ThaiPublica > เกาะกระแส > วาระซ่อมกรุงเทพฯ : งบประมาณ 79,855 ล้านบาท “50 เขตใช้ทำอะไรบ้าง”

วาระซ่อมกรุงเทพฯ : งบประมาณ 79,855 ล้านบาท “50 เขตใช้ทำอะไรบ้าง”

5 พฤษภาคม 2022


ที่มาภาพ : เอกสารแผนการบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556-2560

เปิดงบประมาณกรุงเทพมหานคร 79,855 ล้านบาท ยังเน้นงานประจำกว่าร้อยละ 80 เหลืองบประมาณพัฒนาเพียง 10-20 % ขณะที่การกระจายงบประมาณยังกระจุกที่สำนักงานกลาง ไม่กระจายให้ 50 เขตทำงานเชิงยุทธศาสตร์

กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จัดรูปแบบการปกครองตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารราชการกรุงเทพฯ พ.ศ. 2528 โดยรายได้ของ กทม. มาจาก รายได้ที่ กทม. จัดเก็บเอง และรายได้ที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้

ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2563 กทม. จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยปีงบประมาณ 2563 ประมาณการรายได้ไว้ 83,000 ล้านบาท จัดเก็บรายได้จริง 67,555.62 ล้านบาท

ขณะที่ปีงบประมาณ 2564 กทม. มีรายได้จริง 69,728.57 ล้านบาท จากที่ตั้งประมาณการรายได้ไว้ 75,500 ล้านบาท

ส่วนปีงบประมาณ 2565 ตั้งงบประมาณฯ 78,979 ล้านบาท ได้ถูกแบ่งเป็นออกเป็น “งบกลาง” จำนวน 14,417 ล้านบาท ที่เหลืออีกจำนวน 64,561 ล้านบาท เป็นงบประมาณสำนักงานในสำนักปลัด กทม. หน่วยงานต่างๆ และกระจายไปยังสำนักงานเขตทั้ง 50 เขต

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามว่า การจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานครนั้น มีการกระจายงบประมาณอย่างสอดคล้องกับปัญหาของพื้นที่ พร้อมทั้งเดินหน้าตามยุทธศาสตร์เมือง เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองในอนาคตหรือไม่

งบประมาณประจำปี 2565 กรุงเทพมหานคร ใช้วิธีกระจายงบประมาณตามภารกิจเร่งด่วน หรือตามปัญหาหลักของเมือง ทำให้ลำดับหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด ไปจนถึงหน่วยงานที่ได้รับน้อยลงไป เป็นดังนี้

    1. สำนักการระบายน้ำ 7,004.72 ล้านบาท
    2. สำนักสิ่งแวดล้อม 6,845.45 ล้านบาท
    3. สำนักการโยธา 6,455.58 ล้านบาท
    4. สำนักการแพทย์ 4,439.36 ล้านบาท
    5. สำนักการจราจรและขนส่ง 3,871.13 ล้านบาท
    6. สำนักการคลัง 2,996.97 ล้านบาท
    7. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 2,812.33 ล้านบาท
    8. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวม 222.31 ล้านบาท
    9. สำนักอนามัย 2,113.64 ล้านบาท
    10. สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง รวม 213.57 ล้านบาท
    11. สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว 1,309.34 ล้านบาท
    12. สำนักปลัดกรุงเทพมหานคร 912.61 ล้านบาท
    13. สำนักการศึกษา 786.42 ล้านบาท
    14. สำนักพัฒนาสังคม 382.94 ล้านบาท
    15. สำนักเทศกิจ 175.74 ล้านบาท

  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 1): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 2): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด”
  • “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ของว่าที่ ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่
  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : จะทำให้คลองกรุงเทพฯ ใสสะอาด ยั่งยืน ได้อย่างไร?
  • “เน้นงานประจำ–ขาดงบพัฒนา”

    ผศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/tavida.kamolvej/photos
    วิธีการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ผศ. ดร.ทวิดา กมลเวชช คณบดี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีกรุงเทพมหานคร ได้วิเคราะห์ว่า หากพิจารณาจากตรรกะที่ควรจะเป็น การจัดสรรงบประมาณของ กทม. ดูสมเหตุสมผลตามภารกิจเร่งด่วนที่เกิดขึ้นของเมือง

    แต่ถ้าพิจารณาในรายละเอียดของการดำเนินการพบว่างบประมาณยังมีการจัดสรรที่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาในเชิงรุก หรือสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ แต่เป็นการจัดสรรงบประมาณในลักษณะงานประจำที่เคยทำอยู่แล้ว ไม่มีการจัดสรรงประมาณในเชิงยุทธศาสตร์ เช่น กรณี การจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโควิด-19 สำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ถือว่าเป็นหน่วยงานที่ทำงานเชิงรุกในการรับมือกับสถานการณ์ได้ดี และเชื่อว่า ในอนาคต เนื่องจากสถานการณ์โลกเปลี่ยน ปัญหาสุขภาพและผู้สูงอายุจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งสองสำนักจึงมีความสำคัญ

