ThaiPublica > คอลัมน์ > ความกล้าหาญทางจริยธรรมของเยอรมนี ต้นแบบการพัฒนาประเทศไทย

ความกล้าหาญทางจริยธรรมของเยอรมนี ต้นแบบการพัฒนาประเทศไทย

7 มิถุนายน 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์ประจำวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต

ที่มาภาพ : https://www.nobelpeacecenter.org/en/news/the-german-genocide-you-ve-never-heard-of

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2564 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีได้ออกมาประกาศยอมรับว่า สิ่งที่รัฐบาลเยอรมันได้กระทำระหว่างปี ค.ศ. 1904-1908 ในประเทศนามิเบีย (Namibia) หรือเมื่อ 117 ปีมาแล้วนั้นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และแถลงให้ชาวนามิเบียให้อภัยกับชาวเยอรมันด้วยพร้อมกันนั้นได้ประกาศว่าทางรัฐบาลเยอรมนีจะให้ความช่วยเหลือประเทศนามิเบียเป็นจำนวนเงินถึง 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเป็นการขออภัยต่อกรรมที่ชาวเยอรมันได้กระทำไว้เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว

เหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก สำหรับความรุนแรงที่ชาติมหาอำนาจหนึ่งออกมาขอขมาลาโทษต่อกรรมที่ประเทศของเขาได้ก่อไว้เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว ทั้งๆ ที่ไม่มีแรงกดดันใดๆ ทางการทูต การทหาร หรือทางเศรษฐกิจ ต่อเยอรมนีเลย

และรัฐบาลเยอรมนีในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าไกเซอร์ของปรัสเซีย ซึ่งปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และในขณะที่นามิเบียเป็นเมืองขึ้นของปรัสเซีย เป็นคนละรัฐบาลกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีในขณะนี้

แม้เยอรมันเองก็เคยพ่ายแพ้สงครามโลกทั้งสองครั้งที่ผ่านมา บ้านเมืองพินาศย่อยยับ ประชาชนล้มตายไปหลายล้านคน ถูกแบ่งแยกประเทศในยุคสงครามเย็นอยู่นานหลายสิบปี แต่เกิดความสำนึกในกรรมหนักคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนเผ่าในนามิเบียถึงสองเผ่าด้วยกัน

ในระหว่างปี ค.ศ. 1904-1908 นั้น ทหารของปรัสเซียได้สังหารโหดชาวนามิเบียไปไม่ต่ำว่า 80,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีสตรีและเด็กจำนวนมาก ชาวนามิเบียจำนวนมากถูกฆ่าตัดคอ และเอาศีรษะส่งไปทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ว่าเผ่าพันธุ์คนผิวขาวนั้นสูงส่งยิ่งกว่าคนผิดดำ อีกหลายพันคนถูกแขวนคอตาย หลายพันคนถูกยิงด้วยปืนกล และอีกนับหมื่นคนที่ถูกขับไล่ให้เดินไปตายในทะเลทราย โดยไม่มีอาหารหรือน้ำดื่ม ผู้ที่รอดตายจากการสังหารโหดครั้งนั้นมีเพียงหนึ่งหมื่นห้าพันคนเท่านั้น

หากเปรียบเทียบกับญี่ปุ่นซึ่งเคยก่อกรรมทำเข็ญกับชาวจีน และเกาหลี ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นไม่เคยออกมาขอโทษใดๆ เลย ทั้งๆ ที่การประหารชาวจีนก่อนสงครามโลกนั้น ทหารญี่ปุ่นกระทำอย่างโหดเหี้ยมสุดที่จะบรรยาย เช่น ที่นครนานกิง ซึ่งมีคำศัพท์พิเศษว่า The Rape of Nanking จนทำมาเป็นภาพยนตร์สารคดี ทหารญี่ปุ่นจับทารกชาวจีนโยนขึ้นไปในอากาศแล้วใช้ดาบปลายปืนแทง หญิงสาวชาวเกาหลีจำนวนมากถูกบังคับให้เป็นหญิงโสเภณีบำบัดความใคร่ให้ทหารญี่ปุ่น โดยชาวจีนและเกาหลีมิได้เคยได้รับคำขอโทษจากรัฐบาลญี่ปุ่นเลย ส่วนเงินทำขวัญนั้นไม่ต้องพูดถึง — ไม่มีให้

หากเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา เมื่อทิ้งระเบิดปรมาณูใส่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ เมื่อวันที่ 6 และ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2588 ชาวญี่ปุ่นตายทันทีนับหมื่นทั้งๆ ที่ไม่ใช่ทหาร เป็นสตรีและเด็กจำนวนมาก และที่ค่อยๆ ทยอยเสียชีวิตจากภัยของกัมมันตภาพรังสีอีกนับแสน โดยเฉพาะที่เมืองนางาซากินั้นไม่น่าเกิดขึ้นเลย ไม่มีการเตือนให้ประชาชนในเมืองทราบก่อนเหมือนที่ฮิโรชิมา ซึ่งมีเครื่องบินนำใบปลิวมาทิ้งให้ประชาชนอพยพล่วงหน้า 24 ชั่วโมง หรือกรณีที่รัฐบาลอังกฤษทิ้งระเบิดใส่เมืองเดรสเดนของเยอรมนี ทำให้ประชาชนชนผู้บริสุทธิ์หลายหมื่นรวมทั้งผู้หญิงและเด็กอีกหลายพันคนทั้งหมดเสียชีวิตในคืนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 รัฐบาลอังกฤษไม่เคยออกมาขอโทษชาวเยอรมันในการสังหารประชาชนในคืนนั้นแม้เวลาผ่านมาได้ 75 ปีแล้ว

แม้รัฐบาลเยอรมนีเอง สมัยที่ยังเป็นเยอรมันตะวันตกอยู่ได้ให้การช่วยเหลือประเทศอิสราเอลอย่างมาก อาจเป็นเพราะว่าคิดถึงบาปในสมัยที่จอมเผด็จการ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้สั่งสังหารชาวยิวไปประมาณ 6 ล้านคนจากค่ายกักกันจำนวนนับพันแห่งทั่วยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะที่ Auschwitz ในประเทศโปแลนด์ ในปัจจุบันอิสราเอลเห็นว่าเยอรมนีคือมหามิตรผู้ให้ความช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งประเทศอิสราเอลมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้และไม่เคยติดใจอะไรกับเยอรมนีอีกเลย

คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรเกิดขึ้นกับรัฐบาลเยอรมนี จนทำให้เกิดความรู้สึกละอายในบาปกรรมที่บรรพบุรุษของตนได้เคยกระทำไว้เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว เพราะสิ่งนี้เรียกได้ว่าเป็น “ความกล้าหาญทางศีลธรรม”

แนวคิดของรัฐบาลเยอรมนีเป็นแนวคิดทางจริยศาสตร์ที่เรียกว่า deontology ซึ่งถือเอาหลักการเป็นใหญ่ในการวิเคราะห์ว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำผู้ที่เป็นบิดาของความคิดทางจริยศาสตร์แนวนี้คือ Emmanuel Kant ซึ่งถือว่า “หลักการ” หรือ moral principle เป็นเครื่องตัดสินว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ของการกระทำนั้นๆ เช่น ความซื่อสัตย์เป็นความดี เพราะฉะนั้น มนุษย์ทุกคนควรมีความสัตย์ซื่อและสุจริต คนไทยที่เคยอาศัยอยู่ในเยอรมนีย่อมทราบดีถึงวัฒนธรรมของชาวเยอรมัน ว่าคนเยอรมันส่วนใหญ่เป็นคนซื่อสัตย์ พูดคำไหนคำนั้น การทำธุรกิจกับคนชาตินี้ ตรงไปตรงมาอย่างที่สุด ไม่มีมายาพูดอย่างไรทำอย่างนั้นและทำอย่างไรพูดอย่างนั้น ตรงไปตรงมา ในสายตาคนไทยอาจเรียกได้ว่า “ซื่ออย่างไร้เดียงสาทีเดียว”

อีกแนวคิดทางจริยศาสตร์เป็นแนวคิดทางผลประโยชน์นิยมหรือสุขนิยม (utilitarianism) ไม่ถือเอาหลักการใดๆ ทางจริยธรรมมาใช้เลย แต่คาดการว่า กิจกรรมหรือโครงการนั้นๆ ทำให้เกิดความสุขแก่คนหมู่มากที่สุดเป็นความดีสูงสุดที่ควรกระทำ (The greatest good for the largest number of people) เป็นแนวคิดของนักปรัชญาชาวอังกฤษ คือ Jeremy Bentham และ John Stuart Mill เป็นจริยศาสตร์ที่นักการเมืองในเกือบทุกประเทศนิยมใช้ในการตัดสินใจ เพราะมีผลกระทบต่อฐานเสียงของตนโดยตรง

