญญัติไว้ เมื่อภิกษุณีสงฆ์อ่อนแอพระพุทธศาสนาจึงได้อ่อนแอ จนในที่สุดจึงสูญสลายจากชมพูทวีปไปในที่สุด รายละเอียดการวิเคราะห์นี้ปรากฏอย่างละเอียดในหนังสือ “เหตุเกิดพ.ศ.๑”

ข้อสรุปนี้ทำให้นักประวัติศาสตร์พุทธศาสนายุคใหม่เชื่อว่า พระพุทธศาสนายุคต้น (Early Buddhism) นั้นสอดคล้องกับหลักการของสิทธิมนุษยชน พระพุทธเจ้าไม่เคยเลือกปฏิบัติทางเพศ และให้โอกาสสตรีได้บวชเป็นภิกษุณีเท่ากับบุรุษ ความใจแคบต่างหากที่กดขี่สตรีเพศ เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาไปโดยปริยาย ส่วนพุทธศาสนาแบบเถรวาทในประเทศไทย เมียนมา ลาวและกัมพูชา ยังคงยึดติดในค่านิยมที่เชื่อกันตาม ๆ กันมาและมีทิฐิว่าพระพุทธศาสนาแบบของตนเท่านั้นที่บริสุทธิ์ที่สุด แน่วแน่ที่สุดในพุทธปณิธาน โดยไม่ยอมเปลี่ยนแปลงใด ๆ ทั้งสิ้นและถือว่าตนผูกขาดความเป็นพุทธแท้เจ้าเดียวในโลก ไม่นำพาต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ใดทั้งสิ้น เชื่อว่านิกายของตนเองเท่านั้นเป็นผู้ถูกต้อง

หากพิจารณาสังคมพุทธที่มีภิกษุณีสงฆ์ เช่น ไต้หวัน จำนวนภิกษุณีนั้นมากกว่าภิกษุประมาณ 4:1 และภิกษุณีเหล่านี้มีความสามารถมากมายในทางวิชาการ เป็นนักเทศน์ เป็นผู้นำประชาชนจำนวนนับล้าน หลายรูปเป็นสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ สร้างโรงพยาบาล มูลนิธิและองค์กรการกุศลมากมาย หลายรูปได้รับรางวัลจากรัฐบาลในทางวิชาการ ส่วนในประเทศไทย ขณะนี้มีภิกษุณีในประเทศไทยแล้วประมาณ 250 รูป แต่รัฐบาลไทยยังคงไม่ยอมรับสถานภาพของภิกษุณีเหล่านี้ โดยถือว่าพระคุณเจ้าเหล่านี้เท่ากับฆราวาสดี ๆ นี่เอง แม้ว่าจะได้รับการบวชอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัยก็ตาม การสร้างอารามให้ภิกษุณีถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับ แม้กระทั่งการบวชต้องเดินทางไปบวชในต่างประเทศ

ชาวพุทธยุคใหม่ควรตระหนักถือความสำคัญของ “สิทธิมนุษยชน” และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ทั้งหญิงและชาย การเลือกปฏิบัติทางเพศ ความเชื่อทางจารีตประเพณี สีผิว หรือเหตุใด ๆ ก็ตาม นั้นเป็นการทำให้สังคมอ่อนแอ เพราะศักยภาพของมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อให้แสดงออกมาได้อย่างเต็มที่ สังคมสงฆ์ในอินเดียจึงอ่อนแอ ชาวพุทธรุ่นใหม่จึงควรมีจิตใจที่เปิดกว้าง เรียนรู้ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อที่ปรับแก้ไขให้ถูกต้องในการดำเนินชีวิตของตนให้อยู่ในครรลองครองธรรม มิใช่เชื่อกันตาม ๆ กันมาอย่างงมงายอย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่รู้จักตั้งคำถามกับคนรุ่นเก่า ๆ หรือครูบาอาจารย์ของตน ว่าทำไม่เหตุการณ์เหล่านี้จึงเกิดขึ้นแบบนี้ “ทำไมเมื่อพระพุทธศาสนาหมดไปจากอินเดียศาสนาเชนจึงยังอยู่?”

เลิกพูดกันเสียที่เถิดว่า “ความใจกว้าง” ทำให้พระพุทธศาสนาหมดไปจากประเทศอินเดีย เพราะอันที่จริงแล้ว “ความใจแคบ” ของชาวพุทธด้วยกันเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระมหาเถรผู้ใหญ่นั้นต่างหากที่สร้างความย่อยยับให้เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนามามากต่อมาก ดังเช่นที่ได้มีการวิเคราะห์สาระในหนังสือ “เหตุเกิด พ.ศ.๑” ไว้แล้วอย่างละเอียด ในหนังสือเล่มนี้จะเห็นได้ว่า สิทธิมนุษยชนนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญและเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนของพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนายุคแรก (Early Buddhism) และครุธรรม ๘

“ความใจแคบ” ของการสังฆกรรมในครั้งนั้น เป็นตราบาปที่เกิดขึ้นในปฐมสังคายนาส่งผลถึงสังคมไทยในปัจจุบัน ครั้งหนึ่งเคยทำให้พระพุทธศาสนาหมดไปจากแดนพุทธภูมิอย่างน่าเสียดายยิ่ง เมื่อไหร่ชาวพุทธจะได้เรียนรู้บทเรียนราคาแพงนี้เสียที และลงมือแก้ไขในสิ่งที่ผิดทำให้ถูกต้องเสียที?