    ดังนั้น กรุงเทพฯ จะต้องพัฒนาระบบสุขภาพทั้งปฐมภูมิและตติยภูมิให้มากขึ้น แต่สำนักอนามัยที่จะต้องดูแลศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ซึ่งต้องรับมือกับชุมชนต่างๆ ใน กทม. กลับได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่มากนัก

    สอดคล้องกับความเห็นของ “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” อดีตที่ปรึกษากรุงเทพมหานคร ซึ่งเห็นว่าสิ่งที่เร่งด่วนที่สุดต้องทำคือการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งให้เป็นที่พึ่งของคนกรุงเทพฯ ให้ได้ โดยจะต้องสร้างความเชื่อมั่น ให้คนกรุงเทพฯ เข้าไปใช้บริการเพื่อรักษาพยาบาลเบื้องต้นก่อนที่จะไปรักษาในโรงพยาบาล แต่ที่ผ่านมาในช่วงโควิด-19 ได้พิสูจน์แล้วว่า ศูนย์บริการสุขภาพเหล่านี้คือด่านหน้าที่ต้องพบกับชุมชน ดังนั้น ในช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง จึงควรถูกยกระดับให้เป็นศูนย์บริการที่ทันสมัยให้ประชาชนเข้าไปรับบริการได้ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและความแออัดในโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ

    ผศ. ดร.ทวิดา กล่าวต่อว่า ไม่เพียงศูนย์บริการสุขภาพชุมชนที่ได้รับงบประมาณน้อย แต่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โลกร้อนในอนาคต ยังให้ความสำคัญไม่มากนัก โดยเฉพาะสิ่งที่ ผศ. ดร.ทวิดา อยากเห็นคือ การทำข้อมูลแผนประเมินความเสี่ยง ความปลอดภัยทุกจุดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้กรุงเทพมหานครยังไม่มีแผนดังกล่าว

    ส่วนกรณีงบการศึกษา ที่ติดอยู่ในลำดับเกือบรั้งท้ายนั้น เมื่อเข้าไปดูในรายละเอียดพบว่า งบประมาณการศึกษาไปอยู่ในงบโรงเรียนของเขตและมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช หากคิดรวมงบด้านการศึกษา ถือว่างบประมาณด้านนี้ได้รับการจจัดสรรที่สมเหตุสมผล

    ปัญหา “งบกระจุกส่วนกลาง-ไม่กระจายเขต”

    การจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพฯ ยังมีลักษณะกระจุกตัวในสำนักงานงานส่วนกลาง ไม่ได้กระจายลงไปตามสำนักงานเขตมากนัก ซึ่ง ผศ. ดร.ทวิดา มองว่า กรุงเทพมหานครต้องไว้ใจการทำงานของเขต หรือสร้างสำนักงานเขตให้เป็นพระเอกในการรับมือกับปัญหา เพราะข้อมูลพื้นที่ สำนักงานเขตจจะรู้สภาพปัญหาดีที่สุด แต่การจัดสรรงบประมาณให้เขตในหลายภารกิจหลัก ยังกระจุกตัวในสำนักงานส่วนกลาง

    หากพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต แบ่งตามภารกิจจะเป็น งานเก็บขยะและขนถ่ายสิ่งปฏิกูล 3,154 ล้านบาท งานดูแลสวนและพื้นที่สีเขียว 1,133 ล้านบาท งบประมาณโรงเรียน 2,490 ล้านบาท งานทำความสะอาด ทางสาธารณะ 1,864 ล้านบาท งานระบายน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วม 717 ล้านบาท

    การจัดสรรงบประมาณเขตที่ยังมีลักษณะกระจุก ไม่กระจาย โดยจะเห็นได้จากการกระจายงบประมาณให้สำนักระบายน้ำเป็นอันดับหนึ่งจำนวน 7,000 ล้าน ขณะที่สำนักงานเขต 50 เขต ได้งบประมาณระบายน้ำและแก้ปัญหาน้ำท่วมเพียง 717 ล้านบาท ซึ่งหากเฉลี่ย จะได้เพียงเขตละ 14 ล้านบาท

    ถ้าดูจากงบประมาณของสำนักระบายที่มากถึง 7 พันล้าน ขณะที่ให้งบกระจายตามเขตเฉลี่ยนไม่เกินเขตละ 14 ล้านบาทนั้นแสดงว่าแยกภารกิจให้เขตดำเนินการเป็นงานเล็กน้อย แค่งานขุดลอก เก็บกวาด หรืองานซ่อมแซม แต่ให้งบในเชิงโครงการขนาดใหญ่ หรืองบพัฒนาให้กับสำนักงานส่วนกลางมากกว่า

    การกระจายงบประมาณที่กระจุกตัวที่สำนักระบายน้ำ แม้จะทำให้ลดจุดเสี่ยงน้ำท่วมลงจาก 24 จุด เหลือเพียง 15 จุด แต่การระบายน้ำในชุมชนอีก 2,000 จุดยังไม่ได้รับการแก้ไข