กระนั้น ปรัชญาการเมืองที่นักการเมืองทั่วโลกนิยมใช้คือแนวคิดของ Niccolò Machiavelli ผู้เขียนหนังสือเล่มที่โด่งดัง Il Principe (The Prince) สมัยยุค Renaissance หนังสือเล่มนี้ให้กำเนิดวิชาทางรัฐศาสตร์ของนักวิชาการตะวันตกตั้งแต่นั้นมา โดยหลักการของเขาคือการไม่ต้องคำนึงถึงความดีหรือคุณธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แต่ผู้ปกครองต้องฉลาด ขยัน และสร้างภาพในหมู่ประชาชนว่าตนเองเป็นคนดีมีคุณธรรมโดยไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่ต้องรักษาคำพูดของตนเองเลย เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้อำนาจให้ใช้อำนาจอย่างราชสีห์ แต่หากยังไม่มีอำนาจให้ชาญฉลาดดังสุนัขจิ้งจอก

หากจะเปรียบเทียบกับปรัชญาการเมืองของตะวันตกแล้ว คัมภีร์อรรถศาสตร์ของอินเดีย ถือว่าเป็นปรัชญาทางรัฐศาสตร์ที่สุดยอดยิ่งกว่า Il Principe เสียอีก เพราะถือตามคติที่ว่าเป็น “ธรรม” หรือ “หน้าที่ของพระราชา” ที่ต้องแสวงหา “อำนาจ เกียรติยศและเงินทอง” โดยไม่ต้องคำนึงถึงความดีหรือหลักธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

คัมภีร์ชุดนี้สอนให้พระราชาเป็นผู้ชาญฉลาด ใช้กลยุทธ์ทั้งปวง แม้กระทั่งสายลับ ซึ่งมีพื้นฐานเป็นเด็กกำพร้าพระราชาเก็บมาเลี้ยง ฝึกให้จงรักภักดี และทำงานลับทุกอย่างเพื่อเพิ่มชื่อเสียงของพระราชา ค้นหาและบ่อนทำลายศัตรูของพระราชาให้หมดสิ้น สายลับเหล่านี้มีทั้งหญิงชาย ปลอมตัวมาในหลายอาชีพ เป็นต้นว่า โสเภณี ช่างตัดผม หรือแม้กระทั่งนักบวช คัมภีร์อรรถศาสตร์นี้เกิดขึ้นที่เมืองตักศิลาโดยพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อเกาทิลิยะยุคหลังพุทธกาลไม่นาน แต่มีหลักฐานในพระไตรปิฎกว่าได้มีการนำหลักการของ “อรรถศาสตร์” มาใช้ปรากฏในยุคพุทธกาลแล้ว

ที่มาภาพ : https://twitter.com/NobelPeaceOslo/status/1363861081328930817/photo/1

นักการเมืองและนักการทูตยุคใหม่ต่างทราบและจัดเจนในปรัชญาเหล่านี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเยอรมนี เพราะเป็นเมืองของนักคิด นักปฏิรูปศาสนาและการเมืองติดต่อกันมาหลายร้อยปี

แต่การที่รัฐบาลเยอรมนีตัดสินใจยอมรับความผิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวนามิเบียเมื่อร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยไม่ได้รับแรงกดดันทางการเมืองหรือทางเศรษฐกิจใดๆ เลย แสดงให้เห็นความสำเร็จทางการสอนจริยธรรมในเยอมนี ซึ่งยึดถือหลักการเป็นหลัก ไม่ใช่ผลประกอบการ ภาพลักษณ์หรือชื่อเสียงใดๆ

โดยที่รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีประกาศที่จะทุ่มเงิน 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาประเทศนามิเบียอย่างต่อเนื่อง

ครั้นมาดูในประเทศไทยบ้าง กระบวนการคิดวิเคราะห์ของนักการเมืองไทย หรือแม้แต่ในวงการยุติธรรม ล้วนคำนึงถึงผลประกอบการเป็นใหญ่ หลักการเป็นส่วนน้อยหรือเกือบไม่ต้องคำนึงกันเอาเลย ทั้งข้าราชการและนักการเมืองต่างเป็นสาวกของ Il Principe หรือคัมภีร์อรรถศาสตร์กันเป็นส่วนมาก คนไทยจึงนับถือ “ศรีธนญชัยมากกว่าพันท้ายนรสิงห์”

ถ้าจับไม่ได้ไล่ไม่ทันก็ถือว่าตนเองเก่ง แต่ถ้าโกงแล้วยังถูกจับได้ก็ถูกมองว่าเป็นคนโง่ไม่รู้จักเอาตัวรอด แต่อันที่จริงพันท้ายนรสิงห์เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่เห็นแก่ตัวและเคารพในกฎหมายบ้านเมือง เป็นคนที่หายาก และประเทศใดที่มีประชาการส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้ การทุจริตฉ้องราษฎร์บังหลวงย่อมไม่เกิดขึ้นแน่นอน

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ในการปฏิรูปประเทศจึงมาจากการสร้างคนที่มีคุณภาพอย่างพันท้ายนรสิงห์ ไม่ใช่ศรีธนญชัย

ความสำเร็จของเยอรมนีอันเป็นที่ประจักษ์ต่อชาวโลกคือ การสร้างคนอย่างพันท้ายนรสิงห์ คนที่รักษากฎหมายยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง และพร้อมที่จะสละชีวิตตนเองเพื่อความเป็นธรรมของบ้านเมืองอย่างไม่มีความลังเล

การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้นคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และจำเป็นต้องเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพให้ประชากรไม่ว่าจะยากจนหรือร่ำรวย มีสำนึกทางสังคม และกล้าหาญทางศีลธรรมเพียงพอที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง และกล้าเพียงพอที่จะแก้ไขในสิ่งที่บรรพบุรุษเคยทำผิดพลาดมาก่อน

นั่นหมายความว่าการศึกษานั้นต้องรวมไปถึงทางบ้านด้วย ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองตลอดจนครูอาจารย์จำเป็นต้องมีบทบาทร่วมกัน ไม่ใช่เฉพาะการจัดหลักสูตร การเรียนการสอนในโรงเรียน และเป็นความรับผิดชอบของคุณครูอย่างเดียว

ที่สุดคือการรักษาศีลข้อที่สี่เพียงข้อเดียว คือ การละเว้นจากการพูดมุสา หากชาติได้ทำได้สำเร็จก็สามารถก้าวกระโดดดังมีเยอรมนีเป็นต้นแบบ แต่กระนั้นไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายแต่เป็นวาระแห่งชาติที่ประชาชนทั้งชาติต้องช่วยกัน สร้างสังคมคุณธรรมที่ทุกคนมีสัจจะทั้งต่อหน้าและลับหลัง และที่สำคัญที่สุดคือการมีระบบการให้รางวัลและเชิดชูผู้มีความซื่อสัตย์ และที่เป็นไปได้คือการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาช่วย เช่น ในประเทศจีนในปัจจุบันมีการให้คะแนนความดีสำหรับผู้ที่ทำประโยชน์ต่อสังคม เก็บคะแนนโดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “social credit” และเพื่อเป็นการให้คะแนนเป็นระบบที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปแก้ไขได้ คือ ใช้ blockchain technology แบบเดียวกันกับที่ใช้กับคริปโตเคอร์เรนซี แต่แทนที่จะกำหนดเงื่อนไขการขุดเหมืองเป็นการทำความดีต่อสังคมแทน

เจ้าภาพที่รับผิดชอบโครงการนี้น่าจะเป็นศูนย์คุณธรรม และกระทรวงการพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ จำเป็นที่ต้องมีโครงการนำร่อง เริ่มตั้งแต่โรงเรียน มหาวิทยาลัย วัด มัสยิด มูลนิธิ และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ และเมื่อสำเร็จจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบต่อไป หน่วยงานเหล่านี้จำเป็นต้องระดมสมอง ร่วมกันคิด ร่วมกันวางแผน เพื่อให้เกิดโครงการ social credit สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ปัจจุบันมีการเรียกร้องให้มีการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมือง-ศีลธรรมเหมือนสมัยก่อน แต่ในสมัยใหม่สังคมเปลี่ยนแปลงไปมากมาย จำเป็นต้องใช้วิธีการฝึกอบรม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นการท่องจำแต่เป็นการปฏิบัติจริง และมีการมีส่วนร่วมของครอบครัว สถาบันทางศาสนาและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ และในไม่ช้าประเทศไทยก็จะสามารถพัฒนาประเทศชาติอย่างก้าวกระโดด รักษาศีลข้อที่สี่จนเป็นปกติทั้งประเทศได้นั่นเอง