    ในเรื่องนี้ “อรรถเศรษฐ์” บอกว่า ปัญหาเรื่องงบประมาณถือเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำในชุมชน ที่เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานเขต ทำให้ยังมีชุมชนที่มีน้ำท่วมขังและแก้ปัญหายังไม่ได้

    โดยในแต่ละปี สำนักงานเขตจะต้องรับผิดชอบในเรื่องซ่อมบำรุงอุปกรณ์ แต่ไม่มีงบประมาณในการซ่อมบำรุง บางเขตมีงบประมาณในการดำเนินการเพียง 2-3 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเห็นว่าควรจะจัดงบประมาณในส่วนที่เป็นงบซ่อมบำรุงประจำปีให้กับสำนักงานเขตเพื่อที่จะสามารถดูแลชุมชนได้

    นอกจากการกระจายลบกระจุกตัวที่สำนักงานกลางแล้ว การบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงานกลาง ยังมีลักษณะที่ไปเน้นงานประจำมากกว่างานในเชิงยุทธศาสตร์

    ผศ. ดร.ทวิดา กล่าวว่า เมื่อลงไปดูรายละเอียด โครงการที่สำนักงานส่วนกลางดำเนินการ ยังเป็นโครงการประจำที่เคยทำเมื่อหลายปีที่ผ่านมา แต่ยังคงทำต่อไป ขณะที่งานทางด้านยุทธศาสตร์ หรืองานพัฒนากลับไม่มีความชัดเจน

    “การจัดสรรงบประมาณของ กทม. ยังคงให้น้ำหนักการทำงานของสำนักงานกลาง แต่ไม่กระจายภารกิจใน 50 เขต และสัดส่วนงบประมาณยังคงอยู่ที่งานประจำ หรือโครงการขนาดใหญ่ที่เคยทำกันมาเป็นประจำ แต่ไม่มีการทำงานในเชิงยุทธศาสตร์ ทำให้เหลืองบประมาณในเชิงพัฒนา หรือยุทธศาสตร์เพียง 10-20% เท่านั้น”

    ปรับงบประมาณตาม “ยุทธศาสตร์เมือง”

    หากวิเคราะห์จากการจัดสรรงบประมาณ กรุงเทพมหานครยังขาดการทำงานในเชิงรุก หรือการทำงานตามยุทธศาสตร์ของเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2556-2575) เพราะส่วนใหญ่ยังคงเน้นการทำงานในเชิงภารกิจประจำมากกว่างานพัฒนา

    ผศ. ดร.ทวิดา เห็นว่า ปัญหาการบริหารงบประมาณของ กทม. คือมองไม่เห็นภาพรวม เพราะขาดระบบการวิเคราะห์ระบบข้อมูลที่ประเมินได้ชัดเจน และมองไปข้างหน้าในอีก 3 ปีว่า กทม. ต้องแก้ไขปัญหาที่จะเจออย่างไร

    “ตอนนี้สถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จะเห็นได้จากวิกฤติโควิด-19 หรือโลกร้อน ปริมาณฝนที่เปลี่ยนแปลงไป กระทั่งปัญหาผู้สูงอายุ และประชากรแฝงที่จะเพิ่มมากขึ้น แต่ กทม. ขาดระบบวิเคราะห์ข้อมูลและการจัดสรรงบประมาณในเชิงรุกเพื่อรับมือกับปัญหาเหล่านี้”

    สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ต้องเข้ามาแก้ไขปัญหานั้น ผศ. ดร.ทวิดา เห็นว่า ลำดับแรกต้องนำเอาระบบข้อมูลทั้งหมดมาวางพร้อมกางนโยบายที่จะทำในแต่ละด้าน จากนั้นวิเคราะห์ว่า กทม. อยู่ตรงไหน และจะแก้ปัญหาอย่างไร และในอีก 4 ปีข้างหน้าจะวางแผนอย่างไร แล้วจัดสรรงบประมาณไปแก้ไขให้ตรงกับปัญหา และควรจะกระจายงบประมาณให้เขตทำงานพัฒนามากขึ้น เพื่อให้เดินตามกรอบยุทธศาสตร์ 7 ด้าน คือ มหานครปลอดภัย มหานครสีเขียวสะดวกสบาย มหานครสำหรับทุกคน มหานครกะทัดรัด มหานครประชาธิปไตย มหานครแห่งเศรษฐกิจและการเรียนรู้ และการบริหารจัดการ

    อย่างไรก็ตาม หากผู้ว่าฯ คนใหม่ยังจัดสรรงบประมาณในลักษณะเดิม ที่ยังเน้นงานประจำมากกว่าการวางแผนไปสู่เป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์เพื่อแก้ปัญหา กรุงเทพมหานครก็ไม่สามารถขึ้นแท่นเป็นเมืองน่าอยู่และน่าเที่ยวได้